แรกสุดผมคิดจะเริ่มต้นคอลัมน์นี้ด้วยนักวิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอ่าน แต่ นุ่น-อาจารี เกียรติเฟื่องฟู นักวิ่งคนแรกที่ได้คุยด้วยออกจะเกินความคาดหมายไปเสียหน่อย นอกจากนุ่นจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักวิ่ง นุ่นยังมีบทบาทอื่นๆ เป็นข้าราชการ เป็นเชฟ เป็นบล็อกเกอร์ เป็นนักไตรกีฬา และล่าสุดได้รับการประกาศขณะเข้าเส้นชัยด้วยประโยคคลาสสิกว่า “You’re an IRONMAN” กลายเป็น IRONMAN อย่างสมบูรณ์แบบ จากรายการ IRONMAN Asia-Pacific Championship Cairns ในระยะ Full IRONMAN ที่เมือง Cairns (แคนส์) ประเทศออสเตรเลียมาหมาดๆ

ฟูลไอรอนแมน คือระยะที่นักกีฬาที่ต้องว่ายน้ำในทะเล 3.8 กิโลเมตร ขึ้นมาปั่นจักรยานอีก 180 กิโลเมตร และลงมาวิ่งต่ออีก 42.195 กิโลเมตร หรือ 1 มาราธอน ดูจะห่างไกล (มากเกินไป) สำหรับใครหลายๆ คน ผมเองก็เช่นกัน นุ่นใช้เวลาตั้งแต่ก้าวแรกที่คิดจะจริงจังกับการวิ่ง จนถึงแตะเส้นชัยรายการที่ขึ้นชื่อว่าโหดหินสำหรับนักไตรกีฬานี้ ไม่ถึง 3 ปี ซึ่งถือว่าสั้นมาก และต้องใช้ความอดทนมากมาย แล้วความอดทนแบบไหนที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องใช้ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ผมนัดคุยกับนุ่นหลังเลิกงาน เมื่อมาถึงที่นัดผมไม่เห็นความเมื่อยล้าของนุ่นเลยแม้แต่นิดเดียว หน้าตาสดใส ไม่มีอาการเจ็บปวดจากการแข่งกว่า 15 ชั่วโมงให้เห็น ผิดกับสภาพตัวผมเองที่สะบักสะบอมจากมาราธอนที่ซ้อมไม่พอแล้วไปลงแข่งไว้ เดินโขยกเขยกร่วมอาทิตย์

คุยกับนักวิ่งสาวผู้ก้าวสู่ตำแหน่ง IRONMAN ในเวลาไม่ถึง 3 ปี

“เรากะว่าจะจบการแข่งขันนี้ในเวลา 15 ชั่วโมง ซึ่งเวลาจริงคือ 15 ชั่วโมง 30 นาที ถือว่าไม่ไกลกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก วันแข่งปล่อยตัว 7 โมงครึ่ง เริ่มจากว่ายน้ำในทะเล 3.8 กิโลเมตร ใช้เวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมง ขึ้นมาปั่นจักรยานต่ออีก 180 กิโลเมตร เส้นทางจักรยานนี่สนุก มันขึ้นลงเขาตลอดเวลา ไม่ได้เป็นทางราบไปเสียหมด แบบนั้นทำเวลาได้จริงแต่มันน่าเบื่อกว่า วิวข้างทางที่เป็นทะเลก็สวยมาก เพลินกับวิวทะเลจนผ่านไปร้อยกว่ากิโลเมตร เริ่มรู้สึกอยากหลุดไปจากทะเลแล้ว อยากเข้าเมืองบ้างแล้ว (หัวเราะ)

“ช่วงก่อนเข้าเมือง 30 กิโลเมตรเป็นช่วงที่ต้องปั่นสวนทางกับลม เรารู้สึกเหมือนปั่นเร็วมาก แต่ดูความเร็วบนเครื่องวัดปรากฏว่าช้ากว่าปกติอีก ก่อนแข่งโค้ชบอกว่า ช่วงปั่นก่อนหน้านั้นให้เก็บแรงไว้ ค่อยๆ ปั่น เพราะของจริงอยู่ที่ 30 กิโลเมตรสุดท้ายซึ่งก็เป็นตามนั้นจริงๆ พอปั่นจักรยานเสร็จก็เปลี่ยนเป็นมาวิ่ง เริ่มลงมาวิ่งก็ตอนเย็นแล้ว เส้นทางวิ่งเป็นเส้นทางในเมือง แต่ก็ยังมีเส้นทางริมทะเลยาวไปเรื่อยๆ เลยสนุกมาก มีคนคอยเชียร์ตลอดเส้นทาง เจอเพื่อนมาคอยเชียร์ก็ดีใจ จะมีบางช่วงที่ไม่มีคนและมืดๆ ที่จะเริ่มรู้สึกกลัวบ้าง กว่าจะเข้าเส้นชัยก็ 5ทุ่ม” นุ่นเล่าประสบการณ์การแข่งขันที่เพิ่งผ่านมาให้ฟัง

ผมนั่งฟังนุ่นแบบคิดตามไปด้วยว่าถ้าหากเป็นตัวเองจะทำได้บ้างไหม ฟังจากที่นุ่นเล่าก็รู้สึกทั้งยากแต่ก็ไม่ได้ลำบากไปเสียหมด สิ่งที่แทรกอยู่ระหว่างเรื่องเล่าก็คือความสนุกกับการแข่งของนุ่นนั่นเอง สำหรับคนที่นั่งฟังแต่ยังไม่ได้เคยลองไปแข่งโหดๆ แบบนั้นเลยนึกแปลกใจเหมือนกัน นอกจากความสนุก อะไรอีกที่ทำให้ผ่านความโหดมาไ้ด้

“ไอรอนแมน คือการบริหารพลัง ทำเรื่องซ้ำๆ เหมือนที่ซ้อมมาร้อยครั้งพันครั้ง เราซ้อมมายังไงก็ได้อย่างนั้นจริงๆ ตอนซ้อมเหนื่อยมาก แต่พอแข่งจริงไม่ใช่ความรู้สึกเหนื่อย มันเป็นความรู้สึกสนุก สนุกกับเส้นทาง

“จะต้องไม่คิดไปข้างหน้าว่าจะต้องทำอะไรต่อ ว่ายน้ำเสร็จต้องขึ้นมาปั่นจักรยานอีก แล้วยังต้องลงมาวิ่งต่ออีก มันบั่นทอนกำลังใจตัวเองเกินไป สิ่งเดียวที่คิดไปข้างหน้าได้คือภาพตัวเองเข้าเส้นชัย” นุ่นตอบ

ผมสัมผัสความสนุกของนุ่นจากทั้งการซ้อมและการแข่งได้จริงๆ ในขณะเดียวกันก็มองเห็นความตั้งใจและมีวินัยในการซ้อม นั่นทำให้รู้สึกได้ว่าการจบไอรอนแมนครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องทรมานเลยสำหรับนุ่น ความคิดและจิตใจขณะแข่งเป็นส่วนสำคัญ

คุยกับนักวิ่งสาวผู้ก้าวสู่ตำแหน่ง IRONMAN ในเวลาไม่ถึง 3 ปี คุยกับนักวิ่งสาวผู้ก้าวสู่ตำแหน่ง IRONMAN ในเวลาไม่ถึง 3 ปี

นุ่นเล่าว่า เอาเข้าจริงตอนสมัครยังไม่มั่นใจเลยว่าจะผ่านมันได้ แต่สมัครแล้วยังไงก็ต้องทำให้ได้ ต้องสัญญากับตัวเองว่าต้องซ้อมอย่างจริงจังและมีวินัย มีโค้ชที่คอยให้โปรแกรมฝึกทุกสัปดาห์ ความสำคัญของโค้ชคือใช้ประสบการณ์ที่มีมาคอยควบคุมการซ้อมของเราให้ไปถูกทาง โปรแกรมฝึกที่ถูกวางแผนมาอย่างดีจะช่วยพัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย ต้องซ้อมว่ายน้ำไม่รู้กี่รอบ ปั่นจักรยานเทรนเนอร์ 4 – 6 ชั่วโมงเป็นร้อยกิโลเมตร แต่ที่สำคัญกว่าคือโค้ชจะช่วยสร้างความแข็งแรงของจิตใจควบคู่ไปด้วย

ผมมองว่าช่วงที่ยากกว่าการแข่งขันคือช่วงเวลาของการซ้อมนี่แหละ นุ่นเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน แถมยังเฉพาะเจาะจงลงไปอีกว่า ช่วงการซ้อมที่ยากที่สุดคือช่วงแรกสุด เป็นช่วงปรับพื้นฐานร่างกาย ร่างกายมันยังไม่ชินและรู้สึกเหนื่อยมาก แต่พอร่างกายเริ่มดีขึ้น มันจะรู้สึกสนุกต่อเนื่องไปเองโดยอัตโนมัติ นุ่นบอกว่าอย่างแรกต้องสนุกกับการซ้อมให้ได้ก่อน ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามรู้สึกว่าจะมาซ้อมให้เหนื่อยทำไม หรือไม่สนุกกับการซ้อมก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องไปลงแข่งแล้ว

การซ้อมเพื่อที่จะไปแข่งขันไอรอนแมนต้องใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 3 เดือน นุ่นใช้เวลาซ้อม 6 เดือน ซึ่งไม่ว่าจะมีระยะเวลาที่ซ้อมเท่าไหร่ก็ตาม ต้องจริงจังกับการซ้อมอย่างที่สุด ผมคิดว่าคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาอะไรก็ตามคือวินัย ผมถามนุ่นว่าต้องยอมตัดอะไรออกไปจากชีวิตประจำวันบ้างในช่วงที่ต้องซ้อมอย่างหนัก

นุ่นบอกว่า ก่อนหน้านี้เป็นคนที่ชอบไปกินข้าว ไปสังสรรค์ กับเพื่อน พอต้องมาซ้อมก็เลยต้องลดชีวิตส่วนนั้นลงไป กีฬาชนิดนี้ต้องอาศัยความเข้าใจจากคนรอบข้างสูงมาก เพื่อนหรือครอบครัวต้องเข้าใจเรา บางทีก็หายไปซ้อมเป็นวันถ้าใครไม่เข้าใจก็อาจจะโกรธกันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ตอนที่ยังไม่ได้เริ่มเล่นไตรกีฬา นุ่นก็บอกว่าไม่เข้าใจเพื่อนที่เล่นอยู่แล้วเหมือนกัน ทำไมนัดแล้วไม่ค่อยมา ต้องเข้มงวดอะไรกับการซ้อมขนาดนั้น พอซ้อมเองเลยเข้าใจ

คุยกับนักวิ่งสาวผู้ก้าวสู่ตำแหน่ง IRONMAN ในเวลาไม่ถึง 3 ปี

“ถ้าจำเป็นต้องเจอก็อาจจะปรับเปลี่ยนเวลาซ้อม ตื่นเช้าขึ้นมาว่ายน้ำ เพื่อจะไปเจอเพื่อนๆ ตอนเย็นได้ แต่มันก็จะมีผลทำให้วันต่อๆ ไปร่างกายอ่อนเพลียมากขึ้น หลังๆ นุ่นเลยไม่ค่อยได้เจอเพื่อนสักเท่าไหร่ พอแข่งจบเลยต้องมานัดเจอเพื่อนทีละกลุ่มเป็นการชดเชย” นุ่นทิ้งท้ายด้วยการหัวเราะ

เมื่อมองย้อนไปวันที่เริ่มต้นวิ่งวันแรกซึ่งเพื่อนชวนไปวิ่งที่สวนลุมพินี นุ่นบอกว่า วิ่งให้ครบรอบยังยากเลย แล้วก็คาใจว่าทำไมตัวเองถึงวิ่งไม่ได้ เลยไปวิ่งเองในวันถัดมา พยายามซ้อมวิ่งเองให้สม่ำเสมอจนเริ่มวิ่งได้ระยะที่ไกลมากขึ้น วิ่งเองแบบผิดๆ ถูกๆ จนไปบังเอิญเจอกับกลุ่มที่กำลังสอนวิ่งกันในสวนลุมพินี เมื่อไปยืนฟังก็รู้สึกสนใจจนมารู้จักว่ากลุ่มนั้นคือการสอนวิ่งของ ครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งทีมชาติที่สอนพื้นฐานการวิ่งที่ถูกต้องให้กับนักวิ่งมาหลายต่อหลายคนแล้ว เลยสมัครเข้าค่ายเรียนวิ่งกับครูดินแบบไม่ลังเล การวิ่งอย่างถูกวิธีกับความตั้งใจที่อยากรู้อะไรก็จะรู้ไปให้สุดทางของนุ่นทำให้นุ่นก้าวกระโดดจากมินิมาราธอนไปสู่ฮาล์ฟมาราธอน และก้าวเข้าสู่วงการไตรกีฬาอย่างรวดเร็วภายในเวลา1 ปี

นุ่นเริ่มหลงรักไตรกีฬาจากการแข่งขันไตรกีฬาครั้งแรกที่รายการ Bangkok Triathlon เมื่อรู้สึกเริ่มสนุกกับไตรกีฬาเลยลงแข่งต่ออีกหลายรายการ แต่ตอนแรกยังเป็นการแข่งขันแบบระยะสั้นๆ ใช้ความเร็ว จนเริ่มลงระยะมาตรฐานที่จะเพิ่มระยะมากขึ้นจากเดิม และได้พบว่าตัวเองชอบมากกว่าการที่ต้องใช้ความเร็วแข่งกับเวลา รู้สึกดีกับการคุมความเร็วที่ไม่เร่งตัวเองมาก ใช้ความอดทนของร่างกายไปเรื่อยๆ มากกว่า ทำให้ความคิดเรื่องการแข่งขันไอรอนแมนเริ่มถูกฝังลงในใจ

ระหว่างการซ้อมไตรกีฬา นุ่นเริ่มลงวิ่งมาราธอน ครั้งแรกคือที่โฮโนลูลูที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา เกิดจากการที่เดินไปเจอว่าจะมีงานมาราธอนในวันพรุ่งนี้ก็เลยลงสมัครทันทีและลงวิ่งมาราธอนแรกของตัวเองในวันรุ่งขึ้น นั่นไม่น่าตกใจเท่าอีกเดือนถัดมานุ่นลงแข่งมาราธอนที่สองในชีวิตทันทีที่จอมบึงมาราธอน จังหวัดราชบุรี ตามมาด้วยมาราธอนที่สามในรายการโตเกียวมาราธอนในเวลา 2 เดือนให้หลัง ผมค่อนข้างตกใจ และคิดว่านุ่นเป็นคนที่อยากลองอะไรก็ลงมือทำทันที แต่ก็ยังรู้สึกว่าใช้ร่างกายได้โหดทีเดียว นุ่นบอกว่าตอนนั้นร่างกายมีความพร้อมมากการ ซ้อมไตรกีฬาช่วยทำให้ความอดทนของกล้ามเนื้อและร่างกายทั้งหมดเพิ่มขึ้นมาก การแข่งขันอะไรก็ตาม ถ้าคนแข่งมีพื้นฐานร่างกายที่พร้อม มีช่วงเวลาซ้อมที่เพียงพอ และซ้อมอย่างจริงจัง ใครก็สามารถจบการแข่งขันนั้นได้

คุยกับนักวิ่งสาวผู้ก้าวสู่ตำแหน่ง IRONMAN ในเวลาไม่ถึง 3 ปี

คุยกับนักวิ่งสาวผู้ก้าวสู่ตำแหน่ง IRONMAN ในเวลาไม่ถึง 3 ปี

ความท้าทายตัวเองของนุ่นในการแข่งแต่ละครั้งคือเป้าหมาย นุ่นอยากลองขยับเป้าหมายตัวเองขึ้นทีละนิดจากการแข่งขันคราวก่อน นั่นเป็นการตอบสิ่งที่ผมสงสัยว่าอะไรทำให้อยากขยับตัวเองไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ

เป้าหมายต่อไปของนุ่นคืออยากจะไป Kona Triathlon หรือ IRONMAN World Championship จัดแข่งทุกปีที่ ฮาวาย สหรัฐอเมริกา สุดยอดสนามแข่งไตรกีฬาที่นักแข่งไตรกีฬาอยากจะลองไปสักครั้งในชีวิต แต่การคัดเลือกที่จะได้เข้าร่วมนั้นยากแบบสุดหิน คือจะต้องผ่าน IRONMAN อย่างน้อย 12 ครั้งถึงจะมีสิทธิ์ได้เข้าร่วม นุ่นบอกว่าเพิ่งผ่านมาได้ครั้งเดียว ตอนนี้กลับมารู้สึกว่ายากที่จะไปถึงในตอนนี้ เหมือนตอนที่เคยรู้สึกว่าวิ่งหนึ่งรอบสวนลุมฯ รอบเดียวมันเป็นไปได้ยาก ลงแข่งไตรกีฬาเป็นเรื่องไกลตัว และการแข่ง IRONMAN เป็นไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็มีเป้าหมายให้เห็นอยู่ไกลๆ แล้ว ที่ผ่านมาก็ทำสิ่งเหล่านั้นให้เป็นจริงมาได้หมด ถ้าทำสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้อีก มันก็เจ๋งดีไม่ใช่หรือ

Writer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล