The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

(คำเตือน ระวังหลงรักสงขลา)

ตอนเตรียมตัวและเตรียมใจมาก็ไม่คิดว่าจะตกหลุมรักสงขลา จนกระทั่งตอนจะจากก็รู้ทันทีว่าตกหลุมขนาดยักษ์เข้าอย่างจัง แถมยังใจสั่นระรัวราวกับมีผีเสื้อนับสิบนับร้อยบินวนอยู่ในช่องอกด้านซ้าย ก็ตอนเห็นร้านหนังสืออิสระกลางเมือง เหมือนเจอคนรักเก่า ณ ขณะก็เหมือนว่าจะเป็นคนรักใหม่

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

เราหมายถึงร้านหนังสือเล็กๆ ที่เป็นชื่อร้านหนังสือขนาดเล็กๆ ของ เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ อดีต บ.ก. สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน ผู้มีบทบาทใหม่เป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระ

จากร้านหนังสือชื่อเก่าเอามาเล่าใหม่ บริเวณเมืองเก่าของสงขลาเวอร์ชันอัพเดตใหม่ ภายในบ้านเก่า 2 ชั้นตกแต่งใหม่ จากเจ้าของเก่าส่งต่อให้เจ้าของใหม่ กว่าจะได้บ้านเก่าต้องเขียนคำร้องขอบ้านเก่าขึ้นมาใหม่ จนเจ้าของเก่าเข้าใจและยินดีมอบบ้านเก่าให้เจ้าของใหม่ทำอาคารเก่าให้เป็นร้านหนังสือใหม่ ขายทั้งหนังสือเก่าและหนังสือใหม่ จนมีนักอ่านหน้าเก่าและหน้าใหม่แวะเวียนมาร้านหนังสือใหม่ย่านเมืองเก่าอย่างไม่ขาดสาย

หากคุณเป็นนักอ่านวัยเก๋าคงคุ้นกับร้านหนังสืออิสระขนาดเล็กๆ บริเวณถนนพระอาทิตย์มาบ้าง ร้านนี้หายหน้าหายตาไปกว่า 7 ปี ก่อนจะกลับมาอีกครั้งเมื่อ 3 ปีก่อน ชื่อร้านยังคงเดิม เพิ่มเติมคือหน้าปกใหม่ ไฉไลกว่าเก่า ไกลหน่อย แต่เรารับรองว่าคุณจะหายคิดถึงหนังสือเล่มเล็กๆ นี้อย่างแน่นอน

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

 

ร้านหนังสือที่ไม่ใช่ร้านหนังสือ

ก่อนเอ๋จะเปิดร้านหนังสือ เธอคลุกคลีกับวงการหนังสือมานานกว่า 30 ปี จนกระทั่งกลับมาสงขลาราว 3 ปีก่อน เธอสังเกตว่าสงขลาไม่มีร้านหนังสือ จะมีก็แต่แผงหนังสือพิมพ์ จี๋-บุษกร พิชยาทิตย์ กับเธอเลยชวนกันไปเปิดร้านหนังสืออิสระแถวเกาะยอ แต่ใครต่อใครก็เตือนว่า อย่าเลย เพราะระยะทางค่อนข้างห่างจากเมือง ประจวบกับเธอต้องสร้างอาคารใหม่ด้วย เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายแล้ว เกินกำลังไปเสียหน่อย

เธอเลยเบนเข็มมาย่านเมืองเก่า ตรงกันกับช่วงเมืองสงขลากำลังฟื้นฟู เธอเห็นบ้านหลังนี้พอดีและบอกกับตัวเองว่า “ถ้าไม่ใช่บ้านหลังนี้ก็ไม่เอา” กว่าจะได้มาลำบากมาก เธอต้องเทียวไล้เทียวขื่อเจ้าของบ้านนานถึง 6 เดือน จนสุดท้ายตัดสินใจเขียนจดหมายถึงเจ้าของบ้าน

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

“เราเขียนบอกเขาว่าเราจะทำอะไรบ้าง มีกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วร้านหนังสือของเราจะเป็นประโยชน์กับคนสงขลาอย่างไร สร้างคุณค่าให้กับบ้านเขาอย่างไร ตอนแรกเราพูดถึงร้านหนังสืออิสระ เขายังไม่ค่อยเข้าใจด้วยซ้ำ เขาถามว่าต่างจากร้านหนังสือใหญ่ในห้างสรรพสินค้ายังไง เราเลยหาข้อมูลแล้วส่งให้เข้าดู อย่างจังหวัดเชียงใหม่มีร้านเล่า จังหวัดอุทัยธานีมีร้าน Booktopia

“สงขลาเป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีโรงเรียนเยอะมาก แต่จังหวัดเราไม่มีร้านหนังสือเลย อีกอย่างเราอยากให้เด็กๆ มาเรียนรู้ด้วย ถ้าเขาเข้ามาร้านหนังสือจะเห็นบ้านเก่า เขาก็จะรู้ว่าคนสงขลาอยู่กันยังไง บรรพบุรุษของเขาอยู่กันยังไง และเราก็ตกลงกับเจ้าของบ้านว่าจะไม่ไปแตะต้องโครงสร้างของบ้าน เช่น ไม่ตอกตะปูในบ้านของเขา เราจะดูแลรักษาอย่างดี” เอ๋เล่า ทำเราเชื่อแล้วว่าตื๊อเท่านั้นที่ครองโลกนั้นมีจริงๆ

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

ภายในบ้านเก่าสูง 2 ชั้นยังคงสภาพเดิม ผนังเป็นคอนกรีตถูกกะเทาะให้เห็นอิฐสีส้มโบราณขนาดใหญ่ เมื่อเจ้าของรู้ว่าบ้านเก่าจะกลายเป็นร้านหนังสือใหม่ ก็อาสาบูรณะและทาสีให้ด้วยความยินดี

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

บนชั้น 2 ของบ้านเป็นพื้นที่โล่ง เอ๋มักเปิดให้เด็กนักเรียนเข้ามาติวการบ้าน ประชุมสัมมนา หรือจัดกิจกรรมขนาดย่อม โดยให้เด็กๆ ดูแลและทำความสะอาดกันเอง

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

ส่วนชั้นล่างเป็นร้านหนังสือ ตกแต่งอย่างเรียบง่ายด้วยสารพัดหนังสือเล่มน้อยใหญ่ มาพร้อมกับกองทัพตุ๊กตาจากตัวละครในหนังสือ จนกลายเป็นบ้านในร้านหนังสือและเป็นร้านหนังสือในบ้าน บางทีก็เป็นสถานที่จัดกิจกรรมและแสดงผลงาน อย่างกิจกรรม ‘ร้านหนังสือคุยกัน…ในร้านหนังสือ’ เป็นการชวนคนทำร้านหนังสือมาคุยกัน บรรยากาศอบอุ่นมากจนเราอยากให้คุณลองไปสัมผัสด้วยตัวเอง

อ้อ! หากนักอ่านสังเกตเห็นข้าวของเกี่ยวกับ เจ้าชายน้อย ไม่ต้องสงสัย เพราะเอ๋เป็นคนแปลหนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับบุกเบิกจากภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย พวกตุ๊กตาและภาพวาดของ เจ้าชายน้อย เพื่อนพ้องของเธอล้วนซื้อมาฝากโดยพร้อมเพรียงกัน และเธอยังมีหนังสือ เจ้าชายน้อย หลากหลายภาษาด้วยนะ

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

 

หนังสือหายากที่หาไม่ยาก

ร้านหนังสือเล็กๆ เน้นจำหน่ายวรรณกรรมเยาวชนและหนังสือเด็ก เพราะเป็นหนังสือที่เจ้าของร้านชอบถึงชอบมาก ขอยืนยันด้วยตำแหน่งนักอ่านวรรณกรรมเยาวชนมาตั้งแต่เด็กและอดีต บ.ก. สำนักพิมพ์แพรวเยาวชนกว่า 200 ปก เธอแอบกระซิบว่า หนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อมีทุกปก ไม่ว่าจะซีรีส์ คนตัวจิ๋ว หรือ ปีกหัก ส่วนสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนก็มีทุกปกเช่นกัน ใครตามหาที่ไหนไม่เจอ ที่นี่มีแน่นอน!

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

“เคยมีลูกค้ามาจากต่างจังหวัด เขาบอกเราว่า ‘ไม่คิดเลยว่าจะมาเห็นหนังสือเล่มนี้ ผมเดินทางมาเป็นพันกิโลฯ เพื่อมาพบเล่มนี้เล่มเดียว ผมดีใจมาก’ เล่มนั้นชื่อ เรื่องเล่าของเกาะที่ไม่มีใครรู้จัก พิมพ์นานมากแล้ว สมัยเราทำสำนักพิมพ์เอง ช่วงนี้ขายดีมากจนจะหมดแล้ว เป็นเพราะการบอกแบบปากต่อปาก พอเขาดีใจก็จะโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ไม่นานคนก็จะตามมาถามหาหนังสือพวกนี้ ”

การมีอยู่ของคนรักหนังสือเก่าเป็นสัญญาณดีของร้านหนังสืออิสระ นอกจากนักอ่านหันมาสะสม ยังเป็นการย้อนไปหาความสุขจากหนังสือเล่มจิ๋วในวัยเด็กด้วย เอ๋ยกตัวอย่างหนังสือ แมรี่ ป๊อปปิ้นส์ ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ นักอ่านสั่งซื้อออนไลน์มากันจำนวนมาก ส่วนใหญ่ล้วนเคยอ่านมาแล้วทั้งนั้น

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

ก่อนจะต่อบทสนทนาหวานเย็น เจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ อาสาแนะนำหนังสือเด็กๆ ที่เธออ่านล่าสุดเรื่อง หลุม เขียนโดย หลุย ซัคเกอร์ แปลด้วยสำนวนของแมกไม้ พิมพ์ครั้งแรกปี 2545 โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิดำรงชัยธรรม ภายหลังสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนซื้อลิขสิทธิ์มาตีพิมพ์ใหม่ เธออวดสรรพคุณว่า วิธีเขียนของนักเขียนสนุกมากจนวางไม่ลง แถมได้รางวัลมาเยอะจนนับไม่ถ้วน

เอ๋กระซิบว่า บรัดเล่ย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน เจ้าของเดียวกับ หลุม ก็สนุกไม่แพ้กัน!

 

นักอ่านฟันน้ำนมที่ไม่ใช่นักอ่านแฟนฟันแท้

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

นอกจากวัฒนธรรมการอ่านจะเปลี่ยนไปเป็นการสะสม ทิศทางการอ่านของนักอ่านก็เปลี่ยนไปตามสมัยนิยมเหมือนกัน เจ้าของร้านบอกเราว่า เมื่อ 3 ปีก่อนลูกค้าจะเป็นผู้ใหญ่ เน้นอ่านวรรณกรรมไทยเป็นหลัก ตอนนี้กลายเป็นวัยรุ่นมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย เน้นอ่านวรรณกรรมแปลและเรื่องสั้นภาษาไทยของนักเขียนหน้าใหม่ หนังสือญี่ปุ่นแนวภาพประกอบก็มาแรง แต่ที่มาแรงกว่าคือนักอ่านฟันน้ำนม

“ถ้าติดตามในเพจจะเห็นน้องเมลเบิร์น มาทุกวัน ติดร้านหนังสือมาก บางทีก็มาวาดรูป นั่งเล่น วันก่อนมีลูกแม่ค้าคนหนึ่งมาครั้งแรกเลยนะ เขาถามเราว่า หนูขออ่านหนังสือได้มั้ยคะ เราก็บอกว่าได้ เข้ามาเลย หนูมี 20 บาท เล่มไหน 20 บ้าง เราบอกว่าไม่มีเลย แต่หนูอ่านได้นะ ถ้าอ่านแล้วไม่ยับ ก่อนกลับเขาบอกกับเราว่า ดีจังเลยนะคะ มีร้านแบบนี้ด้วย เหล่านี้แหละเป็นกำไรส่วนหนี่งที่เราได้จากการเปิดร้าน”

เอ๋เล่าจนเราอดยิ้มไปกับกำไรแห่งความสุขของเธอ ถ้าให้ประเมินเป็นราคาคงไม่ได้

 

ร้านหนังสือเล็กๆ ที่ไม่อยากเป็นร้านหนังสือใหญ่ๆ

เราถามเอ๋ว่า ร้านหนังสือเล็กๆ มีโอกาสจะเป็นร้านหนังสือใหญ่ๆ บ้างหรือเปล่า

“คงไม่” เธอตอบทันที ก่อนจะอธิบายเหตุผลว่า

“เราทำคนเดียวทั้งหมด ทำตามกำลังของเรา แล้วเราก็ใช้ความสุขในการทำ ร้านเราจะเปิดบ่าย บางวันไปทำธุระก็ต้องปิดหรือบางทีปิดเป็นอาทิตย์ บางคนบอกทำไมไม่จ้างคนมาดูแล ถ้าจ้างมาเราต้องเสียค่าใช้จ่าย แล้วหายากด้วย เพราะเขาต้องมีความรู้ในหนังสือแนวนี้ หนังสือแค่แนะนำไม่ได้ ต้องคุย เราว่าบทสนทนาทำให้คนอยากกลับมาอีก เขาเข้ามาแล้วก็อยากคุยเรื่องเก่าๆ และเรื่องที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

“ถามว่าจะขยายใหญ่มั้ย เราไม่เคยคิด ตอนอยู่ถนนพระอาทิตย์ก็ประมาณ 1 คูหา เราเปิดร้านหนังสือเพราะอยากขายหนังสือ อยากมานั่ง อยากมาเจอคน ถ้าให้คนอื่นทำก็ไม่ได้เจอสิ (หัวเราะ) ตอนนี้ก็ทำเท่าที่ทำได้แล้วมีความสุขกับมัน ช่วงไหนอยากไปเที่ยวก็ปิดร้านเอา นักอ่านเขาก็เข้าใจ”

เราเห็นด้วยกับเอ๋ว่าหนังสือแนะนำไม่ได้ ต้องคุย หากเดินเข้าร้านหนังสือขนาดใหญ่ หนังสือมากก็จริง แต่คงจะเหงาน่าดูหากต้องเดินเลือกหนังสือคนเดียว บทสนทนาจึงกลายเป็นหมัดเด็ดมัดใจลูกค้า เพราะประสบการณ์การอ่านของเจ้าของร้านคงแนะนำได้ถึงพริกถึงขิงกว่าคำนิยมหลังปกแน่นอน

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

“ร้านหนังสืออิสระทุกร้านล้วนมีข้อดีตรงนี้ มันเป็นบุคลิกและตัวตนของเจ้าของร้าน เราขายในสิ่งที่เรารู้ ประสบการณ์การอ่านของเรา บางทีพ่อแม่ที่มีลูกเล็กจะถามเราว่า มีหนังสือเล่มไหนแนะนำบ้าง บางคนลูกยังอยู่ในท้องอยู่เลยนะ แต่ซื้อหนังสือเยอะมาก เขาบอกเรา ยังไม่ต้องรีบส่งนะคะ เพราะลูกยังอยู่ในท้องอยู่เลย เราว่าการเจอนักอ่านน่ารักเป็นความสุขของคนทำร้านหนังสือ”

 

วงการที่เข้าแล้วไม่อยากออก

“…พอเข้าวงการนี้แล้วออกยาก”

เจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ บอกเราก่อนจะเสริมว่า “มันเหมือนติดกับดัก สำหรับเรา ถ้าให้ทำงานอย่างอื่นก็นึกไม่ค่อยจะออก เราเริ่มจากอ่านก่อน แล้วก็ทำหนังสือ จนตอนนี้มาขายหนังสือ

“เมื่อใดก็ตาม ถ้าเราทำในสิ่งที่เราถนัดและเป็นสิ่งที่เรารัก คนจะมาเห็นค่าเอง เราไม่เคยต้องการเป็นร้านหนังสือใหญ่ๆ หรือลูกค้าแห่กันมาเต็มร้าน เราต้องการคนที่เขาตั้งใจมาดูหนังสือจริงๆ อาจจะซื้อแค่เล่มเดียว แล้วมานั่งคุยกัน ถ้าสมมตินักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา เขามาแล้วก็ไป สุดท้ายพอเมืองมันเสีย คนที่อยู่ต่างหากที่จะต้องรับผล ตอนนี้สงขลายังไม่เป็นถึงขั้นนั้น ยังคงเงียบ สงบ ใครมาก็หลงรัก”

ขนาดเราเองยังหลงรัก

สงขลา

ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา ร้านหนังสือเล็กๆ, สงขลา

 

ร้านหนังสือเล็กๆ

ที่อยู่ 13 ถนนยะหริ่ง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสงขลา 90000
เปิดบริการวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 14.00 – 18.30 น.
(บางทีจำเป็นต้องปิดในวันที่ต้องเปิด และบางทีก็เปิดในวันที่บอกไว้ว่าปิด)
Facebook : ร้านหนังสือเล็กๆ – ถนนยะหริ่ง สงขลา

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล