อาหารหนึ่งจานคือโลกหนึ่งใบ

ไม่ได้เป็นเพียงการเปรียบเปรยที่แค่ต้องการความจับใจ แต่เพราะทุกอย่างหมายความตามนั้นจริงๆ ทั้งข้าว พืชผัก เนื้อสัตว์ พริก เกลือ น้ำปลา มะนาว วัตถุดิบต่างๆ จากธรรมชาติที่รวมตัวกันเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตเราในแต่ละมื้อ แต่ยิ่งไปกว่านั้น อาหารในจานได้กระซิบบอกเรื่องราวการหมุนเวียนของจักรวาลในระดับย่นย่อด้วย ตั้งแต่การก่อกำเนิดของผลผลิต การเก็บเกี่ยว การถางหรือเผาเพื่อสร้างแปลงปลูกใหม่ การหมุนเวียนไปใช้ไร่นาส่วนอื่น การฟื้นฟูป่า จนวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง

ทว่า การจับจ่ายซื้อหาในตลาด การขยายตัวของซูเปอร์มาร์เก็ต หรือการเข้าร้านอาหาร ได้เอื้อให้ทุกอย่างมาวางอยู่ตรงหน้าเราอย่างง่ายดายเกินไป เราจึงอาจหลงลืมไปว่าอาหาร ธรรมชาติ หมุนวนเป็นวัฏจักรจักรวาล มีสายสัมพันธ์ละเอียดอ่อนต่อกันอย่างคาดไม่ถึง

ต่ะ เอาะ เลอะ คึ’ (Taj Auf Le Quv) ภาษาปกาเกาะญอที่แปลว่า อาหารในไร่หมุนเวียน เป็นอีกหนึ่งเสียงกระซิบที่เปล่งออกมาจากหุบเขา สะกิดชักชวนเราไปทำความรู้จักแหล่งผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่เกษตรกรรมหมุนเวียนที่บริหารจัดการกันภายในชุมชนเล็กๆ ของชาวปกาเกอะญออย่างมีประสิทธิภาพมาหลายชั่วอายุคน ด้วยปัจจัยหนุนนำจากความมหัศจรรย์ในระบบนิเวศ ความเข้าใจป่าจากองค์ความรู้ของผู้เฒ่าผู้แก่ ผสมผสานกับนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่ ได้ทำให้ชาวปกาเกอะญอรู้คุณค่าของผลผลิตในชุมชนที่กลายเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตได้ตลอดทั้งปี

ด้วยความตั้งใจที่จะสื่อสารเรื่องราวความสมบูรณ์ของป่าที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญออกไปให้กว้างขึ้นนี่เอง จั๊ม-ณัฐดนัย ตระการศุภกร ชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่ ร่วมกับบรรดาเชฟในกลุ่ม Those Fcuking Chef จึงร่วมกันสร้างตำราอาหารในชื่อ ‘ต่ะ เอาะ เลอะ คึ’ หรือ Cooking in Rotational Farm เพื่อให้หลายคนซึบซับความสำคัญของวัตถุดิบและตระหนักถึงที่มาของอาหารให้มากขึ้น

ป่าเขา

ไร่ผัก ผักพื้นบ้าน

กำเนิดจักรวาล

ก่อนจะมาเป็นตำราอาหารจากป่าของชาวปกาเกอะญอที่กำลังจะเผยแพร่ในช่วงเดือนมีนาคม 2561 นั้น จั๊มเล่าถึงที่มาแต่แรกเริ่มว่า “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรมีทุนสนับสนุนเกี่ยวกับการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวปกาเกอะญออยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่าเมื่อพูดถึงโครงการเกี่ยวกับปกาเกอะญอ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การสู้เพื่อสิทธิ เราอยากสื่อสารให้คนนอกเข้าใจภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราผ่านอาหาร ผ่านองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรมากกว่า เราเลยคุยกับเชฟว่าจะทำตำราอาหารขึ้นมา”

ขั้นตอนถัดมาคือ การเลือกชุมชนที่จะเป็นตัวแทนบอกเล่าเมนูและแหล่งที่มาของวัตถุดิบพื้นถิ่น จนสรุปออกมาเป็น 3 ชุมชนด้วยกัน คือ ชุมชนบ้านแม่ลายเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชุมชนที่ยังมีภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมแบบครบครัน นำเสนออาหารต้นตำรับของชาวปกาเกอะญอ ถัดมาคือ บ้านขุนแม่หยอด จังหวัดเชียงใหม่ เล่านวัตกรรมเกี่ยวกับอาหาร การเอาวัตถุดิบมาทำเป็นอาหารหน้าตาใหม่ๆ และสุดท้ายคือ ชุมชนบ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่า การดูแลจัดการป่าด้วยผึ้งที่ส่งผลให้วัตถุดิบของชุมชนนี้มีรสชาติเฉพาะตัว

ดอย

ดอย

ตะลุยจักรวาล

โจทย์ของตำราอาหารเล่มนี้ คือการชักชวนให้เหล่า Those Fcuking Chef ที่มีประสบการณ์ด้านอาหารแตกต่างกันเข้าไปสำรวจแต่ละชุมชนอย่างใกล้ชิด และเก็บเกี่ยววัตถุดิบในป่าแบบสดๆ มารังสรรค์เป็นอาหารจานใหม่

เชฟเข้าไปเรียนรู้กับผู้รู้เป็นวันๆ เลยครับ” จั๊มเล่าย้อนถึงความสนุกสนานและความตื่นเต้นของเชฟที่ได้ทำความรู้จักวัตถุดิบที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน “โจทย์ของเราคือเชฟต้องใช้วัตถุดิบทั้งหมด อุปกรณ์ และครัว จากในชุมชน มีเท่าไหนก็ใช้เท่านั้น ห้ามใช้วัตถุดิบจากข้างนอก เมนูต่างๆ ที่เชฟทำจึงเป็นการฟิวชันระหว่างความคิดสร้างสรรค์ของเชฟกับวัตถุดิบหลักที่ไปเก็บมาได้เองตามฤดูกาล กลายเป็นเมนูรูปแบบใหม่ที่เราไม่เคยเห็นตามตำราอาหารหรือร้านอาหารทั่วไป”

ทำอาหาร ไร่บนดอย

ปกาเกอะญอ ชาวดอย

จากนั้นก็ถึงช่วงเวลาของการสังสรรค์ระหว่างเจ้าของบ้านและแขกผู้มาเยือน

“เราทำเป็น Chef’s Table โต๊ะยาวจนเหมือนเป็นเทศกาลเล็กๆ เลย เชฟทำอาหารเสิร์ฟให้คนในชุมชน ชาวบ้านก็ทำอาหารให้เชฟเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่างมื้อเราก็ได้พูดคุย เปิดมุมมองกัน เชฟได้รู้จักวัตถุดิบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนชาวบ้านเองก็ได้เรียนรู้วิธีใหม่ในการใช้วัตถุดิบ ภูมิใจที่ตัวเองมีความรู้ในการจัดการป่า ส่วนเยาวชนที่เรามอบหมายให้เป็นผู้ช่วยเชฟก็ได้เห็นคุณค่าของวัตถุดิบที่ตัวเองคุ้นเคย”

วิถีชีวิต

ชาวเขา

ส่วนผสมลับ

แต่ละชุมชนในตำราอาหารเล่มนี้มีจุดเด่นทางวัตถุดิบที่แตกต่างกันตามลักษณะของไร่หมุนเวียน เมนูอาหารในแต่ละบทจึงแตกต่างไปตามกัน เช่น เมนูอาหารจากชุมชนบ้านแม่ลายเหนือจะเป็นเมนูพื้นถิ่นทั้งหมด ปรุงโดยผู้เฒ่าผู้แก่ เช่น การต้มเหล้าตามพิธีดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอ หรือวัตถุดิบน่าทึ่งอย่างฮอวอ พืชตระกูลมินต์

“ผมรับรองว่าฮอวอเป็นพืชที่ยังเสิร์ชไม่เจอในกูเกิลครับ เพราะเป็นพืชท้องถิ่นของที่นี่เท่านั้น มีรสชาติเฉพาะตัว ผสมผสานระหว่างตะไคร้ สะระแหน่ มะกรูด รวมกัน ใช้เป็นเครื่องเทศหลักเกือบทุกเมนู ฮอวอขึ้นอยู่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนเท่านั้น พืชชนิดนี้ไม่ได้หยอดตามหลุม เพราะเป็นดอก แต่จะเอาไปติดบนไม้ไผ่ที่ใช้ขุดหลุมหยอดข้าว” จั๊มแจกแจงคุณสมบัติพิเศษ

เรานึกภาพฮอวอบานสะพรั่งเต็มไร่ตามคำบอกเล่า สมแล้วที่ฮอวอได้รับบทเด่นตลอดกาลในนิทานพื้นบ้าน และการร้องเพลงทา เพลงพื้นบ้านที่ร้องรำกันในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว

ผักพื้นบ้าน ผักพื้นบ้าน

ส่วนวัตถุดิบหลักของชุมชนบ้านแม่หยอดคือพริกกะเหรี่ยงพันธุ์ท้องถิ่น เม็ดเล็ก หอม จนถูกร่ำลือว่าพริกกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนมีคุณภาพดีที่สุด

“ชาวบ้านจะเอาพริกไปตากแห้งบนหลังคาบ้าน แล้วตำมือจนละเอียด ผสมกับพืชตามฤดูกาลแต่ละเดือนลงไปด้วย เช่น งา ขมิ้น ข่า งาขี้ม่อน ใช้เป็นผงโรยข้าวที่มีรสชาติต่างกันออกไป” จั๊มเล่าต่อว่า หากมีผงโรยข้าวเหลือเก็บก็จะถูกส่งออกไปนอกชุมชน หลายครั้งเช่นกันที่คนซื้อเข้ามาสอบถามพูดคุยถึงวัตถุดิบและไร่หมุนเวียนอย่างใคร่รู้ “กลายเป็นว่าวัตถุดิบสื่อเรื่องราวชองชุมชนให้คนนอกเข้าใจได้ด้วย ไม่ได้เป็นการให้ความรู้แบบยัดเยียด แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านรสชาติมากกว่า”

เครื่องเทศ พริกแห้ง ครก

ชุมชนหินลาดในมีเอกลักษณ์ชัดเจนกว่าชุมชนอื่น เพราะแม้จะมีประชากรแค่ 107 คน แต่ชาวบ้านกลับดูแลป่า 22,000 กว่าไร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับรางวัล United Nations Forest Heroes Award แต่ความสำเร็จของไร่หมุนเวียนนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากผึ้ง– นักผสมเกสร ผู้ช่วยดูแลป่าตัวน้อย และแนวคิดในการเก็บผลผลิตจากป่าที่ว่า ‘ธรรมชาติให้เท่าไหน ก็ใช้เท่านั้น’

จุดเด่นของชุมชนนี้คือผึ้งที่ทำให้วัตถุดิบของที่นี่มีรสชาติไม่เหมือนที่อื่นเลย เพราะผึ้งจะเข้าไปผสมเกสรกับพืชต่างๆ จนกลายเป็นรสชาติของหินลาดใน เช่น มะนาวที่มีรสคล้ายส้มโอ นอกจากนี้เรายังมีกฎในการเก็บน้ำผึ้งแค่ช่วงเดือน 4 – 5 เท่านั้น เพราะต้องการให้ผึ้งขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ ทำให้ที่นี่เป็นชุมชนที่เข้าใจการดูแลป่า และป่าก็เข้าใจชุมชนจนหยิบยื่นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มาให้เราด้วย”

ปกาเกอะญอ

อาหารจากป่า

อัศจรรย์จักรวาล

เราอาจสงสัยว่าภูมิปัญญาการดูแลป่าและการทำไร่หมุนเวียนทำให้ชาวปกาเกอะญอมีอาหารพอเพียงตลอดทั้งปีจริงหรือ แต่จั๊มก็ได้ยืนยันถึงการใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับไร่หมุนเวียนที่สืบทอดหลายชั่วอายุคนจนทำให้ป่าเป็นต้นธารของวัตถุดิบอย่างไม่มีวันสิ้นสุดว่า

เราแบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 พื้นที่ ย้ายพื้นที่ไปเรื่อยๆ ในแต่ละปี กระบวนการของไร่หมุนเวียนดูจะขัดกับการทำเกษตรแบบอื่นๆ ที่คนนอกเข้าใจ เพราะมีการถางต้นไม้และเผาป่า แต่เราใช้ความรู้ที่สืบทอดกันมานะครับ ก่อนถางต้นไม้จะต้องฟังเสียงจักจั่น ถ้ามีเสียงจักจั่นแปลว่าเราถางต้นไม้ได้ เพราะจักจั่นเป็นเหมือนตัวบ่งชี้ว่าต้นไม้ดูดซับน้ำไปเพียงพอหรือยัง ก่อนเผาป่าเราก็ทำแนวกันไฟ เคลียร์ใบไม้กิ่งไม้ให้เป็นทาง เพื่อที่ไฟจะไม่ลามออกไปข้างนอก เราเผาจาก 4 มุมของไร่ให้เข้ามาชนกันตรงกลาง วิธีนี้จะทำให้ไฟดับภายใน 8 – 10 นาที การเผาป่าคือภูมิปัญญาตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีปุ๋ย ถือเป็นปุ๋ยชั้นดีก็ว่าได้”

ไร่หมุนเวียน

เราหมุนเวียนไปใน 7 ปี กว่าจะกลับมาไร่แรก พื้นที่นั้นก็กลายเป็นป่าใหญ่แล้ว นอกจากนั้นเราไม่ได้ทิ้งให้แต่ละพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ไร่ที่ทิ้งไว้ยังมีพุ่มไม้ พืชพรรณยังเติบโตให้สัตว์ป่าขนาดเล็กหลบซ่อนตัวและผสมพันธุ์ จะเห็นเลยว่าช่วงปีที่ 5 – 6 พื้นที่นั้นจะเริ่มกลายเป็นป่าโปร่ง ต้นไม้สูงขึ้น สัตว์ป่าขนาดใหญ่เข้ามาหาอาหาร ทำให้ป่า active ตลอด ยิ่งไปกว่านั้นในขณะที่ป่าฟื้นตัวก็ยังเป็นแหล่งอาหาร ทำให้ระหว่างนั้นเราเข้าไปเก็บวัตถุดิบอย่างพวกเผือก มัน พริก ได้ตลอด

เราหาอาหารจากป่าได้ตลอดทั้งปี เราแทบไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาวัตถุดิบ เช่น เห็ดถอบที่ขายกันกิโลละหลายร้อย ชาวปกาเกอะญอกลับหาเก็บได้จากหลังบ้าน เราแทบไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้าไปซื้อหาอาหารในเมืองเลย”
ผักพื้นบ้าน

อาหารจากจักรวาลตู้เย็น

เนื่องจากวัตถุดิบทั้งหมดในตำราอาหารเล่มนี้มาจากป่าจนชุมชน จนดูไม่น่าจะเชื่อมโยงกับคนภายนอกที่จะหาวัตถุดิบเหล่านั้นมาปรุงตามได้ แต่จั๊มย้ำถึงเจตนาในการทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาว่า

จริงๆ แล้ว ต่ะ เอาะ เลอะ คึ ไม่ใช่ตำราอาหารซะทีเดียวนะครับ ช่วงต้นของหนังสือจะเป็นเชิงสารคดี เล่าเรื่องไร่หมุนเวียน หลักคิดของชาวปกาเกอะญอ ต่อด้วยการเดินทางของเชฟเข้าไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อไปหาวัตถุดิบ แลกเปลี่ยนกับคนในชุมชน จนกลายเป็นอาหาร”

อาหารท้องถิ่น

อาหารท้องถิ่น ผักพื้นบ้าน

ถึงที่สุดแล้ว ต่ะ เอาะ เลอะ คึ จึงไม่ได้เป็นเสมือนบันทึกเมนูชุมชนอย่างเดียว แต่เป็นการเปิดโลกให้แก่คนอ่านว่าเรื่องของอาหารไม่ได้ประกอบแค่ 1 จานที่วางตรงหน้า

“เราจะพาคนอ่านไปดูว่า ก่อนเป็น 1 จานต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง คนในชุมชนดูแลวัตถุดิบเหล่านี้อย่างไร ทำให้คนอ่านได้เห็นตั้งแต่ต้นกระบวนการของอาหารจนถึงปลายทางที่เชฟรังสรรค์เมนูขึ้นมา”

ทั้งหมดนี้จะสะท้อนกลับมาที่วัตถุดิบที่เราเห็นในตลาด บางอย่างอาจมีราคาถูก มัดละแค่ 5 บาท 10 บาท แต่มันไม่ใช่แค่วัตถุดิบที่แลกมาได้ด้วยเงิน เราควรรู้ว่าคนที่ปลูก ขึ้นแปลง หรือกว่าจะได้วัตถุดิบมาต้องใช้เวลามากแค่ไหน น่าจะทำให้คนอ่านตระหนักมากขึ้นว่า ก่อนกินต้องคิด สิ่งที่เรากินคืออะไร คิดถึงคนที่ส่งวัตถุดิบเหล่านี้มา นอกจากนี้ น่าจะเป็นการเปิดโลก ลองเอาไอเดียนี้ไปลองทำกับวัตถุดิบที่แต่ละบ้านมี เราจะเอาของในตู้เย็นที่บ้านมาผสมเข้ากันได้ยังไงให้มีคุณค่ามากที่สุด”

ภาพ : ชลิต สภาภักดิ์, Realframe, บุญศรี ฉลักกนก และ PASD

Writer

Avatar

ณวรา หิรัญกาญจน์

พัวพันกับหนังสือทั้งงานประจำและความคลั่งไคล้ส่วนตัว เทใจให้วรรณกรรม ภาพยนตร์ งานฝีมือ อาหารดีๆ ง่ายดาย เชื่อว่าโลกขับเคลื่อนได้ด้วยพลังของวัฒนธรรมย่อย ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์อุบัติซ้ำ