หากใครแวะเวียนไปแอ่วหลายจังหวัดภาคเหนือ คงเคยเห็นเด็กนักเรียนชายหญิงสวมชุดพื้นเมืองเป็นประจำทุกวันศุกร์ พ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยทอฝ้ายนุ่งซิ่นอู้กำเมืองใส่กัน หรือการเรียนการสอนวิชาฟังพูดอ่านเขียนภาษาล้านนาในหลายสถานศึกษา ล้วนเป็นสัญญาใจบอกว่า ‘ล้านนา’ ยังไม่หายไปไหน
ความเป็นจริง กาลเวลาเปลี่ยนแปลง ยุคสมัยเปลี่ยนไป เยาวชนคนรุ่นใหม่อาจหลงลืมวัฒนธรรมเก่าแก่ของบรรพบุรุษไปบ้าง แต่ในอีกห้วงขณะก็มีคนรุ่นใหม่ความจำดีอย่าง กล้า-ศุภกร สันคนาภรณ์ เจ้าของแบรนด์ที่เปิ้นฮ้องว่า ‘LONG GOY’ (ลองกอย) กล้าหาญชาญชัยลองกอยด้วยตนเอง เขาสร้างลูกคลื่นขนาดเล็กในอุตสาหกรรมแฟชั่น เปลี่ยนล้านนาเป็นรันเวย์!
กล้าบอกว่า ‘ลองกอย’ เป็นภาษาเมือง (ภาษาเหนือ) แปลว่า ลองดู ลองทำดู
ส่วน Long ในภาษาอังกฤษแปลว่า ยาวนาน สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ล้านนา
กล้ารันวงการแฟชั่นด้วยสายเลือดล้านนา เอาความเก่าเข้าหาผู้คนด้วยความใหม่ คล้ายเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมล้านนาให้ออกเดินทางไปกับผู้สวมใส่ผ่านเสื้อผ้าในทุกคอลเลกชันของเขา
“เราอยากให้คนจดจำว่าเราเป็นแบรนด์ที่เล่าเรื่องล้านนา มากกว่าจะจำว่าเราเป็นแบรนด์อินดิโก้”
แม้เอกลักษณ์ของลองกอยจะเป็นผ้าทอมือสีน้ำเงินจากต้นครามฮัก แต่หัวใจหลักของแบรนด์คือการบอกเล่าวัฒนธรรมล้านนารูปแบบใหม่ บนถิ่นกำเนิดของล้านนาโดยคนล้านนาแต๊ๆ จากเชียงใหม่
ธีสิสข้น…
กล้าเรียนจบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เขาผ่านด่านธีสิสด้วยการหยิบยกความเป็นล้านนาของบ้านเกิดมานำเสนอในมุมมองทันสมัยผ่านเสื้อผ้าแนวสตรีทแฟชั่น
“เราเป็นคนเชียงใหม่ไปเรียนในกรุงเทพฯ ก็เลยอยากทำธีสิสเกี่ยวกับเชียงใหม่ เราสังเกตว่าล้านนาใกล้จะสูญหาย วัยรุ่นไม่ค่อยให้ความสนใจ ทั้งที่ล้านนามีความเป็นตัวเองสูง แต่ยังขาดการเล่าเรื่องแบบใหม่ แล้วเรามีเทคนิคอยู่ในใจก็เลยเอาล้านนามาเล่าร่วมกับเทคนิคนั้น”
กล้ายกตัวอย่างภาษาละติน พอเราไม่ได้พูด ไม่ได้ใช้ ก็หายไป อยู่แต่ในชื่อวิทยาศาสตร์ ภาษาล้านนาก็เหมือนกัน มักจะอยู่ตามป้ายชื่อกำกับหน่วยงานหรือเทศกาลสำคัญ แต่เขาปิ๊งไอเดียเอาอักษรล้านนามานำเสนอใหม่ กล้าไม่ได้หวังให้คนพบเห็นอ่านออก เขียนได้ ขอเพียงแค่เห็นด้วยตาแล้วรู้ทันทีด้วยใจว่าเป็นภาษาล้านนา ถ้าสนใจแล้วลองศึกษาต่อ ก็เท่ากับว่าภารกิจของกล้าสำเร็จ ไชโย!
เมื่อธีสิสจบ แต่กล้าไม่จบ (เพียงเท่านี้) เขายังคงทดโจทย์ปัญหา ‘ล้านนา’ เอาไว้ในใจ พัฒนาต่อจนสร้างแบรนด์เสื้อผ้าล้านนาแนวสตรีทแฟชั่นภายใต้ชื่อที่เปิ้นฮ้องว่า ‘ลองกอย’
…เลือดล้านนาไม่จาง
‘ลองกอย’ เป็นภาษาเมือง (ภาษาเหนือ) แปลว่า ลองดู ลองทำดู คล้ายกับตัวของกล้าที่ลองสักตั้ง ลองทำแบรนด์ดูสักครั้ง โดยมีคุณแม่เป็นผู้สนับสนุนหลักใจดี
คุณแม่ของกล้าเป็นอดีตพยาบาลคนสวย ก่อนจะผันตัวมาเป็นเจ้าของกิจการ ‘บัวเขียวผ้าฝ้าย’ ขายส่งเสื้อผ้าท้องถิ่นสำเร็จรูปกระจายทั่วประเทศเป็นเวลานานพอๆ กับอายุของกล้า จากธุรกิจครอบครัวที่เชี่ยวชาญการตัดเย็บและย้อมสีผ้ามากว่า 20 ปี รวมกับภูมิความรู้เรื่องล้านนาที่มีอยู่เต็มตัวคุณแม่ ลองกอยของกล้าจึงไม่ต่างจากการถ่ายทอดและแบ่งปันเรื่องราวจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง
“คุณแม่เป็นคนยุคเก่าแต่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่ เขาจะมีเรื่องราวเฉพาะของล้านนามาเล่าให้เราฟัง และการที่เรารู้เรื่องราวจริงๆ จะทำให้เห็นกิมมิกบางอย่างที่น่าหยิบมาใช้ได้ เพราะถ้าจะทำเสื้อผ้าล้านนาร่วมสมัยแบบเดิมๆ ก็มีคนทำเยอะมากอยู่แล้วในตลาด” กล้าเล่าที่มาของลองกอย แบรนด์ลูกรักของเขาที่ทั้งแตกต่างและน่าสนใจ
ภาษา อากาศหนาว ภูเขาสูง ความอ่อนหวาน เชื่องช้า ประวัติศาสตร์
“ถ้าอยากให้ล้านนาไปไกลกว่าเดิม ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย เราหยิบล้านนามานำเสนอแบบใหม่ ใส่การออกแบบและลวดลายกราฟิกลงไป แต่ก็ยังรักษาเอกลักษณ์ของล้านนาเอาไว้ด้วยการใช้วัสดุอุปกรณ์และผ้าทอมือในท้องถิ่น เพื่อให้เรื่องเล่าของเรามีพลังมากขึ้น” กล้าอธิบายเป้าหมายของแบรนด์ ก่อนจะเล่าถึงกระบวนการถอดรหัสลับชุดคำใบ้ล้านนา
คำใบ้จากแบบสอบถามของวัยรุ่นกลุ่มเป้าหมายบอกนักทำแบรนด์มือใหม่ว่า
‘ภาษา อากาศหนาว ภูเขาสูง ความอ่อนหวาน เชื่องช้า ประวัติศาสตร์’
“เราถอดรหัสทั้งด้านอารมณ์ความรู้สึก สภาพอากาศ และภาษา ด้วยการดัดแปลงและลดทอนความหมายนามธรรมให้เป็นฟอร์มหรือรูปร่าง แล้วใส่ความเป็นมิตรลงไปเพื่อลดความดิบเถื่อน”
กล้านำทักษะจากวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ สร้างอักษรล้านนาขึ้นมาใหม่ด้วยการร่างแบบในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แทนตัวอักษรเดิมที่ดูคล้ายอักขระยันต์ ส่วนดอกไม้ลวดลายกราฟิกแทนความอ่อนหวานซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของชาวล้านนา รวมทั้งทรงเสื้อผ้าอย่าง ‘เสื้อม่อฮ่อม กางเกงเล’ ที่ถูกแช่แข็งมานาน จนเป็นภาพจำของพ่ออุ๊ย ควาญช้าง และสล่าหลายแขนง
กล้ามัดรวมทรงเสื้อแบบเก่ายัดเข้าไมโครเวฟจนกลายเป็นทรงเสื้อผ้าร่วมสมัย แต่คงกลิ่นอายความเป็นล้านนาด้วยผ้าฝ้ายทอมือ และสีครามสบายตา ความเป็นไทยยังอยู่ แต่เป็นสากลมากขึ้น
เสื้อม่อฮ่อม x กิโมโน
เสื้อผ้าทุกคอลเลกชันของลองกอยเป็นแนวสตรีทร่วมสมัย ส่วนหนึ่งมาจากความชอบส่วนตัวของกล้า จึงง่ายต่อการออกแบบ เพราะการแต่งกายแนวสตรีทมีทรงเสื้อผ้าให้เลือกประยุกต์หลากหลาย แถมเข้าถึงผู้คนได้ง่าย คล้ายกล้าเป็นพ่อครัวใหญ่ คอยหยิบส่วนผสมของเรื่องราวล้านนามาปรุงให้อร่อยและกลมกล่อม ยิ่งรสมือดี ถูกปากคนทาน ก็ยิ่งอยากทานบ่อยๆ อ้อ! ภาชนะของกล้ายังรักษ์โลกด้วยนะ
“ทุกวันนี้ Fast Fashion ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมแฟชั่น ถ้าเราจะทำทั้งทีก็ไม่อยากเป็นอีกหนึ่งตัวการเพิ่มตัวเลข ซึ่งวัตถุดิบของเราเป็นแฮนด์เมดและค่อนข้างเฉพาะทาง”
กล้าเปิดตัวคอลเลกชันแรก ‘The Story of Lanna’ ด้วยการเล่าภาพรวมของล้านนา ตั้งแต่ภาษา ภูมิอากาศ และดอกไม้ ผ่านสีครามเข้มของผ้าทอมือล้อกับสีเครื่องแต่งกายของล้านนาอย่างเสื้อม่อฮ่อม
“คอลเลกชันแรกจะเป็นกิโมโนทั้งหมดเลย แล้วก็ประยุกต์ทรงมาเป็นสูทด้วย รูปทรงเสื้อผ้าจะค่อนข้างแรง เหมือนเราแนะนำแบรนด์เต็มตัวว่าเป็นล้านนาแนวใหม่ นำเสนอแบบใหม่ รูปทรงก็ไม่เหมือนเดิม เราสร้างกระแสและแรงกระเพื่อมเพื่อให้คนจดจำ”
การสร้างลวดลายบนผืนผ้าทอย้อมสีธรรมชาติของเขาก็ไม่ธรรมดา บางตัวลายไม่ซ้ำกัน! เพราะทำมือเองทุกชิ้น เขาประยุกต์นวัตกรรมสมัยใหม่อย่างการเลเซอร์แผ่นอะคริลิกใสมาทำเป็นบล็อกลวดลายร่วมสมัย แล้วทาบลงบนผืนผ้า พ่นด้วยแอร์บรัชบรรจุด่างทับทิม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เขาบอกว่า เป็นกระบวนการดั้งเดิมในการฟอกสียีนส์ในอุตสาหกรรมยุคเก่า
ให้ดอกไม้บานทุกฤดูกาล
ขอสารภาพเลยว่าเราหลงรักคอลเลกชัน ‘คำดอก’ ของเขามาก เป็นการเจาะลึกเฉพาะภาษาล้านนาเพื่อบอกว่าภาษาล้านนาอ่อนหวานชวนฟังเหมือนกับดอกไม้ สีสันของเสื้อผ้ายังคงเอกลักษณ์สีครามเข้ม เขาจับตัวอักษรล้านนาผสมกับรูปทรงของดอกไม้ ก้านและเกสรเป็นตัวหนังสือ กลีบเป็นดอกไม้ มากไปกว่านั้นลวดลายบริเวณต่างๆ บนเสื้อผ้ายังซ่อนความหมายเรียกรอยยิ้มเอาไว้ด้วย
กล้ายกตัวอย่างลายดอกไม้บริเวณแขนเสื้อ เป็นการเพิ่มความมั่นใจ ถ้าต้องติดต่อธุรกิจแล้วมีการจับมือ จะเสมือนการยื่นดอกไม้ให้กับคนคนนั้น หรือทรงเสื้อแบบมีฮู้ด ตรงหมวกจะเป็นลายดอกไม้ คล้ายว่าใส่ฮู้ดไปด้วยฟังไปด้วย เป็นการฟังผ่านดอกไม้ ถ้อยคำจะสมูธและอ่อนหวาน
ขอออกคอลเลกชันต่อ ไม่รอแล้วนะ
นอกจากกล้าจะออกคอลเลกชันตามฤดูกาล ยังออกตามเทศกาล แถมเล่นสีสันและลวดลายไม่น้อยหน้ากันสักนิด ยกตัวอย่างพอหอมปากหอมขอ ไม่ว่าจะเป็น ‘รัก รวย’ รวมสองเทศกาล ทั้งเทศกาลแห่งความรักและการเฉลิมฉลองตรุษจีน เป็นการอวยพรให้คนใส่ร่ำรวยเงินทอง พร้อมร่ำรวยความรัก
ส่วน ‘สังกรานต์’ ต้อนรับซัมเมอร์ด้วยเทศกาลสงกรานต์ แรงบันดาลใจจากการสาดน้ำสุขสันต์บริเวณคูเมืองรอบเชียงใหม่ สีสันของเสื้อผ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีส้มเป็นตัวแทนของอิฐคูเมือง บนเสื้อผ้าพิมพ์ลวดลายดอกไม้มงคลที่ดัดแปลงมาจากดอกไม้ในจิตรกรรมฝาผนังของวัดทั่วเมืองเชียงใหม่อีกด้วย
ลองดูก่อน
‘ลองกอย’ เป็นภาษาเมือง (ภาษาเหนือ) แปลว่า ลองดู ลองทำดู คล้ายกับคำเชิญชวนให้ลูกค้าลองเข้ามาเลือก ลอง เข้ามาดูสินค้าของลองกอย
กล้าบอกกับเราว่า ก่อนจะทำแบรนด์กลุ่มเป้าหมายของลองกอยเป็นวัยรุ่น หลังจากเป็นแบรนด์เต็มตัวกลุ่มเป้าหมายก็เปลี่ยนแปลงตามราคาและไลฟ์สไตล์ของสินค้า
“กลุ่มลูกค้าของเราจะเป็นคนพลัดถิ่น เช่น คนเชียงใหม่ไปทำงานในกรุงเทพฯ เขาจะซื้อไปใส่ในกรุงเทพฯ หรือคนต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทยก็จะซื้อกลับไปใส่ประเทศเขา เราจะสังเกตตลอดว่าลูกค้าเราเป็นใคร
“เราเคยไปออกงานที่สิงคโปร์ คนเขาจะไม่ค่อยจับงานเราเลย แต่จะชมว่าสวยดีในเชิงศิลปะ เราไม่ได้ว่าเขานะ สิงคโปร์เขาไม่ได้โตมาจากรากฐานของวัฒนธรรม เขาไม่ค่อยมีประเพณี ผ้าทอมือเขาก็ไม่รู้จัก แต่คนต่างชาติที่อยู่ในสิงคโปร์อย่างจีน ญี่ปุ่น ฝรั่ง เขาจะชอบมาก มาจับ มาซื้อ เพราะเขาเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมนั้นๆ บนโลกใบนี้”
กล้าแอบกระซิบว่า ลูกค้าคนไทยบางกลุ่มก็ชอบนะ แต่แพงจัง ลองกอยเลยพยายามอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนความคิดของคนไทยให้เข้าใจใหม่ว่า ‘ของไทยมีดี มีคุณค่า ราคาสูงบ้างก็ไม่แปลก’
ล้านนา come in
สินค้าของลองกอยจะวางขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำของกรุงเทพฯ กล้าเฉลยด้วยเหตุผลว่า
“การพางานไปถึงจุดที่คนเข้าถึงได้ก็สำคัญเหมือนกันนะ พอเรารู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ขายราคาเท่าไหร่ เราเลยต้องเลือกจุดที่จะวางสินค้า ถ้าไปอยู่ตามจตุจักรอาจจะขายไม่ได้เลย แต่พอไปอยู่ในห้างกลุ่มลูกค้าเราเขาสามารถซื้อได้ พอเข้าห้าง เราก็เริ่มขายออนไลน์ได้ เพราะการวางหน้าร้านจะทำให้เราดูเป็นมืออาชีพ เหมือนเป็นการการันตี ตอนนี้เราก็เริ่มมีแฟนคลับบ้างแล้ว”
ส่วนเชียงใหม่เขาก็แอบเอาผลงานไปวางขายตามแกลเลอรี่
ทำไมต้องแกลเลอรี่ เราถาม
“เพราะขายได้หลายเชิง เชิงศิลปะก็ได้ เชิงเสื้อผ้าก็ได้ ถ้าขายในแกลเลอรี่เราจะโชว์ในลักษณะ
ของแต่งบ้านมากกว่า เพราะชุดกิโมโนคนก็เอาไปแต่งบ้านอยู่แล้ว ก็ทำผลิตภัณฑ์ให้เป็นเชิงศิลปะแทน”
กล้าแอบกระซิบว่า ในงานเชียงใหม่ดีไซน์วีก เขาจะออกคอลเลกชันงานศิลปะเต็มรูปแบบ
“เราจะโชว์ความเป็นล้านนาแบบใหม่ด้วยสล่ายุคไฮเทค (สล่า แปลว่า ช่าง) ผมมองว่าเชียงใหม่มีช่างฝีมือเยอะมาก แล้วในพื้นที่หนึ่งของเชียงใหม่เป็นแหล่งรวมช่างเลเซอร์คัต รับตัดป้ายด้วยความชำนาญ เราว่าเขาเป็นสล่าเหมือนกัน แต่เป็นสล่ายุคใหม่
“เราจะเล่าเรื่องราวจากขยะในร้านเขา ด้วยโครงสเตนซิลที่เหลือจากการตัดป้าย เราเอามาสร้างลวดลายด้วยเทคนิคของเรา เราว่ามันเป็นการบอกเล่าความสามารถของช่างยุคใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงถึงความเจริญเติบโตในแง่เศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ด้วย”
ป้ายใหญ่โตมักเป็นสัญญาณเตือนการมาถึงของกิจการหลากประเภท เทรนด์ร้านกาแฟมาแรง ธุรกิจโฮสเทลแซงทางโค้ง ขณะเดียวกันความคิดของคนรุ่นใหม่แพสชันแรงก็เป็นสัญญาณเตือนการมาถึงของการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในสังคมให้ก้าวกระโดดดึ๋งไปข้างหน้า
ปลุกความเป็นล้านนาในตัวคุณ!