กาลครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ หากนับนิ้วตามจำนวนจริงก็เป็นเวลา 5 เดือนแล้ว ที่ ‘Little Stove & Little Stump’ ถือกำเนิดขึ้นมาจากหุ้นส่วนทั้ง 5 คน ประกอบด้วย 2 ครอบครัว 1 นักอบขนมปัง โดยมีจุดประสงค์คืออยากสร้างพื้นที่ที่มีฟังก์ชันการทำงานเพื่อเด็กและผู้ใหญ่ ดังนี้

หนึ่ง ใกล้ชิดธรรมชาติ เพื่อให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้ พร้อมกับมีพื้นปล่อยพลังแบบเอาให้สุด แล้วกลับไปหลับที่บ้านได้เลย

สอง เป็นพื้นที่ที่ผู้ใหญ่ วัยรุ่น หรือพ่อแม่ ผู้ปกครองเข้ามาพักผ่อนในวันหยุดได้อย่างผ่อนคลาย โดยมีธรรมชาติคอยให้พักพิงทางสายตา

Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ
Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ

แล้วถ้าหากถามว่าโครงการนี้แตกต่างจากคาเฟ่ที่มีสนามเด็กเล่นทั่วไปอย่างไร เราคงต้องขอยกหน้าที่นี้ให้กับ พราว พุทธิธรกุล สถาปนิกผู้ออกแบบจาก NITAPROW (นิษฐาพราว) พ่วงตำแหน่งผู้ดูแลส่วน Little Stump และ พีช-วงศ์ณิชา วงศ์สืบชาติ ผู้ดูแลส่วนคาเฟ่ Little Stove เพื่อบอกเล่าถึงสนามเด็กเล่นที่เสริมพัฒนาการเด็ก ๆ และคาเฟ่สำหรับคนทุกวัย ซึ่งเล่าขนานไปกับหนังสือนิทานชื่อ บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม

Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ

บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม

“เด็กเล็กแทบทุกคนรักการอ่านนิทานมาก แล้วพวกเขาจะตีความต่างกันไปจากภาพในนิทาน เพราะบางทีเขาไม่ได้ฟังจากที่เราอ่าน เขาอ่านจากภาพ ซึ่งตรงนั้นเองที่เรารู้สึกว่ามันพิเศษมาก เราก็เลยคิดว่า คงจะดีถ้าสถานที่นี้เข้าไปอยู่ในหนังสือ ให้เด็กได้ทำความรู้จักในฐานะโลกแห่งจินตนาการ ให้เขาได้สร้างเรื่องราวในหัวของตัวเอง พอเขามาอยู่ในสถานที่จริง เขาก็จะต่อยอดจินตนาการต่อไปได้อีก”

Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ
Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ

พราวนำไอเดียเสนอกับ เกื้อกมล นิยม บรรณาธิการสำนักพิมพ์สานอักษร ซึ่งก็รู้สึกสนใจในทันที แล้วส่ง Littleblackoz Studio มาร่วมสร้างสรรค์ ด้วยการนำ Little Stove & Little Stump มาใช้เป็นฉากหลังภายในเรื่อง ถึงอย่างนั้นพราวกับพีชก็เสริมว่า พวกเขาไม่ได้อยากตีกรอบจินตนาการของเด็ก ฉะนั้น สถานที่ในหนังสือและในความเป็นจริงจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเป๊ะทุกตารางนิ้ว

เช่น Little Stove มีสถานะเป็นแหล่งกักตุนอาหารของพี่หมี ในหนังสืออาจจะเป็นถ้ำ แต่ตัวอาคารจริงกลับไม่ได้เหมือนถ้ำขนาดนั้น พวกเขาอยากให้มีความแฟนตาซีที่พึ่งพิงไปกับจินตนาการของเหล่าเด็ก ๆ ที่จำภาพจากในนิทาน แล้วพอมาเห็นของจริง พวกเขาก็รับรู้ได้ทันทีว่ามันคือสถานที่เดียวกัน!

Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ
Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ

ถ้ำของพี่หมี (Little Stove) ที่อยู่ในส่วนของคาเฟ่ พราวและพีชเล่าอย่างติดตลกว่า 

“มักจะมีเด็ก ๆ หลายคนที่มาตามหาพี่หมีนักอบขนมปัง”

“เด็ก ๆ เจอด้วย” พราวกับพีชหัวเราะพลางเล่าต่อ “เพราะพี่หมีเราวาดมาจาก คุณบัว ที่เป็นคนอบขนมปัง เขาชอบใส่รองเท้าไนกี้ ถ้าเป็นแบรนด์อื่นเขาไม่ยอมใส่ พี่หมีในนิทานกับคุณบัวเลยใส่รองเท้าเหมือนกัน จนมีเด็กคนหนึ่งเขามาดู แล้วบอกพี่หมีจริงด้วย รองเท้าเหมือนในนิทานเลย”

ถ้ำของพี่หมี

Landscape ของฝั่ง Little Stove พราวและพีชมองว่าพื้นที่ตรงนี้ต้องการความร่มรื่นและสงบนิ่งเพื่อการพักผ่อนทางสายตาและให้ล้อไปกับคูน้ำ มีพื้นที่เป็นแนวราบ คนที่อยู่ในคาเฟ่จะมองได้รอบทิศทางผ่านผนังกระจก ร่วมด้วยช่องแสง (Sky Light) ด้านบนเพื่อให้ภายในร้านได้รับแสงจากธรรมชาติ 

Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ
Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ

ด้วยความที่ตรงนี้คือถ้ำสำหรับกักตุนและทำอาหารของพี่หมีและผองผึ้ง ตัวร้านจึงมีลวดลายวาดมือที่ให้อารมณ์ของถ้ำ ลายเปลือกไม้ เส้นสายของผนัง ความโค้งเว้าของกันสาด รวมถึงป้ายของร้าน และป้ายเมนูที่มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง เพื่อให้ล้อไปกับเหล่าผองผึ้งที่ช่วยกันทำอาหารอยู่หลังครัว

Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ
Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ

สำหรับเด็ก ๆ ที่อยากสอดส่องการทำอาหาร ภายในร้านมีการเจาะช่องติดกระจกให้บรรดาเจ้าตัวน้อยไปยืนดูหากอยากเห็นคุณหมีและผองผึ้งขณะกำลังอบขนมปัง ซึ่งเป็นเมนูหลักของร้านด้วย

พีชบอกว่า ขนมปัง Sourdough ทางร้านเป็นคนนวดเอง อบเอง และที่ต้องเป็น Sourdough ก็เพื่อให้ง่ายต่อระบบย่อยอาหารของเด็กและผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีขนมปังสไตล์ญี่ปุ่นเพิ่มเข้ามา และสำหรับเมนูแนะนำ เราอยากให้ทุกคนได้ลองทาน Riceberry Sourdough กัน รับรองว่าไม่ผิดหวัง

Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ

จากขนมปังถูกนำมาต่อยอดเป็นเมนูบรันช์ต่าง ๆ เช่น แซนด์วิช เบอร์เกอร์ และสลัด ซึ่งใช้น้ำมันรำข้าวในการทอดทั้งหมดเพื่อสุขภาพของคนทาน ต่อด้วยวาฟเฟิลรังผึ้งที่มีให้เลือก 2 แบบ ทั้งแบบกรอบและแบบนุ่ม มีกลิ่นของน้ำผึ้งจากฟาร์มลำไย เป็นเมนูที่พีชบอกว่าเด็ก ๆ ชอบมาก และผู้ปกครองชอบตรงที่เวลาลูก ๆ กินแล้วจะไม่เกิดสถานการณ์หกเลอะเปรอะเปื้อนให้กังวลใจระหว่างพักผ่อน

ส่วนเครื่องดื่มมีทั้ง Non-coffee ที่มีในเมนูและตามแต่ฤดูกาลนั้น ๆ ส่วนอีกฝั่งเป็น Specialty Coffee มีให้เลือกทั้งเมล็ดกาแฟจากไทยและต่างประเทศ

บ้านตอไม้

‘บ้านตอไม้’ (Little Stump) เป็นส่วนของสนามเด็กเล่น (Playground) สำหรับให้เด็ก ๆ ได้นำจินตนาการออกมาปลดปล่อยกันอย่างสนุกสนาน โดยมีเหล่าสัตว์ในนิทานเป็นเพื่อนเล่นช่วยทำกิจกรรม และมีผู้ปกครองเป็นลูกมือคอยช่วยเหลืออยู่ข้างกาย ซึ่งพราวกับพีชมองว่าการที่พวกเขามีกฎให้ผู้ปกครองต้องเข้าไปในเพลย์กราวนด์กับเด็กมีสาเหตุอยู่ 2 อย่างด้วยกัน 

หนึ่ง แน่นอนว่าเพื่อความปลอดภัยของเด็ก และคลายกังวลผู้ปกครอง 

สอง เพื่อให้ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และสิ่งนั้นเองที่จะทำให้ผู้ปกครองไม่พลาดโมเมนต์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ลูกของตนเซอร์ไพรส์ใส่แบบไม่ทันตั้งตัว

Little Stump สนามเด็กเล่นย่านพระราม 2 ที่ให้เด็กเล่น-เรียนรู้ พร้อมกับการพักผ่อนของพ่อ ๆ แม่ ๆ

“เราต้องการสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ทั้งในอาคาร บนเนินหญ้า ในร่มเงาของต้นไม้ และในแสงแดด เป็นพื้นที่ให้เขาเล่นอย่างอิสระและเปิดกว้างต่อการตีความ” พราวเล่า

ส่วนของเพลย์กราวนด์ประกอบไปด้วย 3 ห้อง 1 โซน (ด้านนอก)

ห้องหนังสือของคุณลีเมอร์

ห้องแรกสุดเปรียบเสมือนพื้นที่ต้อนรับที่ใคร ๆ ก็เข้ามาได้

ในนิทาน คุณลีเมอร์ผู้เคยเป็นครูอนุบาลจะเป็นคนอ่านหนังสือให้เด็ก ๆ ฟัง ในห้องนี้จึงมีหนังสือนิทานมากมายวางขายไว้ให้ผู้ปกครองและลูกหลานเข้ามาเลือกซื้อ

ห้องถัดจากนี้เป็นต้นไปต้องเสียค่าบริการ ซึ่งต้องมีผู้ปกครองเข้าไปด้วยอย่างน้อย 1 คน

คาเฟ่เพลย์กราวนด์สร้างจากนิทาน ‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ ที่อยากให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน และทลายกรอบจินตนาการเด็กและผู้ใหญ่

ห้องเรียนของคุณช้าง

ห้องเรียนของคุณช้างผู้เป็นศิลปินนักวาดภาพ 

ห้องนี้เป็นห้องที่คุณช้างใช้สอนเด็ก ๆ และชวนทำกิจกรรมแนว Art & Craft เพื่อเสริมสร้างความรู้และพัฒนาการของทุกคน โดยบางครั้งพี่หมีจากห้องอบขนมปังก็จะมาร่วมกันทำกิจกรรมด้วย

  โดยกิจกรรมหลัก ๆ ของ Little Stump เน้นไปที่พัฒนาการด้านสัมผัสทั้ง 5 จากวัสดุธรรมชาติ พื้นหิน ดิน ทราย น้ำ และการนำสิ่งของเหลือใช้ที่หาได้ง่าย ๆ ภายในบ้านมาก่อให้เกิดประโยชน์ 

คาเฟ่เพลย์กราวนด์สร้างจากนิทาน ‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ ที่อยากให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน และทลายกรอบจินตนาการเด็กและผู้ใหญ่

อย่างกิจกรรมในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีธีมของ Earth Day ที่สอนให้เด็ก ๆ รู้จักการแยกขยะ รวมไปถึงการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพี่ ๆ เต่าทะเลซึ่งเป็นเหยื่อของขยะพลาสติก ขณะเดียวกัน พี่หมีจากฝั่ง Little Stove ก็มักจะแวะเวียนมาสอนเด็ก ๆ ทำเมนูง่าย ๆ อย่างขนมปังหน้าพิซซ่า หรือขนมไทยอย่างบัวลอย เด็ก ๆ จะได้เสริมพัฒนาการตั้งแต่การปั้น การได้เห็นสถานะของแป้งที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ให้เด็กได้สังเกตและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน 

คาเฟ่เพลย์กราวนด์สร้างจากนิทาน ‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ ที่อยากให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน และทลายกรอบจินตนาการเด็กและผู้ใหญ่
คาเฟ่เพลย์กราวนด์สร้างจากนิทาน ‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ ที่อยากให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน และทลายกรอบจินตนาการเด็กและผู้ใหญ่

ควบคู่ไปกับการเล่นของเล่นปลายเปิด (Open-ended Toys) ซึ่งวิธีเล่นจะแปรเปลี่ยนไปตามจินตนาการ เพราะพวกเขาเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีบุคลิกและความสนใจไม่เหมือนกัน

ส่วนกิจกรรมมีให้เล่นสนุกทั้งวันธรรมดา และสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันในแต่ละสัปดาห์

ที่อยู่ของสัตว์ในตอไม้

ที่พักผ่อนของเหล่าสัตว์ในนิทาน แต่จริง ๆ แล้วคือที่ปลดปล่อยพลังของเด็กทุกคน

ห้องนี้เป็นห้องเล่นโดยเฉพาะ มีอุโมงค์เบาะมากมายให้เด็กจินตนาการได้ทันทีว่าตรงนี้หรือตรงนั้นเป็นบ้าน เป็นถ้ำ หรือเป็นบ่อน้ำ ทั้งยังมีช่องแสงธรรมชาติส่องลงมาเพื่อเสริมความสมจริงเคล้าจินตนาการ รวมถึงเบาะรูปทรงคล้ายก้อนหินที่ให้เด็กนำมาเล่น ส่วนผู้ปกครองก็ใช้นั่งพักรอลูก ๆ ได้ 

ต้นไม้เขียวกลางตอไม้

คอร์ตกลาง โดยหลักแล้วเป็นลานกิจกรรม ถ้าไม่เวิร์กช็อปในห้องคุณช้าง ช่วงเช้าหรือช่วงเย็นก็จะมีการอ่านนิทานให้ฟังกันตรงนี้ ทั้งยังเป็นพื้นที่นั่งรอของผู้ปกครองที่มองลูก ๆ ผ่านกระจกบานใหญ่ ซึ่งมองเห็นข้างในห้องต่าง ๆ ได้ทุกซอกทุกมุม 

คาเฟ่เพลย์กราวนด์สร้างจากนิทาน ‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ ที่อยากให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน และทลายกรอบจินตนาการเด็กและผู้ใหญ่

อันที่จริง พราวออกแบบคอร์ตกลางด้วยแนวคิดที่ว่า “คอร์ตกลางบ่งบอกถึงชีวิตและการเติบโต เหมือนตอไม้ที่คนคิดว่าตายไปแล้ว แต่จริง ๆ เป็นร่มเงาของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งตรงกับเด็ก ๆ ตรงที่เขาเติบโตอยู่ในความรัก ความอบอุ่น และความดูแลของพ่อแม่”

นอกจากนี้ยังมีสนามเด็กเล่นด้านนอกที่เป็นเนินมากมายให้เด็ก ๆ ได้เคลื่อนไหวขึ้นลง มีบ่อทราย รวมไปถึงลานกิจกรรมเล็ก ๆ ด้านข้าง เป็นหิน เป็นกรวด ให้เจ้าจิ๋วเรียนรู้ด้านการสัมผัสด้วย

คาเฟ่เพลย์กราวนด์สร้างจากนิทาน ‘บ้านตอไม้กับสหายนักซ่อม’ ที่อยากให้ครอบครัวใช้เวลาร่วมกัน และทลายกรอบจินตนาการเด็กและผู้ใหญ่

นิทานเล่มต่อไป

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ เราถามพีชกับพราวถึงความพิเศษของโครงการนี้ ทั้งคู่ให้คำตอบที่แตกต่างจากทุกที เพราะตลอดที่คุยกัน เนื้อหาโดยส่วนใหญ่มักจะมีเหล่าเด็ก ๆ และลูกของตนเป็นตัวตั้งต้น แต่เมื่อพูดถึงความพิเศษ มันกลับมีผู้ใหญ่เป็นตัวตั้งต้นเสียอย่างนั้น

“ด้วยความเป็นพ่อแม่ พอเราอยู่ในกรอบเยอะ ๆ เวลาเห็นเด็กทำอะไร เราอาจจะอยากห้าม ทั้งที่จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องห้าม ให้เขาเรียนรู้ของเขาไปก็ได้ และบางครั้งมันทำให้ผู้ใหญ่ได้กลับมาอยู่นอกกรอบอีกครั้งหนึ่งด้วย เรามองว่าพื้นที่นี้เป็นที่ที่เด็กจะมาปลดปล่อยจินตนาการอยู่แล้ว เลยรู้สึกว่ามันพิเศษสำหรับผู้ใหญ่ที่จะได้มาปลดปล่อยจินตนาการของตัวเองไปพร้อมกับลูก ๆ ในสถานที่แห่งนี้”

เมื่อพูดถึงอนาคต เรื่องสถานที่อาจจะยังไม่มีการเพิ่มเสริมเติมต่ออะไรมากนัก จะมีก็เพียงการปรับปรุงมาตรฐานงานบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นต่อไป แต่ในแง่ของเรื่องราว พวกเขาเริ่มคิดอยากมีนิทานเล่มต่อ ๆ ไป ด้วยการนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงจับเข้าไปอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ 

เป็นนิทานที่จะบันทึกเรื่องราวความประทับใจของเหล่าผู้คนที่เข้ามายังสถานที่แห่งนี้

ถ้าเล่มแรกคือการเติบโตของสถานที่ เล่มที่สองก็อาจเป็นการเติบโตของผู้คน

Little Stove & Little Stump
  • พระรามที่ 2 ซอย 33 แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150 (แผนที่)
  • เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30 – 17.00 น
  • 06 1626 2803
  • Little Stove, Little Stump

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ