คุณเคยได้ยินเสียงที่แท้จริงของธรรมชาติหรือเปล่า

ผืนดิน ท้องฟ้า แสงแดด ลมฝน พืชพันธุ์ต่างๆ ส่งสัญญาณบ่งบอกอะไรบางอย่างแก่เกษตรกรอยู่เสมอ หลายคนรับรู้และเตรียมการปลูกพืชผลโดยอาศัยสัญชาติญาณ ภูมิปัญญา และประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา คำนวณและพยากรณ์จากปัจจัยอันหลากหลายนี้ แต่กลับต้องพบว่าสิ่งที่คิดไว้ไม่เที่ยงตรงตามใจหมายเสียเลย เพราะบ่อยครั้งสภาพแวดล้อมแปรปรวนสูงเกินคาดเดา ความต้องการของตลาดเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจนผลผลิตที่ได้ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค

ในขณะที่เกษตรกรอีกส่วนขาดความเข้าใจเชิงลึก ไม่มีเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติรอบตัว แม้มีศักยภาพและพยายามสายตัวแทบขาดแค่ไหน แต่ยังวนเวียนอยู่กับความยากจนอยู่ดี

ListenField คือสตาร์ทอัพที่เห็นความเจ็บปวดนี้ จึงพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming Technology) เพื่อให้เกษตรกร ธุรกิจเอกชน และภาครัฐ เข้าใจความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ด้วยข้อมูลมหาศาลที่ผ่านการเก็บรวบรวมจากเซนเซอร์และดาวเทียมที่โคจรเหนือโลก วิเคราะห์ให้เสร็จสรรพ จนบอกได้ว่าสภาพพื้นที่ของเกษตรกรเป็นอย่างไร ปลูกพืชพันธุ์แต่ละแบบจะได้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน ช่วยในการวางแผนและบริหารให้ตอบโจทย์ทุกฝ่าย โดยไม่ต้องลงแรงปลูกจริงและรอผลนานเป็นปีๆ เหมือนเคย 

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น

ทั้งหมดนี้ บริหารโดย นุ่น-ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ นักวิจัยหญิงไทยที่ผันตัวเป็นผู้ประกอบการ ต่อยอดงานวิจัยปริญญาเอกของตัวเองที่ญี่ปุ่นให้กลายเป็นธุรกิจเมื่อ พ.ศ. 2560 โดยมีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นลูกค้าหลักที่เชื่อใจในฝีมือ

ปัจจุบัน ListenField ดำเนินการจากทั้งญี่ปุ่นและไทย มีพนักงาน 16 คนจาก 7 เชื้อชาติ ให้บริการลูกค้าใน 5 ประเทศ แตะชีวิตผู้คนมาแล้วมากกว่า 10,000 ราย เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่ช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่อยู่คู่โลกมาแสนนาน

เรานัดพบนุ่นเพื่อพูดคุยถึงชีวิตผู้ประกอบการมือใหม่ที่เธอเล่าว่ามาไกลเกินกว่าคาดฝัน และสอบถามกลไกการทำงานเบื้องลึกของธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีมาทำความเข้าใจพืช ดิน ฟ้า อากาศ

เผื่อว่าเราจะได้ฟังเสียงที่แท้จริงของธรรมชาติรอบตัวอย่างชัดแจ๋วแบบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น
01

ฟังเสียงของตัวเองและธรรมชาติ

“อย่าว่าแต่ฝันเลย ตอนเด็กๆ แค่เดินทางจากนครนายกมารังสิตก็คิดว่าไกลมากแล้ว ไม่เคยคิดจะเรียนต่อสูงๆ หรือทำธุรกิจ” ผู้ประกอบการวัย 38 ปีเล่าย้อนความถึงชีวิตวัยซนในต่างจังหวัด

จากวันนั้น จุดเปลี่ยนของนุ่นดูจะเริ่มต้นจากการค้นพบการเขียนโปรแกรม เธอมองว่าทักษะนี้สามารถช่วยแก้ไขปัญหายากๆ ที่มนุษย์ไม่อาจทำเอง และสนุกกับการไขโจทย์ไปเรื่อยๆ จึงเข้าเรียนด้านคอมพิวเตอร์ในระดับปริญญาตรีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

“พอเรียนจบ เราทำงานวิจัยที่เชียงดาวกับคนญี่ปุ่น เข้าไปติดตั้งเซนเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลและพัฒนาการปลูกปวยเล้งซึ่งญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยให้ปลอดภัย สอดคล้องกับหลัก Good Agricultural Practices สำหรับผู้บริโภค ทั้งที่ไทยและญี่ปุ่น” นุ่นเล่าจุดที่ความรู้ทางเทคโนโลยีของเธอมาบรรจบกับธรรมชาติ

ข้อมูลที่เก็บจากเซนเซอร์นั้นยังหลากหลายตามความเชี่ยวชาญของแต่ละคน เช่น บางคนสนใจว่าดินแบบใดจะช่วยให้พืชดูดสารอาหารหล่อเลี้ยงได้ดีมากขึ้น หรือพืชสายพันธุ์ใดจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่เป็นอยู่ โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เพื่อการพัฒนา และย่อยให้ผู้บริโภคดูด้วยว่าปวยเล้งที่ทานนั้นมาจากพื้นที่แบบใด ซึ่งทำให้เกิดการบริโภคมากขึ้นตามไปด้วย 

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น

“ความยากคือข้อมูลแต่ละตัวจะอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ถ้ามีเซนเซอร์ตัวใหม่เข้ามาแล้วต้องเขียนโปรแกรมใหม่อีกก็จะยุ่งยาก เราเลยทำให้เซนเซอร์เป็นแบบ Plug & Play ทำให้รูปแบบข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกัน เวลามีเซนเซอร์ตัวใหม่เพิ่มเข้ามา เราเขียนโค้ดให้น้อยที่สุดแล้วเชื่อมโยงข้อมูลไปใช้ได้เลยบนแพลตฟอร์มเดียว ตรงนี้กลายมาเป็นรากฐานของ ListenField ในอนาคต”

งานวิจัยในครั้งนั้นเปิดโอกาสให้นุ่นได้ไปศึกษาภาคการเกษตรที่ญี่ปุ่น เห็นความเจริญก้าวหน้าเชิงนโยบายและเทคโนโลยีที่คอยผลักดันให้เกษตรกรเติบโต มีการร่วมมือกันของแต่ละภาคส่วนอย่างเข้มแข็ง เธอจึงตัดสินใจเรียนต่อที่ญี่ปุ่นจนคว้าปริญญาเอก

“ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรมากเลย ไม่ได้มีความฝันอันยิ่งใหญ่ แค่ทำสิ่งนี้แล้วสนุก ไม่มีวันไหนที่ตื่นมาแล้วไม่อยากไปทำงาน” นุ่นเล่าความคิดในวัยที่หลายคนเริ่มมีวิกฤตชีวิต

ต่อมา งานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรเรื่อง API Integration Platform ของเธอที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเห็นปัญหาความไม่เป็นระเบียบของการเก็บข้อมูลภาคการเกษตร เก็บแล้วนำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ง่ายนัก ไปสอดคล้องเข้ากับนโยบาย Agricultural Reform ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรของรัฐบาลญี่ปุ่นพอดี งานวิจัยของนุ่นจึงได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใน พ.ศ. 2557 

เมื่อจังหวะเหมาะสม พ.ศ. 2560 ListenField ถือกำเนิดขึ้นที่แผ่นดินญี่ปุ่น โดยมี คิโยชิ ฮอนดะ (Kiyoshi Honda) อาจารย์ที่ปรึกษาของนุ่นเป็นอีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้ง และมีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นลูกค้ารายใหญ่

“เราถามตัวเองว่าทำอย่างไรให้สิ่งนี้เกิดความยั่งยืน คำตอบคือมันต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง”

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น
02

เข้าใจพืชพันธุ์ ดิน ฟ้า อากาศ

อธิบายโดยง่าย ListenField คือผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่สร้างโมเดลขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลผลิต ซึ่งเก็บข้อมูลผ่านช่องทางหลากหลาย ทั้งเซนเซอร์ที่ติดตั้งในพื้นที่ ข้อมูลสาธารณะ ภาพจากดาวเทียม โดรน ช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลของพื้นที่เที่ยงตรง พร้อมต่อการตัดสินใจ ลดทั้งกระบวนการ เวลา และต้นทุนการลองผิดลองถูก

“แพลตฟอร์มเราประเมินได้ว่าพื้นที่ที่มีดิน อุณหภูมิ ค่าความเข้มแสงแบบนี้ ปลูกพืชด้วยลักษณะและกระบวนการแต่ละแบบ สุดท้ายจะให้ผลผลิตเป็นอย่างไร มีค่าความหวานหรือปริมาณโปรตีนเท่าไร ควรเก็บเกี่ยวตอนไหน ทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนและผลิตสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคตั้งแต่ต้น” นุ่นอธิบาย พร้อมเล่าว่าโมเดลที่ทีมเธอสร้างขึ้นมาจะพิจารณาจากข้อมูลในอดีตย้อนหลังไปนานถึง 20 – 30 ปี เพื่อตรวจจับแพตเทิร์นของปรากฏการณ์ธรรมชาติ และคำนวณผลคาดการณ์ไปในอนาคต เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและยั่งยืนจริงๆ ไม่ใช่แค่ตอบความต้องการระยะสั้นของผู้บริโภค

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น

“เราเชื่อว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีก็ควรทำ เราเคยใช้โมเดลคิดดูว่าในสภาพอากาศและเงื่อนไขที่เหมือนกัน ในสามปีข้างหน้า การใช้ดินที่ทำจากอินทรีย์วัตถุจะทำให้โครงสร้างของดินมีความแข็งแรง มีแร่ธาตุมากกว่า และผลผลิตมีคุณภาพไม่เหวี่ยงมาก เปรียบเทียบกับดินที่มีสารเคมีปนเปื้อน” นุ่นเสริม การปลูกโดยใช้เคมีจะทำให้ได้ผลผลิตเร็วก็จริง แต่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว การวิเคราะห์ของ ListenField ที่ครอบคลุมช่วงระยะเวลานานๆ ทำให้มีการคำนึงถึงจุดนี้และวิเคราะห์ผลออกมาอย่างเหมาะสม

นอกจากพิจารณาปัจจัยโดยรอบแล้ว ListenField ยังทำการวิจัยเรื่องการใช้ Machine Learning คัดเลือกยีน (Genomic Selection) สำหรับพัฒนาพันธุ์พืชให้เป็นไปตามต้องการ โดยไม่พึ่งพาการดัดแปลงพันธุกรรม (GMO)
“ตอนนี้เรากำลังวิจัยเรื่องลำดับดีเอ็นเอของพืชต่างๆ ถ้ารู้ว่าผู้บริโภคชอบกินส้มที่ปอกเปลือกง่ายๆ หรือชอบข้าวที่มีความนุ่ม เราจะรู้ว่าต้องใช้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์แบบใดผสมกันให้เกิดคุณลักษณะที่ต้องการ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงหรือทำลายสิ่งแวดล้อม หรือแทนที่จะต้องทดลองปลูกไปเรื่อยๆ เป็นสิบปี เราใช้อัลกอริทึมช่วยคำนวณและแนะนำให้เลย” นักวิจัยเล่าถึงพลังของเทคโนโลยีในการพลิกโฉมวงการเกษตร 

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น

แพลตฟอร์มนี้จะช่วยลดทอนความซับซ้อนของธรรมชาติ เกษตรกรสามารถดูข้อมูลของพื้นที่ตัวเองและคาดการณ์อนาคตแม่นยำขึ้นจากข้อมูลในอดีต พร้อมรับมือภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง มีเวลาเหลือให้ไปใส่ใจกระบวนการผลิต ไม่ต้องประสบวงจรปัญหาแบบเดิมๆ อีกต่อไป

03

รดน้ำธุรกิจให้เติบโต

ในเชิงธุรกิจ รายได้หลักของ ListenField ไม่ได้มาจากเกษตรกรโดยตรง แต่เป็นบริษัทเอกชนและภาครัฐที่ทำงานร่วมกับเกษตรกร ซื้อบริการและระบบวิเคราะห์ข้อมูลนี้ไปใช้งานกับเกษตรกรภายในเครือข่าย

“หน่วยงานเหล่านี้มองเห็นว่าถ้าเกิดผลผลิตดี คาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ พวกเขาจะมีสินค้าที่ดีเข้ามาในตลาด ถ้าใช้ระบบแบบเดิมๆ เวลามีปัญหา ผลผลิตไม่ได้ตามต้องการ เราจะไม่รู้เลยว่าสาเหตุคืออะไร แต่ระบบนี้ทำให้เรารู้สาเหตุและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ด้วย ทำให้เกิดความเชื่อใจกันทั้งสองฝ่าย”

ทั้งนี้ การเน้นขายให้ธุรกิจ (B2B) และภาครัฐต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก เพราะต้องฝ่าฟันหลายด่าน หลายกระบวนการ

“ยากมาก เราเป็น CEO จากต่างชาติ เปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับเงิน ดำเนินเรื่องพื้นฐานต่างๆ ยังต้องใช้เวลาเกือบครึ่งปี และตอนแรกไม่รู้เรื่องธุรกิจเลย แต่พอจะทำธุรกิจกับชาวญี่ปุ่นและรัฐบาล การพิสูจน์ให้ได้การยอมรับเป็นเรื่องสำคัญมาก โชคดีที่เราเคยทำงานวิจัยกันมาก่อนแล้ว เลยได้รับความไว้วางใจ” 

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น

หลังจากเริ่มลงหลักปักฐานที่ญี่ปุ่นได้สำเร็จ นุ่นตัดสินใจมาเปิดบริษัทที่แผ่นดินเกิดของเธอควบคู่ไปด้วย เพื่อผลักดันภาคการเกษตรไทยไปข้างหน้า

“ถึงจุดหนึ่ง เราอยากเห็นประเทศเกิดการพัฒนา คิดว่าตัวเองพอจะเป็นกลไกและสะพานที่เชื่อมงานวิจัยระหว่างไทยและญี่ปุ่นได้ด้วย” นุ่นเล่า พร้อมเสริมว่าสิ่งที่ไทยยังขาดและต่างไปจากญี่ปุ่นคือการเก็บข้อมูลให้ละเอียด เป็นระบบ เพียงพอต่อการใช้งานในภาคการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสิ่งนี้เป็นสาเหตุให้ภาคการเกษตรของญี่ปุ่นเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง แม้จะมีพื้นที่จำกัด

หากแต่ละหน่วยงานประสานร่วมมือกันวางแผนระยะยาวและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ประเทศไทยจะมีขุมทรัพย์ข้อมูลทางการเกษตรที่เหมือนปุ๋ยชั้นเลิศ ให้เทคโนโลยีอย่าง ListenField สามารถใช้ประโยชน์ต่อยอดได้อีกมากมาย

04

FarmAI

นอกจากสร้างเครื่องมือให้บริษัทและภาครัฐเพื่อทำให้ธุรกิจมีรายได้ ListenField ไม่ได้หลงลืมกลุ่มเกษตรกรและพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘FarmAI’ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเกษตรกรโดยตรง ส่งเสริมให้พวกเขามีเครื่องมือสำหรับการเป็น Smart Farmers ยุคใหม่ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผสมผสานการเกษตร

“FarmAI เกิดจากแนวคิดว่าทำอย่างไรให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และข้อมูลเข้าถึงเกษตรกร ปกติพวกเขาต้องมีการจดบันทึกข้อมูลต่างๆ เราอยากลดขั้นตอนตรงนี้ให้เขา ข้อมูลที่เก็บไว้ในระบบนี้ยังเชื่อมต่อให้ผู้ตรวจสอบคุณภาพและธุรกิจเห็นและทำงานได้ง่ายขึ้นด้วย” 

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น

ฟีเจอร์ของ FarmAI ทำให้เกษตรกรดูพยากรณ์ฟ้าฝน ตรวจสอบคุณภาพดิน คาดการณ์ผลผลิตและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ข้อมูลตรงนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการเลือกวันเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวต่างกันแค่เพียงสัปดาห์ หรือเกิดเหตุให้อุณหภูมิเปลี่ยนเพียงไม่ถึง 1 องศา อาจส่งผลต่อชะตากรรมของพืชผลเหล่านี้ต่างกันลิบลับ

นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถบันทึกข้อมูลแปลงและการเพาะปลูกเก็บไว้ออนไลน์และพิมพ์ออกมาเป็นรายงาน โดยไม่ต้องกังวลว่าจะหายหรือหลงลืม นำไปขอใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างมั่นใจ เพิ่มมูลค่าของผลผลิตในตลาด แถมยังมีฟีเจอร์ที่ช่วยจัดการกลุ่มเกษตรกรภายในแปลงหรือชุมชน รวมถึงพูดคุยถามตอบกับเกษตรกรร่วมวิชาชีพที่ใช้แอปพลิเคชันได้อีกด้วย

การพัฒนาแอปพลิเคชันนี้จะเกิดขึ้นจนใช้งานจริงไม่ได้ หากไม่ลงไปสัมผัสความเป็นอยู่ของเกษตรกรอย่างลึกซึ้ง เป็นเหตุให้ทีมของนุ่นลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ อยู่สม่ำเสมอเพื่อเข้าใจวิถีชีวิตที่แท้จริง รับฟังปัญหาและสานสัมพันธ์กัน ไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีตามความต้องการของตัวเองเพียงอย่างเดียว

ส่วนเทคนิคการทำให้เกษตรกรเปิดใจรับสิ่งใหม่คือ การอาศัยแรงสนับสนุนของผู้คนที่ทำงานร่วมกับชุมชนอยู่แล้ว

“พาร์ทเนอร์ในชุมชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่นที่น่าน อาจารย์ที่ทำงานกับชุมชนอยู่แล้วจะเป็นคนช่วยพูดคุยได้มาก หรือบางทีเราต้องเลือกกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนด้วย เพราะเราไม่อาจทำให้ทุกคนเข้าใจ ต้องค่อยเป็นค่อยไป” 

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น
ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น
05

สเกลความหวัง

“คนในทีมอายุเฉลี่ยประมาณ 20 กลางๆ เอง” นุ่นเผยถึงชีวิตเบื้องหลังภารกิจใหญ่ ทีมงานของนุ่นส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ จากญี่ปุ่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ตูนิเซีย เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรเฉพาะทาง หาตัวจับได้ยาก แบ่งออกเป็น 3 ทีมหลักคือ ผลิตภัณฑ์ วิจัย และธุรกิจ

“คนกลุ่มนี้ชอบความท้าทายในงานที่ทำ และเชื่อในพันธกิจของ ListenField ว่าสิ่งที่เขาทำจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ไม่ได้ติดเรื่องอายุเลย เพราะเราเชื่อในความหลากหลายและการให้โอกาส”

แต่เมื่อคนเก่งๆ ที่มีความฝันและทิศทางชีวิตของตัวเองมารวมกันแล้ว CEO ก็จำเป็นต้องมีทิศทางชัดเจน และเร่งเรียนรู้อย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

“หลายคนอาจมองว่า CEO สตาร์ทอัพเท่ แต่จริงๆ ไม่เลย เผชิญความยากทุกจุด ตั้งคำถามว่าเรามาถูกทางหรือเปล่าอยู่เรื่อยๆ ยิ่งเราไม่ได้มาจากฝั่งธุรกิจด้วย ต้องเรียนรู้ใหม่และหาจุดสมดุลในเรื่องต่างๆ ซึ่งการเจอคนที่มีประสบการณ์จะช่วยเหลือเราได้มาก” นักวิจัยที่ปัจจุบันสวมบทบาทนักธุรกิจเล่า ที่ผ่านมาเธอนำ ListenField ไปเข้าร่วมโครงการต่างๆ ในหลากหลายประเทศ เช่น 500Kobe ที่ญี่ปุ่น และ FoodTrack ที่เดนมาร์ก เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลขึ้น

ล่าสุด ListenField ขยายการบริการเพิ่มเข้าสู่ประเทศอินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งรับการลงทุนจาก Kubota ประเทศญี่ปุ่น ที่ทำงานด้านการเกษตรมาอย่างยาวนาน เป็นหมุดหมายใหม่ที่สนับสนุนให้ ListenField เติบโตขึ้นไปอีกขั้น

“เรามีเป้าหมายร่วมกันว่าจะนำเทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำมาพัฒนาการเกษตรในภูมิภาคนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่เหนื่อยและกดดันตามความคาดหวัง แต่รู้สึกสนุกเหมือนกันที่จะได้ขับเคลื่อนอะไรมากขึ้น” 

ภารกิจต่อไปที่สำคัญของนุ่นคือการพัฒนาโมเดลและงานวิจัยทั้งหลายให้ไม่อยู่เป็นเพียงเปเปอร์เท่านั้น แต่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สเกลต่อไปและสร้างความหวังและคุณค่าให้แก่เกษตรกรอย่างแท้จริง

ก่อนจากกัน เราบอกนุ่นว่าชื่นชอบชื่อและโลโก้ของบริษัทมาก เพราะดูสอดคล้องกับสิ่งที่นุ่นทำเหลือเกิน นุ่นจึงเฉลยว่าโลโก้ของ ListenField นั้นคือดอกเทมโปโป (แดนดิไลออน) ที่คุณอาจเคยเห็นในเรื่องโดราเอมอน

“เทมโปโปเป็นดอกไม้แห่งฤดูกาล คนอาจคิดว่าเป็นเพียงดอกหญ้า แต่จริงๆ มีประโยชน์ในทุกอณู เป่าฟู่แล้วล่องลอยไป นำความสุขและความหวังให้ผู้คน ไปตกลงที่ใดก็เจริญงอกงาม” นุ่นกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

ListenField สตาร์ทอัพการเกษตรแม่นยำของนักวิจัยไทยที่มีลูกค้าเป็นรัฐบาลญี่ปุ่น

ติดตาม ListenField ได้ที่

เว็บไซต์ : ListenField

Facebook : ListenField

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน