เมื่อ พ.ศ. 2531 หรือ 33 ปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาได้ส่งคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากปราสาทหินพนมรุ้ง ทับหลังที่ถูกลับลอบนำออกนอกประเทศไทยตั้งแต่ช่วงสงครามเวียดนามคืนให้กับประเทศไทย ทับหลังที่ทำให้เกิดเพลง ทับหลัง ของวงคาราวที่มีเนื้อเพลงติดหูว่า “เอาไมเคิล แจ๊กสันคืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา” 

และใน พ.ศ. 2564 สหรัฐอเมริกาได้ส่งคืนทับหลัง 2 ชิ้นที่ถูกลับลอบนำออกนอกประเทศในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นก็คือ ‘ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์’ จังหวัดบุรีรัมย์ และ ‘ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น’ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าคุณไม่ใช่คนในพื้นที่หรือคนที่สนใจจริงๆ แทบจะไม่มีใครเคยได้ยินชื่อปราสาทสองแห่งนี้มาก่อนแน่ๆ ผมเลยจะขออาสาพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับปราสาททั้งสองแห่งกันครับ

การเดินทางกลับบ้านของทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น จากซานฟรานฯ สู่อีสาน
ภาพ : Facebook Royal Consulate-General Los Angeles

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับปราสาททั้งสองหลัง ขอเล่าเรื่องการทวงคืนทับหลังทั้ง 2 ชิ้นนี้แบบย่อๆ สักเล็กน้อยครับผม

จุดเริ่มต้นทั้งหมดเริ่มจากกลุ่มสำนึก 300 องค์ ซึ่งนำโดย นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ และนักวิชาการอิสระกลุ่มหนึ่งได้พบเบาะแสของทับหลังทั้งสองชิ้น ในระหว่างการติดตามทวงคืนประติมากรรมสำริดจากกรุประโคนชัย โดยพบทับหลังทั้งสองชิ้นจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชอง-มุน ลี (Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture) ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา 

ซึ่งทับหลังทั้งสองชิ้นมีป้ายระบุชัดเจนว่ามาจากปราสาทแห่งใด เช่น ปราสาทหนองหงส์ (Place of Origin : Northeastern Thailand, Nong Hong Temple, Buriram Province) หรือปราสาทเขาโล้น (Place of Origin : Northeastern Thailand, Khao Lon Temple, Sa Kaeo Province) ประกอบกับหลักฐานเป็นภาพถ่ายเก่าของทับหลังทั้งสองชิ้นเมื่อครั้งยังประดิษฐานอยู่ที่ปราสาท จึงถือเป็นหลักฐานชั้นดีที่นำไปสู่การทวงคืนทับหลังทั้งสองชิ้นกลับมายังประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม รูปถ่ายที่จะใช้ในการทวงคืนนั้นจะต้องถ่ายหลัง พ.ศ. 2504 นะครับ เพราะเป็นปีที่มีการออก พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ดังนั้น ถ้าโบราณวัตถุใดก็ตามที่ถูกลักลอบนำออกนอกประเทศก่อนหน้านี้ก็ทวงคืนไม่ได้ เพราะกฎหมายยังไม่ได้ออก ซึ่งรูปถ่ายทั้ง 2 ภาพถ่ายหลัง พ.ศ. 2504 ทั้งคู่ จึงใช้ในกระบวนการนี้ได้

การเดินทางกลับบ้านของทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น จากซานฟรานฯ สู่อีสาน
ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ 
ภาพ : หนังสือโครงการและรายงาน การสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่ม 2 พ.ศ. 2502 หน้า 34
การเดินทางกลับบ้านของทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น จากซานฟรานฯ สู่อีสาน
ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น 
ภาพ : หนังสือศิลปะสมัยลพบุรี หน้า 30

ทับหลังทั้งสองชิ้น ทั้งทับหลังจากปราสาทหนองหงส์และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ต่างเป็นทับหลังในศิลปะขอมแบบบาปวน สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 ด้วยกันทั้งคู่ เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันอายุของปราสาทที่ทับหลังทั้งสองชิ้นนี้เคยอยู่ โดยทับหลังจากปราสาทหนองหงส์นั้นมีรูปพระยม เทพเจ้าแห่งความตาย และเทพประจำทิศใต้ประทับบนหลังกระบือ พาหนะของพระองค์ อยู่เหนือหน้ากาลซึ่งกำลังคายท่อนพวงมาลัย ประดับด้านบนและด้านล่างของทับหลังด้วยลายกระหนกใบไม้ตั้งขึ้นและใบไม้ห้อยลง

การเดินทางกลับบ้านของทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น จากซานฟรานฯ สู่อีสาน
ภาพ : Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture

ส่วนทับหลังจากปราสาทเขาโล้นนั้นมีหน้ากาลเหมือนกัน แต่ด้านบนเปลี่ยนเป็นรูปเทวดานั่งชันเข่าแทน (บางคนตีความว่าเป็นพระอินทร์ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ เพราะไม่ได้ขี่เทพพาหนะอย่างช้างเอราวัณ และของในมือก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นวัชระหรือไม่) และหน้ากาลนั้นเปลี่ยนจากคายท่อนพวงมาลัยเป็นคายก้านขดม้วนต่อเนื่องออกมาแทน ส่วนด้านบนก็ประดับลายกระหนกใบไม้ตั้งขึ้นและใบไม้ห้อยลงเช่นเดียวกัน

การเดินทางกลับบ้านของทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น จากซานฟรานฯ สู่อีสาน
ภาพ : Asian Art Museum Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture

เราทำความรู้จักกับทับหลังทั้งสองแล้ว ทีนี้ได้เวลาไปชมปราสาททั้งสองแห่งแล้วครับ

แม้ว่าทั้งปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้นจะตั้งอยู่คนละจังหวัด ดูแล้วไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ แต่ปราสาททั้งสองหลังมีความเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นก็คือที่ตั้งครับ ปราสาททั้งสองหลังตั้งอยู่บริเวณช่องตะโกของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งช่องตะโกนี้ถือเป็นหนึ่งในหลายช่องเขาที่เชื่อมต่อพื้นที่ลุ่มน้ำมูลในประเทศไทยและโตนเลสาบในประเทศกัมพูชา โดยปราสาทหนองหงส์ตั้งอยู่บนบนขอบที่ราบสูง ส่วนปราสาทเขาโล้นตั้งอยู่บนต้นทางที่ราบลุ่ม ลงจากเขตที่ราบสูงเพื่อเดินทางต่อไปยังปราสาทสด๊กก๊อกธม ปราสาทสำคัญอีกแห่งหนึ่งซึ่งพบจารึกสำคัญที่เล่าเรื่องราวของกษัตริย์ขอมโบราณเอาไว้ และมุ่งสู่เขตกัมพูชาต่อไป ดังนั้น ปราสาททั้งสองหลังจึงเหมือนเป็นจุดพักระหว่างทางในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสองดินแดน มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติอย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่อดีตกาลนับพันปีมาแล้ว

โดยปราสาทหนองหงส์เป็นปราสาทสร้างด้วยอิฐ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกันเรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกซี่งถือเป็นทิศมงคล มีปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลางและถึงแม้จะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังมีสภาพสมบูรณ์กว่าปราสาทบริวารทั้งสองหลัง เพราะยังเหลือส่วนชั้นซ้อนด้านบนอยู่บ้าง แต่ทับหลังซึ่งเคยมีอยู่กับปราสาททั้ง 3 หลังนั้นไม่ปรากฏแล้ว

ทับหลังรูปพระยมทรงกระบือที่ได้คืนมาครั้งนี้เดิมอยู่ที่ปราสาทหลังทิศใต้ (ถ้าหันหน้าไปหากลุ่มปราสาทจะอยู่ทางซ้าย) ส่วนทับหลังรูปพระนารายณ์ทรงครุฑและทับหลังรูปพระอินทร์ยังคงสูญหายไป ด้านหน้ากลุ่มปราสาทมีวิหาร (นิยมเรียกกันว่าบรรณาลัย) ตั้งอยู่หน้าปราสาทบริวารหลังทิศใต้ กลุ่มอาคารทั้งหมดมีกำแพงล้อมรอบ โดยมีโคปุระหรือประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ก็คือด้านหน้าและด้านหลังนั่นเอง

การเดินทางกลับบ้านของทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น จากซานฟรานฯ สู่อีสาน
การเดินทางกลับบ้านของทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น จากซานฟรานฯ สู่อีสาน
การเดินทางกลับบ้านของทับหลังปราสาทหนองหงส์และปราสาทเขาโล้น จากซานฟรานฯ สู่อีสาน
ภาพ : ทศพล นามปัญญา

ในขณะที่ปราสาทเขาโล้นตั้งอยู่ยอดเขาเตี้ยๆ ลูกหนึ่งชื่อว่าเขาโล้น ตั้งอยู่ภายในสำนักสงฆ์ปราสาทเขาโล้น เป็นกลุ่มปราสาท 4 หลังเรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แถวหน้ามี 3 หลังและแถวหลังมีอีก 1 หลัง แต่ปัจจุบันพังทลายไปจนหมด คงเหลือเพียงปราสาทประธานหลังกลางเพียงหลังเดียวในสภาพที่ไม่ได้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเหลือชั้นซ้อนด้านบนเล็กน้อย ทับหลังรูปเทวดานั่งชันเข่าเหนือหน้ากาลที่ได้คืนมาเดิมอยู่ที่ปราสาทหลังนี้ครับ 

นอกจากจำนวนปราสาทจะมากกว่าปราสาทหนองหงส์ซึ่งมี 3 หลังแล้ว ที่ปราสาทเขาโล้นแห่งนี้ยังมีจารึกโบราณอยู่ที่กรอบประตูทางเข้า โดยในจารึกมีการระบุศักราช ซึ่งเมื่อแปลงเป็นพุทธศักราชแล้วจะตรงกับ พ.ศ. 1559 สอดคล้องกับอายุของทับหลังจากปราสาทหลังนี้ที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 เลยครับ

เรื่องราวของทับหลัง 2 ชิ้น และการเดินทางกลับปราสาทหนองหงส์ บุรีรัมย์ และปราสาทเขาโล้น สระแก้ว ปราสาทหินที่บอกเล่าประวัติศาสตร์แดนอีสาน
เรื่องราวของทับหลัง 2 ชิ้น และการเดินทางกลับปราสาทหนองหงส์ บุรีรัมย์ และปราสาทเขาโล้น สระแก้ว ปราสาทหินที่บอกเล่าประวัติศาสตร์แดนอีสาน
ภาพ : ทศพล นามปัญญา

และการทวงคืนทับหลังทั้งสองชิ้นนี้กลับมาสู่มาตุภูมิ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทวงคืนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอีกหลายชิ้นที่ไปตกอยู่ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ รวมไปถึงในร้านประมูลโบราณวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่ออกไปจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายแทบทั้งสิ้น แม้บางชิ้นจะมีป้ายที่ระบุชัดเจนถึงสถานที่ตั้งเดิมของโบราณวัตถุเหล่านั้น แต่ก็ยังมีอีกมากที่ป้ายระบุเพียงข้อมูลอย่างกว้างๆ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะร่วมมือกันรวบรวมหลักฐาน เพื่อให้โบราณวัตถุเหล่านั้นได้กลับมายังสถานที่ซึ่งพวกเขาเคยอยู่อีกครั้ง

เกร็ดแถมท้าย

  1. ปราสาทขอมนั้นแม้ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน แต่จริงๆ แล้วยังพบในภาคอื่นด้วย เช่น ภาคกลางและภาคตะวันออก เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอาณาจักรขอมโบราณได้เป็นอย่างดี
  2. ทับหลังถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญและมักเป็นชิ้นที่มีความสวยงามที่สุดในปราสาทหินควบคู่ไปกับหน้าบัน นอกจากความสวยงามแล้ว ทับหลังยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยในการกำหนดอายุของปราสาทอีกด้วย
  3. นอกจากทับหลังที่เราได้คืนมาแล้ว ที่ปราสาทหนองหงส์ยังมีโบราณวัตถุน่าสนใจอีกหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นโกลนทับหลัง (ทับหลังที่ยังแกะสลักไม่เสร็จ) ชิ้นส่วนหน้าบัน ฐานรูปเคารพฯ ซึ่งได้จากการขุดศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2545 และปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

Writer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ