30 พฤศจิกายน 2018
17 K

ว้าวุ่น เคว้งคว้าง หวาดกลัว มีคำอีกเป็นร้อยที่จะอธิบายความรู้สึกของ ‘เด็กจบใหม่’ เมื่อประตูของโลกความเป็นจริงเปิดออก โดยมีมือที่มองไม่เห็นที่เขาเรียกกันว่า ‘วัย’ ผลักให้ต้องก้าวออกจากความคุ้นเคยเดิมๆ สู่โลกของการทำงาน

ใครๆ ก็พูดกันว่า ‘ชีวิตไม่ง่ายเลย’ เมื่อออกไปใช้ชีวิตแล้วถูกความเป็นจริงเขย่าโลกทั้งใบ บางคนก็พบว่าการทำงานมีเรื่องที่ไม่คาดคิดมาก่อน จนความว้าวุ่นพุ่งชนเราอย่าจัง เพราะไม่รู้จึงกลัว และเมื่อเจอกับ ‘ความจริง’ จึงตั้งตัวแทบไม่ทัน  

เมื่อความไม่รู้ทำให้ชีวิตหลังเรียนจบกลายเป็นเรื่องยากและอาจทำให้ใครหลายคนชวดเกรด A จากชีวิต The Cloud และ TOYOTA จึงอยากชวนนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบหรือเพิ่งจบหมาดๆ มาติวเข้มวิชาชีวิตด้วยกันที่งาน ‘Life Lecture : คลาสแนะแนวครั้งสุดท้ายก่อนออกไปใช้ชีวิตจริง’ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน

Life Lecture

ในงานนี้เราได้ไขสิ่งที่นักศึกษาจบใหม่สงสัยออกมาเป็น 5 วิชาด้วยกัน มีตั้งแต่การสมัครงาน การทำงาน การเก็บเงิน และการใช้ชีวิต ที่หากเด็กจบใหม่รู้ล่วงหน้า ก็จะสามารถลงสนามชีวิตได้อย่างมั่นใจ ใครที่ไม่ได้เข้าคลาสกับเราไม่ต้องเสียใจไป งานนี้เรามีเพื่อนใจดีที่จดเลกเชอร์มาเผื่อทุกคนแล้ว

ถ้าเตรียมสมุดปากกาพร้อมแล้ว เริ่มจดได้เลยนะ!

  

101 วิชาแนะนำตัว
เคล็ดลับสร้างโอกาสจากกระดาษแผ่นเดียว
โดย มาโนช พฤฒิสถาพร

Life Lecture

ประตูบานแรกหลังเรียนจบคือการสมัครงาน หลายคนรู้ว่าจะสมัครงานอย่างไร แต่พอถึงขั้นตอนเขียนเรซูเม่กลับไปไม่เป็น มาโนช พฤฒิสถาพร วิทยากรในวิชานี้ คือผู้มีประสบการณ์ในการเขียนเรซูเม่จากการเรียน MBA ที่ Kellogg School of Management เป็นเวลา 2 ปี เขาเคยเป็นเด็กฝึกงานที่ TripAdvisor และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เข้าไปทำงานในตำแหน่ง Senior Revenue Analyst ที่ Credit Karma บริษัทสตาร์ทอัพที่ให้บริการด้าน Credit Score ในสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ใช้งานกว่า 55 ล้านคน ประสบการณ์ในการเขียนเรซูเม่ที่เขามาแบ่งปันในวันนี้ จึงอาจจะเปลี่ยนมุมมองที่คุณมีต่อกระดาษแผ่นนี้ไปตลอดกาล

มาโนชเคยสมัครงานโดยต้องแข่งขันกับคนอเมริกัน ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นและพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก และในระยะเวลา 2 ปี เขาสมัครงานไปถึง 3,000 งาน เพื่อให้ได้งานเพียงแค่งานเดียว ประสบการณ์การสมัครงานแบบหฤโหดทำให้เขาเรียนรู้ว่า

“แก่นของการสมัครงานคือการเตรียมตัวเพื่อไป ‘ขายตัวเอง’ ให้บริษัทสนใจและเชื่อว่าเราเหมาะ ไม่ว่าตอนเรียนจะได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่หรือเคยทำอะไรมาบ้าง แต่ถ้าขายตัวเองไม่เป็นก็ไม่มีประโยชน์”

Life Lecture

ความจริงของเรซูเม่

ข่าวร้ายสำหรับการสมัครงานคือ “4 ปีที่คุณ (ตั้งใจ) เรียน จะถูกตัดสินขั้นแรกจากกระดาษแผ่นเดียว” ส่วนข่าวดีก็คือ “เรซูเม่สำหรับเด็กจบใหม่ ทำให้ดีแค่ครั้งเดียว แต่ใช้ได้กับทุกที่”

ก่อนจะลงมือเขียนเราต้องรู้ข้อมูลต่อไปนี้ก่อน

  1. งานที่เราอยากจะทำหรือบริษัทที่เราจะสมัครกำลังมองหาอะไร  
  1. เรามีประสบการณ์อะไรที่ตรงกับสิ่งที่บริษัทต้องการ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม การทำงานนอกรั้วมหาวิทยาลัย หรือสิ่งที่ทุกคนมองข้ามไปอย่าง ‘งานกลุ่ม’ ก็สามารถนำมาใส่ไว้ในเรซูเม่ได้ทั้งนั้น
  2. หาตัวอย่างและเทมเพลตเรซูเม่จากกูเกิล เพื่อดูว่าจะเขียนและจัดรูปแบบอย่างไรให้เหมาะสม อ่านง่าย และตรงกับสายงานของตัวเอง

 

เขียนยังไงให้ได้โอกาส

เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเขียนซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด มาโนชแนะนำวิธีที่จะทำให้เรซูเม่ของเราโดนใจบริษัทไว้ว่า

1. ควรเขียนประสบการณ์เป็น Bullet Point ให้อ่านง่าย โดยไล่เรียงไปตามประเด็นว่าเราทำอะไร ใช้ทักษะอะไร ผลลัพธ์คืออะไร

  • เราทำอะไร : เขียนหน้าที่เฉพาะของเราในกิจกรรมต่างๆ ไม่ใช่การเขียนว่าทีมของเราเคยทำอะไร เช่น ในกิจกรรมรับน้องเราทำหน้าที่หาเงินทุนมาจัดงาน
  • เราใช้ทักษะอะไรในการทำหน้าที่นั้น : เขียนให้เห็นว่าเราเคยใช้ความสามารถอะไรบ้าง เช่น ใช้ทักษะการติดต่อประสานงาน และบริหารจัดการเงิน เพื่อให้รายได้ครอบคลุมการจัดการงานรับน้อง
  • ผลลัพธ์ที่เราทำคืออะไร : เขียนให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน เพื่อให้เห็นว่าเราทำงานได้ดีขนาดไหน เช่น เราหาเงินได้จำนวนกี่บาทในกิจกรรมรับน้อง

2. ควรจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อบ่งบอกทักษะด้านภาษา

การใช้ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องจะทำให้ดูมีคลาสมากขึ้น วิธีเขียนคือขึ้นต้นประโยคด้วยเวิร์บที่เป็นอดีตหรือ Past Tense เพื่อสื่อว่าเราเคยทำอะไรมา  

3. ถ้าเขียนไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เขียนใช้ได้ไหม ให้ลองเขียนลงไปให้มากที่สุดก่อน

ถ้าลองเขียนแล้วพบว่าตัวเองเขียนซ้ำกันบ้างก็ไม่เป็นไร เขียนเสร็จแล้วให้กลับมาถามตัวเองว่า ที่เราเขียนมันชัดเจนหรือยังว่าตกลงงานนั้นเราทำอะไร ผลลัพธ์คืออะไร และควรจะทบทวนหรือแก้ไขอย่างน้อย 3 รอบ

4. ถ้าเอาเรซูเม่เราไปเปลี่ยนเป็นชื่อเพื่อน แล้วเพื่อนยังเอาไปใช้ได้ แสดงว่าเรายังเขียนไม่เจาะจงพอ สิ่งที่เขียนยังไม่ใช่สิ่งที่เราทำ จนมันกลายเป็นเรซูเม่ของใครก็ได้

5. ให้ความสำคัญกับ First Impression และ Details

หลังจากเขียนเสร็จแล้วเราต้องไม่ลืมว่าเรซูเม่นี้จะเป็น First Impression ของเรา ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องดูการสะกดคำ การจัดหน้าให้เรียบร้อย และควรลองนำเรซูเม่ไปให้รุ่นพี่หรืออาจารย์รีวิวดูว่าสิ่งเราเขียนมาเป็นอย่างไร และต้องเขียนอย่างไรจึงจะดีขึ้นกว่าเดิม

Life Lecture

เมื่อ ‘กระดาษ’ เปิดโอกาสให้เรา

หลังจากส่งเรซูเม่สมัครงาน โดยทั่วไปบริษัทอาจเรียกคนสมัครเข้ามาสัมภาษณ์จำนวนหนึ่ง แต่ปลายทางอาจมีเพียงคนเดียวที่ได้เข้าทำงาน ดังนั้น การเตรียมตัวสัมภาษณ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นและมีผลกับโอกาสของเรา

ข่าวร้ายของการสัมภาษณ์งานก็คือ “คุณจะได้งานหรือไม่ได้งาน ตัดสินจาก 60 นาทีในห้องสัมภาษณ์ครั้งเดียว ไม่ใช่จากสิ่งที่คุณตั้งใจเรียนมา 4 ปี เราไม่มีโอกาสในการเริ่มใหม่ ขอเวลานอก หรือต่อเวลา แต่มันคือ 60 นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงที่จะตัดสินว่าเราจะได้งานหรือไม่”

แต่ข่าวดีก็คือ “งานดีๆ ยังมีอยู่เยอะมาก แต่เราต้องการเพียงงานเดียว”

มาโนชแชร์ประสบการณ์ว่า แม้เขาจะถูกปฏิเสธมา 3,000 กว่างานจนรู้สึกท้อไปบ้าง แต่สิ่งที่ต้องบอกตัวเองเสมอก็คือ “เราต้องการแค่งานเดียว ข้อเสนอเดียวแล้วจบกัน การจะโดนปฏิเสธมากี่งานไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย”

เมื่อเราสมัครงานและได้โอกาสในการสัมภาษณ์งานแล้ว มาโนชได้ให้เคล็ดลับสำหรับการสัมภาษณ์ไว้ดังนี้

  • หาคำถามที่น่าจะถูกถามจากกูเกิล หรือจากรุ่นพี่ที่เคยสัมภาษณ์มาก่อน
  • ลองนึกย้อนถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าเคยทำอะไร หรือมีกิจกรรมอะไรที่ตรงกับคำถามเหล่านี้บ้าง
  • ฝึกเล่าเรื่องและตอบคำถามให้บ่อยๆ เริ่มจากเล่าให้รู้เรื่อง แล้วจึงฝึกให้เล่าอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น อย่าให้เหมือนการท่องจำ ลองหัดใช้ภาษากาย เช่น การผายมือ การใช้สายตาควบคู่ไปด้วย
  • เตรียมคำถามเพื่อไปถามกลับด้วย เพราะส่วนใหญ่แล้วการสัมภาษณ์งานมักจะเหลือเวลาไว้ตอนท้ายเพื่อถามว่า ‘มีอะไรอยากรู้เกี่ยวกับบริษัทของเราไหม’ ซึ่งคำถามที่แย่ที่สุดคือการตอบว่า ‘ไม่มีคำถาม’ เพราะมันสื่อว่าเราเป็นคนไม่ได้ใฝ่รู้ 

แม้การสัมภาษณ์งานจะยากกว่าการสอบแอดมิชชัน หรือการสอบที่ผ่านๆ มาในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะมันคือการขายตัวเองและเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น แต่อย่าลืมว่า ‘เราต้องการแค่งานเดียวเท่านั้น’ หากเราพยายาม ให้เวลา ให้ความสำคัญ และเตรียมตัวอย่างดี เราก็จะได้งานนั้นในที่สุด

 

102 วิชาหยั่งรู้
เทคนิคเลือกงานให้เป็นฉบับ GEN ME
โดย อภิชาติ ขันธวิธิ

Life Lecture

หากการเขียนเรซูเม่คือวิชาที่ว่าด้วยการขายสิ่งที่ตัวเองเป็นแล้วนั้น วิชาหยั่งรู้ก็คือวิชาที่จะช่วยเราตัดสินใจว่าเราควรจะขายตัวเองให้กับที่ทำงานแบบไหนกันแน่ หรือที่ทำงานแบบไหนที่เหมาะกับความเป็นเรามากที่สุด ในขั้นตอนนี้คนที่จะมาแนะแนวก็คือ อภิชาติ ขันธวิธิ แอดมินเพจ HR-The Next Gen ผู้มีประสบการณ์เป็น HR ในองค์กรใหญ่หลายองค์กรมากว่า 15 ปี และเป็นนักเขียนเจ้าของหนังสือที่ให้คำแนะนำในการทำงานคือ ทำงานแทบตาย ทำไมไม่โต และ ถ้าไม่รู้คงไม่รอด สุดยอดแนวคิดมนุษย์เงินเดือน ไม่มีใครเหมาะที่จะมาเปิดประตูแห่งโลกการทำงานให้เราได้เท่ากับ HR ตัวจริงอีกแล้ว

 

ประตูบานไหนที่เหมาะกับเรา

การเลือกองค์กรเพื่อเข้าทำงานก็เหมือนการเลือกเปิดประตูสักบาน ก่อนที่เราจะเลือก ต้องดูว่าสิ่งที่อยู่ข้างในเหมาะกับเราหรือเปล่า ถ้าเราไม่เคยหาข้อมูลมาก่อนเลย เราอาจจะเปิดประตูไปเจอสิ่งที่ทำให้เราไม่มีความสุขกับการทำงาน และไม่สามารถอยู่กับประตูบานนั้นได้อย่างยาวนาน อภิชาติจึงพาเราไปพบกับประตู 3 บานที่ทำให้เราได้พบกับเส้นทางการทำงานที่ต่างกัน

ประตูบานที่ 1 : องค์กรขนาดใหญ่

องค์กรใหญ่มักมีคนจำนวนมาก มีความมั่นคงและโอกาสในการเติบโตสูง แต่ด้วยจำนวนคนที่เยอะ เราอาจจะได้ทำงานแค่หน้าที่เดียว และทำในปริมาณที่เยอะ สิ่งที่เราควรก่อนเลือกประตูบานใหญ่คือ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ โดยดูจากนโยบายของบริษัทว่าเขาต้องการพนักงานที่มีทัศนคติแบบไหน เช่น เน้นการทำงานเป็นทีม การพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง รักความท้าทาย เป็นต้น เมื่อรู้แล้วก็ต้องถามตัวเองด้วยว่าหลังถ้าต้องไปทำงานในบรรยากาศแบบนั้นจะอึดอัดไหม ถ้าเริ่มต้นด้วยสูตรนี้ชีวิตการทำงานของเราจะเบาใจไปได้อีกเปราะหนึ่ง

ประตูบานที่ 2 : องค์กรขนาดเล็ก

เป็นองค์กรที่อาจมีชื่อไม่คุ้นหู มักจะให้พนักงานทำงานที่หลากหลาย หรือทำงานควบหลายตำแหน่ง แต่มีข้อได้เปรียบตรงที่ทำให้เราได้เรียนรู้มากกว่าคนอื่นหรือมากกว่าคนที่ทำงานเพียงหน้าที่เดียว เราจะเจอเพื่อนร่วมงานจำนวนไม่เยอะและมีความใกล้ชิดกันสูง

ประตูบานที่ 3 : ฟรีแลนซ์

เป็นทางเลือกที่มี ‘อิสระ’ สูง เป็นนายตัวเอง ไม่มีใครมาสั่ง หรือควบคุมว่าเราต้องทำอะไรตอนไหน แต่สิ่งที่ฟรีแลนซ์ควรจะต้องมีคือ ‘วินัย’ หากเราไม่รู้ว่าควรจะทำงานให้ดีได้อย่างไร เราอาจจะไม่สามารถรักษาคอนเนกชันของลูกค้าเอาไว้ได้ และไม่มีคนจ้าง จำเอาไว้เสมอว่า “ฟรีแลนซ์ไม่ได้แปลว่าอยากทำงานเมื่อไหร่ค่อยทำ” ถ้าอยากคิดแบบนี้ได้คุณอาจจะต้องทำงานพิสูจน์ฝีมือจนมาถึงจุดหนึ่งเสียก่อน

Life Lecture Life Lecture

ถ้ามีปัญหาความสัมพันธ์ในองค์กร ลาออกเลยดีไหม

คำถามนี้คือคำถามยอดฮิตที่อภิชาติพบมาตลอดชีวิตการทำงานเป็น HR และเป็นคำถามที่เกิดขึ้นได้กับวัยทำงานทุกคน ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่ทำงานในองค์กรใหญ่เท่านั้น ไม่ว่าเราจะเลือกประตูบานไหน สิ่งที่เราต้องเจอนอกจากการทำงาน และเป็นสิ่งที่ทำให้เราหงุดหงิดใจในการทำงานได้ไม่น้อยคือเรื่องของความสัมพันธ์ในออฟฟิศนี่แหละ และถึงแม้เราจะเลือกเป็นฟรีแลนซ์เพื่อปลีกวิเวกไปทำงานคนเดียวแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ยังต้องมีความสัมพันธ์กับลูกค้าอยู่ดี

หลายคนเมื่อเจอปัญหาการทำงานถึงกับลังเลว่าจะลาออกเลยดีไหม แต่การลาออกไม่ใช่สิ่งที่จะตัดสินใจอย่างหุนหันได้ อภิชาติจึงแนะนำวิธีง่ายๆ ในการช่วยตัดสินใจว่า “ถ้าวันหนึ่งเราเข้าไปทำงานแล้วคิดจะลาออก ให้ลองกลับมาเปรียบเทียบว่าวันที่ตัดสินใจอยากจะเข้ามาทำงานในบริษัทใดบริษัทหนึ่งเราตัดสินใจมาด้วยเหตุผลอะไร แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสาเหตุที่เราคิดจะลาออกในวันนี้ เพื่อดูว่าทางเลือกไหนคุ้มกว่ากัน”

Life Lecture

Passion หาได้ที่ไหน?

จะหาแพสชันเจอได้อย่างไร เป็นคำถามยอดฮิตที่หลายคนเป็นกังวล และเป็นสิ่งที่มีผลต่อการเลือกงาน หลายคนยังลุกลี้ลุกลนเพราะไม่รู้ว่าอยากทำอะไรกันแน่ อภิชาติได้ให้คำแนะนำไว้ว่า แพสชันต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ 2 อย่าง ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ คือ

  1. ต้องเป็นสิ่งที่เรารัก หรือชอบมันมากๆ
  2. ต้องเป็นสิ่งที่เราทำได้ดี  

ถ้าคุณมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นแปลว่ามันยังไม่ใช่แพสชันที่สามารถใช้ในโลกความเป็นจริงได้

“หากเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราชอบคืออะไร ให้วนมาคิดถึงสิ่งที่เราถนัดแล้วถามตัวเองว่า เรารักสิ่งนี้ได้หรือเปล่า อย่าหลอกตัวเอง และอย่าปฏิเสธตัวเองในสิ่งที่เราถนัด” อภิชาติกล่าว

เมื่อเจอแพสชันแล้ว สิ่งที่จะทำให้เราอยู่กับแพสชันในโลกของความเป็นจริงได้มี 2 องค์ประกอบ คือ

  1. เป็นแพสชันที่มีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย เพราะจะทำให้เรามีกำลังใจที่การทำแพสชันให้เป็นจริง
  2. เป็นแพสชันสามารถทำเงินได้ หรือการที่แพสชันเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดนั่นเอง

อีกวิธีที่จะช่วยให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นคือ SWOT Analysis

  • S : Strengths หรือจุดแข็ง เป็นสิ่งที่เรามี แต่คนอื่นไม่มี
  • W : Weakness หรือจุดอ่อน สิ่งที่เราไม่มี แต่คนอื่นมี ทำให้เรามีคู่แข่ง
  • O : Opportunities หรือโอกาส สิ่งที่อยู่รอบตัวเราที่จะทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายได้มากที่สุด
  • T : Threats หรืออุปสรรค สิ่งที่ไม่ได้เกิดจากตัวเรา แต่ขัดขวางไม่ให้เราไปถึงเป้าหมาย

เมื่อเรารู้จัก SWOT ของตัวเองแล้ว จะทำให้เราเลือกได้ง่ายขึ้นว่าจะเอาจุดแข็งของเราไปใช้กับที่ไหน สามารถเลือกที่ทำงานที่เหมาะสม และสร้างความสุขให้ตัวเองได้ในระยะยาว

 

103 วิชาตัวเบา
เป็น First Jobber แบบไหนเรียกใช้เงินเป็น
โดย ภาณุมาศ ทองธนากุล

Life Lecture

การได้งานไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เรามีชีวิตสุขสบาย เพราะหากมีงานมีเงินแต่ใช้ไม่เป็นชีวิตก็ไม่พ้นความลำบากอยู่ดี วิชาต่อไปจึงเป็นการเผยเคล็ดลับการใช้เงินอย่างไรให้ชีวิตไม่พังโดย ภาณุมาศ ทองธนากุล เจ้าของผลงานหนังสือ การลาออกครั้งสุดท้าย และ เราจะมีชีวิตที่ดี อดีตพนักงานประจําที่ลาออกมาทํางานอิสระและสร้างความมั่นคงด้วยการวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และในครั้งนี้เขาได้เตรียมเกม 1 เกมมาให้พวกเราลองเล่นไปด้วยกัน

 

เกมแห่งชีวิต

ภาณุมาศเปรียบชีวิตเป็นเหมือนกับเกม ทุกคนมีความฝันที่อยากพิชิต แต่ในชีวิตจริงคนเราได้สิ่งต่างๆ มาไม่เท่ากัน เมื่อชีวิตเริ่มต้นขึ้นบางคนได้รับตัวช่วยพิเศษเป็นทรัพย์สินหรือทุนจากที่บ้าน บางคนเริ่มเกมด้วยตัวเปล่า ไม่ได้อะไรเลย และบางคนได้หนี้ก้อนโตหรือสุขภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงติดตัวมา นั่นหมายความว่าทุกคนได้บททดสอบชีวิตที่ต่างกัน และในเกมแห่งชีวิตเกมนี้ ถ้าคุณมัวแต่ลอกคนอื่น อยากประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่น คุณจะไม่มีทางชนะได้เลย

ครั้งหนึ่งเขาเคยอยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวย แต่แล้ววันหนึ่งครอบครัวเริ่มขายบ้านขายรถเพื่อใช้หนี้ ชีวิตของเขาพลิกผัน จากวันเวลาดีๆ ที่เคยได้ไปเที่ยวไปรับประทานอาหารมื้อพิเศษข้างนอก ครอบครัวของเขาต้องเลือกอาหารจากราคาที่ถูกที่สุดโดยที่ไม่ต้องดูชื่อเมนูด้วยซ้ำ เขาเล่าเรื่องเหล่านี้พร้อมกับโชว์รูปถ่าย 1 ใบ ในภาพนั้นมีพ่อแม่ลูกยืนส่งสายตามาที่กล้อง เบื้องหลังเป็นป้านที่เขียนว่า ‘สูงสุดแดนสยาม’ เขาเล่าว่า ในความรู้สึกของเขานั่นไม่ใช่จุดสูงสุด แต่เป็นช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดต่างหาก  Life Lecture

จากประสบการณ์ของภาณุมาศสะท้อนให้เห็นว่า ‘เงิน’ เป็นสิ่งที่สามารถสร้างจุดเปลี่ยนให้ชีวิตได้ และเป็นที่มาของวิชาตัวเบาที่มีหลักการง่ายๆ (แต่อาจจะทำยาก) อยู่ 3 ข้อ

ข้อที่ 1 รู้จัก ‘นิสัย’ ของเงิน

หลายคนไม่เคยรู้ว่าจริงๆ แล้ว ‘เงิน’ ก็มีนิสัยเหมือนกันกับคน ถ้าเราได้รู้นิสัยของเงินก่อน เราก็อาจจะได้เปรียบในเกมชีวิต ถ้าเราอยากมีเงิน และอยากให้เงินอยู่กับเรานานๆ เราต้องรู้ว่าจะปฏิบัติตัวกับเงินอย่างไร

วิธีง่ายๆ ใน ‘การเอาใจเงิน’ และทำให้เงินอยู่กับเรานานๆ คือ

  • พาเงินเข้ามาในกระเป๋าของเราให้มากที่สุด แล้วเอาเงินออกจากกระเป๋าให้น้อยที่สุด มีน้อยใช้น้อย มีมากก็ใช้น้อย
  • เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจะใช้เงินให้ลองมองเงินเป็นเหงื่อ หรือเรี่ยวแรงที่เราเสียไปแทน

“ก่อนจะใช้จ่ายเงินออกไป อยากให้มองว่าเงินเป็นเหงื่อและน้ำตาของเราที่แปรสภาพมาเป็นกระดาษ ในวันที่เราทำงานแล้ว เราใช้เวลากว่า 30 วันกว่าจะได้กระดาษแบงก์พันมา 18 ใบ แต่เวลาใช้จ่ายเราใช้แค่แป๊บเดียวก็หมดเกลี้ยง”

ข้อที่ 2 การลงทุนที่ดีที่สุดคือลงทุนในตัวเอง

เมื่อมีวิธีที่เงินจะไหลออกจากกระเป๋าให้น้อยที่สุดแล้ว ก็มีวิธีเพิ่มเงินในกระเป๋าเช่นกัน จริงอยู่ว่าแรกเริ่มเงินเดือนอาจจะน้อย แต่คุณสามารถลงทุนเพื่อพัฒนาตัวเอง โดยใช้เคล็ดลับการพาเงินเข้าที่มีอยู่ 3 ข้อ คือ First Best และ Different

“อย่าเป็นคนที่ทำอะไรที่ใครๆ ก็ทำได้ แต่จงเป็นคนแรกที่ทำบางสิ่งบางอย่างได้ หรือถ้ามีคนทำแล้ว คุณจงทำให้ดีที่สุดในอุตสาหกรรมที่คุณทำ เพราะมันจะนำมาซึ่งค่าตอบแทนที่ยุติธรรมกับความสามารถของคุณ และถ้าคุณไม่มีทั้งสองอย่างแรก คุณก็ต้องมีความแตกต่าง แล้วโลกจะมีพื้นที่ให้กับคุณ”

ข้อที่ 3 Want now VS Want most

อีกข้อหนึ่งของวิชาตัวเบา คือการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ใช้จ่าย อย่าเอาความต้องการที่เร็วที่สุดมาแซงความต้องการที่สำคัญที่สุดเด็ดขาด เพราะคุณจะเข้าข่ายใช้เงินฟุ่มเฟือยทันที

ภาณุมาศยังบอกอีกว่า การใช้เงินเป็นวินัยอย่างหนึ่งที่มีความฝันเป็นเดิมพัน “บางทีเราพูดว่าเราอยากให้ความฝันเป็นจริง แต่ทราบไหมว่าจริงๆ แล้วความฝันก็รอเราอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเรามีวินัยที่จะทำเพื่อความฝันของตัวเองมากแค่ไหน ถ้าเราบอกตัวเองว่าเราอยากจะเก็บเงินทำบางอย่างที่ใหญ่ๆ แต่เรื่องเล็กๆ ที่เข้ามาในระหว่างทางก่อนถึงเป้าหมายเรายังสู้ไม่ไหว แล้วเราจะไปถึงความฝันได้อย่างไร”

 

เปลี่ยนพลังเงินให้เป็นพลังงาน

เกมชีวิตนี้ไม่ได้แข่งกันว่าใครเก็บเงินได้มากที่สุด ในวันที่ภาณุมาศรู้จักนิสัยการใช้เงินแล้ว เขาโชว์ภาพของครอบครัวอีกครั้ง ในภาพคุณพ่อของเขาอยู่ในวัย 68 ฉากหลังเป็นภูเขาไฟฟูจิในประเทศญี่ปุ่น เขานำเงินที่เก็บได้ใช้หนี้และซื้อเวลาที่มีค่ากลับมาให้ครอบครัว เขากล่าวว่า “เงินมันจะไม่มีความหมายถ้าเราเก็บมันไว้เป็นแค่ตัวเงิน แต่มันจะมีความหมายทันทีเมื่อเปลี่ยนมันให้เป็นภาพแบบนี้”

ในช่วงท้ายของวิชาตัวเบา เขายังให้การบ้านที่มีกำหนดส่งในอีก 20 ปีข้างหน้า โจทย์มีอยู่ว่า “ให้ทุกคนออกข้อสอบหรือออกแบบชัยชนะให้กับชีวิตตัวเอง

เราเกิดมาแค่คนละครั้ง และเกมชีวิตนี้เล่นได้แค่ 1 ครั้ง ถ้าจะเลิกเล่นก่อนหมดเวลาก็เรื่องของคุณ แต่ถ้าคุณมีชีวิตอันมีค่าสั้นๆ นี้ อยากให้มาสร้างความทรงจำดีๆ ในชีวิตด้วยกัน โดยที่ใช้ชีวิตอย่างไม่ไร้เดียงสาแล้ว เพราะวันนี้เราเข้าใจแล้วว่าเงินมีนิสัยอย่างไร”

 

104 วิชาขายฝัน
สูตรลับจับฝันให้ขายได้และกลายเป็นงาน
โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

Life Lecture

มีหลายคนที่รู้ว่าความฝันคืออะไร แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ความฝันเปลี่ยนเป็นงานหรือเงินได้ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เจ้าของหนังสือ เถื่อนเจ็ด เถื่อนแปด และ รายการ เถื่อน Travel 2 ซีซั่น จะมาสอนสมการลับง่ายๆ เพื่อให้เราหาฝันในให้เจอ ขายฝันให้เป็น และรับน้ำหนักของความฝันให้ได้ในโลกความเป็นจริง

 

คนค้นฝัน

วรรณสิงห์เล่าว่า ชีวิตของเราควรอยู่ในจุดกึ่งหลางระหว่าง 3 สิ่งคือ ‘สิ่งที่คุณอยากเป็น’ ‘สิ่งที่โลกอนุญาตให้คุณเป็น’ และ ‘สิ่งที่โลกต้องการ’ โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ในชีวิตของเขาเอง

ในช่วงวัยรุ่นเขามีโอกาสได้ทดลองอะไรที่อยากทำมาหลายอย่าง ทั้งเป็นนักดนตรีในวงร็อก นักกิจกรรมค่ายอาสา ทำงาน NGOs ไปจนถึงการได้เป็นในสิ่งที่โลกให้โอกาสอย่างการเป็นนักแสดง จนวันหนึ่งในวัย 25 ปีที่เขาได้เจอจุดกึ่งกลางระหว่างสิ่งที่เขาอยากทำ

“คำอธิบายจากพ่อเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ขึ้นใจคือ พ่อผมเคยบอกว่า คำว่า ‘เบญจเพส’ หรือวัย 25 ปีที่หลายคนบอกว่าจะต้องเกิดอุบัติเหตุ ต้องเกิดอาเพสในชีวิต พ่อผมบอกว่า นี่คือวัยที่เราจะกลายเป็นคนที่เราจะเป็นไปตลอดชีวิต จะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นให้เราได้ค้นพบว่าตั้งแต่อายุ 25 จนถึงตาย ชีวิตเราจะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน”

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาในตอนนั้นคือมีคนชวนไปทำรายการเดินทางเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยแตะต้องรายการสารคดีมาก่อน แต่โอกาสนี้เกิดขึ้นเพราะว่าก่อนหน้านี้เขาเคยเขียนหนังสือและมีคนรู้จักอยู่บ้าง การได้ทำรายการนี้จึงเป็นส่วนประกอบของสิ่งที่เขารัก สิ่งที่โลกอำนวยให้ทำ และการเอาตัวเองออกไปสู่พื้นที่ที่คนจะมองเห็นและเปิดโอกาสให้เขาได้ทำ และเป็นโอกาสที่ทำให้วันหนึ่งเขามีรายการสารคดีของตัวเอง

Life Lecture

Life Lecture

คนขายฝัน

วรรณสิงห์ทำรายการสารคดีที่ชื่อว่า พื้นที่ชีวิต อยู่สักพักจนรายการเลิกผลิต ทีมงานทุกคนแยกย้าย เขากลับเข้าสู่ช่วงเคว้งคว้างอีกครั้ง จนตัดสินใจใช้เงินเก็บออกเดินทางไปเที่ยวและทำรายการอีกครั้งด้วยตัวคนเดียว

เขานำไอเดียการเดินทางท่องเที่ยวของเขาไปขายเพื่อออกอากาศในทีวี โดยมีจุดขายเป็นเนื้อหาการท่องเที่ยวที่แตกต่าง “หากคุณอยากทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ ไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหนก็ตาม The First, The Best, The Different คือสิ่งที่นายทุนทุกคนตามหาอยู่”

รายการ เถื่อนทราเวล ซีซั่นแรก จึงขาย The Different ซึ่งเขาหาจุดขายของตัวเองได้ 2 ข้อคือ หนึ่ง เป็นรายการถ่ายคนเดียว และสอง ไปสถานที่ที่คนเขาไม่อยากไปกัน เมื่อจุดขายนี้ทั้งเด่นและแตกต่าง ทำให้มีช่องที่มองเห็นว่าไม่มีรายการไหนที่ทำแบบนี้มาก่อน จึงทำให้เขาขายรายการได้ในที่สุด

นอกจากการรู้จักและเข้าในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่แล้ว การ ‘รู้จักเทคโนโลยี’ ก็สามารถทำให้เขาคุณลดต้นทุน และสามารถลงมือทำฝันด้วยตัวคนเดียวได้

“การทำอาชีพแบบนี้มันไม่ใช่ว่าคุณเรียนจากมหาวิทยาลัยมาแล้วก็จบ มันมีองค์ความรู้ใหม่เข้ามาตลอดเวลา การเรียนรู้ตลอดชีวิตคือสิ่งที่คุณต้องทำ ถ้าคุณอยากแข่งขันต่อ ผมเองก็รู้ตัวว่าวันหนึ่งสิ่งที่ผมทำอยู่อาจจะมีคนทำได้เหมือนกัน วันหนึ่งผมก็ต้องหาสิ่งใหม่ทำไปเรื่อยๆ”

Life Lecture Life Lecture

คนแบกฝัน

“นอกจากหาฝันเจอ ขายฝันได้แล้ว ก็ต้องรู้ด้วยว่าความฝันที่เราทำ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เรารัก แต่มันก็ไม่ได้แฮปปี้ตลอดทุกวินาที เราจึงต้องรู้จักน้ำหนักความฝัน เพราะมันคือสิ่งที่เราต้องแบกไปทุกที่” สิงห์กล่าวพร้อมกับหยิบอุปกรณ์ออกจากเป้ที่ใช้ในการถ่ายทำรายการ กล้องและอุปกรณ์ถ่ายทำมากมายที่บรรจุอยู่นั้นชั่งน้ำหนักได้ 15.2 กิโลกรัม

“มีบางเวลาที่ผมอยากจะเขวี้ยงเป้ทิ้งแล้วกลับบ้านให้มันรู้แล้วรู้รอด แต่เมื่อคุณมีความฝันคุณก็ต้องพร้อมที่จะรับน้ำหนักของมันด้วย”

การทำตามฝันได้ไม่ใช่ชีวิตที่มีความสุขตลอดเวลา กลับกันคุณจะต้องรู้ให้ชัดเจนว่ามีอะไรที่เราต้องแลกมาบ้างเพื่อให้ฝันนั้นสำเร็จ  

 

105 วิชาเอาตัวรอด
ฟรีแลนซ์ ชีวิตฟรีๆ ไม่มีอยู่จริง
โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

Life Lecture

หลายคนไม่ชอบการทำงานประจำ และคาดหวังว่าฟรีแลนซ์จะให้ชีวิตที่ดีกว่า แต่จริงๆ อาชีพฟรีแลนซ์มีแต่อิสระอย่างที่เขาพูดกันหรือเปล่า แล้วชีวิตฟรีแลนซ์ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ ผู้กํากับภาพยนตร์ นักเขียน และนักเขียนบท ผู้มีประสบการณ์ทำงานอิสระมาหลายบทบาท จะมาเป็นผู้ตอบคำถามเหล่านี้

แต่ก่อนจะไปฟังเขาเล่าเบื้องหลังชีวิตการทำงาน เราอยากให้ทุกคนได้ชมผลงานใหม่ที่เขาเพิ่งร่วมงานกับ TOYOTA ด้วยกันก่อน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการฟัง

KID ให้สุด

สองสาวเรเชลและอลิซาเบธบนรถโตโยต้าที่อยู่ในสถานการณ์ (จินตนาการ) แปลกๆ ทั้งเปลี่ยนพวงมาลัยเป็นจอยเกม การที่รถมีระบบไฟฟ้าป้องกันเด็กเช็ดกระจก หรือรถที่น้ำหนักเบาจนใช้สะโพกดันให้จอดในซองได้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการ ‘คิดต่าง’ ในแบบของนวพล ความต่างของเขากลายเป็นทั้งลายเซ็นติดตัวให้ใครต่อใครจดจำว่า นี่แหละ ‘โคตรเต๋อเลย’

นวพลเล่าว่า หากอยากจะเป็นตัวเองให้สุดทาง

1. เชื่อในความต่าง

“เราต้องเชื่อว่าสิ่งที่เราคิดมันเวิร์ก โดยที่บางครั้งสิ่งที่เราคิดอาจจะไม่ตรงตามคนอื่นๆ หรือตรงกับที่กระแสหลักต้องการ  งานของผมมันก็เริ่มมาจากสายอินดี้อยู่แล้ว ในยุคแรกๆ เคยโดนท้าทายจากกระแสหลักมาก่อนว่าไอเดียแบบนี้ไม่เวิร์ก แต่สิ่งที่เราคิดว่าต้องไปให้สุดทาง ถึงมันจะไม่ใช่ไอเดียที่เป็นกระแสหลัก แต่ถ้าเราดันมันให้สุด เราเชื่อว่าสักวันมันจะเวิร์ก”

2. ฝึกฝน

“ในวันที่ผมเริ่มต้นครั้งแรกมันก็ยังไม่เวิร์ก มันต้องค่อยๆ พัฒนา ค่อยๆ พิสูจน์ตัวเองไปเรื่อยๆ การแตกต่างที่ดีคือแตกต่างแล้วมันมีคุณภาพด้วย ซึ่งมันต้องใช้เวลาในการฝึกฝนที่จะเป็นตัวของตัวเอง ต้องใช้ความเชื่อมั่นว่ามันจะเกิดขึ้น เพราะมันจะไม่เกิดขึ้นใน 1 ปีแรกหรือ 5 ปีแรกหรอก”

3. อดทน

“หลายคนที่อ่านบทสัมภาษณ์ผมในสื่ออาจจะคิดว่าผมประสบความสำเร็จได้ใน 1 – 2 ปี แต่จริงๆ คือมันสิบกว่าปีแล้ว เพียงแต่ผมไม่รู้สึกว่ามันนาน เพราะผมชอบ เวลาเราชอบอะไรเราไม่มานั่งนับว่านี่มันผ่านมากี่ปีแล้ว ไม่ได้ไปคิดว่าในอนาคตเราจะต้องได้อะไร ถ้าคุณชอบคุณก็ทำไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งถ้าโอกาสมาถึง คุณก็จะได้ทำมันในที่สุด”

Life Lecture

ชีวิตฟรีๆ ไม่มีอยู่จริง

ชีวิตอิสระแบบฟรีแลนซ์แลกมาด้วยความรับผิดชอบ และการจัดการงานของตัวเองให้ดีเพื่อสร้างงานที่มีคุณภาพและสร้างความน่าเชื่อถือต่อลูกค้า กฎของการเป็นฟรีแลนซ์ในแบบของนวพลคือ

  1. ทำให้ดีที่สุด
  1. แฟร์กับคนที่จ้าง

“ผมทำงานทีละงานด้วยความรู้สึกว่าอยากให้คนที่จ้างเราได้จากเราไปเต็มร้อยจริงๆ ในทุกงานถ้าเราให้เวลา เราจะพัฒนามันต่อได้เต็มที่ หลายคนอาจจะถามว่า ทำทีละอันจะไม่มีงานหรือเปล่า แต่ผมทำแบบนี้มาหลายปีมากแล้ว และถ้าเกิดเราทำงานที่ทำอยู่ให้ดี งานต่อไปมันจะมารอด้วยซ้ำ”

ภาพของฟรีแลนซ์ที่คนนอกมองคือ เป็นอาชีพที่มีอิสระ แต่นวพลกลับพบว่าระบบในการทำงานกลับเป็นเรื่องสำคัญมาก

“ต่อให้เป็นคนทำงานอิสระก็ต้องมีระบบ ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ มันอาจจะยากกว่าคนทำงานประจำด้วยซ้ำ เพราะทุกวันเป็นวันทำงาน ไม่มีหยุดเสาร์-อาทิตย์ ปีแรกที่ผมทำฟรีแลนซ์ผมรู้สึกดีมากที่ไม่ต้องตื่นเช้าไปเข้าออฟฟิศ แต่พอผ่านไปสักปีสองปีผมก็เริ่มคิดว่าชีวิตคืออะไรกันนะ เราจะทำแบบนี้ไปจนถึงไหน บางช่วงก็มีที่งานตีกันจนมั่ว เราเลยรู้สึกว่ายิ่งมันเป็นงานอิสระยิ่งต้องจัดระเบียบและประเมินให้ได้ว่าแต่ละงานต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ถ้าคุณจัดการไม่ได้ อาชีพฟรีแลนซ์อาจจะจบลงในปีสองปี”

Life Lecture

ติวจนครบ 5 วิชาแล้วหลายคนคงคิดว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายจริงๆ ด้วย เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่ทั้ง 5 คนที่มาให้คำแนะนำเราในวันนี้ก็ยืนยันด้วยตัวเองชีวิตในช่วงวัยนั้นโหดและหินมากแค่ไหน ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ TOYOTA จัดงาน ‘Life Lecture : คลาสแนะแนวครั้งสุดท้ายก่อนออกไปใช้ชีวิตจริง’ ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนทุกความฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ กล้าเรียนรู้ กล้าสัมผัสสิ่งใหม่ๆ และพร้อมที่จะกล้าออกไปใช้ชีวิตจริงด้วยกัน 

ใครที่หาคำตอบให้อนาคตของตัวเองได้แล้วก็ลุยไปตามขั้นตอนจากบทเรียนได้เลย ส่วนใครที่ยังลังเล ไม่แน่ใจ ก็สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วย้อนกลับไปอ่านเคล็ดลับที่วิทยากรทั้งห้าบอกไว้ เพื่อประกอบการตัดสินใจกันอีกสักรอบ และอย่าลืมว่าอนาคตหรือทางเลือกแบบไหนจะรออยู่ก็ตาม ถ้าเราเตรียมพร้อม มีวิชาชีวิตติดตัว ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้ ขอให้เก็ต A ในโลกแห่งความจริงกันทุกคนนะ

ติดตามวิดีโอบันทึกภาพย้อนหลังได้ที่นี่ เร็วๆ นี้

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน