อาจถือเป็นความใฝ่ฝันอย่างหนึ่งของนักการทูตที่จะได้รู้จักคนธรรมดาทั่วๆ ในประเทศที่เราไปอยู่ไปทำงาน

อาจเป็นความจริงที่น่าอายที่โอกาสของเราที่จะได้รู้จักคุ้นเคยกับคนธรรมดาทั่วๆ ไปนั้นแทบเป็นไปไม่ได้

แต่อย่างน้อย การงานที่โมซัมบิกก็ยังทำให้ความฝันและความจริงนี้มาพบกันแม้เพียงครึ่งทาง ที่ผมได้พบกับเขา เฟอนันโด มาลาเต้ 

อาจไม่มีอะไรที่ผมจำเป็นต้องรู้จักกับเขา

เฟอนันโด มาลาเต้ เป็นเพียง ‘คนธรรมดาทั่วๆ ไป’ ที่ผมกำลังหมายถึง

เขาแก่ จน เมาเหล้าเป็นนิจ เมียทิ้ง แต่งตัวซอมซ่อ บ้านอยู่ในสลัมหลังสถานทูต และตกงาน 

หากจะพูดแบบหยิบโหย่ง ซึ่งผมต้องขอโทษที่ต้องพูดแบบนี้ เพราะเขาไม่มีอะไรดีพอที่ผมจะต้องรู้จักเลย

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ (คนกลาง) กับน้องชายของเขาทางซ้าย และผู้ช่วยของเขาที่เป็นเด็กพิเศษออทิสติก ในเสื้อคลุมผลงานของจักกาย ศิริบุตร ที่เดินทางไปโมซัมบิกเมื่อต้น ค.ศ. 2018 ในขณะที่เขากำลังทำงานชิ้นนี้บนกำแพงข้างสถานทูต 
ภาพ : จักกาย ศิริบุตร 

แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นโชคชะตา บุญทำกรรมแต่ง หรือฟ้าลิขิต ที่ผมจะต้องได้รู้จักกับเขาเรื่อยมา จวบจนวันที่ผมต้องเดินทางกลับจากการทำงานในประเทศโมซัมบิก 

ผมจำได้ดีถึงวันที่เขามายืนรออยู่ข้างๆ สถานทูต หลังจากงานที่เขาถูกจ้างรายวันให้มาเป็นผู้ช่วยศิลปินแปะกระเบื้องหน้ากำแพงสถานทูตจบลง เขาเพียงจะมายืนรอเพื่อจะบอกด้วยภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นว่า หากมีอะไรที่เขาพอจะทำได้ เขาและน้องชายที่อยู่บ้านเดียวกันก็ยินดีรับจ้างทำงาน เพื่อเพียงให้มีรายได้มาจุนเจือชีวิตที่ไม่มีความหวังของเขา

เขายืนรออยู่นาน ดวงตาตก เศร้า นิ่งไร้ประกาย คอตก ไหล่ค้อมลง จนผมอดไม่ได้ที่เอ่ยปากขอให้เขาและน้องชายช่วยกันดายหญ้าและเก็บขยะที่รอบๆ ที่ทำงาน เพื่อแลกกับเงินจำนวนเล็กน้อยที่ผมพอจะเจียดให้เขาได้

นั่นคือวันแรกๆ ที่ชีวิตของทั้งผมและเขาจะต้องมาโคจรพบกันตลอดระยะเวลาของผมที่โมซัมบิก

แต่เขาก็มีดีพอที่ผมอยากจะรู้จักกับเขา

ผมรู้สึกชอบพอในบุคลิกซื่อๆ ง่ายๆ แม้เหล้ากลั่นดีกรีสูงที่เขาดื่มเป็นนิจจะทำให้หลายครั้งเขาต้องเป๋ๆ ไป จะยั่วให้ผมหงุดหงิดและจะต้องพูดจาแรงๆ กับเขาบ่อยๆ

เขาคือ ‘คนธรรมดาทั่วๆ ไป’ คนหนึ่ง คนที่ไม่ต่างจากคนหาเช้ากินค่ำในเมือง ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของกรุงมาปูโต เมืองหลวงของประเทศโมซัมบิก ที่ผมรู้สึกดีที่ได้รู้จักและได้เรียนรู้ประเทศที่ผมไปอยู่จากเขานี่แหละ

เขาและน้องชายมาช่วยผมและสถานทูตทำงานแบบรายวัน แลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทนจำนวนไม่มาก

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
ผู้ช่วยของเฟอนันโด มาลาเต้ ทั้งสองคนกำลังช่วยทำงาน 

จากงานเก็บขยะ งานก่ออิฐฉาบปูนแบบง่ายๆ งานเรียงอิฐตัวหนอนให้เป็นลานจอดรถ เรื่อยไปจนถึงงานตัดหญ้ารกที่ขึ้นสลับกับเศษขยะมูลฝอยที่ปลิวเกลื่อนไปทั่วบริเวณรอบๆ กำแพงหน้าหลังของสถานทูต จนกระทั่งถึงงานแปะกระเบื้องแบบโมเสก ที่เขาเคยเป็นเพียงลูกมือปลายแถวของศิลปินอาชีพที่มาทำงานกระเบื้องหน้าสถานทูตให้เรา

เราให้งานแปะกระเบื้องแบบโมเสกกับเขาทำมากพอ

จนถึงวันที่เราไม่มีงานอะไรให้เขาทำแล้ว 

เขาเป็นคนแปะกระเบื้องที่ไม่เหมือนใคร

ความซื่อของเฟอนันโด มาลาเต้ คนธรรมดาๆ ทั่วไปที่ผมรู้จักและคุ้นเคยคนนี้ไม่ได้แสดงออกมาแต่เพียงบุคลิกลักษณะนิสัยที่เห็น แต่ยังปรากฏในงานที่เขาทำออกมา โดยเฉพาะงานแปะกระเบื้องที่ตอนแรกอาจเป็นเพียงงานของช่างที่ไม่มีฝีมือ ไม่มีทางผ่านมาตรฐานใดๆ ทั้งสิ้น

แต่งานช่างตกเกรดของเขากลับมีอะไรบางอย่าง ที่เมื่อใครๆ เห็นแล้วต้องหันกลับมามอง งานเขาไม่เพียงแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่มีใครเหมือน แต่กลับเต็มไปด้วยความมานะพยายามและอดทน ทนต่อความไม่รู้ ทนต่อความหิวโหย และทนต่อความไม่มีสตางค์ เว้นอยู่แต่เพียงเวลาเดียวที่เขาใช้เหล้ายาแอลกอฮอล์บรรเทาความเศร้าทุกข์ของเขา ที่ทำให้งานของเขาเละตุ้มเป๊ะ

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เด็กนักเรียนหญิงในหมู่บ้านตวนกำลังยืนดูเฟอนันโดและผู้ช่วยที่เป็นเด็กพิเศษออทิสติก (เสื้อแดง) วาดแบบร่างบนกำแพงด้วยถ่าน ดูไปสักพัก พวกเธอก็นึกสนุกขึ้นมาวาดด้วย

สำหรับผม งานแปะกระเบื้องในแบบของเขาถือเป็นการทำงานศิลปะอย่างหนึ่ง แม้ว่าเขาคงไม่เคยคิดและไม่กล้าจะคิด ว่างานช่างที่เขาทำเพื่อแลกกับเงินพอประทังชีวิตนี้จะเข้าข่ายเป็นงานศิลปะได้

ผลงานของเขาไร้เดียงสา หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Naïve ซึ่งผมเห็นว่าถือเป็นลักษณะเด่นของงานศิลปะแอฟริกา เพราะเกิดจากการแสดงออกของศิลปินที่ไม่เคยเรียนศิลปะจริงจัง ไม่รู้เรื่องกายวิภาคหรือ Anatomy ของคน ไม่เข้าใจเรื่อง Perspective แสงหรือเงา และไม่รู้จักเทคนิควิธีการทำงานในสื่อต่างๆ 

เขาสั่งสมความชำนาญและเทคนิคเฉพาะตัวของเขาเอง ไม่มีทางเหมือนคนทำกระเบื้องโมเสกคนอื่นๆ ทั้งการทุบตัดแปะกระเบื้องด้วยปูนกาวคุณภาพต่ำที่สุดที่พอหาได้ในท้องถิ่น เขาไม่ใช้ปูนยาแนวกระเบื้องเป็นการเฉพาะ แต่ใช้ปูนกาวที่ใช้แปะกระเบื้องบนกำแพงนี้ใส่ลงในร่องช่องว่างระหว่างเศษกระเบื้องแทน เขาใช้เศษรองเท้าแตะฟองน้ำเป็นเกรียงในการปาดปูนยาแนวตามร่องออกให้เรียบ

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique

จริงๆ แล้ว ต้องบอกด้วยว่า เขาก็มีผู้ช่วยอีก 2 คน คนหนึ่งคือน้องชายของเขา และอีกคนหนึ่งคือเด็กหนุ่มซึ่งเป็นเด็กพิเศษออทิสติก ที่พ่อแม่ทิ้งให้อยู่กับปู่ที่บ้านข้างหลังสถานทูต ซึ่งผมขอให้เฟอนันโด มาลาเต้ และน้องชาย ช่วยดูแลและให้เขาช่วยงานด้วย

ใครเห็นงานของเฟอนันโด มาลาเต้ ก็คงจะต้องเห็นพ้องกับผมว่า นี่คืองานของศิลปิน ไม่ใช่งานของช่างตกงานเป็นแน่

ผลงานที่ผมอยากจะอวดแทนเขา

ผมค่อนข้างเชื่อว่า ในวันนี้ เขาคงไม่ได้มีโอกาสทำงานศิลปะแปะกระเบื้องแบบที่เขาเคยทำอีกต่อไปแล้ว เพราะเข้าใจดีว่า งานแบบนี้และคนแบบเขา คงไม่ได้โอกาสได้งานแบบนี้ง่ายๆ 

ผมจึงตั้งใจอยากนำงานของเขาที่ผมถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซ 2 – 3 ชิ้นที่ผมได้มีส่วนร่วมและมีส่วนรับรู้ มาอวดให้ดูและบันทึกไว้ว่า อย่างน้อยในชีวิตคนเล็กๆ อย่างเขา ก็ได้ทำงานที่ยิ่งใหญ่-อย่างน้อยสำหรับผมไว้บ้าง 

คงเป็นเพราะความจริงที่ว่า วันหนึ่งเขาก็จะต้องจากไปโดยไม่มีใครจดจำ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของชีวิตคนจนๆ คนหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเรื่องที่จะต้องน่าน้อยใจอะไร

เชิญมาชมกันเลยครับ

กำแพงสัตว์ (ค.ศ. 2017 – 2018)

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique

เมื่อครั้งเราให้เขาทำติดกระเบื้องแบบโมเสกที่กำแพงของเพื่อนบ้านที่อยู่ด้านข้างสถานทูตให้เป็นรูปสัตว์ ผมขอให้เขาไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของเมืองที่เต็มไปด้วยสัตว์สตัฟฟ์จำนวนมาก ผสมกับเขาดูตัวแบบจากหนังสือแบบเรียนของเด็กประถมที่เขาพอจะหาได้แถวๆ นั้น ภาพสัตว์นานาชนิดตั้งแต่นกฟลามิงโก้ จระเข้ ปลา ไปจนกระทั่งหมูป่าและสิงโต ที่เขาบรรจงแปะกระเบื้องลงไปนั้นกลับมีเอกลักษณะและสีสันสดสวยไม่เหมือนใคร จนกลายเป็นจุดถ่ายรูปของคนท้องถิ่นอยู่เนืองๆ

ร้านตัดผมหลังสถานทูต (ค.ศ. 2018)

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique

ในระหว่างที่เขากำลังทำกำแพงสัตว์ เจ้าของร้านตัดผมที่เป็นคนหนุ่มสมัยใหม่กำลังจะเปิดเพิงร้านตัดผมเล็กๆ ริมที่ดินของพ่อในชุมชนแออัดหลังสถานทูตพอดี เขาจึงได้ช่วยทำกำแพงหน้าร้านทำผมให้ด้วย เขาแปะเศษกระเบื้องสีเป็นรูปคนกำลังนั่งตัดผมแบบผิดสัดส่วนขนาดใหญ่ ซึ่งเห็นเด่นชัดมาตั้งแต่ปากทางเข้าชุมชนที่ตั้งอยู่ข้างสถานทูตพอดี 

ด้านล่างมีขอบปูนที่เด็กๆ และผู้หญิงในชุมชนมานั่งเล่นสม่ำเสมอ กำแพงปูนอีกด้านหนึ่งที่สูงเพียงระดับหัวเข่า ด้านบนเป็นช่องเปิดรับลมให้เขาไปในร้านตัดผมแทนหน้าต่าง เป็นรูปสิงโตหมอบที่ผมคิดว่าสวยงามที่สุด 

หมู่บ้านตวน (ค.ศ. 2018 – 2019)

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique

ในหมู่บ้านที่เราไปแลกเปลี่ยนให้ความช่วยเหลือพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะในด้านการเกษตรตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีอาคารเก่าที่อำเภอให้สถานทูตใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ พร้อมทั้งเป็นที่ทำงานของอาสาสมัครและโกดังเก็บของ โดยรอบของอาคารเก่า 

เขาได้ใช้เศษกระเบื้องเหลือใช้ที่มีคนนำมาให้แปะเป็นเรื่องราวความเป็นไปของหมู่บ้าน ตั้งแต่ยังเป็นที่ดินว่างเปล่าไม่มีคนอาศัย จนกระทั่งเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านในปัจจุบันที่เขาเห็น มีโรงเรียนที่เด็กๆ มาเรียนหนังสือ มีโครงการความร่วมมือจากรัฐบาลไทย ที่คนท้องถิ่นได้รู้จักบ่อเลี้ยงปลา นาข้าว รถไถ และรถอีแต๋นของไทย

ผลงานของเขาที่ผมอยากเรียกว่าเป็นงานศิลปะเหล่านี้ ในวันหนึ่งก็ต้องถูกทำลายหรือผุพังไปตามกาลเวลา เพราะงานเหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัดที่การพัฒนาของเมืองกำลังรุกคืบมาดั่งหายใจรดต้นคอ หรือไม่ก็อยู่ในสิ่งก่อสร้างไม่ถาวรที่ไม่มีใครเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เว้นเสียแต่ว่าจะโชคดี มีใครเห็นคุณค่ามองเห็นเป็นงานศิลปะเข้า

แต่สำหรับผมแล้ว อย่างน้อยผลงานเหล่านี้ก็ได้เกิดขึ้น และได้ทำหน้าที่ในการจรรโลงความสวยและความงามให้กับผู้ที่ได้พบเห็น ชุมชน และบรรยากาศโดยรอบแล้ว

มาร่วมกันไชโยให้กับเขา เฟอนันโด มาลาเต้ กันเถิดครับ

ชีวิตหลังศิลปิน เจ้าของร้านตัดผมที่อาร์ตที่สุดในเมือง

ไม่นานก่อนกำลังจะกลับจากการทำงานที่โมซัมบิก ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ผมคงต้องเป็นห่วงเขาไม่น้อย เลยอยากจะทำอะไรให้เขาบ้าง

ไม่ใช่ในฐานะคนคุ้นเคยแบบสนิทมักจี่ แต่ในฐานะคนที่เคยทำงานด้วยกัน รู้จักกัน และที่สำคัญ ในฐานะคนที่เคยช่วยผมเก็บขยะและทำพื้นที่รอบๆ สถานทูตให้สวยงามและปลอดภัย

เพราะรู้จักเขาพอสมควร ผมจึงรู้ว่า ต่อจากนี้เขาคงหางานทำได้ไม่ง่าย 

ภาพถ่ายที่พนักงานทำความสะอาดสถานทูตที่เป็นหนึ่งในลูกค้าของช่างตัดผมเฟอนันโดส่งมาให้ผมดูผ่าน WhatsApp จะเห็นได้ว่า เขาตัดผมให้น้องชาย และตัดให้ตัวเองด้วยแบตตาเลี่ยนใหม่เอี่ยมอ่องและใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟอย่างถูกต้อง

แล้วโครงการทำร้านตัดผมให้เขา-โปรดอย่าคิดว่าเป็นร้านตัดผมใหญ่โต แต่เป็นเพียงเพิงเล็กๆ ที่ต่อออกมาจากบ้านของเขาในสลัมก็ได้เริ่มขึ้น

อย่างน้อย ค่าตัดผมผู้ชายที่เขาจะได้รับในราคามาตรฐานราว 10 บาทต่อหัว และสำหรับคนแอฟริกันที่มีสภาพเส้นผมหยิกติดหนังหัวแล้ว การตัดโกนผมจึงถือเป็นเรื่องจำเป็น พวกเขาต้องเข้าออกร้านตัดผมที่มีอยู่ทั่วไปทุกซอกซอยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งเสมอ

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
บรรยากาศหน้าร้านตัดผมของเขา ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบนถนนสายหลักที่ตัดผ่านชุมชนแออัด ซึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยของผู้มีรายได้น้อยในกรุงมาปูโต ทางด้านซ้ายเป็นแผงขายกาต้มน้ำและเตารีดไฟฟ้ามือสอง ด้านขาวคือกลุ่มคนที่กำลังล้อมวงเล่นหมากหลุม ที่เป็นที่นิยมในหมู่คนท้องถิ่น

เขาเล่าว่า เขาเคยไปทำงานในประเทศแอฟริกาใต้ตามแบบฉบับของคนในวัยแรงงานส่วนใหญ่ของโมซัมบิก ที่วิ่งหนีสงครามกลางเมืองไปหางานทำในประเทศที่มีชายแดนติดกัน และในช่วงหนึ่งของชีวิต เขาเคยทำงานเป็นช่างตัดผม ไม่รู้ว่าจะโดยอาชีพหรือเป็นงานเสริมที่ตัดให้กับเพื่อนคนงานด้วย แต่เขามั่นใจว่า ผมจะช่วยเขาสร้างร้านตัดผมขึ้นมาได้ 

แน่นอน… ผมขอเขาอย่างเดียว คือเขาจะต้องประดับตกแต่งร้านด้วยกระเบื้องโมเสกแบบที่เขาถนัดและที่ผมนิยมชมชอบในฝีไม้ลายมือของเขา 

ผมช่วยซื้อวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ของร้านตัดผมแบบง่ายๆ ให้เขา พร้อมกับจ่ายค่าไฟฟ้าจำนวนไม่มากที่เขาค้างจ่ายมาเป็น 10 ปีจนถูกตัดให้ เพื่อที่จะต่อไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าที่แอบต่อมาแบบที่เป็นอยู่

อิฐบล็อกก่อเขาทำเองตามแบบฉบับของคนท้องถิ่นเพียงแต่ซื้อปูนและทรายไม่กี่กระสอบให้เขา ประตูและหน้าต่างสำเร็จรูปอีกอย่างละบาน กระจกบานใหญ่ 1 บาน เก้าอี้นั่งหมุนได้แบบที่ใช้นั่งทำงาน ไม่ใช่เก้าอี้ตัดผมหรูหรา พร้อมกับแบตตาเลี่ยนตัดผม 1 เครื่อง

เมื่อร้านเขาเปิดร้าน เพื่อนฝูงของเขามาอุดหนุนเขาเป็นจำนวนไม่มากแต่ก็ไม่น้อย 

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
อุปกรณ์ตัดผมแบบง่ายๆ แบตตาเลี่ยนตัวด้านซ้ายคือตัวที่ผมซื้อให้เขา ตัวด้านขวาคือแบตตาเลี่ยนตัวเก่าที่เพื่อนบ้านของเขานำมาให้ใช้สำรอง

ค่าตอบแทนที่เขาได้รับแม้เพียงวันละ 30 – 50 บาทในช่วงแรก ก็ทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผมก็เป็นลูกค้าของเขา และค่อนข้างแน่ใจว่า เป็นลูกค้าที่ใจป้ำให้ทิปเขามากที่สุดเสียด้วย

เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
เฟอนันโด มาลาเต้ หนุ่มสลัมมาปูโตกับผลงานศิลปะ Unique ที่ฝากไว้ ณ สถานทูตไทยใน โมซัมบิก, mozambique
ผมไปร่วมฉลองการเปิดร้านตัดผมของเขาที่เสร็จเรียบร้อยด้วยการเป็นลูกค้าชาวต่างชาติคนแรกของเขา

ผมเคยเข้าร้านตัดผมเพราะเศร้าอกหัก อยากจะตัดเส้นผมแห่งความพันธนาการออกไปให้หมด แต่ความรู้สึกในวันนั้นที่ผมให้เฟอนันโด มาลาเต้-คนธรรมดาๆ ทั่วไปคนนี้ตัดผมให้ กลับเป็นความปลื้มปีติอย่างบอกไม่ถูก

Writer & Photographer

Avatar

อาทิตย์ ประสาทกุล

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และแฟนคลับ The Cloud