The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
30 กว่าปีที่แล้ว มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางท่องเที่ยวเข้าไปในป่าลึกของดงดอยทางภาคเหนือ ใช้เวลา 4 วันค่อย ๆ เดินชื่นชมธรรมชาติจากดอยนี้ สู่ดอยนั้น และดอยโน้น ในการเดินทางครั้งนั้น เธอพบกับหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์แห่งหนึ่งท่ามกลางป่าดอย ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างประหลาดใจ เพราะไม่ค่อยพบเห็นผู้หญิงจากในเมืองเดินป่าลุยดงเช่นนี้ ด้วยความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ผู้หญิงจึงขอน้ำดื่มจากชาวบ้าน แต่สิ่งที่เธอได้รับกลับไม่ใช่แค่เพียงน้ำดื่มสักแก้ว แต่เป็นน้ำใจของชาวบ้านที่หาที่นั่งพัก หาอาหารมาให้เธอกิน และชวนเธอพูดคุยอย่างเป็นกันเอง บทสนทนาในวันนั้นเป็นไปราวกับว่าเธอเคยรู้จักกับชุมชนนี้มาเนิ่นนาน พวกเขาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันตั้งแต่เรื่องทุกข์-สุขของแต่ละคน พูดถึงงานฝีมือที่ชุมชนทำ
พวกเขาร่ำลากันด้วยการสวมกอด ก่อนให้เธอเดินทางในเส้นทางของเธอต่อไป

ผู้หญิงคนนั้นออกจากป่ากลับสู่เมือง โดยได้ผ้าทอของคนในชุมชนกลางป่าติดมือกลับมาด้วย พร้อมกับน้ำใจและความเป็นกันเองของชาวบ้านที่ยังคงตราตรึงประทับในหัวใจของเธอ
“ณ วันนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเราได้แบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน สิ่งที่เขากังวล สิ่งที่ยากลำบากในชีวิตของเขาและของเรา เราคุยกันได้เหมือนเราไม่ได้มีระดับที่ต่างกัน เราเป็นคนไปกอดเขา เขาบอกว่าเขาไม่เคยเจอคนเมืองที่ทำแบบนี้กับเขา เรามีความรู้สึกว่าที่จริงแล้วทุกคนต้องการจะเชื่อมถึงกัน ต้องการคนที่เข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน ไม่ใช่ดูหมิ่นกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่ชุมชนต้องการคืออะไร
“ลีซู ลอดจ์ เกิดขึ้นจากความรู้สึกของวันนั้น อะไรที่เราช่วยเหลือเขาได้ เราจะทำ”

นี่คือเรื่องราวความประทับใจในความทรงจำของ แอน-ชนัญญา ภัทรประสิทธิ์ กรรมการบริหาร บริษัท อาเซียน โอเอซิส จำกัด บริษัทนำเที่ยวที่มีแนวคิดความยั่งยืน (Sustainable) ที่พยายามดูแลสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชนผ่านการท่องเที่ยว จากประสบการณ์ความประทับใจที่ได้รับในวันนั้น ทำให้เธออยากพาผู้คนมาสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกับเธอ เรียนรู้วิถีและวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนดอย และส่งเสริมสภาพแวดล้อมชุมชนในพื้นที่ไปด้วย นี่เองคือจุดเริ่มต้นของ ‘ลีซู ลอดจ์ (Lisu Lodge)’


ลีซู ลอดจ์ คือที่พักที่ตั้งอยู่กับชุมชนลีซูในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่พักที่คำนึงถึงความยั่งยืน การเกิดขึ้นของที่นี่ต้องส่งเสริมสภาพแวดล้อมของที่นี่ให้ดีขึ้น ทั้งธรรมชาติและชุมชน ทุกอย่างที่ลีซู ลอดจ์ ได้ไปเกี่ยวข้องจะไม่ทำให้อะไรแย่ลง ตั้งแต่กระบวนการก่อสร้างที่พักที่ในทุกขั้นตอนไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุพื้นถิ่นและช่างพื้นถิ่นมาทำงานด้วยกัน ประกอบกับมีพื้นที่ติดกับแหล่งน้ำของชุมชน ต้นไม้พืชพรรณภายในที่พักทุกต้นล้วนปลูกโดยไม่ใช้สารพิษ นอกจากนั้นที่พักแห่งนี้ยังส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน มีการจ้างงานคนในชุมชน และรายได้จากที่พักก็แบ่งใหกับกองทุนชุมชนเพื่อนำไปพัฒนาในสิ่งที่ชุมชนต้องการจริง ๆ รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนจัดทำบริการท่องเที่ยว เช่น ล่องแพ ล่องแก่ง ปั่นจักรยานทัวร์ชุมชน ฯลฯ โดยลีซู ลอดจ์ สนับสนุนให้แขกอุดหนุนบริการท่องเที่ยวจากชุมชนโดยตรง
ซึ่งเป็นแนวคิดที่ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่สำหรับที่พักแห่งนี้ได้ทำมาก่อนแล้วมากกว่า 30 ปี ในวันที่โลกยังไม่หันมาสนใจคำว่า Sustainable หรือการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชน แนวคิดที่พักที่เธอกำลังทำจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนจะเข้าใจได้ง่าย ๆ เลย ณ เวลานั้น แต่เธอก็เลือกพยายามทำมาจนถึงปัจจุบัน
“เราคิดเสมอว่า ในที่สุด ลีซู ลอดจ์ จะต้องเป็นของชุมชน เราอยากให้ผู้จัดการเป็นคนในชุมชนให้ได้ ยอมรับว่า 30 ปี เรายังทำไม่สำเร็จ แต่ค่อย ๆ ขยับสู่เป้าหมายนั้น นี่คือสิ่งที่เราอยากทำในทุกธุรกิจที่เราทำกับชุมชน อย่างตอนนี้ ไกด์พาเดินหมู่บ้านลีซูก็เป็นคนในชุมชน พูดภาษาอังกฤษได้ ธุรกิจท่องเที่ยวโดยรอบที่เราพาแขกไปก็ทำโดยคนในชุมชน แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องค่อย ๆ ทำกันต่อไปจนสำเร็จ”

30 ปีที่แล้ว แอนเริ่มต้นทำลีซู ลอดจ์ ที่แรก โดยสร้างอาคารไม้ไผ่หลังคามุงจากแบบบ้านลีซู ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนลีซู ให้ผู้มาพักได้สัมผัสวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิด ต่อมาเธอค่อยขยับและขยายที่พักมาอยู่บริเวณใกล้เคียงกับชุมชน รองรับแขกจำนวนมากขึ้น ตัวที่พักยังคงสร้างด้วยวัสดุจากไม้ไผ่ หลังคามุงจากโดยฝีมือช่างพื้นถิ่น สร้างให้มีรูปทรงคล้ายกับบ้านดั้งเดิมของชุมชน ภายในห้องพักออกแบบให้อยู่อย่างสบาย มีเตียง มีห้องน้ำ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน พนักงานของที่นี่ล้วนเป็นคนในชุมชน และที่นี่ยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงกับชุมชนจำนวนมากให้ผู้มาพักได้เลือกไปสัมผัส ตั้งแต่มีไกด์ท้องถิ่นนำเดินในชุมชน เรียนรู้วิถีของลีซู เดินป่าชมธรรมชาติ และเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้พื้นถิ่นมาเพาะในโรงเลี้ยงของทางที่พักก่อนนำกลับไปปลูกต่อในป่า หรือจะล่องแพไปตามสายน้ำที่จัดโดยชุมชนเช่นเดียวกัน และสำหรับแขกที่มาพัก ลีซู ลอดจ์ เก็บค่าบริการเป็นรายหัว เพื่อแบ่งเงินให้ชุมชนไว้เป็นกองทุนหมู่บ้านให้พัฒนาชุมชน


“คำว่า พัฒนา เป็นปัญหาสำหรับเรานะ หลายครั้งคนข้างนอกชอบบอกให้คนในชุมชนพัฒนาแบบนี้ แบบนั้น เป็นแบบที่คนภายนอกอยากให้ชุมชนเป็น ทำไมเราเคารพวัฒนธรรมของเขาไม่ได้ ให้เขาภูมิใจในสิ่งที่เขามีไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเขาก็ขาดเอกลักษณ์ และผู้คนก็จะเหมือนกันไปหมด ซึ่งเราเชื่อว่าชุมชนเขาพัฒนาอยู่แล้ว เพียงแต่เขาพัฒนาในวิถีของเขาเท่านั้นเอง เราคิดว่าเราต้องให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาต้องการที่จะเป็น เขาถึงจะอยู่อย่างมีความสุข เราเชื่อในการพัฒนาที่ให้เขาเป็นเขา มันดีที่สุดแล้ว”
สิ่งที่แอนทำเมื่อสร้างลีซู ลอดจ์ เสร็จสิ้น คือเข้าไปคุยกับชุมชน สร้างความเข้าใจร่วมกันว่าสิ่งที่เธอต้องการทำให้เกิดกับที่พักแห่งนี้ คือการเปิดประตูให้ผู้คนเข้ามาเห็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนอย่างที่ชุมชนเป็น ไม่จำเป็นต้องแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศ ขอให้ชุมชนเป็นในสิ่งที่พวกเขาเป็น นั่นดีอยู่แล้ว

“เราอยากให้เกิดการท่องเที่ยวแบบ Experience Travel เวลาแขกมาพักที่นี่เราจะมีไกด์ชุมชนพาเดินในหมู่บ้านตามสภาพที่เขาอยู่ พร้อมอธิบายไปด้วย และเราต้องสื่อให้เขามองเห็นภาพบวกไม่ใช่ภาพลบ มองในภาพที่เข้าใจวิถีชีวิตชุมชน เขาอยู่อย่างนี้ เขามีความสุขแบบนี้ นี่คือวิถีของเขา
“อย่างตอนไปบ้านหมอผี ซึ่งเราเคยทำทัวร์มาก่อน เรารู้ว่ามันต้องมีช่วงอธิบาย ให้นักท่องเที่ยวนั่งคุยกับหมอผี ให้เขารู้จักหมอผี รู้จักพิธีกรรม ความเชื่อของชุมชน และค่อยปล่อยให้เขาทำพิธีให้แขกดู นักท่องเที่ยวจะสัมผัสวิถีชุมชนจริง ๆ ไม่ใช่ปรุงแต่งอะไรขึ้นมา แอนไม่เชื่อในตรงนั้น อาจเพราะแอนไปเดินป่าเยอะ ไปเจอชุมชนเยอะ ระหว่างเราเดิน กับความดิบ ๆ มันมีความสวย มีเอกลักษณ์ มีความจริง มากกว่าอะไรที่ปรุงแต่งขึ้นมา ให้มันเป็นความจริงที่สุด ดิบที่สุดที่มันจะดิบได้ ส่วนที่พักของเรา เราเน้นความสะอาด ความปลอดภัย และการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยน โดยสิ่งที่เราจะทำต้องไม่กระทบกันและกัน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน นี่คือ 4 เสาของบ้านที่เราพยายามจะทำให้มันเป็นหลักการของเรา”


นอกจากการพาแขกที่มาพักไปสัมผัสกับวิถี วัฒนธรรมของชุมชน แอนยังมองว่าลีซู ลอดจ์ เป็นสถานที่ที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน อะไรที่ช่วยเหลือได้ก็จะพยายามช่วย
“หน้าที่ของเราคือสร้างงาน สร้างธุรกิจขึ้นมาให้เขา ให้เขาบริหาร อย่างกิจกรรมเดินป่าก็เอาคนในพื้นที่มาพัฒนาร่วมกัน มีกิจกรรมให้เก็บเมล็ดระหว่างเดิน มีคนคอยอธิบายว่าต้นนี้คืออะไร พอเขาลงมาที่พัก เราจะมีโรงเพาะให้เขานำเมล็ดที่เก็บมาเพาะ อีก 1 ปีเราก็เอาต้นอ่อนเหล่านี้ไปปลูกคืนสู่ป่า ซึ่งเราศึกษาร่วมกับหน่วยงานฟื้นฟูป่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เราปลูกแต่ต้นไม้ในพื้นที่ ต้นที่เอื้อประโยชน์ต่อต้นไม้รอบข้าง ต่อป่า เราทำสิ่งนั้นมาตลอด และนักท่องเที่ยวก็ได้เห็นกิจกรรมที่เราทำ เขาได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไป ตอนเราเริ่มทำ อำเภอแม่แตงยังไม่เคยมีการล่องแพยาง เราก็เป็นคนเริ่มเอาเทรนเนอร์มาจากนิวซีแลนด์ สอนคนในชุมชน ให้คนในชุมชนมีธุรกิจการท่องเที่ยวล่องแพ
“ส่วนลีซู ลอดจ์ เราพยายามให้คนในชุมชนมาทำงาน เราหาทีมที่ทำเป็นมาช่วยสอนงานบริการให้กับเขา แน่นอนว่าวิถีของเขากับของเราแตกต่างกัน ช่วงแรกก็ลำบากหน่อย เช่น การปูที่นอน แค่เตียงก็มีเป็น 11 อย่างที่ต้องจัดการ คนในชุมชนก็ตกใจ เพราะเขานอนบนแคร่ มีหมอนง่าย ๆ ก็พอแล้ว อันนี้ต้องมีทั้งฟูก ผ้ารองฟูก มีผ้าห่ม มีปลอก มีหมอนต่าง ๆ เต็มไปหมด ต้องใช้เวลาฝึกฝนอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เราก็ฝึกสอนกันด้วยบรรยากาศสนุก ๆ นะ เขาก็คงคิดแหละว่าเราต้องบ้าแน่ ๆ ทำไมแค่เตียงไว้นอนมันต้องมีอะไรเยอะแยะขนาดนี้” แอนหยุดหัวเราะสนุกสนานเมื่อย้อนนึกถึงบรรยากาศในวันวาน
“เรื่องการวางพวกช้อนส้อม การจัดโต๊ะกินข้าวต่าง ๆ หรือการเดินเข้าหาลูกค้าที่นั่งอยู่ที่โต๊ะยังไง เราต้องฝึกเขาให้ทำให้เป็น จนมันกลายเป็นบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกันนะคะ ไม่ใช่แค่เราเองที่ได้เรียนรู้วิถีของชุมชน ชุมชนเองก็จะได้เรียนรู้วิถีของคนในเมืองด้วยเหมือนกัน”


อาหารที่เสิร์ฟภายในที่แห่งนี้ก็เป็นอาหารของชุมชน วัตถุดิบทุกอย่างใช้จากในชุมชนที่เป็นผู้ปลูกร่วมกับที่พัก ต้องเป็นการปลูกที่ปลอดภัย ปลอดสารพิษ เพื่อไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมรวมถึงผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม แอนมองว่าการสร้างอาชีพให้กับชุมชนยังไม่เพียงพอที่จะช่วยทำให้ชุมชนมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี หลายครั้งเธอต้องเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญ
“ตอนมาทำที่พัก เราค้นพบว่าแถวชุมชนไม่มีโรงเรียน ถ้าเด็กเล็ก ๆ จะเรียนหนังสือต้องเดินเท้าจากชุมชนลงมาเป็นวันถึงจะเจอโรงเรียน บางคนต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่เพื่อจะได้เรียนหนังสือ เราไม่อยากให้เด็กห่างจากครอบครัวตั้งแต่เล็ก เราเลยคิดโครงการคืนสู่ดอยขึ้นมา เราทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยหาครูขึ้นไปสอนบนดอย นักท่องเที่ยวบางคนก็มีโอกาสช่วยสอนเด็ก ๆ เขาก็มีความรู้สึกดีที่มีส่วนช่วย
“เงินกองทุนชุมชนที่เราให้เขาไป เราไม่พยายามเข้าไปแทรกแซงหรือชี้นำ เราวางตัวเป็นที่ปรึกษา ให้ชุมชนตกลงกันเอง เราแค่คอยดูว่าช่วยเหลืออะไรให้เกิดขึ้นตามที่ทางชุมชนต้องการได้ ช่วงแรก ๆ ทางชุมชนมองว่าอยากมีรถกระบะสักคันเพื่อใช้รับส่งเด็ก ๆ ไปโรงเรียน เราก็ช่วยจัดการให้
“อย่างที่บอกว่าธุรกิจรอบด้านที่ลีซู ลอดจ์ ทำ เป็นของชุมชนทั้งหมด เราให้เขาเป็นคนสร้างธุรกิจเอง และเราเป็นผู้ไปใช้บริการเขา ทำไปด้วยกัน ทำให้เขาได้เห็นว่ามีคนเปิดรับวิถีชีวิต รับวัฒนธรรมของเขา เขาก็ดีใจนะที่คนเปิดรับ และเขาไม่อยากเป็นชุมชนที่ต้องแบมือขอ นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำไม่ให้เขาเป็นแบบนั้น เขาต้องยืนได้ด้วยตัวเอง นั่นคือสิ่งที่จะได้จากที่พักตรงนี้ ท้ายที่สุด เราอยากให้เขาไม่จำเป็นต้องพึ่งลีซู ลอดจ์ ด้วยซ้ำ ให้เขายืนด้วยตัวเองได้แบบสบาย ๆ กลายเป็นเราด้วยซ้ำไปที่เป็นฝ่ายพึ่งเขา”

ทุกสิ่งเมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ชุมชนลีซูแต่เดิมเคยมีแค่เพียงไม่กี่สิบหลังคาเรือน ปัจจุบันมีคนเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งที่ใช่และไม่ใช่ชาติพันธุ์ลีซู เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่เธอเพิ่งเริ่มทำลีซู ลอดจ์ การปรับตัวจึงต้องเกิดขึ้น
“เราดีใจที่ได้เห็นว่าวันนี้ชุมชนมีความเข้มแข็ง เขาไม่คล้อยตามนายทุนต่าง ๆ ที่เข้ามา หรือเวลามีหน่วยงานไหนเข้ามาพยายามให้เขาเปลี่ยน เขาก็ไม่เอา ชุมชนเขารู้ตัวเองแล้วว่าอะไรดีต่อเขา
“เขาเข้มแข็งนะ เข้มแข็งในการเป็นชนเผ่าลีซู ลูกหลานหลายคนในชุมชนออกไปทำงานในต่างประเทศเพื่อส่งเงินกลับมาที่บ้าน และท้ายที่สุดพอเขากลับมา เขาก็เลือกที่จะกลับมาอยู่ในชุมชน ในวิถีเดิมของเขา นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน และปัจจุบันมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในละแวกใกล้กับชุมชนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ลีซู เราก็ต้องพยายามบอกเขาว่าเขาต้องเข้มแข็งก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับชนเผ่าอื่น ๆ ด้วยนะ ต้องช่วยเหลือกันและกัน เพราะเขาก็คือมนุษย์เหมือนกันกับเรา
“ส่วนฝั่งของลีซู ลอดจ์ เอง ตอนนี้เราก็พยายามเปิดรับคนในชุมชนทุกคน ซึ่งไม่ได้มีแค่ชาติพันธุ์ลีซูอีกแล้ว เรามีความคิดจะให้แต่ละคนใส่ชุดประจำเผ่า ประจำวัฒนธรรมของเขามาทำงาน เราต้อนรับชุมชนทุกชุมชน และเราอยากให้เกียรติเขาทุกคน นี่คือแผนการต่อไปของเราที่ลีซู ลอดจ์ ค่ะ”

ในด้านของสิ่งแวดล้อม ลีซู ลอดจ์ ก็คำนึงถึงมาโดยตลอด ตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงการจัดการต่าง ๆ มีการบำบัดน้ำเสีย มีการแยกขยะ พยายามไม่ใช้พลาสติกในที่พัก พืชผลที่ปลูกภายในที่พักก็ไม่มีการใช้สารพิษใด ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชุมชน ในส่วนของที่พักแต่ละห้องไม่มีการติดเครื่องปรับอากาศ ด้วยการออกแบบที่พักมาตั้งแต่ต้นให้มีการระบายอากาศที่ดี และในอดีต พื้นที่ตรงนี้ยังคงหนาวเย็น แต่ปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น ทำให้เธอจำใจต้องติดเครื่องปรับอากาศภายในห้อง
“เรื่องปัญหาฝุ่นควัน เราพยายามคุยกับชุมชนจนเขาเปลี่ยนมาปลูกไม้ยืนต้นและผลไม้ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เขาเผา ชุมชนและเราต่างแก้ในส่วนของเรา แต่ปัญหาฝุ่นควันที่ลอยมาจากที่อื่นก็ยังถือว่าเยอะอยู่ดี จนในที่สุดเราต้องยอมติดเครื่องปรับอากาศให้แขก ไม่อย่างนั้นช่วงฝุ่นควัน อยู่ไม่ได้จริง ๆ ค่ะ”
แม้มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เธอไม่เปลี่ยน คือการเลือกให้ห้องพักไม่มีทีวี
“เราไม่คิดว่ามีความจำเป็นเลย เพราะช่วงกลางคืนเราก็จะมีการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ชมระหว่างทานข้าว มีหลากหลายกิจกรรมให้เขาทำหรือสัมผัส รวมถึงอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับชุมชน สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ทีวีมอบให้เขาไม่ได้ เราอยากให้คนที่มาพักได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ กับชุมชนมากกว่า”

ตลอด 32 ปีที่ลีซู ลอดจ์ เกิดขึ้นมาเพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ได้กลายเป็นตัวอย่างสำคัญในยุคสมัยปัจจุบันที่เกิดเทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งเธอมองว่ากระแสที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ
“เราคิดว่ามันสำคัญมากนะ อีกหน่อยถ้าเราไม่ดูแล เราจะขายอะไร ถ้าเราไม่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งความเป็นไทยไม่ได้หมายความว่าไทยหรือประเทศไทย แต่ทุกชนเผ่าที่อยู่ในประเทศ เขาก็คือไทยเหมือนกัน รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่างเชียงใหม่ เมื่อวานนักท่องเที่ยวมาแล้วก็ร้องไห้ บอกว่าอยู่ไม่ได้เพราะฝุ่นควันเยอะมาก เราต้องพาเขาบินไปพักที่จังหวัดกระบี่แทน นี่คือผลจากสิ่งที่เราไม่หันมาดูแล ไม่รับผิดชอบ ถ้าเราไม่ช่วยกันดูแลแบบนี้แล้วยังโปรโมตการท่องเที่ยวต่อไป มันก็เสียเปล่า
“สมมติว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 60 ล้านคน ถ้าไม่มีการจัดการดูแลที่ดี ก็จะไม่เหลืออะไรเลย แม่น้ำ ภูเขา ทะเล ทุกอย่างจะไม่เหลือเลย ส่วนเราก็จะได้แค่ตัวเลขไปอวด แต่ก็อวดได้ไม่นาน
“ประเทศไทยถือว่าโชคดี เรามีธรรมชาติที่ดี ที่น่าสนใจ เรามีวัฒนธรรม มีเอกลักษณ์มากมาย แต่เราจะหากินกับสิ่งที่เรามีอยู่อย่างเดียวไม่ได้ หากไม่ช่วยกันดูแล ไม่ช้าก็เร็วมันจะหมดไป เราต้องวางกรอบให้ชัดเจน หาวิธีทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการท่องเที่ยว หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวก็ด้วย
“ถ้าสังเกต เราจะเริ่มเห็นกระแสแล้วว่านักท่องเที่ยวพยายามเลือกสถานที่หรือบริการที่มีความยั่งยืนเป็นหลัก นี่คือทิศทางที่โลกกำลังเป็นไป และการท่องเที่ยวของเราก็ควรจะปรับตาม ไม่เช่นนั้นทรัพยากรจะหมดไป ไม่ใช่แค่ไม่มีนักท่องเที่ยว แต่อะไรที่เคยเป็นสิ่งดีงามของเราก็จะหายไปด้วย
“ซึ่งเราเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณเตือนมาแล้ว เชื่อว่าไม่มีใครอยากจะให้นักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศของเราและอยากให้เขาเจอกับประสบการณ์ที่ไม่ดีหรอกค่ะ ฉะนั้น เราต้องช่วยกัน”

สำหรับคนที่อยากพักและทำกิจกรรมกับชุมชนที่ลีซู ลอดจ์ เราขอแนะนำให้คุณใช้เวลาอยู่ที่นั่น 2 คืนขึ้นไป เพื่อจะได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ครบถ้วน โดยทำการจองล่วงหน้าและสอบถามถึงกิจกรรมที่สนใจได้ที่เว็บไซต์ www.asian-oasis.com/lisulodge หรือติดต่อ โทรศัพท์ 05 328 1789
3 Things
you should do
at Lisu Lodge

01
ล่องแก่งหรือแพไม้ไผ่ชมบรรยากาศธรรมชาติ

02
เดินชมและชิมชาจากไร่ที่ Araksa Tea Garden

03
ปั่นจักรยานท่องเที่ยวศึกษาวิถีชุมชนลีซู