มองในแวบแรก สิ่งที่อยู่ในมือฉันคือกระเป๋าผ้าที่ทั้งสวยเก๋และร่วมสมัย แต่เมื่อมองให้ละเอียดขึ้น จะเห็นความไม่สมบูรณ์แบบของผืนผ้าและลวดลายปักแปลกตา อันเป็นความงดงามของงานทำมือ และเมื่อได้ฟังเรื่องราว ฉันก็รู้ว่าผู้สร้างสรรค์กระเป๋าเหล่านี้คือหลากหลายชนเผ่าภาคเหนือ ซึ่งมีภูมิปัญญาการปักและถักทอผืนผ้าสั่งสมมายาวนาน

Ethnica คือแบรนด์กระเป๋าที่ก่อตั้งโดย ยุจเรศ สมนา, เขมิยา สิงห์ลอ และ ชัยวัฒน์ เดชเกิด มันไม่ใช่แค่กระเป๋าดีไซน์สวย แต่คือธุรกิจเพื่อสังคมที่เข้าไปหยิบภูมิปัญญาชนเผ่ามาหีบห่อให้ถูกใจคนซื้อ เพื่อให้แบรนด์เติบโตได้และชนเผ่าผู้ลงมือทำอยู่รอด ในแต่ละผืนผ้า แต่ละลวดลายจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวและความหมายที่มากไปกว่าสินค้าในระบบอุตสาหกรรม

ฉันวางมือสัมผัสผืนผ้า ลูบไล้ลายปัก แล้วตั้งใจฟังสิ่งที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าแต่ละใบ

Ethnica: เก็บภูมิปัญญาชนเผ่าภาคเหนือไว้ในกระเป๋าเพื่อสังคมใบสวย

1.

ผ้าสำเร็จรูปมันไม่มีหัวใจอยู่ข้างใน

Ethnica เริ่มต้นเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยก้าวแรกที่ไม่ต่างจากแบรนด์กระเป๋าอื่นนัก

ยุวเรศซึ่งเรียนจบสาขาศิลปะไทยจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับนักการตลาดรุ่นใหม่ตั้งแบรนด์กระเป๋าในสไตล์ New-Boho มุ่งส่งขายสหรัฐอเมริกา-ตลาดที่มีกำลังซื้อและชื่นชอบงานฝีมือ โดยค้นคว้าหารูปทรงกระเป๋าที่ตลาดต้องการ แล้วเลือกใช้ผ้าจากตลาดที่ปักลวดลายจากชนเผ่าภาคเหนือซึ่งเธอชื่นชอบเป็นทุนเดิม

แต่เมื่อกระเป๋าล็อตแรกออกมา ยุวเรศพบว่าเธอยังต้องเพิ่มคุณค่าให้สินค้า เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษ ด้วยผ้าทอที่ต่างจากผ้าตามท้องตลาดทั่วไป

“ใครก็ใช้ผ้าเหมือนเราได้ มันทำให้เราไม่มีเอกลักษณ์ และต่อให้มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ มันก็ไม่มีหัวใจอยู่ข้างใน” ยุวเรศอธิบาย

ด้วยเหตุนี้ นักออกแบบสาวจึงเริ่มมองหาหนทางอื่น ระหว่างนั้น เธอได้ไปลงเรียนคอร์สการออกแบบสิ่งกับ TCDC เชียงใหม่ ที่สอนโดย ธีระ ฉันทะสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ไทยชื่อดัง ในห้องเรียน รุ่นพี่ที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นได้แนะนำให้เธอไปเจอกับบัว-ชำนาญ คำปวง หญิงชาวชาวปกาเกอะญอในแถบพื้นที่ทุ่งหัวช้างซึ่งมีฝีมือในการทอผ้า หญิงสาวจึงลองให้พี่บัวช่วยทอผ้าแบบที่อยากเห็น ซึ่งมีความเป็นงานฝีมือพื้นบ้านอบอวลอยู่

ผลที่ได้จากกี่ของพี่บัวน่าประทับใจ แม้ลายเส้นอาจไม่ราบเรียบเสมอกัน แต่ความงามนั้นคือสิ่งที่ทำให้ผ้าทำมือแต่ละผืนมี ‘หัวใจ’

แล้วระหว่างการร่วมงาน เมื่อนักออกแบบสาวลองถามว่า ช่างฝีมือซึ่งบ้านอยู่ห่างไกลตัวเมืองคนนี้ต้องการอะไรในชีวิต แทนที่คำตอบจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างมือถือ หรือของจำเป็นอย่างเสื้อผ้า

คำตอบของพี่บัวคือ งาน

นั่นคือจุดเริ่มต้นของการร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างนักออกแบบสาวและช่างฝีมือชนเผ่า เพื่อนำจิตวิญญานของชนเผ่ามาปรับใช้ตอบโจทย์คนยุคใหม่

คือจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Ethnica อย่างที่เป็นทุกวันนี้

Ethnica: เก็บภูมิปัญญาชนเผ่าภาคเหนือไว้ในกระเป๋าเพื่อสังคมใบสวย Ethnica: เก็บภูมิปัญญาชนเผ่าภาคเหนือไว้ในกระเป๋าเพื่อสังคมใบสวย

2.

เราทำงานให้ชนเผ่า ไม่ใช่ชนเผ่าทำงานให้เรา

จากวันนั้น ยุวเรศทยอยหยิบงานมาให้พี่บัวทำไม่ขาด แล้วจากคน 2 คน พี่บัวก็แนะนำให้ยุวเรศรู้จักชุมชนข้างเคียงที่มีทักษะการย้อมสีธรรมชาติ

ทีละน้อย, Ethnica ค่อยๆ ขยับขยายเครือข่ายไปสู่ชุมชนอื่น ชนเผ่าอื่นที่กว้างออกไป

อย่างไรก็ตาม การทำงานของนักออกแบบสาวไม่ใช่รูปแบบบังคับให้ได้อย่างใจ เธอรู้ดีว่าแต่ละเผ่า รวมถึงแต่ละชุมชนมีทักษะไม่เหมือนกัน ชาวปกาเกอะญอเชี่ยวชาญทอผ้า ชาวอาข่าฝีมือจัดเรื่องการปัก บางชุมชนมีทักษะย้อมฝ้ายและตีฝ้าย ขณะที่อีกหลายชุมชนไม่มี และแต่ละชุมชนก็มีวัตถุดิบให้สีที่ไม่เหมือนกัน ตั้งแต่สีจากต้นคราม ผลมะเกลือ หรือต้นขนุน

เพราะฉะนั้น ผ้าแต่ละผืนจึงอาจเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาของหลากชุมชน หลายชนเผ่า หีบห่อด้วยดีไซน์จากนักออกแบบสาว และการจบงานแบบตามมาตรฐานจากโรงงาน ตัวอย่างเช่น คอลเลกชันหนึ่งของ Ethnica ใช้ลายปักของชาวลั๊วะที่เป็นลายจารึกโบราณ แต่ลองผสมสีใหม่ เอาโทนสีของใบไม้เข้ามาร่วมเพื่อให้เข้ากับการเป็นคอลเลกชันรับฤดูใบไม้ร่วง ก่อนจบด้วยการเก็บงานให้สวยเนี้ยบพร้อมวางขาย

ที่สำคัญคือ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานความเต็มใจและสบายใจของทุกฝ่าย

“เราก็บอกเขาว่าอยากให้ทอผ้า เอาให้เขาดูว่าคนเมืองเขาใส่กันแบบนี้นะ และนี่ก็ผ้าทอของเรา แต่ทำไซส์แบบนี้ ลองทำสิ สวยนะ พอทำออกมาเขาก็ดีใจ เริ่มเห็นภาพ พอเขาเริ่มชินแล้ว ก็จะได้ลองอะไรใหม่ๆ เส้นยืนแบบนี้ เส้นพุ่งแบบนี้ เขาก็เริ่มสนุก เริ่มหันมาทำกันมากขึ้น แต่ว่าเราออกแบบบนพื้นฐานที่เขาถนัดนะ ถ้าเขาไม่ถนัดแล้วไปฝืน เขาก็ไม่ทำ มีตัวอย่างอยู่หลายทีเหมือนกัน บางทีดีไซน์เนอร์เอาเทคนิคของชนเผ่าหนึ่งไปให้อีกชนเผ่าทำ มันทำให้เขาอึดอัดและทำได้แค่ตัวอย่าง พอมีออร์เดอร์มาคือเสียหมดเลยเพราะเขาทำไม่ทัน เราก็จะยึดตามวิถีชีวิตเขาเคยอยู่ยังไง แล้วก็ปรับตัวเอง คือเราทำงานให้เขามากกว่า ไม่ใช่ให้เขามาทำงานให้เรา” นักออกแบบสาวเล่าให้ฉันฟัง

ผ้าแต่ละผืนที่ Ethnica ได้มาจึงมีความงามเป็นเอกลักษณ์

และแน่นอน มีมวลความสุขของคนทำสอดแทรกอยู่ในนั้น

Ethnica: เก็บภูมิปัญญาชนเผ่าภาคเหนือไว้ในกระเป๋าเพื่อสังคมใบสวย Ethnica: เก็บภูมิปัญญาชนเผ่าภาคเหนือไว้ในกระเป๋าเพื่อสังคมใบสวย Ethnica: เก็บภูมิปัญญาชนเผ่าภาคเหนือไว้ในกระเป๋าเพื่อสังคมใบสวย

3.

เมื่อเราบอกว่าลูกค้าซื้อกระเป๋าไปแล้วนะ แววตาเขาเป็นประกาย

Ethnica เติบโตขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ยุวเรศบอกว่า ตอนนี้ฉันพบกระเป๋าของเธอได้ทั้งในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และร้านในตัวเมืองเชียงใหม่ของเธอเองที่ชื่อว่า Craft de Quarr ซึ่งรวมหลายแบรนด์ท้องถิ่นไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ Ethnica ยังจับมือกับธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสังคมเพื่อนซี้อย่าง Local Alike จับทริปลงชุมชนที่ทำงานผ้าให้กับแบรนด์ด้วย

ในความงอกงามของกระเป๋าเพื่อสังคมเจ้านี้  ฉันพบว่ามีสิ่งสำคัญซ่อนอยู่ในผลงานแต่ละใบ

นั่นคือ ‘ความยั่งยืน’

เริ่มกันจากระดับเล็กจิ๋วที่สุด  การเติบโตของ Ethnica ไม่ใช่แค่คนซื้ออย่างเราได้ของสวยถูกใจ แบรนด์ได้กำไร แต่ชุมชนและชนเผ่าต่างๆ ยังมีรายได้ซึ่งทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขา และทำให้ทุกคนได้อยู่ด้วยกันที่บ้าน ไม่ต้องแยกย้ายไปทำงานที่อื่น

“สถาบันครอบครัวก็กลับมา พ่อบ้านไปปลูกฝ้าย แม่บ้านทอผ้า แล้วจากที่เด็กสาวๆ ไม่สนใจแล้ว จะไปเล่นมือถือ ไปทำงาน ไปเที่ยวข้างนอก เขาก็เริ่มสนใจกลับมาทอผ้าเพราะเห็นว่ามีรายได้ เริ่มอยู่บ้าน ทำงานและเรียนจากคนในครอบครัวมากขึ้น บางทีเราไปก็ไปช่วยเขาย้อม ช่วยเขาตีฝ้ายนะ อยู่กันเหมือนครอบครัว” ยุวเรศเล่าประสบการณ์ตรงให้ฟังพร้อมรอยยิ้ม

นอกจากนั้น การที่ชาวชนเผ่าซึ่งทำงานร่วมกับ Ethnica มีรายได้จากสิ่งที่มีอยู่แล้วในชุมชนทั้งวัตถุดิบและองค์ความรู้ ก็ทำให้วิถีชีวิตชนเผ่าของพวกเขายังดำเนินต่อไปได้อย่างที่เคยเป็น และภูมิปัญญาที่อาจเคยถูกทอดทิ้ง ใกล้สูญหายก็กลับกลายเป็นสิ่งมีค่า

ไม่ใช่แค่เพราะมันช่วยสร้างรายได้ แต่เพราะองค์ความรู้เก่าแก่นี้คือสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจให้ทั้งผู้ใหญ่และหนุ่มสาวรุ่นหลัง

“เวลาที่ทอผ้าออกมาได้กระเป๋า 1 ใบ แล้วเราบอกเขาว่า กระเป๋าผ้าของพี่ลูกค้าซื้อไปแล้วนะ แววตาของเขามันเป็นประกายมาก นอกจากได้เงิน เขาดีใจและภูมิใจว่าสิ่งที่เขาทำมา ที่เขาคิดว่าขี้เหร่ กลับขายให้กับกลุ่มคนที่ชื่นชอบได้ งานชนเผ่ามันไม่ใช่งานคลาสสิก งานเนี้ยบ แต่มีเสน่ห์ตรงความเป็นพื้นบ้าน” ยุวเรศบอกฉัน

ในภาพใหญ่ การสร้างรายได้ให้ชนเผ่าในวิธีของ Ethnica ยังช่วยปกป้องธรรมชาติ เพราะภูมิปัญญาของพวกเขานั้นแสนจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหลายครั้ง งานที่ทุกคนต้องแยกย้ายไปทำก็ส่งผลร้ายต่อธรรมชาติ เช่น การทำไร่เชิงเดี่ยวอย่างไร่ข้าวโพดซึ่งทั้งทำลายป่าและใช้สารเคมีหนักหน่วง

ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบมาถึงฉันและคุณ เพราะเราล้วนเชื่อมโยงถึงกัน

เพราะอย่างนี้  การเติบโตของกระเป๋าแบรนด์ Ethnica จึงหมายถึงการขับเคลื่อนวงจรความยั่งยืนที่งดงามให้หมุนต่อไป ทั้งชุมชน เจ้าของแบรนด์ และผู้บริโภคกำลังเดินไปข้างหน้าโดยไม่มีใครนำหน้าใคร

เป็นการก้าวไปพร้อมกันอย่างสง่างาม

Ethnica: เก็บภูมิปัญญาชนเผ่าภาคเหนือไว้ในกระเป๋าเพื่อสังคมใบสวย Ethnica: เก็บภูมิปัญญาชนเผ่าภาคเหนือไว้ในกระเป๋าเพื่อสังคมใบสวย

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล