การกินการอยู่ในตอนนี้สาหัสสากรรจ์เอามากๆ มีคนชวนให้สงสัยว่าเมืองไทยก็เคยมีเหตุการณ์แย่ๆ มาแล้วเยอะแยะ อย่างยึดอำนาจ มีเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้านก็มี สงครามกลางเมืองก็มี น้ำท่วมก็มี แล้วตอนนั้นคนไทยกินอยู่อย่างไร

การกินอยู่ไม่ว่าในสถานการณ์อะไรก็พึ่งตลาดอย่างเดียว พึ่งตั้งแต่ยุคตลาดน้ำโน่นเลย ใครมีพืชผัก ผลไม้ หมู ปลา อะไรก็เอาใส่เรือไปขาย ยังมีเรือเอี้ยมจุ๊นขายของใช้ในครัว ของใช้ประจำบ้านจิปาถะ ข้าว เกลือ กะปิ พริกแห้ง หอม กระเทียม ซีอิ๊ว น้ำปลา ปลาเค็ม ถ่าน เตา หม้อ กระทะ กระบวย ตะหลิว ครก ยังมีเครื่องมือ แห อวน จอบ มีดพร้า พอยุคต่อมาตลาดขึ้นบก เป็นตลาดสดจะใหญ่-เล็กขนาดไหน ต้องมีร้านขายเครื่องใช้ไม้สอยอยู่ด้วย คู่กันมาตลอด

ร้านโชห่วย เพื่อนคู่ใจใกล้ตัวของคนทำกับข้าว ในยามเกิดวิกฤตทั้งอดีตและปัจจุบัน
ร้านโชห่วย เพื่อนคู่ใจใกล้ตัวของคนทำกับข้าว ในยามเกิดวิกฤตทั้งอดีตและปัจจุบัน

ร้านขายเครื่องใช้ไม้สอยนี่เองที่รวมของใช้ในครัวแล้วยังขายเครื่องปรุงของแห้งนานาชนิด อย่างพริกแห้ง หอม กระเทียม กุ้งแห้ง ถั่วลิสง ผงพะโล้ เต้าเจี้ยว มีอีกเยอะแยะ เลยเรียกว่าร้านของชำหรือที่เรียกคุ้นๆ ว่า ‘โชห่วย’

แล้วโชห่วยนี่จะบอกอะไรได้หลายอย่าง อยู่ที่ไหน ในสังคมอะไร จะบอกถึงความเป็นท้องถิ่นได้หมด ทางอีสานก็อย่างหนึ่ง เหนือ ใต้ ก็อย่างหนึ่ง เยาวราช เจริญกรุง ถิ่นคนจีนก็อย่างหนึ่ง หรือแถบนครปฐม ราชบุรี มีพวกหม้อต้ม ซึ้งนึ่ง กระทะ ตะหลิว กระชอนขนาดใหญ่ๆ สำหรับใช้ในงานทำโต๊ะจีนก็มีขาย ก็แถบนั้นเป็นดงทำโต๊ะจีน ทั้งหมดนี่เป็นโชห่วยแบบกว้างๆ 

ร้านโชห่วย เพื่อนคู่ใจใกล้ตัวของคนทำกับข้าว ในยามเกิดวิกฤตทั้งอดีตและปัจจุบัน
ร้านโชห่วย เพื่อนคู่ใจใกล้ตัวของคนทำกับข้าว ในยามเกิดวิกฤตทั้งอดีตและปัจจุบัน

ยังมีโชห่วยเบ็ดเสร็จ ขายทั้งของชำ เครื่องปรุง ของแห้งและอาหารสด อย่างใบกะเพรา โหระพา พริก ฟัก มะเขือยาว ไข่ หมู ไก่ ปลาทูเข่ง ปลายังมี ขังในกะละมัง พูดง่ายๆ ว่าเป็นตลาดสดย่อส่วน สำหรับของสดอาจไม่มาก เน้นเป็นของจำเป็น ใช้พอประทัง โชห่วยเบ็ดเสร็จนี้อยู่ในทุกชุมชน ไม่ว่าเป็นดงเศรษฐี ชนชั้นกลาง และคนใช้แรงงาน จุดเด่นของโชห่วยแบบนี้คือเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทั้งคนขายกับคนซื้อต่างพึ่งพากันจนมีความแข็งแกร่ง ระบบค้าขายมีมิตรไมตรี มีการทักทายเจรจาหรือบอกรายละเอียดของสินค้า ใครอยากได้อะไรบอกมา จะหามาให้ 

มีตัวอย่างอยู่ครั้งหนึ่ง ในชุมชนย่านเศรษฐี คุณนายขาดของที่ต้องใช้ แทนที่จะขับรถไปซื้อที่ร้านใหญ่ๆ ของเยอะๆ ก็สั่งให้คนใช้ไปซื้อที่ร้านโชห่วยใกล้บ้าน ให้รีบไปรีบกลับ เอาจักรยานไป คอยจนเบื่อ พอคนใช้กลับมา ถามทำไมไปนาน ก็คุณนายสั่งให้เอาจักรยานไป ขี่ไม่เป็น เข็นไปเข็นกลับเลยนาน นั่นแสดงว่าย่านเศรษฐีก็มีร้านโชห่วย ตัวเศรษฐีเองก็รู้ว่าในร้านมีอะไรบ้าง

ร้านโชห่วย เพื่อนคู่ใจใกล้ตัวของคนทำกับข้าว ในยามเกิดวิกฤตทั้งอดีตและปัจจุบัน

เรื่องที่สงสัยว่าเมื่อกรุงเทพฯ มีวิกฤตการณ์ต่างๆ นั้น ที่พึ่งได้คือร้านโชห่วย ตัวอย่างเมื่อมีการยึดอำนาจ มีเคอร์ฟิวห้ามออกจากบ้าน ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้ซื้อของที่ร้านโชห่วย แล้วอีกอย่างพอมืดค่ำ กินข้าวเสร็จสรรพกันแล้ว ไม่ออกมาเพ่นพ่านซื้อข้าวของ ตอนที่เขาห้ามออกจากบ้าน

เมื่อตอนสงครามกลางเมือง เหตุการณ์อยู่แถวริมถนนพระรามสี่ สี่แยกราชประสงค์ ปทุมวัน ประตูน้ำเท่านั้น คนอยู่บ้านในๆ ลึกไปจากถนนก็ซื้อของจากร้านโชห่วย คนอยู่แถวสุขุมวิท ทองหล่อ เอกมัย เยาวราช สามเสน ก็ใช้ชีวิตตามปกติ แถวใกล้บ้านมีทั้งตลาดและร้านโชห่วย 

มีตอนน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว น้ำท่วมเพราะฝนตกไม่หยุด 3 วัน 3 คืน ผู้ว่าฯ ยุคนั้นเรียกว่าฝนพันปี ตอนนั้นยังไม่รู้จักคำว่าน้ำท่วมรอระบาย ตอนนั้นคนกรุงเทพฯ ลุยท่องน้ำขนาดน่องไปซื้อของที่ร้านโชห่วยใกล้บ้าน

ร้านโชห่วย เพื่อนคู่ใจใกล้ตัวของคนทำกับข้าว ในยามเกิดวิกฤตทั้งอดีตและปัจจุบัน
ร้านโชห่วย เพื่อนคู่ใจใกล้ตัวของคนทำกับข้าว ในยามเกิดวิกฤตทั้งอดีตและปัจจุบัน

ที่เอาประโยชน์ของร้านโชห่วยมาเล่า ตอนนั้นยังไม่มีห้าง พอมีห้างใหญ่ๆ ขึ้นมาก็เป็นเรื่อง เหล่า NGO กับสื่อโวยวายกับรัฐบาลว่า ปล่อยให้มีธุรกิจข้ามชาติมาทำลายอาชีพธุรกิจตลาดสดและร้านโชห่วยของคนไทยธรรมดาๆ

เคยไม่เห็นด้วยกับเขา เห็นว่าทำอย่างไรก็ทำลายตลาดสดกับร้านโชห่วยไม่ได้ เพราะแข็งแกร่ง ยืนหยัดฝังรากในสังคมไทยมานาน ถึงห้างมีความทันสมัย คนเข้าห้างเดินตากแอร์เย็นฉ่ำ ดูร้านค้าต่างๆ มีร้านอาหารให้เลือกกินเยอะแยะ และในตัวสรรพสินค้าเอง ของที่วางบนชั้นขายนั้นมากมายลานตา จะเอาอะไร ของนอกของเมืองไทยมีหมด แต่หลายอย่างในห้างไม่มีขาย อย่างถ่านไม้ ครกดิน ปูนกินหมาก หวดนึ่งข้าวเหนียว กระติ๊บใส่ข้าวเหนียว ตระกร้า กระด้งตากปลา เขียงไม้มะขาม 

ระบบซื้อขาย คนซื้อก็หยิบของที่ต้องการใส่ตระกร้าหรือรถเข็น แล้วไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ ซึ่งเหมือนหุ่นยนต์รับเงิน ทอนเงิน เอาของใส่ถุง เป็นอันเสร็จ ขนาดถามว่าลิ้นจี่กระป๋องยี่ห้อนั้นทำไมแพงกว่ายี่ห้อนี้เขายังไม่รู้ ถึงห้างกับร้านโชห่วยจะมีความต่าง แต่ไม่ได้ขีดเส้นตายระหว่างห้างกับคนซื้อ คนเดินในห้างเยอะแยะที่ซื้อของเอาไปขายในร้านโชห่วยก็มี

ห้างก็รู้ พยายามปรับตัวให้เหมือนตลาด เพื่อดึงคนเข้าห้างมากๆ มีเครื่องแกงสำเร็จรูปตักชั่งน้ำหนักตามต้องการ จะให้ใส่ข่าบด ผงเม็ดผักชี ยี่หร่า เพิ่มก็ได้ มีมะพร้าวกะเทาะเนื้อ มีเครื่องขูดมะพร้าว และเครื่องคั้นกระทิ ใส่ถุงเหมือนตลาด ปลามีบริการขอดเกล็ด ควักไส้ จะนึ่ง จะทอด ทำให้เสร็จ แถมยังมีข้าวแกงใส่ถุงขาย เหมือนข้าวแกงหน้าตลาด ทั้งหมดนี้คือการปรับตัวของห้าง 

ร้านโชห่วย เพื่อนคู่ใจใกล้ตัวของคนทำกับข้าว ในยามเกิดวิกฤตทั้งอดีตและปัจจุบัน
ร้านโชห่วย เพื่อนคู่ใจใกล้ตัวของคนทำกับข้าว ในยามเกิดวิกฤตทั้งอดีตและปัจจุบัน

หลุดจากห้างก็มีคนทำรถพุ่มพวง เหมือนเป็นร้านโชห่วยเคลื่อนที่ โจมตีย่านชุมชนนอกเมืองไกลๆ หรือขายใกล้โรงงาน ครั้งแรกๆ คนทำรถพุ่มพวงดังระเบิด คนทำตื่นตี 2 ตี 3 ไปซื้อสินค้าที่ตลาดไท เอามาเร่ขาย ยังไม่ทันเที่ยงหมด ไปตลาดไทอีกรอบ ซื้อของมาขายในรอบเย็น รวยเป็นกอบเป็นกำแต่สายตัวแทบขาด ตอนแรกๆ ร้านโชห่วยกระเทือนเหมือนกัน

แต่รถพุ่มพวงมักจะไปมาเป็นเวลา และของที่บรรทุกมาขายนั้นเอามาได้ไม่มากเพราะเนื้อที่จำกัด ส่วนร้านโชห่วยอยู่กับที่ มีของมากกว่า รถพุ่มพวงไปแล้ว จะซื้ออะไรก็ต้องร้านโชห่วย อาจจะบอกได้ว่า ต่างคนต่างทำมาหากิน อยู่ได้ทั้งคู่

ห้างใหญ่ก็เอาบ้าง ทำรถพุ่มพวง หวังเครดิตชื่อเสียงของห้าง แต่ราชการกรมค้าภายในไม่ยอม ห้างก็เลิกไป ราชการทำบ้าง เรียกว่ารถธงฟ้า ไม่นานก็เลิก ราชการช่วยสนับสนุนชาวบ้านดีกว่า ที่มาเล่นเองยังไงก็เจ๊ง

ทั้งหมดนี้คงบอกได้ว่า คนไทยกินอยู่อย่างไรเมื่อมีวิกฤตการณ์ ซึ่งผ่านวิกฤตการณ์มานับไม่ถ้วน ก็ยังรอดตัวอยู่ได้ ครั้งก่อนๆ นั้นเป็นเรื่องคนกับของที่ขาย หรือระหว่างคนกับของ แต่ครั้งนี้ทั้งสาหัส ทั้งโหดเหี้ยมถึงตายง่ายๆ ของก็มี แต่คนซื้อคนขายเจอกันแทบไม่ได้ เป็นเรื่องระหว่างคนกับคน แล้วไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ นี่เป็นคำตอบ

Writer & Photographer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ