16 มิถุนายน 2017
34 K

เวลาที่เรานึกถึงเรื่องราวในอดีต หลายครั้งเราก็เห็นต้นไม้ต้นนั้นต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนั้นด้วย บางทีก็เด่นชัดทั้งชนิด รูปทรง ตำแหน่งที่ปลูก กลิ่น สี หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณนั้น เลยไปถึงภาพความผูกพันระหว่างเรากับต้นไม้ในวัยเด็ก

บางครั้งกลิ่นดอกการเวกก็พาเรากลับไปบ้านคุณย่า เห็นภาพคุณย่านั่งตำหมากอยู่บนตั่งตัวใหญ่ กลัดกรวยใบตองหลวมๆ ใส่ดอกการเวกหอมๆ แจกหลานๆ ดอกกระจุ๋มกระจิ๋มของโฮย่าก็พาให้นึกถึงคุณย่าอีกเช่นกัน นึกถึงวันที่เราเล่นเอาดอกอ้อยควั่น (ตอนนั้นเราเรียกกันเช่นนั้น) เสียบเป็นตุ้มหูให้คุณย่า ต้นมะม่วงโบราณริมลำประโดง ต้นลิ้นจี่หลังบ้าน ต้นโกสนริมคลอง ล้วนมีเรื่องราว มีตัวละคร ให้นึกถึง จากวัยเด็กจนปัจจุบัน ความทรงจำของผมเต็มไปด้วยต้นไม้ แต่ละต้นล้วนมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับบุคคลที่เดินเข้ามาในเส้นทางชีวิต

อาจเป็นเพราะโชคชะตาหรือชีวิตที่เติบโตมากับต้นไม้ ทำให้วันหนึ่งต้องกลายมาเป็นนักจัดสวนที่มีต้นไม้กลายเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของชีวิต เมื่อได้รับเกียรติจาก The Cloud ให้มาเล่าเรื่องต้นไม้ และถูกตั้งคำถามว่า พี่วิทย์อยากเล่าเรื่องไหนก่อน ผมจึงตอบไปว่า “ปลูกต้นไม้ในห้องทำงาน” เพราะผมกำลังสนุกกับการเล่นปลูกต้นไม้ในบ้าน ในห้องนอน ในห้องทำงาน และได้ทดลองกับห้องต่างๆ ของตนเองมาระยะหนึ่ง

ต้นไม้ โต๊ะทำงาน
ห้องทำงาน

สำหรับผม บ้านที่ไม่มีต้นไม้คือบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ เป็นบ้านที่ไม่มีชีวิต และก็รู้สึกเช่นนั้นกับห้องต่างๆ ภายในบ้าน รวมทั้งห้องทำงาน ต้นไม้ในบ้านช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของวัสดุต่างๆ ในห้อง และช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้ห้องของเรา เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมอยากพูดถึงต้นไม้ในที่ทำงานหรือในห้องทำงาน เพราะผมรู้สึกว่า บรรยากาศในห้องทำงานบางครั้งก็เต็มไปด้วยความเร่งรีบและเคร่งเครียด ต้นไม้น่าจะมีส่วนลดบรรยากาศเเบบนั้นลง อีกนัยหนึ่งก็อาจช่วยบำบัดอาการเครียดอันเกิดจากการทำงานได้ และการสร้างบรรยากาศอันรื่นรมย์ให้เกิดขึ้นด้วยสีเขียวๆ ของต้นไม้ น่าจะช่วยส่งผลกับความคิดสร้างสรรค์และประสิทธิภาพในการทำงาน

ทีนี้เราคงต้องมาพูดกันเรื่องการเลือกต้นไม้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและมีหลายองค์ประกอบที่ต้องคำนึงถึง ชนิดของต้นไม้ ขนาด รูปทรง ภาชนะที่ใช้ เลยไปถึงการเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้แต่ละต้น เพื่อให้การปลูกต้นไม้ของเราไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และเป็นภาระในเวลาต่อมา ต้นไม้แต่ละต้นมีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน บางต้นก็เป็นต้นไม้เท่ๆ บางต้นก็อ่อนหวาน บางต้นก็ดูแมนๆ บางต้นก็ให้อารมณ์ไทยๆ ฉะนั้น การเลือกชนิดของต้นไม้จึงมีความสำคัญพอๆ กับการเลือกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งห้องให้ลงตัวกับสไตล์ที่เลือก

ต้นไม้มีให้เลือกหลากหลายชนิด ขนาด รูปทรง และสีสัน รวมทั้งภาชนะที่ใส่ เราต้องพิถีพิถันกับทุกรายละเอียดเพื่อให้เข้ากับห้องและเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับการออกแบบไว้อย่างดีแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างระหว่างการเลือกต้นไม้กับการเลือกเฟอร์นิเจอร์คือ ต้นไม้ต้องการความเข้าใจ เราต้องเรียนรู้ ทำความรู้จักต้นไม้ของเราให้ดี และเมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของเขา ต้นไม้ก็จะเติบโต สวยงาม และให้ความรู้สึกดีๆ กับเรา

ต้นไม้ต้นหนึ่งที่ผมอยากพูดถึงคือ Fiddle-leaf Fig หรือที่คนไทยเรียก ไทรใบซอ ไทรใบยอ หรือ ไทยใบสัก เป็นพืชตระกูล Ficus (ไทร) เป็นต้นไม้เท่ๆ ที่เหมาะกับการนำมาจัดวางในห้องทำงาน ไทรใบซอดูแลไม่ยาก ไม่ต้องการแสงแดดจัด มีใบใหญ่สวยงาม ทำความสะอาดง่าย (ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดฝุ่นออกเพื่อให้ใบรับแสงแดดได้เต็มที่) บวกกับคุณสมบัติเรื่องการดูดสารพิษ จึงเป็นต้นไม้ต้นหนึ่งที่คนเลือกหามาไว้ในบ้านหรือในที่ทำงาน

วิธีปลูก เราเลือกรองก้นกระถางด้วยหินภูเขาไฟหรืออิฐมอญทุบ หนาประมาณ 1 – 2 นิ้ว ซึ่งจะช่วยไม่ให้รากจมน้ำอยู่ตลอดเวลา หากไม่ทำเช่นนั้นเมื่อรดน้ำและเกิดน้ำขังในจานรองกระถางรากจะเน่าและส่งกลิ่นเหม็น และในระยะยาวดินจะแน่น อุดรูกระถาง น้ำไม่ระบายออก ดินจะแฉะเกิน

ห้องทำงาน
ห้องทำงาน

ต้นไม้อีกต้นที่ผมอยากแนะนำคือ ต้นยางอินเดีย หรือ Indian Rubber มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เป็นพืชตระกูล Ficus เช่นเดียวกับต้นไทรใบซอ ต้นยางอินเดียเป็นต้นไม้เลี้ยงง่าย โตเร็ว เป็นพืชที่คนนิยมนำมาใช้ตกแต่งภายในห้อง ภายในอาคาร เพราะไม่ต้องการแสงแดดมากนัก ใบหนาสีเข้มเป็นเงา และที่สำคัญ ได้รับการจัดลำดับว่าเป็นไม้ที่ช่วยทำความสะอาดอากาศในห้องได้ในระดับต้นๆ ยางอินเดียที่นิยมนำมาปลูกในบ้านหรือในอาคารมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันในเรื่องสีใบ บางต้นมีใบสีเขียวเข้มจนเกือบดำ บางต้นสีออกเเดงๆ บางต้นก็เป็นพันธ์ุด่าง มีทั้งด่างแดง ด่างเหลือง ด่างขาว

วิธีการดูแลต้นยางอินเดีย ยางอินเดียชอบน้ำ แต่ไม่ชอบแฉะ รดน้ำปริมาณมากและรอจนกว่าดินจะเริ่มแห้ง แล้วค่อยรดน้ำในครั้งต่อไป ระวังอย่าให้น้ำขัง คอยเทน้ำในจานรองทิ้งหลังรดน้ำ ดินที่เลือกใช้ควรเป็นดินร่วนซุย เพื่อช่วยให้ระบายน้ำได้ดี

ถึงแม้ต้นไทรใบซอและต้นยางอินเดียจะไม่ต้องการแสงแดดจัด ชอบชื้นแต่ไม่แฉะ แต่ธรรมชาติของต้นไม้ทุกต้นต้องการแสงธรรมชาติ เราไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่เป็นความเข้าใจธรรมชาติที่ต้องเรียนรู้ ปริมาณน้ำ ปริมาณแสงแดดที่ต้นไม้แต่ละต้นต้องการไม่มีสูตรตายตัว เพราะมีตัวแปรมากมายที่ทำให้ต้นไม้ของเราไม่เหมือนต้นไม้ของบ้านอื่น การเลือกวางต้นไม้ในส่วนที่ห้องได้รับแสงแดดที่ส่องเข้ามาจากช่องหน้าต่างหรือหลังคา การมีมุมเนอร์สเซอรี่เล็กๆ ไว้ฟื้นฟู และสลับสับเปลี่ยนต้นไม้มาจัดวางในบ้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งหากห้องทำงานของเราได้รับแสงน้อยเกินไป

ต้นไม้อื่นๆ ที่เราปลูกเลี้ยงเป็นไม้กระถางในห้องทำงานได้อีก คือลิ้นมังกร แคคตัส ฟิโลเดนดรอน สาวน้อยประแป้ง สับปะรดสี หรือไม้รากอากาศอย่างทิลแลนด์เซีย การเลือกใช้ต้นไม้แต่ละต้น เราควรคำนึงถึงคาแรกเตอร์ของต้นไม้ที่เลือก ที่เข้ากับสไตล์ของห้องทำงานของเรา

การให้เวลาทำความเข้าใจธรรมชาติของพวกเขาจะช่วยให้เราละเอียดลออกับชีวิตเล็กๆ ที่มอบแต่สิ่งดีๆ ให้เราเสมอ

 

Writer & Photographer

Avatar

ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง

ปัจจุบันเป็นนักจัดสวน ในนาม little tree landscape เกิดและเติบโตมาในบ้านสวนริมน้ำท่าจีนมีพ่อเป็นนักสะสมต้นไม้ และมีแม่ชอบปลูกดอกไม้ ชีวิตจึงมีต้นทุนเรื่องต้นไม้มาแต่เด็ก สิบกว่าปีก่อนได้กลายเป็นนักจัดสวนโดยบังเอิญ และเป็นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน เพราะได้ค้นพบแล้วว่างานจัดสวนให้โอกาสเราได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก และเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข