เมื่อนึกถึง ‘ครามสกล’ ฉันนึกถึงทุกเฉดสีของโทนสีน้ำเงิน

ตั้งแต่ฟ้าซีดจางแทบขาว ฟ้าสดเหมือนฟ้าอีสานยามไร้เมฆ ไปจนถึงน้ำเงินเข้มเหมือนท้องฟ้ายามค่ำคืน สารพัดเฉดเย็นตาอยู่ในรูปแบบเสื้อผ้าและของใช้ตกแต่งบ้านที่ย้อมด้วยคราม ตั้งแต่ผ้าเช็ดหน้า เนกไท เสื้อผ้า ไปจนถึงผ้าปูที่นอน หมอนสามเหลี่ยม ผ้าม่าน และโคมไฟ ทั้งหมดบรรจุอยู่ในเรือนไม้ 2 หลัง และศาลาเล็กๆ กลางน้ำ อาณาจักรครามสกลยังลามไปถึงลานเวิร์กช็อปย้อมผ้า และร้านอาหารเล็กๆ ด้านหน้าที่ห้อมล้อมด้วยต้นไม้ร่มรื่น จนที่นี่ดูเหมือนโอเอซิสสีน้ำเงินปนเขียวใกล้ตัวเมืองสกลนคร

ฉันจิบน้ำอัญชันสีน้ำเงินม่วงเย็นเจี๊ยบในขันเงินจิ๋วที่หน้าเรือนทรงไทย เดินเข้าไปลูบเสื้อผ้าฝ้ายลินิน และกัญชงบนราวแขวน ความสุขเข้าจู่โจมเมื่อสูดกลิ่นครามแท้เข้าไปเต็มปอด หันหน้าไปทางไหนก็เจอของใช้ในชีวิตประจำวันที่เรียบง่ายเหมือนร้าน concept store สัญชาติญี่ปุ่น จุดบรรจบระหว่างดีไซน์มินิมัลและครามเข้มข้นของท้องถิ่นทำให้หัวใจสั่นไหว อยากหอบแดนเนรมิตสีฟ้านี้ไปไว้ที่บ้าน

“ความสุขของคนไม่ใช่เเค่การมาซื้อผ้านะ มันเป็นการรับรู้เรื่องราวต่างหาก”

นก-สกุณา สาระนันท์

นก-สกุณา สาระนันท์ เจ้าของแบรนด์เล่าการค้นพบของเธอให้ฟังเมื่อนั่งลงสนทนา เหนือผ้าคลุมโต๊ะมัดย้อมสีฟ้าสดใส ฉันได้รับรู้ว่าเสน่ห์ของครามสกลไม่ได้ผุดขึ้นจากความว่างเปล่า ภูมิปัญญาสกลนครงอกเงยอย่างงดงามในอาณาจักรของเธอ

Blue Homeland

ผ้าย้อมคราม

“การย้อมครามมันอยู่คู่กับคนในโซนนี้มานานแล้ว เราเป็นเมืองที่ได้รับการส่งเสริมเรื่องงานหัตถกรรมมาอย่างต่อเนื่อง สมเด็จพระราชินีฯ ทรงส่งเสริมเรื่องงานอาชีพตลอด ภูมิอากาศก็เหมาะและเข้ากับวิถีเรามาก ถ้าสังเกตดู ชาวบ้านจะหว่านครามก่อนดำนา ปล่อยให้เทวดาดูแลรักษาอะไรไป แล้วก็เก็บเกี่ยวครามก่อนที่เขาจะเกี่ยวข้าว พอเกี่ยวข้าว ขายข้าวเสร็จ เขาก็เริ่มมาเตรียมฝ้าย ทอผ้า ย้อมคราม พอถึงฤดูทำนาก็เริ่มหว่านใหม่ จังหวะมันพอดีมาก แล้วคนสกลก็มี 7 ชนเผ่า แต่ละเผ่าก็มีความผูกพันกับคราม ภูมิปัญญานี้ก็เลยตกทอดมา”

นกอธิบายพื้นเพโดยย่อของจังหวัดแห่งคราม ย้อนกลับไปในยุคที่ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบผ้าทอลายดั้งเดิม หญิงสาวชาวสกลนครที่เรียนจบด้านเทคโนโลยีชีวภาพทำงานด้านอื่นอยู่พักใหญ่ ก่อนได้พบปะกับชาวบ้านที่ย้อมผ้าครามในโครงการพัฒนาชุมชน ภูมิปัญญาที่แข็งแรงของสกลนครทำให้เธอมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะเป็นตัวกลางในการพางานฝีมือชุมชน ไปสื่อสารกับกลุ่มคนที่สนใจเรื่องธรรมชาติ และดูแลใส่ใจสุขภาพ

ผ้าย้อมคราม

ผ้าย้อมคราม

“เมื่อ 6 ปีที่เเล้วหลายๆ หน่วยงานพยายามปลุกกระแสครามในสกลนคร เราเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปผลักดันส่งเสริม ไปดึงนักการตลาด ดีไซเนอร์ เข้ามาพลิกโฉมครามให้เป็นเเฟชั่น ณ เวลานั้นเรารู้ว่าครามมันเป็นเเฟชั่นไม่ได้ แม้เเต่ตัวเราเองที่เป็นคนสกล รักคราม อยากเอาผ้าย้อมครามมาใช้ยังยากเย็นเลยนะคะ เเต่เราเห็นภาพทางการตลาดว่ามันจะไปได้กว้างมากๆ เราเลยพยายามดึงให้คนมาสนใจผ้าธรรมชาติ มันเป็นโอกาสของคนสกลที่มีศักยภาพในการปลูกต้นคราม บ้านเราเต็มที่มาก ทั้งสีและสายพันธุ์ครามก็เป็นที่ยอมรับ

“ตอนแรกเราก็ยังไม่มั่นใจเท่าไหร่เรื่องกำลังการผลิต หมู่บ้านหนึ่งอาจจะมีแค่ไม่กี่คนที่ทำเป็น ปรากฏว่าพอมี demand แล้ว supply ก็เกิดได้อย่างรวดเร็ว สมมติว่าเราอยากได้ครามสักตันหนึ่ง ชุมชนก็ทำได้ เพราะมันอยู่ในวิถีชีวิตเขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น พูดได้อย่างภาคภูมิว่าสกลนครเป็นเเหล่งครามที่ผลิตได้มากและมีคุณภาพ ซึ่งเราก็ไม่ได้พูดกันเอง อย่างที่นี่ก็รับย้อมแล้วส่งออกให้บริษัทจากญี่ปุ่นด้วยค่ะ”

Simplicity at its Best

หม้อคราม ย้อมคราม

“การย้อมครามเนี่ยจะว่าง่ายมันก็ง่าย จะว่ายากมันก็ยาก ง่ายคือ ผู้ประกอบการต้องรู้จักจุดเเข็ง รู้จักเเก่นของครามสกลนครให้ได้ ยากคือ พอรู้จักเเล้วก็ต้องรู้จักตัวตนของเราเองที่จะนำเสนอครามของเราให้ต่างจากเจ้าอื่น นี่เป็นคอนเซปต์หลักๆ ที่เราศึกษามาสัก 3 – 4 ปีเเล้ว และตัดสินใจจะยึดเรื่องสีครามธรรมชาติเป็นหลักในการเข้าถึงผู้คน ส่วนลายมัดหมี่หรือลายพื้นบ้าน เราก็แทรกเข้าไปแค่เบาๆ แล้วก็แตกไลน์สินค้าออกไปให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น”

ผู้ก่อตั้งครามสกลเล่าว่าผลิตภัณฑ์ครามยุคก่อนๆ ไม่ค่อยหลากหลาย สินค้าส่วนใหญ่คือผ้าซิ่น ผ้าคลุมไหล่ หรือผ้าพันคอ เส้นใยก็มีแต่ฝ้ายเท่านั้น ไม่ตอบโจทย์การแปรรูปต่อยอด ครามสกลจึงทำสินค้าหลายชนิด ไม่ใช่เพียงเพื่อขาย แต่เพื่อเป็นตัวอย่าง ให้คนทำเฟอร์นิเจอร์ได้มาเห็นหมอนอิง เห็นผ้าปูที่นอน คนถนัดเรื่องเเฟชั่นมาเห็นเสื้อผ้า คนทำกระเป๋ามาเห็นแรงบันดาลใจที่นำไปต่อยอดได้

ย้อมคราม ครามสกล

สกุณาไม่กลัวการลอกเลียนแบบ เธอเชื่อว่าครามเป็นมรดกของคนทั้งโลก และตลาดนี้กว้างใหญ่เกินกว่าใครจะเป็นใครแทนได้ ผลลัพธ์จากการให้คือหลายๆ แบรนด์กลับมาร่วมมือกับครามสกลจริงๆ

“หน้าที่อย่างหนึ่งของเราคือส่งต่อ material ให้คนอื่นๆ เอาไปช่วยทำ เพราะเราเองไม่ได้เก่งทุกอย่าง เราถนัดเรื่องการพัฒนาวัตถุดิบ เราชอบงานวิจัยใหม่ๆ และมีเครือข่ายที่เข้าใจเรื่องเส้นใย เราหาเส้นใยพืชที่หลากหลายขึ้น แต่ยังอยู่กับธรรมชาติ เช่น ลินิน กัญชง แล้วก็เน้นการเติมฟังก์ชันที่ใช้งานได้จริง เช่น กันยูวี กันแบคทีเรีย ใส่เคลือบกันน้ำ หรือผ้าฝ้ายคลุมไหล่ตัวใหม่ก็มีนาโนแคปซูลกันยุง เราโฟกัสที่คนชอบปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ เลยทำเป็นสีน้ำเงินและสีขาว และใส่กลิ่นลีลาวดีที่ช่วยปรับอารมณ์ให้สงบ และทำสมาธิได้ดีขึ้น”

นกหยิบผ้าทอมือแสนนุ่มไร้ลวดลายมาให้ลองสัมผัสดีไซน์เรียบง่ายและวัตถุดิบพรีเมียม เอกลักษณ์ของแบรนด์ช่างเปี่ยมปรัชญาแบบญี่ปุ่น แต่เจ้าของแบรนด์บอกว่าไม่เคยคิดเปรียบเทียบสไตล์ครามสกลกับวิถีอาทิตย์อุทัย สินค้าของเธอมาจากตัวตนที่ไม่วิ่งตามคู่แข่งต่างหาก

ผ้าคลุมไหล่ ครามสกล

“ตอนเเรกที่มาทำ เอาง่ายๆ เลยนะ เราเป็นคนที่เชยสนิท เชยจริงจัง เเล้วก็เรียบง่ายมาก เลยคิดว่าต้องทำอะไรที่มันเรียบที่สุด อย่าพกความชอบตัวเองไปให้ลูกค้าเด็ดขาดเพราะว่าเราชอบอะไรไม่เหมือนใคร” ผู้ก่อตั้งและดูแลภาพรวมดีไซน์ทั้งหมดของแบรนด์หัวเราะ

“พอเรียนรู้เเล้วเราเริ่มเข้าใจว่าบางครั้งเเฟชั่นไม่ต้องเป็นเเฟชั่นเเบบเร็ว เป็นเเบบเรียบก็ได้ ตอนนี้เราเลยไม่ได้รู้สึกกังวลในการออกเเบบผลิตภัณฑ์ เราเป็นคนทำ รู้ดีที่สุดว่าครามสกลต้องออกมาเป็นแบบไหน อย่าให้เยอะไป อย่าให้น้อยไป ถ้าอยู่ๆ ครามสกลจะเปลี่ยน มันไม่คุ้มถ้าต้องเสียตัวตนเราไป แล้วเราต้องการเป็นมากกว่านั้น เราอยากทำให้ทุกผลิตภัณฑ์เป็นเหมือนของขวัญจากธรรมชาติ ใส่คุณภาพกับความใส่ใจ คนที่อยากได้ครามคุณภาพจะได้คิดถึงครามสกล”

Oasis for People

ครามสกล

จากร้านขายสินค้าคราม ครามสกลขยับขยายเป็นทั้งพื้นที่ช้อปปิ้ง แหล่งเรียนรู้การย้อมผ้าคราม และยังมีร้านอาหารกับคาเฟ่เล็กๆ ให้คนที่เข้ามาเยี่ยมเพลิดเพลินกับการใช้เวลาที่นี่ได้ทั้งวัน

“จริงๆ มีงานวิจัยนะว่าสีครามเป็นสีบำบัดเรื่องความคิดจิตวิญญาณ เราสังเกตว่าคนที่มาที่นี่สีหน้าแววตาเขาดูสงบ อาจเพราะเรามีต้นไม้ มีเสียงเพลง มีน้ำ แขกมักจะชื่นชมเมื่อรู้ว่างานชุมชนเป็นแบบนี้ได้ มันแปรรูปได้มากกว่าที่เคยเห็น ถ้าเขาสนใจก็ลองเวิร์กช็อปครามเชิงลึกได้ เป้าหมายของเราคือสุดท้ายเขาจะได้ความประทับใจกลับไป เพราะเราตอบโจทย์เรื่องการใช้เวลาที่ดี เราไม่ได้อยากให้แค่กับคนในชุมชน แต่อยากให้คนอื่นๆ ด้วย”

ร้านครามสกล ร้านครามสกล

ลูกค้าส่วนใหญ่ของที่นี่คือคนที่มีวิถีเเบบคนเมือง เเต่มีไลฟ์สไตล์ที่อิงกับธรรมชาติและมีกำลังซื้อ ทั้งจากในเมืองไทย ญี่ปุ่น และยุโรป โดยมีทั้งลูกค้าที่ซื้อของสำเร็จรูป และแบรนด์ที่ซื้อวัตถุดิบครามไปผลิตต่อ

“ตอนแรกเราแปลกใจมาก ทำไมคนมาที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ซื้อของเฉยๆ แต่อยากคุยกับเราด้วย บางคนก็มาเรื่องธุรกิจ ซึ่งเราก็เปิดมาก อยากให้คนหยิบครามไปใช้เยอะๆ การที่คนมาทำมีเเต่ช่วยให้เราเข้มเเข็งขึ้น เราชอบการเเชร์ คนที่มาเรียนย้อมผ้าเราก็สอนเทคนิคหมด คนไหนที่ตระหนักว่าสิ่งนี้มีประโยชน์เขาจะทำได้ดีมาก คนไหนที่ไม่ตระหนักก็จะไม่ทำ ดังนั้นคนที่ตั้งใจจริงก็ควรได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะมันไม่ง่าย” หญิงสาวเน้นเสียงก่อนอธิบายความซับซ้อนของขั้นตอนการย้อม

เนกไท ผ้าคลุมไหล่

“ครามไม่ใช่พืชแบบที่ปลูกเสร็จแล้วใช้ได้เลย การปลูกไม่ยากถ้าเทียบกับการเก็บครามให้ได้คุณภาพ จะตัดครามต้องเก็บแต่เช้าตรู่ ต้องสังเกตกระบวนการคายน้ำทางปลายใบ หยดน้ำต้องมีสีน้ำเงิน พอตัดเสร็จต้องแช่ทันที คุณภาพของน้ำครามก็เริ่มตั้งแต่ตรงนี้ และถึงจะได้น้ำครามที่ดีมากๆ แต่ไปก่อหม้อไม่ถูกก็ไม่ได้การย้อมที่ดี หรือย้อมแค่ชิ้นสองชิ้นอาจจะดีก็ได้ แต่ถ้าย้อมปริมาณมากๆ แล้วให้ได้คุณภาพดีสม่ำเสมอ ทุกอย่างต้องอาศัยจังหวะและประสบการณ์”

นกเชื่อมั่นว่าควรสนับสนุนให้กลุ่มครามธรรมชาติผลิตผลงานที่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการต่อกรกับของด้อยคุณภาพและครามเคมี

“เราคิดว่าครามในสกลนครเข้มแข็งมากนะ จุดอ่อนของเราไม่ได้อยู่ที่ต้นน้ำ ชุมชนเขาทำได้ดีมาก ให้กลุ่มแม่ๆ ทำอะไรพิสดารแค่ไหนก็ได้ เขาเก่งขนาดนี้ เเต่ขายของได้ในราคาที่ไม่สมกับมูลค่าที่เเท้จริงที่ควรจะเป็น จุดอ่อนอยู่ที่ดีไซน์เเละการตลาดที่ต้องพัฒนาให้เข้าถึงคนทั่วไป ปลายน้ำคืองานของเราและคนอื่นๆ ที่จะเข้ามาพัฒนาเรื่องครามต่อจากนี้”

เจ้าของครามสกลกล่าวอย่างจริงใจ จริงอย่างที่เธอบอกว่าผู้มาเยือนไม่ได้ความสุขจากการเลือกซื้อผ้า เรื่องราวการแบ่งปันเบื้องหลังเฉดสีแห่งสกลนครต่างหาก ที่ทำให้ที่นี่เป็นโอเอซิสสำหรับทุกคน

ผ้าย้อมคราม

Facebook : ครามสกล

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล