1 พฤศจิกายน 2019
7 K

The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

คุณชอบท่องเที่ยวไหม เชื่อว่าหลายคนคงพยักหน้าอยู่ในใจ เพราะการท่องเที่ยวช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ สร้างช่วงเวลาแสนสุขใจ แถมยังทำให้ได้ลิ้มลองอาหารอร่อยจากต่างถิ่นที่แปลกไปจากชีวิตประจำวัน

วันนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักบริษัทท่องเที่ยวเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ไม่ได้มอบแค่ความสุขให้ผู้เดินทาง แต่ยังช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้หลากหลายชุมชนทั่วประเทศไทยที่พวกเขาร่วมงานด้วย ผ่านความร่วมมือระยะยาวในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน โดยมีความสุขและความยั่งยืนของชุมชนเป็นหน่วยวัดความสำเร็จ

Local Alike คือชื่อที่นักท่องเที่ยวชุมชนทุกคนคงคุ้นหู เพราะเป็นบริษัทท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสังคม บริษัทแรกๆ ที่เปิดทำการในประเทศไทยเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ในวันที่น้อยคนนักจะรู้จักการท่องเที่ยวลักษณะนี้ ที่ไม่ใช่แค่การพากรุ๊ปทัวร์ลงไปถ่ายรูปแล้วจบ 

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทีมของโลเคิล อไลค์ เข้าไปศึกษาศักยภาพของชุมชนนับสิบนับร้อยอย่างจริงจัง เพื่อนำมาต่อยอดอย่างเข้าอกเข้าใจ และพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวที่ให้ดอกผลเป็นประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง แต่ละชุมชนใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ในการเข้าไปฝังตัวในชุมชน จนสนิทสนมเหมือนลูกหลานของชาวบ้าน 

‘Local Aroi’ คือโมเดลในการช่วยให้ชุมชนเชื่อมโยงกับผู้คนอย่างยั่งยืนของโลเคิล อไลค์ ผ่าน ‘อาหารชุมชน’ ที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวอบอุ่นและเสน่ห์แห่งท้องถิ่น

Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น
Local Alike โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น

โลเคิล อร่อย สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วประเทศผ่านการเพิ่มมูลค่าให้อาหารท้องถิ่น โดยจัดเป็นอาหารมื้อพิเศษแบบ Chef’s Table ให้คนเมืองมาลิ้มรส ปรุงด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นที่ปลูกแบบอินทรีย์โดยชาวบ้านในชุมชน ผ่านฝีมือปลายจวักของเหล่าเชฟชาวบ้าน คงรสชาติดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและเรื่องราวของแต่ละชุมชนจากทั่วประเทศไทย

บนหน้าจอต่อไปนี้ อาจทำให้คุณน้ำลายสอสักหน่อย เพราะเราจะพาไปดูการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ผ่านวัฒนธรรมการกินอาหารท้องถิ่นที่สร้างคุณค่าและมูลค่าให้ทุกคน ตั้งแต่วัตถุดิบบนต้นจนถึงปลายทางบนจาน

01

กลับคืนสู่พื้นถิ่น

วันนี้เรามีนัดมาชิมอาหารมื้อพิเศษ โลเคิล อร่อย และพูดคุยกับ ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโลเคิล อไลค์ ถึงการเติบโตและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนในประเทศไทย

เพราะเติบโตในหมู่บ้านต่างจังหวัด ทำให้ไผ หัวเรือใหญ่ของธุรกิจเพื่อสังคมแห่งนี้รับรู้ถึงภาวะด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนเป็นอย่างดี

ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโลเคิล อไลค์

“เพราะเราเกิดในหมู่บ้านต่างจังหวัด โอกาสทางเศรษฐกิจไม่ค่อยมี แม่เราเองก็ปลูกฝังเสมอว่าเราเป็นคนจน โอกาสมันก็มีอยู่แค่ไม่ขายแรงงาน ก็หาการศึกษาให้ตัวเอง” ไผในวัยที่โตขึ้นจึงเลือกเดินทั้งสองเส้นทาง เมื่อเขาขวนขวายทั้งความรู้และประสบการณ์จากการทำงานในแวดวงของการพัฒนาธุรกิจชุมชน ภาพทางออกของปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในชุมชน ก็ค่อยๆ ปรากฏชัดเจนขึ้นในหัวเขา

“พอเราโตขึ้น ได้เรียนหนังสือ เริ่มทำงาน เราก็เห็นว่าโอกาสของชุมชนคือการท่องเที่ยว เราจึงอยากผลักดันการท่องเที่ยวให้เข้าสู่ชุมชนให้มากขึ้น เพราะที่เราศึกษามาจริงๆ การท่องเที่ยวมันไม่ได้สร้างประโยชน์ให้ชุมชนขนาดนั้น ในขณะที่มันสร้างประโยชน์ให้ประเทศมากมาย” ไผเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนความผิดหวัง

“เรารู้สึกว่าวิธีการมันไม่ควรจะเป็นอย่างเมื่อก่อน ที่ชาวกะเหรี่ยงต้องแต่งชุดคอยาวมาให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป แล้วนักท่องเที่ยวก็ไปตัดสินว่าเขามาฉวยโอกาสจากนักท่องเที่ยว จริงๆ แล้วเขาอาจจะอยากทำอะไรมากกว่านั้น แต่มันทำไม่ได้ 

“สิ่งที่เราค้นพบคือ ทรัพยากรเป็นของชุมชน แต่บริษัทท่องเที่ยวเข้าไปหาผลประโยชน์ โดยที่ชุมชนไม่ได้รายได้อะไรเลย เราเลยอยากลุกขึ้นมาทำให้มันเป็น ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ พัฒนาแล้วต้องขายได้ เมื่อขายได้แล้วต้องเอากลับมาพัฒนาชุมชนได้” ชายหนุ่มที่อยู่ตรงหน้าเรากล่าวเสริมด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง

ไผและเพื่อนๆ ที่มีความตั้งใจแน่วแน่จะเปลี่ยนการท่องเที่ยวแบบทั่วไปให้กลายเป็นการท่องเที่ยวที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงได้ก่อตั้งโลเคิล อไลค์ ขึ้น พวกเขาใช้เวลา 1 ปีเต็มในการมองศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อหาโมเดลการท่องเที่ยวชุมชนที่เหมาะสมกับบริษัทของประเทศไทย โดยมีภารกิจคือจะมอบองค์ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวเช่นการทำโฮมสเตย์ให้ชาวบ้านในชุมชน และช่วยอุ้มชูประคับประคองให้ธุรกิจท่องเที่ยวเล็กๆ ของชาวบ้านนั้นอยู่ได้ด้วยตัวเอง

Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น

แต่การเปิดประตูที่นำไปสู่ทางออกของปัญหาข้างต้นก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่เขาคิด เพราะมันถูกล็อกอย่างแน่นหนาด้วยมวลชนสัมพันธ์ที่ไม่แข็งแรง และความไม่เห็นถึงคุณค่าทรัพยากรในชุมชนของชาวบ้านเอง พวกเขาจึงต้องใช้เวลานับหลายแรมเดือนเพื่อปลดล็อกความคิดเหล่านี้ การลงศึกษาพื้นที่ของโลเคิล อไลค์ จึงกินเวลานานร่วมปี

“ต้องยอมรับว่าเราทำงานกับคนทั้งหมู่บ้านไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเลือกทำงานกับกลุ่มคนที่เป็น Changemaker ซึ่งเราใช้เวลาในการหาคนเหล่านี้นานมาก” พวกเขาต้องใช้เวลา 5 – 6 เดือน ต่อการเข้าไปฝังตัวในแต่ละชุมชน เรียกได้ว่าอยู่ร่วมกันนานจนสามารถนับเป็นลูกเป็นหลานกันได้ 

การปฏิสัมพันธ์และเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับแนวทางการพลิกฟื้นการท่องเที่ยวภายในท้องถิ่นกับคนในชุมชน โดยเฉพาะกับเหล่านักสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง รู้จักวิธีเปลี่ยนจุดเด่นให้เป็นจุดขาย จนกลายเป็นอาชีพที่สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน

02

ความสำเร็จจากต้นจนถึงปลายทาง

ภายในระยะเวลา 10 ปี คำบอกเล่าแบบปากต่อปากจากกลุ่มคนเพียงหยิบมือ ที่เข้าร่วมการท่องเที่ยวชุมชนในระยะแรกเริ่ม ก็แผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง ไม่ใช่แค่ในวงสนทนาของกลุ่มคน กลุ่มองค์กร แต่ไปไกลถึงระดับประเทศ 

มีชาวต่างชาติหันมาสนใจการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น ทั้งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง และเพื่อนบ้านที่อยู่ไกลออกไปถึงอีกซีกโลก เป้าหมายในการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบธรรมดาให้กลายเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน จึงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมสำหรับโลเคิล อไลค์ อีกต่อไป

การได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติถือเป็นการเปิดโอกาส และการเพิ่มพื้นที่ทางธุรกิจให้กับการท่องเที่ยวชุมชนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะมีการกระจายรายได้ไปสู่ในชุมชนจริง ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีรากฐานที่มั่นคงขึ้น ผลพวงแห่งความสำเร็จนี้มาจากการก้าวไปพร้อมๆ กันระหว่างโลเคิล อไลค์ และชุมชน 

Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น
Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น

ไม่เพียงออกแสวงหาแหล่งน้ำที่เต็มไปด้วยปลา แต่โลเคิล อไลค์ ยังแนะนำวิธีตกปลาที่ถูกต้องให้คนในชุมชน เพื่อต่อยอดความยั่งยืนนี้ต่อไป 

“เราทำงานกับชุมชน แล้วเขาก็เลือกที่จะทำงานกับเราแล้ว เพราะฉะนั้น เราก็ต้องช่วยกันหาทางออกร่วมกัน ไปด้วยกัน โตไปด้วยกัน” ไผกล่าวพร้อมแววตายิ้ม

โมเดลในการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการท่องเที่ยวของโลเคิล อไลค์ แบ่งออกเป็น 5 ภารกิจ คือ

ภารกิจแรก พวกเขาจะพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมไปกับชุมชน จนกว่าชุมชนจะดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ภารกิจที่สอง พวกเขาจะช่วยเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวและผู้คนในเมืองเข้ากับชุมชนโดยตรง

ภารกิจที่สาม ไม่ใช่แค่ทำเท่านั้น แต่ต้องมีผลลัพธ์ความสำเร็จเป็นตัวเลขที่จับต้องและเห็นภาพได้ชัดเจน

ภารกิจที่สี่ ความพร้อมในการเปิดรับการท่องเที่ยวของชาวบ้านแต่ละคนในชุมชนนั้นไม่เท่ากัน โลเคิล อไลค์ จึงดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนส่วนกลางของชุมชน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาอื่นๆ ของชุมชนด้วย

และภารกิจสุดท้าย คือการบอกเล่าและกระจายภูมิปัญญาของชุมชน ที่ถูกซ่อนไว้ให้คนทั่วไปได้รับรู้และตระหนักถึงคุณค่า

Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น
Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น

อีกหนึ่งความสำเร็จที่ไม่ได้ออกดอกออกผลให้เห็นเป็นรูปธรรม แต่เรารู้สึกสัมผัสได้ คือการตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมตัวเรา และระยะห่างระหว่างคนเมืองและชุมชนที่ลดลงไป 

ยิ่งตัวเลขสถิติการท่องเที่ยวชุมชนภายในประเทศไทยที่สูงขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่ามีคนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่ารอยแยกระหว่างคนเมือง ชาวต่างชาติ และชุมชนค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าหากัน และคาดว่าจะรวมเป็นแผ่นเดียวกันอย่างไร้รอยต่อได้ในอนาคต

03

ชุมชนกับความอร่อย

ตราบใดที่โลกยังไม่หยุดโคจรรอบดวงอาทิตย์ ฤดูกาลยังคงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป ความสนใจและการพัฒนาของมนุษย์ก็ไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับที่ได้เช่นกัน โมเดลมื้ออาหารจานพิศษจากชุมชนอย่างโลเคิล อร่อย จึงถือกำเนิดขึ้น จากการพยายามพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ ให้การท่องเที่ยวชุมชนของโลเคิล อไลค์

หน้าร้อนในเดือนมิถุนายน ไผและทีมงานเปี่ยมอุดมการณ์ทั้งรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ นั่งล้อมวงคุยกันถึงเรื่องการต่อยอดนี้ พวกเขาขบคิดกันในประเด็นคำถามที่ว่า “นอกจากประสบการณ์การท่องเที่ยวชุมชน ยังมีอะไรอีกบ้างที่เป็นสินค้าสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น” 

ความคิดสร้างสรรค์มากมายพลั่งพรูออกมาจากหัวของพวกเขา แต่สินค้าที่พวกเขาอยากพาไปต่อคือ ‘อาหาร’ 

Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น

“อาหารชุมชนเป็นสินค้าท่องเที่ยวอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์มาก ด้วยความที่เรามีความสัมพันธ์กับหลายร้อยชุมชน เราจะหยิบจับอะไรก็ทำธุรกิจได้แล้วละ” แววตาเปล่งประกายบ่งบอกถึงความภูมิใจปรากฏขึ้นเมื่อไผเล่าถึงที่มาของธุรกิจต่อยอดนี้

แนวคิดนามธรรมที่อยากจะเป็นประตูอีกบาน ที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองและชุมชนให้แน่นแฟ้นขึ้น เกิดขึ้นเมื่อประมาณกลางปี 2562 และก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นใน 2 เดือนถัดมา

“เราเริ่มจากการดูว่ามีชุมชนไหนบ้าง ที่ เชฟบุ๊ค-บุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต เชฟผู้ตั้งใจพัฒนาและต่อยอดวัตถุดิบท้องถิ่นเคยลงไปร่วมทำงานด้วย จากนั้นเชฟบุ๊คจะดีไซน์อาหารที่ปรุงตามสูตรดั้งเดิมของพื้นถิ่นนั้นๆ ร่วมกับเชฟชุมชน พ่อๆ แม่ๆ ผู้เป็นพ่อครัวแม่ครัวรุ่นเก๋าของชุมชน”

Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น
Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น

เมื่อเราได้ลิ้มรสอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบในพื้นถิ่นแบบแท้ๆ ได้ลองฟังเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ซุกซ่อนอยู่ในอาหารจานพิเศษนั้น เราก็รับรู้ได้ทันทีเลยว่านี่ไม่ใช่แค่ธุรกิจขายอาหารทั่วไป แต่เป็นธุรกิจที่นำเสนอประสบการณ์ท่องเที่ยวชุมชนผ่านอาหารให้กับคนเมืองโดยแท้จริง ทุกเมนูรังสรรค์ ปรุงรส ผ่านสูตรดั้งเดิมของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ในชุมชน 

เมื่อตะวันเริ่มอ่อนแสงลง ความสลัวของท้องฟ้ายามเย็นก็เข้ามาแทนที่ เรายกมือซ้ายขึ้นเพื่อดูนาฬิกา ก็รู้สึกประหลาดใจว่าทำไมเวลาผ่านไปเร็วนัก เกือบ 1 ชั่วโมงเต็มที่เรานั่งฟังเรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจต่อยอดเล็กๆ แต่สร้างประโยชน์แก่ผู้คนและสังคมอย่างมากมาย ไม่มีสักวินาทีที่เราไม่รู้สึกประทับใจกับที่มาที่ไปของธุรกิจสร้างสรรค์นี้ 

“แล้วคนอื่นล่ะ เขารู้สึกอย่างไรกับโลเคิล อร่อย” เราถาม

Local Alike โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น

“ส่วนใหญ่จะเป็นแนว Recall ครับ อย่างอาหารจานคุณแม่หรือจานที่เขาเคยกินที่บ้านแล้วไม่ได้กินอีก มันหมดความสำคัญไปแล้ว แต่พอเขาได้มานั่งกิน ได้มาเห็นอาหารจานเดิมๆ มีเรื่องราวเข้ามา แล้วเขาได้มีความสุขไปกับเรื่องราวที่มันเกิดขึ้นใหม่ แต่ทำให้หวนนึกไปถึงเรื่องราวเก่าๆ มันก็เกิดเป็นความประทับใจ 

“บางคนยอมรับแม้กระทั่งว่าอาหารบางจานมันไม่ได้อร่อยพิเศษกว่าที่อื่น แต่มันอร่อยขึ้นเพราะมันมีเรื่องราว แต่หลายๆ คนบอกว่ามันอร่อยกว่าที่เคยกิน เพราะเขาไม่ได้แค่เอาเข้าปาก แต่เขาได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสความทรงจำเหล่านั้นด้วย” ไผตอบพร้อมรอยยิ้ม

04

ต่อยอดความอร่อยให้ยั่งยืน

ตอนนี้โลเคิล อร่อย ยังไม่มีร้านเป็นของตัวเอง แต่อาศัยความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ร้านอาหารที่สนใจเรื่องการพัฒนาอาหารชุมชนเพื่อชุมชนเช่นเดียวกัน อย่าง ร้าน Rocket Cafe, Odtomato, จานกับข้าวไผ, มาริโกลด์ และที่เรามาชิมอาหารจากชุมชนโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ วันนี้คือร้าน Est.33

ไผเล่าด้วยความตื่นเต้นว่า ต้นปีหน้าจะต้องมีพื้นที่อร่อยเป็นของตนเอง รังสรรค์เมนูอุดมด้วยประสบการณ์ท่องเเที่ยวชุมชนขึ้นมาอีกห้าสิบกว่าเมนู ซึ่งเป็นประเภท A La Carte หรืออาหารจานเดียวที่อยู่ในราคาที่คนทั่วไปเอื้อมถึงได้ และเพิ่มทางเลือกให้กับคนที่มาทาน นักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย Chef’s Table มื้อค่ำแบบส่วนตัว ชั้นเรียนสอนทำอาหาร  ซึ่งสอนโดยคนในชุมชน รวมถึง Local Bar ที่นำเสนอเมนูเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชุมชน

ความคิดที่ปรากฏขึ้นมาในหัวของเราหลังจากฟังไผวาดภาพโลเคิล อร่อย ในอนาคตอันใกล้ให้ฟังคือ “เมื่อไหร่จะถึงต้นปีหน้านะ ชักอยากเห็นโลเคิล อร่อย แบบฟูลสตรีมซะแล้วสิ”

Local Aroi โมเดลบริษัทท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้ชุมชนทั่วไทยด้วยการชวนคนมากินอาหารพื้นถิ่น

Writer

Avatar

อมราวดี วงศ์สุวรรณ

นักหัดเขียนสายใต้ที่ไม่รังเกียจรอยหมึกที่เปื้อนมือ พึงใจกับการสดับจังหวะการลงน้ำหนักนิ้วมือบนแป้นพิมพ์ และกลิ่นกระดาษบนหน้าหนังสือ