‘น่ารัก’

เมื่อเห็นสินค้าของ ‘ภูคราม’ (Bhukram) ครั้งแรก คำอุทานนี้ก็หล่นจากปากและดังก้องในสมอง ฉันอยากพุ่งตัวไปจับจองผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ไปจนถึงเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติของแบรนด์จากสกลนครในบัดดล ไม่ใช่แค่เพราะสีน้ำเงินจากครามหรือดำจากมะเกลือที่ดึงดูดใจ แต่ลวดลายเล็กที่สาวๆ ชาวภูพานบรรจงปักบนผ้าฝ้ายทอมือต่างหากที่ทำให้ฉันตกหลุมรัก ดอกไม้ใบหญ้าที่กระจายตัวสร้างความงดงามบนผืนผ้าได้แรงบันดาลใจจากอุทยานแห่งชาติภูพาน ความเก๋ของลายผ้าจากบ้านเกิดที่ไม่มีทางซ้ำกันซักผืนช่างถูกจริตคนชอบงานฝีมือและธรรมชาติ

เมื่อได้โอกาสพูดคุยกับมะเหมี่ยว-ปิลันธน์ ไทยสรวง ผู้ก่อตั้งแบรนด์แสนป๊อปในกลุ่มคนรักสินค้าธรรมชาติและแม่บ้านญี่ปุ่น ฉันถึงได้รู้ว่าภูครามไม่ได้เกิดขึ้นจากความฝันของดีไซเนอร์เก๋ไก๋ แต่ผลิบานจากนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งที่อยากกลับบ้าน

ภูคราม ภูคราม

ภูคราม

1

ค่อยๆ กลับบ้าน

มะเหมี่ยวเป็นคนอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร แต่เข้ากรุงเทพฯ มาทำงานเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชน การลงพื้นที่คลุกคลีกับชาวบ้านหลายจังหวัดทำให้เธอเข้าใจวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น ยิ่งพบปะผู้คนมากขึ้น หญิงสาวก็เริ่มตั้งคำถามถึงชุมชนบ้านเกิดที่ตนเองจากมา

“เราทำงานกับชุมชนเยอะ และใช้ความรู้เชิงบูรณาการของตัวเองเพื่อพัฒนาชุมชนอื่นๆ จนรู้สึกเหมือนเป็นลูกหลานบ้านนั้นบ้านนี้ แต่ไม่ได้คลุกคลีกับชุมชนบ้านเกิดเลย แม้กระทั่งกลับไปบ้าน ก็แทบไม่รู้จักใครหรือจำชื่อคนไม่ได้แล้ว อยู่บ้านเฉยๆ กับครอบครัว ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับใคร เลยคิดว่าทำไมถึงไม่กลับไปใช้ความรู้ของเราพัฒนาที่บ้านบ้าง รวมกับความรู้สึกอยากกลับบ้านเพราะว่าอยู่กรุงเทพฯ มานาน และอยากกลับไปดูแลครอบครัวด้วย”

ความคิดถึงบ้านของเธอก่อตัวตั้งแต่เห็นชาวบ้านภูพานกลับมาทอผ้ามากขึ้นเพื่อทำผ้าพันคอและผ้าคลุมไหล่ย้อมครามเพื่อส่งขาย หลังจากที่หยุดทอผ้าถุงใช้เองและเลิกย้อมครามมานานหลายปี หญิงสาวช่วยรับของจากป้าๆ น้าๆ ที่อายุมากมาขายในออฟฟิศที่กรุงเทพฯ ผลตอบรับที่ดีเกินคาดทำให้เธอเริ่มจริงจัง และในที่สุดก็ตัดสินใจลาออกเพื่อกลับบ้านและทำธุรกิจร้านผ้าย้อมครามอย่างเต็มตัว แม่ค้ามือใหม่เข้าอบรมด้านดีไซน์และธุรกิจแบบ Social Enterprise เพื่อค้นหาว่าจุดเด่นที่จะทำให้แบรนด์ของเธอแตกต่างจากคนอื่นๆ คืออะไร

คำตอบรอคอยเธออย่างสงบอยู่ที่บ้าน ภูมิปัญญาการปลูกฝ้าย เข็นฝ้าย ทอฝ้าย และย้อมครามอยู่ที่ภูพานมาเนิ่นนานแล้ว มะเหมี่ยวละทิ้งการขายผ้าเรยอนทอตามแพตเทิร์นที่แพร่หลายในสกลนครในขณะนั้น และชักชวนชาวบ้านให้กลับไปทำสิ่งที่พวกเขาเคยเชี่ยวชาญอีกครั้ง

ภูคราม ภูคราม

2

ปักป่าบนผืนผ้า

ผ้าฝ้ายทอมือโดดเด่นก็จริง แต่เอกลักษณ์ของภูครามเกิดจากการทดลองง่ายๆ ครั้งหนึ่งของมะเหมี่ยวที่ภูพาน

เราเป็นคนชอบธรรมชาติ คือเราเห็นผ้า เห็นเข็ม เห็นหลอดฝ้าย อยู่ข้างๆ ก็เริ่มมานั่งคิด ตอนเเรกอยากจะดีไซน์ธรรมชาติลงบนผืนผ้า ในสมองไม่ได้คิดอะไรเยอะ ก็เลยร้อยเข็มแล้วปักดอกไม้ที่เราเห็นรอบข้างในชุมชน พอโพสต์ภาพผ้าลง Facebook ปรากฏว่าคนชอบ มันแปลกดี น่ารักดี เลยคิดว่าทำแบบนี้ดีกว่า”

เนื่องจากงานปักมือไม่เคยอยู่ในวิถีดั้งเดิมของชาวภูพาน ช่วงแรกๆ เจ้าของไอเดียต้องจ้างช่างฝีมือที่กรุงเทพฯ แต่ต่อมาก็ค้นพบมือปักชั้นยอดในบ้านเกิด คือ ดา-คุณแม่ที่อยากหารายได้เสริมระหว่างเลี้ยงลูก 3 คนไปด้วย

“งานปักมันมีเยอะมาก ใครๆ ก็ทำได้ แต่เราอยากจะสะท้อนพื้นที่เราอยู่และมุมมองของคนในพื้นที่ให้คนได้รู้จักผ่านงาน ตอนดาบอกว่า ‘พี่เหมี่ยว ดาเลี้ยงลูกในทุ่งนา น้องจับดอกนี้ขึ้นมา แล้วดาเลยลองปัก’ เราเลยค้นพบว่า เฮ้ย ในผืนผ้าแต่ละผืนของเรามันมีเรื่องราวของคนปัก มีแรงบันดาลใจที่เขาได้จากธรรมชาติรอบตัว นี่แหละ concept หลักของเรา”

ภูคราม ภูคราม

“พอเริ่มจาก 1 คน คนอื่นก็เห็นดามีรายได้ ซึ่งต้องให้ราคาสูงพอสมควรสำหรับการทำงานปัก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ ไม่ได้มีในชุมชนมาก่อน พวกเขาก็สนใจ ตอนแรกคงอยากได้เงินก่อน แต่พอเขาปักไปเรื่อยๆ เราให้ความสำคัญว่าทุกคนมีผลงานของตัวเอง มีอิสระในการดีไซน์ เพราะแรงบันดาลใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เขาก็เกิดความภูมิใจว่านี่คือชิ้นงานของเขา มีการนำเสนอลวดลาย  บางทีก็มีป้ามาสะกิด ‘ป้าไปเก็บเห็ด แล้วป้าเห็นเห็ด เห็นโขดหิน ป้าจะปักอันนี้’ เพียงแค่ว่าเขาไม่ได้ใช้โทรศัพท์มาถ่ายภาพแล้วเอามาเปรียบเทียบก่อนปัก แต่เขาจำผ่านมุมมองของเขาแล้วเขาปักลงไปเลย

เราเป็นคนดีไซน์ภาพรวมก็จริง แต่ไม่จับมือเขียนแบบให้ชาวบ้าน คนที่ฝังฝีเข็มลงไปคือพวกเขาเอง แต่ละคนมีศักยภาพเยอะมาก ดูถูกไม่ได้เลยนะ ถ้าเขามีโอกาสทำ เขาก็เป็นศิลปินได้”

มือปักตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงานร่วมพัฒนาลวดลายด้วยกัน ร่วมคิดเทกนิคให้ผ้าพันคอและผ้าคลุมไหล่ใช้ได้ทั้งสองด้าน จนดอกไม้ป่า ดอกหญ้าฤดูร้อน และกลีบบอบบางสารพันฟุ้งกระจายในภูคราม อาจดูดิบซื่อ ตรงไปตรงมา แต่รอยปักเหล่านี้ไม่ใช่แค่ดอกไม้อ่อนหวาน หากซ่อนคำว่าธรรมชาติไว้ในทุกฝีเข็ม

3

ผลลัพธ์ของความเชื่องช้า

สมัยนี้ถ้าอยากกินผลไม้ เดินเข้าห้างไปซื้อมาสักกิโลก็ได้ชิมรสหวาน ถ้าใจร้อนอยากได้ชุดสวย สั่งเสื้อสำเร็จรูปก็ได้ของเร็วทันใจ วิถีสะดวกสบายมีข้อดีนานัปการ

แต่ความอดทนมีดอกผลงดงามในแบบของมัน

เบื้องหลังผลผลิต 1 ผืนของภูคราม เปรียบเหมือนการปลูกผลไม้ทั้งสวนไว้ล่วงหน้า และรอคอย 2 – 3 เดือนกว่าชิ้นงานจะปรากฏ เริ่มจากปลูกฝ้าย รอไร่ครามเติบโต เก็บฝ้ายที่มีและรับซื้อฝ้ายจากบริเวณใกล้เคียงมาเข็นฝ้ายสำหรับทอ อาจผสมฝ้ายโรงงานเท่าที่จำเป็น และใช้สีย้อมธรรมชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสีจากต้นคราม เปลือกมะม่วง เปลือกประดู่ แก่นต้นเข หรือผลมะเกลือ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการตัดเย็บและปักผ้า โดยมะเหมี่ยวจ้างช่างตัดเสื้อจากกรุงเทพฯ มาสอนเรื่องแพตเทิร์นและเทคนิคต่างๆ ให้คนท้องถิ่นโดยเฉพาะ และรับช่างฝีมือดีที่กลับมาอยู่บ้านเข้าทำงาน เพื่อให้การผลิตทุกขั้นตอนของแบรนด์มาจากชาวภูพานจริงๆ

ภูคราม ภูคราม

“ตั้งแต่แรกที่เราร่วมกันทำกับชาวบ้าน เราเน้นความสุขในการทำงาน เพราะเราอยู่ได้เมื่อชาวบ้านมีความสุข เราเคยคิดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตเยอะๆ พอมาคำนวณดู ถ้าเพิ่มเยอะแล้วความสุขจะลดลงมั้ย คุยกับชาวบ้านตลอดจนรู้ใจกัน เขาเริ่มรู้แล้วว่าเหมี่ยวจะไปได้ เขาก็ต้องทำของที่ดีมีคุณภาพ

“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าภูครามจะได้เงินมากๆ แต่สิ่งที่วางแผนไว้คืออยากจะอยู่กับชุมชนที่ทุกคนมีความสุข มันอาจจะเป็นภาพฝันหน่อย แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ เขามีรายได้ เรามีรายได้ เราเอื้อกันและกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วก็เติบโตไปด้วยกันในเชิงพัฒนาคุณภาพชีวิต เราต้องเห็นและเข้าใจจริงๆ ว่าชุมชนต้องการอะไร ไม่ใช่แค่เราคนเดียว ในเมื่อเราลงมือทำกับชุมชนแล้ว เราทิ้งเรื่องนี้ไม่ได้”

รายได้ที่สม่ำเสมอตลอดทั้งปีจากภูคราม ช่วยให้ผู้หญิงในชุมชนไม่ต้องรอเงินก้อนจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตตามฤดูกาล พวกเธอช่วยเหลือครอบครัวได้มากขึ้นจากการแบ่งเวลามาทอผ้าหรือปักผ้า ในขณะเดียวกันก็ยังใช้ชีวิตประจำวัน เก็บเห็ด ดำนา และเลี้ยงลูก ไปตามปกติ

จังหวะชีวิตที่ต้องสอดคล้องกันทั้งชุมชนดูเชื่องช้าในโลกที่หมุนเร็วจี๋ แต่ระบบนิเวศของภูครามกำลังเติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อใจเย็น รอคอย และแบ่งปัน

ผลลัพธ์ของมันหอมหวานไปทั้งอุทยานภูพาน

ภูคราม ภูคราม ภูคราม

4

ส่งต่อธรรมชาติ

ปัจจุบันภูครามมีหน้าร้านออนไลน์และออกร้านตามตลาดสินค้าดีไซน์ ของออร์แกนิก สินค้าชุมชน รวมถึงวางจำหน่ายชั่วคราวในห้างสรรพสินค้าและส่งผ้าคลุมไหล่สำหรับกิโมโนไปญี่ปุ่น ขอเพียงลูกค้ามีเวลารอคอยกระบวนการสักหน่อย ภูครามจะรับออเดอร์ผ้าฝ้ายปักดอกไม้น่ารักแบบดิบๆ ตาม signature ของแบรนด์

“เรานั่งถามตัวเองว่าภูครามขายสินค้าอะไร รู้สึกว่าขายธรรมชาติในมุมมองของเรา ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอน วิถีชีวิตของชาวบ้าน หรือกระทั่งการปักลายธรรมชาติรอบตัว บางทีคนซื้อชอบมาก เราก็จะดีใจมาก เพราะกว่าจะได้ผืนหนึ่งมันยากมากเลย อย่างพวกเสื้อ เวลาออกแบบช่างกับเราจะช่วยกันเยอะมาก พยายามทำให้มันใส่ง่าย ใส่สบาย และสวยงามตรงใจตลาด ลูกค้าส่วนมากของเราเป็นลูกค้าเดิมที่กลับมาซื้อซ้ำ เป็นคนรักธรรมชาติ ชอบงานผ้า งานอนุรักษ์ และอยากสนับสนุนเรื่องนี้ เราก็พยายามออกแบบรูปแบบใหม่ๆ ให้พวกเขาใช้ได้”

มะเหมี่ยวตบท้ายด้วยรอยยิ้ม ฉันลูบผ้าคลุมไหล่สีน้ำเงินลายดอกไม้ป่าที่เธอวางขายแล้วอดยิ้มตามไม่ได้ รอยปุ่มป่ำนุ่มนวลที่มือสัมผัสมีโลกธรรมชาติบรรจุอยู่ทั้งใบ

ภูคราม

FB | ภูคราม Bhukram

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan