ICONCRAFT X The Cloud

แนวคิดเบื้องหลัง Lively Ware แบรนด์เซรามิกและภาชนะเซรามิกแฮนด์เมดของไทยที่ชนะใจลูกค้าทั่วเอเชีย

เทคนิคและลวดลายที่ไม่เหมือนใคร ราคาที่จับต้องได้ และสามารถนำไปใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน จึงทำให้เครื่องกระเบื้องลายครามร่วมสมัยครองใจคนมากมายหลากหลายวัย ไปจนถึงหลากหลายสัญชาติทั่วเอเชีย 

01

ปั้นดินเป็นดาวกระเบื้องเคลือบ

ย้อนกลับไปเมื่อ 20,000 ปีก่อน ในยุคที่เครื่องปั้นดินเผาก่อกำเนิดขึ้น ชาวจีนเรียนรู้การนำดินมาขึ้นรูปและนำไปเผาด้วยความร้อน จนกลายเป็นภาชนะเซรามิกสีขาวใสที่เรียกว่า Porcelaine เป็นครั้งแรก และตบแต่งเขียนลายด้วยแร่สีน้ำเงินสวยงาม ที่เรียกว่า Cobalt Oxide ซึ่งอยู่ตามภูเขาในจีนและยุโรปบางประเทศเท่านั้น

คุณลักษณะที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนสมัยนั้น ใช้ตักน้ำก็ง่าย ใส่อาหารหรือข้าวของก็ได้ รวมกับลวดลายที่ถูกวาดขึ้นอย่างวิจิตร ทำให้เครื่องกระเบื้องราคาสูงลิบนี้เป็นที่ต้องการของทุกคน ตั้งแต่ชาวจีนเอง แพร่หลายไปทั่วเอเชียและยุโรป ในราชอาณาจักรสยามเองก็นิยมนำเข้ามาใช้อย่างล้นหลาม โดยเรียกเครื่องกระเบื้องเคลือบเหล่านี้ว่า ‘เครื่องกังไส’ หรือ ‘เครื่องลายคราม’ 

ความหลงใหลและความต้องการมีเซรามิกเป็นของตัวเอง ทำให้หลายประเทศคิดค้นวิธีการทำเซรามิกของตัวเองได้สำเร็จ สยามเองก็รับอิทธิพลมาสร้างเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์ ต่อมาราคาของเครื่องลายครามจากจีนจึงต่ำลง ยิ่งเวลาผ่านไป เครื่องกังไสแสนสวยที่เคยเป็นที่ต้องการจากคนทั่วทุกสารทิศกลับกลายเป็นเซรามิกที่ถูกลืมอยู่ในตู้

กิตต์และเพ้นต์มองเห็นความสำคัญและความพิเศษของเซรามิกที่ถูกลืม หยิบมาพลิกโฉมใหม่จนกลายเป็นแบรนด์ Lively Ware แบรนด์เซรามิกที่ปลุกยุคชีวิตชีวาของเครื่องลายครามขึ้นมาอีกครั้ง

02

ภาชนะที่มีชีวิต

กิตต์เป็นอดีตนักเรียนจิตกรรมที่จับพลัดจับผลูมาเรียนรู้และเป็นคุณครูสอนเซรามิกจำเป็น เขาฝึกฝนการทำเครื่องปั้นจนเชี่ยวชาญ และเปิดโรงเรียนสอนศิลปะชื่อ ‘A CHAIR’ ที่นนทบุรีอยู่ร่วมสิบปี เขาใช้โอกาสนั้นฝึกฝนทดลองทำเซรามิกแบบต่างๆ จนอยู่มือ ก่อนเขาและเพ้นต์จะทดลองขายในตลาดนัด Little Tree Market และกลายเป็น Lively Ware แบรนด์เซรามิกลายครามที่ครองใจคนทั่วเอเชียอย่างในทุกวันนี้

“มันอาจจะเบี้ยวก็ได้ แต่มันคือวิธีของเราที่แสดงให้เห็นรสชาติของงานมือ”

Lively Ware

ชายหนุ่มอธิบายว่า งานเซรามิกทุกชิ้นของแบรนด์ไม่ได้เพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่งานทุกชิ้นของพวกเขามีชีวิตชีวาเหมือนกับชื่อ Lively Ware นี่แหละ กิตต์และเพ้นต์เชื่อในฝีมือของมนุษย์ และเชื่อว่ารสชาติของมือย่อมอร่อยกว่ารสชาติของเครื่องจักรเสมอ

แม้งานเซรามิกส่วนใหญ่ทุกวันนี้เป็นงานคราฟต์ งานแฮนด์เมด ทั้งหมด แต่ถูกทำให้เนี้ยบเหมือนกับงานที่ผลิตจากโรงงาน เสน่ห์ของงานทำมือที่มนุษย์ทำขึ้นมาหายไป แถมหลายที่ยังใช้เทคนิควาดสีบนเคลือบที่อาจทำให้โลหะหนักปนเปื้อนอาหารได้อีกต่างหาก พวกเขาจึงเลือกใช้เทคนิควาดสีก่อนแล้วเผาเคลือบทีหลัง แม้จะทำยากและใช้เวลานานกว่า แต่ปลอดภัยกับผู้ใช้มากกว่า

“ถึงแม้เวลาจะผ่านไปเป็นสิบปี เป็นร้อยปี สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป บางอย่างย่อยสลาย บางอย่างเสื่อมสภาพ แต่สิ่งที่ยังอยู่และคงสภาพไว้ได้อย่างดีหนึ่งในนั้นก็คือ ‘เซรามิก’ เหมือนกับประวัติศาสตร์เก่าๆ ที่เราเห็น โบราณวัตถุที่หลงเหลือมาให้เราชมและเรียนรู้ในปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นเครื่องปั้นดินเผานี่แหละ”

เจ้าของแบรนด์อธิบายเหตุผลที่ทำให้เขาหลงใหลเซรามิก 

“เราอยากจะทำของบางอย่างที่คนจะสามารถใช้แล้วเก็บไปได้ยาวๆ เพราะเซรามิกมันอยู่กับเราได้นานมาก อาจจะนานกว่าชีวิตเราด้วยซ้ำ เป็นทรัพยากรที่คุ้มค่า”

เขาจึงมุ่งมั่นตั้งใจจะสร้างงานเซรามิกที่ใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ทนทาน ใช้ได้ตั้งแต่รุ่นลูกยันรุ่นหลานรุ่นเหลน ผสานกับสีขาวและสีคราม กิตต์และเพ้นต์วาดลวดลายอ่อนหวานงดงามบนของใช้ทั้งหมดด้วยตัวเอง เซรามิกของแบรนด์ที่มีชีวิตชีวานี้จึงมีเอกลักษณ์ แค่เห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นแบรนด์อะไร

03

ตอบสนองตนเอง และตอบสนองคนอื่น

“เราอยากใช้อะไร เราก็ทำของนั้น ตัวเราเองชอบเครื่องเขียน แล้วก็อยากทำอะไรที่เป็นเซรามิก ก็เลยปั้นปากกา ปั้นพู่กัน มาใช้เอง การขายเป็นเรื่องรอง พอทำขึ้นมา โพสต์ไปแล้วมีคนชอบ เขาอยากได้บ้างก็มาซื้อ”

Lively Ware เริ่มต้นสร้างชิ้นงานจากความชอบและความสนุก ซึ่งได้ผลงานที่สมใจตัวเองและสมใจคนอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่ถ้วย ชาม แก้ว หรือจานรองแก้ว เครื่องใช้ง่ายๆ ที่เราใช้กันทุกวัน พวกเขาพยายามฉีกกรอบของถ้วยชามทั่วไป คิดค้นและทดลองปั้น โดยเน้นจากการใช้งานที่ทั้งใช้ได้จริงและใช้ได้ดี โดยไม่ยึดติดกับภาพถ้วยชามในอุดมคติของคนทั่วไป

Lively Ware

สินค้ายอดนิยมของ Lively Ware คือ ‘ปิ่นโต’ ไอเทมสามัญประจำบ้านที่มีตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า กิตต์มองเห็นเสน่ห์ในความเชยและประโยชน์ในการลดใช้ภาชนะพลาสติก กิตต์และเพ้นต์จึงออกแบบปิ่นโตร่วมสมัยจากเซรามิกและไม้สัก เติมลวดลายให้ร่วมสมัยจนเป็นสิ่งครองใจของคนมากหน้าหลายตาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จะใส่กับข้าวไปกินที่ทำงาน ไปปิกนิก หรือใส่ของอร่อยไปวัดก็ดี! ตอนนี้สองนักออกแบบเซรามิกวาดปิ่นโตไปแล้วกว่า 600 เถา


Lively Ware

นอกจากของใช้ในครัว Lively Ware ยังมีเครื่องประดับเซรามิกอย่างกระดุมและตุ้มหูลวดลายน่ารักเข้าคู่กับเสื้อผ้าได้อย่างดี

“กระดุมนี่ตอนทำมาแรกๆ คนก็คัดค้านเยอะนะ ถามว่าจะเอาไปใช้ได้จริงเหรอ มันจะแตกไหม ซึ่งก็ไม่แตกนะ เราก็ทำมาใช้เอง”

ไม่เพียงแค่คิดค้นสินค้าจากความชอบ แต่ทั้งคู่ยังคิดค้นจากปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ที่รองสบู่ขาตั้งสูงกันสบู่ละลายไปกับน้ำ หรือ ‘แอนท์แพด’ สินค้าสุดฮิตอีกอย่างของพวกเขาที่ปั้นขึ้นมาจากปัญหามดบุกขโมยอาหาร แท่นวงกลมลายครามนี้ทาน้ำมันลื่นๆ ไว้ข้างใน ต่อให้วางขนมนมเนยไว้นานแค่ไหน  รับรองว่ามดก็ไต่ขึ้นไม่สำเร็จ 

ความดีงามของเซรามิกสีขาวฟ้านี้ไม่เพียงแต่ใช้งานได้จริงและลวดลายสวยงาม Lively Ware ตั้งราคาของให้จับต้องได้ ไม่แพงจนเกินไป เพราะว่าต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงงานแฮนด์เมด และใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ดีได้

04

ทลายกรอบเซรามิก

“ตอนนี้เรามองหาอะไรที่คนบอกว่าเอามาทำเป็นเซรามิกไม่ได้ เราก็จะพยายามเอามาทำให้ดู”

ภาพจำของคนส่วนใหญ่คือจาน ชาม ถ้วย หรือแก้ว รูปทรงต่างๆ แต่นั่นไม่ใช่ภาพที่พวกเขาสองคนมองเห็น

“มีคนเคยบอกเราว่าให้ไปไหว้ศาลที่หลังไอคอนสยาม เขาไปไหว้แล้วของขายดีมาก รับรองว่าโคตรเฮง คือเราก็ไปไหว้มาแล้วล่ะ (หัวเราะ) แต่เราว่าต้องไม่หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ใช่แค่ปิ่นโตขายดีแล้วก็พอ เราต้องพัฒนานวัตกรรมให้ดีขึ้นสิ อย่าทำแต่อะไรเดิมๆ 

“จริงๆ ยังมีอะไรที่เราอยากทำอีกเยอะมาก แต่ยังทำไม่เสร็จ เราเคยพยายามจะทำเมาส์คอมพิวเตอร์ ทำสวิตช์ไฟโบราณ ทำรางปลั๊กสามตาด้วย”

พูดแล้วกิตติ์ก็เดินไปอุ้มเซรามิกที่ทำเป็นตู้หมุนไข่น่ารักที่ใช้งานได้จริงมาให้ดู งานทดลองหลากหลายของเขาประยุกต์ความประณีตของงานทำมือ กับเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่เข้าด้วยกัน

Lively Ware

“มีงานที่เราต้องซื้อเครื่อง CNC เป็นเครื่องเจาะราคาหลายหมื่นมาเจาะตัวอักษรบนโล่รางวัลเซรามิก ซึ่งไม่มีใครเขาทำกันหรอก เราจะเพนต์เอาก็ได้ เครื่องนี้ราคาแพงกว่าค่าตอบแทนที่เราได้ด้วยซ้ำ แต่เราโอเคนะ อยากทำ เพราะมันเอาไปประยุกต์ใช้กับงานในอนาคตได้อีกเยอะเลย”

05

We’re Lively

“มีคนแนะนำเราให้ไปโรงงานหนึ่งที่กระทุ่มแบน โรงงานนี้เคยเป็นโรงงานที่รุ่งเรืองมากๆ เลยนะ ทำเซรามิกได้เนี้ยบมาก สวยมาก แต่กลับซบเซาลงเพราะไม่มีดีไซน์ เราเลยไปรื้อของในสต๊อกเก่าโรงงานมาวาดขาย ถูกใจอันไหนก็วาด หมดไปกว่าครึ่งโรงงานแล้ว” 

ด้วยความสนุกที่จะไม่หยุดสร้างอะไรใหม่ๆ พวกเขาไม่เพียงแต่ปั้นงานเองเพื่อผลิตสินค้าเพื่อให้มีรายได้แก่แบรนด์ตัวเองเท่านั้น แต่ไปหยิบจับสินค้าเก่าๆ ของโรงงานเซรามิกเก่าแก่ เพื่อนำมาสร้างคุณค่า กระจายรายได้ให้แก่ผู้คนในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกด้วย 

Lively Ware แบรนด์เซรามิกที่เปลี่ยนเครื่องลายครามเป็นถ้วยโถโอชามร่วมสมัย

“ลุงๆ ป้าๆ อีกหลายคนในโรงงานใช้เวลาอยู่กับการปั้นเซรามิกพวกนี้มากว่าครึ่งชีวิตแล้ว แล้วมันกำลังหายไปเรื่อยๆ ถ้าพวกเขาไม่ได้ทำเซรามิกแล้วก็คงเฉา”

แม้เป็นแบรนด์เซรามิกเล็กๆ ของคนเพียงสองคน แต่ Lively Ware ได้ปลุกชีวิตของงานเซรามิกที่ตายไปแล้วให้กลับมามีคุณค่าและอยู่ในชีวิตประจำวันทั่วไป และยังปลุกชีวิตชีวาของช่างปั้นมือฉมังให้มีรายได้และรอยยิ้ม เมื่อได้เห็นเครื่องกระเบื้องที่ทำมาทั้งชีวิตกลับมาเป็นที่ต้องการของผู้คนอีกครั้ง

Writer

Avatar

นิธิตา เอกปฐมศักดิ์

นักคิดนักเขียนมือสมัครเล่น ผู้สนใจงานคราฟต์ ต้นไม้และการออกแบบเป็นพิเศษ แต่สนใจหมูสามชั้นย่างเป็นพิเศษใส่ไข่

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ