Local Creative ตอนนี้ขอพาคุณเดินทางตามรอยชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่แม้โลกเปลี่ยนไปด้วยการใช้เครื่องจักรกลทดแทนฝีมือมนุษย์เพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาดมากขึ้น แต่ พลิษฐ์ หงสุชน กลับเห็นคุณค่าภูมิปัญญาของช่างจักสานคนไทยอันน่าทึ่ง ที่หยิบของใกล้ตัวอย่างฝากระป๋องนมที่ใครมองว่าไร้ค่า มาเป็นอุปกรณ์ชิ้นเอกในการวัดขนาดเส้นย่านลิเภา ต่อเรียงร้อยสานกันจนกลายเป็นกระเป๋าที่ชนชั้นสูงนิยมใช้กัน แล้วเมื่อภูมิปัญญาไทยมาบรรจบกับความคิดสร้างสรรค์ของนักการตลาดรุ่นใหม่ จะเกิดมิติใหม่อะไรขึ้นกับ ‘ย่านลิเภาไทย’ ที่คนรุ่นใหม่มองว่าแสนเชยบ้างนะ และอะไรคือกลยุทธ์ใหม่ๆ และก้าวสำคัญของ ‘บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์’ ที่ได้นักออกแบบชาวญี่ปุ่นเข้ามาช่วยแปลงโฉมย่านลิเภา สินค้า OTOP เมืองนครฯ ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกยังตลาดต่างประเทศได้ ล้อมวงเข้ามาฟังเรื่องราวจากพลิษฐ์พร้อมกัน

พลิษฐ์ หงสุชน

ใบเฟิร์น ดาษดื่นกลางป่าแต่ไม่ไร้ค่า

กระเป๋าย่านลิเภาที่เราคุ้นชินตาใช้วัสดุสานโดดเด่นคือใบเฟิร์น เถาชนิดหนึ่งในสกุล Lygodium ซึ่งพบได้มากทางภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช เพราะพันธุ์ไม้ตระกูลเฟิร์นชนิดนี้ชอบอยู่ในที่อากาศชื้น ทั้งยังมีคุณสมบัติเป็นพืชไม้เลื้อยที่มีความเหนียวทนและมีหลากสี

ที่เลิศกว่านั้น ย่านลิเภาของนครศรีธรรมราชขึ้นชื่อว่ามีความเหนียวและทน 20 ปีงามอย่างไร อีก 50 ปีก็ยังคงความงามอยู่อย่างนั้น

ครอบครัวของพลิษฐ์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ แบรนด์สินค้าย่านลิเภาของดีเมืองนครศรีธรรมราชที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ซึ่งเล็งเห็นค่าของกระเป๋าย่านลิเภา ด้วยธุรกิจเดิมของครอบครัวที่รับซื้อและจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรแก่ชาวบ้าน อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครศรีธรรมราช

พลิษฐ์เล่าว่า เวลาคุณพ่อคุณแม่เข้าไปรับซื้อข้าวหรือเมล็ดพันธุ์พืชถึงบ้านเรือนชาวบ้าน ภาพที่เห็นจนชินตาคือลุงๆ ป้าๆ นั่งสานกระเป๋าย่านลิเภา แต่ไม่มีตลาดรองรับที่เพียงพอ จึงขาดกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อ

ถือเป็นความโชคดีของชาวบ้านและเป็นพระมหากรุณาอันใหญ่หลวง ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ส่งเสริมและสนับสนุนการสานย่านลิเภา ทำให้ช่างหัตถกรรมสานย่านลิเภามีกำลังใจที่จะสานต่องานฝีมือชั้นครูที่หายากนี้ให้คงอยู่ ไม่เพียงแค่นั้น คุณพ่อของเขายังสืบสานงานถมลงรักและงานจิวเวลรี่เพื่อต่อยอดกระเป๋าย่านลิเภาสู่เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เพื่อให้เหมาะกับการใช้ชีวิตของคนมากขึ้น

พลิษฐ์ หงสุชน

หลังจบการศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พลิษฐ์ตัดสินใจเรียนต่อด้านการตลาดในระดับปริญญาโทที่ประเทศจีนเพื่อต่อยอดแบรนด์ให้แข็งแกร่ง พลิษฐ์เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้ฟังว่า แผนการตลาดหลักใหญ่คือ ต้องผลิตสินค้าที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่อยากผลิต หลังเรียนจบพลิษฐ์ตั้งใจกลับบ้านไปเป็นนักการตลาดเพื่อผลักดันแบรนด์ย่านลิเภาไทยให้ไปสู่ตลาดต่างประเทศให้ได้

“ศาสตร์ด้านการตลาดจะมาช่วยเติมเต็มเรื่องการจัดสรรคนงาน วางแผนและควบคุมให้ชิ้นงานเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งความแตกต่างของคนเรียนศิลปะคือ มีความคิดสร้างสรรค์ในงานออกแบบ แต่อาจไม่ถนัดการจัดระบบระเบียบงาน เพราะขั้นตอนการทำงานหลังงานของช่างเสร็จ ยังต้องส่งชิ้นงานบางชิ้นไปประกอบต่อ กลายเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ คนหนึ่งสานได้เดือนละกี่ชิ้น ต้องอาศัยการคำนวณวันและเวลาให้สินค้าเสร็จตามเวลาที่กำหนด ต้องรู้จักจัดสรรเวลา ออร์เดอร์ไหนรีบ อันไหนรอก่อนได้ ทั้งหมดต้องใช้การบริหารการจัดการที่ดี เพราะโลกความเป็นจริงของตลาดกับความงามก็มีข้อจำกัด” พลิษฐ์เล่า

 ย่านลิเภา เปล่งประกายดาว

หลังเรียนจบจากจีน พลิษฐ์เข้าร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พัฒนาสินค้าเพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะผลักดันให้สินค้าของเขาไปจำหน่ายต่างประเทศได้ และความพยายามของเขาก็สัมฤทธิ์ผล ย่านลิเภาของบุญยรัตน์ได้เป็นตัวแทนสินค้าไทยโกอินเตอร์เป็นครั้งแรกและเฉิดฉายในงาน Tokyo Gift Show 2017 พร้อมๆ กับการพัฒนารูปลักษณ์สินค้า โดยได้ทีมนักออกแบบไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นสร้างสรรค์ ‘ลายน้ำไหล’ โดยใช้เวลาพัฒนานาน 1 ปีทีเดียว

“ชาวบ้านคุ้นชินกับการสานลวดลายเดิมๆ ก็ต้องคุยกับชาวบ้าน คุณลองพลิกเส้น ลองทำก่อน แล้วคุณจะรู้ว่าง่ายหรือยาก จากเดิมลายน้ำไหลนั้นช่างไม่อยากพลิก เพราะการพลิกคือการเปลี่ยนวัสดุจากย่านลิเภาเป็นใบลานสีขาว เขาอยากสานต่อไปเรื่อยๆ เราต้องจูงใจให้เขาพยายามทำหน่อย เพราะถ้าทำก็จะได้สินค้าใหม่ขึ้นมา ขายได้ดีนะ ผมพยายามบอกว่า ถ้าคุณทำแบบเดิมก็ต้องแข่งกับหมู่บ้านอื่น แต่ถ้าทำแบบใหม่นี้ขาย คุณจะเป็นบ้านเดียวที่ขายเลยนะ” พลิษฐ์เล่า

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

เขาบอกว่า นักออกแบบญี่ปุ่นยังมองว่าย่านลิเภามีแนวโน้มเติบโตได้ เพราะคนญี่ปุ่นรู้จักย่านลิเภาจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ อยู่แล้ว ภายใต้ความเชื่อว่าย่านลิเภาเป็นสินค้าไฮเอนด์ของคนไทย ผู้ใหญ่มักใช้กัน แต่พลิษฐ์มีโจทย์ที่ต้องการทำรูปลักษณ์สินค้าให้ดูเด็กลง

“โชคดีที่เราได้ร่วมงานกับนักออกแบบชาวญี่ปุ่นที่มาเมืองไทยเพื่อช่วยพัฒนาสินค้าไทยกับเรา โดยนักออกแบบได้แรงบันดาลใจจากจิตรกรรมของนักวาดภาพชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังมาก คือลายน้ำไหล Flow and Glow ออกแบบมาห้ารูปแบบ คือทรงกลมสองแบบ กลมเล็กกับกลมใหญ่ เป็นคลัตช์ขนาดใส่เอสี่ได้ และเป็นกระเป๋า Tote ทรงยาว และหมวก 

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

“ถือว่าประสบความสำเร็จ เราได้รายการสั่งซื้อจากเกียวโต เพราะพัฒนาสินค้าได้ตรงตามแบบเป๊ะๆ เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง อย่างหมวกถือเป็นคอลเลกชันเดียวกับการพัฒนาสินค้าครั้งแรก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าขายได้เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นผู้หญิงที่มีไลฟ์สไตล์ชอบเที่ยวทะเล ใส่ถ่ายรูปเก๋ๆ” เราจินตนาการเห็นภาพน่ารักๆ ของหญิงสาวช่างแต่งตัวตามที่พลิษฐ์เล่า

นอกจากพัฒนาแบบให้ดูเด็กลง ราคาก็ต้องปรับลดลงมาเพื่อให้กลุ่มวัยรุ่นจับต้องได้

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

ภารกิจต่อไปที่พลิษฐ์ทำคู่ขนานกับการพัฒนาย่านลิเภาคือ ช่วยดำรงงานเครื่องถมให้คงอยู่ เนื่องด้วยช่างฝีมือชั้นครูวัย 90 ในกลุ่มเหลือเพียง 3 ท่าน ซึ่งหากหมดรุ่นนี้แล้ว น่าห่วงว่าจะหาช่างที่มีฝีมือวิจิตรเช่นนี้ได้อีกหรือไม่ แต่เป็นเรื่องน่ายินดีที่ฝึกช่างจิวเวลรี่ให้มาทำงานถมได้ เพราะงานมีความละเอียดคล้ายกัน

ลายน้ำไหล-ภูมิปัญญา-หัตถศิลป์ชั้นครู

ฝากระป๋องนมเจาะรู คืออาวุธติดกายของนักจักสานย่านลิเภา เพื่อรูดเส้นย่านลิเภานี้ ยิ่งมีความชำนาญเท่าไหร่ยิ่งรูดเส้นย่านลิเภาให้มีขนาดเล็กเท่าเส้นผมได้ อีกทั้งย่านลิเภาที่ปลูกที่ภาคใต้ยังมีลักษณะมันวาวโดยธรรมชาติ ซึ่งเพิ่มความงามและความโดดเด่นให้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้

กว่า 4 ปีในการพัฒนารูปแบบสินค้ากระเป๋าย่านลิเภาให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น จากที่ดั้งเดิมกระเป๋าสานย่านลิเภาของทั้งบ้านหมนและโพธิ์เสด็จมีลักษณะงานที่แตกต่างกัน บ้านโพธิ์เสด็จทำเครื่องจักสานลวดลายละเอียดกว่าบ้านหมน ส่วนบ้านโพธิ์เสด็จมีจะโครงกระเป๋าจากหวายก่อน แล้วค่อยๆ ขึ้นรูป ค่อยๆ สานใบต่อใบ ไม่มีต้นแบบ ถือเป็นการสานที่ยากที่สุด ต้องใช้ฝีมือมาก แต่ก็ยังคงความดั้งเดิม เรียบง่าย ไม่ค่อยประดับตกแต่งมากนัก

กระเป๋าหนึ่งใบใช้เวลาทำนาน 3 – 5 เดือนทีเดียว

ด้วยเส้นย่านลิเภามีลักษณะแข็งและเส้นเล็ก จึงต้องใช้สายตาเพ่งมอง และใช้นิ้วมือกดให้เส้นย่านลิเภาสอดประสานกันเส้นต่อเส้น เราจึงเห็นนักหัตถศิลป์ไทยที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในการสานย่านลิเภา

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

“ลายน้ำไหลคือคำตอบของการพัฒนาต่อยอดสินค้าอย่างแท้จริง ทุกอย่างพัฒนาให้เหมาะต่อไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น เช่นกระเป๋าขนาดใส่ไอแพดหรือคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กได้ ยังมีกระเป๋าอีกแบบหนึ่งที่ผมพัฒนา คือกระเป๋าสตางค์ตกแต่งด้วยย่านลิเภา ด้านในทำจากหนัง ด้านนอกใช้ย่านลิเภา โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้ชาย 

“ก่อนจะพัฒนาเป็นกระเป๋าสตางค์ กระเป๋าใส่พาสปอร์ต กระเป๋าสตางค์ผู้หญิง จำหน่ายที่คิง เพาเวอร์ เท่านั้น เป็นการต่อยอดจากลายน้ำไหลเวอร์ชันสอง มีทั้งกระเป๋าสตางค์ผู้หญิงและผู้ชาย” พลิษฐ์ชี้ให้เราดูรายละเอียดภายใน และยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า คนรุ่นใหม่สนใจและถามหาย่านลิเภาในมุมมองใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของพวกเขามากขึ้น เช่น กล่องใส่ใบชา ที่นอกจากจะใส่ใบชาจริงๆ ได้แล้ว ยังดัดแปลงมาเป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วย

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

พลิษฐ์บอกว่า การสานย่านลิเภากับเสื่อกระจูดพืชน้ำเหมือนกัน แต่กลับมีเทคนิคที่แตกต่างกัน และคุณสมบัติเรื่องความแข็งแรงห่างไกลกันมาก ไม้ไผ่เพียงบีบก็แตก รวมถึงการพัฒนาย่านลิเภามีข้อจำกัด เนื่องจากย่านลิเภาเป็นของสูงที่นิยมใช้ในราชสำนัก จึงพัฒนาเป็นเสื้อผ้าหรือสอดแทรกในรองเท้าไม่ได้ 

“ย่านลิเภามีคุณสมบัติที่ดีอีกหนึ่งอย่างคือราและมอดไม่ขึ้น ชาวบ้านจึงนิยมนำย่านลิเภามาใช้ในเชิงจักสานเป็นเชี่ยนหมาก พาน ถาด กระเป๋าถือ หรือของใช้อื่นๆ อีกหลายชนิด ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์เช่นเก้าอี้และโคมไฟ”

เมื่อเราถามถึงลวดลายใหม่ๆ ที่พลิษฐ์ตั้งใจจะผลิต เขาเล่าถึงการต่อยอดลายน้ำไหลให้เป็นลายรูปทรงเรขาคณิตบนกระเป๋า ใช้วิธีต่อลายเย็บย่านลิเภาเป็นสามเหลี่ยมชิ้นเล็กๆ และนำมาเย็บต่อกัน ซึ่งทำให้แข็งแรง เพราะมีความยืดหยุ่นที่รอยต่อ พลิษฐ์ตั้งใจจะออกแบบลายใหม่ๆ ปีละครั้งเพื่อกระตุ้นตลาด นอกจากพัฒนาแบบ ยังพัฒนาสีสันให้มีความหลากหลาย เช่น สีดำที่ได้จากการหมักโคลน สีขาวได้จากการสลับมาใช้ใบลาน เป็นต้น

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

“หน้าที่ของนักการตลาดแตกต่างจากผู้ทำงานศิลปะ คือมีการคิดงานที่เป็นระบบ หนึ่ง คิดว่าจะนำสินค้าไปขายที่ไหน เพราะสินค้าที่ไปขายยุโรปกับเอเชียมีความต่างกัน สองคือ คิดว่าจะผลิตอย่างไร ออกแบบแบบไหน สาม ใช้วัตถุดิบอะไร เพราะใช้เฉพาะย่านลิเภาก็จะได้สินค้าแบบเดิมๆ ซึ่งผมใช้การสานแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะมันดีอยู่แล้ว แต่เปลี่ยนรูปลักษณ์รูปทรง เช่นสานแบบเดิมปกติจะพลิกเส้นเพียงสองถึงสามครั้งต่อกระเป๋าหนึ่งใบ แต่ลวดลายน้ำไหลใหม่ ช่างฝีมือต้องพลิกเส้นหวายหรือนำใบลานสีขาวมาสานร่วมทุกๆ เส้น ทุกๆ รอบ ทำให้เกิดลวดลายใหม่ๆ หรือนำมาตกแต่งด้วยหนังหรือผ้าไหมก็กลายเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ที่ครองใจตลาดใหม่ๆ” พลิษฐ์ยิ้ม

ศิลปะของการสานต่อศิลปะงานสาน

การจะร้องขอให้ช่างฝีมือรุ่นเก่าลองทำลวดลายใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย

พลิษฐ์บอกว่า เขาต้องอาศัยการปรับจูนและศิลปะในการสร้างแรงจูงใจมากมาย ซึ่งจะบอกว่าเป็นเทคนิคแค่พลิกชีวิตก็เปลี่ยนก็คงไม่ผิดนัก และในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ ได้สานต่ออาชีพอันเป็นศิลปหัตถกรรมของไทยแต่ดั้งเดิม พลิษฐ์บอกว่า สิ่งนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุด

“ตอนแรกผมแค่อยากให้อาชีพชาวบ้านสี่สิบห้าสิบคน ลองทำสิ่งใหม่นี้ด้วยกัน เท่านั้นผมก็ดีใจมากแล้ว ผมพยายามคัดคนที่มีฝีมือเข้ามาร่วมงาน พยายามสอนคนใหม่ๆ ที่รักงานศิลปะจริงๆ สิ่งที่ผมกังวลคือไม่มีคนต่อยอดสานต่อกระเป๋าย่านลิเภา เพราะปัญหาของคนรุ่นใหม่คือใจร้อน อยากให้งานเสร็จเร็วๆ ลวดลายออกมาก็ไม่งดงาม ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นเก่าที่ค่อยๆ นั่งสานอย่างใจเย็น แล้วงานจะออกมาดีเพราะเขาใส่ใจในการทำ และถ้างานไม่เนี้ยบเราจะไม่นำเอาออกสู่ตลาด แม้ทำงานเพื่อซัพพอร์ตตลาดวัยรุ่น แต่งานต้องออกมาได้มาตรฐานทั้งหมด งานละเอียด ลวดลายงานสานต้องตรง มีการเข้าโค้งกระเป๋าที่ได้รูปได้ทรง”

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก
บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

พลิษฐ์เล่าว่า ตอนแรกเขาไม่ได้เข้าใจความพิถีพิถันอย่างลึกซึ้ง จนเมื่อได้ร่วมงานกับญี่ปุ่น ความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป

“จากที่คิดว่างานฝีมือต้องไม่สมบูรณ์เท่ากันทุกชิ้น คนญี่ปุ่นที่ทำงานด้วยกันกลับบอกว่า ‘ไม่ได้ ยิ่งเป็นงานฝืมือ งานยิ่งต้องสวยสมบูรณ์’ อาจไม่เท่าเครื่องจักร แต่ต้องดีมีคุณภาพ ซึ่งทำให้ได้มูลค่าที่เพิ่มขึ้น เขาบอกว่า อย่าเอาความไม่สมบูรณ์มาเป็นข้ออ้างว่านี่งานฝีมือ เพราะงานฝีมือของญี่ปุ่นเนี้ยบมาก 

“ผมนำความคิดนี้มาปรับใช้ พยายามคัดสรรทุกใบ เน้นคุณภาพหมดเลย ทุกอย่างต้องค่อยๆ พูด แม้ช่างจะแก้ต่างว่ามันเป็นงานมือ ก็ต้องแย้งว่า อ้าว แล้วทำไมใบที่แล้วทำได้ล่ะ ใบที่ไม่ดีเอาไว้ก่อน ให้ไปทำใบใหม่อย่างตั้งใจนะ คือต้องใช้ศิลปะในการพูด ต้องหาวิธีพูด ใจเย็นๆ ใบที่แล้วคุณทำได้ ใบนี้นอนไม่พอหรือเปล่า กลับไปทำใหม่นะ ของานที่ละเอียดขึ้น ซึ่งวิธีการพูดแตกต่างจากการพูดกับคนรุ่นเก่า บางครั้งการสื่อสารกับคุณตาคุณยาย ก็ต้องให้คุณแม่ช่วยพูดอีกแรง” พลิษฐ์เล่าเสียงใส

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

การต่อยอดลวดลายใหม่ๆ ต้องไม่หยุดนิ่ง 

ปัจจุบันกระเป๋าลวดลายน้ำไหล จดลิขสิทธิ์เป็นของบุญยรัตน์แต่เพียงผู้เดียว และมีจำหน่ายแล้วในคิง เพาเวอร์ มหานคร และที่ซอยรางน้ำ ถือเป็นสินค้าที่ได้รับเสียงตอบรับดีจากทั้งนักท่องเที่ยวยุโรปและจีน 

พลิษฐ์เล่าถึงเหตุการณ์ที่นำความปลาบปลื้มมาสู่แบรนด์และครอบครัวบุญยรัตน์อย่างหาที่สุดไม่ได้ เมื่อแบรนด์ SIRIVANNAVARI ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้คัดเลือกกระเป๋ารุ่น Flow and Glow ของบุญยรัตน์ไปจัดแสดงในวันเปิดแบรนด์ของพระองค์ที่ปารีสเมื่อปีที่แล้ว

เมื่อลงมาเล่นในตลาดแล้ว การคิดต่อยอดลวดลายใหม่ๆ ต้องไม่หยุดนิ่ง 

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

เห็นอะไรในตลาดต่างประเทศ ทุกอย่างล้วนนำมาต่อยอดได้หมด เช่นเพิ่มแบบตะกร้าหูหิ้วที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่คนญี่ปุ่นนิยมถือ ซึ่งหลักทำการตลาดให้ถูกใจผู้บริโภคนั้น ประกอบด้วย

หนึ่ง สังเกตตลาด รู้เขา… รู้ว่าในชีวิตประจำวันเขาใช้อะไร

สอง อย่ามองข้ามฤดูกาล เช่นสินค้าย่านลิเภาเหมาะกับตลาดหน้าร้อน ดังนั้น ต้องแนะนำให้สินค้าพบผู้บริโภคทันหน้าร้อน เพราะคนญี่ปุ่นจะนิยมแต่งตัวในหน้าร้อนและถือกระเป๋าย่านลิเภา ส่วนหน้าหนาวก็จะกลับไปนิยมกระเป๋าหนัง และ

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

สาม รู้เรา… เมืองไทยเป็นแหล่งผลิตเครื่องหนังที่เป็นที่นิยมทั่วโลก ในฐานะคนไทย พลิษฐ์ก็ต้องเสาะแสวงหาแหล่งทำกระเป๋าหนังคุณภาพและรับทำในปริมาณไม่มาก

“อย่างกระเป๋าสตางค์ลายพิกุล เราแค่เอาของดั้งเดิมที่ดีอยู่แล้วมาผสมกับอันใหม่ การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ สมัยก่อนคงไม่มีใครใช้กระเป๋าสตางค์ ซึ่งอินโดนีเซียก็มีงานที่คล้ายๆ คนไทย แต่เขาไม่มีย่านลิเภา เขาใช้วัสดุที่ใกล้เคียงเช่นเชือกและหวายมาสานเป็นกระเป๋า ใช้วิธีการสานเดียวกัน ซึ่งค่าแรงอินโดนีเซียถูกกว่าไทย เป็นการบ้านที่ผมต้องขบคิด แต่ของไทยได้เปรียบตรงทรงคุณค่ากว่า เพราะสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงส่งเสริม เพราะเวลาพระองค์เสด็จฯ จะทรงถือย่านลิเภาตลอด ถือเป็นความโชคดีของคนไทยมากๆ อีกเรื่องคือญี่ปุ่นสนใจเรื่องราว ขณะที่ชาวยุโรปไม่ได้สนใจเรื่องราวเบื้องหลังงานแต่ละชิ้นขนาดนั้น” พลิษฐ์เล่า

บุญยรัตน์ แบรนด์ที่นำจิตรกรรมญี่ปุ่นผสมภูมิปัญญาเมืองคอนจนย่านลิเภาป๊อปไปทั่วโลก

ความหวัง ความฝัน อันสูงสุด

หากถามถึงความฝันและความหวัง พลิษฐ์ตอบด้วยแววตาเปล่งประกายว่า เขาอยากทำแบรนด์บุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ ให้แข็งแกร่ง อยากทำให้เป็นแบรนด์ไทยที่ไปจำหน่ายต่างประเทศได้ พลิษฐ์อยากก้าวข้ามคำว่า รับผลิต มาเป็นบุญยรัตน์ ไทยคร๊าฟท์ แบรนด์ที่ผลิต ออกแบบ และจัดจำหน่ายเอง เขาจึงต้องมีทีมที่แข็งแกร่ง

“ผมอยากเปิดร้านในกรุงเทพฯ ย่านประชาชื่น บองมาเช่ หรือทองหล่อ ตอนนี้เสียงตอบรับจากลูกค้าวัยรุ่นมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากลายน้ำไหล ผมพยายามผลักดันสินค้าไปสู่ตลาดระดับสูง เช่นติดต่อแบรนด์ดังอย่างแบรนด์เสื้อผ้า POEM ให้นำกระเป๋าย่านลิเภาไปถือในงานเดินแบบ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง หรือให้เพื่อนที่เป็นคนดังและเป็นคนรุ่นใหม่ เช่น คุณแหวนแหวน-ปวริศา เพ็ญชาติ ช่วยนำกระเป๋าย่านลิเภาลงโซเชียลมีเดีย ถือเป็นช่องทางหนึ่งในการทำการตลาด ซึ่งต้องยอมรับว่าการรีวิวสินค้ามีผลอย่างมาก ด้วยตลาดย่านลิเภาคนมองว่าสูงวัยและราคาค่อนข้างสูง ผมจึงอยากทำให้ราคาสมเหตุสมผลและมีรูปแบบที่ทันสมัยใช้ง่ายขึ้น โดยวิธีการสานดังเดิมคือไฮเอนด์ไปเลย กับการสานแบบเส้นใหญ่กว่าและเส้นห่างกว่าจึงได้ตลาดที่กว้างขึ้น”

พลิษฐ์ หงสุชน

และผลลัพธ์จากการกล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ ก็ทำให้ชาวบ้านภาคภูมิใจที่สินค้าของเขาเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่น คนยุโรป คนจีน ว่าเป็นงานที่สวยและดี แม้แต่หีบห่อก็ต้องใส่ใจในการผลิตแบบทำกล่องต่อกล่องเลยทีเดียว รวมทั้งมีการกำหนดซีเรียลนัมเบอร์เพื่อไม่ให้ผิดไซส์ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการหาวัสดุในการซ่อมแซมด้วย ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นจากใจของช่างสานย่านลิเภาจังหวัดนครศรีธรรมราช และวิธีคิดที่แสนใจเย็นของคนรุ่นใหม่ที่ชื่อว่าพลิษฐ์อย่างแท้จริง

จากวันนี้ไป เราคงต้องมองย่านลิเภาและเครื่องจักสานทรงคุณค่าเหล่านี้ใหม่ คุณว่าจริงไหม

Writer

Avatar

วราภรณ์ ผูกพันธ์

จบคณะมนุษยศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชน อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ยุคแอนะล็อกที่โดน Digital Disruption แต่ยืนยันจะเดินตามเส้นทางนักเขียนต่อไป

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ