หลังจากค่อย ๆ ขยับรถเข้ามาในซอยแคบ ๆ สมกับเป็นฝั่งธนฯ เราก็มาถึงหน้า ‘บ้านลิเก’ บ้านสีขาว รั้วสีขาว อันเป็นเป้าหมายในวันนี้

“หน้าดูแดง ๆ จ้ำ ๆ นิดหนึ่งนะ วันนี้ไปเล่นบทคนแพ้กุ้งมา” เจ้าของบ้านออกตัวอย่างร่าเริง ก่อนหน้าที่จะถึงคิวมาต้อนรับเราในตอนบ่าย เธอมีนัดหมายเล่นละครตั้งแต่เช้า แถมบทที่ได้รับก็ใช่ว่าธรรมดา

พวกเราชาว The Cloud เดินตามหลังเธอกันเป็นพรวน ตอนที่ยืนมองอยู่หน้าบ้านก็เป็นโลกหนึ่ง เมื่อเดินเข้าไปในตัวบ้านก็เป็นอีกโลกหนึ่ง มิหนำซ้ำทางเข้ายังมีความซับซ้อน ทำให้เราต้องยืนหันรีหันขวาง สับสนไม่น้อยว่าต้องเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาจึงจะเข้าตัวบ้านไปได้จริง ๆ

ที่นี่น่าสนใจตั้งแต่เปิดประตูบ้านเลยทีเดียว

ชื่อ ‘บ้านลิเก’ มาจากที่เจ้าของบ้านอย่าง โอ๋-สุกัญญา สมไพบูลย์ หรือ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนเล่นลิเกและรักในศาสตร์การแสดงนี้เต็มหัวใจ

อาจารย์โอ๋ กับ ณัน-วรณัน สุทธิโอภาส เพื่อนชีวิตผู้สนับสนุนเธออย่างดี จะมาเล่าให้เราฟังถึงเรื่องราวเบื้องลึกก่อนมาเป็นบ้านที่เรามาเยือนวันนี้

Likay House บ้านของคนเล่นลิเก รักลิเก และทำบ้านเป็นฉากชีวิตให้เล่นสนุกและอยู่สบาย

เด็กน้อยผู้อยากมีเพชรเต็มตัว

ก่อนที่จะเล่าถึงบ้านหลังนี้ได้ เราขออนุญาตเกริ่นให้รู้จักคุณเจ้าของบ้านกันสักหน่อย เพราะความคิด ชีวิต แพสชัน และความเป็นตัวตนของเธอมีผลกับที่อยู่อาศัยในปัจจุบันชนิดที่แยกขาดจากกันไม่ได้

โอ๋เรียนระดับปริญญาตรีที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อปริญญาโทที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อจบมาสอนที่คณะนิเทศศาสตร์ ได้ 7 ปี ก็ได้ทุนไปเรียนปริญญาเอกต่อที่อังกฤษ แล้วกลับมาสอนภาควิชาวาทวิทยาและสื่อการแสดงที่คณะเดิมต่อ

นอกจากบทบาทของการเป็นอาจารย์ เธอยังเป็นทั้งนักร้อง นักแสดงละครทีวี ละครเวที เล่นลิเกกับกลุ่มละครมะขามป้อม กับคณะละครอนัตตา รวมถึงเป็นนักเขียนด้วย

“พี่เกิดที่นี่แหละ ซอยเพชรเกษม 46” อาจารย์โอ๋เริ่มเล่าประวัติวัยเด็กด้วยโลเคชันที่อยู่อาศัย “ความทรงจำที่จำได้คือประมาณ 3 – 4 ขวบ พ่อแม่ ลูก 2 คน เช่าห้องเล็ก ๆ อยู่ห้องหนึ่ง ในบ้านที่มี 4 ครอบครัว เช่าคนละห้อง

ที่บ้านนั้นทุกคนตั้งของถาวรไม่ได้ ตอนเช้าต้องม้วนเก็บที่นอน แล้วกลางคืนค่อยเอามาปูใหม่ เพราะเป็นสเปซสำหรับอย่างอื่น แต่ถึงอย่างนั้น เธอก็อยู่ที่นั่นอย่างมีความสุข

“พอสัก 9 ขวบ แม่ก็เริ่มเช่าบ้านของตัวเอง เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวที่เพชรเกษมเหมือนเดิม ไว้ใช้อยู่ และให้แม่ใช้เย็บผ้า”

Likay House บ้านของคนเล่นลิเก รักลิเก และทำบ้านเป็นฉากชีวิตให้เล่นสนุกและอยู่สบาย

“ต้องจินตนาการถึงเด็กที่นั่งอยู่ในห้องที่ทุกคนต้องอยู่ด้วยกัน แล้วก็เอาตลับเทปมาต่อเป็นบ้าน มีห้องนอน เตียง โต๊ะรับแขก เอาตุ๊กตากระดาษมานั่ง เป็นความฝันมากที่จะมีบ้าน

“อ่านนิตยสาร ดาราภาพยนตร์ หรือ ขวัญเรือน ก็ดูมุม ‘บ้านดารา’ แล้วเอาหมอนมาพิงกำแพง แม่ถามว่านี่อะไร ก็ตอบว่ามุมนั่งเล่น” โอ๋หัวเราะดังเมื่อพูดถึงตัวเองในอดีต เธอกับครอบครัวอยู่ที่บ้านไม้หลังนั้นจนถึงมหาวิทยาลัยปี 2 แล้วแม่ก็ไปซื้อทาวน์เฮาส์หลังใหม่ในซอยเพชรเกษมดังเดิม โดยมีโอ๋ผู้เป็นนักศึกษารับหน้าที่ช่วยแม่ผ่อนบ้าน

อาชีพสายบันเทิงที่เห็นในตอนนี้ มีพื้นฐานมาตั้งแต่เธอเป็นเด็กน้อยก้นซอยเพชรเกษม พอได้ไปดูลิเกกับแม่แล้ว เธอก็อยากมีเพชรเต็มตัว อยากเต้นอยากร้องเพลงตั้งแต่ 4 ขวบ

“การดูลิเกทำให้พี่ชอบร้องเพลงลูกทุ่ง จนเริ่มประกวดก็เป็นนักร้องลูกทุ่ง” ความรู้ใหม่ที่เราเพิ่งทราบในวันนี้ คือแถวฝั่งธนบุรีมีลิเกเยอะ บางทีก็เล่นที่วัด บางทีก็เล่นที่ตลาด

Likay House บ้านของคนเล่นลิเก รักลิเก และทำบ้านเป็นฉากชีวิตให้เล่นสนุกและอยู่สบาย

“พอแฟนแต่งงานฉันเลยอกหัก หนีความช้ำหนักมาพักอยู่ลพบุรี โรงแรมชั้นสอง เข้าจองที่ห้องเบอร์สี่ หลับตานอนทอดถอนฤดี นอนที่นี่สองคืนแล้วเรา” จู่ ๆ อาจารย์โอ๋ก็ท่องเนื้อเพลง เกลียดห้องเบอร์ห้า ให้เราฟังแบบไร้ทำนอง แต่เต็มไปด้วยอินเนอร์ 

“ท่อน ปีนมองลอดช่องลมไป ตอนเด็ก ๆ สมัยที่ยังพูดไม่ชัด ในหัวเรา ลอดช่องคือขนม คำศัพท์เรายังไม่หลากพอจะรู้ว่าลอดช่องหมายถึงมองลอดไปตามช่อง แต่เรารู้จักขนมลอดช่อง นึกว่าตอนที่ปีนกลับมายังถือขนมอยู่” นักร้องลูกทุ่งหัวเราะร่า ที่ปูมานานก็เพื่อจะเล่าเรื่องนี้นี่เอง! 

“พี่ร้องเพลงตั้งแต่เด็กจริง ๆ มันเป็นทางได้เงินรางวัลง่ายด้วย แม่พาไปออกงานก็บอกให้ลูกร้องเพลง ผู้ใหญ่ก็เอ็นดู เพลงเดียวก็ได้ 2,000 บาท 40 ปีที่แล้วนะ

“เราเป็นเด็ก ไม่รู้จักคำว่าอาชีพ แต่รู้สึกว่าฉันจะไม่หยุดร้องเพลงเลย เพราะว่ามันได้เงิน”

Likay House บ้านของคนเล่นลิเก รักลิเก และทำบ้านเป็นฉากชีวิตให้เล่นสนุกและอยู่สบาย

โอ๋ร้องเพลงมาเรื่อย ๆ เธอดูและสนใจลิเกมาตลอด แต่ไม่ได้เฉียดเวทีลิเกไปกว่าการเป็นแม่ยก จนกระทั่งเมื่อเรียนปริญญาโท นิเทศศาสตร์ สาขาวาทวิทยา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสื่อสารของมนุษย์ เธอจึงตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับลิเกที่ถอดองค์ความรู้เกี่ยวกับสัญลักษณ์ของการแสดง และได้ไปอยู่กับคณะลิเก 6 เดือน โดยขอให้ลิเกในคณะเอ็นดูและดุเธอเหมือนลูกศิษย์ ซึ่งเธอก็ได้วิชามาจากที่เขาสอนบ้าง จากที่ครูพักลักจำเองบ้าง จนเป็นลิเกจริง ๆ ได้เล่นตัวโจ๊ก ตัวกระแหร่ง

“พี่ถูกตั้งคำถามด้วยว่า ไปเรียนตั้งอังกฤษ ทำไมถึงทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับลิเก” อาจารย์โอ๋เล่า “มันคือ Politics of Aesthetics แม้กระทั่งความงามของการแสดงมันยังมีระดับขั้น ก็เลยมีความรู้สึกว่า พี่จะทำทุกอย่างให้สิ่งที่เป็นของชุมชนพื้นบ้านไม่เป็น Guilty Pleasure ทุกคนชอบได้อย่างเต็มภาคภูมิ”

“สำหรับพี่ ศิลปะไม่มีสูงต่ำ เป็นคอนเซ็ปต์ว่าทำไมตั้งชื่อบ้านว่าบ้านลิเก เราตั้งเพื่อให้เกียรติศิลปะที่เรารักที่สุดอันหนึ่ง”

เอาล่ะ ได้เวลาอันสมควรแล้ว เราจะเล่าถึงบ้านลิเกให้ฟังต่อไปนี้

Likay House บ้านของคนเล่นลิเก รักลิเก และทำบ้านเป็นฉากชีวิตให้เล่นสนุกและอยู่สบาย

เปิดม่านลิเก

ทาวน์เฮาส์ที่อาจารย์โอ๋อยู่ก่อนหลังนี้ แม้จะไม่ได้ใหญ่นัก แต่ทุกคนก็ได้มีห้องส่วนตัว และด้วยความโชคดีที่อยู่ริมสุด จึงมีบริเวณให้ปลูกต้นไม้บ้าง แต่แล้วก็ถึงเวลาต้องขยับขยาย อาจารย์โอ๋จะต้องไปมีบ้านในฝันเป็นของตัวเอง ให้สมใจเด็กที่เสพคอนเทนต์บ้านดาราสักหน่อย

เธอกับณันเลือกอยู่ย่านเพชรเกษมเหมือนเดิม ห่างไปแค่ 300 เมตร เพื่อที่แม่ผู้ติดบ้านเดิมจะได้แวะเวียนมาหาลูกสาว มาส่งกับข้าวอร่อย ๆ ได้ทุกวัน

ที่ดินผืนแรกในซอยเพชรเกษมที่ตัดสินใจซื้อ มีลักษณะเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยว เพราะหน้ากว้างแค่ 6 เมตร แต่ยาวถึง 32 เมตร ซึ่งสถาปนิกจาก Site-Specific ก็มาพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลความต้องการของผู้อยู่ และออกแบบมาให้เรียบร้อย เป็นอาคารชิโน-ยูโรเปียน 2 หลัง มีอุโมงค์กระจกเชื่อมระหว่างกัน และมีคอร์ตยาร์ดเก๋ไก๋ในบ้าน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เกิดขึ้นจริง เพราะมีปัญหาเรื่องการก่อสร้างกับข้างบ้านเสียก่อน จนต้องไปหาที่ดินใหม่ใกล้ ๆ เดิม โดยนำแบบเดิมมาขยับใหม่ให้เป็นตัว C แทนที่จะยาวเหมือนเดิม ซึ่งที่ดินใหม่นี้กว้างขวาง สเปซบ้านดูเป็นมิตรขึ้น อยู่ง่ายขึ้น ใช้พื้นที่ต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้นด้วย

Likay House บ้านของคนเล่นลิเก รักลิเก และทำบ้านเป็นฉากชีวิตให้เล่นสนุกและอยู่สบาย

“บ้านต้องบอกตัวตนของเรา มันอาจจะไม่ได้สวยในสายตาคนอื่น แต่เราต้องรู้สึกว่าเราชอบ ทุกพื้นที่ต้องมีเรื่องราวของเรา” ณันพูดถึงหลักแรกที่ยึดเมื่อจะทำบ้าน ก่อนที่โอ๋จะพูดต่อ “อยากให้บ้านมีคอนเซ็ปต์เหมือนลิเก”

บ้านลิเกแห่งนี้ หากไปยืนหน้าบ้าน จะเห็นได้ว่าผนังบ้านชั้น 2 มีลักษณะเหมือนม่านที่กำลังเปิด และส่วนทางเข้าบ้านก็ใช้โรงลิเกเป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบ

“เวลาเรานั่งดูเราจะเห็นฉากท้องพระโรง แต่ไม่เห็นอะไรข้างหลังเลย จนเมื่อเราได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปหลังเวที เราถึงจะเห็นชีวิตจริงที่สนุกสนาน นั่งแต่งหน้า ทำผม กินส้มตำกันอยู่หลังเวที” นั่นเป็นเหตุผลที่เราไม่เห็นอะไรเลย ถ้าเจ้าของบ้านยังไม่เปิดประตู ซ้ำยังมีความซับซ้อนตรงทางเข้า ยากที่จะเข้าไปในส่วนไพรเวตซึ่งเป็นอีกโลกหนึ่งได้

“พอเข้ามาก็จะเห็นสวน เห็นความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ๆ” ณันเผย

มีหลังเวที แล้วมีเวทีไหม – เราถาม

“มีค่ะ ตรงที่เป็นประตูบานเฟี้ยมนั่นแหละค่ะ เหมือนคนดูนั่งตรงที่จอดรถ แล้วโซฟานั้นก็เป็นเหมือนเวที” อาจารย์โอ๋ตอบ ที่จอดรถก็ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเหมือนกัน

Likay House บ้านของคนเล่นลิเก รักลิเก และทำบ้านเป็นฉากชีวิตให้เล่นสนุกและอยู่สบาย
เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน

“ส่วนห้องรับแขก ก็ Sunken ยุบลงไปเป็นที่นั่งดูทีวี สมมติว่าเราร้องเพลงอยู่ข้างบน ก็ให้คนนั่งดูข้างล่างได้ประมาณ 20 คน หรือจะเล่นข้างล่างแล้วข้างบนนั่งดูก็ได้ พี่สอน Public Speaking กับ Performing Arts บางโอกาสก็ได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ซ้อมกัน” เธอชี้ให้เราดูว่า ในแอ่งนั้นนำฟูกมาปู แล้วให้ลูกศิษย์ใช้นอนค้างได้ด้วย ซึ่งโซฟาทั้งหมดเป็นงานคราฟต์ที่ใช้ผ้าไทยต่าง ๆ มาตัดให้พอดีกับพื้นที่ใช้งาน โดยมีคอนเซ็ปต์เป็นท้องน้ำสีน้ำเงิน

บ้านนี้มีสเปซที่น่ารัก สถาปนิกได้แยกส่วน Indoor เป็น 3 ก้อนหลัก ๆ แล้วส่วน Outdoor ที่เต็มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ก็มีฟังก์ชันที่เชื่อมกันลื่นไหลกับ Indoor อย่างห้องรับแขกก็มีทั้งในและนอกบ้านให้เลือกใช้ ในฐานะผู้มาเยือน เรารู้สึกสนุกกับการเดินไปดูส่วนต่าง ๆ มาก

ก้อนแรกของบ้าน ชั้นล่างเป็นห้องรับแขก ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอน

ก้อนที่สอง ชั้นล่างเป็นที่จอดรถ ชั้นบนเป็นห้องทำงาน 

ส่วนก้อนสุดท้าย ชั้นล่างเป็นห้องครัวที่เรานั่งคุยกันอยู่ ซึ่งมีทั้งส่วนรับประทานอาหาร ส่วนครัวฝรั่ง ครัวไทย และชั้นสองเป็นดาดฟ้าที่โอ๋-ณันมักขึ้นไปปลูกต้นไม้

“โครงบ้านสถาปนิกออกแบบและไกด์สีให้ ส่วนออกแบบภายใน เรามีอิสระที่จะออกแบบเอง”

ส่วนที่เราชอบที่สุดคือห้องทำงานอาจารย์โอ๋ที่มีโต๊ะไม้ตัวใหญ่เป็นหลักของห้อง ฉากหลังเป็นชั้นที่เต็มไปด้วยหนังสือหลากประเภท และมีไฮไลต์เป็นที่นั่งอ่านหนังสือซึ่งมองออกไปนอกระเบียงได้ นึกภาพว่าถ้ามีโอกาสได้ทำบ้านของตัวเองบ้าง ก็อยากจะมีพื้นที่ไว้ทอดอารมณ์แบบนี้เหมือนกัน

เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน
เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน

“เราต่อเติมห้องซักผ้าตากผ้าไว้ที่ชั้น 2 ด้วย” โอ๋กล่าว พวกเธอบอกว่าบ้านที่เห็นปัจจุบันไม่ค่อยเหมือนในแบบหลายจุด และดูเหมือนห้องนี้จะเป็นจุดที่เจ้าของบ้านภูมิใจนำเสนอมาก 

“ปกติเราต้องขนตะกร้าลงมาซักและตากผ้าชั้น 1 แล้วพอผ้าแห้งก็นำไปเก็บที่ตู้เสื้อผ้าชั้น 2 แต่ของพี่คือที่ห้องนอนมีประตูบานเฟี้ยมเปิดออกเป็นห้องซักผ้าและตากผ้าเลย

“โอ๋เขาขอห้องทำงาน ห้องครัว อะไรแบบนั้น พี่ขอห้องซักผ้าและห้องเก็บของ” ณันเล่าอย่างอารมณ์ดี “ข้างบนมีความเป็นคอนโดเล็ก ๆ พี่เคยอยู่คอนโดมาก่อน รู้สึกว่าแม้ว่าสเปซคอนโดจะแคบ แต่ฟังก์ชันมันตอบเรา เดิน 2 ก้าวถึงห้องน้ำ เดิน 3 ก้าวถึงห้องครัว เราก็หยิบข้อดีของความเป็นคอนโดมาสนองเรา”

ประสบการณ์อยู่อาศัยหลาย ๆ แบบ ทำให้มีไอเดียเมื่อต้องทำบ้านของตัวเองจริง ๆ เหมือนกัน เราเห็นหลายคนที่นำความกะทัดรัดของคอนโดมาปรับใช้กับบ้าน ถ้าเจ้าของบ้านรู้ความต้องการของตัวเองดีแบบนี้ สถาปนิกก็ยิ้มได้

เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน

อีกความพิเศษของบ้านลิเก คือ ‘ประตู’ ซึ่งเป็นบานไม้ทั้งหมด

ที่นี่มีประตูหลายแบบ บานเฟี้ยม บานเลื่อน บานผลัก ไปจนถึง Dutch Door ที่เปิดทีละครึ่งได้อยู่ตรงครัวไทย เพื่อให้สะดวกในการรับส่งอาหารให้กัน ขาดก็แต่ประตูลูกบิดแสนธรรมดาที่ไม่มีสักบาน

“พี่ชอบไม้ บ้านไม้มันให้ความรู้สึกโฮมมี่ ไม่เกี่ยวกับความเป็นไทยด้วยนะ บ้านในยุโรปที่เป็นไม้เราก็ชอบ” โอ๋พูด นอกจากประตู ทีมช่างก็ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในอีกหลายที่ “เราโชคดีที่ได้พาร์ตเนอร์ถนัดงานไม้”

เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน

ที่รัดแขนนางรำ แก้วสะสม และแรดขอพร

‘Beauty is in the eye of the beholder’ 

เพราะความสวยขึ้นอยู่กับสายตาคนมอง ความสวยของบ้านโอ๋-ณัน ก็เต็มไปด้วยของที่โอ๋-ณันเห็นว่าสวยและ ‘มีเรื่องราว’ อย่างมือจับประตูซึ่งเหมือนที่รัดแขนนางรำที่พวกเธอซื้อมาจากบางโพนั่นก็ใช่ จะอยู่ที่ไหนเหมาะเท่าอยู่บ้านนี้ล่ะ

“จริง ๆ แล้วพี่ดูภาพใหญ่อย่างเดียวนะคะ ความตะมุตะมิที่หนูเห็นเนี่ย พี่ณันทั้งนั้น” อาจารย์โอ๋โบ้ยไปทางณัน นอกจากจะรับหน้าที่ดูรายละเอียดของบ้าน ทั้งเลือกบานประตูให้เหมาะกับพื้นที่ ทั้งดูฟังก์ชันให้ใช้งานได้จริงและปลอดภัย ณันยังชอบเลือกซื้อของมาแต่งบ้านด้วย

เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน

“นี่คือแรดขอพร พูดกันสนุก ๆ กับเพื่อน ๆ ว่าเป็นองค์เทพของบ้าน ใครไม่มีแฟนมาบูชาองค์นี้ได้” โอ๋นำเสนอของจุกจิกในบ้านให้เราฟังอย่างมีอารมณ์ขัน “แล้วก็ยังมีฮิปโปตัวอ้วน สำหรับใครที่รู้สึกว่าอ้วนเกินไปแล้ว เห็นน้องฮิปโปก็จะเห็นว่าคุณมีความสุขแค่ไหนเมื่อคุณได้กิน

“แก้วสะสมใบนั้น ตะกร้าใส่ต้นไม้ใบนู้น ก็พี่ณันหมดเลยนะคะ”

ส่วนฝูงตุ๊กตาจระเข้ในห้องรับแขกที่เราสังเกตเห็นตั้งแต่เปิดประตูเข้าห้องนั้น มาจากที่อาจารย์โอ๋มีนามปากกาว่า ‘กาย่า กล้าทะเล’ โดยกาย่าในภาษามอแกน แปลว่า จระเข้

นอกจากของที่ทยอยซื้อเข้ามาด้วยกิเลสแล้ว บ้านนี้ยังเต็มไปด้วยของที่กัลยาณมิตรช่วยสรรหามาให้ ไม่ว่าจะเป็นม่านในห้องครัวที่เรากำลังคุยกัน ออกแบบและตัดเย็บโดยดีไซเนอร์ที่รู้จักกัน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูส้มโอที่ทำชุดให้มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ภาพแขวนผนังจาก รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสําลี อดีตคณบดีวิทยาการเรียนรู้ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ อาจารย์ธนัญธร เปรมใจชื่น ไปรับมาจากศิลปินภาคใต้ที่ใช้เกรียงวาดสด ๆ ให้ ต้นไม้ที่ปลูกก็มี วิโรจน์ ปลอดสันเทียะ ซึ่งเป็นคนเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้มาออกแบบให้ โดยนำเครื่องวัดแสงมาตั้ง 8 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น แล้วนำไปวิเคราะห์ว่าตรงไหนควรปลูกอะไร ซึ่งต้นไม้หลายต้นที่บ้านก็มาจากพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่มอบให้ แม้แต่การแขวนรูปตัวเองที่ผนัง ก็มีลูกศิษย์ของอาจารย์โอ๋ที่เป็นภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ช่วยออกแบบให้ 

โอ๋-ณัน มีมิตรที่รักกันเยอะขนาดนั้น

“จริง ๆ มีรูปลิเกการ์ตูนที่น้องขวัญระพี คนทำการ์ตูนลิเกคนแรกของประเทศไทยทำให้ด้วยนะคะ” อาจารย์โอ๋เสริม เธอมีความสุขและตื้นตันกับทุกน้ำใจที่ได้รับมาก

ระหว่างพาเราเดินชมบ้าน ทั้งคู่ก็ชี้ชวนชมตรงนั้นตรงนี้ พร้อมเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของของแต่ละอย่างได้เป็นฉาก ๆ แม้แต่เดินขึ้นไปชั้น 2 ก็เล่าถึงช่องแสงกระจกเหนือบันไดที่ปล่อยน้ำลงมาเป็นน้ำตกสวยงามได้

ช่างเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความรื่นรมย์ของผู้อยู่อะไรอย่างนี้

เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน

พลังงานดี ๆ ของชีวิต

เช่นเดียวกับที่เจ้าของบ้านทั้งสองเพียรถามว่าเราอยากดื่มน้ำอะไร และเลี้ยงขนมจีนเราจนอิ่มหนำ บ้านลิเกต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนอย่างดี ตั้งแต่ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จด้วยซ้ำไป

“ระหว่างสร้างบ้านปีครึ่ง ช่วงโควิดไม่มีใครไปไหนเลย กักตัวในนี้กันหมด” โอ๋พูดถึงเหล่าช่างที่เนรมิตรบ้านลิเกขึ้นมา

พอทั้งคู่ว่างจากงานก็จะมานั่งคุยกับช่าง บางทีก็จัดอาหารตามสั่ง ขนม เครื่องดื่มให้ บางทีก็เปิดเตาที่บ้านอบพิซซ่ากินกัน ระหว่างที่ทำงานก็เปิดแอร์ เปิดเพลงให้ช่างทำงานอย่างสบายกายและสบายอารมณ์ไปพร้อมกัน

เมื่อถึงวันศุกร์ วันเสาร์ ก็จะซื้ออาหาร-เครื่องดื่มมาจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ เปิดคาราโอเกะรำวงกันทั้งช่างและเจ้าของบ้าน

“เราว่าใครก็ตามที่ช่วยสร้างและมาบ้านลิเกหลังนี้ เขาต้องมีความสุข ให้มันมีพลังงานดี ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาที่บ้านสร้างและมาเยือน”

เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน

พอบ้านสร้างเสร็จแล้ว ทุกวันนี้คุณอยู่บ้านกันวันละกี่ชั่วโมง

“เยอะค่ะ จะตื่นให้เช้าเพื่อที่จะดื่มกาแฟ รดน้ำต้นไม้ แล้วก็คุยกับต้นไม้ บางวันมีเวลามากหน่อยก็จะออกมานั่งฟังเพลงกับต้นไม้

“ต้นไม้ต้นไหนมันควรจะมีดอก ถ้าไม่มีพี่ก็จะพูด เธอรู้ใช่มั้ยจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเธอไม่ออกดอก” เจ้าของบ้านลิเกเล่ากลั้วหัวเราะ มีการขู่ต้นไม้อีกต่างหาก “สรุป อีก 2 วันออกดอกเลย เขามีชีวิตจริง ๆ

“พี่มีความเชื่อว่า ไม่มีที่ไหนที่เราเป็นเจ้าของ ที่นี่เราแบ่งกันอยู่ทั้งสิ่งที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น แม้แต่นก ยีสต์ รา ก็เป็นเจ้าของเหมือนกัน”

ที่นี่มีพืชพันธุ์กว่า 160 ชนิด โอ๋บอกว่าถ้าได้มาเห็นตอนหน้าร้อนจะรู้ว่าบ้านนี้ลิเกจริง ๆ เพราะมีทั้งแก้วพวงดวงใจ พุดพวงดวงใจ มธุรดา กุหลาบพวง เศรษฐีสยาม แก้วแคระ แก้วมุกดา ซึ่งโอ๋-ณันที่ไม่ค่อยมีพื้นฐานด้านการทำสวนจึงต้องฝึกตั้งแต่ขั้นปรุงดิน แต่ก็ดูแลต้นไม้เหล่านี้เป็นอย่างดี

ต้นไม้แต่ละต้นออกดอกไปตามช่วงตามฤดูกาล ผู้คนที่มาเยือนบ้านลิเกแห่งนี้ในเวลาต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ๆ ลูกศิษย์ที่เข้ามาเรียน มาปรึกษาธีสิส หรือเด็ก ๆ แถวนี้ที่เข้ามาลอยกระทงที่คลองหลังบ้าน ก็จะได้ยลความงามที่แตกต่างกันออกไป

ทั้งคู่พูดเสียดายอยู่หลายรอบว่าพวกเรามาผิดจังหวะ เลยไม่ได้ทันเห็นดอกนั้นดอกนี้บานสะพรั่ง แต่สำหรับเรา เท่าที่เห็นบรรยากาศที่นี่ก็สดชื่นมาก ๆ แล้ว แค่ปราดตาดูก็ทราบได้ว่าเจ้าของบ้านทั้งสองใส่ใจดูแลต้นไม้มากแค่ไหน

เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน

“เรากำลังคิดถึงตอนแก่” อาจารย์โอ๋พูดขึ้นมา “ถ้าไม่ไปอยู่ศูนย์พักพิง เราก็อยากรวมตัวอาจารย์โสด ๆ มาอยู่ที่นี่กัน จะได้ดูแลกัน

“บ้านนี้ไล่ระดับเยอะ ไม่น่าเหมาะกับคนอายุ 80 แต่ในวัยกลางคนเราอยากได้แบบนี้ ถึงเวลาเราก็รีโนเวตได้”

“หลัง ๆ พี่คิดว่าตอนที่เราไม่อยู่แล้ว บ้านนี้อาจเป็นมิวเซียมได้เลย เราอยากส่งต่อสิ่งที่มีคุณค่า” ณันพูดบ้าง “อาจจะเป็นมิวเซียมลิเก หรือบ้านที่เก็บความทรงจำดี ๆ ก็ได้”

คิดว่าคาแรกเตอร์อาจารย์โอ๋ เหมือนกับคาแรกเตอร์บ้านนี้ไหม เขาเป็นคนอย่างที่เราเห็นบ้านนี้เป็นรึเปล่า – เราถามณัน เมื่ออาจารย์โอ๋ขอปลีกตัวไปประชุมออนไลน์

“ใช่นะ เขาเป็นคนมีสีสัน มีความสามารถหลากหลาย มีความรู้วิชาการและวิชาชีวิต แล้วก็เพื่อนเยอะ รักเพื่อน เข้าได้กับทุกคน โอ๋พูดเสมอว่าศิลปะไม่มีสูงต่ำ และมองเห็นคุณค่าของทุกงานศิลปะ บ้านลิเกก็เป็นอย่างนั้น”

เปิดบ้านย่านเพชรเกษมของ ‘อาจารย์โอ๋’ แห่งนิเทศ จุฬาฯ และ ‘ณัน’ เพื่อนชีวิต ฟังเบื้องหลังการสร้างบ้านจนถึงวิถีในบ้าน

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ