สมัยนี้ถ้าใครเล่าว่า ‘ติดเกาะ’ คงเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ ด้วยเทคโนโลยีและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เปิดโลกทั้งใบให้เชื่อมต่อกันง่ายขึ้น โทรศัพท์มือถือที่ทุกคนมีไว้ครอบครองเปรียบเสมือนอุปกรณ์จำเป็นในทุกโมงยาม ด้วยโครงข่ายโยงใยการติดต่อที่เชื่อมโยงกัน ระบบจีพีเอสนำทางที่ทันสมัยแม่นยำ การคมนาคมที่หลากหลายและสะดวกสบายยิ่งขึ้นทั่วโลก ทำให้การเดินทางไปแต่ละที่ไม่ว่าจะใกล้ไกลแค่ไหนก็ง่ายเพียงปลายนิ้ว 

11 มกราคม พ.ศ. 2563 ถ้าจะให้เล่าคงต้องเท้าความไปถึงตอนนั้น เป็นวันที่ตัดสินใจออกเดินทาง กระเป๋าแบ็กแพ็กสีน้ำเงินเข้มความจุ 6.5 กิโลกรัม บรรจุเสื้อผ้ากันหนาวที่อยู่ได้ถึงอุณภูมิติดลบ จนถึงชุดบิกินี่สำหรับใส่บนชายหาด ถูกสะพายขึ้นหลัง เพื่อเช็กน้ำหนักว่าไม่มีสัมภาระอะไรที่หนักเกินกว่าความจำเป็น ข้าวของเครื่องใช้อีกจำนวนหนึ่งบรรจุลงในกระเป๋าลากสีแดงสด 

1 ปี เป็นระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้ทั้งหมดในการออกเดินทางครั้งนี้

แผนการเดินทางของเราเบื้องต้น คือการเดินทางระยะสั้น ขยับตัวไปทีละประเทศที่อยู่ข้างเคียงกัน โดยแต่ละประเทศที่เลือก เราติดต่อกับโฮสต์เพื่อขอเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครแลกกับอาหารและที่พักตลอดการเดินทาง เพื่อให้เกิดความเป็นไปได้มากที่สุด เราเลือกใช้ทุกช่องทางที่เป็นไปได้ในการติดต่อประสานงาน ทั้ง Workaway, HelpX และ CouchSurfing 

เงื่อนไขสำคัญอีกประการ คือประเทศที่เราเลือกไปสร้างประสบการณ์ ต้องเป็นประเทศที่คนไทยเข้าฟรีโดยไม่ต้องขอวีซ่า เมื่ออธิบายแผนการให้คนรู้ใจฟังแล้ว เราก็พากันเตรียมตัวออกเดินทางทันที

ญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นทางที่เราเลือกเป็นที่แรก ตามด้วยเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ข้อดีของการเดินทางระยะสั้นแบบนี้ คือราคาตั๋วเครื่องบินระหว่างประเทศถูกมาก เรียกได้ว่าพอๆ กับนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ เงื่อนไขการเข้าเมืองแต่ละที่ คือตั๋วเดินทางออกไปยังประเทศถัดไป เป็นเครื่องยืนยันว่าเราจะไม่หลบหนีเข้าเมือง

การเลือกทุกช่องทางในการหาโฮสต์ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ แม้จะมีค่าใช้จ่ายในการสมัครสมาชิก แต่งานอาสาสมัครที่ได้ก็อยู่ในขอบข่ายความสนใจของเรา เราตระเตรียมและประสานงานล่วงหน้าไว้เป็นเดือนๆ 

ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19

งานอาสาสมัครงานแรก คือไปช่วยสองหนุ่มชาวญี่ปุ่น คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่อาสาไปอยู่หมู่เกาะห่างไกลความเจริญ และมีประชากรผู้สูงอายุอาศัยอยู่มาก คือหมู่เกาะอิตาจิมะ จังหวัดฮิโรชิมะ เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป ทำให้ชุมชนบนเกาะมีบ้านร้างและพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่จำนวนมาก 

ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19

เพื่อเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ สองหนุ่มโฮสต์ของเราเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่และช่วยเหลือชุมชน งานที่เราทำคือช่วยดูแลบ้านและคอยดูว่าในช่วงเวลานั้นชุมชนต้องการความช่วยเหลืออะไร สองหนุ่มก็จะประสานงานกับคนในชุมชนและจัดสรรให้เราเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19

ต่อด้วยไปสอนภาษาอังกฤษให้คนในชุมชนเมืองทันยาง ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยความปรารถนาดีของโฮสต์ที่ให้ที่พักแก่เราฟรีๆ เธอทำธุรกิจโฮสเทลขนาดเล็ก มีห้องพักอยู่จำนวน 10 ห้องด้วยกัน โฮสเทลของเธออยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง ความปรารถนาของเธอคืออยากให้เด็กๆ และคนในชุมชนได้เรียนรู้และพูดภาษาอังกฤษได้แคล่วคล่องขึ้น เนื่องด้วยเมืองทันยาง แม้ห้อมล้อมไปด้วยภูเขา แม่น้ำ และธรรมชาติที่งดงาม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติมากนัก 

ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19
ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19

การที่โฮสต์เชิญให้ชาวต่างชาติอย่างเรามาพักด้วยฟรีๆ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้คนที่นี้ได้หัดพูดภาษาอังกฤษกัน จะเรียกว่าการสอนก็ฟังดูทางการเกินไป พวกเราไม่ได้มีพื้นฐานภาษาอังกฤษในระดับที่สอนใครได้อย่างแม่นยำ ชมรมภาษาอังกฤษประจำเมืองโดยมีเราเป็นแขกรับเชิญพิเศษจึงจัดขึ้นทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ พูดกันเรื่องสัพเพเหระ ข่าวสารบ้านเมือง เรื่องราวท่องเที่ยว รวมไปถึงอาหารการกิน สนทนาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันเป็นภาษาอังกฤษ และวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์ถือเป็นงานยากของพวกเรา เพราะต้องสอนภาษาให้แก่เด็กประถมวัยและมัธยมจำนวนหนึ่ง ที่พ่อแม่ผู้ปกครองฝากฝังความหวังเล็กๆ ไว้กับเรา

ณ ประเทศไต้หวัน โฮสเทลที่ตั้งอยู่บนชั้น 11 กลางเมือง เป็นสถานที่ที่ตอบรับพวกเราด้วยความโอบอ้อมอารี โฮสเทลแห่งนี้มีดนตรีสดทุกค่ำคืน ข้อเสนอที่เราได้รับคือการช่วยงานโฮสเทลในช่วงเช้า ทั้งทำความสะอาด รับแขกที่เช็กอินเข้ามา หรือแนะนำสถานที่ เพื่อแลกกับที่พักและอาหารเช้า 1 มื้อเป็นการตอบแทน หลังจากที่เราเขียนจดหมายแนะนำตัวไปประมาณหนึ่ง พ่วงท้ายว่าพวกเราชอบร้องเพลงมาก อยากถือโอกาสนี้ร้องเพลงไทยในโฮสเทลของคุณดูสักครั้ง 

ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19
ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19

ความน่าตื่นเต้นท้าทายอันดับต้นๆ ของงานอาสาสมัครอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำฟรีไดร์ฟ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ถือได้ว่ามีหมู่เกาะมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และภูมิทัศน์ใต้ทะเลสวยงามแปลกตากว่าที่ไหนๆ การมาเป็นอาสาสมัครในโรงเรียนสอนดำน้ำ เพื่อแลกกับคอร์สเรียนดำน้ำ wave1 พร้อมกับที่พัก และอาหาร 2 มื้อ นับว่าเป็นข้อเสนอที่คุ้มค่ามากกว่างานอาสาสมัครไหนๆ ก็ว่าได้ 

รวมๆ แล้ว เป็นแผนการที่ดูเข้าท่าเข้าทาง และน่าตื่นเต้นไม่น้อยสำหรับนักเดินทางผู้หิวประสบการณ์อย่างเรา แต่ติดตรงที่ว่า หลังจากช่วงเวลาที่เราออกเดินทางไม่นาน เสียงประกาศเตือนภัยของการมาถึงของ COVID-19 ก็ดังขึ้น ในคืนแรกที่เราย่างก้าวเข้าสู่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางแห่งที่ 2

ในขณะนั้น ข่าวสารที่ได้รับเตือนภัยยังไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสะทกสะท้านและวิตกกังวล แลดูจะเป็นเรื่องราวที่ไกลตัวเกินกว่าจะเก็บมาใส่ใจ จนเมื่อถึงคราวเกิดเหตุการณ์ Super Spread ขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ เมืองทันยางที่เราอาศัยอยู่ในขณะนั้นห่างจากพื้นที่เกิดเหตุคือเมืองแทกูราวๆ 170 กิโลเมตร ตำแหน่งที่เราอยู่กลายเป็นเป้าสายตา ที่ต้องคอยระแวดระวังภัยจากนานาประเทศโดยทันที

ฉันพูดปลอบใจตัวเอง “ไม่เป็นไร อีกแค่อาทิตย์เดียวเราก็ออกจากที่นี่ ไปประเทศไต้หวันต่อแล้ว”

ตลอดสัปดาห์ที่รอคอยนั้น ประเทศเกาหลีใต้เงียบสงัด ความหนาวเย็นด้านนอกทำให้ผู้คนเก็บตัวกันอยู่แต่ในบ้านอย่างมิดชิด พวกเราก็เช่นกัน มีแต่เสียงรถพยาบาล และข้อความเตือนภัยที่ส่งมาเป็นระยะๆ ทำให้ใจเต้นตูมตาม 

25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเกาหลีใต้พุ่งทะยานขึ้นอย่างน่าตกใจ จาก 6 – 7 ประเทศที่แบนนักท่องเที่ยวจากประเทศเกาหลีใต้ไม่ให้เดินทางเข้า ความตื่นตระหนกทยอยส่งผลให้นานาประเทศนับสิบเริ่มมีมาตรการเดียวกันตามมาติดๆ ประเทศไต้หวันก็เช่นกัน ความหวังเดียวที่จะพาเราหลุดพ้นความหวาดวิตกกังวลรอบๆ ตัวของเราในขณะนั้น ก็ออกมาตรการมาได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด!

“ไหนๆ ก็เดินทางมาถึงสนามบินแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นก็ให้เกิด” แม้รู้ถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่แก่ใจ การพยายามเช็กอินและต่อรองกับพนักงานสายการบินเป็นเรื่องที่เราเลือกทำดีกว่าอยู่นิ่งเฉย

“เราให้พวกคุณขึ้นเครื่องไม่ได้ค่ะ” ทางการไต้หวันมีคำสั่งออกมาเมื่อเข้านี้ มีผลบังคับใช้โดยทันที หากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไต้หวันจากเกาหลีใต้ ต้องกักตัว 14 วันเพื่อรอดูอาการไม่มีข้อยกเว้น คุณต้องแสดงหลักฐานที่พัก 14 วันให้กับเราก่อน และคุณเดินทางออกไปที่ไหนไม่ได้ ขณะอยู่ในประเทศไต้หวัน

ตามแผน เราอยู่ในไต้หวันแค่ 12 วัน ก็ต้องออกเดินทางไปยังประเทศฟิลิปปินส์ต่อ คำขอร้องที่ทางการไต้หวันยื่นคำขาดมา เรากระทำไม่ได้โดยทั้งสิ้น ข้อความขอโทษจึงถูกส่งไปยังโฮสต์ที่ไต้หวันโดยทันที

“ขอโทษค่ะ เราไม่สามารถเดินทางไปช่วยเหลืองานตามที่บอกไว้ เนื่องจากเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น แล้วพบกันใหม่ เมื่อยามทุกอย่างเป็นใจ ขอบคุณมากๆ ค่ะ”

แผนต่อไปที่รออยู่คือประเทศฟิลิปปินส์ อย่างน้อยเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปได้ต่อและเกิดความเสียหายต่อการเดินทางน้อยที่สุด การกักตัวเองในประเทศเกาหลีใต้ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น 400 – 500 คนต่อวันเป็นเรื่องที่เราเลือกทำ 

12 วันไม่นานเกินรอ ที่พักที่อยู่ใกล้สนามบินที่สุดถูกคัดสรร ข้าวของเครื่องใช้และอาหารถูกจัดหามาพอสมควรแก่การยังชีพ วันคืนผ่านไปอย่างเชื่องช้าและน่าหวาดวิตก ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเกาหลีใต้เมื่อตอนสายของวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 6,000 กว่าราย ขึ้นเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากประเทศจีน ต้นทางของโรคระบาด COVID-19 

เราเก็บกระเป๋าเดินทางอีกครั้ง ขอพรให้ทุกย่างก้าวราบรื่นและเดินทางเข้าประเทศฟิลิปปินส์ได้สำเร็จ

ในวันแรกที่เรามาถึง ผู้คนที่ฟิลิปินส์ยังคงใช้ชีวิตกันตามปกติเหมือนเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง ช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากที่ที่เราจากมา ตอนนี้เราอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์บนเกาะเล็กๆ ชื่อ ‘ปังเลา’ การคมนาคมเข้าออกเกาะนี้มีหลายทาง ทางบกมีสะพาน 2 แห่งเชื่อมเกาะเล็กนี้ไว้กับอีกเกาะหนึ่งที่ใหญ่ขึ้น มีสนามบินนานาชาติบนเกาะ เครื่องบินจากมะนิลา ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วโมงครึ่ง เรือประมงและเรือเฟอร์รี่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ใช้ข้ามเกาะไปมาของนักท่องเที่ยวและคนละแวกนี้ 

 ขณะนี้ทุกช่องทางการเข้าออกที่กล่าวมาข้างต้นได้ปิดตัวลงและถูกสกัดกั้นชั่วคราว การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นประกาศแจ้งเตือนภัยที่เราจะไม่แยแสต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะความสามารถในการกระจายตัวของมันส่งผลให้โลกทั้งใบตอนนี้กำลังปิดประตูบ้าน เก็บตัวล็อกดาวน์ มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างฉันหาทางหลบซ่อนอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่หลังเล็กบนเกาะที่ห่างไกลเงียบงัน โดยหวังว่าเชื้อร้ายที่คืบคลานยึดครองโลกอยู่ในขณะนี้จะหาเราไม่เจอ

แต่เดิมเราไม่ได้อาศัยอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่ ที่แห่งนี้เป็นที่พักชั่วคราวที่เราหาเช่าเพื่อรอเวลาที่ฟิลิปปินส์เปิดประเทศอีกครั้งแล้วเดินทางกลับประเทศไทย ก่อนหน้านี้เราพักอาศัยอยู่ที่โรงเรียนสอนดำน้ำ แน่นอนว่าสาเหตุที่เราย้ายออกมา เพราะโรงเรียนสอนดำน้ำที่เราเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อกดาวน์

เมืองไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีนักเรียน รายได้ก็หดหายไปตามลำดับ อีกทั้งกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ ภายนอกที่พักอาศัยก็กลายเป็นเรื่องต้องห้ามโดยทั้งสิ้น ผู้ดูแลโครงการจึงจำเป็นต้องเรียกเหล่าอาสาสมัครทุกคนมาพูดคุยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นรายๆ ไป ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันว่าต้องหาที่อยู่ใหม่ และดูแลตัวเองไปก่อนในช่วงเวลานี้ เราจึงเริ่มออกหาที่พักอาศัย ตามกำลังทรัพย์และความพึงพอใจเพื่อแบ่งเบาภาระ

“อะไรก็ได้ ขอให้เป็นบ้านที่อยู่ในป่า มีต้นไม้เขียวๆ”

เป็นคำยืนกรานของฉันที่เรียกร้องกับคนรู้ใจในการหาที่พักพิงเพื่อการเก็บตัวครั้งนี้  Airbnb เป็นแพลตฟอร์มที่เรารู้จักมักคุ้นดีและใช้บริการบ่อยครั้งในช่วงเดินทางต่างประเทศ เราจึงเลือกหาที่พักจากช่องทางนี้เพราะนิยมชมชอบการพักอาศัยแบบคนท้องถิ่น และรื่นรมย์กับวิถีชีวิตที่ไม่สุขสบายเหมือนกับการอยู่โรงแรม เราส่งข้อความถึงเจ้าของบ้านก่อน เพื่อนัดดูสภาพความเป็นอยู่ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้หรือไม่ ก่อนตัดสินใจลงหลักปักฐานชั่วคราว ณ ที่แห่งนี้

“สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับ” 

เสียงฝากข้อความตอบกลับข้อความที่เราส่งไป พอได้ยินถึงกลับร้อง เฮ้ย! บนเกาะปังเลา พอขี่รถตระเวนโดยรอบ มองเห็นป้ายร้ายอาหารไทยอยู่ไม่น้อย ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าริมทางหรือริมชายหาด แต่จากการเยี่ยมเยือน เราไม่เคยเจอคนไทยอาศัยอยู่ที่นี่สักคน 

อังเดร เจ้าของเสียงเป็นชาวยูเครน แต่ด้วยเคยอยู่เมืองไทยมา 2 ปีกว่าๆ สำเนียงการพูดภาษาไทยจึงชัดถ้อยชัดคำ “ผมเป็นไกด์ท่องเที่ยว อยู่ที่พัทยามาสองปีครับ ก่อนจะมาอยู่ที่นี่” 

ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19

ภายในบริเวณบ้านมีบังกะโลอยู่ 3 หลัง ตรงกลางมีพื้นที่นั่งเล่นและห้องครัว ห้องน้ำขนาดเล็กกะทัดรัดอยู่ในบริเวณถัดไป กระท่อมแต่ละหลังประกอบขึ้นอย่างเรียบง่าย ผนัง ประตู หน้าต่าง เกิดจากการประกอบกันของมู่ลี่ ไม้ไผ่ขัดสาน และใบจาก รวมร่างกันกลายเป็นกระท่อม 1 หลัง 

ไม่มีพื้น จากเตียง โต๊ะ ตู้ ลงมาก็เป็นพื้นทรายเลย ฉันไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า เราจะสร้างบ้านได้ง่ายๆ แบบนี้ ในห้องที่เราจะเช่ามีขนาดกว้างขวางอยู่พอตัว มีเตียงไม้ไผ่ เตาแก๊ส โต๊ะกลมตัวเล็ก เก้าอี้พับ 2 ตัว ตู้เก็บเสื้อผ้า ชั้นวางรองเท้า และพัดลมเพดาน 1 ตัว เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นเดียวในนั้น สิ่งที่สะดุดตานอกจากพื้นแล้ว เห็นจะเป็นกอไผ่ที่ลำต้นสูงชะลูดทะลุหลังคาออกไป ขนาดกินบริเวณเกือบครึ่งหนึ่งของห้อง เป็นฉากกันระหว่างห้องนอนและห้องอาบน้ำ

ฮ่าฮ่า… ฉันอุทานในใจ แบบนี้แหละที่ต้องการ!

ข้าวของทุกอย่างที่มีแลดูจะเพียงพอต่อการใช้ชีวิต ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป พวกเรานั่งจิบชา พูดคุยสัพเพเหระกับเจ้าบ้านอยู่พักใหญ่ๆ เสียงต้นไผ่เบียดเสียดลิ้วตามแรงลมเบาและเย็นๆ ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจเข้าไปอีก บริเวณรอบรั่วไม้ไผ่มีพืชผักสวนครัวที่กำลังโต มีตั้งแต่พริกขี้หนูสวน มะละกอ ใบโหระพา ตะไคร้ มะเขือเทศ รวมไปถึงผักชีลาว 

อังเดรบอกพวกเราว่า เขาสร้างทุกอย่างขึ้นมาเอง ใช้เวลาทั้งหมดจนถึงตอนนี้ รวมๆ ก็เข้าเดือนที่ 6 พอดี ที่ดินผืนนี้เช่าอยู่ ทำสัญญาระยะยาวเป็นเวลา 15 ปี ไม่มีเลขที่บ้าน ไม่มีไวไฟ ไม่มีตู้เย็น มีน้ำประปาหมู่บ้านที่มาวันละ 1 เวลา ตอน 3 โมงเย็นกว่าๆ 

ด้วยบริเวณพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวางและบรรยากาศเงียบสงบ ทำให้หลงคิดไปว่าทุกอย่างที่ขาดน่าจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับเรา แต่เมื่อต้องซื้อของกักตุนไว้สำหรับทำอาหารเท่านั้นแหละ การไม่มีตู้เย็นก็เป็นอุปสรรคที่เกิดขึ้น นึกๆ ดูแล้ว ชีวิตตั้งแต่สมัยเด็กเท่าที่พอจำความได้ ก็ไม่เคยใช้ชีวิตโดยไม่มีตู้เย็นมาก่อนเลย ยกเว้นการไปท่องเที่ยวเดินขึ้นป่าเขา หรือเข้าไปในที่ทุรกันดาร ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ลากยาวเป็นเดือนขนาดนี้ 

ขณะที่ร้านอาหารภายนอกปิดหมด การทำอาหารกินเองโดยมีข้อจำกัดด้านการจัดเก็บวัตถุดิบ เป็นเรื่องที่ต้องจัดการในช่วงเวลานี้ พืชผักส่วนใหญ่ที่หามาได้ เราจัดเก็บไว้บนดินใต้ต้นไม้ เพื่อให้ความชื้นและความเย็นยังคงเก็บรักษาความสดใหม่ไว้อยู่ ของแห้ง เช่น ปลาแห้ง เมล็ดถั่ว ก็นำมาแขวนไว้กับกิ่งไม้ เพื่อหลีกเลี่ยงการโจมตีจากมดและแมลงอื่นๆ ส่วนอาหารสำเร็จรูปก็นำมาเก็บไว้ในตู้ใต้เตาแก๊ส เรื่องเนื้อสัตว์ก็ลืมไปได้เลย พึ่งพาได้แค่ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่มีตั้งแต่เนื้อสับ ไส้กรอก แฮม และปลากระป๋องที่เรารู้จักมักคุ้นกันดี

ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19
ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19

อาหารแต่ละมื้อก็ต้องทำให้ไม่มากเกินไป ปรุงสุกให้เพียงพอสำหรับ 1 มื้อหรือ 1 วัน ถ้าทานไม่หมดก็ต้องประยุกต์นำเมนูเดิม มาเติมไข่ใส่ผัก พลิกแพลงให้กลายเป็นอาหารอีกเมนูสำหรับอีกมื้อแก้เบื่อ เพื่อไม่ให้เน่าเสียและสิ้นเปลืองทรัพยากรอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์ 

ทุกมื้ออาหารที่ทำ เราตระหนักรับรู้คุณค่าของสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้นมาก ผักที่ถูกตัดแต่งทิ้งก็นำไปโยนลงหลุมทำเป็นปุ๋ยหมักต่อไป พืชผักชนิดไหนที่เมล็ด มีราก ก็นำไปปลูกต่อยอดให้งอกเงยผลิบาน เป็นอาหารให้เราในยามต่อไป 

ชีวิตติดเกาะในกระท่อมที่ ฟิลิปปินส์ เมื่อแผนเดินทางทำงานอาสาทั่วเอเชียชะงักเพราะ COVID-19

ในช่วงแรกๆ เรากังวลเรื่องการใช้น้ำประปาอยู่ไม่น้อย เรียกได้ว่าใช้กันแบบจำกัดจำเขี่ย กระท่อมไม้ไผ่แห่งนี้มีถังกักเก็บน้ำอยู่ประจำตำแหน่งใต้ก๊อกน้ำจุดละ 1 ถัง รวมทั้งหมด 3 จุด โดยมีแท็งก์เก็บน้ำขนาดเล็กอยู่บนหลังคา ห้องน้ำส่วนกลางเป็นถังเก็บน้ำที่มีความจุปริมาตรมากสุดของบ้าน กิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำถูกคิดคำนึงถึงอย่างรอบคอบ 

ก่อนตักน้ำ 1 ขันมาใช้ เทคนิคหนึ่งที่ภูมิใจนำเสนอคือการซักผ้า เราเลือกซักผ้าในขณะที่อาบน้ำ กองผ้าที่ใส่แล้วของวันนั้นลงกับพื้น จากนั้นยืนบนกองผ้า ให้น้ำกับสบู่ที่ไหลลงตัวจากการอาบน้ำไปซักผ้าต่อ โดยย่ำเท้าหรือตามเอาสบู่ลงไปขยี้ต่อหลังอาบน้ำเสร็จ ด้วยวิถีการนี้ทำให้เรามีเสื้อผ้าซักใหม่ๆ ใส่ทุกวัน น้ำที่สูญเสียไปแต่ละครั้งคุ้มค่า สมการรอคอยการมาของน้ำในวันถัดไป ตั้งแต่อยู่มาร่วมๆ อาทิตย์ ก็ยังไม่มีวันไหนที่น้ำไม่มา มีก็แต่มาช้าบ้าง มาเร็วบ้าง ตามแต่ละเวลาเพียงเท่านั้น 

ไวไฟจัดได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดของการใช้ชีวิตที่นี่ เพราะยิ่งไขว่คว้าอยากได้มากเท่าไหร่ ก็ไม่มีอะไรมาเป็นตัวกำหนดวัดได้ ขึ้นอยู่กับคลื่นที่วิ่งไปมาในอากาศที่เรามองไม่เห็น ฉะนั้นจึงมีอยู่ 2 ทางเลือกเพื่อให้ตัวเองสบายใจ คือตัดขาดจากโลกอินเทอร์เน็ตไปเลย หรือยอมรับการเคลื่อนที่ช้าของสัญญาณ 4G ของที่นี่ 

พวกเราตัดสินใจเลือกซื้อแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตจากเครือค่ายโทรศัพท์มือถือท้องถิ่นเพื่อใช้งาน มีครั้งหนึ่งฉันพยายามโพสต์สเตตัสลงบนเฟซบุ๊ก เพื่ออัปเดตสถานการณ์ความเป็นอยู่ในปัจจุบันให้ญาติสนิทมิตรสหายทราบ ประกอบไปด้วยรูปภาพหนึ่งรูปและข้อความอีกหลายบรรทัด โพสต์ไปตั้งแต่ช่วงสายๆ ของเช้าวันหนึ่ง รู้ตัวอีกทีก็ตื่นขึ้นมาในเช้าวันใหม่ ข้อความแสดงผลการโพสต์ต่อสาธารณะชนเพิ่งปรากฏขึ้น 

กว่าจะทำใจยอมรับความช้าระดับนี้ได้ ไม่ง่ายเลยจริงๆ สุดท้ายจึงเลือกปล่อยวางโทรศัพท์ และหยิบจับมันขึ้นมาอ่านข่าวคราวเป็นระยะพอควร ให้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อกิจกรรมบันเทิงสนุกสนาน อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม หรืวิดีโอคอลกับเพื่อนๆ คงเป็นไปได้ยาก 

ทั้งหมดนี้มีหนทางแห่งความสะดวกสบายให้เลือกอยู่ การมีสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่อย่างจำกัด กลับสร้างภูมิคุ้มกันให้เราตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ชัดเจนขึ้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีแห่งการฝึกฝนตนเองให้อยู่กับปัจจุบันขณะ อยู่กับความพอเพียงและมีสติ 

การได้หยุดเดินทางภายนอกและหันมาเดินทางภายในจิตใจของตัวเองในช่วงเวลานี้ โดยปราศจากสิ่งเร้าและสภาพแวดล้อมความสะดวกสบายที่คุ้นชิน นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของการเจริญเติบโตทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ ท้ายสุดแล้วไม่ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราจะจดจำเหตุการณ์นี้ไปตลอดชีวิต ในรูปแบบของใครของมัน 

ณ กระท่อมไม้ไผ่ เกาะปังเลา ทะเลโบฮอล ประเทศฟิลิปปินส์ 

2 เมษายน พ.ศ. 2563

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

สิริภุมรินทร์ ยิ่งเภตรา

กราฟิกดีไซเนอร์อิสระ ที่รักการเล่าเรื่องและการทำอาหาร หลังช่วยครอบครัวทำธุรกิจร้านอาหารมาหลายปี ก็ออกมาทำร้านอาหารและคาเฟ่ของตัวเอง จากนั้นก็ผันตัวเองเป็นนักเดินทางและนักเล่าเรื่องผ่านทางเพจ ‘โปรดเรียกฉันว่านักเดินทาง’