ถ้าคุณกำลังเรียนอยู่หรือเรียนจบแล้วแต่ไม่รู้จะเลือกเส้นทางไหน เราอยากบอกให้รู้ว่าคุณไม่ได้หลงทางอยู่คนเดียว เพราะยังมีนักศึกษาและเด็กจบใหม่อีกหลายคนที่กำลังสับสนอยู่เช่นกัน

The Cloud, TK Park และแบรนด์ซุปไก่สกัด จึงอยากชวนนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนออกเดินทางไปเรียนรู้ชีวิตจริง พบกับ ‘Life Lecture: Survival Skills คลาสแนะแนวออนไลน์ที่เด็กจบใหม่ยุคนี้รู้แล้วรอด’ ในปีนี้เรากลับมาพร้อมกับ Survival Skills ทั้ง 6 ทักษะ จาก 6 วิทยากรที่จะช่วยให้การเดินทางครั้งนี้เป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเรียนจบคณะไหน สาขาอะไร ก็สามารถเรียนรู้และนำทักษะเหล่านี้ไปใช้ได้ทุกคน 

สำหรับคนที่จดเลกเชอร์ไม่ทันไม่เป็นไร เรานำคลาสออนไลน์กลับมาให้ดูกันอีกครั้ง พร้อมกับสรุปประเด็นสำคัญที่อัดแน่นในทุกคลาส ดาวน์โหลดสไลด์ก่อนเข้าคลาสได้ที่นี่

ถ้าพร้อมแล้วไปเข้าคลาสด้วยกันเลย!

คลาสที่ 1

ค้นหาต้นทุนในตัวเอง

โดย หมอเอิ้น-พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์และนักแต่งเพลง

ก่อนที่จะเลือกเส้นทางในชีวิต เราอยากชวนนักศึกษาและเด็กจบใหม่กลับมาเริ่มต้นที่การค้นหาตัวเองก่อน เพราะการรู้จักตัวเอง คือพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เราค้นพบกับความสุขที่ยั่งยืนในชีวิต

จากประสบการณ์การทำงานเป็นนักแต่งเพลงและจิตแพทย์ หมอเอิ้นพบกว่าคนเราควรเรียนรู้และรู้จักตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ ยิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะการที่เรามีความรู้เกี่ยวกับตัวเอง จะทำให้เราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่พัฒนาตัวเองได้ถูกทาง และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่ตั้งไว้

ช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเป็นช่วงที่เรามีพลังเยอะ ทั้งพลังกาย พลังใจ และพลังความคิด ในช่วงวัยนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดจะเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้โลก และเรียนรู้ที่จะใช้ศักยภาพตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเครื่องมือที่หมอเอิ้นอยากจะแนะนำให้รู้จักคือ Self-Awareness และ Self-Concept

ใช้ Self-Awareness เพื่อตรวจสอบอารมณ์และความรู้สึก

Self-Awareness คือการตระหนักรู้ความจริงในตัวเอง โดยปกติแล้วเรามักจะใช้ดวงตาภายนอกเพื่อมองเห็นคนอื่น แต่ Self-Awareness เปรียบเสมือนดวงตาภายในที่ทำให้เรามองเห็นเบื้องลึกในจิตใจของตัวเอง เป็นประตูบานแรกที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ทำให้เราเห็น อารมณ์ ความคิด ความต้องการ ความรู้สึกของเรา โดยที่เราไม่ได้ตัดสินว่าผิดหรือถูก ทำให้เราเห็นความจริงของตัวเองมากขึ้นว่าเรารู้สึกอย่างไร เราคิดอย่างไร เจอเหตุการณ์นี้แล้วเป็นอย่างไร

แบบฝึกหัด Self-Awareness 

ถ้าอยากฝึกตัวเองให้มี Self Awareness ต้องลองฝึก 3 ขั้นตอนนี้อย่างสม่ำเสมอ

  1. Open Mindset เปิดใจและเปิดดวงตาภายในเพื่อให้มองเห็นความคิดและความรู้สึกของตัวเอง
  2. Daily Check-in มีเช็กลิสต์ประจำวันของตัวเอง ลองถามตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่เราทำได้ดี และหาคำตอบมาสัก 3 ข้อ อะไรที่ทำได้ไม่ดีหรืออยากจะปรับปรุงตัว 1 ข้อ สังเกตตัวเองว่าอารมณ์ของเรามีความขัดแย้งกับความคิดอย่างไรบ้าง ใช้ช่วงเวลาก่อนเข้านอนทุกวันเป็นช่วงเวลาในการทบทวนตัวเอง 
  3. Dinner of truth เรียนรู้ตัวเองผ่านการสะท้อนของคนอื่น ข้อนี้ควรทำเมื่อจิตใจของเราพร้อม ทำกับคนที่เราไว้วางใจและปรารถนาดีกับเราเท่านั้น ควรเลือกคนที่มีทักษะในการสื่อสารที่ดีพอที่จะไม่ทำให้เราเจ็บปวด อาจใช้เวลาในระหว่างทานอาหารเพื่อพูดคุยกัน แล้วให้อีกฝ่ายสะท้อนว่าเราเป็นคนอย่างไร มีอะไรที่เขาอยากให้เราปรับปรุง หรือเป็นห่วงในตัวเราไหม ตัวเราเองก็ต้องเปิดใจรับฟังด้วย 

ตัวเราคนเดิม เพิ่มเติมคือหลายตัวตน 

เมื่อพยายามตั้งคำถามกับตัวเอง เราจะพบว่าตัวตนของเรามีความขัดแย้งกันอยู่ บางครั้งเราก็เป็นคนใจเย็น บางครั้งเป็นคนใจร้อน ตกลงตัวเราเป็นแบบไหน และเราเป็นใครกันแน่ นี่คือคำถามที่หลายคนพบหลังจากพยายามเรียนรู้ตัวเอง หมอเอิ้นบอกว่านี่คือเหตุการณ์ปกติ เพราะจริงๆ แล้วตัวเราเป็นได้ทั้งหมด ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด เพราะตัวตนของเราจริงๆ มีหลายมิติ

ตัวตนของเราประกอบด้วย

  1. Real Self ตัวตนจริงๆ ที่เราเป็น เช่น เราเกิดที่ไหน พ่อแม่เป็นใคร อยู่จังหวัดอะไร ทั้งหมดมีผลต่อตัวตนและประสบการณ์ของเราทั้งนั้น
  2. Ideal Self ตัวตนที่เราวาดฝันไว้ว่าเราอยากจะเป็น ถ้าเราใช้ในทางที่ดีก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดีได้ แต่ถ้าเราใช้ในทางไม่ดี ก็ทำให้เรารู้สึกเปรียบเทียบตัวเองกับชีวิตคนอื่นได้
  3. Self Image ภาพที่เราอยากให้คนอื่นเขามองเรา และอยากให้คนอื่นจดจำ ซึ่งถ้าตัวตนนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ก็อาจจะทำให้เรามีปัญหาหรือสร้างความกดดันให้กับตัวเองได้ 
  4. Self-Concept การตอบตัวเองให้ได้ว่า ‘ฉันคือใคร’ เราอยากจะมองตัวเองว่าเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่เราเลือกได้ว่าเราจะรับรู้หรือะมองตัวเองแบบไหน
  5. Hidden Self ตัวตนที่เราทำลงไปโดยไม่รู้ตัว ทำโดยที่ไม่ตั้งใจ และทำลงไปโดยที่เรามองไม่เห็นตัวเอง เป็นตัวเราที่เราไม่ค่อยรู้จัก และมักจะเป็นการกระทำจากจิตใต้สำนึก

ใช้ Self-Concept ช่วยนำทาง

เมื่อใช้ Self Awareness ในการมองตัวเองแล้ว เรามาใช้ Self-Concept ในการนำทางให้กับตัวเองได้ เพราะเราเลือกแล้วว่าเราอยากมองตัวเองว่าเป็นคนแบบไหน เราสามารถต่อยอดจากสิ่งที่เรารับรู้ไปสู่สิ่งที่เราไม่รู้

Self-Concept คือการตอบคำถามว่า ‘ฉันคือใคร’ ซึ่งคำถามนี้เองที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองว่าในชีวิตนี้ที่เรารับรู้เราให้คุณค่ากับอะไรบ้าง เพราะการรู้จักตัวเองส่งผลกับบุคลิกภาพ ศักยภาพ และ Mindset ที่เรามีต่อตัวเอง 

  • หากเราเป็นคนที่ให้คุณค่ากับการท้าทาย การแข่งขัน ความเสี่ยง คนที่มีบุคลิกแบบนี้จะมีความกล้าได้กล้าเสีย อาจจะเหมาะกับองค์กรที่ต้องแข่งขันสูง เนื้องานมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว สนุกกับการได้ท้าทายกับงานใหม่ๆ 
  • คนที่ชอบความสนุกสนาน รักอิสระ ชอบคิด ไม่ชอบอยู่นิ่ง อาจจะเหมาะกับงานศิลปะ ครีเอทีฟ งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์
  • คนให้คุณค่ากับการช่วยเหลือผู้คน อาจจะเหมาะกับงานบริการ งานที่ได้ดูแลผู้อื่น  

ฉะนั้นการเข้าใจบุคลิกภาพของตัวเองจึงสอดคล้องกับการเลือกงานด้วยเช่นกัน หากเราเลือกงานที่เหมาะกับตัวเอง ขณะที่ทำงานเราจะไม่รู้สึกฝืนตัวเองจนเกินไป ทำให้ได้ใช้ศักยภาพของตัวเอง และพัฒนาตัวเองได้ดีมากขึ้น เพราะเมื่อเราใช้ Self-Awareness เพื่อมองให้เห็น Self Concept ของตัวเองแล้ว ขั้นต่อไปคือเอาไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางให้กับสิ่งที่เราอยากจะทำและอยากจะเป็น

ดังนั้นทุกคนสามารถเริ่มต้นทบทวนตัวเองว่าเราให้คุณค่ากับอะไรบ้างในชีวิต เราถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร มีอะไรบ้างที่เราทำแล้วคนรอบข้างรู้สึกชื่นชม มีอะไรบ้างที่ทำแล้วได้รับคำเตือนเสมอ และมุมมองที่เรามีต่อตัวเองในวันนี้เป็นอย่างไร ถ้ามุมมองที่เรามีต่อตัวเองในตอนนี้ทำให้เรารู้สึกแย่ เราจะช่วยให้ตัวเองมีมุมมองใหม่ได้อย่างไรบ้าง

 คลาสที่ 2

เรียนรู้อย่างไร ในวันที่ไม่มีห้องเรียน

โดย เสาวนีย์ สังขาระ นักเดินทางและผู้ผลิตรายการสารคดี ‘บินสิ’

เนาว์-เสาวนีย์ สังขาระ คือนักทำสารคดีเดินทางไปเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนทางเลือก เดินทางมาแล้วกว่า 40 โรงเรียนทั่วโลก และเป็นผู้ก่อตั้งสวนศิลป์บินสิ Farm School ทั้ง 2 งานที่ทำอยู่ในขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ เป็น Life-Long Learning ที่เธอจะมาแชร์ประสบการณ์ชีวิต 7 บทเรียนสำคัญที่ได้ค้นพบจากการเรียนรู้นอกสถาบันการศึกษา และเป็นบทเรียนชีวิตที่ทำให้ค้นพบคุณค่าในตัวเอง

บทที่ 1 เคารพเกรดของตัวเอง

ระบบการศึกษาไทย กว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กต้องสอบหลายครั้ง ต้องเรียนพิเศษเพื่อให้สอบได้ แต่เมื่อได้เข้าไปเรียนแล้วเด็กกลับไม่ได้ค้นพบอะไรมากขึ้น

ครั้งหนึ่งตอนเรียนมหาวิทยาลัย เธอเคยเจอข้อสอบรั่ว รุ่นพี่มาบอกเราว่าวิชานี้ทุกคนต้องได้ A เพราะข้อสอบคือการท่องสารบัญหนังสือไปสอบ เธอคิดว่าข้อสอบแบบนี้ไม่มีอยู่จริงเพราะดูถูกความสามารถคนเรียนมากเกินไป จึงตอบสารบัญชีวิตของตัวเองลงไปในข้อสอบแทน และทำให้ได้ C ในวิชานั้น เธอคิดว่าการเรียนรู้แบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เธอไม่อยากท่องสารบัญไปสอบ และ A ตัวนั้นจะไม่มีความหมายเลยถ้าเราไม่เคารพเกรดของตัวเอง

แล้วในโลกนี้มีโรงเรียนแบบไหนบ้างไหนที่นักเรียนเขียนสารบัญของตัวเองได้

เธอค้นพบการเขียน ‘สารบัญชีวิต’ ที่ Road Scholar School ที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่นี่เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา เด็กๆ เขาจะเดินทางทั้งปี เลือกหนังสือที่ตัวเองชอบมาอ่านด้วยกัน แล้วออกเดินทางกับหนังสือเล่มนั้น หนังสือเล่มที่เขาเลือกในปีนั้นพูดเรื่องความหมายของชายแดนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เขาจึงนั่งรถไฟเดินทางจากเกาหลีใต้ไปยุโรป แล้วทั้งเทอมเขาก็เขียนสารบัญหนังสือของเขาเอง

ทำให้เธอเห็นว่าการท่องจำไปสอบกับการที่ให้เด็กได้เขียนสารบัญหนังสือของเขาเองมันแตกต่างกันยังไง ถ้าเราเขียนสารบัญแล้วเราได้ A เราคงไม่เคารพเกรดตัวเอง ไม่ภูมิใจในตัวเอง อย่าไปท่องจำเพราะทุกคนมีบทเรียนในชีวิตของตัวเอง 

บทที่ 2 เอาจินตนาการคืนมา

ในห้องเรียนศิลปะตอนประถม เธอวาดภาพใบไม้สีม่วงซึ่งเธอภูมิใจกับมันมาก แต่ครูบอกว่า “ใบไม้สีม่วงไม่มีจริง วาดแบบนี้จะไม่ได้รางวัล” เหตุการณ์นั้นทำให้เธอหมดความมั่นใจในตัวเอง คำพูดของครูคนนั้นทำให้เด็กคนนั้นเลิกทำในสิ่งที่เขาชอบมากและหันไปทำอย่างอื่นไปเรื่อยๆ  นี่คือประสบการณ์ที่ทุกคนล้วนเคยเจอจากระบบการศึกษา

ปี 2019 เธอได้มีโอกาสไปถ่ายรายการที่เกาหลีใต้ ได้เจอ อีชางดง (Lee Chang-dong) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Burning และได้สัมภาษ์เขา จึงพบว่าเขาก็มีใบไม้สีม่วงในเวอร์ชันของตัวเองเหมือนกัน เขาเล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆ จนมาก จนต้องยืมสีเหลือๆ ของเพื่อนซึ่งเหลือแค่สีม่วง สีเทา แล้วเขาใช้สีม่วงหรือสีเทาวาดภาพใบไม้ ป่าไม้ ครูบอกว่าเขามีความคิดสร้างสรรค์มาก แล้วเขาก็ได้รางวัลเพราะภาพนั้น อีชางดงเติบโตมาเป็นผู้กำกับชื่อดังเพราะเขาทำในสิ่งที่เขาชอบและเชื่อมาโดยตลอด จนได้เป็นผู้กำกับที่เข้าชิงรางวัลออสการ์

เรื่องของอีชางดงทำให้เธอกลับมามองตัวเองว่า ถ้าวันนั้นใบไม้สีม่วงมีจริงและได้เข้าไปประกวดเธอคงมีโอกาสมากกว่านี้ ถ้าครูเชื่อในเรื่องจินตนาการ เด็กคนนั้นอาจจะเติบโตมาเป็นเหมือนผู้กำกับอีชางดงก็ได้ เธอจึงอยากให้ทุกคนไปเอาจินตนาการของตัวเองคืนมาจากการศึกษา คืนความเชื่อ ความศรัทธาในการเรียนรู้ให้ตัวเอง และลองกลับไปค้นหา ‘ใบไม้สีม่วง’ ของตัวเองดูอีกครั้ง

บทที่ 3 ตั้งคำถามกับการศึกษา

ถ้าเราเรียนจบแล้วไม่รู้ว่าตัวเองต้องการทำอะไร แสดงว่าการศึกษากำลังพาเราไปผิดทาง ตั้งแต่มัธยมเราต้องเลือกสายการเรียน ซึ่งในตอนนั้นเราเห็นโลกมาน้อยมาก ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร แต่การศึกษาที่ต้องเลือกแบบนี้มันเป็นการตีกรอบชีวิตว่าเราเป็นอะไรได้บ้าง

ตอนนั้นครูแนะแนวบอกว่า “ให้ลองจินตนาการดูว่าอยากเป็นหิงห้อยกลางป่าหรืออยากเป็นนีออนในเมืองใหญ่” หมายความว่า เราอยากใช้ชีวิตแบบไหน เราอยากมีคุณค่าแบบไหน

เธอมองหาระบบการศึกษาหรือโรงเรียนที่ทำให้เด็กเขาได้รู้จักตัวเองตั้งแต่มัธยม ไม่ต้องรอจนจบมหาวิทยาลัย เพราะช่วงเวลาตั้งแต่มัธยมถึงมหาวิทยาลัยมันกว้างมาก เขาควรจะมีโอกาสได้รู้จักตัวเองเร็วกว่านี้

เธอค้นพบ Haja Center ที่เกาหลีใต้ โรงเรียนสำหรับเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา ไม่แข่งขันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย คำว่า Haja แปลว่า Let’s go หรือมาด้วยกัน ทำอะไรด้วยกัน เป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทดลอง เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่จบชั้นมัธยมแล้ว มีพื้นที่ที่เป็นเหมือนโรงงานที่ได้ทดลองทำในสิ่งที่เขาอยากจะเป็น ถ้าอยากทำหนังก็เอากล้องมาทำเลย อยากทำกาแฟก็เปิดร้านในโรงเรียนเลย เด็กที่จบที่นี่เป็นผู้ประกอบการหลายคน เขาค้นพบตัวเองได้ทั้งๆ ที่เป็นเด็กที่ออกจากระบบการศึกษา

ทำให้เรากลับไปตั้งคำถามว่าการศึกษาที่เราเรียนมามันตีกรอบชีวิตเรามาก จนทำให้เราไม่รู้ว่าเราให้คุณค่าในชีวิตแบบไหน และกลับมาตั้งคำถามว่าเราเรียนไปทำไม

บทที่ 4 ออกไปใช้ชีวิต เพื่อขีดฆ่า Gap Year

หลังจากเรียนจบเธอขอเวลาแม่ 1 ปี เป็นช่วง Gap Year เพื่ออกไปเรียนรู้ชีวิต ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ อยากเป็น Farm Girl มากก็ไปอยู่ฟาร์มวัว ได้ลองแล้วก็ขีดฆ่ามันไป ต่อมาอยากเปิดร้านดอกไม้ก็ไปเป็นลูกจ้างร้านดอกไม้ แต่งานที่ได้ทำทุกวันมีแต่พวงหรีด จึงขีดฆ่าทิ้งไปอีกอย่าง ผ่านไป 1 ปี Gap Year ที่อยากทำทั้ง 10 อย่างจึงถูกขีดฆ่าทั้งหมด ไม่เหลืออะไรที่เราอยากจะเป็นเลย

หลังจากนั้นมีโอกาสได้ไปเรียนที่ Gift Film School ที่แคนาดา เพราะสอบชิงทุนได้ ที่นี่มีคอร์สเรียนทำหนังสั้นๆ 6 วัน และจับเวลาตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเข้าไป เธอได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำที่นี่ ได้เรียนใช้กล้องราคาเป็นแสน มีผู้กำกับดังๆ มาสอน มีสอนทำซาวนด์ ทำเพลง ให้ทุกคนได้ทำหนังจริงๆ ใน 6 วัน สุดท้ายให้เดินพรมแดงแล้วฉายหนังของตัวเอง

การเรียนที่นี่ทำให้เธอได้สัมผัสว่า ‘ใช่’ เป็นอย่างไร เราต้องใช้เวลาไปค้นหาค้นหาตัวเองอีกเยอะ  Gap Year เวลา 1 ปีที่มีมันอาจจะยังไม่ได้คำตอบ เราต้องออกไปใช้ชีวิตจริงๆ

บทที่ 5 Far Away Home ออกไปไกลบ้าน

เธอคิดว่าการเรียนรู้จริงๆ ต้องออกไปไกลบ้าน ต่างที่ ต่างภาษา เพื่อขยายขอบเขตการเรียนรู้ของตัวเอง เพราะเธอเชื่อว่ายิ่งออกไปพื้นที่ที่ไกลความคุ้นเคย ตัวตนของเราจะยิ่งใหญ่ขึ้น

เธอจึงไป Upattinas School ที่อเมริกา โรงเรียนทางเลือกที่สอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และทำจริงในสิ่งที่สนใจ ที่นี่พร้อมที่จะโยนหลักสูตรที่ออกแบบไว้ทิ้งเสมอ หลักสูตรจะดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าผู้เรียนรู้กับครูไม่ได้ออกแบบด้วยกันก็ไม่นับว่าเป็นหลักสูตรที่ดี และทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วครูและเด็กเรียนรู้ไปพร้อมกันได้

เมื่อได้เจอการเรียนรู้แบบนี้ที่ Upattinas School เธอจึงกลับบ้านไปเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนชายแดน เปิดโรงเรียนสำหรับเด็กชายขอบชื่อห้วยหิ่งห้อย เพราะเราอยากเอาความรู้ที่เรียนมามาสอนในโรงเรียนนี้ วิชาแรกที่เธอสอนคือวิชาจินตนาการ แต่เด็กกลับถามเธอว่า “ถ้าไม่มีกินจะจินตนาการได้อย่างไร” ตอนเธอเหมือนตัวตนแตกสลาย เพราะไม่มีคำตอบให้เด็ก และไม่เคยอยู่ในสถานการณ์นั้น ทำให้เธอต้องออกเดินทางอีกครั้งเพื่อหาคำตอบนี้

เธอเดินทางไปอินเดีย และได้พบกับ Barefoot Collage หรือวิทยาลัยเท้าเปล่า เขาสอนคุณย่าคุณยายที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้เป็นสถาปนิก เป็นวิศวกรซ่อมโซลาร์เซลล์ในหมู่บ้าน เป็นหมอฟัน เป็นนักเล่นละครหุ่น และได้ไปเจอวิทยาลัยกลางคืนเป็นอีกงานหนึ่งของวิทยาลัยเท้าเปล่า ที่อินเดียเด็กยากจนจะไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงานในไร่นา แทนที่จะพยายามเอาเด็กออกจากวิถีชีวิตนั้นมาเรียนหนังสือ แต่เขาทำโรงเรียนกลางคืนขึ้นมาเพื่อให้กลางวันเด็กได้ทำงานช่วยพ่อแม่ ที่โรงเรียนนี้สอนสนุกมาก หลังจากเด็กๆ ทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน เขาได้เรียนรู้เรื่องที่เขาได้ใช้จริงๆ เช่น เรื่องการเงินที่เขาเอาไปช่วยพ่อแม่คิดเงินในการขายสินค้ากับพ่อค้าคนกลางได้ มันตอบคำถามของเด็กที่ห้วยหิ่งห้อยในวันนั้นได้ว่า “ถ้าไม่มีกินจะจินตนาการได้อย่างไร”

บทที่ 6 ฟังเสียงจักรวาล

หลังจากออกไปใช้ชีวิต ออกไปไกลบ้าน เธอมีความเชื่อว่าชีวิตคนเรากำหนดได้ครึ่งหนึ่ง ที่เหลือขึ้นอยู่กับจักรวาล หลังจากวันที่เธอกลับมาจากอินเดียเธอพร้อมที่จะเดินทางรอบโลก จึงกลับมาวางแผนทีบ้านอยู่ 6 เดือน และทำให้เรารู้ว่าพ่อเป็นมะเร็งโดยที่ไม่คาดคิดมาก่อน

เธอล้มแผนการเดินทางและกลับมาบ้าน เพราะไม่รู้จะเดินทางไปทำไมถ้ากลับมาบ้านแล้วไม่มีคนที่เราอยากเล่าให้ฟัง สิ่งสำคัญในตอนนั้นคือต้องกลับบ้านมาดูแลพ่อ และกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าต้นทุนชีวิตเรามีอะไรบ้าง เธอคำนวณศักยภาพของตัวเองแล้วก็กลับบ้าน ชวนพ่อมาสร้างชีวิตใหม่ มาใช้ชีวิตอยู่ใกล้ธรรมชาติ ซื้อที่ที่ลำพูนและปักหลักทำสวนศิลป์บินสิ Farm School เป็นโรงเรียนที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้คนเดินทางเข้ามาหาและเรียนรู้ร่วมกัน

สิ่งที่เราไม่เคยจินตนาการคือพ่อเราหายจากโรคมะเร็ง ตอนนั้นเธอเตรียมพร้อมจะออกเดินทางเพื่อทำสารคดีอีกครั้ง วางแผนไว้ว่าต้นปีนี้เราจะเริ่มเดินทาง แต่ COVID-19 มาทำให้เดินทางไม่ได้ จึงพับแผนการเดินทางรอบโลกเอาไว้อีกครั้ง

“จักรวาลอาจจะกำลังบอกเราว่าต่อให้เราเตรียมพร้อมขนาดไหน แต่บางทีโลกยังไม่อนุญาตให้เราเดินทาง เราต้องเรียนรู้มากกว่านั้น เราจะฟังแต่เสียงใจตัวเองไม่ได้”

บทที่ 7 ชีวิตต้องวางลง ให้ปริญญาชีวิตกับตัวเอง

บทเรียนสุดท้ายคือชีวิตต้องวางให้เป็น ช่วงเวลาที่ผ่านมาคือการสร้างตัวตน แต่ตอนนี้เธอไม่อยากเป็นอะไร ไม่อยากเป็นใครอีกแล้ว เธอรู้สึกว่าการที่ได้กลับมามีเวลาทำสิ่งต่างๆ มีชีวิตที่ร่ำรวยเวลาคือสิ่งที่พอใจแล้ว การได้สร้างปัจจัย 4 ด้วยตัวเองที่สวนศิลป์บินสิ ทำให้เธอรู้สึกมั่นคงมาก เธอไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่านี้ และบทเรียนสุดท้ายของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าอยากจะเขียนสารบัญชีวิตแบบไหน

คลาสที่ 3

พูดให้เป็นเรื่อง

โดย ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล อาจารย์ภาษาไทยที่รักในการพูด

ดร.ชนกพร พัวพัฒนกุล หรือ อาจารย์เมย์ เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีประสบการณ์พูดมาหลายเวที เป็นผู้สร้างนักพูดที่มีเคล็ดลับมากมาย และพร้อมจะแบ่งปันและช่วยให้ทุกคนสนุกกับการพูดได้มากขึ้น

การพูดสำคัญกับชีวิตการทำงานของเราอย่างไร

จากการสำรวจ หนึ่งในทักษะการทำงานที่จำเป็นมากๆ ในปี 2020 คือ คือทักษะการ Persuasion หรือว่าการโน้มน้าวใจ และทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งก็รวมถึงการพูดคุยสนทนาในการทำงานด้วย

การโน้มน้าวใจ คือ “เราต้องเป็นคนขายเป็น” เริ่มจาก ‘ขายตัวเอง’ หมายความว่า เวลาที่บริษัทอยากได้คนไปทำงาน เราสามารถพูด หรือทำให้เขาเชื่อได้ไหมว่าเราคือคนที่เหมาะสม โดยการเอาตัวเองไปอยู่ตรงหน้าเขาแล้วบอกให้เขารู้ว่าฉันนี่แหละจะไม่ทำให้เธอผิดหวัง นอกจากขายตัวเองแล้ว ยังต้องขายไอเดีย ขายสินค้า ขายแบรนด์ และขายแรงบันดาลใจได้ เพราะในอนาคตเราอาจจะเติบโตไปเป็นหัวหน้าหรือเป็นเจ้าของกิจการก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนเชื่อในสิ่งเดียวกันกับเรา

กระโดดออกจากคอมฟอร์ตโซน และสนุกไปกับการพูด

การพูดเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาทุกคน ทุกคนพัฒนาทักษะการพูดได้ แต่ต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอและใช้เวลากับมัน 

การพูดในมหาวิทยาลัยกับการพูดในโลกการทำงานจริงๆ ไม่เหมือนกัน ในโลกของการทำงานนั้นเวลามีจำกัด ถ้าเขาไม่ฟังเขาอาจจะบอกให้เราหยุดพูด หรือเขาอาจจะเดินออกจากห้องทำงานไปเลย ดังนั้นอย่าละเลยทักษะการพูด 

สำหรับใครที่ไม่ชอบพูด ไม่รู้จะพูดอะไร พูดไม่รู้เรื่อง หรือพูดไม่เก่ง ลองกระโดดออกจากคอมฟอร์ตโซน โดยการทำลายความเชื่อที่ว่าเราเป็นคนไม่ชอบพูดก่อน แน่นอนว่าคนเราก็จะมีบุคลิกไม่เหมือนกัน ลองสำรวจตัวเองดูว่า เราไม่ชอบพูดในสถานการณ์ไหน หรือไม่ชอบพูดเรื่องอะไร

การฝึกทุกวันอาจจะลองเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ โดยการทบทวนและสำรวจว่าช่วงชีวิตที่ผ่านมาเราสบายใจที่จะพูดเรื่องอะไร และสบายใจที่จะพูดเรื่องนั้นกับใคร ให้ลองคุยกับเพื่อน 2 คนก่อน จากนั้นเพิ่มเป็น 3 คน 4 คน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนไปเรื่อยๆ

เคล็ดลับฝึกพูดให้เป็นเรื่องผ่านเครื่องมือทั้งหมด 7 ข้อ

หัดเป็น ‘คนเรื่องมาก’ ด้วยการเก็บเอารายละเอียดต่างๆ ในชีวิตมาใช้ พอมีเรื่องมาแล้วก็ต้องพูดให้รู้เรื่อง เลือกเรื่องที่จะเล่าให้ถูกเรื่อง และเล่าให้เป็นเรื่องเป็นราว ถ่ายทอดให้ได้เรื่อง และอย่าลืมเรื่องที่เราไม่ได้เล่า

1. หัดเป็นคนเรื่องมาก

ด้วยการทดลองใช้ไดอารี่หาเรื่อง หรือการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราบนช่องทางไหนก็ได้ บันทึกไปเรื่อยๆ โดยมีการจัดหมวดหมู่ในแต่ละเรื่อง เช่น เหตุการณ์ที่เจอวันนี้ทำให้เรารู้สึกเกิดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เป็นต้น อย่าคิดว่าชีวิตตัวเองเรียบง่ายหรือไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะทุกเรื่องมีคุณค่าในตัวมันเองแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ 

2. คุยกับตัวเองให้เป็น

ถ้าเป็นคนเรื่องเยอะมากแต่เราพูดไม่รู้เรื่องจะทำยังไง ให้เริ่มจากการลองคุยกับตัวเอง (Self-Talk) เล่าให้ตัวเองฟังก่อน โดยอาจจะหาที่ที่ไม่ค่อยมีคนเห็น หรือถ้ามีเพื่อนก็อาจจะเล่าให้เพื่อนฟังก็ได้ว่าเราไปเจออะไรมาบ้าง และลองจับเวลาดูว่าเราสามารถพูดเรื่องนี้ให้จบใน 1 นาทีได้ไหม การฝึกพูดกับตัวเองทุกวันโดยการเปลี่ยนเรื่องไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้เราฝึกเรียบเรียงเรื่องในหัวของเราได้ดีขึ้น

3. พูดให้รู้เรื่อง

โครงสร้างของเรื่องเล่านั้นไม่ได้ซับซ้อน เป็นการเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แต่ต้องรู้ว่าอะไร คือประโยคใจความสำคัญ หรือ Key Message การรู้ว่าใจความสำคัญของเรื่องคืออะไร จะทำให้เราเป็นคนพูดรู้เรื่องและสร้างกรอบในการพูดให้ตัวเองได้ และหมั่นเล่า หมั่นนำเรื่องราวมาถ่ายทอดเรื่อยๆ เพื่อให้เรารู้ว่าเราจะนำเรื่องราวนั้นมาใช้ในโอกาสไหนต่อไป

4. เลือกให้ถูกเรื่อง 

เวลาที่เราจะเล่าเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ ‘เรากำลังพูดกับใคร’ และเรื่องที่เราพูดนั้น ‘เกี่ยวกับคนฟังหรือไม่’ ถ้าเรื่องไม่เกี่ยวกับเขา เขาก็ไม่สนใจ ความท้าทายคือ เราต้องเชื่อมโยงเรื่องราวของเรากับเรื่องของเขาให้กลายเป็นเรื่องเดียวกันให้ได้ ดังนั้น เราต้องถามตัวเองว่า เรากำลังจะเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟัง คนฟังเขาอยากฟังเรื่องอะไร และทำไมคนเล่าเรื่องนี้ต้องเป็นเรา เพื่อให้เราใส่ตัวตนของเราเข้าไปในเรื่องเล่านั้น เรื่องเล่าแต่ละเรื่องมันมีคุณค่าในตัวของมันเอง แล้วจะมีคุณค่าเพิ่มไปอีก ถ้าถูกจัดวางกับ คน สถานที่ เวลา และเนื้อหา ที่เหมาะสม

* เคล็ดลับการใช้เรื่องเล่าในการสัมภาษณ์งาน 

เวลาไปสัมภาษณ์งานต้องเลือกใช้เรื่องราวให้เหมาะสมกับ Key Message ที่เราจะเล่า เช่น ถ้าเราอยากจะบอกว่าเราเป็นคนขยัน เราต้องเลือกเรื่องเล่าแบบไหน สำหรับเรื่องความล้มเหลว ถ้าเล่าอย่างถูกวิธีเอาไปประกอบกับ Key Message ที่เหมาะสม เช่น ความล้มเหลวของเราแสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนไม่ยอมแพ้

5. เล่าให้เป็นเรื่อง

ถ้าเราอยากพูดเรื่องอะไรก็ตาม ให้ตั้งต้นจาก Key Message ก่อนว่า Main Idea คืออะไร หรืออยากบอกอะไร เคล็ดลับคือ ให้คิดเป็นคีย์เวิร์ด อย่าเขียนเป็นประโยคยาว เพราะจะช่วยให้เวลาพูดมีประเด็นชัดเจน ไม่ออกนอกเรื่อง ถ้าเราได้สิ่งที่อยากเล่าแล้ว ให้มาเลือกเรื่องสนับสนุน ให้ตอบโจทย์กับสิ่งที่อยากเล่า แล้วจบด้วยประโยคฮุกในการสรุปการพูด หรือสามารถนำประโยคฮุกมาใช้ได้ตั้งแต่การเริ่มเล่าเรื่อง เพื่อเรียกความสนใจจากคนฟังได้

6. ถ่ายทอดให้ได้เรื่อง

นอกจากเนื้อหาที่เราจะสื่อสารออกมาแล้ว องค์ประกอบอื่นๆ ที่จะช่วยให้การเล่าของเรานั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือเวลาพูดให้สบตบตาคนที่เราต้องการจะสื่อความหมายกับเขา ก็จะทำให้เรื่องมีพลังขึ้น จริงๆ แล้วคนจะฟังสิ่งที่เราพูดแค่ 7 เปอร์เซ็นต์ เพราะที่เหลือมาจากอวัจนภาษา ดังนั้น คิดไว้เลยว่าจะพูดอะไร เพราะคำแรกที่หลุดออกจากปากต้องมีพลังที่สุด 

อีกหนึ่งเคล็ดลับที่สำคัญมากๆ คือประโยคปิด อาจใช้คำที่ทำให้คนฟังเมื่อฟังจบแล้วคิดตาม เกิดการจดจำหรืออยากให้คนฟังเอาไปทำอะไรต่อ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของน้ำเสียง ให้ใช้เสียงธรรมชาติของเรา ไม่ต้องห่วงว่าเสียงจะเพราะไม่เพราะ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องชัดเจน  

7. เรื่องที่เราไม่ได้เล่า

บางทีเราจะเชื่อเรื่องเล่าของคนอื่นที่มีคนเล่าต่อมาอีกทีหนึ่ง แล้วตัวเรามีเรื่องที่ไม่ได้เล่าหรือเปล่า เรื่องที่ไม่ได้เล่าในที่นี้หาได้จากโซเชียลมีเดีย ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 มุม

มุมที่ 1 คือ ในชีวิตคนเรามีเรื่องที่ไม่ได้เล่าอยู่ แต่บนโซเชียลมีเดียคนอื่นสามารถไปค้นเจอ อีกมุมหนึ่งคือ ถ้าเราอยากให้คนรู้จักเราผ่านเรื่องเล่าอะไร ลองใส่เข้าไปในโซเชียลมีเดียของเรา ด้วยการใช้โลกออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ การใส่เรื่องราวของตัวเองลงไปผ่าน Blog, Page หรือทำ Channel ของตัวเอง จะทำให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับตัวเราค่อยๆ ถูกสร้างขึ้น เป็นการค่อยๆ สะสมเรื่องราวให้คนอื่นเข้าไปสืบค้นได้

แต่เรื่องเล่าทุกเรื่องนั้นมีวันหมดอายุ ถ้าเราเล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ ให้คนกลุ่มเดิมฟัง เราก็จะกลายเป็นคนที่ย้ำคิดย้ำทำพูดจาซ้ำซาก ผลคือคนก็จะเบื่อ ถ้าเกิดว่าเรื่องเล่ามันซ้ำเราก็อาจจะค้นหาตัวเองด้วยการลองหาเรื่องเล่าในใหม่ๆ มาเก็บมาสะสม จะทำให้เรามีเรื่องเล่าเก็บเอาไว้ใช้เอาไว้ประกอบการพูด ทำให้การพูดของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น  

คลาสที่ 4 

เติบโตได้ถ้าเลือกงานเป็น

โดย จักรพันธ์ แก้วศรีจันทร์ Managing Director จาก Q HUNTER Recruitment 

การออกแบบเส้นทางความก้าวหน้าในการทำงาน (Career Path) คือเรื่องจำเป็นที่เด็กจบใหม่ควรรู้ไว้ก่อนเริ่มทำงานจริง เพราะยิ่งเริ่มไวยิ่งไปได้เร็ว หากออกแบบและวางแผนเส้นทางให้ดี รู้ว่าควรไปในเส้นทางไหน จะทำให้เติบโตในเส้นทางการทำงานได้ในอนาคต มาฟังจักรพันธ์ แก้วศรีจันทร์ Managing Director จาก Q HUNTER Recruitment แนะแนวสำหรับชาว First Jobber

เริ่มไว ไปได้เร็ว

การวางแผน Career Planning ถ้าเริ่มได้เร็วก็จะทำให้เรามีโอกาสพัฒนาตัวเอง และหางานได้ตรงเป้าเร็วกว่าคนอื่นๆ ช่วงเวลาที่เหมาะกับการเริ่มต้นคิดเรื่อง ‘งาน’ มากที่สุด เริ่มตั้งแต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัย สำหรับคนที่ยังเป็นนักศึกษาในช่วงปี 3 – 4 ก็จะถึงช่วงเวลาของการฝึกงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเลือกสถานที่ฝึกงานที่ทำให้เราได้ฝึกทั้ง Hard Skills และ Soft Skills

สิ่งที่ต้องคิดก่อนไปฝึกงานคือ การวางแผนการทำงานว่าเราอยากทำตำแหน่งไหน ทำบริษัทอะไร รูปแบบงานที่ต้องทำเป็นแบบไหน เพราะฝึกงานจะทำให้เรามองเห็นภาพคร่าวๆ ว่าจริงๆ แล้วงานที่เราเลือกมาทำคือสิ่งที่เราชอบหรือเปล่า ตอบโจทย์อาชีพของเราในอนาคตหรือเปล่า นอกจากนี้ประสบการณ์ฝึกงานยังเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลมากต่อการพิจารณาของ HR

การฝึกงานนอกจากได้เรียนรู้ในเรื่องของ Hard Skills ซึ่งหมายถึงทักษะการทำงานที่เราจะได้ทำอยู่แล้ว ยังทำให้เรารู้ว่างานที่เราได้ทำต่างจากในห้องเรียนอย่างไร บางคนอาจจะฝึกงานไม่ตรงกับสายอาชีพก็ได้ เพื่อที่จะได้พัฒนา Hard Skills อื่นเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังได้ฝึก Soft Skills เพราะได้ฝึกการจัดการและการทำงานกับงานจริงๆ มีการติดต่อสื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์กับคนในองค์กร ซึ่งมีแบบแผนที่ต่างจากการทำงานในมหาวิทยาลัย และการมีทัศนคติที่ดีในการทำงานก็เป็น อีกหนึ่ง Soft Skills ที่จะช่วยผลักดันให้เราไปต่อในสายอาชีพของตัวเองได้มากกว่าคนอื่น

ทำอย่างไรให้เป็นผู้ถูกเลือก

คงไม่มีคำตอบตายตัวว่า HR แต่ละบริษัทมีการรับเข้าทำงานยังไง แต่ลองย้อนถามตัวเองว่าเราเตรียมตัวครบถ้วนหรือยังก่อนที่จะไปสัมภาษณ์งาน ในเรซูเม่ 1 ใบ HR จะดูในหลายๆ มิติ ประกอบกัน ไม่ว่าเรื่องของการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ประสบการณ์การฝึกงาน แต่เดี๋ยวนี้นักศึกษาจบใหม่หลายคนก็เติม Skills ที่ตัวเองถนัดเพื่อระบุความเชี่ยวชาญให้ชัดเจนขึ้น

Hard Skills คือทักษะที่เราเรียนรู้และวัดผลได้ ในเรซูเม่ควรใส่ความเชี่ยวชาญของตัวเองลงไปอย่างละเอียดและตรงประเด็นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะจะมีผลต่อการตัดสินใจของ HR มากขึ้น โดยเฉพาะถ้าเราต้องการทำงานในบริษัทที่เราคาดหวังไว้ ถ้า Hard skills ที่เรามีตรงกับที่บริษัทต้องการ ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมกันและทำให้มีโอกาสได้งานนี้มากขึ้น

Soft Skills หมายถึงทักษะด้านอารมณ์ ความสามารถในการอยู่ร่วมกัน ซึ่ง Soft Skills จะมีความหลากหลายมาก แต่ละงานก็ต้องการ Soft Skills ที่แตกต่างกัน เช่น ทักษะการสื่อสาร การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม การจัดการเวลา และการจัดการตนเอง คนที่มี Soft Skills สูง เป็นสิ่งที่หลายองค์กรกำลังต้องการและมองหาจากคนทำงาน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้และพัฒนา

ด่านการสัมภาษณ์

ในวันสัมภาษณ์เราต้องมีความพร้อมที่จะนำเสนอทั้ง Soft Skills และ Hard Skills ของเรา สำหรับ Hard Skills คือการที่เราสามารถอธิบายความรู้ในเชิงเทคนิค ความรู้เฉพาะทางที่เราต้องรู้ และเตรียมตัวมาในตำแหน่งที่เราจะไปสัมภาษณ์ หากตอบคำถามแบบผิดๆ ผู้สัมภาษณ์ก็อาจตัดสินใจไม่รับเราเข้าทำงานได้

สิ่งที่จะส่งเสริม Hard Skills ของเราให้มีความน่าเชื่อถือและทำให้เรามีความโดดเด่นมากขึ้นก็คือ Soft Skills เช่น ทักษะด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะการสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Skills) ที่เราต้องดึงความเป็นตัวของเราเองออกมาให้ได้มากที่สุด ตอบคำถามอย่างมีเหตุผล มีความเชื่อมโยง และสามารถดึงคณะกรรมการหรือผู้ที่สัมภาษณ์ให้สนใจและตัดสินใจรับเราเข้าทำงานในที่สุด

ทำอย่างไรให้เติบโต

นอกจากการมี Soft Skills และ Hard Skills ที่ตรงกับความต้องการของบริษัทแล้ว การเลือกบริษัทก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในตำแหน่งงานเดียวกันแต่ละบริษัทก็มีเนื้องานที่ต่างกัน อุตสาหกรรมต่างกันก็จะมีโอกาสในการทำงานและความท้าทายต่างกัน รวมไปถึงรายได้ที่แตกต่างกันด้วย

เพราะฉะนั้นต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับตัวเองในการเลือกงาน ลองถามตัวเองว่าตอนนี้ อะไรคือสิ่งที่ต้องการในอนาคต เช่น รายได้ ความท้าทายในการทำงาน หรือความมั่นคง การเลือกบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตอบโจทย์ความต้องการของเราได้

คลาสที่ 5

สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน

โดย สุวภา เจริญยิ่ง ที่ปรึกษาการเงินและอุปนายกสมาคมนักวางแผนการลงทุนไทย

วิชาสำคัญที่เราควรเรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็ก แต่ไม่มีในตำรา และไม่มีในห้องเรียนคือเรื่อง ‘การวางแผนการเงิน’ เพราะเงินคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราได้ทำตามฝัน และสร้างโอกาสมากมายให้กับชีวิต คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเรียนรู้ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินกับที่ปรึกษาการเงินมากประสบการณ์

สุวภา เจริญยิ่ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและอยู่ในวงการการเงินมากว่า 30 ปี เธอมีประสบการณ์ทางการเงินที่หลากหลาย เช่น พาบริษัทไทยเข้าตลาดหลักทรัพย์ ขายหุ้นและเพิ่มทุนให้กับบริษัทต่างๆ ปัจจุบันทำอาชีพอิสระและเป็นกรรมการให้บริษัทหลายแห่ง และเป็นอุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย มีความตั้งใจอยากจะถ่ายทอดเรื่องการวางแผนการเงินให้กับทุกคน

จากประสบการณ์อันยาวนานในสายการเงิน เธอแนะนำว่าการวางแผนการเงินต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ เป็นสิ่งที่เราไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อตัวเอง

ทัศนคติในการทำงานมีผลกับการเงิน

สำหรับเด็กจบใหม่ ความรู้ ความสามารถ อาจจะยังไม่มากพอ ฉะนั้นหากเราอยากเป็นคนที่ได้เงินเดือนมากกว่าที่ได้รับในขณะนี้ เราก็ต้องทำมากกว่าที่เราได้รับมอบหมาย กล้าที่จะศึกษาสิ่งใหม่ๆ ถ้ามีประสบการณ์ไม่มากพอ ก็ต้องไปเรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์มากกว่า อย่าทิ้งโอกาสเพียงมองว่ามันเป็นแค่งานงานหนึ่ง แต่ให้ทำงานนั้นให้ดีที่สุดแล้วเราก็จะประสบความสำเร็จในการทำงานในที่สุด

ดังนั้นสำหรับเด็กจบใหม่ ก่อนที่จะเริ่มเก็บเงิน ให้เริ่มจากการมีทัศนคติที่ดีในการทำงานก่อน โดยการรับผิดชอบงานที่ทำให้ได้มากที่สุด ทำอย่างเต็มที่ และเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับการทำงาน

นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ด้วยการมองหางานที่สอง (Second Job) โดยเลือกจากสิ่งที่ชอบและสนใจ เพื่อให้เราได้รู้จักตัวเองและเข้าใจตัวเองมากขึ้น

แผนที่ดีต้องมีเป้าหมาย

การวางแผนทางการเงิน ต้องเริ่มจากการสร้างเป้าหมาย และเป้าหมายที่ดีต้องสมาร์ท ‘SMART’

S = Specific ชัดเจน ตรงประเด็น 

M = Measurement วัดผลได้

A = Achievement สามารถทำได้

R = Reasonable มีเหตุมีผล 

T = Timing กำหนดระยะเวลาได้

เคล็ดลับในการเก็บเงิน

ลองแบ่งความต้องการเราเป็น 3 ส่วน คือ 

ก้อนที่ 1 สำหรับอะไรที่ต้องใช้  ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และปัจจัย 4

ก้อนที่ 2 สำหรับอะไรที่ต้องการ เพื่อซื้อของ ท่องเที่ยว หรือสิ่งต่างๆ ที่เราตั้งใจจะซื้อ

ก้อนที่ 3 สำหรับการเก็บออม

จัดลำดับความสำคัญในการใช้เงินให้เป็น เมื่อมีเงินให้เก็บก่อน จากนั้นจะเป็นก้อนสำหรับสิ่งที่ต้องใช้ เหลือเท่าไหร่ให้ทำไปใช้ในก้อนสำหรับสิ่งที่ต้องการ

ถ้าเรามีเงินก้อนหนึ่ง ให้ลองตั้งเป้าสำหรับเก็บออมก่อน และมีเป้าหมายในการเก็บออมเท่าไหร่ เช่น ตั้งเป้าหมายว่าจะมีเงินเก็บ 1 ล้านบาทภายใน 5 ปี ใน 1 ปี จึงควรเก็บประมาณ 200,000 บาท ดังนั้นในแต่ละเดือนเราต้องเก็บออมประมาณ 17,000 บาท ถ้าคิดว่าเงินเดือนที่ได้ในแต่ละเดือน ไม่สามารถทำให้เราเก็บออมตามเป้าที่ตั้งไว้ การมองหางานที่สองก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เราได้

การมีเป้าหมายการออมที่ชัดเจนจะทำให้เราเห็นคุณค่าของเงิน และยังช่วยฝึกนิสัยในการเก็บเงิน ให้เราใช้เงินอย่างชาญฉลาด วางแผนการใช้เงินได้ดียิ่งขึ้น นิสัยการเก็บออมเป็นสิ่งที่ไม่มีใครขโมยสิ่งนี้ไปจากเราได้ และเมื่อเริ่มเก็บออมได้ มีเงินสักก้อนหนึ่ง เราจะเริ่มไปทำความรู้จักเรื่องการลงทุน เช่น การลงทุนในหุ้น

ลงทุนในตัวเองก่อนลงเงิน

สำหรับเด็กจบใหม่ที่จะเริ่มลงทุน ควรเลือกลงทุนในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจทั้งเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน 

ปัญหาใหญ่ของเด็กจบใหม่คือเก็บเงินไม่อยู่ อันดับแรกเมื่อได้เงินมาแล้วต้องเก็บก่อน โดยเก็บได้หลายวิธี เช่น ฝากประจำ 24 เดือน เมื่อเริ่มเข้าใจในการลงทุนมากขึ้นอาจจะนำไปลงทุนใน กองทุนรวม แล้วจึงค่อยมาลงกองหุ้น

การลงทุนในหุ้นจะทำให้เราได้ศึกษาและเข้าใจธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม เหมือนเราได้เริ่มต้นศึกษาธุรกิจ ฝึกการเป็นผู้ประกอบการ โดยไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจกิจจริงๆ แต่เรียนรู้จากการบริหารงานของกองหุ้นที่คุณลงทุนได้

ควรเริ่มศึกษาจากธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เราชอบ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจความงาม เพื่อที่จะได้มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ว่าแต่ละบริษัทมีการดูแลจัดการธุรกิจอย่างไร

ข้อควรระวังที่สุดในการลงทุน คือไม่ควรเอาเงินไปให้คนอื่นดูแล เพราะการลงทุนคือเรื่องส่วนตัว เราไม่รู้ว่าคนอื่นเอาเงินเราไปทำอะไร ถ้ายังไม่พร้อม ยังไม่รู้ ก็ยังไม่ควรลงทุน

ถ้าเราตั้งใจที่จะเก็บเงิน ต่อให้ไม่สำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ก็ตั้งเป้าใหม่ได้เสมอ เพราะการเก็บเงินไม่ได้เริ่มแค่วันเดียวแล้วสำเร็จเลย แต่เป็นการฝึกนิสัยการเก็บในระยะยาว

คลาสที่ 6 

จาก Passion สู่ Second Job

โดย อเล็กซ์ เรนเดลล์ นักแสดงและผู้ก่อตั้งองค์กรสิ่งแวดล้อมศึกษา EEC

สำหรับใครที่ฝันจะเป็นผู้ประกอบการ อยากทำ Second Job หรือองค์กรของตัวเอง เราได้ชวนอเล็กซ์ เรนเดลล์ มาแชร์ประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการ เพราะนอกจากเขาจะทำงานเบื้องหน้าเป็นนักแสดงและเป็นพรีเซนเตอร์แล้ว อีกบาทหนึ่งของเขาคือการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรสิ่งแวดล้อมศึกษา EEC และรับหน้าที่เป็น CEO อยู่ในขณะนี้ 

5 สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก 5 ปี ของการเป็น Entrepreneur

1. Sustainability

คำว่า Sustainability มาจาก 2 คำคือ Sustain + Ability หมายถึง ‘ความสามารถที่จะยั่งยืน’ เมื่อทำองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม จึงนำแนวคิดเรื่อง Sustainability มาปรับใช้ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร ต้องมองว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะยั่งยืนกับองค์กรไหม

เมื่อมีเรื่องต้องตัดสินใจ พยายามอย่าใช้ทางลัด เพราะเราไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในทันที ถ้าเราตั้งเป้าไว้ว่าเราอยากจะประสบความสำเร็จในวันข้างหน้า ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้วค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำไปอย่างยั่งยืนดีกว่า

2. People Management

การทำงานในกองถ่ายมาตั้งแต่เด็ก มีโอกาสได้พบเจอคนหลากหลายสังคม หลายศาสนา ต่างที่มาและต่างวิธีคิด ทำให้เขาได้เรียนรู้คน เข้าใจคนได้หลากหลายรูปแบบ และเข้าได้กับทุกสังคม

ปัญหาอันดับ 1 สำหรับอเล็กซ์คือเรื่องการบริหารคน ถ้าเราจะเป็น CEO หรือ MD เราต้องบริหารคนให้เป็น เพราะต่อให้องค์กรหรือสินค้าเราดีมากแค่ไหน แต่ถ้าบริหารคนไม่เป็น องค์กรก็ไปต่อไม่ได้

สิ่งที่สำคัญคือ อย่าคิดว่าการเป็นเจ้าของบริษัทเท่ากับว่าตัวเองฉลาดที่สุดในบริษัท เพราะมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย ไม่มีใครในโลกนี้ที่จะเก่งทุกอย่าง และไม่มีใครที่จะประสบความสำเร็จคนเดียวได้ การทำองค์กรทำให้เขาเชื่อในเรื่องของทีมเวิร์ก หน้าที่ของ CEO จึงเป็นการบริหารคน และดึงศักยภาพของคนเก่งออกมาให้ได้มากที่สุด

3. Resilience

คนเราต้องรู้จักสร้างความยืดหยุ่นให้ชีวิต เพราะเรามักจะถูกปฏิเสธและพบความผิดหวังอยู่เสมอ

อเล็กซ์เองก็เคยมีประสบการณ์ถูกปฏิเสธมาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง หลายคนอาจจะคิดว่าการเป็นนักแสดงที่มีคนรู้จักจะทำให้เขาได้โอกาสในการทำงานมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วในช่วงเริ่มต้นเขาถูกปฏิเสธมานับครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน 

ในช่วงแรกของการทำ EEC เขามักจะพกโน้ตบุ๊กติดตัวไว้และเตรียมพรีเซนเทชันไปด้วยทุกที่ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำเป็นสิ่งที่ดี ต้องมีคนชอบ และคิดว่าจะได้เจอพาร์ตเนอร์ดีๆ แน่ๆ แต่เมื่อเดินเข้าไปพรีเซนต์กับโรงเรียนแห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้า เขาถูกปฏิเสธกลับมา และเจอแบบนี้อยู่ตลอด 3 ปีแรกในการก่อตั้งองค์กร ทำให้เขาเริ่มกลับมาทบทวนงานของตัวเองอีกครั้ง และเข้าใจว่านอกจากงานที่ดีแล้ว ชีวิตยังต้องอาศัยจังหวะเวลาที่ถูกต้องเพื่อให้ได้โอกาสนั้นมาด้วย

เขาเชื่อว่าการถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้งจะทำให้คนเราเติบโตขึ้น ทำให้ได้เรียนรู้ว่าอะไรใช่หรือไม่ใช่ ถ้าถูกปฏิเสธแล้วไม่ยอมรับ เริ่มมีอีโก้ตั้งแต่ตอนนี้ องค์กรคงไปได้ไม่ไกล แต่เราเอาความผิดหวังนั้นกลับมาพัฒนาตัวเอง จะทำให้สิ่งที่เราทำอยู่ดีขึ้นและไปได้ไกลขึ้นแน่นอน 

4. Planning

ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จในการทำงาน ต้องรู้จักวางแผนและตั้งเป้าหมายของตัวเองให้ชัดเจน ทบทวนกับตัวเองให้ดีว่าเป้าหมายหรือสิ่งที่เราอยากได้คืออะไร เมื่อรู้เป้าหมายของตัวเองแล้ว จะทำให้เราออกแบบและวางแผนวิธีการเดินทางได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีแผนเราก็ไม่รู้จะเดินไปทางไหน และอาจทำให้หลงทางได้

ถ้าชีวิตมีการวางแผน เราจะรู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่ตรงนี้มันตรงกับเป้าหมายของเราหรือเปล่า อเล็กซ์แนะนำว่าการฝึกวางแผนการตัดสินใจเล็กๆ ในแต่ละวันก็ทำให้เราบรรลุเป้าหมายนั้นได้ เช่น ฝึกการวางแผน Timeline และ Deadline ในการทำงาน ฝึก Time Management ในทุกๆ วัน และต้องทำเป็นระบบให้ได้

5. Finance

เงินคือปัจจัยหลักของทั้งชีวิตส่วนตัวและการบริหารองค์กร ถ้าเราจะบริหารองค์กรแต่ไม่รู้เรื่องเงินเลยจะเป็นการบริหารงานที่ยากมาก

วิธีการบริหารเงินให้ยั่งยืน คือต้องรู้จักคิด รู้จักวางแผน และรู้จักเรื่องการเบิกจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำบริษัท เช่น การหักภาษี ณ ที่จ่าย การเสียภาษี การทำบัญชีรายรับรายจ่าย จากการผิดพลาดมาเยอะ ทำให้อเล็กซ์เรียนรู้ว่า ‘การเงิน’ คือรากฐานสำคัญของบริษัทที่ต้องวางรากฐานให้ดี

ต่อให้ไม่ชอบเรื่องเงินก็ต้องเรียนรู้ไว้ เพราะองค์กรจะอยู่ได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินล้วนๆ ต้องคิดให้ได้ว่าเราจะเก็บเงินอย่างไร จะลงทุนตรงไหน และจะบริหารอย่างไรถึงจะสร้างความยั่งยืนให้องค์กรได้

การระบาดของ COVID-19 จึงทำให้อเล็กซ์รู้ว่าการบริหารเงินที่ดีจะทำให้องค์กรของเขาปลอดภัยแม้ในยามวิกฤต

ถ้ายังไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร หรือจะเลือกไปทางไหน สามารถทำแบบทดสอบเพื่อค้นหาตัวเองเพิ่มเติมได้ที่ brandscareerdiscovery.com

อ่าน ฟัง ชม และเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ กับห้องสมุดออนไลน์ TK Park เข้าใช้บริการฟรีที่นี่

Life Lecture 6 คลาสแนะแนวออนไลน์ที่อยากให้คนรุ่นใหม่มี Survival Skills

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน