ในยุคที่กระแสการรักสิ่งแวดล้อมมาแรง การเกิดขึ้นของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่สินค้าของ PAD.Banana Leaf Product กลับสะดุดตาสะดุดใจฉันมาก

PAD.Banana Leaf Product

อย่างแรกคือของใช้แบรนด์นี้ตั้งแต่กระเป๋าเงินถึงโคมไฟนั้นสวยน่าใช้ที่สุด

อย่างที่สองคือในบรรดาวัสดุรักโลกมากมาย นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นคนหยิบ ‘ใบตองแห้ง’ (ไม่ใช่ใบตองสดด้วยนะ) มาใช้

อย่างที่สามคือนี่ไม่ใช่แค่แบรนด์ของเก๋ แต่เบื้องหลังคือการช่วยให้ชุมชนใกล้เคียงมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

ลูกปัด-พัชรียา แฟงอ๊อด หญิงสาวผู้ก่อตั้งแบรนด์สวยและยั่งยืนเล่าว่า เธอเป็นสาวอุตรดิตถ์ที่สนใจงานฝีมือของชาวบ้านและของใช้ที่รักสิ่งแวดล้อม เมื่อเข้าเรียนด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และต้องการมองหาวัสดุใหม่ๆ มาทำโปรเจกต์ส่งอาจารย์ ลูกปัดซึ่งตอนนั้นเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 จึงสนใจวัสดุธรรมชาติ

PAD.Banana Leaf Product

“ที่บ้านเรามีสวนอยู่ และเคยมีคนบอกว่าต้นกล้วยเป็นพืชที่มีประโยชน์ทุกส่วน เราก็ดูว่าแต่ละส่วนมีคนเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ส่วนที่เหลือใช้ของต้นกล้วยจริงๆ คือส่วนไหน แล้วก็ไปเห็นใบตองแห้งที่ตกอยู่ตามพื้นสวน เลยเกิดแรงบันดาลใจอยากลองทำให้ใบตองที่แห้งกรอบเหลือแค่รอเวลาย่อยสลายกลับมามีชีวิต” ลูกปัดย้อนเล่าจุดเริ่มต้นเรื่องราว

PAD.Banana Leaf Product

PAD.Banana Leaf Product

หลังจากนั้น นักออกแบบสาวก็หยิบใบตองแห้งมาทดลองเพื่อหาความเป็นไปได้ แต่การเคลือบด้วยสารเคมีทั่วไปให้ผลไม่ค่อยน่าพอใจ เธอจึงทบทวนจนนึกออกว่าเคยใช้ใบตองสดมารองรีดผ้า เพราะน้ำมันในใบตองเมื่อโดนความร้อนจะระเหยขึ้นมาเคลือบเตารีด ทำให้เตารีดกับเนื้อผ้าไม่ติดกัน

ลูกปัดเลยลองนำใบตองแห้งมารีดดูและพบว่าใบตองแห้งนั้นยังมีน้ำมันระเหยเหลืออยู่ ซึ่งเมื่อทดสอบก็พบว่าน้ำมันนี้เมื่อโดนความร้อนจะช่วยให้ใบตองแห้งหอมเหมือนขนมไทย กันแมลง กันน้ำ อีกทั้งยังเพิ่มความยืดหยุ่น นักออกแบบสาวจึงหยิบใบตองแห้งไปผสานกับผืนผ้า เกิดเป็นแผ่นวัสดุชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติดีงาม มีเฉดสีสวยหลากหลายยิ่งกว่าใบตองสด เพราะแต่ละส่วนของใบตองแห้งย่อมผ่านการโดนแดดไม่เท่ากัน ที่สำคัญคือมีความเป็นธรรมชาติปราศจากสารเคมี

PAD.Banana Leaf Product

วัสดุใหม่เอี่ยมจากธรรมชาติถูกหยิบมาทดลองขึ้นรูปเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันชิ้นเก๋อย่างสมุดสเกตช์ ซองใส่มือถือ และกระเป๋าใส่โน้ตบุ๊ก เป็นโปรเจกต์ส่งอาจารย์ พร้อมกันนั้นเธอก็ลองทดสอบฝีมือตัวเองด้วยการส่งผลิตภัณฑ์จากใบตองแห้งเข้าประกวดงาน Thailand Green Design Award ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

PAD.Banana Leaf Product

ผลงานของเธอได้รับเสียงตอบรับดีเยี่ยมจากกรรมการจนคว้ารางวัลที่ 2 สร้างความมั่นใจให้นักออกแบบสาวจนหยิบมันมาขยายต่อเป็นโปรเจกต์จบ โดยเพิ่มงานออกแบบของแต่งบ้านอย่างแจกัน หมอนอิง และโคมไฟเข้าไป และแน่นอน ธีสิสไม่เหมือนใครชิ้นนี้ก็ได้รับการตอบรับน่าชื่นใจจากคณาจารย์

“จากความอยากลองทำ กลายเป็นการลองที่คนอื่นชอบด้วย เราก็รู้สึกว่าทิ้งตรงนี้ไม่ได้แล้ว เรารักมันแล้ว” ลูกปัดอธิบายสิ่งที่รู้สึกในใจ

PAD.Banana Leaf Product

ผลงานการออกแบบในรั้วสถานศึกษาจึงถูกต่อยอดกลายเป็น PAD.Banana Leaf Product แบรนด์ของใช้แสนสวยจาก ‘ใบตองแห้ง’ ที่แค่เพียงได้เห็น หยิบจับ ดมกลิ่น ก็สัมผัสได้ถึงความเป็นธรรมชาติที่น่าหอบหิ้วกลับบ้านที่สุด

หากลูกปัดไม่ได้มองแบรนด์นี้เพียงธุรกิจสร้างรายได้ แต่เธอมองว่าสิ่งที่ทำมีศักยภาพกว้างไกลกว่านั้น

“เราเป็นคนอุตรดิตถ์ที่สุดท้ายก็อยากกลับบ้าน เรารู้สึกว่าที่บ้านมีทรัพยากรรออยู่และอยากกลับมาทำงาน อย่างน้อยก็กับคนในชุมชน” เธออธิบายแล้วเล่าต่อว่า คนในละแวกบ้านปลูกกล้วยอยู่แล้วทุกครัวเรือน แต่เป็นการปลูกแบบทิ้งๆ ไว้เผื่อได้กินผล ส่วนใบตองไม่ค่อยมีใครสนใจเพราะคิดว่าไม่มีราคา เธอจึงเริ่มทำงานกับชุมชนด้วยการเปิดรับซื้อใบตองแห้ง ทำให้เขารู้สึกว่าของที่ไม่น่าขายได้กลับมีมูลค่า จากนั้นสำหรับใครที่สนใจมากกว่านั้น เธอก็เข้าไปสอนวิธีอัดใบตองให้กลายเป็นแผ่นวัสดุ

PAD.Banana Leaf Product

PAD.Banana Leaf Product

“การให้ชุมชนรวมกลุ่มกันค่อนข้างยาก เพราะวิถีชีวิตเขาเป็นการทำสวนทำไร่ เราเลยเริ่มจากหาคนบ้านใกล้เรือนเคียงที่ยังไม่มีอาชีพหรือไปทำงานที่อื่นไม่ไหว คนที่อายุเยอะๆ เขาก็ได้มาล้าง เช็ด ตัดใบตอง ทำงานที่ไม่หนักแต่ยังมีรายได้ ทุกคนก็ได้เงินตรงนี้จนมีคนสนใจทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ลูกปัดเล่าถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

เพราะอย่างนี้ ผลิตภัณฑ์จากใบตองแห้งของ PAD.Banana Leaf Product แต่ละชิ้นจึงไม่ใช่แค่ของใช้สวยงาม 1 ชิ้น แต่หมายถึงการเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ สร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้ชาวชุมชนในอุตรดิตถ์ และในอนาคตนักออกแบบสาวก็อยากให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันได้เข้มแข็ง เพื่อที่แบรนด์อายุ 1 ปีกว่าของเธอจะได้เติบโตไปพร้อมกันด้วยวิถีทางที่คงเสน่ห์งานฝีมือไว้ ไม่ต้องเข้าสู่การผลิตระบบอุตสาหกรรม

PAD.Banana Leaf Product

และแน่นอน ระหว่างทางสู่เป้าหมายนั้น เธอก็ยังเดินต่อไปด้วยไฟเต็มเปี่ยมทุกวัน

“ตั้งแต่ตอนเรียนในมหาวิทยาลัย เรารู้สึกว่าการเข้าไปทำงานบริษัทอาจไม่ใช่ตัวเรา อาจต้องหาอะไรทำเป็นของตัวเองสักอย่าง เมื่อได้ทำแบรนด์นี้ก็รู้สึกว่าเป็นไปตามที่หวังไว้ และตอนนี้ก็ยังสนุกกับมัน หยุดไม่ได้หรอก วันนี้ออกแบบเป็นสมุด ก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างอื่นได้ในวันข้างหน้า” นักออกแบบสาวเอ่ยถึงสิ่งที่เธอหลงใหลทิ้งท้าย

Facebook l   Pad.Banana Leaf Product

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN