ทันทีที่เครื่องมือนำทางพาเรามาถึงจุดหมาย เจ้าบ้านก็ต้อนรับเราด้วยน้ำมะพร้าวหอมๆ พร้อมบทบรรยายละลายพฤติกรรมว่าด้วยเรื่องวิชาสังเกตลูกมะพร้าวและวิธีกินน้ำมะพร้าวให้อร่อย 101

อาทิ การเจาะรูเพื่อกินน้ำมะพร้าว หากสังเกตกะลามะพร้าวให้ดี จะพบการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนไม่เท่ากัน ส่วนที่ใหญ่สุดเป็นส่วนเดียวที่มีรูเจาะได้ หากรู้ ก็จะสามารถใช้หลอดเจาะกินน้ำมะพร้าวด้านในโดยไม่ต้องใช้มีดเปิดฝากะลา 

สีเขียวอ่อนกำลังดีของผิวมะพร้าวลูกโตตรงหน้าบอกเราว่า นี่คือมะพร้าวทึนทึก แก่ ดูเหมือนมีตำหนิ แต่ความจริงน้ำหวาน เนื้อเหนียวแต่อร่อย และเหมือนใครจะรู้ว่าเราอินกับเรื่องราวๆ นี้เป็นพิเศษจึงส่งกลิ่นปลาทูทอดมาตัดความสนใจ

มีคนเคยบอกว่า ปลาทูแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่อร่อยแท้ ต้องหน้างอ คอหัก

นอกจากปลาทูขึ้นชื่อ วันนี้ที่สมุทรสงครามยังมีน้ำตาลมะพร้าวออร์แกนิกที่กินแล้วหน้ายิ้ม ไม่มีงอ

อันที่จริง เรายิ้มตั้งแต่ได้ยินชื่อแล้ว

เพียรหยดตาล เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำน้ำตาลร่วมกับชาวสวนมะพร้าวด้วยภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม ก่อตั้งโดย เก๋-ศิริวรรณ ประวัติร้อย เจ้าของสวนสุวรรณออร์แกนิกและหัวหน้าศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน และ เอก-อัครชัย ยัสพันธุ์ เจ้าของสวนมะพร้าวอินทรีย์ในจังหวัดราชบุรี ร่วมกันจุดประกายให้กลุ่มเกษตรกรคิดถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ ด้วยการปลุกเตาตาลอายุกว่า 30 ปีที่กำลังหลับใหลให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

เพียรหยดตาล เพียรหยดตาล

อุปกรณ์ชื่อประหลาดที่ใช้ในกระบวนการทำน้ำตาลจึงถูกเช็ดล้างเป็นการใหญ่เพื่อเตรียมนำกลับมาใช้

และดูเหมือนว่าคุณลุงคุณป้าผู้มีอายุมากกว่า 70 ปีแล้ว ก็ยังเต็มไปด้วยพลัง ฝีมือ ความชำนาญ ความคล่องแคล่ว ที่หาได้ลดลงตามวันเวลา จะว่าไปทั้งคนและอุปกรณ์ดูจะมีชีวิตชีวามากกว่าครั้งก่อน

กระบวนการและความเพียรที่ส่งผ่านทุกรายละเอียดทำให้เราไม่แปลกใจว่าทำไมเพียรหยดตาลจึงกำลังเป็นที่นิยมในหมู่เชฟและคนที่ตามหารสชาติดั้งเดิมของน้ำตาลมะพร้าว เช่น ร้านราบของเชฟแวน เฉลิมพล ที่ท่าพระอาทิตย์ ร้านกาแฟ ROOTS และร้านไอศกรีม Guss Damn Good

ก่อนจะพูดคุยกับเก๋และเอกเรื่องวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล หมู่ 1 ตำบลนางตะเคียน อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสงคราม กันแบบยาวๆ คุณลุงคุณป้าเจ้าของถิ่นก็ชวนให้เราตามชาวคณะไปดูการทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิมก่อน

ผูกเชือกรองเท้าให้พร้อม สวมหมวกกันแสงแดดให้มั่น แล้วเดินตามมาเลยค่ะ

เพียรหยดตาล

บทเพียรที่ 1

คบคนเพียร เพียรพาไปหาวัตถุดิบ

“ปีนเลยๆ” เสียงคุณป้าต๋อยร้องบอกเราเมื่อเห็นว่ากำลังชะเง้อมองเพื่อนคนที่ตัวสูงกว่าเอื้อมมือแตะชิมน้ำหวานจากงวงตาล

เพื่อรับรู้ความรู้สึกของการ ‘ขึ้นตาล’ อย่างชาวบ้าน เราจึงไม่รอช้าให้เสียแรงเชียร์จากป้าต๋อย

เพียรหยดตาล

วิธีการขึ้นสู่ต้นมะพร้าวนั้นง่ายดายด้วย ‘พะอง’ ไม้ไผ่ลำยาวที่มีตาของไผ่ยาวออกมาประมาณ 3 – 5 นิ้ว ใช้เป็นบันไดเพื่อพาดปีนขึ้นต้นมะพร้าวพันธุ์เตี้ยซึ่งชาวบ้านเรียกเหมารวมว่า ‘ตาล’ ชื่อเรียกแทนน้ำที่ได้จากพืชตระกูลปาล์ม อย่างต้นมะพร้าว ต้นตาล ต้นจาก

ก่อนจะไปถึงวิธีการทำน้ำตาลมะพร้าว เรามาทำความรู้จักการ ‘ขึ้นตาล’ หรือการเก็บน้ำตาลแบบดั้งเดิมกันก่อน ในแต่ละวันชาวบ้านจะขึ้นตาลทั้งหมด 2 รอบ ห่างกันรอบละ 8 ชั่วโมง ความแตกต่างระหว่างสวนมะพร้าวอินทรีย์กับสวนมะพร้าวทั่วไปคือระบบนิเวศที่รายรอบในพื้นที่ รวมถึงบรรดาผึ้งนานาพันธุ์ที่บินกินน้ำผึ้งอย่างขันแข็ง

เพียรหยดตาล

เมื่อชาวบ้านปีนพะองขึ้นไปถึงตำแหน่งของ ‘จั่น’ หรือช่อดอกของต้นมะพร้าว ผู้ขึ้นตาลจะใช้มีดปาดจั่นบางๆ จนเกิดหยดน้ำตาลค่อยๆ ไหลสู่กระบอกที่เตรียมไว้ ก่อนจะใส่ ‘ไม้พะยอม’ สับ มีสรรพคุณเป็นสารกันบูดแบบธรรมชาติ แต่ต้องระวังไม่ให้ใส่มากเกิน เพราะจะทำให้น้ำตาลที่ได้มีรสฝาด

เพียรหยดตาล เพียรหยดตาล

จากนั้นนำน้ำตาลที่ได้ไปต้มที่ ‘เตาตาล’ มีลักษณะพิเศษคือเป็นเตาหลุมซึ่งก่อไฟให้ความร้อนพร้อมกันจากจุดเดียว

ขั้นตอนนี้หากตั้งไฟต้มไม่นาน คุณจะได้น้ำตาลสดรสหวานอร่อยกินกับน้ำแข็งเย็นชื่นใจ แต่หากตั้งไฟต้มนานกว่านี้สักพักคุณก็จะได้น้ำตาลมะพร้าวอร่อยๆ ไว้ปรุงอาหารคาวหวานต่อไป

ค่อยๆ กวนน้ำตาลด้วย ‘โพง’ หม้อตักที่ต่อด้าม ระหว่างที่ต้มน้ำตาลจะเกิดฟองจำนวนมาก ขั้นตอนนี้ชาวบ้านจะนำ ‘โค’ ไม้ไผ่สานทรงกระบอกขนาดเล็กกว่ากระทะต้มตาลเล็กน้อยมาครอบ เพื่อให้ฟองลอยสูงขึ้นไม่ล้นออกนอกกระทะ วิธีแก้ตามภูมิปัญญาชาวบ้านคือ ใช้ทางมะพร้าวแตะเบาๆ ที่ปากโค น้ำมันจากใบมะพร้าวจะทำให้ฟองยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว เคี่ยวต่อจนน้ำตาลในกระทะข้นระดับหนึ่ง ให้สังเกตความเข้มข้นและสีของน้ำตาลที่ค่อยๆ เข้มงวดขึ้น แสดงว่าได้ที่แล้ว จากนั้นยกออกจากเตาไปกรองตะกอนออกด้วยผ้าขาวบาง และนำมากระทุ้งด้วยไม้กระทุ้งให้อากาศค่อยๆ เข้าแทรกตัวจนเนื้อน้ำตาลเหนียวได้ที่ ก่อนเทใส่แบบเป็นอันเสร็จ

เพียรหยดตาล เพียรหยดตาล เพียรหยดตาล

ระหว่างที่สังเกตการณ์ท่าทีของคุณลุงคุณป้าชาวบ้านที่ผลัดกันรับส่งไม้กระทุ้งน้ำตาลให้ทีมงานดู เราพบว่า แม้ใครจะบอกว่าท่าทางที่ต่างกันไปจะไม่ส่งผลต่อรสชาติ แต่อย่างน้อยความหวานที่เกิดขึ้นต้องมีผลมาจากความร่วมมือทีละเล็กละน้อยเป็นสำคัญ

ขณะที่ทุกคนกำลังตักน้ำตาลอุ่นใส่ถ้วยคนละไม้คนละมืออยู่นั้น เราไม่อาจละสายตาจากน้ำตาลติดกระทะที่ค่อยๆ แข็งตัวเป็นตังเมอุ่นๆ หอมๆ ได้เลย ร้อนถึงลุงเล็ก เจ้าของเตาตาลแห่งนี้ ต้องหาก้านไม้เล็กๆ พันตังเมให้พวกเราลิ้มลอง

“ขั้นตอนไม่มีอะไรซับซ้อน มันคือการรอ” เอกสรุปขั้นตอนการทำน้ำตาลทั้งหมด โดยทั้งกระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความแรงของไฟและปริมาณน้ำตาลที่ใส่

เพียรหยดตาล เพียรหยดตาล

บทเพียรที่ 2

คนเจ้าน้ำตาล

เคล็ดลับน้ำตาลจากชาวหมู่ 1

ทำน้ำตาลไม่มีตำรา: คุณลุงวิชัยบอกว่า บางคนขึ้นมะพร้าว 10 ต้น ได้น้ำตาล 20 ลิตร บางคนได้น้ำตาล 5 ลิตร และในบางครัวเรือนสูตรที่ใช้ทำน้ำตาลก็แตกต่างกันระหว่างสามีและภรรยา

ทำน้ำตาลต้องรู้ใจน้ำตาล: รู้จักต้นมะพร้าวในสวน รู้จักความอ่อนความแก่ของช่อดอกหรือ ‘จั่น’ ชื่อเรียกของแหล่งกำเนิดหยดน้ำตาลก่อนโน้มงวงตาล ส่งผลต่อแรงที่ใช้โน้มงวงตาล และหยดน้ำตาลมะพร้าวที่จะได้

มีหยดน้ำตาก่อนหยดน้ำตาล: หากตื่นคุณตื่นเช้าทันตามคุณลุงวิชัย ใส่หมวกไฟฉายไปปีนต้นมะพร้าวขึ้นตาลตั้งแต่ตีสี่ โปรดระวังแมงป่องบนต้นมะพร้าวที่พิษมีฤทธิ์ทำให้แสบร้อนจนน้ำตาลไหล เอ้ย น้ำตาไหล คุณลุงวิชัยบอกว่า คนทำตาลมีแผลทุกคน ลำพังหากจะใส่ถุงมือป้องกันก็คงทำให้ปีนต้นไม้ไม่สะดวก

ตาลเช้า (ช่วงตี 4 – 6โมงเช้า) ให้น้ำตาลสดที่หอมหวานกว่าตาลเที่ยง (บ่าย 4 โมงเป็นต้นไป)

น้ำตาลมาจากพืชอะไรก็ได้ในตระกูลปาล์ม ชาวสมุทรสงครามนิยมใช้มะพร้าว ขณะที่ชาวเพชรบุรีนิยมใช้ตาลโตนด

เพียรหยดตาล

บทเพียรที่ 3

เพียรกระซิบบอก

“เราทิ้งไม่ได้ นี่คือสิ่งเรารู้สึก” เก๋รีบตอบ ทันทีที่เราถามถึงเหตุผลของการเปลี่ยนบ้านและสวนมะพร้าวออร์แกนิกของเธอให้เป็นศูนย์รวมใจชุมชน ทั้งศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน และวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล

ผลผลิตจากสวนสุวรรณออร์แกนิกไม่ได้มีแค่พืชท้องถิ่นที่หากินได้เฉพาะที่สมุทรสงคราม เช่น ชะคราม หนามแมงดอหรือหนามพุงดอ เป็นต้น มะพร้าว ชีวภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดูแลสวนด้วยวิถีอินทรีย์ แต่ที่นั้นมีความภูมิใจในความเป็นเกษตรกรของพ่ออยู่

จากน้ำตาลปี๊บขนาด 30 กิโลกรัมของพ่อในอดีต มาวันนี้ น้ำตาลตรงหน้าถูกแบ่งเป็นน้ำตาลปึกก้อนละ 1 กิโลกรัม ก้อนละครึ่งกิโลกรัม

“คนใช้น้ำตาลยังเยอะอยู่นะ แต่เป็นเพราะคนทำน้ำตาลจริงๆ ต่างหากที่มีจำนวนลดน้อยถอยลงไป” เก๋เล่าสถานการณ์น้ำตาลในพื้นที่

เหตุผลที่น้ำตาลมะพร้าวแบบที่เราคุ้นเคยนั้นแข็งจัดจนต้องใช้มีดหั่นเพราะผสมน้ำตาลทรายเข้าไป

ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิด ภายใต้ป้ายเขียนที่บอกว่าน้ำตาลแท้ๆ นั้นมีน้ำตาลปนอยู่ในน้ำตาล

“น้ำตาลแท้ คือน้ำตาลที่นิ่มๆ นั่นแหละ เพราะมันไม่ได้ผสมอะไร” คำตอบนี้ของเก๋ทำให้เราหันมามองน้ำตาลใหม่อีกครั้ง

เก๋บอกว่า เนื่องจากความเข้าใจของคนในปัจจุบันที่ยอมรับน้ำตาลรูปทรงสวยมากกว่าน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ ที่อ่อนตัวตามอุณหภูมิ ไม่แข็งตัวตลอดเวลา จนคิดว่าเป็นของเสียหรือไม่มีคุณภาพ จึงทำให้กระบวนการผลิตน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ เหล่านี้ค่อยๆ หายไป

กับวัตถุดิบและอาหารการกินอื่นๆ ก็เช่นกัน เราจึงจะเห็นว่าความหลากหลายของสิ่งที่เรากินทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการคัดสรรของผู้จำหน่ายเพื่อความพอใจของผู้บริโภค

เพียรหยดตาล เพียรหยดตาล

บทเพียรที่ 4

เพื่อนพึ่งเพียรยามยาก

จากความสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ เอกจึงตัดสินใจมาเรียนรู้จากเก๋ ผู้เชี่ยวชาญและทำสวนมะพร้าวอินทรีย์มากว่า 10 ปีที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อหวังความรู้กลับไปทำสวนมะพร้าวอินทรีย์ของตัวเองที่จังหวัดราชบุรี นอกจากความรู้และการแบ่งปันปัจจัยการผลิต เช่น การผลิตแตนเบียนบราคอน แมลงกำจัดหนอนหัวดำ ศัตรูพืชเบอร์หนึ่งของมะพร้าว เป็นการเพิ่มห่วงโซ่ในระบบนิเวศทดแทนความไม่สมดุลที่เกิดจากการใช้สารเคมี

แม้ไม่ได้เติบโตในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม หนุ่มราชบุรีอย่างเอกบอกว่า เขาหลงเสน่ห์ขั้นตอนการทำน้ำตาล ที่ไม่ต่างจากงานฝีมือแสนประณีต

มีรายละเอียดอีกมากมายที่เอกบอกว่าตามดูไม่เคยหมด ตั้งแต่เลือกไม้พะอง การโน้มจั่นตาลก่อนกรีด 7 วัน การตัดแต่งทางน้ำเมื่อฝนตกไม่ให้น้ำฝนลงมาในกระบอกเก็บตาล ทุกครั้งที่คุยกับชาวบ้านก็จะได้ศัพท์แปลกและความรู้ใหม่ทุกครั้ง

“ธรรมชาติของคนในวงการเกษตรอินทรีย์ค่อยๆ ขัดเกลาความคิดเราจากที่เคยสนใจแต่กระบวนการ ทำให้เรามองภาพที่กว้างกว่านั้น มิติของคน สังคม สิ่งแวดล้อม ยิ่งได้เห็นกระบวนการทำน้ำตาลของคนที่นี่ เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่มีเสน่ห์มาก ยิ่งรู้ว่าหายากและกำลังจะหายไปในปัจุบัน เรายิ่งอยากสื่อสารออกไปให้คนรับรู้กระบวนการขั้นตอน” เอกเล่าถึงความตั้งใจสร้างการรับรู้ผ่านผลผลิตของกลุ่ม และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้ที่นี่ จึงชวนเก๋และชุมชนหมู่ 1 ร่วมจดทะเบียนก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาลขึ้นมา

“จุดเริ่มต้นเราไม่ได้มองว่าเรื่องใดเป็นปัญหาและเราอยากแก้ไข แต่เราทำเพราะเราชอบ เราอยากให้คนรับรู้ และถ้าสุดท้ายสิ่งนี้ทำให้คนสนใจกลับมาทำน้ำตาลมากขึ้นก็คงจะดี” แม้เอกจะบอกว่าเขาไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้จะเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือเปล่า แต่อย่างน้อยสิ่งที่เขาทำก็ใช่ว่าจะสูญเปล่า เพราะทุกกระบวนการเกิดขึ้นในชุมชนอยู่แล้ว เขาเพียงทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ผู้บริโภค

เอกมองเห็นศักยภาพของกลุ่มจากพื้นฐานของสมาชิกกลุ่มที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังอยู่แล้ว เมื่อรวมกับองค์ความรู้จากคุณลุงในกลุ่ม เขาพบว่าแทนที่จะให้ลุงปีนต้นมะพร้าวเก็บน้ำตาล ก็เปลี่ยนให้ลุงเป็นผู้ให้ความรู้ จึงเกิดเป็นโมเดลของกลุ่มที่มีเรื่องการท่องเที่ยวรวมอยู่ด้วย

“กลุ่มมันเหนียวแน่นมากตั้งแต่เป็นกลุ่มเลี้ยงแตนเบียนบราคอนในศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน” เอกเล่า พร้อมชี้ชวนให้รู้ดูที่เพาะแตนเบียนบราคอน

แตนเบียนบราคอนเป็นแมลงที่กินหนอนหัวดำศัตรูหมายเลขหนึ่งของต้นมะพร้าว เพื่อระบบนิเวศที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ ทางกลุ่มจึงเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวนแตนเบียนบราคอนทดแทนการสูญหายจากการใช้สารเคมีของสวนใกล้เคียง นอกจากแลกเปลี่ยนความรู้การเพาะพันธุ์แล้วทางกลุ่มยังมอบแตนเบียนบราคอนเพื่อปล่อยในเส้นทางสาธารณะและสวนมะพร้าวทิ้งร้างด้วย เป็นอีกหนึ่งความเข้มแข็งของชาวหมู่ 1 ที่ทำเกษตรมะพร้าวอินทรีย์อย่างยั่งยืน เพราะมีทั้งกระบวนการพึ่งพาตัวเองและการสร้างความร่วมมือตั้งแต่ต้นไปจนถึงปลายทาง

“เราคนเดียวเราไม่สามารถหล่อเลี้ยงและขยายองค์ความรู้สู่ชุมชนได้ แต่ถ้าชุมชนเข้มแข็ง มีเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนร่วมมือเข้ามาช่วยกันเราก็สามารถทำได้” เก๋เสริม

เพียรหยดตาล

บทเพียรที่ 5

เพราะธรรมดาจึงพิเศษ

เอกบอกว่า สิ่งที่ท้าทายที่สุด คือการสื่อสารความพิเศษของน้ำตาลจากกลุ่ม เพราะทั้งหมดคือความธรรมดา

“ผมไม่อยากให้บรรจุภัณฑ์ที่ใส่รบกวนคุณค่าที่แท้จริงของน้ำตาล เพราะเมื่อใดที่มีบรรจุภัณฑ์ดีไซน์สวยงามมันก็เหมือนการขายของฝากมากกว่าคุณค่าที่อยู่ด้านใน” เอกเล่าที่มาของการให้ความสำคัญกับคุณค่าน้ำตาล แทนที่จะเริ่มจากความสวยงามของบรรจุภัณฑ์อย่างวิสาหกิจชุมชนทั่วไป

ปัจจุบันผลผลิตจากเพียรหยดตาลมีขนาด 500 กรัม และ 1 กิโลกรัม ในจำนวนที่จำกัดตามกำลังผลิตที่มี มีลูกค้าประจำเป็นเชฟจากร้านอาหารและลูกค้าปลีกทั่วไปที่สนใจ โดยมีช่องทางจัดจำหน่ายทางออนไลน์และโทรศัพท์

“หากชุมชนอื่นหรือคนรุ่นใหม่สนใจอยากเริ่มต้นรวมตัวกันเพื่อรักษาหรือต่อยอดวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น เขาควรเริ่มต้นหรือความสำคัญกับเรื่องใดเป็นพิเศษ” เราถาม

“ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของคนที่นั่น ในกรณีของเราที่ไม่เติบโตที่นี่ วิถีหรือกระบวนคิดจึงแตกต่างกัน บางเรื่องที่เราคิดว่าจริงจัง ชาวบ้านไม่ได้คิดว่าจริงจัง เหตุผลที่เราไม่ทำเพียรหยดตาลแบบรีบโต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราพยายามทำความเข้าใจกัน การเติบโตของกลุ่มจึงจะเป็นไปอย่างธรรมชาติตามความคิดที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป ไม่ได้เกิดจากตัวเรากำหนดให้เป็น วัยที่ต่างกันก็ทำให้มีความคาดหวังต่างกัน อย่างลุงจิตอาจจะไม่ได้มองที่รายได้ เพราะทำเพื่อความสนุก ผมอาจจะมองว่าสิ่งนี้ต้องสร้างรายได้ด้วย

“แต่ถึงคิดเห็นไม่ตรงกันก็ไม่ใช่ปัญหานะ เพียงแต่เรามองหาสิ่งที่สอดคล้องกัน แรกๆ เราก็แอบเครียดเหมือนกันว่าทำไมไม่เป็นไปตามอุดมคติในใจ แต่วันนี้พบแล้วว่าต้องค่อยๆ เข้าใจและเพียรสื่อสาร” ถ้าคุณได้มีโอกาสมาอยู่ด้วยกันตรงนี้ คุณจะรู้สึกเหมือนเราว่า คำตอบสุดท้ายของเอกทำให้ขนมต้มน้ำตาลในมือเราหวานขึ้นอีก 3 ระดับ

เพียรหยดตาล เพียรหยดตาลFacbookเพียรหยดตาล

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล