บ่ายวันหนึ่งระหว่างการทำงานหน้าคอม from Home

มีเสียงสัญญาณจากโปรแกรมแชตอันทรงอิทธิพลดังผ่านหูฟังไร้สายว่ามีคนส่งข้อความใหม่เข้ามา…

“อยากชวนมาสัมภาษณ์ลิปตาให้ The Cloud ในวาระเปิดค่ายใหม่ครับ”

หลังจากที่อ่านข้อความจบ กระบวนการตัดสินใจจากคำเชิญชวนนั้นก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แบบที่ไม่ต้องขบคิดอะไรให้มากนัก ทั้งจากประเด็นที่เชิญ ไปจนถึงคนชวนที่คุ้นเคยกันมายาวนานร่วม 20 ปี 

นับตั้งแต่ผมเป็นนักหัดเขียนที่มีโอกาสเข้าไปแวะเวียนในบริษัทของเขาคนนี้ ที่เพิ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารของนิตยสารอันดับต้นๆ ของแวดวงในเวลานั้นได้ไม่นานมาก ซึ่งด้วยอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่เปี่ยมด้วยไฟฝันในงานเขียนเหมือนๆ กัน ทำให้เราสนิทกันได้ไม่ยากนัก

ก่อนหน้าที่ผมจะก้าวเข้าสู่วงการนิตยสารแบบเต็มตัวในเวลาต่อมา และด้วยเส้นทางสายนี้เองก็ทำให้ได้ร่วมงานกับกลุ่มคนที่เพื่อนคนนี้ชวนให้สัมภาษณ์ คือ แทน-ธารณ ลิปตพัลลภ กับ คัตโตะ-อารมณ์ โพธิ์หาญ ผู้เป็นฝั่งดนตรีกับฝ่ายเสียงร้องตามลำดับให้กับดูโอที่มีชื่อว่า ‘ลิปตา’ ซึ่งถึงวันนี้ก็ได้ร่วมงานกันนานถึง 16 ปีแล้ว

16 ปีบนเส้นทางสายดนตรีของแทนและคัตโตะ จาก Lipta สู่การเปิดค่ายเพลง Kicks Record

นานพอที่จะเคี่ยวกรำประสบการณ์ในทุกด้าน ทุกมุม ของวงการเพลงได้อย่างถ่องแท้และรอบด้าน

และก็นานพอที่จะทำให้ ‘ลิปตา’ เป็นมากกว่าเพียงคู่ดูโอที่ผลิตเพลงป๊อปมากคุณภาพ ทว่าก้าวไปเป็นทีมดนตรีที่คนแวดวงดนตรีให้การยอมรับเรื่อยไปจนถึงมาใช้บริการ กระทั่งก้าวมาสู่การเป็นค่ายเพลงที่จะปลุกปั้นศิลปินใหม่ๆ ให้กับวงการต่อไป

คำถามก็คือ ทำไมต้องเป็น ณ เวลานี้ ที่โควิด-19 ได้ทำลายธุรกิจทุกแขนงจนแทบราบคาบไปหมดแล้ว แน่นอนว่ารวมถึงอุตสาหกรรมดนตรี เรื่อยไปจนถึงศิลปินอิสระจำนวนมากที่ได้ถอดใจและถอนตัวออกจากวงการนี้ไปแบบถาวร  

พวกเขามีแผนอะไรอยู่ในใจ…

16 ปีบนเส้นทางสายดนตรีของแทนและคัตโตะ จาก Lipta สู่การเปิดค่ายเพลง Kicks Record

Part 1 : Kickoff

“สวัสดีครับ แทน กับ คัตโตะ ไม่เจอกันนานมาก” ผมกล่าวทักทาย หลังจากที่ทั้งคู่ปรากฏตัวผ่านหน้าจอโปรแกรม Zoom ซึ่งให้บรรยากาศแทบไม่ต่างไปจากการได้สัมภาษณ์แบบเห็นหน้าเห็นตัวกัน อันเป็นข้อดีของเทคโนโลยีที่ก้าวไกล แม้ว่าด้วยพัฒนาการของนวัตกรรมจะเป็นผู้ร้ายสำคัญที่ Disrupt วงการเพลงจนย่อยยับ แต่ในอีกมุมหนึ่งของเหรียญก็นำมาซึ่งความสะดวกสบายนานาประการเช่นกัน 

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเมื่อ 13 ปีก่อนที่ผมต้องพานักร้อง-นักดนตรีหลากหลายคนเดินทางไปไกลถึงถนนอักษะ อันเป็นย่านที่พักของแทน เพื่อบันทึกเสียงเพลงโปรเจกต์พิเศษประจำปีของนิตยสารที่ผมสังกัดอยู่ 

ตลอดระยะเวลา 5 ปีชั่วอายุของนิตยสาร พอถึงช่วงใกล้สิ้นปี ก็จะมีการหาทีมทำเพลงไปจนถึงนักร้อง นักดนตรีที่มีผลงานโดดเด่นในรอบปี เพื่อมาทำเพลงพิเศษรับปีใหม่ด้วยกัน โดยช่วงปลาย พ.ศ. 2551 นั้น แทนได้รับเลือกให้มาเป็นโปรดิวเซอร์และคนแต่งเพลงประจำปีนั้น ด้วยผลงานเพลงอันโดดเด่นของลิปตา

“สิบสาม สิบสี่ปีที่แล้วเลยนะนี่ ตอนนั้นยังมี โฟร์-มด อยู่เลย” แทนรำลึกความหลัง โดยกล่าวถึงศิลปินคู่ดูโอทีนไอดอลที่มีชื่อเสียงในเวลานั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงรวมดาวในโปรเจกต์เพลงพิเศษเพลงนั้น สะท้อนถึงไอเดียและความสามารถในการทำเพลงของแทน ซึ่งยังคงโดดเด่นมาจนปัจจุบัน

กระทั่งไม่น่าแปลกใจที่เขาจะกลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับหลายๆ ศิลปิน ซึ่งจำนวนมากก็เป็นอันดับต้นๆ ทั้งสิ้น อย่างล่าสุดก็ อิ้งค์-วรันธร เปานิล กับซิงเกิล เก่งเเต่เรื่องคนอื่น ทว่าความแข็งแรงในด้าน Music Production นั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นต้นทุนที่จะรับประกันความสำเร็จของการทำค่ายเพลงซะทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ จึงนำมาซึ่งคำถามที่ติดค้างอยู่ในใจมาตั้งแต่แรกว่า ทำไม

“จริงๆ คัตโตะชวนผมทำค่ายกันมาประมาณสี่ปีแล้วครับ” คือคำตอบของแทน ก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่า “แต่เหมือนผมยังไม่กล้า แล้วเราก็ยังต้องโปรดิวซ์ให้กับงานของหลายๆ คน รวมถึงงานของลิปตาด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีเล่นคอนเสิร์ตอีก ซึ่งมันค่อนข้างใช้เวลาเยอะ จนกระทั่งมีโควิดก็ส่งผลให้เราไม่มีงานเลย ทำให้ได้มีเวลาคิด ได้มีเวลาหาคน ไปจนถึงได้มีเวลาหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ก็เลยมาบอกกับคัตโตะว่า เออ กูพร้อมละ คงต้องทำตอนนี้แหละ”

เพราะว่าว่างแล้ว ? -ผมถามไปแบบทีเล่นทีจริง ซึ่งแทนก็พยักหน้ารับ ก่อนจะเสริมต่อไปด้วยทรรศนะและมุมมองที่น่าสนใจมากว่า

“นอกจากนั้นช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุกอย่างมันฮวบหมดเลย ซึ่งผมมองว่า ตอนที่มันถึงจุดต่ำสุดนี่น่าจะเป็นตอนที่เริ่มต้นได้ดีที่สุด เพราะจากนี้ไปมันก็จะมีแต่ขึ้น เลยตัดสินใจทำค่ายขึ้นมา โดยเราเริ่มคุยกันตั้งแต่ปีที่แล้ว จนเริ่มจริงจังคือปีนี้ แล้วก็เพิ่งเริ่มเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.​ 2021”

แล้วในมุมของคัตโตะล่ะครับ มองยังไงกับการ Kickoff กันตอนที่จุดที่ทุกอย่างฮวบไปกันหมด-ผมหันไปถามคนที่นั่งเงียบอยู่ข้างๆ แทนในจอ

“มันจะมีปัจจัยเรื่องของ Resource ที่เรามีด้วย คือแทนเขาจะดูแลเรื่อง Music Production ทำเรื่อง Management ได้ดี แล้วก็ทำเรื่อง Finance ได้ดีด้วย ส่วนผมทำพวกครีเอทีฟ เรื่องโครงสร้างบริษัท วิธีการทำเงิน ผมจะไปมองกลยุทธ์แบบ Marketing Plan พวกนี้มากกว่า ผมมองว่าเราเป็นทีมที่มีสองมุมซึ่งมันครบแล้ว และหลังจากที่เราทำงานมากับหลายๆ หน่วยงาน ผมเลยมองว่าด้วยต้นทุนที่เรามีเหมาะกับธุรกิจนี้ ถึงแม้ว่าตอนนี้มันจะยังไม่ค่อยดีก็ตาม” คัตโตะอธิบาย 

16 ปีบนเส้นทางสายดนตรีของแทนและคัตโตะ จาก Lipta สู่การเปิดค่ายเพลง Kicks Record

“ซึ่งผมก็ไม่รู้นะว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่แค่รู้สึกว่ามีโอกาสชนะมากกว่าแพ้ ผมก็เลยชวนแทนทำมาเรื่อยๆ คือคิดมานาน ไม่ได้คิดแบบขำๆ แบบเด็กวัยรุ่นอยากมีค่าย

“คือเราเองดูแลลิปตามาโดยไม่มีค่ายนี่ก็เกือบจะสิบปีแล้ว ซึ่งไม่ได้ยาก เพราะว่าเราทำกันเองทุกอย่างอยู่แล้ว แต่คราวนี้พอต้องมีค่าย มันก็จะต้องมีสตาฟ In House สักสามสี่คน แล้วเราก็เริ่มต้องดูแลคนอื่นแบบจริงจัง โดยดูแลมากกว่าแค่โปรดิวซ์เพลง แต่มีการลงทุนทั้งเวลา สตางค์ ลงทุนทุกอย่างลงไปในศิลปิน ฉะนั้นมันเลยเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลาคิดหลายๆ อย่าง”

“แล้วความที่ในสามสี่ปีที่ผ่านมา เราผ่านการทำงานกับค่ายเพลง ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง เลยคิดว่าน่าจะพร้อม แต่ผมก็บอกกับคัตโตะว่า เราจะเริ่มทำค่ายก็ต่อเมื่อเราเจอศิลปินเบอร์แรก เหมือนเช่นวันที่ พี่สุกี้ (กมล สุโกศล แคลปป์) เจอ Moderndog วันแรก แล้วเขาถึงตัดสินใจทำค่าย Bakery Music ขึ้นมา เพราะไม่อยากปล่อยโมเดิร์นด็อกไปอยู่ที่อื่น” แทนสรุปแนวคิดที่นำมาสู่จุดเริ่มต้นของค่ายเพลงที่พวกเขาตั้งชื่อให้ว่า ‘Kicks Records’ หลังจากที่พวกเขาได้พบกับศิลปินเบอร์แรกตามที่ตั้งใจเอาไว้แล้ว

แล้วทำไม Jeanius ถึงเป็นคนที่ใช่-ผมถามกลับไปถึง จีเนียส-โนวา มาคูก์เลีย ศิลปินคนแรกของ Kicks Records ซึ่งเปิดตัวด้วยซิงเกิล บอกชอบยังไง (ให้เธอไม่เกลียด) ซึ่งเป็นเพลงป๊อปที่ให้สัมผัสในแบบแจ๊สได้อย่างเหมาะเจาะ

“จริงๆ ก่อนหน้าที่จะเป็น Jeanius เราคุยมาหลายคนเหมือนกันครับ ผมก็ Scout มาบ้าง คัตโตะก็พามาคุยบ้าง แต่ก็ยังไม่รู้สึกร้อยเปอร์เซ็นต์ จนมาเจอ Jeanius ทาง YouTube” แทนอธิบายถึงเหตุผลที่เขาเลือกนักร้องนักแต่งเพลงหน้าใหม่คนนี้มาเป็นศิลปินเบอร์แรก ซึ่งเปรียบเสมือนภาพแรกของค่ายเพลงของเขาไปในคราวเดียวกันด้วย

“ผมรู้สึกว่าจีมีความคล้ายพวกเราอยู่ คือไม่ได้เป็นคนเก่งอะไรมากมาตั้งแต่แรก แต่เป็นคนที่พยายาม เป็นคนที่มานั่งเขียนเพลงทุกๆ อาทิตย์ ไม่ว่าเราอยากจะให้แก้อะไร เราอยากให้การบ้านอะไร เขาก็กลับไปทำมา เป็นเด็กที่มีความตั้งใจสูงมาก มีความทะเยอทะยาน อยากจะไปถึงจุดตรงนั้นที่ฝันไว้ให้ได้ แล้วก็ถูกปฏิเสธมาจากหลายค่ายเพลง ผมว่าผมเห็นแววตาบางอย่างที่รู้สึกว่าเขาน่าจะ Fit in กับเรา” แทนกล่าว ซึ่งหุ้นส่วนของเขาก็เห็นพ้องด้วย

“จริงๆ ผมก็ไม่ได้ซื้อแต่แรกนะ เพราะผมว่าจีไม่ใช่คนที่รู้สึกใช่ในแวบแรก แต่พอได้เห็นวิธีการทำงานแล้วก็ลูกฮึด ลูกสู้ มันก็สะท้อนตัวตนอะไรหลายๆ อย่างที่ดูมีความเป็นลิปตาเหมือนกัน ทำให้รู้สึกว่า เออ เราก็เคยเป็นแบบนี้นี่หว่า น่าจะลองทำอะไรกับเขาดู” 

“เรื่องภาพแรกของค่ายเนี่ย จริงๆ ผมซีเรียสนะครับ แต่ทำไปทำมาก็ปล่อยให้มันเป็นธรรมชาติไป ผมรู้สึกว่าบางครั้งไปยึดติดอะไรมากมันเหนื่อย ซึ่งเพลงของจีจริงๆ ก็มีหลายเพลงมาก แต่ท้ายสุดเราประชุมกันแล้วก็เลือกเพลงนี้ (บอกชอบยังไง (ให้เธอไม่เกลียด)) เพราะว่าเพลงแรกเราก็อยากให้ทุกคนได้เห็นครบทุกด้านของเขา ทั้งด้านการร้อง การแต่งเพลง แล้วก็การเต้น ผมว่าให้เป็นธรรมชาติของเขาแล้วเราก็สนุกไปกับตรงนั้น ซึ่งทั้ง จี จีเนียส กับศิลปินคนที่สองคือ เบนซ์ นั้นต่างเป็นเด็กอายุน้อยที่เขียนเพลงกันเก่งมาก เลยรู้สึกว่า เออ นั่นคงเป็นดีเอ็นเอของค่ายเรามั้ง” แทนอธิบาย

“ถ้าเป็นสมัยก่อน เราอาจจะเลือกศิลปินจากเสียงร้อง แต่สมัยนี้ผมเจอเด็กจากการที่เขาเขียนเพลงกันเอง อย่างจี ผมก็ไปเจอจากใน YouTube เอง คือผมว่ามันต้องเริ่มจากที่เขาต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างก่อน ถ้าเขาฝึกร้องเพลงอยู่กับบ้านอย่างเดียว เราก็คงไม่มีทางไปเจอเขา อีกอย่างหนึ่งที่ผมจะใช้ในการพิจารณาเลยก็คือ คนนี้มีอะไรแตกต่างจากคนอื่นหรือเปล่า อย่างจี เพลงแรกๆ ที่ได้ฟัง ผมก็รู้สึกได้เลยว่า คนนี้ไม่เหมือนใคร หรืออย่างศิลปินคนที่สองนี่ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่เหมือนใครเลย ผมเลยรู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่ผมมองหา คือต้องเป็นคนที่อยู่นอกกรอบนิดๆ หรืออยู่ในกรอบหน่อยๆ ผมรู้สึกว่าตรงนี้เป็นเส้นที่ดีของการเป็นศิลปิน” 

“คือเราก็คาดหวังที่จะได้คนร้องดีอย่างนั้น เขียนเพลงได้อย่างนี้ ทุกคนต่างก็มีความคาดหวัง แต่ในความเป็นจริง มันก็เหมือนกับ…” คัตโตะหยุดที่ตรงนี้ก่อนที่จะหันไปหาแทน “เหมือนกับหาแฟนไหมพี่แทน สิ่งที่พี่แทนคิดกับสิ่งที่พี่แทนได้” 

16 ปีบนเส้นทางสายดนตรีของแทนและคัตโตะ จาก Lipta สู่การเปิดค่ายเพลง Kicks Record

“มันคนละอย่างกันนะครับ” แทนรีบปฏิเสธพร้อมหัวเราะลั่น

“พอถึงเวลาจริง อาจจะปุ๊บปั๊บๆ แล้วคลิกกันเลย” คัตโตะยังคงยืนกรานสานต่อมุกของเขาต่อไป

“แต่ผมไม่ค่อยปุ๊บปั๊บเท่าไหร่นะ” แทนยังคงปฏิเสธ 

“แต่ผมปุ๊บปั๊บไง” คัตโตะจึงยุติมุกไปซะเอง ก่อนจะหัวเราะร่าอย่างสาแก่ใจ

แม้จะถูกสลับฉากด้วยมุกสดล้นอารมณ์ขันของคัตโตะ สมกับที่สร้างชื่อให้ตัวเองในฐานะส่วนหนึ่งทีมเสือร้องไห้ ที่เป็นเซียนการสร้างคอนเทนต์โดนๆ มานักต่อนัก แต่จากข้อมูลศิลปิน 2 เบอร์แรกของ Kicks Records ที่ทั้งคู่กล่าวมาว่าต่างก็เป็นคนรุ่นใหม่ มีคาแรกเตอร์ มุมมองแนวคิด ไปจนถึงการใช้ชีวิตที่มีความเฉพาะตัวในแบบฉบับของเจนเนอเรชันปัจจุบัน ก็ดึงดูดความน่าสนใจได้ไม่น้อย สำหรับส่วนผสมของดีเอ็นเอระหว่างผู้บริหารค่ายที่เป็นคนรุ่นหนึ่ง (Gen Y) กับศิลปินที่เป็นคนอีกรุ่นหนึ่ง (Gen Z) 

“ผมเพิ่งคุยกับ ข้าว Fellow Fellow (ปณิธิ เลิศอุดมธนา) ไปเองว่า ยุคต่อจากนี้เป็นต้นไป ผมรู้สึกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของศิลปินที่เป็นเด็กของยุคนี้จะเขียนเพลงเองได้หมด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าแต่ละคนก็จะมีอะไรที่ชัดไปเลยว่าเขามาแนวไหน อาจจะต้องการแค่โปรดิวเซอร์มาคอยตัดขอบให้อีกทีเท่านั้น” แทนแสดงความคิดเห็นถึงกลุ่มคนที่จะกลายมาเป็นกำลังสำคัญของค่ายที่ลิปตาร่วมก่อร่างสร้างกันขึ้นมา ขณะที่คัตโตะก็เสริมว่า

 “ผมว่าในแต่ละเจนเนอเรชัน ค่ายมันมีความเป็นค่ายของยุคๆ นั้นอยู่น่ะ แล้วก็สิ่งที่ยุคก่อนหน้านี้เขาทำกันมันก็เป็นการทำให้เหมาะกับยุคนั้นๆ นั่นแหละ ขณะที่ผมรู้สึกว่าต่อไปศิลปินใหม่ๆ เขาก็จะมีวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ซึ่งเราก็ควรจะมีทั้งเรื่องสัญญา เรื่องวิธีการทำงานที่ซัพพอร์ตกับเขา สิ่งที่เราทำอยู่ก็เป็นอะไรที่มันอัปเดตแล้ว ส่วนศิลปินที่เรามีตอนนี้ ผมว่าพวกเขาก็เป็นตัวแทนของยุคตัวเองจริงๆ เชื่อว่าอีกหน่อยพวกเขาก็จะต้องเบ่งบานแน่นอน”

ทะยานจาก '0' สู่ 'ลิปตา' การเดินทางเอาตัวรอดบนเส้นทางสายดนตรีของคู่หูแทนและคัตโตะ สู่การเป็นผู้บริหารค่ายเพลงใหม่

Part 2 : Kick-Start 

เมื่อการสนทนาดำเนินมาจนถึงตอนนี้ ภาพในหัวของผมก็พลันย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นในสมัยที่ลิปตายังเป็นศิลปินหน้าใหม่ทั้งของยุคสมัย ของวงการ และสำหรับการรับรู้จากของตัวผมเองเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว 

เป็นเริ่มต้นที่แรกก่อตัวจากจุดเล็กๆ ในฐานะศิลปินอินดี้ที่ยังไม่ได้สังกัดกับค่ายไหนเลยด้วยซ้ำ ทว่าเพลงเปิดตัวของพวกเขาคือ ‘กอดตัวเอง’ ก็สามารถสร้างกระแสในคลื่นวิทยุที่เปิดกว้างในเลือกเปิดเพลงอย่าง Fat Radio ได้ไม่เบา ในฐานะเจ้าของเพลงป๊อปน้ำดีทั้งที่ยังเป็นหน้าใหม่ของวงการ

ความโดดเด่นของ กอดตัวเอง นั้นมากพอที่จะสะดุดความสนใจของ บอย โกสิยพงษ์ ที่เพิ่งออกจากค่าย Bakery Music มาได้ไม่นาน ให้ตัดสินใจดึงลิปตาไปอยู่ในค่ายใหม่ของเขาคือ LOVEiS ใน พ.ศ. 2548

อันเป็นช่วงปีที่วงการเพลงเริ่มถูก Disrupt อย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเทคโนโลยีการแชร์ไฟล์เพลงกันได้เพียงปลายนิ้วคลิก  ทั้งจากโปรแกรมอย่าง Napster ผู้บุกเบิกโมเดล Peer-to-Peer คือการแชร์เพลงจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งสู่คอมพิวเตอร์อีกเครื่อง ซึ่งขยับขยายการบ่อนทำลายธุรกิจเพลงออกไป จากรูปแบบการโจรกรรมทรัพย์สินทางเสียงเพลงในรูปแบบมาตรฐานเวลานั้นอย่างเทปผีซีดีเถื่อน 

ซึ่งวงการดนตรีต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่จะเริ่มตั้งหลักจากซากปรักของธุรกิจเพลงได้ 

ลิปตาเองได้เริ่มต้นมาจากช่วงเวลาแห่งสถานภาพที่ใกล้ล่มสลายนั้น ทว่าก็คงไม่ผิดแผกไปจากที่ Noel Gallagher อดีตแกนนำของวง Oasis ได้เคยกล่าวเอาไว้เมื่อครั้งหนึ่งว่า

“ถึงเวลาเทคโนโลยีจะลิดรอนรายได้เกือบทั้งหมดไปจากศิลปิน แต่ความคิดฝันที่อยากทำงานเพลงของคนจำนวนมากกลับไม่ลดน้อยลงเลย”

เมื่อความคิดมาตกอยู่ในจุดนี้ ผมก็เกิดคำถามขึ้นว่า เมื่อมองกลับไปยังช่วงวันอันแสนบอบบางของวงการ ณ 16 – 17 ปีที่แล้ว พวกเขามองเห็นภาพอะไรกันบ้าง ในวันที่สถานการณ์รอบด้านได้ถูก Disrupt อีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้เป็นเรื่องของโรคระบาดครั้งใหญ่ มิใช่ปัจจัยในด้านเทคโนโลยีอย่างในคราวนั้น

“เอาเข้าจริงผมไม่ได้คิดอะไรมากมายในตอนนั้นนะครับ เราอาจจะโชคดีที่ลิปตาไม่ได้เริ่มจากการขายเทปได้ล้านตลับ แต่เราเริ่มจากวันที่ลิปตาขายซีดีได้ประมาณหมื่นแผ่น ซึ่งหมื่นแผ่นถ้ามาตอนนี้ โคตรเยอะ แต่ตอนนั้นถือได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จเลย ดังนั้น เราจึงเหมือนสตาร์ทจากตรงจุดที่เป็นศูนย์ ณ จุดต่ำสุดของการขายซีดีเลย ขณะที่ MP3 กำลัง Big มาก แต่เพราะเราไม่ได้เริ่มจากการที่ขายได้ล้านแผ่น แล้วมาเจอ MP3 Disrupt จนกระเจิดกระเจิง ตอนนั้นเลยไม่ค่อยรู้สึกว่ามันเป็นปัญหา” แทนรำลึกถึงจุดเริ่มต้นของลิปตาเอาไว้เช่นนั้น ขณะที่คัตโตะก็ให้ข้อคิดเห็นเสริมในประเด็นนี้ว่า

“ผมว่ามันก็มีปัญหาทุกยุคแหละ ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ทุกธุรกิจ หรือประวัติศาสตร์วงการเพลงก็มีปัญหาอยู่เสมอ อย่างเช่นสมัยก่อน นักดนตรีเล่นดนตรีอย่างเดียว ห้างแผ่นเสียงก็ขายแผ่นไป จนกระทั่งมีวิทยุเข้ามาก็เลยเริ่มขายแผ่นเสียงไม่ได้” คัตโตะให้ข้อคิดเห็น ขณะที่แทนก็ตามน้ำทันที 

“แล้วแผ่นเสียงก็โดน Disrupt โดย Cassette Tape” 

“วิทยุก็โดน Disrupt โดยทีวี ทีวีก็โดน YouTube โดนอินเทอร์เน็ต Disrupt อีกทีหนึ่ง” คัตโตะสรุป ก่อนจะขยายความว่า “คือมันจะมีช่วงหลุมๆ ที่ยากอยู่จุดหนึ่งเสมอ แต่สุดท้ายแล้ว ด้วยความเป็นศิลปิน ถ้าเพลงคุณดี คาแรกเตอร์คุณดี จะวางลงตรงไหนก็ยังพอไหวอยู่บ้าง แน่นอนมันก็จะมีหลุมที่ยาก แต่ก็ต้องฝ่ามันไปให้ได้ด้วยวิธีหลายๆ อย่าง รวมทั้งต้องปรับตัว เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจค่ายเพลงต่อไปในทุกยุคจากนี้ไปก็คงจะมีอะไร Disrupt มาอีกเรื่อยๆ ก็ต้องเผื่อใจแล้วก็ยอมรับว่า มันจะมีหลุมให้ต้องปรับตัวอยู่เสมอ” 

ทะยานจาก '0' สู่ 'ลิปตา' การเดินทางเอาตัวรอดบนเส้นทางสายดนตรีของคู่หูแทนและคัตโตะ สู่การเป็นผู้บริหารค่ายเพลงใหม่
ทะยานจาก '0' สู่ 'ลิปตา' การเดินทางเอาตัวรอดบนเส้นทางสายดนตรีของคู่หูแทนและคัตโตะ สู่การเป็นผู้บริหารค่ายเพลงใหม่

ด้วยชุดความคิดและทัศนคติเช่นนี้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานานถึง 16 ปี ลิปตายังคงมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สามารถออกผลงานในรูปแบบของอัลบั้มอย่างสม่ำเสมอได้ อย่างอัลบั้มชุดหลังสุดคือ Young ก็ออกมาตั้งแต่ ค.ศ. 2014 กว่าที่ได้กลับมากับอัลบั้มใหม่คือ Super Serious ใน ค.ศ. 2021 นี้เอง แต่กับเรื่องของการออกเพลงใหม่ๆ นั้น ลิปตาไม่เคยปล่อยแฟนเพลงต้องรอคอยกันนาน แม้ช่วงเวลาที่ผ่านมาพวกเขาจะต้องเผชิญกับสารพันหลุมพรางที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ตลอดทาง 

แต่ก็อย่างที่คัตโตะได้กล่าวเอาไว้ว่า คนที่อยู่รอดคือคนที่รู้จักปรับตัว การก้าวมาถึงวันนี้ที่ขยับขึ้นมาพ่วงตำแหน่งเจ้าของค่ายเพลง จึงไม่ใช่เรื่องฟลุ๊กหรือความคิดคะนองชั่วแล่นเท่านั้น 

“พออายุเปลี่ยนไป เราก็ควรจะปรับการทำงานให้มันเหมาะกับยุคและวัยของตัวเองด้วย ช่วงเริ่มต้นอาจจะเคยทำงานด้วยสกิลล์ระดับหนึ่ง แต่พอเวลาผ่านไป เราก็ต้องปรับมาทำด้วยสกิลล์บวกเข้ากับความเก๋า แล้วพอมาถึงตอนนี้ ก็เป็นการเริ่มชีวิตในสายการบริหารงาน ซึ่งผมว่าเหมาะสมกับวัยดีครับ” คัตโตะกล่าว 

“แต่ละสเตจของธุรกิจนี้มันก็มีหลายอย่างที่ต้องทำ ทั้งในจอ นอกจอ ทั้งก่อนเวที หลังเวที แล้วก็มีเรื่องที่ต้องเรียนรู้เรื่อยๆ ซึ่งการเรียนรู้ที่ผ่านมาทำให้ผมค่อยๆ รู้ว่า แผนที่ดีที่สุดก็คือแผนที่ Flexible ปรับตัวให้ไว ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือไม่วางแผน เพราะการแก้ปัญหามันแพลนยาก ต้องใช้ประสบการณ์ในการดีลถึงจะทำได้ดี ซึ่งไอ้ Know How ตรงนี้ของเราก็น่าจะช่วย Shortcut ศิลปินในค่ายของเราได้ ยิ่งถ้าได้ทำงานกับคนที่เขามีความเชื่อในตัวเรา แล้วรู้จักเอาไปปรับปรุงเป็นของเขาเอง ผมว่าเขาก็จะเรียนรู้ได้เร็ว”  

แปลว่าประสบการณ์สิบหกปี ก็ทำให้พวกคุณสามารถวางแผนหรือเอาตัวรอดได้อยู่มือขึ้นใช่ไหม-ผมถาม ซึ่งคราวนี้แทนเป็นฝ่ายตอบบ้าง

 “แน่นอนครับ เพราะว่าประสบการณ์ที่เราทำธุรกิจเรื่องดนตรีมาสิบหกปี มันก็เหมือนคนทำอาหารทุกวันน่ะครับ ก็ย่อมมีประสบการณ์ มีความชำนาญ นอกจากนั้น ด้วยระยะเวลาสิบหกปีที่ถือว่านานพอสมควร เราทำตรงนี้มาเยอะจนได้รู้เรื่องตรงนี้ครบทั้งลูปแล้วว่ามีอะไรบ้าง นอกจากนั้นเราก็มีพี่น้องในวงการเยอะมาก ให้คอยถามปรึกษาหารือ มันก็เลยโอเค” 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ที่เป็นทั้ง 16 ปีแห่งความหลัง และ 16 ปีแห่งความหวังของทั้งสองคนจึงเป็นเส้นทางที่ยืนนานและมั่นคง แม้จะไม่เคยราบเรียบจนสามารถกล่าวได้ว่าราบรื่น จนอดสงสัยขึ้นมาไม่ได้เหมือนกันว่า สาเหตุที่ทำให้ทั้งคู่ยังคงเลือกที่จะร่วมทางกัน และเลยเถิดมาจนถึงการร่วมหุ้นทำธุรกิจด้วยกันในวันนี้คืออะไร ซึ่งคำตอบของแทนคือ

“ผมว่าวงจะอยู่ด้วยกันได้ ความสัมพันธ์ในวงมันต้องเป็นความสัมพันธ์ที่โอเคระดับหนึ่งเลย ถ้ามัน Fake หรือคบเพื่อผลประโยชน์อย่างเดียว ไม่มีทางยืดมาได้ถึงสิบหกปี” 

  “งั้นขาดกัน (หัวเราะ)” มุกของคัตโตะยังคงแพรวพราว

“ใจเย็นๆ” แทนรับลูกพร้อมหัวเราะ “ความสัมพันธ์ในวงต้องเป็นความสัมพันธ์ที่พูดกันตรงๆ ได้ ต้องไม่หยุมหยิมกัน ผมว่าอันนี้เป็นหัวใจหลักเลย คราวนี้พอความสัมพันธ์ในวงมันโอเค งานที่ออกไประหว่างสิบหกปีนี้มันก็ต้องเป็นงานที่โอเคในระดับหนึ่งด้วย ถึงยังคงมีงานต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นผลจากการทำงานหนักของทั้งคู่ว่า เฮ้ย เราจะทำอะไรกันต่อ เฮ้ย แนวดนตรีชุดนี้ควรมีการปรับเปลี่ยนอะไรยังไงบ้าง แล้วพอได้ออกไปเล่นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ และทุกคนร้องเพลง ฝืน กันได้ ทั้งๆ ที่ในวันที่เราปล่อยเพลงเมื่อสิบหกปีที่แล้ว น้องๆ เขาอาจจะยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำไป ผมว่าตรงนั้นมันก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าวงมันยังไปได้” 

“ผมว่ามันเป็นเรื่องวิ่งระยะยาวที่แต่ละคนไม่ต้องวิ่งเร็วมาก เพียงแค่อย่าหยุดวิ่ง วิ่งไปเรื่อยๆ ภาพของลิปตาในความคิดของผมน่าจะเป็นประมาณนั้น” คัตโตะอธิบาย ขณะที่แทนก็เสริมว่า

“ถ้าผมวิ่งช้าหน่อย คัตโตะก็จะคอย เฮ้ย เร็วขึ้นหน่อยสิวะ ผมว่าข้อดีคือมันมีคนคอยดึงๆ กันอยู่ครับ”  

ถ้าคุณกลับไปยังวันที่เพิ่งทำเพลง กอดตัวเอง ออกมาได้ คุณอยากบอกกับตัวเองว่าอะไร-ก๊อกคำถามผมยังคงพรั่งพรู 

“อย่างแรกเลย คัตโตะมาตรงเวลามากขึ้นครับ (หัวเราะ) สมัยนั้นคัตโตะมาที่ห้องอัดสายสองชั่วโมงครึ่งถึงสามชั่วโมงเลยครับ ซึ่งทุกวันนี้ก็ตรงเวลามากขึ้นครับ สำหรับตัวผมเหรอครับ (นิ่งคิด) ผมก็คิดถึงตัวเองสมัยสิบหก สิบเจ็ดปีที่แล้วมากเหมือนกัน เป็นช่วงวันที่เราเขียนเพลงโดยไม่ต้องพะวงอะไร ไม่ต้องมาคิดว่ามันจะดังหรือไม่ โดยรวมมีความเป็นเด็กวัยขบเผาะมาก แค่ได้ทำเพลง ได้ทำอัลบั้ม ก็ดีใจมากแล้ว ไม่ต้องคิดเลยว่าเพลงจะดังไหม แค่ทำออกมาตามที่เราชอบ ซึ่งถ้าให้กลับไปเขียนเพลงแบบนั้นสิบหกปีให้หลังก็ทำไม่ได้แล้ว

“ส่วนที่อยากบอกก็คงแค่… มึงก็ทำต่อไปเรื่อยๆ อย่าหยุดก็แล้วกัน แค่นั้น มึงมีหน้าที่เขียนเพลงก็เขียนเพลงไป แล้ววันหนึ่งมึงก็จะไปเจอทางที่ค่อยๆ เปิดออกไปอีกเรื่อยๆ จากที่ทำลิปตา ก็ได้เริ่มโปรดิวซ์ โปรดิวซ์ไปซักพักหนึ่งก็ทำค่าย ทุกอย่างก็เป็นสเต็ปไป สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้จึงเกิดมาจากที่พวกเราทำงานกันหนัก” แทนอธิบาย 

“สำหรับผมมองกลับไปก็รู้สึกดีครับ สนุกดี มาไกลดี” คัตโตะรับช่วงต่อ

“เมื่อก่อนอาจจะเดายากว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปบ้าง แต่พอเห็นรากฐานของอดีตแล้วก็พอจะเดาได้ว่า อนาคตพอจะทำอะไรได้บ้าง มันก็ทำให้เราไม่ตื่นตระหนกกับอนาคตมากจนเกินไป ส่วนอยากบอกอะไรกับตัวเองเหรอ ก็คงจะบอกว่า อีกหน่อยมึงจะโอเค ไม่ต้องเป็นห่วง มึงทำๆ ไปเถอะ (หัวเราะ) ผมเป็นคนไม่ชอบทำงาน สมัยก่อนผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำอะไรที่มันจะดีได้ แต่พอผ่านมาแล้วก็โอเค มันก็มีวิธีของมันอยู่นั่นแหละ สู้ๆ นะมึง เดี๋ยววันหนึ่งมึงก็จะมีข้าวกิน (หัวเราะ)”  

ทะยานจาก '0' สู่ 'ลิปตา' การเดินทางเอาตัวรอดบนเส้นทางสายดนตรีของคู่หูแทนและคัตโตะ สู่การเป็นผู้บริหารค่ายเพลงใหม่

“ตลอดเวลาสิบหกปีมานี้ ในระหว่างที่ทำงานกันมาเรื่อยๆ ทำกันแบบไม่หยุดพัก ก็มีศิลปินที่หายกันไปเยอะเหมือนกัน เป็นการเดินทางที่ยาวนานมาก เชื่อไหมว่าสิบหกปีที่แล้วเรายังทัวร์แคมปัสกับ กอล์ฟ-ไมค์ อยู่เลย” แทน รำลึก

“เดี๋ยวนี้พวกเราเป็นไม้กอล์ฟแทนแล้ว (หัวเราะ)” คัตโตะเสริม 

“ตอนนั้นมี กอล์ฟ-ไมค์ เฟย์ฟางแก้ว โฟร์-มด อยู่ในจุดพีก จากวันนั้นมาวันนี้ก็มีวงใหม่ๆ ขึ้นมาอีกเพียบเลย โดยที่ลิปตาก็ยังคงมีผลงานออกมาอยู่ ถือว่าเราก็ใช้ได้เหมือนกัน” แทนกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

บอกกับตัวเองไปแล้ว งั้นมีอะไรอยากบอกกับนักร้องนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ อีกบ้างครับ-ผมขมวดเข้าสู่คำถามชุดท้ายๆ หลังจากที่เวลาได้ผ่านไปนานกว่าชั่วโมงแล้ว

“ตบไหล่ๆ สู้ๆ นะมึง (หัวเราะ)” 

แทนกล่าวทีเล่น ขณะที่คราวนี้เป็นทีของคัตโตะที่จะกล่าวทีจริงบ้าง

“ผมจะบอกเขาว่าไม่ต้องฝันเยอะมาก ฝันวันละนิดก็พอ ผมเคยฟังเรื่องของทฤษฎีหนึ่งองศา ที่บอกว่าเราไม่ต้องคิดทำอะไรใหญ่โต มีความสำเร็จมากๆ ไปซะทั้งหมดหรอก บางครั้งที่หัวใจไม่ค่อยแข็งแรง ก็ให้คิดแค่องศาเดียว เช่นวันนี้ ตื่นขึ้นมาแล้วพับผ้าปูเตียงนั่นก็ถือเป็นความสำเร็จแล้ว หรือถ้าอยากจะเป็นนักร้อง ก็ยังไม่ต้องไปคิดว่าวันนี้จะต้องได้ออกอัลบั้ม คิดแค่วันนี้ได้ออกไปร้องเพลงให้สักคนหนึ่งฟัง ต่อไปก็ค่อยๆ เพิ่มเป็นสองสามคน ไม่ต้องคิดมาก คิดแค่วันละหนึ่งจ๊อบ วันละหนึ่งองศา ซึ่งแม้จะดูว่าเล็กน้อยมาก แต่แค่องศาเดียวเนี่ยแหละ พอเวลาผ่านไปสิบปี ก็กลายเป็นระยะห่างที่กว้างมากเลย”

  “ผม (แทน) ว่าศิลปินไม่ต้องเครียดอะไรมากครับ พวกผมสิต้องเครียด (หัวเราะ) ศิลปินนี่จากศูนย์ มีแต่ขึ้น ห้าขึ้น สิบขึ้น ร้อยครับ” 

“สบายเลยใช่ไหม” คัตโตะดักคอ

“ก็ไม่สบายมาก แต่ว่าก็ง่ายกว่าพวกผมสมัยเมื่อสิบหกปีที่แล้ว ลิปตานี่ทุกอย่างเริ่มต้นมาแบบป๊องแป๊งเลย แต่ไอ้ป๊องแป๊งที่ว่านั้นมันก็ทำให้เรามาได้ถึงวันนี้ครับ” แทนกล่าว

  “ตอนแรกที่บอกจะทำค่ายกัน แทนบอก เฮ้ย อยากทำกับพาร์ตเนอร์ใหญ่ๆ แต่ผมบอกกับแทนว่า ต้องเริ่มแบบป๊องแป๊งสิถึงจะดี ช่วงหนึ่งถึงสองปีแรกจะยากหน่อย แต่สุดท้ายว่าเราจะได้ Environment ได้ Ecosystem ได้ต้นไม้ป่าหญ้า แล้วก็ได้กล้ามเนื้อด้วย ผมว่ามันต้องลองลุยดู หัดคิด หัดทำ หัดเดินไปเรื่อยๆ อาจจะช้าหน่อย แต่มันจะแข็งแรง จะเสถียร แล้วก็จะมั่นคงกว่าแน่นอน” คัตโตะเอ่ยตบท้าย

ทะยานจาก '0' สู่ 'ลิปตา' การเดินทางเอาตัวรอดบนเส้นทางสายดนตรีของคู่หูแทนและคัตโตะ สู่การเป็นผู้บริหารค่ายเพลงใหม่

Part 3 : Bottom Up

หน้าจอคอมพิวเตอร์กลับมาสู่หน้า Desktop อีกครั้ง หลังจากที่ได้ร่ำลากับแทนและคัตโตะ พร้อมกับปิดโปรแกรม Zoom เพื่อบทสนทนาได้ไปถึงช่วงเวลาสุดท้าย

หากความคิดในหัวของผมยังคงโลดแล่นอยู่กับสารพันเรื่อง สารพัดเสียงที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป

“จุดต่ำที่สุดน่าจะเป็นตอนที่เริ่มต้นได้ดีที่สุด” 

จากคำพูดนี้ของแทน ทำให้มีคำคำหนึ่งผุดขึ้นมาในหัวของผม

คำนั้นคือคำว่า ‘Bottom’ 

  ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนถึงหลากหลายคำพูดของทั้งแทนและคัตโตะตลอดการสัมภาษณ์ ที่ระบุอย่างชัดเจนว่า จุดเริ่มต้นในแต่ละบทของเส้นทางสายนี้ของลิปตานั้นต่างต้องผ่านจุดที่อยู่ในแนวระนาบเดียวกับเลข 0 มาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในฐานะลิปตาเมื่อกว่า 10 ปีก่อน หรือในฐานะเจ้าของค่าย Kicks Records ใน ค.ศ. 2021 นี้

แต่ถึงอย่างนั้น จากจุดเริ่มต้นที่เป็นศูนย์ที่ว่านั้น ก็ต่อยอดทอดยาวมาจนถึงทุกวันนี้… ที่กลับมายืนศูนย์ในอีกบริบทหนึ่ง ในอีกบทบาทหนึ่งได้

เพียงแต่เป็นจุดศูนย์ที่ไม่ใช่ Bottom ซึ่งหมายความถึง ต่ำสุด หรือ ท้าย อีกต่อไป

ทว่าปรับเปลี่ยนไปเปรียบได้กับคำว่า Bottom Line แทน ซึ่งให้ความหมายได้ทั้ง ‘ผลดำเนินการ’ และ ‘ส่วนสำคัญที่สุด’ 

เพราะดังที่ทั้งสองคนได้กล่าวเอาไว้ ว่าตราบเท่าที่ทั้งคู่ยังคงมุ่งมั่นทำงาน และยังคงมุ่งหน้าไปพร้อมกับความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำอย่างไม่ลดละ ไม่ว่าแต่ละก้าวที่ย่างไปนั้นจะเร็วหรือจะช้าสักเพียงใด หรือเป้าหมายที่ปลายทางจะอยู่ไกลลิบตาก็ตาม

ตราบนั้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมมีแต่จะดีขึ้น สูงขึ้น และมีส่วนสำคัญมากยิ่งขึ้นทั้งต่อตัวเอง และต่อบริบทต่างๆ ของสังคมได้แน่นอน

ลิปตาได้ใช้เวลา 16 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็น… ด้วยชีวิตและความฝันของพวกเขาแล้ว

ทะยานจาก '0' สู่ 'ลิปตา' การเดินทางเอาตัวรอดบนเส้นทางสายดนตรีของคู่หูแทนและคัตโตะ สู่การเป็นผู้บริหารค่ายเพลงใหม่

Writer

Avatar

พีรภัทร โพธิสารัตนะ

คนรักดนตรีที่เริ่มต้นชีวิตนัก(อยาก)เขียนด้วยการเป็นนักวิจารณ์ดนตรีอิสระที่มีผล งานลงในนิตยสาร a day, Hamburger, Esquire และอีกมากมาย รวมถึงเคยถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคนดังออกมาเป็นตัวหนังสือประเภทอัตชีวประวัติ มาแล้วหลายคน หลายเรื่องในหลายเล่ม ผ่านทั้งชื่อจริงและนามปากกาอย่าง ภัทรภี พุทธวัณณ นิทาน สรรพสิริ และวรวิทย์ เต็มวุฒิการ ก่อนหน้าที่จะผันตัวเองเป็น “บรรณาธิการตัวเล็ก” ให้กับนิตยสาร DDTแล้วนับจากนั้นบรรณาธิการตัวเล็กคนนี้ก็ไม่อาจหลีกหนีไปจากมนต์เสน่ห์ของานหนังสือได้อีกเลย ปัจจุบันทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารให้กับนิตยสารแจกฟรีภาษาจีนที่ชื่อ “Bangkok Youth” และยังคงฟังเพลง เขียนหนังสือ และเสาะหาเรื่องดีๆ มาประดับความคิดอ่านอยู่เสมอ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ