“มดตัวน้อยตัวนิด มดตัวน้อยตัวนิด มดมีฤทธิ์น่าดู ยู้ฮู…”

บทเพลงง่ายๆ ที่เล่าเรื่องราวของมด สัตว์โลกตัวจิ๋ว แต่แฝงไปด้วยคุณธรรมความขยัน คือหนึ่งในผลงานเพลงของ สโมสรผึ้งน้อย เพื่อให้หนูๆ ร้องและเต้นกันอย่างสนุกสนาน

เป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่รายการเล็กๆ นี้กำเนิดขึ้น ด้วยความตั้งใจที่อยากสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ พร้อมบ่มเพาะความคิดดีๆ อย่างการอยู่ร่วมกันในสังคม และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น

ไม่แปลกเลยว่า ทำไมรายการเพียงสัปดาห์ละชั่วโมงถึงกลายเป็นขวัญใจของเด็กทั่วประเทศ ยืนยันได้จากจดหมายนับแสนฉบับที่ส่งมาจากทั่วสารทิศ เพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรแห่งนี้ และยังเกิดการต่อยอดเป็นกิจกรรมมากมาย อาทิ เพลงเด็ก หรือวงดนตรี XYZ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำให้เด็กหลายคนหยิบไม้กวาดที่บ้านมาดีดเล่นแทนกีตาร์ ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้กับรายการสำหรับเด็กอีกหลายรายการ

เพื่อรำลึกถึงหลักไมล์สำคัญของวงการโทรทัศน์ไทย ซึ่งเคยมีอิทธิพลต่อเด็กไทยนับล้านชีวิต ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงชักชวน น้านิต-ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ ผู้สร้างตำนาน สโมสรผึ้งน้อย มาพูดคุยถึงความคิด ความฝัน และความตั้งใจในการสร้างคลับเล็กๆ แต่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ รวมถึงภารกิจเพื่อเด็กที่ไม่เคยจบสิ้น 

01

กว่าจะเป็นผึ้งน้อย

“สมัยนั้นหลานไม่มีรายการดีๆ ดูเลย เพราะทีวีมีแต่รายการที่ทำให้ผู้ใหญ่ดู” 

คือสิ่งที่น้านิตสัมผัสได้ ในวันที่เธอใช้เวลาเกือบทั้งหมดอยู่บ้านเพื่อเลี้ยงหลาน หลังตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งโปรดิวเซอร์ของรายการโทรทัศน์ชื่อดัง

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ พ.ศ. 2518 เด็กสาววัย 21 หิ้วกระเป๋าเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกามุ่งตรงมายังวิกสนามเป้า เพราะตอนเด็กๆ เธอเคยรวมกลุ่มกับน้องๆ ตั้งวงดนตรีไปออกรายการ บันไดดารา อยู่ที่นี่หลายปี เลยฝังใจว่าหากโตขึ้นก็อยากทำรายการทีวีของตัวเองบ้าง

ครั้งนั้น น้านิตได้พบกับ บุญชาย ศิริโภคทรัพย์ ผู้บุกเบิกรายการ โลกดนตรี ซึ่งมีผลงานอยู่กับทางช่อง 5 หลายรายการ และ ประภัทร์ ศรลัมพ์ เจ้าหน้าที่ตำแหน่งโฆษกช่อง5 เป็นผู้ให้โอกาสน้านิตให้ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เริ่มแรกบุญชายมอบหมายให้น้านิตดูแลวงดนตรีชื่อ The Reason คอยสอนเต้น สอนการแสดง รวมทั้งแนะนำให้รู้จักกับ ฉันทนา กิติยพันธ์ ซึ่งต่อมาได้ชวนน้านิตมาทำรายการด้วยกัน ชื่อ ฉันทนาโชว์

แต่ทำไปได้ไม่กี่ตอนก็รู้ว่าไม่ใช่ทางที่สนใจ จึงขอหยุดเพื่อทบทวนเองตัวเองว่าอยากทำอะไรกันแน่

“ตอนนั้นเราก็ฝันเต็มที่ เห็นของนอกมาเยอะ เช่น อยากให้คุณฉันทนาเหมือนกับ CHER อยากให้มีแดนเซอร์ อยากให้มีวงดนตรีเยอะๆ เอาวงดนตรีเด็กมาเล่น ซึ่งมันไม่ใช่เลย พอคิดย้อนกลับมา คุณฉันทนาเธอก็ใจดี เปิดโอกาสให้เราทำ อยากขอโทษเธอจริงๆ ที่ทำรายการเธอเละเทะไปหมด” น้านิตย้อนความหลังพร้อมเสียงหัวเราะ

ระหว่างอยู่ว่างๆ น้านิตใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูทีวีกับหลานๆ และอ่านหนังสือจิตวิทยาเด็ก พออ่านเสร็จก็ประยุกต์กับการเลี้ยงหลาน ปรากฏว่าสนุกสนานกันทั้งน้าทั้งหลาน

ขณะเดียวกัน น้านิตยังพบว่า รายการทีวีช่วงนั้นแทบไม่มีรายการเด็ก เลยนึกถึงรายการที่เคยรับชมสมัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และคิดว่าหากมีแบบนี้ในบ้านเราบ้างก็คงดี

ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย
ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย

“ในสมัยที่น้านิตเป็นเด็กได้มีโอกาสไปออกรายการ บันไดดารา ทางช่อง 5 สนามเป้า แม้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถ แต่เป้าหมายยังเป็นผู้ใหญ่ คือผู้ใหญ่ดูเด็กอีกที ซึ่งต่างจากตอนที่เราอยู่อเมริกา เราดูช่อง 11 มีรายการ Sesame Street รายการที่ผลิตขึ้นเพื่อเป็นเพื่อนของเด็ก ใช้หุ่นเชิดมือที่ออกแบบได้น่ารักมาก ดูเป็นมิตรกับเด็กมาก ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่ดูแล้วยังชอบ ดูทุกวันก็เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความคิด น้านิตยังได้เรียนภาษาอังกฤษจากรายการนี้ด้วยนะ”

ไอเดียแรกที่คิดถึง คือการทำรายการเทพนิยายสำหรับเด็กๆ โดยได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือที่เคยอ่านตอนวัยเยาว์ จากนั้นก็ทดลองถ่ายทำเป็นเทปเดโม่นำไปเสนอช่อง 9 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ น้านิตเลยกลับมาตกผลึก หาว่าอะไรที่เป็นจุดบอด และควรออกแบบรายการอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับผู้ชมชาวไทย

“น้านิตคิดถึงหนังขาวดำที่เคยดูสมัยปอสี่ ปอห้า ชื่อ The Little Rascals เนื้อเรื่องคือกลุ่มเด็กๆ เอาบ้านเก่ามาสร้างเป็นคลับแล้วทำกิจกรรมกัน เป็นภาพจำเลยว่า อยากให้มีสถานที่แบบนี้บ้างให้เด็กๆ ทำอะไรต่างๆ ร่วมกัน

“อีกอย่างคือสมัยเด็กๆ น้านิตเรียนที่โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ เขามีกิจกรรมให้ทำเยอะมาก ทั้งงานประดิษฐ์ วาดรูป แล้วทุกปีเราจะรอคอยการฟังนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า ฟังแล้วมีความสุข และครูก็อนุญาตให้เราแต่งเรื่องเอง เขียนภาพเอง แต่พอเรามาดูสังคมโดยรอบไม่อนุญาตให้เด็กแสดงออก ถ้าเด็กพูดมากก็จะถูกบอกให้เงียบ อย่าพูด เด็กหลายคนก็เลยขี้กลัว เวลาถามไม่กล้าตอบ เราจึงอยากสร้างพื้นที่ที่เป็นของเขาจริงๆ” 

เมื่อไอเดียพร้อม น้านิตจึงชักชวน น้าพิน-อรพิน ดารารัตน์ นักเขียนบทละครมือดีจากกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว มาร่วมงาน น้าพินก็ชวน น้าป้อม-เพชรรัตน์ ชูสวัสดิ์ เพื่อนรักมาร่วมกันสร้างรายการใหม่ด้วยกัน

นั่นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘สโมสรผึ้งน้อย’ ซึ่งครองใจเด็กมาต่อเนื่องยาวนานถึง 16 ปี 

“เป้าหมายของเราคือ เด็กต้องเป็นเจ้าของ จึงตั้งเป็นสโมสรและเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนเป็นสมาชิกได้

“ชื่อผึ้งน้อยได้แรงบันดาลใจจากสโมสรไลออนส์ ซึ่งสมาชิกจะเรียกตัวเองว่า ไลออนส์นำหน้าชื่อ เลยคิดว่าเด็กต้องมีเหมือนกัน ตอนนั้นก็เสนอหลายชื่อมาก สิงโตน้อย หมีน้อย แต่ก็มาจบที่ผึ้งน้อย เพราะผึ้งเป็นสัตว์สังคมที่อยู่ร่วมกัน เป็นยอดนักสู้ ขยันทำงาน เราอยากให้เด็กๆ เป็นผึ้ง โตขึ้นจะได้มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม”

ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย

02

ผึ้งน้อยโบยบิน

เสียงทักทายที่สดใส และรอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์พร้อมคำพูดเชิญชวนให้เด็กๆ มาช่วยทำรายการ สโมสรผึ้งน้อย ของน้านิต คือเสน่ห์ที่ดึงดูดทั้งเด็กเล็กเด็กโตให้รีบกลับบ้าน และพุ่งตรงมายังหน้าจอทีวี

ช่วงปีแรกๆ สโมสรผึ้งน้อย ออกอากาศสด ทุกวันศุกร์ เวลา 4 โมงครึ่ง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5

รูปแบบรายการเป็นวาไรตี้สำหรับเด็ก แบ่งเนื้อหาออกเป็นช่วงต่างๆ อาทิ ละครสั้น ละครเพลง ข่าว เล่นตลก มีช่วงตอบจดหมาย เกือบทั้งหมดมีสมาชิกตัวน้อยเป็นผู้แสดง

โดยนอกจากเป็นพิธีกรแล้ว น้านิตยังต้องดูแลภาพรวมทั้งหมดด้วย ขณะที่น้าพินเป็นคนเขียนบทและกำกับการแสดง ส่วนน้าป้อมก็ช่วยเขียนสคริปต์บ้าง หากแต่บทบาทที่คนจำได้มากสุด คือการเข้าไปนั่งอยู่ในตู้ไปรษณีย์ คอยอ่านจดหมายของเด็กๆ และเรียกตัวเองว่า ลุงตู้ไปรษณีย์

สำหรับสาเหตุที่เด็กๆ เรียกทีมงานว่า ‘น้า’ ทั้งที่แต่ละคนอายุเพียง 20 ต้นๆ เท่านั้น เนื่องจากน้านิตมองว่า สรรพนามนี้ไม่ดูเด็กหรือแก่ไป ฟังแล้วรู้สึกอุ่นใจกว่าคำว่า ‘พี่’

ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย
ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย

ส่วนเด็กๆ ที่มาเข้าฉากนั้น สองครั้งแรก น้านิตใช้วิธีเกณฑ์ลูกหลานทีมงาน กระทั่งสัปดาห์ที่ 3 จึงเริ่มมีผู้ชมทางบ้านหิ้วกระเป๋ามาร่วมรายการ โดยบางส่วนก็อยู่ละแวกนั้น บางคนพ่อแม่ก็มาส่งถึงสถานี และอีกไม่น้อยที่นั่งรถประจำทางมาเอง สะท้อนให้เห็นว่าเด็กต้องการแสดงออกอยู่แล้ว ขอเพียงแค่มีพื้นที่สำหรับพวกเขาก็พอ

แต่แม้รายการจะมีกระแสตอบรับที่ดี น้านิตก็ยังถูกสบประมาทจากคนรอบข้างเสมอ ด้วยหลายคนไม่เชื่อว่า รายการเด็กจะอยู่รอดได้

“ตอนเริ่มต้น พี่จ้อย-กฤษฎา นาคะเสถียร ผู้กำกับรายการช่อง 5 พูดด้วยความเป็นห่วงที่เลือกมาทำรายการเด็กว่า “ไอ้นิต พี่ให้เวลาเราแค่ปีเดียวก็ตันแล้ว” แต่เราก็บอกว่าไม่หรอก เพราะเด็กมีจินตนาการมหาศาล ทำเป็นสิบปีก็ไม่ตัน แต่ที่เขาบอกแบบนั้น เพราะไม่ได้เอาเด็กเป็นตัวตั้ง คือเด็กเพิ่งเกิดมาบนโลกใบนี้ ยังไม่เห็นอะไรอีกตั้งเยอะ มีเรื่องมากมายที่ต้องเรียนรู้ จะมาบอกว่าตัน หรือไม่รู้จะทำอะไรให้เด็กดูได้ยังไง” 

เพื่อพิสูจน์ให้สังคมได้เห็น น้านิตกับทีมงานจึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก พยายามหาความรู้ใหม่ๆ จากหนังสือ จากตำรา จากประสบการณ์ในวัยเด็กของตัวเอง แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับรายการที่สุด

“น้านิตไม่ได้เรียนเรื่องเด็กมาโดยตรง แต่เรามีความสามารถเรื่องการสื่อสารกับเด็ก น้านิตไม่เคยลืมวัยเด็กของตัวเอง เด็กต้องการเพื่อนที่เข้าใจ อย่างช่วงเข้ารายการ เราใช้เวลาทักทายนานมาก ถ้าเป็นรายการอื่น ทำแบบนี้ไม่ได้ คนดูที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ฟัง จะทักทายอะไรกันหนักหนา แต่เด็กเขารอฟัง เผื่อเราจะพูดชื่อเขาออกอากาศบ้าง เพราะเขานึกว่าตัวเองอยู่ในรายการ ส่วนเราเองก็ต้องเชื่อด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นในเลนส์กล้อง น้านิตจะมองเห็นภาพของเด็กๆ เต็มไปหมด ทั้งที่ในห้องส่งอาจไม่มีเด็กเลย แล้วภาพที่เห็นไม่ใช่แค่เด็กกรุงเทพฯ แต่เป็นเด็กทั่วประเทศที่กำลังนั่งดูทีวีกับครอบครัว”

แต่แม้รายการจะเปิดกว้างให้เด็กทุกคนที่อยากเข้ามา น้านิตเองก็มีภาพฝันเหมือนกันว่า อยากให้เด็กผึ้งน้อยมีส่วนร่วมเต็มที่ ตลอดจนเป็นสื่อกลางเพื่อถ่ายทอดแนวคิดดีๆ อย่างเรื่องคุณธรรม ความกล้าแสดงออก ความรับผิดชอบ แก่เพื่อนๆ ที่รับชมอยู่ทางบ้าน เพราะฉะนั้น การออกแบบกิจกรรมต่างๆ จึงต้องผ่านการไตร่ตรองอย่างละเอียด พิจารณาข้อดีข้อเสีย แล้วค่อยตกผลึกมาเป็นสคริปต์ เป็นบทเพลง หรือการแสดงใดๆ ก็ตาม

แต่ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญสุดคงหนีไม่พ้นบทเพลง ช่วงแรกที่ออกอากาศ สโมสรผึ้งน้อย ยังไม่มีเพลงใหม่ๆ ทำให้รายการไม่มีชีวิตชีวาเท่าที่ควร กระทั่งผ่านไปประมาณ 3 เดือน น้านิตก็ได้เพื่อนร่วมงานคนใหม่ คือ น้าต้อม-กิตติพงศ์ ขันธกาญจน์ น้าต้อมเป็นนักแต่งเพลงฝีมือดี แม้เพลงอาจดูเป็นผู้ใหญ่และแฝงด้วยปรัชญาสักหน่อย แต่เด็กๆ ก็ยังสัมผัสได้ถึงความสนุกเพลิดเพลินได้ไม่ยาก

ทว่าน้าต้อมอยู่กับรายการเพียงปีเดียวจึงแยกออกไปทำวงสองวัย สโมสรผึ้งน้อย จึงได้ น้าประชา พงศ์สุพัฒน์ มาเขียนบทและแต่งเพลงให้ โดยมี อาจารย์ปัญญา ประดิษฐ์ธรรม มาเล่นอิเล็กโทนให้ โดยน้านิตถือว่า น้าประชาคือคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของรายการ สโมสรผึ้งน้อย ตลอดจนเพลงของผึ้งน้อยเกือบร้อยเพลง 

“น้าประชาเป็นคนที่ทำให้ผึ้งน้อย เป็นผึ้งน้อยแบบที่เราต้องการ เพราะเพลงมีอิทธิพลกับเด็กมาก เหมือนเป็นการฝังชิพเข้าไป ถ้าคุณเอาเพลงที่ห้าวหาญไปใส่เด็ก เด็กก็ห้าวหาญ ถ้าเอาเพลงที่อ่อนโยนใส่ไป เขาก็ละมุนละไมไปด้วย

“อย่างเพลงไตเติ้ล ผึ้งน้อยแสนขยัน ‘ผึ้งน้อยแสนขยัน ทำงานทุกวัน ทำงานทุกวัน’ เป็นเพลงที่สำคัญมาก เพราะร้องทั้งช่วงเปิดและปิดรายการ ตอนนั้นเราคุยกันถึงปัญหาเด็ก ปัญหาสังคม แล้วเราอยากเห็นเด็กผึ้งน้อยเป็นอย่างไร น้าประชาก็ถอดรหัสออกมาเลย เช่น ผึ้งต้องขยัน ส่วนรวมต้องเป็นใหญ่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของเด็กทุกคน”

งานเขียนละครหรือเพลงที่น้าประชาสร้างสรรค์ขึ้นนั้นคมในความคิด แต่ที่สำคัญคือสอดแทรกอารมณ์ขันไว้ให้ทุกคนได้อมยิ้มตลอด ตั้งแต่เพลงปลุกใจ ซึ่งมีเนื้อหาสอดแทรกแนวคิดการอยู่ร่วมกันในสังคม แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย จนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีเพลงเล็กๆ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวง่ายๆ ที่อยู่รอบตัว เช่น กิจวัตรที่เด็กควรทำเป็นประจำ สัตว์ หรืออาชีพต่างๆ หลายเพลงกลายเป็นผลงานอมตะที่ยังถูกร้องถูกเล่นจนถึงปัจจุบัน

ระหว่างนั้น สโมสรผึ้งน้อย ยังได้เปิดรับน้ารุ่นใหม่ๆ มาเสริมการทำงาน อาทิ น้าอ้าว-เกียรติสุดา ภิรมย์ มาพัฒนาเรื่องของลีลาท่าเต้นของผึ้งน้อย และยังได้เชิญ ครูต้อย-วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ มาสอนพื้นฐานการเต้นให้กับเด็กเด็ก น้าสุดา บูลสุข เป็นพิธีกรแทนน้านิตที่หันมาทำงานเบื้องหลังมากขึ้น 

อีกคนสำคัญที่อยู่กันมาตั้งเริ่มต้นก็คือ น้าตุ๊ก-สิริอาภรณ์ กฤตนันท์ ที่เป็นคนสำคัญในการคิดประเด็นการนำเสนอแต่ละตอน รวมทั้งคอยดูแลความประพฤติให้เด็กๆ ให้ซนแบบพอดีๆ รวมทั้ง น้าแอ๊ด-รัตนา เอื้อประกิจสิริ ผู้ดูแลเรื่องเครื่องแต่งกาย-หน้าผม ซึ่งเด็กผึ้งน้อยเปรียบเธอเป็นเหมือนแม่นมประจำรายการ เนื่องจากต้องคอยดูแลสารพัดเรื่อง ตั้งแต่อาหารการกิน เสื้อผ้า ไปจนถึงช่วยพิมพ์บทให้เด็กๆ ได้ใช้ฝึกซ้อมก่อนการแสดง

ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย
ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปเสียหมด เนื่องด้วยในเวลานั้น น้านิตและทีมงานผึ้งน้อยเป็นเพียงผู้สนใจเรื่องเด็กเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งไม่ได้มีต้นแบบให้เรียนรู้มากนัก พวกเขาจึงต้องค่อยๆ ลองผิดลองถูกกันไป 

ในช่วง 2 ปีแรก สโมสรผึ้งน้อย ต้องรับศึกหนักเกี่ยวกับการจัดการเด็ก เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีระบบคัดกรองเลย ทุกคนมาแล้วได้ออกหน้าจอหมด แต่เมื่อมีเด็กหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ปัญหาก็เริ่มตามมา เช่น เด็กหลายคนไม่มีส่วนร่วมเลย รอแต่บทที่น้าพินเขียนมาให้ บ้างก็แค่อยากออกทีวีเฉยๆ และบางคนพยายามกีดกันเพื่อนใหม่ที่อยากแสดงความสามารถบ้าง

“น้านิตไม่โทษเด็กนะคะ แต่ถือเป็นความผิดพลาดของน้านิตที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการทำงานร่วมกับเด็กเด็ก เวลาที่มีก็ทุ่มเทไปกับการทำรายการ ไม่ได้วางระบบการอยู่ร่วมกันที่ดีตั้งแต่แรก”

เพราะฉะนั้น ในปีที่ 3 จึงปรับระบบสมาชิกผึ้งน้อยใหม่ ด้วยการจัดสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ เพื่อสรรหาสมาชิกผึ้งน้อยที่เป็นแกนนำได้ 10 คน โดยเน้นไปยังเด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเอง และพร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจ เนื่องจากเด็กผึ้งน้อยต้องช่วยกันทำงานเบื้องหลังด้วย ไม่ใช่มาแค่เพื่อออกทีวีอย่างเดียว

ที่สำคัญ น้านิตยังพยายามปลูกฝังให้เด็กผึ้งน้อยเข้าใจว่า เบื้องหลังเสียงปรบมือที่ผู้คนมอบให้ไม่เกิดจากความสามารถของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ด้วย ทั้งคนเขียนเพลง คนออกแบบฉาก คนออกแบบท่าประกอบ คนออกแบบเครื่องแต่งกาย ดังนั้นเด็กผึ้งน้อยจึงไม่ค่อยหลงตัวเอง และตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม

แต่ในทางกลับกัน หากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา น้านิตก็ไม่ซ้ำเติมหรือตำหนิเด็ก แต่จะบอกว่านี่เป็นโอกาสและประสบการณ์ให้เรียนรู้ เพื่อวันหน้าจะได้เตรียมพร้อมและทำให้ดีกว่าวันนี้ 

เมื่อระบบเริ่มเข้าที่เข้าทาง สโมสรผึ้งน้อย จึงเปิดรับเด็กอย่างอิสระเหมือนเก่า โดยให้เด็กแกนนำทั้ง 10 คน ปรับบทบาทของตัวเองเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลน้องๆ รุ่นถัดไป

“เรามีระบบว่าพี่ต้องดูแลน้อง น้องต้องเชื่อฟังพี่ คอยแบ่งปันช่วยเหลือกัน เป็นสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน ถ้าเกิดทะเลาะกันต้องตกลงกันให้ได้ ถ้าเรื่องมาถึงน้านิตเมื่อไหร่ ต้องมีใครสักคนต้องกลับไปอยู่ที่บ้าน ไม่ได้มาทำงานที่นี่อีก เพราะฉะนั้น เด็กๆ จึงรักกันมาก เขารักผึ้งน้อย แล้วน้านิตเองก็ไม่ใช่นางพญาผึ้ง ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่น้าเลย ถึงไม่มีน้าก็ต้องมีผึ้งน้อย แล้วถ้าวันหนึ่งพวกเธอลุกขึ้นมาทำอะไรให้เด็กได้ จะทำต้องดีกว่าที่น้าทำ”

03

บทเพลงกีตาร์ไม้

ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย

นอกจากรายการตอนเย็นแล้ว อีกผลงานของ สโมสรผึ้งน้อย ที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนมาถึงทุกวันนี้ คือ XYZ วงดนตรีเด็กที่มาพร้อมกีตาร์ปลอมสุดเท่ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524

“ตอนนั้นวิทยุเปิดแต่เพลงผู้ใหญ่ เด็กก็เลยร้องแต่เพลงผู้ใหญ่ กระทั่งวันหนึ่งก็มีเด็กร้องเพลง ฉันรักผัวเขา ขึ้นมากลางรายการ เรายืนอึ้งไปเลย ตกใจทำไมร้องแบบนี้ น้าประชาเป็นคนคิดเรื่องทำเป็นวงเด็กถือกีตาร์ปลอม เอาเพลงดังๆ มาแปลงเนื้อให้เด็กร้อง แรกๆ ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นทำเป็นวงจริงจัง คิดว่าให้เด็กผลัดกันขึ้นมาเป็น XYZ แต่งตัวแฟนซีถือกีตาร์โฟมเต้น อิสระไม่ได้มีการกำกับท่าทาง แต่พอออกอากาศไปได้สามครั้ง เสียงตอบรับดีมาก เลยคิดกันว่าถ้าอยากจะทำให้เด็กหันมาร้องเพลงที่มีเนื้อหาเพื่อพวกเขาจริงๆ ก็ต้องทำให้ดัง ” น้านิตเท้าความถึงแนวคิดตั้งต้น

XYZ ยุคแรกประกอบด้วยสมาชิก 5 คน สมาชิกหลักที่น้านิตเล็งตัวไว้คือ ต่อ-สัมฤทธิ์ สนเพ็ชร เด็กชายวัย 11 ขวบ ซึ่งมีเอกลักษณ์เรื่องเสียงที่ทรงพลัง

“สำหรับคนทั่วไปในปัจจุบันเวลาพูดถึง XYZ ก็จะนึกถึงกลุ่มเด็กผู้หญิง แต่ XYZ ในยุคของ สโมสรผึ้งน้อย คือพี่ต่อ พี่ต่อเป็นฮีโร่ของเด็กผู้ชายในยุคนั้น พี่ต่อมีเสียงมหัศจรรย์ ศักยภาพในการร้องเพลงที่ยอดเยี่ยม ร้องโหนเสียงสูงๆ ได้สบายๆ ร้องจะให้ร้องอารมณ์ไหนพี่ต่อทำได้หมด เขามาสายร็อกได้เลย แต่ถ้าจะให้ต่อยืนคนเดียวคงไม่ใช่ เพราะเราไม่ปั้นใครคนใดคนหนึ่ง ผึ้งน้อยต้องมาเป็นทีม ก็เลยมีกลุ่มเด็กผู้หญิงมาร้องรับและเต้นสร้างสีสันอยู่ข้างหลัง”

พอดีช่วงนั้นวง Grand Ex’ กำลังโด่งดังสุดขีด น้าประชาจึงหยิบเพลงดังๆ อย่าง หัวใจมีปีก และ บัวน้อยคอยรัก มาแปลงเป็น รถไฟมีปีก และ บัวน้อยคอยแปรง ซึ่งเพลงหลังมีเนื้อหาชักชวนให้เด็กๆ แปรงฟัน พร้อมตั้งชื่อว่า Grand XYZ เพื่อล้อไปกับวงของผู้ใหญ่

ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย

ส่วนภาคดนตรี ด้วยความที่น้านิตกับน้าประชาชื่นชอบเพลงร็อก ก็ได้ น้าแก้ว-วีระ ภูริจิตปัญญา ผู้จัดการสวนสนุกแดนเนรมิต ผู้กว้างขวางในวงการดนตรี อาสามาเล่นกีตาร์ให้ และชักชวนเพื่อนๆ นักดนตรีมาช่วยทำดนตรีให้ คนแรกที่น้าแก้วชวนมาคือ อากอบ-กอบกิจ วีระเปรม เจ้าหน้าเทคนิคประจำห้องเทปมาเล่นเบสให้ และได้อาๆ จากวงคาไลโดสโคปมากันทั้งวง ทั้ง อาเกี๊ยก-สมโชค เล้าเปี่ยมทอง, อาหมู-ศิริศักดิ์ ศิริโชตินันท์ และ อากิตติ กาญจนสถิตย์ หรือ กิตติ กีตาร์ปืน รวมถึง อาโก้-ชูชาติ หนูด้วง มาเล่นกลองให้ นอกจากนี้ อาหมูยังไปชักชวน อามัน-เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง เจ้าของฉายา มือกลองปลิดวิญญาณ แห่งวง V.I.P. มาร่วมบันทึกเสียงด้วย เป็นเหตุให้ผลงานชุดแรกของ XYZ มีความเป็นร็อกสูงมาก 

อัลบั้มรถไฟมีปีก วางแผงเมื่อ พ.ศ. 2525 ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากแฟนเพลง และยังได้รับเชิญไปแสดงเป็นวงเปิดให้ Grand Ex’ ในคอนเสิร์ตต่างๆ เป็นประจำ แน่นอนว่าย่อมหมายถึงชื่อเสียงของ สโมสรผึ้งน้อย ที่โด่งดังตามไปด้วย

สำหรับน้านิตแล้ว เธออยากให้วงดนตรีนี้เป็นแบบอย่างของเด็กไทยยุคนั้น ให้รู้จักกล้าแสดงออก รู้จักรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนและงาน แต่ถึง XYZ จะเกิดจากเจตนารมณ์ที่ดี ทว่าด้วยความที่ยุคนั้นแทบไม่มีวงดนตรีเด็กแบบนี้เลย จึงถูกสื่อมวลชนบางสำนักวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรง

“ตอนนั้นสังคมไทยมีกรอบเยอะมากว่า เด็กต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จำได้ว่า XYZ โดนด่าเละเลย หาว่าเด็กวงนี้แรด มาเต้นเด้งหน้าเด้งหลัง แต่งหน้าอย่างกับผู้หญิงหากิน ตอนนั้นเลือดขึ้นหน้าเลย คือปกติเราไม่เคยใช้สื่อปกป้องตัวเอง แต่วันนั้นต้องออกแถลงการณ์เลยว่า XYZ คืออะไร แล้วเราก็บอกว่า คุณด่าเราได้ แต่อย่าด่าเด็ก”

หลังอัลบั้มแรกประสบความสำเร็จ น้านิตกับน้าประชาก็เดินหน้าทำอัลบั้มต่อไปทันที พร้อมเปลี่ยนชื่อวงเป็น XYZ อัลบั้มชุดที่ 2 คิดไม่ออก ถือเป็นการพลิกโฉมหน้าของวงการเพลงเด็กยุคนั้นเลยก็ว่าได้ โดยชุดนี้ได้ทีมงาน Butterfly เช่น ธนวัต สืบสุวรรณ, จิรพรรณ อังศวานนท์, สุรสีห์ อิทธิกุล, อัสนี โชติกุล และกฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา มาดูแลการผลิต ส่วนตัวเพลงก็โตขึ้นตามวัย เช่นเพลง คิดไม่ออก ซึ่งฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง ไปไหนก็มีแต่คนร้อง “คิดๆ เท่าไร คิดไม่ออกสักที”หรือบางเพลงก็หยิบยกปัญหาสังคมมานำเสนอ เช่น เอาไปเผา เล่าเรื่องพิษภัยของยาเสพติด

 นอกจากนี้ น้านิตยังพยายามฝึกทักษะทางด้านดนตรีให้เด็กๆ ด้วยการส่งไปเรียนดนตรีที่โรงเรียนศศิลิยะ พร้อมแนะนำว่าแต่ละคนควรเล่นเครื่องดนตรีอะไร จนพัฒนาการของสมาชิกวง XYZ ซึ่งตอนหลังเพิ่มเป็น 6 คน

กระทั่ง พ.ศ. 2530 XYZ ก็กลายมาเป็นสมาชิกใหม่ของ Grammy Entertainment โดยน้านิตเล่าสาเหตุที่ผลักดันให้เด็กๆ ไปอยู่ในสังกัดใหญ่ว่าเป็นเพราะแต่ละคนเริ่มโตกันแล้ว และทุกคนล้วนมีศักยภาพพอที่จะไปถึงดวงดาว หากยังให้ สโมสรผึ้งน้อย บริหารจัดการก็คงยาก เพราะบรรดาน้าๆ เองก็ไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้ ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดเลย เพราะถึงวันนี้บทเพลงของ XYZ ก็ยังโด่งดังและอยู่ในความทรงจำ ทั้ง กว่าจะรัก, สบายดีหรือเปล่า หรือ แอบเจ็บ

ที่สำคัญพวกเขาก็ยังเป็นต้นแบบของวงดนตรีเด็กไทยที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนมากมาย

ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย

“XYZ ไม่ใช่วงที่เล่นเก่งเลย แต่เขาเปิดโลกการเล่นดนตรีบนเวทีให้แก่เด็กๆ ทำให้พ่อแม่หลายคนกล้าให้ลูกเล่นดนตรี อย่าง เอ๋ (อรนิดา วิมลวัฒนาภัณฑ์) ก็เล่นดนตรี แล้วสอบติดธรรมศาสตร์ วันก่อนสอบยังต้องไปถ่ายมิวสิกวิดีโออยู่ที่แกรมมี่เลย ตรงนี้มันพิสูจน์ให้เห็นว่า การเล่นดนตรีไม่ได้ทำให้ชีวิตเสียหาย ถ้าเรารู้จักแบ่งเวลา เพราะฉะนั้น อย่าไปเที่ยวโทษนั้นโทษนี่ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเอง”

นอกจาก XYZ เมื่อ พ.ศ. 2528 สโมสรผึ้งน้อย ยังสร้าง โบว์สีชมพู วงเด็กผู้หญิง 4 คน ซึ่งร้องเพลงสำหรับเด็กเล็กๆ มี เนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์โลก เทศกาลสำคัญ กิจวัตรประจำวัน ไปจนถึงอาชีพต่างๆ โดยเกิดจากการเสนอของน้าประชา ที่เห็นว่าเพลงของ XYZ หนักเกินไปสำหรับเด็กเล็กๆ ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ทำกิจกรรม น้าประชาเลยเขียนเพลงเหล่านี้ขึ้นมา โดยได้ อิทธิ พลางกูร เป็นผู้ทำดนตรีให้ทั้งสองชุดซึ่งเพลงหนึ่งที่ทุกคนคงรู้จักกันดีก็คือ มดตัวน้อยตัวนิด 

ถึงวันนี้ XYZ หรือโบว์สีชมพู จะเป็นเพียงแค่อดีต แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นคือ เด็กไทยนั้นมีความสามารถไม่แพ้ใคร ขอแค่โอกาสและการสนับสนุนที่ดี พวกเขาย่อมสามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิมได้อย่างแน่นอน

04

ผึ้งน้อยลาจอ

ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย

แม้จะได้รับความนิยมจากเด็กๆ อย่างล้นหลาม ถึงขั้นเคยจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่แดนเนรมิตและโรงละครแห่งชาติมาแล้ว ตลอดจนได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงกับพี่ๆ นิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน แต่ปัญหาหนึ่งที่ สโมสรผึ้งน้อย ต้องเผชิญอยู่ตลอด คือหาผู้สนับสนุนรายการไม่ค่อยได้

อย่างช่วงปีที่ 2 น้านิตเคยเกือบขอคืนเวลาให้สถานี เนื่องจากหมดทุนในการทำรายการ และเริ่มค้างชำระค่าสถานี โชคดีที่ พล.ต.ประทีป ชัยปาณี หัวหน้าฝ่ายรายการของช่อง 5 เรียกพบเพื่อให้ความช่วยเหลือ โดยท่านเสนอให้เวลาจัดรายการฟรี แต่น้านิตคิดว่าเราทำธุรกิจ ควรสู้ด้วยตัวเองด้วย จึงขอความกรุณาให้ลดค่าสถานีครึ่งราคา ซึ่งท่านก็เมตตาลดให้ รายการจึงสามารถดำเนินการต่อได้อีกหลายปี

น้านิตบอกว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้รายการเด็กในเมืองไทยไม่สามารถยืนระยะได้นานเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่ระดับผู้บริหารใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นตัวตัดสิน 

“ผู้ควบคุมรายการเด็กส่วนใหญ่จะเอาตัวเองเป็นตัวประเมิน ไม่ได้เอาเด็กเป็นตัววัด ซึ่งบางท่านก็ไม่เข้าใจ ชอบเปลี่ยนรูปแบบรายการ เปลี่ยนพิธีกร โดยบอกว่าเบื่อแล้ว ขึ้นเฟสใหม่ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้ว เด็กเล็กชอบดูอะไรซ้ำๆ รักอะไรก็จะเป็นรักฝังใจ ดูได้ไม่เบื่อ ถ้ารายการไหนทำแล้วเด็กชอบก็ควรรักษารูปแบบไว้ พิธีกรคนไหนที่เด็กรักแล้วก็ควรรักษาไว้ ไม่ฆ่าทิ้งให้เด็กร้องหาว่าพี่ไปไหน ทำไมไม่มีรายการที่หนูดูอยู่แล้ว ทางสถานีควรมุ่งพัฒนาคุณภาพรายการให้ดีขึ้น ไม่ใช่เปลี่ยนรูปแบบที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากเด็กๆ แล้ว

ย้อนความทรงจำน้านิต ผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อย ต้นแบบรายการเด็กเมืองไทย

“เราต้องไม่ลืมว่ามีเด็กเกิดใหม่ทุกปี เด็กรุ่นใหม่ก็น่าจะได้ดูอะไรที่ดีๆ อย่างที่รุ่นพี่ๆ ได้ดู อย่างรายการเด็กของญี่ปุ่น หรือ รายการ Sesame Street ของอเมริกา มีอายุยืนยาวมาก และยังคงรูปแบบที่เด็กๆ รักและคุ้นเคยไว้แทบไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ต่างจากบ้านเรา ผู้คุมรายการเด็กจะพิจารณาเพื่อถอดรายการออกทำนานแล้ว ไม่ได้พิจารณาที่จะช่วยพัฒนาให้รายการให้ดีขึ้น ให้อยู่เป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ของเด็กไทยตลอดไป”

ถึงจะลำบากเพียงใด น้านิตและทีมงานก็สู้ไม่ถอย เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคือความสุขของเด็กๆ นั่นเอง ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กกว่าร้อยชีวิตที่มาร่วมรายการ แต่ยังรวมไปถึงเด็กนับแสนที่เปิดช่อง 5 รอคอยการมาถึงของสโมสรผึ้งน้อย

จากแนวคิดนี่เอง ทำให้น้านิตยึดหลักการประโยชน์ของเด็กต้องมาก่อนเรื่อยมา หลายครั้งที่เธอตัดสินใจปฏิเสธเงินก้อนโต เพื่อแลกกับการไม่ทำกิจกรรมที่กระทบต่อความรู้สึกเด็ก เช่นครั้งหนึ่ง สโมสรผึ้งน้อย เคยจัดกิจกรรมชื่อ อนุบาลเสียงใส โดยนำเด็กอนุบาลมาร้องพลงแข่งกัน แต่ทำได้เพียง 2 ครั้งเท่านั้น น้านิตก็เลิกจัดงานประกวดเด็ดขาด

“น้านิตได้ยินเด็กที่ไม่เข้ารอบถูกเรียกว่า ไอ้ขี้แพ้ จากคนในครอบครัว เราฟังแล้วตกใจ เลยกลับมาพิจารณากับทีมงานว่า ไม่ควรทำดีกว่า แม้มีสปอนเซอร์หรือทำแล้วรายการดังก็ตาม เพราะเรารู้สึกว่ากำลังทำร้ายจิตใจเด็ก การประกวดแต่ละครั้งมีเด็กเป็นร้อยๆ เลยนะที่มาร่วม และก่อนหน้านั้น ทางโรงเรียนยังคัดเด็กเป็นร้อยๆ คนมาร่วมประกวดกับเรา เราได้ที่หนึ่งแค่คนเดียว พร้อมกับสร้างผู้แพ้ไว้นับพัน ไม่คุ้มกันเลย เพราะเด็กอนุบาลชีวิตเพิ่งเริ่มต้น ต้องการกำลังใจที่จะก้าวเดินอย่างมั่นคง แต่กลับต้องกลายเป็นผู้แพ้ตั้งแต่แรก ซึ่งเราคิดว่ามันไม่ใช่ เขาไม่ควรจะให้เจออะไรแบบนั้น”

น้านิตดูแล สโมสรผึ้งน้อย มานานหลายปี โดยระหว่างนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการตามความเหมาะสม เช่นหันมาใช้ระบบบันทึกเทปแทนการถ่ายทอดสด บางช่วงก็ขยายเวลาออกอากาศเป็นทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี รวมทั้งมีสมาชิกผึ้งน้อยบางคนที่โตขึ้นและเข้ามาช่วยเป็นทีมงานของรายการ

กระทั่ง พ.ศ. 2537 น้านิตเริ่มรู้สึกเหนื่อย อีกทั้งแนวคิดการทำงานกับหุ้นส่วนบางคนที่ไม่ตรงกันเท่าใด จึงตัดสินใจถอยออกมา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ผลงานตามแบบฉบับของตัวเองเต็มที่

แต่ถึงจะวางมือจากงานที่ทุ่มเทมากว่า 16 ปี น้านิตก็ไม่เคยถอดใจจากการทำสื่อเพื่อเด็กเลย เธอยังคงบุกเบิกรายการใหม่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ ลูกเจี๊ยบเสียงใส ทาง UTV, เห็ดหรรษา ทาง ITV และ ขบวนการFunน้ำนม ทาง Thai PBS เพราะสำหรับน้านิตแล้ว รายการเด็กเป็นสื่อที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการความคิดและนิสัยของเด็ก

“รายการเด็กที่ดีควรเป็นรายการที่สร้างขึ้นมาเป็นเพื่อนที่เด็กๆ ไว้ใจได้ ทำให้เด็กได้เรียนรู้จักการอยู่บนโลกใบนี้อย่างมีความสุข เราต้องคิดอยู่เสมอว่า เด็กจะซึมซับสิ่งที่เราทำให้เขาดูไว้ ดังนั้นเวลาสร้างรายการจึงต้องระลึกอยู่เสมอว่าเรากำลังสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็กๆ ด้วย ต้องไม่ลืมจินตนาการ และแรงบันดาลใจที่จะทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ เพราะสำหรับน้านิตแล้ว โทรทัศน์เป็นสื่อที่ต้องรักษาไว้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือเดียวที่เข้าถึงเด็กและครอบครัวจะนั่งดูพร้อมกันได้ ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กเป็นอย่างมาก ทีวีช่องวัยรุ่น ช่องผู้ใหญ่ถูกยุบ แต่เขาเลือกเก็บช่องเด็กไว้ และให้ความสำคัญกับการสร้างรายการให้มีคุณค่ามากขึ้น

“แน่นอนว่า เราไม่อาจปิดกั้นเด็กจากการเสพสารพัดสื่อออนไลน์ในมือถือ เราไม่สามารถควบคุมสารพัดความหยาบโลน และรุนแรงในรายการทาง YouTube แต่ในจอทีวีเราสามารถสร้างรายการดีๆ ที่มีรสนิยมให้กับเด็กๆ ของเราได้ เราสามารถช่วยกันสร้างสรรค์รายการดีๆ ให้เป็นเพื่อนที่ไว้ใจได้ของเด็กและครอบครัว ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญและลงมือทำอย่างจริงจัง อย่าสรุปง่ายๆ ว่าเดี๋ยวนี้เด็กไม่ดูทีวีแล้วจึงไม่ต้องทำ” 

05

การกลับมาของผึ้งน้อย

หลังปล่อยให้ผึ้งน้อยกลายเป็นความทรงจำที่ดีมานานหลายปี น้านิตซึ่งวันนี้ได้กลายเป็นย่านิต ก็ตัดสินใจพาชื่อผึ้งน้อยกลับมาอีกหน ด้วยการผลิตรายการ ผึ้งน้อยมหัศจรรย์ เผยแพร่ทาง Thai PBS เมื่อ พ.ศ. 2559 แต่ทำได้เพียง 3 เดือนก็ต้องปิดตัวลง 

แม้รายการ ผึ้งน้อยมหัศจรรย์ จะไม่ประสบความสำเร็จเหมือนสโมสรผึ้งน้อย แต่ก็เป็นแรงผลักดันให้น้านิตลุกขึ้นมาทำโครงการผึ้งน้อยนักสู้ สู่สำนึกแห่งความเป็นพลเมือง กระบวนการสร้างคนรุ่นใหม่ให้ใส่ใจ สังคมและประเทศชาติ กับกองทุนทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในปี พ.ศ. 2560

น้านิตเริ่มต้นสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ มาทำกิจกรรมร่วมกันที่สวนศึกษาผึ้งน้อยนักสู้ ณ พึ่งสุขฟาร์มอินทรีย์ ย่านคลองหลวง โดยได้รับการแบ่งปันพื้นที่และทุนเบื้องต้นจากสี่พี่น้องวงศ์ประทีป คือ รศ.วรรณี อุดมผล, ดร.ดวงมณี วงศ์ประทีป, ดร.สาธิต วงศ์ประทีป และ อ.ดวงเนตร วงศ์ประทีป ซึ่งเอ่ยปากกับน้านิตว่า 

“น้านิตไม่อยากทำอะไรให้เด็กๆ บ้างเหรอ มาใช้พื้นที่ที่นี่ได้นะ ถ้ามาอยู่ก็จะสร้างบ้านให้อยู่ด้วย”

“ตอนนี้น้านิตไม่ใช่นักสร้างฝัน แต่มาเป็นย่านิตนักสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่เด็กจะได้คิดและลงมือทำให้สำเร็จด้วยตัวเอง ที่สำคัญน้านิตคิดว่า เด็กควรเรียนรู้ผ่านการเล่น เราจึงออกแบบกิจกรรมให้เขาได้เล่น เล่นแล้วได้คิด ได้มองเห็นปัญหาและคิดวิธีการแก้ไขปัญหา”

ครั้งนั้น น้านิตพยายามเลือกโจทย์ที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด อย่างขยะที่อยู่ในมือ พร้อมกับจัดกิจกรรมทดลองตามสายไปตามโรงเรียนต่างๆ 5 แห่ง เน้นส่งเสริมให้ทุกคนแยกก่อนทิ้งและหาวิธีแปรรูป เพื่อจะได้ไม่กลายเป็นภูเขาขยะต่อไป

“เราบอกเด็กๆ ว่า ถ้าหนูไม่ลุกขึ้นสู้ ลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ ต่อไปจะต้องมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก อาหารที่กิน อากาศที่หายใจ และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยจะปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี แล้วเราจะต้องอยู่ในระบบที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว แต่ถ้าช่วยเหลือกัน แบ่งปันกัน สังคมก็จะมีความสุข อย่างเศษขยะในมือ หากทิ้งลงถังขยะรวม สุดท้ายก็ไปจบชีวิตในหลุมฝังกลบ แต่ถ้าล้างสักหน่อยปล่อยให้แห้งแล้วอัดลงไปขวด ก็จะกลายเป็นขวดอีโคบริกส์ ซึ่งเด็กๆ ตั้งชื่อว่าขวดพลาสอิฐ

“จากนั้นพอเราบอกว่าขวดนี้เอามาทำบ้านได้ ทุกคนตาโตเลย เราก็เลยถามต่อว่าอยากทำไหม มาช่วยกันทำดีกว่า ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ คุณครูน้อย-นฤวรรณ ธรรมรัตน์สิริ จากโรงเรียนวัดดอนเมือง (ทหารอากาศอุทิศ) โทรศัพท์มาบอกว่า ‘น้านิตคะ ขวดพลาสอิฐเสร็จแล้ว ต้องทำยังไงต่อ’ ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้ทันจัดการเรื่องพื้นการสร้างบ้านดินด้วยขวดพลาสอิฐ ยังไม่เคยทำด้วยซ้ำ ก็ต้องเริ่มที่จัดกิจกรรมการทำบ้านดินที่พึ่งสุขฟาร์มอินทรีย์ ได้ ครูริน-ไพริน พงษ์สุระ มาเป็นวิทยากร แล้วให้เด็กๆ ขนขวดพลาสอิฐที่ทำมา ปรากฏว่าเด็กขนขวดมาแค่ห้าสิบสองใบ สร้างบ้านดินไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร เอาใช้มาทดลองก่อกับดินดูว่า จะก่ออย่างไรให้เป็นผนังบ้านได้ ขวดห้าสิบสองใบได้จุดประกายให้เกิดบ้านดินขวดพลาสอิฐ บ้านแห่งความรับผิดชอบของทุกคน

“ต่อมาพอเพจผึ้งน้อยนักสู้นำเสนอเรื่องราวของบ้านดินขวดพลาสอิฐที่เกิดจากฝีมือของเด็ก รายการ ทุ่งแสงตะวัน ก็มาถ่ายทำเรื่องราวไปนำเสนอ ขวดพลาสอิฐจึงถูกส่งมาจากทุกสารทิศ ไม่นานขวดพลาสอิฐนับพันใบก็มานอนรอการนำไปสร้างเป็นผนังบ้านดิน แต่ระหว่างช่วงก่อสร้าง ย่านิตสังเกตเห็นว่า เวลาอธิบายเรื่องนี้ให้เด็กๆ หรือผู้คนที่สนใจฟัง แต่ละคนมักต้องยืนบังกัน ก็เลยเกิดความคิดที่จะสร้างที่นั่งฟังแบบอัฒจรรย์ดีกว่า บ้านดินขวดพลาสอิฐจึงแปลงกายมาเป็นเวทีนิทานในบ้านดินแทน” 

แม้เป็นเพียงการขับเคลื่อนเล็กๆ แต่น้านิตก็หวังว่า ผึ้งน้อยนักสู้จะช่วยจุดพลังใจให้เด็กเด็กลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ เพื่อผู้อื่น ที่สำคัญเราได้สร้างพื้นที่ต้นแบบในการปลูกฝังความรับผิดชอบแก่เด็กไทย ให้เขาตระหนักว่า ตัวเองมีภารกิจสำคัญ ที่จะต้องปกป้องดูแลโลกใบนี้ ย่านิตหวังว่าผึ้งน้อยนักสู้จะเติบใหญ่เป็นที่พึ่งพิงของสังคมได้ต่อไป

“เด็กมีโลกของเขา มีจินตนาการของเขา มีความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งมันเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเคารพ อย่าไปเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องยัดเยียด แต่ทำยังไงให้เขาได้อยู่ถูกที่ถูกเวลา แล้วเด็กๆ ก็จะทำงานและประสบความสำเร็จในแบบที่เป็นตัวเอง” น้านิตผู้สร้างตำนานสโมสรผึ้งน้อยสรุปทิ้งท้าย

ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง

บทสัมภาษณ์คุณภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ วันที่ 29 มกราคม 2564

วารสาร สื่อสารมวลชน ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 เดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2524

นิตยสาร สาวสวย ปีที่ 12 ฉบับที่ 142 เดือนเมษายน 2530

นิตยสาร ลลนา ฉบับที่ 428 เดือนพฤศจิกายน 2533

นิตยสาร DDT ปีที่ 3 ฉบับที่ 32 เดือนกันยายน 2550

บทความชุด คิดถึงผึ้งน้อย โดยคุณศคณ สิริวัฒน์ชูโชติ

ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก สมาชิกสโมสรผึ้งน้อยทุกคน, เพจตามหา สโมสรผึ้งน้อย และเพจสมาชิกสโมสรผึ้งน้อย ครบรอบ 40 ปี

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน