01

ตำนานละครเพลง

แค่เสียงโน้ตเพลง Circle of Life ดังขึ้น ฉันก็กลับไปเป็นเด็ก 7 ขวบอีกครั้ง เด็กที่นั่งดูวิดิโอ The Lion King ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหน้าจอทีวี และเฝ้ามองการผจญภัยของซิมบ้าอย่างไม่รู้เบื่อ

หลังจากการ์ตูนเรื่องสิงโตเจ้าป่าออกฉายในปี 1994 และประสบความสำเร็จมหาศาล จึงเกิดละครเพลง The Lion King Musical ตามมาในปี 1997 ที่อเมริกา ซึ่งโด่งดังมากจนออกทัวร์ไปแสดงทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 22 ปีแล้ว นับเป็นมิวสิคัลเบอร์ต้นของโลกที่มีผู้ชมละครเพลงเรื่องนี้เกิน 100 ล้านคนทั่วโลก สร้างรายได้มากกว่า 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และเป็นละครเพลงที่เล่นต่อเนื่องมายาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจาก The Phantom of the Opera และ Chicago)

ข่าวดีมากของเมืองไทยตอนนี้ คือ The Lion King Musical ฉบับ International Tour กำลังมาเล่นที่เมืองไทย ตั้งแต่เดือนกันยายน – 10 พฤศจิกายน หลังจากเดินทางไปเล่นทั่วเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน โดยนักแสดง 52 คน คนทำงานเบื้องหลัง 80 คน และทีมงานท้องถิ่น ทุ่มเทสร้างโลกสิงโตเจ้าป่าอันน่าทึ่งในโรงละครทุกค่ำคืน

นอกจากนั่งดูละครเพลงที่ใฝ่ฝันอยากดูมาตลอด ฉันได้โอกาสเข้าหลังเวทีรัชดาลัยเธียเตอร์ ไปสำรวจการทำงานของทีมสร้างสรรค์ และนั่งสัมภาษณ์นักแสดงหลักอย่างใกล้ชิด ยิ่งอ่านยิ่งฟังเรื่องราวของละครเวทีในตำนานเรื่องนี้ บอกเลยว่าไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนตัวยงของการ์ตูนดิสนีย์ หรือติดตามมิวสิคัลมาก่อนหรือไม่ นี่คือผลงานสร้างสรรค์ระดับโลกที่ไม่ควรพลาด

02

ดีไซน์เจ้าป่า

The Lion King Musical กวาดรางวัล Tony Awards 6 รางวัลในปี 1998 ทั้งละครเพลงยอดเยี่ยม ฉากยอดเยี่ยม เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม แสงยอดเยี่ยม การออกแบบท่าทางยอดเยี่ยม และการกำกับยอดเยี่ยม เรียกได้ว่าเหมาหมด แถมยังได้รางวัลละครเพลงอีกกว่า 70 รางวัลจากทั่วโลก 

บุคคลสำคัญที่ออกแบบผลงานชิ้นโบว์แดงนี้คือหญิงมหัศจรรย์ จูลี่ เทย์มอร์ (Julie Taymor) ผู้กำกับคนแรกของ The Lion King Musical ที่ทั้งออกแบบเครื่องแต่งกาย และร่วมออกแบบหน้ากาก หุ่น และแต่งเนื้อเพลง เธอสร้างสรรค์ระบบที่เปลี่ยนแปลงวงการละครเพลงไปโดยสิ้นเชิง คือสร้าง Double Event ผสมผสานหุ่นเชิดเข้าไปในละคร ให้ผู้ชมได้เห็นนักแสดงและหุ่นเชิดไปพร้อมกัน ออกแบบให้ผู้ชมได้เห็นทั้งความเป็นคนและสัตว์ของแต่ละตัวละคร จากแต่เดิมที่นักเชิดหุ่นต้องสวมชุดดำ ซ่อนลำตัวและใบหน้าให้คนเห็นแต่หุ่นเท่านั้น แต่การออกแบบเสื้อผ้าหน้าผม หุ่น และหน้ากากของเธอ กลับเปิดเผยตัวคนและกลไกอย่างชาญฉลาด ทำให้ตัวละครและเรื่องราวมีชีวิต มีจิตวิญญาณขึ้นมา เช่น หน้ากากสิงโตที่อยู่เหนือศีรษะนักแสดง เผยให้เห็นใบหน้ามนุษย์ของมูฟาซา สการ์ ซิมบ้า และนาล่า ที่เผชิญความสุขและความเจ็บปวดเช่นเดียวกับผู้คนทั่วไปตลอดเรื่อง 

เบื้องหลัง The Lion King Musical มิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย
เบื้องหลัง The Lion King Musical มิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย

เมื่อเข้าไปเยี่ยมพื้นที่ทำงานของฝ่ายหน้ากากและหุ่น ได้เจอ ทิม ลูคัส (Tim Lucas) หัวหน้าฝ่ายหน้ากากและหุ่นของคณะละครชุดปัจจุบันนี้เคยทำงานที่ดิสนีย์แลนด์เซี่ยงไฮ้มาก่อน เขาเล่าว่าทีมงานดูแลหน้ากากและหุ่นมีแค่ 3 คนเท่านั้น มีหน้าที่รับผิดชอบหุ่น 235 ตัวให้สวยงาม อยู่ในสภาพดี โดยซ่อมแซมและทำความสะอาดให้พร้อมใช้งานตลอดเวลาทั้งก่อนและหลังการแสดง ซ้ำยังสแตนด์บายอยู่หลังฉากตลอดเรื่อง หากหุ่นหรือหน้ากากแตกหักเสียหายระหว่างการแสดงก็จะรีบเข้าไปดูแลทันที

ปัจจุบันดีไซน์ที่เห็นในเรื่องยังเป็นของดั้งเดิม แต่เติมการพัฒนาและเทคโนโลยีตามเวลาที่ผ่านไป เช่นใช้คาร์บอนไฟเบอร์ ทำโครงหน้ากากให้แข็งแรงขึ้นแต่เบาหวิว ส่วนหน้ากากมูฟาซาและสการ์ ประดับตกแต่งด้วยขนม้าบ้าง หางนกยูงบ้าง ให้ดูสวยงามและได้กลิ่นอายของสัตว์ป่า หน้ากากของตัวละครหลักมีแค่อย่างละอันเท่านั้น แต่ของตัวประกอบจะมีสำรองเผื่อไว้

หุ่นแต่ละตัวมีความซับซ้อนแตกต่างกันไป โดยเฉพาะหุ่นนกซาซูที่มีกลไกละเอียดอ่อน นักแสดงต้องใช้มือหนึ่งคุมลำตัวกับปีก อีกมือคุมหน้า ดวงตา จงอยปาก และลำคอที่ยืดหดได้ 

เบื้องหลัง The Lion King Musical มิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย

ส่วนที่มุมแต่งหน้าทำผม เฮทเธอร์ – เจ รอส (Heather – Jay Ross) หัวหน้าฝ่ายช่างทำผมและแต่งหน้า เล่าว่าทีมแต่งหน้า 4 คนมีตู้แต่งหน้าของตัวเอง ก่อนเริ่มการแสดงในแต่ละประเทศ ทีมงานต้องมาถึงก่อนนักแสดง 3 วันเพื่อเตรียมอุปกรณ์และข้าวของ ตั้งสถานีแต่งหน้า ซักวิกผม และสอนช่างแต่งหน้าท้องถิ่น 2 คนให้ช่วยแต่งหน้าเป็น เธอเล่าว่าเรื่องนี้ใช้เวลาแต่งหน้าแต่งวิก 1 ชั่วโมงก่อนการแสดงเริ่ม หลังจบองค์หนึ่งก็แต่งต่อ 20 นาที จึงต้องทำงานรวดเร็วมาก

เทคนิคการแต่งหน้าก็คล้ายๆ หุ่นและหน้ากาก คือใส่ความเป็นสัตว์บางส่วนบนหน้ามนุษย์ แต่ไม่ได้ซ่อนใบหน้าเพื่อเปลี่ยนเป็นสัตว์จริงๆ การแต่งหน้าทุกแบบมีคู่มือตัวอย่าง และเฉดสีที่สั่งทำเฉพาะ ซึ่งต้องพยายามทำให้เหมือนเดิมทุกครั้ง เครื่องสำอางเหล่านี้แต่งง่ายและลบได้ง่าย เพราะนักแสดงส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนบทบาทบ่อยๆ และแต่งหน้าซ้ำๆ ทุกคืน

เบื้องหลัง The Lion King Musical มิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย
เบื้องหลัง The Lion King Musical มิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย

นักแสดงแต่งหน้าเองบางส่วน เช่น ลงรองพื้น ลงสโมกกี้อาย หรือเหล่าไฮยีน่าที่แต่งหน้าแบบกราฟิกเอง แต่ทีมงานจะแต่งหน้าให้ตัวละครหลักๆ เช่น ซาซู สการ์ ราฟิกิ พุมบ้า ทีโมน ซิมบ้า นาล่า มูฟาซา และสิงโตเด็กทั้งคู่ โดยตัวละครที่แต่งหน้ายากที่สุดคือซาซู เพราะต้องค่อยๆ แต่งหน้าเป็นสีน้ำเงินและเกลี่ยสีขาวรอบดวงตา ส่วนวิกที่อลังการที่สุดคือวิกของเจ้าหมูป่าพุมบ้าที่ใหญ่โตอลังการ เฮทเธอร์แอบบอกว่าที่เห็นตัวละครแต่ละตัวผมสวยฟูฟ่อง หรือถักเปียสารพัดแบบแอฟริกัน แทบทั้งหมดนั้นคือวิกทั้งหมด อย่างนาล่าที่ถักเปียสั้นแนบทั้งศีรษะ ก็มีวิกตั้ง 3 อันเอาไว้ผลัดเปลี่ยนใช้งานตลอดการทัวร์

“เรามีทีมที่ดีที่ทำให้ทุกสิ่งพร้อม พวกเขาเหมือนซูเปอร์ฮีโร่ที่ดูแลทุกอย่าง เพราะเป็นการแสดงสด อะไรจะเกิดก็ได้ เราต้องพร้อมที่จะแก้ไข และพยายามรับมือปัญหาทุกอย่างที่อาจเกิดขึ้น” 

โอมาร์ โรดริเกรซ (Omar Rodriguez) ผู้กำกับการแสดงคณะละครทัวร์ The Lion King Musical เล่าว่านักแสดงและทีมงานซักซ้อมกันราว 2 เดือนก่อนออกทัวร์ไปทั่วโลก โดยระหว่างการแสดงก็ซ้อมด้วย เพื่อให้การแสดงสดใหม่ คุณภาพดี เพื่อไม่ให้การเล่นเรื่องเดิมซ้ำๆ น่าเบื่อหน่าย เป็นหน้าที่ของเขาที่จะให้การบ้านท้าทายนักแสดง มีโจทย์ใหม่ๆ ให้คิดให้แสดง และฝึกฝนนักแสดงตัวสำรองให้พร้อมออกไปเล่นอยู่เสมอ

03

ของขวัญแห่งโลกละคร

นักแสดง The Lion King Musical ต่างเติบโตมากับการ์ตูนดิสนีย์รุ่นดั้งเดิม เหมือนเด็กยุคแปดศูนย์เก้าศูนย์ทั่วโลกที่หลงใหลเรื่องราวผจญภัยของสิงโตเจ้าป่า 

“ผมได้ดูเรื่องนี้ครั้งแรกตอนประถมต้น เราถูกเรียกไปรวมตัวกันที่ห้องวิดิโอ ผมตื่นเต้นสุดๆ และร้องเพลงคลอไปตลอดจนครูต้องสั่งให้เงียบ ผมรู้สึกคุ้นเคยกับเรื่องเพราะเพลงแอฟริกันที่ผมเข้าใจ พอโตขึ้นมา พ่อผมซื้อซีดีละครเพลงไว้ในรถ ผมนั่งฟังเพลง The Lion King ในรถได้ทั้งวันจนรถแบตเตอรี่หมด” มีโทโคซีสิ เอ็มเคย์ คานยาล (Mthokozisi Emkay Khanyile) เล่าให้ฟังพร้อมหัวเราะ ชายหนุ่มเสียงทุ้มต่ำรับบทมูฟาซา พ่อของซิมบ้า มา 5 ปีแล้ว 

เบื้องหลัง The Lion King Musical มิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย

“ผมก็โตมากับวิดิโอ The Lion King เป็นหนังโปรดที่ผมท่องได้ทุกประโยค รู้หมดแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นแต่ก็ยังดู จนอายุยี่สิบต้นๆ ผมไปดูละครเพลงเรื่องนี้ครั้งแรก ผมมั่นใจว่ามันต้องเหมือนในหนัง แต่พอละครเริ่มเล่นผมก็รู้ตัวว่าคิดผิดทั้งหมด มันไม่เหมือนเลย ผมทึ่งกับการเล่าเรื่องและการออกแบบของจูลี่ เทย์มอร์ มันเป็นเรื่องเดิม แต่มันก็ต่างออกไป สิ่งที่ดึงดูดผมก็ต่างออกไปจากตอนเด็กๆ อะไรที่เคยขำก็ไม่ขำแล้ว อะไรที่ไม่เข้าใจตอนเด็กก็เริ่มเข้าใจ”

“เหตุผลที่ผมอยากเล่นเรื่องนี้มากๆ เพราะมันเป็นเรื่องที่คนทุกวัยชื่นชอบ คนที่เคยดูเรื่องนี้เมื่อ 20 ปีก่อน ถ้ามาดูเรื่องนี้พรุ่งนี้ คุณจะได้เห็นการแสดงที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง เพราะชีวิต 20 ปีที่ผ่านมาของคุณทำให้ประสบการณ์การดูต่างออกไป บางการแสดง คุณอาจจะคิดว่าวันนี้จะออกไปเล่นให้เด็กๆ ดู แต่เรื่องนี้คนดูได้ทุกวัย และทุกคนจะได้สิ่งที่ต่างออกไปหลังละครจบ”

แอนโทนี่ ลอเรนซ์ (Antony Lawrence) เจ้าของบทสการ์ สิงโตตัวร้ายทรงเสน่ห์ผู้เป็นอาของซิมบ้าเอ่ยสมทบ 

“ผมเชื่อว่าThe Lion King เป็นของขวัญ อาชีพนักแสดงมีอายุการทำงานสั้นมาก เราได้ของขวัญเป็นการได้เล่น The Lion King ในช่วงสั้นๆ ของเรา เส้นทางการงานของเราเดินไปข้างหน้า วันหนึ่งก็จะหยุดชะงักและต้องจากไป เมื่อมีเด็กรุ่นใหม่ก้าวเข้ามาแทนที่ตลอดเวลา ช่วงเวลาเหล่านี้จึงมีค่ามาก เป็นความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เล่นเรื่องนี้ครับ”

04

นักแสดงจากทั่วโลก

กว่าจะมาเล่นเรื่องนี้ นักแสดง 52 ชีวิตจากหลายเชื้อชาติ ผ่านการออดิชันจากทั่วโลก บางคนมีพื้นฐานจากการเล่นเป็น Ensemble หมู่มวลตัวประกอบมาก่อน บางคนถนัดการเต้น กายกรรม การเชิดหุ่น การร้องเพลง หรือสารพัดความสามารถพิเศษต่างๆ อย่าง อองเดรย์ จิวสัน (André Jewson) ผู้เชิดหุ่นซาซู นกเงือกปากแดง มหาดเล็กคู่ใจมูฟาซา ที่ดูแลซิมบ้าตั้งแต่อ้อนแต่ออก เรื่องนี้เขาทั้งร้องเพลง เชิดหุ่นนก และแสดงบทบาทตลกขบขันไปพร้อมๆ กันได้อย่างน่าทึ่ง เป็นตัวละครที่เด็กๆ โปรดปรานเป็นพิเศษ

“ละครเรื่องนี้เป็นส่วนผสมของหลายสิ่งที่ผมชอบ การเชิดหุ่น การเล่าเรื่อง การร้องเพลง ผมพยายามเก็บลักษณะตัวละครในหนัง และพยายามข้ามมาตรฐานความคาดหวังคนดู แต่การพากย์เสียงกับการเล่นละครเพลงบนเวทีไม่เหมือนกันเลย” อองเดรย์อธิบาย

เบื้องหลัง The Lion King Musical มิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย

นักแสดงทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าการ์ตูน The Lion King นั้นคลาสสิกขึ้นหิ้งมากๆ การพยายามเลียนแบบเสียงนักพากย์เหล่านั้นไม่มีทางจะทำได้ดีกว่า พวกเขาหยิบยืมลักษณะตัวละครดั้งเดิม มาสร้างตัวละครในแบบของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนได้

อแมนด้า คูนีน (Amanda Kunene) นักแสดงสาวร่างเล็กที่รับบทนาล่า สิงโตคู่รักของซิมบ้าเล่าว่าตอนออดิชั่นละครเรื่องนี้ เธอหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตทั้งวันทั้งคืน หายใจหายคอกินนอนเป็นนาล่า เพราะอยากรู้จักตัวละครนี้อย่างถ่องแท้

“ฉันประทับใจมากที่นักแสดงทุกคนที่เล่นเป็นนาล่ามาก่อนฉันไม่เหมือนกันเลย ทุกคนตีความต่างกันไป บางคนถนัดเรื่องการเคลื่อนไหว บางคนถนัดเรื่องเสียง พวกเธอเป็นแรงบันดาลใจให้นาล่าแบบของฉัน ฉันเรียนรู้จากคนที่ทำงานในวงการนี้มานาน ฉันค้นข้อมูลเยอะมาก เรียนรู้จากพวกเธอ และสุดท้ายก็ถอดนาล่าออก เป็นแค่อแมนด้า ตอนนั้นแหละที่เป็นช่วงเวลาที่ฉันกลัวที่สุด ตัวละครนี้แข็งแกร่งมากๆ ฉันโตมาในครอบครัวผู้หญิงแกร่ง เมื่อคิดถึงนาล่า ฉันจะคิดถึงสมาชิกครอบครัวที่กล้าหาญและแข็งแกร่งมากๆ ฉันได้ค้นพบและสร้างนาล่าที่สดใหม่ขึ้นมาในแบบของตัวเอง”

เบื้องหลัง The Lion King Musical มิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย
เบื้องหลัง The Lion King Musical มิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย

“มี The Lion King หลากหลายเวอร์ชั่นเล่นตลอดเวลาทั่วโลก ราฟิกิทุกคนเล่นแบบที่ดีที่สุดในแบบของตัวเอง ตอนเริ่มเล่นฉันก็ดูวิดิโอที่คนอื่นเล่น เพราะฉันไม่แน่ใจว่าราฟิกิเป็นยังไง ตอนแรกฉันเริ่มจากเล่นเป็นตัวประกอบ ไม่รู้ว่าแม่หมอนี้เป็นยังไงกันแน่ เลยดูวิดิโอซ้ำๆ จนมีผู้กำกับคนนึงบอกว่าฉันพูดและเคลื่อนไหวเหมือนคนนั้นคนนี้ ฉันเลยต้องเลิกดู และพยายามหาว่าราฟิกิเป็นใครกันแน่ ในแบบของตัวเอง”

“คนแอฟริกาใต้หลายต่อหลายคนเดินทางไป Zangoma (หมู่บ้านที่ขึ้นชื่อเรื่องเวทมนต์) เพื่อรับสมุนไพรรักษา หรือทำนายอนาคต ฉันไม่ได้โตมาแบบนั้น เลยต้องพยายามขุดหารากการเป็นชาวแอฟริกันและวิธีการเป็นราฟิกิ จะลงไปคลานสี่เท้าเป็นลิงก็ได้ แต่ฉันพยายามทำให้เธอเป็นมนุษย์มากขึ้น จริงมากขึ้น แม้ไม่พูดอะไรเลย แต่คุณรู้สึกได้ว่าเธอเปี่ยมไปด้วยความรักความเอาใส่ใจ เธอคือผู้เยียวยา”

เเซปา พิทเจง (Ntsepa Pitjeng) ผู้รับบทลิงปุโรหิตย้อนความหลังให้ฟัง ราฟิกิเวอร์ชั่นละครเพลงเป็นตัวละครที่เพศต่างจากในการ์ตูน เพราะผู้กำกับจูลี่ เทย์มอร์เห็นว่าไม่มีตัวละครหญิงที่รับบทบาทสำคัญในเรื่องนี้เพียงพอ เลยปรับบทลิงแมนดริลจากเพศชายเป็นเพศหญิง 

แซปาเล่นเป็นราฟิกิมา 8 ปีแล้ว เธอสวมบทบาทเป็นผู้เยียวยาทางจิตวิญญาณของลูกสิงโตเจ้าป่าสัปดาห์ละ 8 รอบ ความท้าทายของการรับบทเดิมซ้ำๆ คือการเอาชนะตัวเองอยู่เสมอ หาความสดใหม่ให้ตัวเองและเพื่อนร่วมเวที โดยไม่เชื่อว่าตัวเอง ‘เอาอยู่’ หากไม่พยายาม

เบื้องหลังมิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย

“ผมเพิ่งมาร่วมงานกับนักแสดงทีมนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง ไม่เคยเล่นเป็นซิมบ้ามาก่อน แต่พอเล่นเรื่องเดียวแปดรอบต่อสัปดาห์ ครอบครัวผมถามซ้ำๆ ว่าไม่เบื่อเลยเหรอ ทำได้ไง ผมโชคดีที่ผมหลงใหลสิ่งที่ผมทำ และพยายามทำเต็มที่ทุกวัน พยายามซึมซับเรื่องราว การเคลื่อนไหว แสงไฟ และทุกสิ่งบนเวที บางครั้งผมร้องไห้ระหว่างช่วงพักการแสดง มีความรู้สึกว่าทุกชีวิตทั้งบนเวทีและหลังฉาก กำลังพยายามทำให้สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดเกิดขึ้น”

“บางคนอาจจะเคยดู The Lion King Musical มาแล้ว แต่ผมพยายามคิดว่าทุกคนมาดูเรื่องนี้ครั้งแรก และนี่อาจเป็นประสบการณ์แรกในโรงละครของพวกเขา หน้าที่ของผมคือช่วยให้พวกเขาอยากมาดูละครเวทีอีก หรืออยากดูเรื่องนี้อีก หรืออยากฟังเพลงอีก” 

จอร์แดน ชอว์ (Jordan Shaw) ซิมบ้าหนุ่มไฟแรงจากลอนดอนกล่าวปิดท้าย จากเด็กชายที่ไปโรงละครทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ เติบโตมากับการยืนจ้องโปสเตอร์ The Lion King Musical หน้าโรงละคร สิงโตเจ้าป่ามีความหมายสำหรับเขามาก และเขาเชื่อว่าละครเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้คนมากมาย

“พอได้เล่นก็ได้เรียนรู้ว่าเรื่องนี้ลึกซึ้งขนาดไหน มีคนดูที่ร้องไห้และบอกผมว่าเขาดูเรื่องนี้แล้วนึกถึงตัวเองตอนที่เสียพ่อไป หรือการดูเรื่องนี้ช่วยให้เขาอยากกลับไปเผชิญหน้ากับบาดแผลในอดีต ทุกคืนที่เล่นผมไม่มีทางลืมเรื่องเหล่านี้ เลยพยายามทำงานหนักและพัฒนาตัวเองต่อไปครับ”

เบื้องหลังมิวสิคัลอันดับหนึ่งของโลกที่กำลังแสดงในเมืองไทย

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2