ตามปกติเมื่อเช้าวันจันทร์มาถึง ฉันจะลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวแล้วตรงไปที่ทำงานใจกลางเมือง แต่ตอนนี้ฉันกำลังนั่งอยู่กลางอ้อมกอดภูเขาและต้นไม้ ห่างออกไปไม่ไกลมีลำธารใสไหลผ่าน นั่นเพราะที่ทำงานของฉันวันนี้คือ ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน ชุมชนปกาเกอะญอแห่งจังหวัดเชียงราย และงานที่ต้องทำก็ไม่ใช่การนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ แต่คือการลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้เรื่องสินค้าชุมชนแห่งนี้

นั่นคือ ‘น้ำผึ้ง’

ก่อนหน้านี้ถ้าถามว่าน้ำผึ้งคืออะไร ฉันคงตอบว่าคือวัตถุดิบรสหวานซึ่งรสและสีสันต่างกันนิดหน่อยในแต่ละยี่ห้อ แต่ตอนนี้ ฉันคงต้องขอเปลี่ยนคำตอบ เพราะตรงหน้ามีแก้วใสหลายใบ แต่ละใบใส่น้ำผึ้งหลากเฉดสี ที่สำคัญคือเมื่อพี่ๆ ชาวปกาเกอะญอบอกให้ใช้ช้อนคันเล็กลองตักชิม สิ่งที่ลิ้นสัมผัสคือรสชาติหลากหลาย บ้างหวานซ่อนเปรี้ยว บ้างเข้มจัดเกือบขม

นี่คือน้ำผึ้งจากป่าของบ้านห้วยหินลาดในที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ให้ละเอียดซับซ้อน ชนิดว่าน้ำผึ้งแต่ละขวดของที่นี่อาจมีรสต่างกันโดยสิ้นเชิง และรับรองว่าไม่ใช่แค่รสชาติ เรื่องเบื้องหลังของสินค้าชุมชนแห่งนี้ก็แตกต่างและโดดเด่น

รออะไรอยู่, มาชิมเรื่องราวน้ำผึ้งจากผืนป่าชาวปกาเกอะญอกันเถอะ

HOSTBEEHIVE : ลิ้มรสเรื่องราวผืนป่าผ่านน้ำผึ้งของชุมชนปกาเกอะญอแห่งเชียงราย

ชื่อสินค้า: HOSTBEEHIVE
ชื่อชุมชน: ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

รู้จักชุมชน

‘ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน’ เป็นชุมชนปกาเกอะญอที่อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณนี้มานานนับร้อยปี ในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง ชุมชนชนเผ่าแห่งนี้ยังคงเข้มแข็ง มีคนรุ่นใหม่ใส่ใจสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ปัจจุบันชาวชุมชนทั้งยี่สิบกว่าหลังคาเรือนยังคงทำไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สืบทอดต่อกันมา รวมถึงดูแลป่าวนเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ที่กินอาณาเขตกว่า 22,000 ไร่ นอกจากทำการเกษตร ชาวบ้านที่นี่ยังมีความรู้เรื่องการเก็บน้ำผึ้งจากรังผึ้งในธรรมชาติด้วย   

รู้จักคนทำ

พ่อหลวงชัยประเสริฐ โพคะ พ่อหลวงคนปัจจุบันของชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน เป็นคนดูแลชาวบ้านและจัดการกระบวนการผลิตน้ำผึ้งของ HOSTBEEHIVE ทั้งหมด

HOSTBEEHIVE : ลิ้มรสเรื่องราวผืนป่าผ่านน้ำผึ้งของชุมชนปกาเกอะญอแห่งเชียงราย

จั้มพ์-ณัฐดนัย ตระการศุภกร ชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่ที่เรียนจบคณะนิติศาสตร์ แต่ได้ไปทำงานด้านการตลาดที่กรุงเทพฯ อยู่พักใหญ่ ปัจจุบันนำความรู้ที่มีกลับบ้านเกิดมาทำงานกับชนเผ่าต่างๆ เป็นคนช่วยทำการตลาดให้กับ HOSTBEEHIVE

ทศ-ชัยธวัช จอมติ ชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่จากชุมชนบ้านห้วยหินลาดนอก ซึ่งเป็นบ้านใกล้เรือนเคียงกับชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน นอกจากบุกเบิกทำแบรนด์กาแฟให้กับชุมชนตัวเอง เขายังมาช่วยเหลือเรื่องการตลาดให้กับ HOSTBEEHIVE ด้วย

HOSTBEEHIVE : ลิ้มรสเรื่องราวผืนป่าผ่านน้ำผึ้งของชุมชนปกาเกอะญอแห่งเชียงราย

รู้จักสินค้า

ก่อนหน้าที่ HOSTBEEHIVE จะถือกำเนิด ชาวปกาเกอะญอในชุมชนเก็บน้ำผึ้งตามธรรมชาติและเลี้ยงผึ้งกันอยู่แล้ว แต่เพราะไม่อาจหาตลาดได้ (เวลาไปฝากขายก็โดนกดราคา) ทำให้น้ำผึ้งที่ควรเป็นสินค้าสร้างรายได้กลายเป็นเพียงของแจกยามมีคนนอกแวะเวียนมาดูงาน จนชาวบ้านเริ่มหมดความสนใจในการทำน้ำผึ้ง

ในช่วงนั้นเอง จั้มพ์ได้เข้ามาในบ้านห้วยหินลาดในและพบกับพ่อหลวงชัยประเสริฐ พ่อหลวงอยากส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงผึ้ง เพราะมองว่าการมีผึ้งที่ช่วยผสมเกสรจะช่วยให้ป่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ จึงเล่าปัญหาให้จั้มพ์ฟัง จั้มพ์จึงเสนอให้สร้างแบรนด์ของชุมชนขึ้น โดยจั้มพ์จะลองช่วยหาตลาดและดูแลด้านการตลาดให้

HOSTBEEHIVE เริ่มต้นขึ้นในวันนั้น

จั้มพ์เล่าว่า ต้นทุนในวันแรกของเขาไม่ใช่เงิน แต่คือน้ำผึ้ง 5 ลิตรที่พ่อหลวงให้มา หลังได้น้ำผึ้ง เขาไปหาบรรจุภัณฑ์มาใส่ ชวนเด็กๆ ในชุมชนช่วยกันออกแบบหีบห่อ และทดลองนำไปฝากขายกับร้านคนรู้จัก ขายออนไลน์ รวมถึงออกบูทเพื่อพบปะผู้คน

HOSTBEEHIVE : ลิ้มรสเรื่องราวผืนป่าผ่านน้ำผึ้งของชุมชนปกาเกอะญอแห่งเชียงราย

HOSTBEEHIVE : ลิ้มรสเรื่องราวผืนป่าผ่านน้ำผึ้งของชุมชนปกาเกอะญอแห่งเชียงราย

แน่นอนว่าความโดดเด่นแรกที่คนสัมผัสจากน้ำผึ้งที่นี่คือ รสชาติหลากหลายซับซ้อน ซึ่งถ้าได้ฟังจั้มพ์เล่าเบื้องหลังจะยิ่งเห็นความพิเศษ เช่น น้ำผึ้งนี้มาจากผึ้งหลายสายพันธุ์ซึ่งมีพฤติกรรมและขอบเขตการบินต่างกัน (พวกบินสูงอาจได้เกสรคนละแบบกับพวกบินเรี่ยพื้น)  และเกสรที่เก็บก็มาจากผืนป่าหลากหลายแบบ จนเรียกได้ว่าน้ำผึ้งคือสมุดบันทึกเรื่องราวผืนป่าต้นกำเนิด น้ำผึ้งจากป่าเบญจพรรณจะต่างจากป่าดงดิบ และถ้าบริเวณไหนมีไฟป่า ก็อย่าแปลกใจถ้าน้ำผึ้งจากรังแถบนั้นมีกลิ่น smokey หน่อยๆ

เมื่อ HOSTBEEHIVE ถือกำเนิด จั้มพ์จึงนำรสชาติของน้ำผึ้งป่าแท้ๆ นี้มาเป็นจุดขาย มีการให้ลองชิมอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่แค่เพื่อให้คนซื้อเพราะแตกต่าง หากเขาต้องการให้น้ำผึ้งเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวชุมชนบ้านห้วยหินลาดในสู่คนกิน เพราะหนึ่งในเหตุผลหลักที่น้ำผึ้ง HOSTBEEHIVE มีรสหลากหลายขนาดนี้ ก็เพราะชาวปกาเกอะญอช่วยดูแลจัดการป่าทั้งหมดให้อุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณนานาชนิดให้เหล่าผึ้งทุกสายพันธุ์บินเก็บเกสร

เมื่อรสโดดเด่นกระตุ้นให้คนแปลกใจสงสัย พวกเขาก็จะได้ค้นพบ เข้าใจเรื่องราวการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าของชาวปกาเกอะญอแห่งห้วยหินลาดใน

“ผมมองว่าหินลาดในเป็นปกาเกอะญอที่ทำเรื่องไร่หมุนเวียน ป่าวนเกษตร คือเขาดูแลป่ามาตลอดชีวิต แต่ถูกภายนอกมองว่าชาวเขาทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย และโดนฝ่ายต่างๆ เข้ามาในพื้นที่ เช่น จะเข้ามาทำสัมปทาน ชาวบ้านดูแลป่าแล้วยังต้องมาสู้กับเรื่องพวกนี้ เราเลยต้องการเอาเรื่องพวกนี้ให้คนข้างนอก เป็นการให้ความรู้คนข้างนอก เพราะถ้าเกิดไม่มีใครรู้เลย หินลาดในไม่มีเพื่อนเลย อาจโดนอะไรต่างๆ เช่น โดนนายทุนเข้ามาก็ได้” จั้มพ์อธิบาย

นอกจากเชื่อมสัมพันธ์คนทำและคนกิน HOSTBEEHIVE ยังเป็นสินค้าที่มีโมเดลธุรกิจซึ่งช่วยให้ชุมชนอย่างยั่งยืน เพราะกำไรจากน้ำผึ้งแต่ละขวดไม่ใช่แค่กลับสู่ชาวบ้านผู้ผลิต แต่ราว 30 เปอร์เซ็นต์ยังแบ่งไปอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ‘กองทุนละลาย’ หรือกองทุนที่นำไหลไปสู่จุดประสงค์หลากหลายได้เหมือนน้ำ เช่น ทำแนวกันไฟป่า หรือเป็นค่ารักษาเมื่อชาวชุมชนเจ็บป่วย HOSTBEEHIVE จึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนได้ และจั้มพ์ยังหวังว่า การเกิดขึ้นและอยู่รอดของแบรนด์จะช่วยส่งต่อโมเดลนี้ไปสู่ชุมชนชนเผ่าต่างๆ ได้ด้วย

HOSTBEEHIVE : ลิ้มรสเรื่องราวผืนป่าผ่านน้ำผึ้งของชุมชนปกาเกอะญอแห่งเชียงราย

ยิ่งไปกว่านั้น HOSTBEEHIVE ยังถือเป็นน้ำผึ้งที่ได้มาอย่างพยายามเกื้อกูลธรรมชาติ การเลี้ยงผึ้งของที่นี่ตั้งใจเก็บน้ำผึ้งแค่ปีละ 1 ครั้ง (จริงๆ แล้วเก็บได้ 3 – 4 ครั้ง) เพื่อให้ผึ้งได้มีวงจรชีวิตตามธรรมชาติ ไม่ต้องเร่งผลิตน้ำผึ้ง ขณะเดียวกัน เวลาเก็บก็จะมีการแยกตัวอ่อนไว้ในรังใหม่ เป็นการช่วยแพร่พันธุ์เหล่าผึ้งผู้ช่วยผสมเกสรให้ป่าอุดมสมบูรณ์

“พอผมช่วยไปทำเรื่องตลาดในปีแรก คนได้ชิมแล้วเขาก็มาซื้อ กลายเป็นว่าน้ำผึ้งหมดหลังทำไปประมาณ 6 เดือน ยังไม่ถึงหน้าเก็บน้ำผึ้งอีกรอบ เราก็บอกพ่อหลวงว่าน้ำผึ้งหมด มีอีกมั้ย เพราะตอนนี้ตลาดกำลังไปได้แล้ว ต้องมีผลิตผล แต่พ่อหลวงตอบมาคำหนึ่งว่า ธรรมชาติให้เราแค่นี้ ก็ต้องทำแค่นี้แหละ หลังจากนั้นผมเข้าใจเลยว่า เราทำน้ำผึ้งเพื่อต้องการพูดเรื่องของป่า ไม่ใช่ต้องมาเร่งผลิตป้อนอุตสาหกรรม ดังนั้น น้ำผึ้งหินลาดในก็จะมีจำนวนจำกัดทุกปี ซึ่งลูกค้าก็ต้องเข้าใจ เลยเป็นที่มาที่เราโดนเรียกตลอดว่าน้ำผึ้งเอาแต่ใจ (หัวเราะ) เพราะเราไม่อาจทำป้อนโรงงานหรือส่งออกจำนวนเยอะได้” จั้มพ์เล่าถึงสิ่งที่ยึดถือในการผลิตน้ำผึ้ง ซึ่งยังหมายถึงการที่ชุมชนยังผลิตได้ภายใต้วิถีชีวิตแบบเดิมด้วย

ในน้ำหวานสีเหลืองทอง 1 ขวดจาก HOSTBEEHIVE จึงอัดแน่นด้วยเรื่องราวและโอกาสสู่สิ่งที่ดี นับจากวันแรกที่ตั้งต้นก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว และยังวางแผนบินต่อไปในหลากหลายทิศทาง เช่น อาจมีการร่วมมือนำน้ำผึ้งจากชุมชนอื่นมาขายในระยะที่น้ำผึ้งจากห้วยหินลาดในขาดตลาด โดยโปรโมตเป็น Single Origin เหมือนที่นิยมกันอยู่ในแวดวงกาแฟ

HOSTBEEHIVE : ลิ้มรสเรื่องราวผืนป่าผ่านน้ำผึ้งของชุมชนปกาเกอะญอแห่งเชียงราย

“ตอนนี้ HOSTBEEHIVE กลายเป็น impact เล็กๆ ที่เราทำให้เกิดขึ้น” จั้มพ์บอก “พอเราเอาน้ำผึ้งออกไป จากที่หินลาดในขายน้ำผึ้งไม่เคยได้ก็ขายหมดทุกปี ชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัวกลับเข้ามาร่วมกันทำเรื่องน้ำผึ้ง จากตอนแรกที่มีแค่ผม พ่อหลวง พี่ทศ เพราะชาวบ้านบอกว่ามันทำไม่ได้หรอก แล้วก็มีการขยายพันธุ์ของผึ้งมากขึ้น ทำให้ป่ามีความหลากหลายขึ้น ในส่วนของคนข้างนอก ผมรู้สึกว่าทุกวันนี้เรื่องราวของหินลาดในถูกเผยแพร่ออกไปเยอะมาก เพราะคนได้ชิมจะต้องเกิดคำถามแน่นอนว่ามันเป็นน้ำผึ้งที่ไหน แล้วพอรู้จักเรื่องของหินลาดในมากขึ้น ก็จะเกิดคำถามว่าชุมชนเป็นอย่างนั้นจริงๆ เหรอ เราก็ได้โอกาสทำเวิร์กช็อปที่หมู่บ้าน แล้วคนที่ออกมาหรือคนที่กินเองก็จะบอกต่อ ทำให้เราได้เพื่อน แล้วผมก็คิดว่าหินลาดในเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่บอกว่าคนอยู่กับป่าได้ ทุกวันนี้เราอาจมองว่าคนไปทำลายป่า แต่ที่จริงแล้ว สิ่งที่หินลาดในทำบ่งชี้ได้เลยว่า คนอยู่ร่วมกับป่าได้และจำเป็นต้องมีคนอยู่กับป่าด้วย”

ถ้าพลิกดูข้างขวดน้ำผึ้ง จะเห็นโลโก้ฝีมือเด็กๆ ในชุมชนที่ทำเป็นรูปรังผึ้งซึ่งแท้จริงมาจากรูปต้นไม้ นั่นคือตัวแทนการอยู่ร่วมกันของผู้คนกับผึ้งและผืนป่าใหญ่

คือสิ่งที่พวกเขาอยากส่งไปถึงคุณ

สินค้าแนะนำ: น้ำผึ้งโพรง น้ำผึ้งที่หากินยากในท้องตลาด (ส่วนใหญ่ที่ขายกันคือน้ำผึ้งหลวง) เป็นน้ำผึ้งที่เข้มข้น สีออกดำ เพราะผึ้งชนิดนี้หากินระดับพื้นดิน เกสรที่เก็บมาทำน้ำผึ้งจึงหลากหลายเป็นพิเศษ   
ช่องทางติดต่อ: Facebook l  HOSTBEEHIVE 
นอกจากสั่งซื้อออนไลน์ผ่านเพจ HOSTBEEHIVE ยังวางขายในหลายร้านออร์แกนิกของกรุงเทพฯ เช่น ร้านสวนชั้น 1 ‘it’s going green’ ที่ BACC และร้านสวนเงินมีมา

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล