วัยเยาว์นั้นแสนสั้น เพียงไม่กี่พริบตาเราต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่เวลามากมายนักที่เรามีโอกาสสร้างประสบการณ์และทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ มอบความทรงจำล้ำค่า ให้อยู่สะสมติดตัวลูกหลานคนรุ่นหลังเราไปตลอดชีวิต

แต่ความวุ่นวายของโลกสมัยใหม่ ทำให้พ่อแม่จำนวนมากไม่อาจมีเวลาคุณภาพกับเจ้าตัวน้อย ต้องปล่อยให้พวกเขาจดจ่ออยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลเพียงลำพัง หรือไม่ก็ฝากความหวังไว้กับคุณครู ที่หลายครั้งต้องแบกรับหน้าที่ตามระบบ จนไม่มีเวลาดูแลเด็กๆ แต่ละคนอย่างใกล้ชิด บ้างก็หมดมุก ไม่รู้จะเอาอะไรมาสอนให้ตื่นตาตื่นใจแล้ว

LittleLot คือธุรกิจที่เห็นถึงปัญหานี้ และคิดค้นนวัตกรรมสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก ด้วยความเชื่อว่า การเล่นและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เป็นดั่งการหมั่นรดน้ำดูแลเอาใจใส่ จนเมล็ดพันธุ์ในตัวเด็กเติบโตได้อย่างงดงาม

ก่อตั้งโดยคู่ภรรยาสามี แตงกวา-นัชชา จิระคุณ และ ป๊อปปี้-ภาณุ จิระคุณ (คุณอาจเคยฟังเพลงและรู้จักเขาในฐานะหัวหน้าวง K-OTIC

LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ

“เราชอบพูดเสมอว่า LittleLot คือสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกกายภาพ (Physical) กับดิจิทัล เชื่อมระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตร ในชีวิตช่วงแรกของเด็ก ซึ่งสำคัญมาก” ทั้งสองอธิบายแนวคิด พลางหยิบ ‘BiiNo’ อุปกรณ์หมอนผ้าและไม้ยางพารารูปร่างคล้ายถั่ว ที่แฝงฟังก์ชันพิเศษไว้แบบไม่ปรากฏชัดต่อสายตา จนกว่าจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ดิจิทัล

จากเดิมเป็นโปรเจกต์ในรั้วมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน LittleLot ดำเนินการมาราว 4 ปีกว่า เป็นงานที่ทั้งสองทุ่มเทเวลาชีวิตให้อย่างมีความสุข สร้างสรรค์ด้วยความสนุก ได้รับเสียงตอบรับน่าชื่นใจจากทั้งคุณครู โรงเรียน พ่อแม่ และบรรดาเด็กๆ ผู้ใช้งาน

ปิดไฟให้มืด เปิดโปรเจกเตอร์ฉายแสงกระทบเพดาน ตัวละครและฉากอันน่ารักปรากฏขึ้นทักทายเราเบื้องหน้า ทั้งสองลองสาธิตการเล่นเกมที่ออกแบบไว้หลากหลายให้เราดู ชวนหวนนึกถึงเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก หากมีสื่อเหล่านี้ การเรียนรู้คงไม่น่าเบื่อ และวันเวลาคงมีสีสันน่าจดจำเป็นแน่แท้

ถ้าอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร มาลองกดสตาร์ทเกมไปด้วยกัน

LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ

Level 1

สวนสนุกในฝัน 

“ตอนเด็กๆ เวลาคนถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ผมจะพูดตลอดว่าอยากมีสวนสนุกเป็นของตัวเอง” ผู้ประกอบการวัย 29 ปีเล่าความฝันวัยซนให้ฟัง “เพราะสวนสนุกเป็นพื้นที่ที่คนเข้ามาแล้วรู้สึกสนุก และเปิดจินตนาการให้ไปได้ไกลมาก” 

เมื่อเติบโตขึ้น เรารู้กันว่าป๊อปปี้ไม่ได้เปิดสวนสนุกจริงๆ เขาเลือกเดินเส้นทางสายศิลปิน และศึกษาต่อด้านออกแบบสถาปัตยกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเวลานี้ เขาได้พบน้องร่วมคณะอย่างแตงกวา ผู้สนใจเรื่องดนตรีและเด็กร่วมกัน

“สมัยเรียน เราสอนเปียโนไปด้วย มีนักเรียนของเราคนหนึ่งที่มีภาวะการเรียนรู้การเข้าใจไม่เหมือนนักเรียนคนอื่นๆ ทำให้พบว่าหนังสือหรือสื่อที่ใช้สอนอยู่ ไม่ได้รองรับความเข้าใจที่แตกต่างออกไป ทั้งเนื้อหาภาพและวิธีการ เลยเริ่มศึกษาเพิ่มเติม” แตงกวาเล่าถึงจุดเริ่มต้น การศึกษาครั้งนั้นกลายเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเธอ

ตัวต้นแบบในวันนั้น หน้าตาและฟังก์ชันคล้าย BiiNo ที่อยู่ตรงหน้าเราในวันนี้ แนวคิดคือมีซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์เป็นสองส่วนที่เชื่อมต่อกัน 

ตัวซอฟต์แวร์เป็นแอปพลิเคชันเกมดนตรีที่มีด่านหลากหลาย มีตัวการ์ตูนน่ารักๆ คอยดำเนินเรื่อง ดาวน์โหลดได้จากอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ส่วนฮาร์ดแวร์เป็นหมอนผ้าและไม้ยางพาราที่ติดไฟ LED เปลี่ยนสีได้ เมื่อเด็กปฏิสัมพันธ์กับเครื่องมือนี้ ตัวเกมบนเครื่องจะเปลี่ยนตามสิ่งที่เด็กทำไปด้วย ไม่ว่าจะมองจอหรือไม่ก็ตาม ทำให้เกิดการฝึกทักษะ เช่น การฟัง การแต่งทำนองดนตรี

LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ

“ตอนแตงกวาทำวิทยานิพนธ์เสร็จแล้ว เราคุยกันว่าเจ๋งมากเลย ลองทำสิ่งนี้จริงจังดูไหม เป็นสิ่งที่เราสนุกที่ได้ลงมือทำ ต่อมาเราได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ ต้องจดทะเบียนบริษัท เราก็เริ่มทำให้เป็นรูปร่าง” ป๊อปปี้เสริม ก่อนหน้านั้นเขาเปิดสตูดิโอสอนดนตรีและจัดค่ายไปสอนเด็กๆ อยู่บ่อยครั้ง โดยมีแตงกวาร่วมขบวนด้วยเพื่อศึกษาทำโปรเจกต์ของเธอ

จากประสบการณ์ของทั้งสอง พวกเขาสังเกตเห็นว่าคนชอบแยกการศึกษาให้อยู่ส่วนการศึกษา งานออกแบบก็อยู่ส่วนงานออกแบบ แต่หากเราเชื่อมทั้งสองศาสตร์เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว คงเปิดประตูใหม่ๆ ให้เป็นทางออกแก่ปัญหาเดิมๆ 

LittleLot จึงถือกำเนิดขึ้น โดยชื่อย่อมาจากสโลแกนว่า ‘Little by little, a little makes a lot.” 

สิ่งเล็กๆ อย่างการเล่นในแต่ละวัน เมื่อผสมรวมกันเรื่อยๆ ก็กลายเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับชีวิตเด็กบางคน 

“นี่คงเป็นสวนสนุกในนิยามของเราเหมือนกัน มันอาจไม่ได้เป็นพื้นที่ แต่เราทำตรงนี้แล้วสนุกมาก และเด็กๆ ก็สนุกด้วย”

LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ

Level 2

ออกแบบให้รักการเรียนรู้

ความสนุกและสร้างสรรค์ของ LittleLot ถูกนำเสนอผ่าน 4 รูปแบบหลัก โดยมีแก่นสำคัญคือประสบการณ์การเรียนรู้แบบผสม (Hybrid Learning Experience) ที่ผสานทั้งโลกกายภาพและดิจิทัลเข้าด้วยกัน

หนึ่ง ของเล่น ทั้ง BiiNo ที่พัฒนาขึ้นจากตัวต้นแบบเดิม ปัจจุบันมี 5 มินิเกมที่แตกต่างกัน เช่น ‘Jiggly Jams’ เกมบรรเลงโน้ตดนตรีให้ตรงจังหวะ และ ‘Little Loopers’ ชวนเหล่าสัตว์แต่งเพลง รวมๆ แล้วมีมากกว่า 60 เลเวลให้เพลิดเพลิน

และผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างการ์ดคำศัพท์ที่วาดเขียนลงไปได้ตามจินตนาการ ช่วยเสริมการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงกับโลกความเป็นจริง

สอง ระบบสื่อการเรียนแบบอินเทอร์แอคทีฟสำหรับโรงเรียน ปรับเปลี่ยนเนื้อหาตามบทเรียนของหลักสูตรให้อยู่ในรูปแบบเกมที่ฉายผ่านโปรเจกเตอร์ เด็กๆ จะเล่นและเรียนรู้ผ่านการขยับร่างกาย ตัวระบบจะจับการเคลื่อนไหว (Motion Detection) และตอบสนองบนฉากทันที 

เช่น เกม ‘วาทยกรมือฉมัง’ ผู้เล่นสามารถขยับมือ เพื่อให้จังหวะสัตว์น้อยนักดนตรีบนฉากเล่นเครื่องดนตรีตามเรา หรือเกม ‘เที่ยวป่าส่องสัตว์’ ที่ให้เด็กๆ ใช้มือขวาแทนไฟฉาย ส่องหาสัตว์ที่หลบซ่อนอยู่ในป่าให้เจอ

“เด็กจะตื่นเต้นมาก เราพยายามสอดแทรกให้เขาได้สังเกตและรอคอย บางคนได้ยินเสียงสัตว์เคลื่อนไหว หรือสังเกตการเปลี่ยนแปลงของภาพ จะตะโกนช่วยเพื่อนกันลั่นห้องเลย” แตงกวาเอ่ยด้วยความยิ้มแย้ม ปัจจุบันระบบนี้มีเนื้อหาทั้งหมด 24 หมวดใหญ่ เช่น ครอบครัว ธรรมชาติ เทคโนโลยี และอีกมากให้เลือกสรร โดยมีการ์ดและโปสเตอร์ประกอบเนื้อหาให้ทบทวนความเข้าใจ สามารถสแกนเพื่อเชื่อมต่อกับเกมผ่านเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ไว้ตอบคำถามได้อีกด้วย

สาม เวิร์กช็อป เปิดสอนให้เด็กสร้างเมือง หนังสือ และเกมของตัวเองเป็น (ดูตัวอย่างผลงานสุดน่ารักได้ที่ Gameroom

LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ
LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ

“ถ้าเด็กสนุกกับการเล่นแล้วได้สร้างให้คนอื่นเป็นผู้เล่นด้วย มันเจ๋งมากเลย ที่ผ่านมา เราพยายามร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่อยากสื่อสารเรื่องราว เช่น การอนุรักษ์สัตว์ป่า ให้เด็กได้ฟังความรู้จากพวกเขา จากนั้นจะสอนให้เขาทำเกม ซึ่งเขาจะเข้าใจเนื้อหามากขึ้น และสอนเพื่อนที่มาเล่นเกมให้ได้เรียนรู้ไปด้วย” ป๊อปปี้เล่าแนวคิดวงจรการเรียนรู้ ที่มีขั้นตอนคือ ฟัง เข้าใจ ทำได้ และสอนคนอื่นเป็น

“ในเวิร์กช็อปออกแบบเมือง เราให้เด็กๆ ประดิษฐ์เมืองทำมือขึ้นมา แล้วฉายภาพ (Projection Mapping) ให้ดูเหมือนจริง เขาจะเห็นว่าเมืองเป็นแบบไหน อะไรเด่น ปัญหาของเมืองที่เขาสร้างขึ้นมาคืออะไร เช่น รถไฟฟ้าไปไม่ถึงบางพื้นที่ ตึกสูงเยอะเกินไป ขาดพื้นที่สีเขียว เกิดการคุยกันเองโดยที่เราไม่ต้องไปบอกเลยว่าเมืองที่ดีต้องเป็นอย่างไร เป็นการชวนคุยแล้วให้ตกตะกอนเองมากกว่า” ทั้งคู่ช่วยกันเสริม

“มีเด็กที่ทำแล้วบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นสถาปนิก อยากเรียนเขียนโค้ดด้วย เวลาเห็นเด็กสนุก เรียนรู้และช่วยเหลือกัน มันใจฟูมากเลย”

LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ

และสี่ รับเป็นที่ปรึกษาด้านออกแบบการเรียนรู้ให้หน่วยงานต่างๆ เช่น โรงเรียนที่ต้องการปรับเปลี่ยนการสอนให้สอดแทรกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) 

ทั้งหมดนี้ ผ่านการศึกษาเพิ่มเติมอย่างเข้มข้น ทั้งสองทราบดีว่าพัฒนาการเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน นอกจากใช้ประสบการณ์ที่เคยคลุกคลีอยู่กับเด็กจากการสอนเปียโน แตงกวายังเรียนรู้เพิ่มเติมและปรึกษากับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำมาออกแบบงานต่อ และมีการจัดเวิร์กช็อปอยู่หลายครั้งเพื่อเข้าใจผู้เรียนมากขึ้น ส่วนทางป๊อปปี้รับบทดูแลด้านเทคโนโลยี เกมที่เราเห็นกันวันนี้ส่วนหนึ่งมาจากฝีมือการเขียนโปรแกรมของเขาเอง

Level 3

ศึกษาดิจิทัล

“ผู้ใหญ่หลายท่านอาจกลัวเทคโนโลยี” แตงกวาเล่าความกังวลใจของพ่อแม่และคุณครูที่เคยเจอมา หลายคนมีภาพจำเกี่ยวกับเกมไม่ค่อยดีเสียเท่าไร หรืออีกกรณีตรงข้ามกันคือ ใช้เทคโนโลยีเป็นทางลัดแก้ปัญหา โดยไม่ทราบวิธีใช้ที่เหมาะสมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก

“การยื่นแท็บเล็ตให้เด็กตอนกินข้าว ร้องไห้ หรือนั่งว่างๆ ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะเสมอไป มันเป็นการใช้เทคโนโลยีแบบให้เด็กดูหรือรับสารเฉยๆ (Passive) สิ่งที่เราพยายามสร้างคือเทคโนโลยีที่ไม่ได้น่ากลัว สร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดการตอบโต้ มีเงื่อนไขให้คิด รวมถึงสนับสนุนให้เขาทำอย่างอื่น เช่น เก็บคำถามไปคุยกับพ่อแม่

“แน่นอนว่าต่อไปในอนาคตเขาต้องใช้เครื่องมือพวกนี้อยู่แล้ว แต่ตอนเด็กเขาควรได้ใช้ด้วยวิธีที่เหมาะกับวัย ได้สังเกต จับ ขยับ แบบมีระยะห่างกับหน้าจอ เราจึงหาวิธีเปลี่ยนสิ่งที่พ่อแม่หลายคนมีอยู่นี้ ให้ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีกับเด็ก”

LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ

เมื่อนวัตกรรมเป็นสิ่งใหม่ที่คนยังไม่คุ้นเคยและตั้งข้อสงสัย วิธีขั้นต้นในการออกแบบให้ตอบโจทย์คือ ทำความเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการให้ถ่องแท้ก่อน

“ตอนแรกเราต้องเรียนรู้กันพอสมควร แต่พอมีทีมที่ปรึกษาทางด้านการศึกษา เราเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าโรงเรียนต้องการอะไร และคิดว่าจะทำให้มันเป็นระบบที่สอดคล้องกับหลักสูตรได้อย่างไร เพราะสุดท้าย โรงเรียนอยากประเมินเด็กๆ ให้ได้ว่าเล่นแล้วเกิดความเข้าใจในสิ่งที่สอนจริงไหม

“เนื้อหาของระบบที่ใช้กับโรงเรียนจึงเกิดจากการกางหลักสูตรของโรงเรียนและกระทรวงออกมาดู แล้วค่อยเสริมแง่มุมที่หนังสือไม่มีหรือไม่ได้อัปเดตไปตามกาลเวลา ซึ่งหนึ่งเรื่องพูดได้หลายอย่างมาก เช่น โลกใต้ทะเล มีได้ตั้งแต่เรื่องสัตว์ใต้ทะเลมีอะไรบ้าง การทิ้งขว้างหลอดและพลาสติกจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตสัตว์อย่างไร

“หรือเรื่องค่านิยมในสังคม เราสื่อสารได้ว่าอาชีพบนโลกนี้ไม่ได้มีแค่ตามหนังสือและบทเรียนที่เห็นปกติทั่วไป เด็กแต่ละคนมีความเก่งไม่เหมือนกัน ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องชอบสีชมพู ผู้ชายไม่จำเป็นต้องชอบสีฟ้า” ทั้งคู่เสริม พร้อมบอกว่าตอนนี้กำลังพัฒนาระบบให้มีสื่อเพิ่มเติมและประเมินได้แบบครบจบในที่เดียว

LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ

เมื่อพัฒนาระบบจากความเข้าใจนี้แล้ว วิธีทำให้คนเชื่อเหมือนกันคือ พิสูจน์ให้เห็นกับตา

“เวลาไปโรงเรียน เราจะขอจัดห้องให้เด็กลองเล่นเลย ผู้ใหญ่จะเห็นว่าเด็กมีความสุขที่ได้เล่นมากจริงๆ และเข้าใจเนื้อหาโดยไม่ต้องเขียนอะไรบนกระดานเลย เพราะเขาคิดผ่านเงื่อนไขในเกมไปแล้ว” แตงกวาเล่าประสบการณ์เข้าไปทดลองใช้จริงที่โรงเรียน สิ่งที่เธอและป๊อปปี้จะใช้ประเมินผลงานตัวเองไปด้วยคือเด็กต้องรู้สึกสนุก เกิดแรงบันดาลใจ และได้ความรู้

“แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้เขาอยากเรียน เดี๋ยวนี้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเยอะมาก ถ้าเขาอยากเรียนรู้ขึ้นมาเมื่อไร เขาจะหาข้อมูลบนโลกนี้ได้หมดเลย” 

หากทดลองแล้วมีผลตอบรับหรือข้อแนะนำกลับมา Littlelot สามารถปรับเปลี่ยนระบบและเนื้อหาจากเบื้องหลังได้เรื่อยๆ เป็นความงดงามของการใช้ดิจิทัลเข้ามาเสริมโลกการศึกษา

Level 4

สิ่งเล็กๆ

“เราไม่ได้รีบเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ และรู้ว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้เห็นผลทันตาด้วย แต่เราอยากค่อยๆ ศึกษา ทำสื่อออกมาให้ดีจริง และรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ” สองผู้ประกอบการเล่าธรรมชาติและแนวคิดของธุรกิจนี้ ปัจจุบัน LittleLot มีสมาชิกหลักอยู่ 3 คนเท่านั้น พร้อมขับเคลื่อนการทำงานด้วยความสนุกและใส่ใจ

“ทุกครั้งที่ทำเกมเสร็จ เราจะมานั่งเล่นกัน เวลาคิดอะไรไม่ออกก็คุยกันหรือไปเล่นบอร์ดเกม ดูว่ามีวิธีคิดเกมแบบไหนบ้าง หาอะไรทดลองตลอดเวลา สนุกดีนะ” 

หลังเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระบบการศึกษาเกิดการพลิกผันครั้งใหญ่ นักเรียนต้องอยู่ที่บ้านเพื่อเรียนออนไลน์ คุณครูและพ่อแม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามไปด้วย ในปีนี้ LittleLot จึงวางทิศทางการทำงานให้มุ่งเน้น 2 เรื่องมากขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาหลังความปกติใหม่

หนึ่ง สร้างระบบการเรียนรู้ภายในบ้าน เด็กๆ ไปโรงเรียนแล้วกลับมามีเครื่องมือทบทวนที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือใครเลือกเรียนแบบโฮมสคูลก็มีตัวช่วยติดอาวุธให้แข็งแกร่ง

สอง สนับสนุนและลดภาระของคุณครูที่โรงเรียน

“ทุกวันนี้คุณครูเหนื่อยมาก ต้องวางโครงสร้างสอน คิดใบงาน ประเมิน ดูแลเด็กหลายสิบ ถ้าเกิดมีใบงานที่เขาดาวน์โหลดไปใช้ได้เลย หรือเกมที่ทำให้เด็กๆ เล่นได้โดยไม่ต้องถูกคะยั้นคะยอ คุณครูจะมีเวลาคิดและดูแลเด็กมากขึ้น เมื่อคุณครูดูแลเด็กได้อย่างมีคุณภาพ การศึกษาน่าจะเดินไปข้างหน้า” ทั้งคู่วาดภาพความฝันที่อยากให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต แม้รู้ดีว่าการปรับทั้งระบบเป็นเรื่องยากและใช้เวลา 

แต่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มักเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ทั้งนั้นไม่ใช่หรือ 

Little by little, a Little makes a Lot. 

LittleLot นวัตกรรมเกมของคู่รัก ที่ทำให้เด็กขยับกายและเรียนรู้ด้วยใจไม่ต้องบังคับ

Epilogue

“ตอนเด็กๆ เล่นของเล่นอะไรกัน” เราถามเรื่องเมื่อราว 20 ปีก่อนด้วยความสงสัย

“ชอบเล่นเลโก้ ใช้เวลาอยู่ได้เป็นวันเลย” ฝ่ายหญิงตอบ

“ชอบอยู่นอกบ้าน เล่นกีฬา ของเล่นที่มีจะเป็นตัวต่อเล็กๆ น้อยๆ พอโตขึ้นก็เริ่มเล่นพวกเพลย์สเตชัน” ฝ่ายชายตอบบ้าง

“แล้วตอนนี้เล่นเกมอะไร” 

“Pikmin 3” 

“Civilization VI และบอร์ดเกม พยายามหาเวลาไปเล่นอยู่เรื่อยๆ” 

ติดตามรายละเอียดและค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ LittleLot ได้ที่

Facebook : LittleLot

Website : LittleLot

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน