ในยุคโควิด-19 ที่การค้นหาตัวเองยากพอๆ กับการหางาน เชื่อว่าเด็กจบใหม่หลายคนอาจกำลังสับสนกับหนทางชีวิต

ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร เหมาะกับงานแบบไหน ต้องเตรียมตัวสมัครงานอย่างไร แล้วอะไรคือสิ่งที่ตัวเองกำลังตามหากันแน่ 

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา The Cloud และ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park จึงร่วมกันจัด ‘Life Lecture : Lost & Found คลาสแนะแนวออนไลน์ที่เด็กจบใหม่รู้แล้วรอด’ ขึ้นอีกครั้งเป็นปีที่ 3 เพื่อแนะแนวทางให้เด็กจบใหม่ที่กำลังสับสนได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย และวิธีเตรียมความพร้อมในการก้าวเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน

สำหรับใครที่พลาดชมคลาสสดในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หรืออยากเก็บตกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต เราสรุปบทเรียนและข้อคิดดีๆ จาก 7 คลาสแนะแนวชีวิตวัยทำงานมาให้แล้ว 

ใครที่คิดว่าตัวเองยัง Lost อยู่ มาหาวิธี Found ไปด้วยกันที่นี่ 

ถอดบทเรียนชีวิตวัยทำงานที่เด็กจบใหม่รู้แล้วรอดจาก 7 คลาส Life Lecture : Lost & Found
ถอดบทเรียนชีวิตวัยทำงานที่เด็กจบใหม่รู้แล้วรอดจาก 7 คลาส Life Lecture : Lost & Found
คลาสที่ 1

ตามหา ‘ตัวเอง’ เวอร์ชันผู้ใหญ่

หัวข้อ : How to be a ‘Student of the World’ คน Gen ใหม่ต้องไม่หยุดเรียนรู้

วิทยากร : ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ เจ้าของสถาบัน ANGKRIZ

ถอดบทเรียนชีวิตวัยทำงานที่เด็กจบใหม่รู้แล้วรอดจาก 7 คลาส Life Lecture : Lost & Found

ในยุคที่การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ครูลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ ขอนิยามตัวเองว่าเป็น ‘Student of the World’ หรือนักเรียนของโลกใบนี้ เพราะครูลูกกอล์ฟเชื่อว่าการเป็นนักเรียน คือโอกาสที่ทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เหมือนน้ำที่ไม่มีวันเต็มแก้ว

ในคลาสนี้ ครูลูกกอล์ฟชวนคุยเกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนรู้ในชีวิตที่ผ่านมา ทำให้เราทราบว่าชีวิตวัยเด็กของเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ครูลูกกอล์ฟเป็นเด็กคนหนึ่งที่โตมากับความผิดหวัง แต่เขาไม่เคยยอมแพ้และใช้มันเป็นพลังพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ครูลูกกอล์ฟเล่าว่าในโลกนี้ยังมีอะไรรอเราอยู่อีกมากมาย ถ้าตรงนี้ยังไม่ใช่ที่ของเรา ก็แค่พาตัวเองไปสถานที่ใหม่ จากเด็กหาดใหญ่ที่เคยร้องไห้ในวันนั้น กลายเป็นครูลูกกอล์ฟที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ อีกมากมายในวันนี้ สิ่งหนึ่งที่เขาได้เรียนรู้คือการมีภูมิคุ้มกันทางใจ (RQ-Resilience Quotient) แม้ว่าจะต้องเจอเรื่องแย่ๆ เขาก็สามารถจัดการความรู้สึกและสร้างพลังบวกให้ตัวเองได้เสมอ

“มันอาจจะเป็นเช้าที่แย่ แต่มันจะไม่ใช่วันที่แย่ของเรา” ครูลูกกอล์ฟกล่าว

ครูลูกกอล์ฟทิ้งท้ายว่า ใครที่อยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ แต่เรียนไปไม่นานแล้วรู้สึกหมดพลัง ให้ลองหาแรงจูงใจในการเรียนสิ่งนั้นให้เจอ ถามตัวเองว่าสิ่งที่อยากเรียนรู้มีความจำเป็นหรือความสนใจของเราอยู่ในนั้นไหม ถ้าเราหาแรงจูงใจพบ แน่นอนว่าการเรียนรู้จะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

คลาสที่ 2

ตามหา ‘งานที่ใช่’ ในโลกยุคใหม่

หัวข้อ : Get ready for next era job market เตรียมตัวให้พร้อมกับตลาดงานในอนาคต

วิทยากร : ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ General Manager จาก True Digital Park

ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดในตลาดแรงงานและตัวเลขเด็กจบใหม่ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสมัครงานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คลาสนี้ ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ มาพูดคุยกับเราถึงเคล็ดลับในการเตรียมตัวก่อนสมัครงานที่เด็กจบใหม่รู้แล้วรอด

 สำหรับใครที่กำลังจะสัมภาษณ์งานแล้วมีเวลาเตรียมตัวไม่มาก คุณสมบัติที่องค์กรมองหาในตัวผู้สมัครงานที่ ดร.ธาริต นำมาฝากมีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน 

1. การเตรียมตัว (Preparation) เราต้องรู้จักและเข้าใจบริษัทที่จะไปสัมภาษณ์ให้ดีก่อน ต้องรู้ว่าเป็นบริษัทเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นผู้บริหาร และรู้ว่าตำแหน่งที่สมัครไปมีความหมายอย่างไรต่อองค์กร 

2. แพสชัน (Passion) เราต้องแสดงออกถึงความเอาจริงเอาจัง หรือง่ายๆ ให้สังเกตตัวเองว่าตาเราเป็นประกายไหมเวลาสัมภาษณ์งาน 

3. ความกระตือรือร้น (Willingness to Learn) เราต้องแสดงออกถึงความอยากเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด และพร้อมจะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา 

4. ความสามารถในการพึ่งพาตนเอง (Independence, Resourcefulness) เราต้องแสดงให้เห็นว่าพร้อมเรียนรู้ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องรอให้ใครสอน และรู้ว่าจะเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นได้จากแหล่งไหน 

5. คาแรกเตอร์ที่เหมาะกับองค์กร เราต้องรู้จักองค์กรให้ดีก่อน ถึงจะเข้าใจคาแรกเตอร์ของคนในองค์กรได้ เมื่อรู้แล้วก็อย่าลืมถามตัวเองว่า แล้วเราเป็นแบบเขาได้ไหม

ส่วนใครที่ยังพอมีเวลาเตรียมตัว หรือกำลังจะจบมหาวิทยาลัยในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า 5 สิ่งสำคัญที่ควรเตรียมให้พร้อม มีดังนี้

อย่างแรกคือ Hard Skills แม้ว่าวันนี้เราจะได้ยินคนพูดถึงความสำคัญของ Soft Skills กันหนาหู แต่ ดร.ธาริต เชื่อว่า Hard Skills ยังเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่น เพราะปริญญาที่เราจบมาหมายถึงการเรียนสิ่งใดสิ่งหนึ่งมา 4 – 6 ปี เป็น Hard Skills ที่เรามีแต่คนอื่นไม่มี 

อย่างที่ 2 คือ Soft Skills อาจเรียกได้ว่าเป็นทักษะที่ติดตัวมาส่วนหนึ่งและเราพัฒนาได้ส่วนหนึ่ง เช่น ทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ ภาวะผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝึกยากกว่า Hard Skills อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องฝึกฝนกันเอง Soft Skills ก็มีความสำคัญไม่แพ้ Hard Skills ใครที่มีทั้งสองอย่าง ดร.ธาริต บอกเลยว่าเป็น 1 – 2 Punch ที่ดีที่สุด 

อย่างที่ 3 คือประสบการณ์ตรง (Direct Experience) เราต้องแสดงให้กรรมการเห็นว่าเคยทำอะไรมาแล้วบ้าง สร้างความแตกต่างอะไรให้สังคม สร้างคุณค่าอะไรให้บริษัทที่ไปฝึกงาน หรือได้ริเริ่มอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรื่องราวของเราโดดเด่นไม่เหมือนใครและน่าสนใจขึ้นทันที 

อย่างที่ 4 คือคอนเนกชัน (Connection) ในปัจจุบัน หลายองค์กรใช้วิธีรับพนักงานจากระบบ Referral Program หรือระบบที่ให้คนในบริษัทแนะนำผู้สมัคร คอนเนกชันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรสร้างไว้ตั้งแต่ตอนเด็ก ยิ่งเร็วยิ่งดี และยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำงาน 

และอย่างสุดท้ายคือ การสร้างแบรนด์บุคคล (Personal Branding) เรามีวิธีไหนในการนำเสนอภาพลักษณ์ตัวเองต่อสังคม ในยุคนี้หลายคนอาจทำช่องยูทูบหรือเขียนบทความลงอินเทอร์เน็ต ใครมีสิ่งเหล่านี้อยู่ ดร.ธาริต มั่นใจว่าเป็นอีกหนึ่งไพ่ตายที่สร้างความต่างให้กับเราได้

คลาสที่ 3

ตามหา ‘อนาคต’ ในอีก 3 ปีข้างหน้า

หัวข้อ : Future Visualize ออกแบบชีวิตด้วย Visual Thinking

วิทยากร : ณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร Acting HR Director หน่วยงาน People Growth & Organization Development, Human Resources จาก True Corporation Public Company Limited

ในคลาสที่ 3 นี้ ณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร พาเราไปรู้จัก Visual Thinking หรือการคิดแบบเป็นภาพและนำภาพมาใช้ในการสื่อสาร ณัฐวุฒิสาธิตการใช้ผ่านตัวอย่างในหัวข้อการก้าวข้าม Comfort Zone และวาดรูปพร้อมอธิบายความแตกต่างของแต่ละโซน

สาระสำคัญจากการทำ Visual Thinking ในหัวข้อนี้ที่เราอยากฝากเด็กจบใหม่ไว้ มีอย่างนี้ Comfort Zone คือพื้นที่สบายแต่ตายผ่อนส่ง ส่วน Panic Zone คือพื้นที่ตื่นเต้นแต่เติบโต ใครที่เชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาได้ และกล้าออกมาจาก Comfort Zone คือผู้ที่มี Growth Mindset ส่วนใครที่คิดว่าตัวเองเก่งได้เท่านี้ อยากอยู่กับที่มากกว่า ลักษณะแบบนี้คือผู้ที่มี Fixed Mindset 

แม้การอยู่ใน Comfort Zone อาจทำให้รู้สึกสบายใจ แต่เราก็ต้องอย่าลืมว่าการอยู่กับที่หมายถึงการกำลังโดนคนอื่นแซง 

แน่นอนว่าการอธิบายผ่านตัวอักษรแบบนี้คงไม่สามารถทำให้เราเข้าใจได้ดีเท่ากับการเห็นภาพวาดของณัฐวุฒิ Visual Thinking นอกจากจะทำให้เข้าใจและจดจำบทเรียนได้ดีขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์อีก 6 อย่างด้วยกัน คือ เกิดความชัดเจน เห็นความเชื่อมโยง คิดต่อยอดได้ เข้าถึงความรู้สึก ดึงดูดให้ติดตาม และสร้างแรงบันดาลใจ

 ใครฟังแล้วอยากสัมผัสการคิดแบบ Visual Thinking สามารถเข้าไปชมคลิปวิดีโอและทำกิจกรรมย้อนหลังกับณัฐวุฒิได้ที่เพจเฟซบุ๊กของ The Cloud 

คลาสที่ 4

ตามหา ‘จุดเด่น’ ของตนบนโลกการทำงาน

หัวข้อ : Top skills after COVID-19 ทำตัวเองให้เป็นคนทำงานที่โลกต้องการ

วิทยากร : อภิชาติ ขันธวิธิ เจ้าของเพจ HR – The Next Gen

ถอดบทเรียนชีวิตวัยทำงานที่เด็กจบใหม่รู้แล้วรอดจาก 7 คลาส Life Lecture : Lost & Found
ถอดบทเรียนชีวิตวัยทำงานที่เด็กจบใหม่รู้แล้วรอดจาก 7 คลาส Life Lecture : Lost & Found

ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความผันผวนของโลกยุคปัจจุบัน หรือที่ อภิชาติ ขันธวิธิ นิยามว่าเป็นโลกยุค VUCA ทักษะที่องค์กรมองหาในตัวพนักงาน คือทักษะที่ช่วยให้องค์กรพร้อมรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงได้

เขาแนะวิธีเตรียมความพร้อมสู่การทำงาน เริ่มจากคุณสมบัติ 3 เรื่องที่องค์กรใช้พิจารณารับพนักงานใหม่ 

อย่างแรกคือ Mindset หรือทัศนคติในการทำงาน อภิชาติเน้นว่า Growth Mindset เป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรมองหาในตัวพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่องค์กรต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ยุค VUCA ผู้ที่มี Growth Mindset หรือมีความคิดในการเติบโตแบบไม่หยุดนิ่ง และมีความพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ จะเป็นผู้ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และรับผิดชอบงานที่ท้าทายได้ในอนาคต

อย่างที่ 2 คือ Skillset หรือทักษะในการทำงานแบบเฉพาะทาง ซึ่งอภิชาติได้ยก 5 ทักษะที่กำลังเป็นที่ต้องการในยุค 2021 มาฝากเรา ได้แก่ ทักษะไอทีและการวางโปรแกรม ทักษะการบริหารจัดการและความเป็นผู้นำ ทักษะการสื่อสารและการต่อรอง ทักษะการเป็นผู้ประกอบการและการมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะการบริหารโครงการ

และอย่างสุดท้ายคือ Toolset หรือความสามารถในการใช้เครื่องมือต่างๆ ให้เหมาะสมกับที่องค์กรต้องการ อย่างเช่น โปรแกรมไมโครซอฟต์ โฟโต้ชอป ฯลฯ

เมื่อรู้ว่าองค์กรมองหาอะไรแล้ว สิ่งสำคัญที่อภิชาติฝากไว้อีกเรื่องคือการสร้าง Self-awareness และ Self-motivation

Self-awareness คือการรู้จักตัวเอง เข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อชูสิ่งที่โดดเด่นและพัฒนาส่วนที่บกพร่องของตัวเองได้ 

และ Self-motivation คือการสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองดึงศักยภาพออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ในทุกสถานการณ์

ในโลกที่พัฒนาไปเร็วแบบนี้ สิ่งที่ควรทำคือพัฒนาตัวเองให้ทันโลก เขาทิ้งท้ายเป็นข้อคิดว่า สิ่งที่เราควรทำ ณ วันนี้ คือพยายามเป็นคนเก่งในปัจจุบันและคนเก่งในอนาคต เพราะถ้าเราเก่งแต่ในอดีตเราจะเป็นได้แค่ตำนาน แต่เป็นอนาคตให้องค์กรไม่ได้

คลาสที่ 5

ตามหา ‘ประสบการณ์ผ่านองค์กรในต่างแดน’

หัวข้อ : Working as a ‘Global Citizen’ เปิดโลกการทำงานกับองค์กรต่างชาติ

วิทยากร : แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล บรรณาธิการคอนเทนต์ ผู้มีประสบการณ์ทำงานในองค์กรต่างชาติ

ถอดบทเรียนชีวิตวัยทำงานที่เด็กจบใหม่รู้แล้วรอดจาก 7 คลาส Life Lecture : Lost & Found

เชื่อว่าหลายคนคงมีความฝันอยากไปทำงานต่างประเทศ ในคลาสที่ 5 นี้ แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล มาพูดคุยกับเราเรื่องประสบการณ์การทำงานกับองค์กรต่างชาติอย่าง Netflix ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมทั้งนำเทคนิคดีๆ ในการสมัครงานมาฝากเด็กจบใหม่ กว่าจะถึงวันนี้ แชมป์ผ่านอะไรมาบ้างและเอาตัวรอดจากอุปสรรคมาได้อย่างไร เราสรุปมาให้แล้ว

หลังจากได้รับการติดต่อจาก Headhunter แชมป์ยอมรับว่าต้องใช้เวลาตัดสินใจอยู่สักพัก แม้ว่าการทำงานในต่างแดนจะเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่เขาก็กังวลว่า ที่ผ่านมาเขาทุ่มเททำงานในเมืองไทยจนถึงจุดที่มีต้นทุนทางสังคมแล้ว การไปทำงานในต่างแดนอาจเป็นการเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ 

“ในวัยสามสิบกว่า เราจะทิ้งทุกอย่างไปเริ่มใหม่ได้จริงหรือ” แชมป์ถามสิ่งนี้กับตัวเอง

หลังจากใช้เวลาชั่งใจอยู่ช่วงหนึ่ง แชมป์ตัดสินใจแพ็กกระเป๋าไปสิงคโปร์ด้วยความเชื่อที่ว่า โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ของคนโดยที่มีสิ่งประจวบเหมาะกันคงมีไม่กี่ครั้งในชีวิต 

ในช่วง 3 เดือนแรก แชมป์เล่าว่าเป็นช่วงที่ยากมาก เนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา ผู้คน วัฒนธรรมองค์กร และการใช้ชีวิต หลังจากทำงานไปสักพัก เขาก็ประสบกับ Imposter Syndrome หรือภาวะที่คิดว่าตัวเองเก่งไม่พอ เมื่อต้องเข้าไปทำงานในสภาพแวดล้อมใหม่ และไม่มี Support System ที่แข็งแรงเหมือนเพื่อนหรือครอบครัวที่เมืองไทย 

“เราไม่มีใครที่พึ่งพาได้เลยนอกจากตัวเอง” 

สิ่งนี้เลยกลายอุปสรรคชิ้นใหญ่ที่แชมป์ต้องก้าวผ่านในช่วงแรกของไปทำงานที่ต่างประเทศ

เมื่อถามว่าเขาผ่านสิ่งเหล่านี้มาได้อย่างไร แชมป์บอกเราว่า ทุกเช้าเขาจะถามตัวเองว่าทำไมเขาถึงมาอยู่จุดนี้ แล้วมีเหตุผลอะไรมารองรับการที่เขามาอยู่จุดนี้บ้าง 

“ต่อให้เรามองตัวเองว่าไม่มีข้อดี ยังไงมันต้องมีบ้างสิที่ทำให้อย่างน้อยที่นี่เขาเลือกเรา” และเรื่องที่แชมป์ให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การปล่อยให้ตัวเองมีความสงสัยใคร่รู้เยอะๆ “คุณถามไปเถอะ จะไม่มีใครบอกว่าคุณโง่ เพราะคุณเริ่มใหม่”

นอกจากนี้ แชมป์เล่าว่าวิธีการทำงานขององค์กรต่างชาติต่างจากการทำงานในองค์กรไทยมาก และอาศัยคุณสมบัติหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกล้าพูดกล้าถาม (Outspoken) การให้บริบท (Lean into Giving Context) การทำงานเพื่อผลลัพธ์ (Work Smart) การสร้างงานที่มีคุณค่า (Create Impact) การมีวุฒิภาวะ (Behave Like an Adult) และการคิดแบบองค์รวม (Holistic Thinking)

และในฐานะผู้มีประสบการณ์การอ่านเรซูเม่มามากกว่า 2000 ฉบับ แชมป์มาแชร์ 3 เกณฑ์ที่เขาใช้คัดกรองเรซูเม่ของผู้สมัครงาน อย่างแรกคือ เรื่องการสื่อสาร เพราะขั้นตอนการทำงานในปัจจุบันคือการการสื่อสารกับคน “เราจะตัดคนที่ไม่เขียนอีเมลแนะนำตัวออกไปก่อนเลย” 

อย่างที่ 2 คือวิธีเล่าเรื่อง แชมป์จะดูว่าผู้สมัครคนนี้มีวิธีเล่าเรื่องตัวเองอย่างไร เขามองตัวเองแบบไหน มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไรบ้าง และอย่างสุดท้ายคือประสบการณ์ แชมป์บอกว่าสิ่งที่มองหาคือประสบการณ์ที่เรียกว่า Transferable Skillset หรือทักษะที่ถ่ายโอนจากงานเดิมมาสู่งานใหม่ได้นั่นเอง 

คลาสที่ 6

ตามหา ‘แนวคิด’ จากนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมแพ้

หัวข้อ : Entrepreneur Journey อายุน้อยร้อยบทเรียน

วิทยากร : สุรนาม พานิชการ ผู้ก่อตั้งแบรนด์น้ำเต้าหู้พาสเจอไรซ์โทฟุซัง (TOFUSAN)

ในคลาสที่ 6 สุรนาม พานิชการ ผู้ก่อตั้งแบรนด์น้ำเต้าหู้พาสเจอไรซ์โทฟุซัง (TOFUSAN) มาแบ่งปันบทเรียนและประสบการณ์การทำงานบนเส้นทางสายธุรกิจของเขา สุรนามเริ่มต้นธุรกิจจากจุดไหน พบเจออุปสรรคอะไร และพาตัวเองมาถึงวันนี้ได้อย่างไร เราจะเล่าให้ฟัง

สุรนามเริ่มชีวิตนักธุรกิจครั้งแรกตอนเรียนชั้น ป.3 ที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ด้วยเหตุผลว่าอยากได้การ์ดที่แถมมาในขนมโดราเอมอนแต่แม่ไม่ให้เงินไปซื้อ เขาเลยรวมเงินกับเพื่อนๆ หลายวันจนได้เป็นเงินก้อน และนำไปซื้อของเหมาที่ตลาดปีนัง 

“จากกล่องละ 5 บาท จะเหลือ 3.50 บาท เราก็เอา 3.50 มาขายเพื่อน 4.50” แต่กำไรที่ได้ทั้งหมดในตอนนั้นสุรนามเล่าว่าก็เอาไปซื้อการ์ดมาเล่นต่ออยู่ดี

หลังเรียนจบปริญญาโทจากออสเตรเลีย สุรนามเริ่มกิจการแรกโดยการทำแบรนด์ธุรกิจขนมไทย จากที่เห็นว่าขนมไทยดีๆ หาทานยาก เขาเลยไปจับมือกับร้านค้าขนมไทยรายย่อยในต่างจังหวัด นำขนมไทยมาทำบรรจุภัณฑ์ใหม่แล้วขายเป็นของฝาก อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสรักสุขภาพ ธุรกิจขนมหวานของสุรนามจึงต้องปิดตัวลง

สุรนามไม่ยอมแพ้ เขาเริ่มธุกิจใหม่เป็นธุรกิจสนามบอล แม้ว่าเขาทำวิจัยมาเป็นอย่างดี หาข้อมูลแล้วว่าที่ผ่านมา 40 ปีไม่เคยมีน้ำท่วม แต่เหมือนโชคไม่เข้าข้าง สุรนามเล่าว่าเปิดสนามบอลไปได้แค่ครึ่งปีก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ต้องปิดกิจการไปในท้ายที่สุด

 ล้มได้ก็ลุกได้ หลังผ่านบทเรียนธุรกิจขนมไทยและสนามบอล สุรนามกลับมาอีกครั้งกับธุรกิจน้ำเต้าหู้ออร์แกนิกโทฟุซัง น้ำเต้าหู้ที่เรารู้จักดีในวันนี้

ในช่วงสุดท้าย เขาแบ่งปัน 5 ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งได้แก่ ไอเดีย ทีมงาน แบบจำลองธุรกิจ เงินทุน และจังหวะเวลาการออกสินค้า แม้สุรนามจะเน้นว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งใน 5 ปัจจัยข้างต้นคือเรื่องจังหวะเวลา แต่เรื่องที่เขาคิดว่าสำคัญกว่า คือความพร้อมในการรับโอกาสที่เข้ามาในจังหวะเวลานั้น 

“ถึงจะมีจังหวะเหมาะสมแค่ไหน มีจังหวะทองเท่าไหร่ ถ้าเราไม่พร้อมไปดึงโอกาสนั้น แล้วมาผันให้เป็นธุรกิจ เราก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ”

คลาสที่ 7

ตามหา ‘แพสชัน’ ก่อนทำธุรกิจ

หัวข้อ : Start a business by ‘Finding Your Passion’ สำรวจแพสชันก่อนเริ่มทำธุรกิจ 

วิทยากร : เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ และ ภีศเดช เพชรน้อย ผู้ก่อตั้ง BASE Playhouse

ในคลาสสุดท้ายนี้ เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ และ ภีศเดช เพชรน้อย ผู้ก่อตั้ง BASE Playhouse พาเราไปตามหาแพสชันในการเริ่มทำธุรกิจ

 วิธีหาแพสชันแล้วเปลี่ยนเป็นธุรกิจทำได้อย่างไร ทั้งคู่ขอตอบข้อสงสัยผ่านตัวอย่างประสบการณ์ของตัวเองด้วยเทคนิค 4 ขั้นตอน 

1. การทำความรู้จักตัวเอง : เราต้องตอบให้ได้ว่าตัวตนของเราคือใคร อะไรคือสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกมีพลังและเติมเต็มเรามากที่สุด 

“ให้เรานึกถึงสิ่งที่ทำแล้วไม่รู้สึกเหนื่อย สิ่งที่ทำแล้วกลับรู้สึกได้พลังกลับมา เมื่อตอบตัวเองได้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร เราจะเลือกเส้นทางเดินต่อไปข้างหน้าได้ง่ายขึ้น”

2. การสำรวจและต่อยอดความสนใจของตัวเอง : เมื่อรู้จักสิ่งที่ชอบแล้ว ให้ถามตัวเองว่าเราทดสอบความสนใจของตัวเองได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนเยอะ และทักษะอะไรบ้างที่ได้กลับมาจากการลงมือทำ 

3. การตรวจสอบแพสชันของตัวเอง : ก่อนจะก้าวไปสู่การทำธุรกิจ ลองเช็กอีกทีว่าแพสชันของเราพัฒนาได้ไหม ให้ถามตัวเองว่าเรารู้จักครบทุกมุมหรือยัง และระหว่างทางที่ทดสอบ เรายังอยากรู้จักสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นไหม และถ้าให้อยู่กับมันนานๆ เราอยู่กับมันได้นานแค่ไหน 

“แพสชันอาจไม่ใช่สิ่งที่เราทำแล้วแฮปปี้เสมอไป แต่คือสิ่งที่เราสามารถอยู่กับมันได้นานๆ”

4. การเปลี่ยนแพสชันให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน : เมื่อรู้ชัดแล้วว่าเรารักอะไร ขอให้ถามตัวเองว่าเราใช้สิ่งนี้ไปช่วยแก้ปัญหาอะไร ให้ใครได้บ้าง และสิ่งที่เราทำอยู่ให้คุณค่าอะไรกับคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง 

“ถ้าเราไม่สามารถสร้างคุณค่าหรือแก้ปัญหาให้กับคนข้างนอกได้ เราจะไม่มีทางเก็บเงินจากเขาได้”

เมื่อเข้าใจ 4 ขั้นตอนในการเปลี่ยนแพสชันเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนแล้ว สิ่งสำคัญที่ทั้งสองอยากฝากถึงน้องๆ คือ ให้เริ่มลงมือทำเลย เพราะ ‘ธุรกิจ’ เริ่มจากการ ‘ลงมือทำ’

ก่อนจะจากกันไป พวกเขาขอแบ่งปันคำถามที่เชื่อว่าอยู่ในใจของเด็กจบใหม่หลายๆ คน

ถ้าไม่มีความสนใจอะไรเลย ทำอย่างไรดี

สาเหตุส่วนใหญ่ที่เรายังไม่เจอความสนใจ หรือยังตอบไม่ได้ว่าตัวเองชอบอะไร เป็นเพราะเรายังอยู่ใน Comfort Zone ของตัวเอง วิธีที่ดีที่สุดในการหาสิ่งที่เราชอบ คือการออกไปลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และไปลองสร้างประสบการณ์ที่ไม่เคยมี 

ทดลองความสนใจแล้วอยู่ไม่ได้นานจะทำอย่างไร

ก็เปลี่ยน เพราะหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องมีหนึ่งอย่างที่สนใจ และสิ่งที่เราสนใจในตอนแรก อาจเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นในตอนหลังก็ได้ สิ่งสำคัญคือต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเรายังรักมันอยู่ไหม ถ้ารักก็ลงมือทำเลย ถ้าไม่ใช่ก็เปลี่ยน เราต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองอะไรใหม่ๆ ด้วย มันถึงจะไปต่อได้

จบไม่ตรงสายทำอย่างไรดี

ในโลกยุคนี้ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต เมธวินมองว่าการ Lost และ Found เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงของชีวิต หากเราเรียนจบแล้วพบว่าเส้นทางที่เลือกไม่ใช่เส้นทางที่ใช่ ก็ลองเปลี่ยนตัวเองไปลองในเส้นทางใหม่ๆ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเจอสิ่งที่ใช่สำหรับเราจริงๆ เชื่อว่าเราหาความรู้และฝึกทักษะจากนอกคณะหรือมหาวิทยาลัยได้อยู่ดี ถ้าเราอินกับมันมากพอ ทักษะต่างๆ เหล่านั้นจะพัฒนาตามมาได้แน่นอน

อ่าน ฟัง ชม และเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ กับห้องสมุดสาธารณะออนไลน์แห่งแรกในประเทศไทย
เข้าใช้บริการฟรี ที่นี่

Writer

Avatar

ศิรประภา แลนแคสเตอร์

นักเขียนฝึกหัดที่กำลังเรียนรู้โลกผ่านตัวอักษร เรื่องเล่า และการเดินทาง

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน