The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

ตั้งใจเรียนหนังสือ โตไปพัฒนาประเทศ เหมือนเป็นเรื่องทั่วไปที่เด็กๆ ทำกัน แต่ภาวะวิกฤตอากาศเปลี่ยนแปลงที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่อาจรอเวลาให้คนรุ่นใหม่เรียนจบแล้วออกไปพัฒนาสังคม หรือคอยให้โรงเรียนเลิกก่อนแล้วทำเป็นกิจกรรมเสริมได้

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณไปทำความรู้จัก ลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร เด็กหญิงวัย 12 ปี ผู้เลือกจะลงมือทำอะไรบางอย่าง และสิ่งนั้นก็ไม่ใช่อะไรเล็กๆ อย่างการเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเท่านั้น หากเป็นการชวน ‘ผู้ใหญ่’ ทั้งอายุ ทั้งตำแหน่ง มาหารือ เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร​ นักเคลื่อนไหววัย 12​ ที่ชวนผู้ใหญ่ร่วมหาทางออกเรื่อง​ Climate​ Change

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 13 Climate Action บูรณาการมาตรการรับมือสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนแห่งชาติ รวมถึงปรับปรุงการศึกษา สร้างความตระหนักรู้ถึงขีดความสามารถของมนุษย์และสถาบัน ในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัว ลดผลกระทบ รวมถึงการเตือนภัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศล่วงหน้า

ตัวอย่างโปรเจกต์ที่เธอคนนี้ไปเจรจากับผู้ใหญ่คือ Green Brands โปรเจกต์สนับสนุนให้ผู้ผลิตรายใหญ่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดบรรจุภัณฑ์พลาสติก หลังจากฟังข้อเสนอ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อย่าง IKEA ตอบรับแนวคิดดังกล่าวและกำลังวางแผนพัฒนาศูนย์รีไซเคิลเพื่อการเรียนรู้ 

การบ้านอีกหนึ่งชิ้นของลิลลี่ คือภารกิจบรรจุวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษาเข้าสู่หลักสูตรโรงเรียน โดยเข้าไปหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษา นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายโปรเจกต์ที่ลิลลี่กับเพื่อนๆ กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีจุดประสงค์เดียวกันคือ แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

“หนูโทรไปคอลเซ็นเตอร์หลายบริษัท เพราะว่าตามกฎหมายแล้วคอลเซ็นเตอร์ปฏิเสธคำร้องเรียนจากลูกค้าไม่ได้ แต่ว่าต้องทำอะไรสักอย่าง หนูขออีเมลคนสำคัญๆ แล้วขอนัดประชุม ถ้าพวกเขาไม่ให้ก็ส่งเมลไปอีก จนกระทั่งได้นัด 

“หลายคนคิดว่าหนูแกล้งเล่นหรือว่าต้องทำการบ้านส่งสักวิชา ถึงกับมีคนพูดว่า ‘หนูทำการบ้านไม่ได้เหรอ ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวเราส่งเมลบอกคุณครูให้’ หนูโทรตามพวกเขาเรื่อยๆ จนพวกเขาให้ความร่วมมือ หนูดีใจมากกับสิ่งที่ทุกบริษัททำ”

ลิลลี่เล่าให้เราฟังถึงเทคนิคการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมของเธอ ด้วยปฏิบัติการขอเข้าไปนัดคุยกับผู้ใหญ่หลายคน ไม่ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นจะทำงานอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคการศึกษา

คุณคิดว่าการแก้ไขปัญหาใหญ่อย่าง Climate Change เป็นหน้าที่ของใคร บทสนทนากับลิลลี่บนหน้าจอต่อไปนี้ คือคำตอบที่ผู้ใหญ่อย่างเราอาจคาดไม่ถึงเลย

ลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร​ นักเคลื่อนไหววัย 12​ ที่ชวนผู้ใหญ่ร่วมหาทางออกเรื่อง​ Climate​ Change

01

เพราะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

แม้อายุเพียง 12 แต่ลิลลี่เห็นได้ชัดเจนว่าสภาพแวดล้อมของโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเหตุการณ์ผืนป่าแอมะซอนลุกไหม้หรือปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่โรงเรียนเธอต้องประกาศหยุด เธอเล่าว่า 7 ปีก่อนตอนเริ่มจำความได้ เหตุการณ์ประเภทดังกล่าวไม่ได้เกิดถี่อย่างทุกวันนี้ โลกที่เธอรู้จักเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรอบ 50 ปี

ข้อเสนอที่ลิลลี่ชวนให้ผู้ใหญ่หลายคนทำมากที่สุดคือ ลดปริมาณขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แล้วประเด็นภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหรือว่าที่คนไทยติดปากเรียกกันว่า โลกร้อน เกี่ยวข้องกับการใช้พลาสติกยังไง เราถามด้วยความข้องใจ เธอขยับตัวเตรียมพร้อมก่อนเริ่มอธิบายอย่างกระตือรือร้น

“พลาสติกที่พวกเราใช้อยู่ทำมาจากน้ำมันใช่ไหมล่ะ ขั้นตอนสูบเชื้อเพลิงฟอสซิลจากใต้ดินเพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกต้องใช้พลังงานมาก แถมยังสร้างควันพิษ ถ้าขยะพลาสติกเดินทางต่อไปลงทะเลก็จะเป็นอันตรายต่อสัตว์ แต่ว่าต่อให้เราใช้แล้วทิ้งถูกที่เรียบร้อย ส่งไปหลุมฝังกลบ พอหลุมเต็มเขาก็เอาไปเผา ปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเข้าชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นำไปสู่ภัยพิบัติต่างๆ เช่น สึนามิ”

อย่างไรก็ตาม ลิลลี่เสริมว่า สิ่งที่เราพูดถึงกันอยู่ตอนนี้คือพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อนบางคนที่โรงเรียนชอบแซวเธอด้วยการทำท่าโยนปากกาทิ้งแล้วบอกว่า “ดูสิลิลลี่ ฉันกำลังทิ้งขยะพลาสติกล่ะ!”

ใครว่าล่ะ ปากกาไม่ใช่พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพราะเอาไปคัดแยกต่อได้ จริงๆ แล้วพลาสติกเป็นวัสดุที่มหัศจรรย์มาก ทั้งแข็งแรง ทั้งหลอมได้

ประเด็นอยู่ที่การใช้กันฟุ่มเฟือยจนกลายเป็นนิสัย ลิลลี่เปรียบเทียบนิสัยติดการใช้พลาสติกของพวกเรา ว่าเหมือนเวลาเรากัดเล็บแล้วรู้สึกหายประหม่า เราใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งแล้วสะดวกกว่าพกปิ่นโตหรือถุงผ้าของตัวเอง ทำให้รู้สึกดีจนติดเป็นนิสัย

แล้วทำไมเด็กคนหนึ่งที่น่าจะใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนเล่นกับเพื่อน จึงหันมาตื่นตัวกับความเป็นไปของโลกและตื่นเต้นกับการคิดหาทางรับมือ ถึงกับโดดเรียนทำกิจกรรมบ่อยๆ แถมคุณครูยังไม่ว่าอะไรด้วย

ลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร​ นักเคลื่อนไหววัย 12​ ที่ชวนผู้ใหญ่ร่วมหาทางออกเรื่อง​ Climate​ Change

02

พัทยา จุดเริ่มต้นพัฒนา

ด้วยความที่ครอบครัวของเธอตื่นตัวทางสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม ที่บ้านเลยพยายามลดใช้พลาสติกมาตลอดตั้งแต่เธอยังเล็ก นอกจากนั้น คุณแม่ยังสอนให้เคารพและไม่เบียดเบียนสิ่งอื่น เพราะสิ่งต่างๆ ล้วนมีความรู้สึก

จุดเปลี่ยนสำคัญที่พัฒนาความสนใจแก้ไขปัญหาของลิลลี่ คือตอนอายุ 8 ขวบ เธอไปเที่ยวพัทยาและพบว่าทั้งบนหาด ทั้งในทะเล เต็มไปด้วยขยะ จนเธอไม่รู้ว่าควรจะทำอะไร นอกจากเก็บเอาไปทิ้ง 

ถึงอย่างนั้นลิลลี่ก็ตระหนักว่า วันต่อมาก็จะมีขยะจำนวนมหาศาลเท่าเดิมมาเกยที่หาดอีก พวกเธอจึงเริ่มสืบสาวปมของปัญหาและเริ่มแก้จากจุดนั้น โดยเริ่มทำออกมาเป็นโปรเจกต์สนุกๆ ที่เกี่ยวข้องกับร้านค้าและผู้ผลิต

เช่นเมื่อ พ.ศ. 2561 หลังจากลิลลี่ติดต่อไป ห้างเดอะมอลล์และธุรกิจในเครือห้างเซ็นทรัลอย่างท็อปส์ก็ประกาศงดแจกถุงพลาสติกในวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล นับว่าเป็นครั้งแรกของไทยที่ห้างร้านร่วมฉลองโอกาสพิเศษนี้

“เวลานึกถึงอนาคต หนูจะนึกถึงโลกที่มีหุ่นยนต์ รถบินไปมาในอากาศ ทันสมัยมากๆ แต่หนูกลัวว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้เพราะสิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญหน้าอยู่ หนูรู้สึกว่าโลกเปลี่ยนไปมาก แต่คนเราเปลี่ยนแปลงน้อย เพราะงั้นเราต้องขยับไปตามมัน

“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ยาก เราไม่กล้าเพราะเรากลัวทำพลาด เหมือนเวลามีสอบที่โรงเรียน เรากลัววันสอบที่ใกล้เข้ามา กลัวว่าจะทำผิด กลัวว่าจะไม่ได้คะแนนดีอย่างที่เคยได้ แล้วความกลัวการเปลี่ยนแปลงก็ติดเป็นนิสัยเราไปตลอดชีวิต ทั้งที่เราไม่ควรกลัวที่จะทำพลาด”

แม้ว่าจำนวนคนที่เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ให้ใกล้เคียงกับคำว่า Zero Waste มากที่สุด จะมีไม่เยอะเมื่อเทียบกับจำนวนคนทั้งหมด เรียกว่าแทบจะเป็นเหมือนจุดเล็กจิ๋วในสังคมก็ตาม แต่ลิลลี่เชื่อว่านั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่า และถ้าคนจำนวนมากทำตามจะยิ่งส่งผลกระทบที่กว้างขึ้น 

ดังนั้น การเผยแผ่ต่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปลี่ยนให้เป็นบรรทัดฐานสังคมได้ เช่นถ้าคุณสร้างขยะพลาสติก คุณอาจไม่ถึงกับโดนโทษร้ายแรงอย่างโดนปรับ จับเข้าคุก ทว่าคนทำจะโดนขมวดคิ้วมองแรงใส่ว่าทำสิ่งไม่เหมาะสม

ลักษณะโปรเจกต์ของเด็กหญิงเชื้อชาติไทยที่พูดอังกฤษคล่องปร๋อคนนี้ จึงเป็นการเข้าไปประชุมกับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจส่งเสียงได้กว้างไกล เธอเข้าไปนำเสนอความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและข้อเสนอต่างๆ ผลัดกันถาม-ตอบและหาทางออก หลังจากนั้นจึงคอยนัดประชุมเรื่อยๆ เพื่อดำเนินงานต่อ ตอนนี้ลิลลี่มีโปรเจกต์ที่ผลักดัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 13 Climate Action อยู่ 6 โปรเจกต์ คือ

  1. สนับสนุนห้างสรรพสินค้าและร้านค้าให้ลดเลิกการแจกพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายในปี 2562
  2. Eco Education ผลักดันให้บรรจุวิชาที่ชวนให้คนเรียนตระหนักถึงความสำคัญและปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลักสูตรโรงเรียน โดยร่วมมือกับโครงการ Chula Zero Waste จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงการศึกษาธิการ
  3. Green Guideline จัดทำแนวทางปรับร้านอาหารและคาเฟ่ให้รักษ์โลก เช่นมีเมนูไม่มีเนื้อสัตว์ให้เลือกและลดภาชนะพลาสติก ปัจจุบันกำลังทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันที่เราเสิร์ชหาเวลาหิวอย่าง Wongnai เพื่อเพิ่มให้ผู้ใช้ช่วยรีวิวความ Eco ของร้าน
  4. Green Brand สนับสนุนผู้ผลิตให้ใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง
  5. การตัดป่า สนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ทั้งบริษัท ภาครัฐ และโรงเรียน กำหนดจำนวนต้นไม้ที่จะปลูกทดแทนต่อปี
  6. พลังงานทางเลือก คัดค้านการสร้างโรงงานถ่านหินและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนในไทย

“ตอนแรกหนูก็ไม่คิดเหมือนกันว่าจะออกมาใหญ่ขนาดนี้ พอมีแรงบันดาลใจแล้วเริ่มติดลม ตอนนี้อยากทำอย่างอื่นอีกเรื่อยๆ” ลิลลี่ยิ้มอย่างสดใส

ลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร​ นักเคลื่อนไหววัย 12​ ที่ชวนผู้ใหญ่ร่วมหาทางออกเรื่อง​ Climate​ Change

03

สิ่งแวดล้อมและการศึกษาเป็นของทุกคน

หลายครั้งที่การทำโปรเจกต์ต่างๆ ทำให้ต้องโดดเรียนบ้าง ลิลลี่เล่าว่าคุณครูไม่ว่าอะไร ตราบใดที่เธอตามเนื้อหาในห้องเรียนทัน ขณะที่คุณแม่เธอคือผู้สนับสนุนคนสำคัญที่คอยช่วยให้คำปรึกษาและกำลังใจเวลาเธอต้องออกไปพูดงานใหญ่แล้วรู้สึกตื่นเต้น

ส่วนเพื่อนๆ ของเธอเองก็มาช่วยด้วยสม่ำเสมอ นอกจากคนรอบตัวที่หันมาตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ลิลลี่ยังอยากให้คนรุ่นเดียวกันหันมาใส่ใจเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โปรเจกต์ Eco Education จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อผลักดันให้กระทรวงการศึกษาธิการบรรจุวิชาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมลงในหลักสูตรภาคบังคับทุกชั้นเรียน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ

“โรงเรียนไม่ได้สอนเราว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น หนูคิดว่าถ้าถามใครสักคนหนึ่งเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขาคงตอบไม่ได้ชัดเจนว่ามันเกิดขึ้นและมีผลกระทบยังไง หนูต้องเรียนสิ่งที่หนูรู้พวกนี้เองจาก TED Talks YouTube เว็บไซต์ หนูไม่ได้เรียนจากโรงเรียน”

แม้ว่าโรงเรียนเธอจะมีนโยบายทางสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่าง เช่นถังแยกขยะและกำหนดให้ทุกวันจันทร์เป็นวันไม่ทานเนื้อสัตว์ เพื่อลดพลังงานและรอยเท้าคาร์บอนที่เกิดระหว่างขั้นตอนการผลิต แต่เธออยากให้โรงเรียนเพิ่มการเรียนการสอนประเด็นดังกล่าวในห้องเรียน

ลิลลี่เชื่อว่าการรับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเด็กๆ รุ่นเธอ เพราะในอนาคตอาชีพต่างๆ อย่างเช่นครู อาจถูกแทนที่ด้วย AI แล้วอาชีพที่คนส่วนใหญ่ทำจะเป็นงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม

เพราะการแก้ปัญหาทำได้อย่างสร้างสรรค์ ดังนั้น วิชาพื้นฐานต่างๆ อาจนำแง่มุมทางสิ่งแวดล้อมไปประยุกต์ให้เข้ากับรายวิชา เช่น หาทางกำจัดถุงพลาสติกด้วยความรู้วิทยาศาสตร์ และคำนวณหาจำนวนคนที่ใช้และจำนวนคนที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยทักษะคณิตศาสตร์

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ลิลลี่ยื่นจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาธิการเพื่อเสนอเป้าหมายดังกล่าวพร้อมยกตัวอย่างโรงเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนแบบนั้นประกอบ

“เหตุผลที่หนูไม่ทำเรื่องนี้ที่โรงเรียนของตัวเอง แต่ไปยื่นเรื่องกับกระทรวงการศึกษา เพราะว่าทุกๆ คนควรจะได้รับรู้เรื่องนี้ หนูได้รับการศึกษาที่ดีมาก แต่เด็กบางคนไม่มีโอกาสแบบนี้ ทุกๆ คนควรจะได้รับความรู้ เพราะนั่นทำให้พวกเราเท่าเทียมกัน เราควรจะได้มีความคิดสร้างสรรค์ เราควรจะได้รับรู้ว่าโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น”

ลิลลี่ นักเคลื่อนไหววัย 12​ ที่ชวนผู้ใหญ่ร่วมหาทางออกเรื่อง​ Climate​ Change
ลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร​ นักเคลื่อนไหววัย 12​ ที่ชวนผู้ใหญ่ร่วมหาทางออกเรื่อง​ Climate​ Change

04

จากเด็กถึงผู้ใหญ่

ทุกวันนี้เราเห็นพลังของเด็กรุ่นใหม่ที่ออกมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมหลายคน แล้วเสียงของว่าที่ผู้ใหญ่ในอนาคตเหล่านี้ดังขนาดไหน-เราอดถามลิลลี่ไม่ได้

สำหรับเธอ การเป็นเด็กคนหนึ่งที่พูดเรื่องซีเรียสและกำลังโดดเรียนเพื่อเรื่องนี้ ทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนตั้งใจฟังและเปลี่ยนความคิด เธอยืนยันว่าการคุยและทำงานกับคนที่โตกว่าไม่ใช่เรื่องยาก

“ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ คุณก็เรียนรู้ได้เสมอ ขณะที่คุณมองสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองใหม่ได้ คุณก็มีมุมมองร่วมกันได้ในเรื่องเดียวกัน เพียงแค่คุยและสื่อสารกับคนที่โตกว่าเหมือนกับคนในวัยคุณ”

นอกจากโปรเจกต์ทั้งหกแล้ว เธอยังร่วมกับเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ออกมาเป็นปากเสียงเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะ Grin Green International กลุ่มนักเรียนที่รวมตัวทำภารกิจลดพลาสติก หรือการหยุดเรียนประท้วงจากเยาวชนทั่วโลก ให้ผู้นำประเทศหันมารับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่าง Climate Strike ที่ประเทศไทยเราเองก็ออกมาแสดงพลังไม่น้อยหน้าประเทศอื่น

พอเราถามว่า เป็นห่วงอนาคตประเทศไทยไหม คำตอบที่ได้นั้นมาถึงทันควัน

“หนูเป็นห่วงอนาคตประเทศไทย ถ้าเรายังเป็นแบบนี้ต่อไปใครจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” เด็กหญิงวัย 12 ถอนหายใจ 

“แทนที่หนูจะทำการบ้าน ไปว่ายน้ำ หรือว่าเล่นกับเพื่อน ตอนนี้หนูกลับต้องมาเผยแผ่ให้ทุกคนตระหนักและตั้งใจทำโปรเจกต์เพื่อฟื้นฟูให้โลกกลับมาน่าอยู่ มันไม่แฟร์เลยสำหรับเด็กๆ มันทำให้หนูเศร้าและสับสน แต่เราทุกคนต้องทำอะไรบางอย่าง เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดัน และเราทุกคนต้องลองให้สุดความสามารถ

“หนูอยากให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นก้าวแรกที่พวกเราทำได้ เปลี่ยนความคิดเวลามองสิ่งต่างๆ ถ้าคุณเกลียดการบ้านที่ทำอยู่มากๆ คุณทำได้ไม่ดีหรอก หนูอยากให้พวกเขามีทัศนคติที่ดีกับสิ่งที่ทำอยู่ เช่นไม่ได้คิดว่าจะทำเพื่อกำไรอย่างเดียว ‘โลกมาก่อนกำไร’  (Planet before Profit)

“เงินไม่ใช่ทุกอย่าง เงินซื้อโลกกลับมาไม่ได้”

ลิลลี่-ระริน สถิตธนาสาร​ นักเคลื่อนไหววัย 12​ ที่ชวนผู้ใหญ่ร่วมหาทางออกเรื่อง​ Climate​ Change

05

ประเทศไทยในฝัน

ปัจจุบันมี ‘ผู้ใหญ่’ ที่ลิลลี่พูดถึงหลายคนกำลังปฏิบัติการภารกิจหลากหลายด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกับเธอ…ทำให้โลกน่าอยู่

ไม่ว่าจะผลิตเครื่องแปรรูปขวดและฝาพลาสติกมาเป็นของใช้ใหม่อย่าง กลุ่ม Precious Plastic และลงพื้นที่เก็บขยะตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะแม่น้ำลำคลองหรือชายทะเลเพื่อสื่อสารออกไป ว่าปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมควรหันมาใส่ใจดังกลุ่ม Trash Hero ที่มีอยู่หลายจังหวัดทั่วไทย

“หนูชอบไปพายแพดเดิลบอร์ดเก็บขยะในคลองกับ Trash Hero สนุกมากเลย จำได้ว่ามีพื้นที่หนึ่งที่เราไปเก็บสองสามครั้งแล้ว เร็วๆ นี้เราไปอีกรอบแล้วเจอขยะเยอะมาก เห็นได้ชัดเลยว่ามันแย่ลงเรื่อยๆ แต่ว่าวันนั้นมีคนมาร่วมเก็บขยะถึงสามร้อยคน แล้วก็จัดการทุกอย่างสะอาดเกลี้ยงก่อนกลับ หนูประทับใจว่ามีคนสนใจเรื่องนี้และมาช่วยเยอะ แม้จะเป็นคนตัวเล็กๆ แต่ทุกคนก็ตั้งใจพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

นอกจากความฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นจิตแพทย์ นักเต้น และทำโปรเจกต์ต่างๆ ของเธอต่อไปแล้ว ลิลลี่ยังมีความฝันอื่นอีก

“แน่นอนว่าหนูอยากให้เมืองไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากๆ แต่หนูก็อยากให้เป็นที่ที่ทุกคนเท่าเทียมและรู้สึกปลอดภัยด้วย หนูติดนิสัยชอบพูดเวลาอยู่โรงเรียนว่า ‘โอ้ย เหนื่อยจังเลย อยากกลับบ้านที่สุด’

“หนูอยากให้ประเทศไทยให้ความรู้สึกแบบนั้น เป็นเหมือนบ้าน เป็นแหล่งเสรีภาพ ที่เรารู้สึกปลอดภัยแทนที่จะต้องรู้สึกกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าสภาพภูมิอากาศจะเป็นยังไง”

ลิลลี่ยื่นหน้ามาพร้อมตาเป็นประกาย ชวนพวกเราไปร่วมงาน Climate Strike เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เธอโดดเรียนหนังสือมาเรียนท่านผู้ใหญ่ให้ช่วยกันใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน หลังชวนเรา เธอก็รีบไปประชุมต่อกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่โตกว่า เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงานที่ว่า

เมื่อบทสนทนากับลิลลี่จบลง เราก็ได้คำตอบว่าการผลักดัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 13 Climate Action เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่อย่าง Climate Change เป็นเรื่องของทุกคน

เพราะเราอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน  ไม่ว่าคุณจะเป็นคนประเทศอะไร แต่ท้องฟ้าและมหาสมุทรนั้นเชื่อมต่อกันไร้พรมแดน ขยะพลาสติกและมลพิษจะยังคงเดินทางรอบโลกไปเรื่อยๆ ถ้าเรายังไม่ช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้

แล้วเราก็ได้ไปเห็นพลังเยาวชนที่งาน Climate Strike ตามคำชวนของเธอคนนี้จริงๆ นี่สินะ เสียงของเด็กวัย 12 ที่ส่งถึงผู้ใหญ่คนหนึ่ง

ลิลลี่ นักเคลื่อนไหววัย 12​ ที่ชวนผู้ใหญ่ร่วมหาทางออกเรื่อง​ Climate​ Change

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน