พวกเราหลายคนใช้ชีวิตประจำวันใน ‘โลกโบราณ’ โดยไม่รู้ตัวครับ บางคนใช้ชีวิตในเมืองที่มีคนอยู่อาศัยมาติดต่อกันเป็นเวลาหลายร้อยหรือหลายพันปี เดินทางบนถนนหรือแม่น้ำลำคลองที่เป็นเส้นทางสัญจรมาเป็นเวลายาวนาน ทำงานอยู่ในอาคารซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เคยมีอาคารอื่นๆ มาก่อน หรือไม่ก็พำนักอยู่ในอาคารเก่าโดยตรง และต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์อาคารอย่างสม่ำเสมอ

เมืองสำคัญหลายๆ เมืองทั่วโลกในปัจจุบันนี้มีประวัติการตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ในซีกโลกตะวันตก เมืองใหญ่ๆ อย่างลอนดอน ปารีส หรือโคโลญจน์ ล้วนมีอายุเกินหนึ่งพันปีทั้งสิ้น ไม่นับเมืองโบราณระดับตำนานอย่างเอเธนส์ เยรูซาเล็ม โรม อิสตันบูล และดามัสกัส ที่พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานต่อเนื่องนับพันๆ ปี หรือทางฝั่งซีกโลกตะวันออก เมืองสำคัญ เช่น ซีอาน ปักกิ่ง เกียวโต และพาราณาสี ก็มีผู้คนอาศัยอยู่มาโดยตลอดเป็นเวลายาวนาน

ในประเทศไทย ชุมชนใหญ่ๆ ในหลายจังหวัดก็มีอายุหลายร้อยปี หรือในกรุงเทพฯ เอง บางพื้นที่ก็เริ่มมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้อาคารเก่า ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตประจำวันของพวกเราหลายคน ถูกกำหนดด้วยความโบราณในมิติต่างๆ อยู่ตลอดเวลาครับ

ตัวผมเอง ชีวิตประจำวันก็พอจะเรียกได้ว่ารายล้อมไปด้วยโบราณสถานเหมือนกัน เพราะสิ่งปลูกสร้างหลายๆ ส่วนของมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน บางแห่งเป็นโครงสร้างเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อ 800 กว่าปีก่อน

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 13 โดยกลุ่มนักวิชาการที่อพยพมาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดหลังเกิดกรณีพิพาทกับเทศบาลเมือง ก่อนหน้านี้เมืองเคมบริดจ์เป็นเมืองทางผ่านบนเส้นทางสัญจรระหว่างกรุงลอนดอนกับภาคตะวันออกของอังกฤษ โดยมีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานอย่างเป็นหลักแหล่งมาตั้งแต่สมัยโรมัน 

ด้วยเป็นเมืองเก่าที่มีคนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นและต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน เคมบริดจ์จึงเป็นศูนย์รวมของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ตั้งแต่ซากปราสาทโรมันโบราณ อาคารไม้แบบ Elizabethan ตึกหินแบบโกธิก โบสถ์วิหารแบบบาโรก ไปจนถึงอาคารคอนกรีตแบบ Brutalism สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารโบราณเหล่านี้มีทั้งที่ได้รับการรักษาสภาพไว้ให้ใกล้เคียงกับสมัยแรกสร้าง ได้รับการปรับปรุงต่อเติมบางส่วนจนทำให้มีลักษณะไม่เหมือนของดั้งเดิม หรือสร้างขึ้นมาใหม่โดยพยายามให้เหมือนของเดิม ทั้งหมดนี้ประกอบขึ้นเป็นอาคารที่พัก ที่กินข้าว ที่เรียน ที่ทำงาน อยู่รอบตัวและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชีวิตประจำวันของผมจะว่าไปก็อาจคล้ายชีวิตห้องแถวในกรุงเทพฯ ชั้นใน ย่านเจริญกรุง เยาวราช ประตูสามยอด เพราะบ้านพักที่อยู่ตอนนี้เป็นทาวน์เฮาส์ผนังบาง แอบได้ยินเสียงเพื่อนบ้านต่างๆ เพียงแต่พิเศษหน่อยตรงที่เป็นทาวน์เฮาส์อายุเกือบ 200 ปีขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ระดับ Grade II (จาก 3 ระดับ สูงที่สุดคือ Grade I รองลงมาคือ II และ III) และอยู่ติดกับทาวน์เฮาส์ขึ้นทะเบียนที่ ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) เคยมาอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1836 – 1837 

ส่วนเวลาไปที่ภาควิชาก็น่าจะเหมือนไปธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ศิลปากรวังท่าพระ เพราะห้องทำงานที่ตึกภาควิชาตั้งอยู่บนพื้นที่โบราณสถานอารามเก่า เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มก่อสร้างอาคารสำนักงานทะเบียนและศูนย์บริการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ซึ่งอยู่ติดๆ กับตึกภาควิชา ยังมีการขุดพบฐานรากของอารามสมัยศตวรรษที่ 13 แถมมากับโครงกระดูกมนุษย์ 20 กว่าโครง เป็นที่ฮือฮาจนมีการจัดทัวร์พิเศษเพื่อเดินเข้าไปดูพร้อมผู้เชี่ยวชาญ

การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
ป้ายอนุสรณ์ที่บ้านของ ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)
การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
ซากอารามปรากฏให้เห็นเมื่อตอนเริ่มต้นการก่อสร้างอาคารใหม่ของสำนักทะเบียนและศูนย์บริการนักศึกษา ภาพ : สำนักข่าว Cambridgeshire Live โดย Chris Elliott 
การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
อาคารสำนักทะเบียนละศูนย์บริการนักศึกษาในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน แม้จะมีการปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างโบราณหลายแห่งให้มีสภาพมั่นคง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งาน แต่ก็ยังมีระเบียบข้อกำหนดที่ต้องขอความร่วมมือให้ปฏิบัติกันอยู่เพื่อความปลอดภัยของทุกคน อย่างบ้านพักที่ Peterhouse นี้ ไม่มีครัวที่ใช้ไฟเลยครับ ยิ่งไปกว่านั้น ห้องพักสำหรับพวกนักเรียนชั้นปริญญาตรีในบริเวณตึกเก่าของคอลเลจก็ไม่มีครัวร้อน มีเพียงห้องเตรียมอาหารรวม (เรียกติดปากว่า Gyp) ที่มีแต่ไมโครเวฟและเครื่องปิ้งขนมปัง กลายเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมหุงหาอาหารด้วยไมโครเวฟ จนมีการประดิษฐ์สูตรมาแบ่งกันในหมู่นักเรียนตามคอลเลจต่างๆ ที่โดนจับให้อยู่ตามอาคารเก่าๆ ที่ไม่มีครัวร้อนเหล่านี้

เรื่องการเนรมิตอาหารร้อนโดยใช้ไมโครเวฟนี้ เพื่อนแฟลตเมตนักเรียนแพทย์ปี 4 ที่เคยอยู่ในตึกเก่าเคยเล่าให้ฟังอยู่ทีหนึ่ง แกบอกว่าแกเคยทำอาหารเอเชียใต้-กลาง จำพวกแผ่นแป้งที่กินพร้อมกับข้าว เช่น นาน ด้วยไมโครเวฟสำเร็จมาแล้ว นับได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในชีวิตการเรียนกันเลยทีเดียว 

เรื่องป้องกันอัคคีภัยที่นี่จัดเป็นเรื่องใหญ่ครับ เพราะนอกจากจะไม่มีเตาแก๊สให้ใช้แล้ว ยังไม่อนุญาตให้จุดเทียน จุดธูป หรืออะไรต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประกายไฟด้วย ทั้งหมดนี้เขียนไว้ชัดเจนในคู่มือนักเรียนใหม่ทุกคน นอกจากนี้ ทางคอลเลจยังส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสัญญาณเตือนไฟไหม้อยู่เป็นประจำ ถ้าใครชอบตื่นสายแต่ห้องนอนดันอยู่ใกล้เจ้าเครื่องตรวจควันไฟนี่ เป็นอันต้องเคยโดนปลุกด้วยสัญญาณเตือนไฟไหม้บ่อยๆ แน่

นอกจากเรื่องอัคคีภัยแล้ว ในคู่มือยังมีข้อระวังในการใช้งานส่วนต่างๆ ภายในบริเวณตึกเก่าของคอลเลจอีกจำนวนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ให้ระวังลื่นหรือหกล้มบริเวณทางเดินปูพื้นหินที่สึกเป็นรอยเว้าไม่สม่ำเสมอ เพราะคนเดินเหยียบซ้ำๆ มาแล้วเป็นเวลาหลายร้อยปี หรือให้ระวังหัวโขกคานไม้ คานหิน หรือช่องประตูต่างๆ ที่บางทีไม่ได้สร้างโดยคิดไว้ก่อนว่าอีกหลายร้อยปีต่อมามนุษย์จะมีส่วนสูงโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น

การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
คู่มือนักเรียนในหัวข้อเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่ออยู่ในอาคารโบราณ
การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
คู่มือนักเรียนชี้แจงการห้ามจุดไฟด้วยอุปกรณ์ต่างๆ
การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
“ช่องประตูเตี้ย โปรดระวังศรีษะของท่าน”
การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
ประตูไม้เจ้าปัญหา ทางเข้า Dining Hall

  ล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทางคอลเลจเพิ่งปรับปรุงอาคารสองชั้นสมัย Elizabethan เพื่อเพิ่มจำนวนห้องพักสำหรับสมาชิกในคอลเลจ ทีแรกทุกคนตื่นเต้นมากเพราะอาจจะได้รับอนุญาตให้ย้ายไปอยู่ในตึกโบราณที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ แต่สุดท้ายก็เลิกตื่นเต้นกันไป เพราะความจริงคือ ห้องต่างๆ ในตึกนี้แคบมาก มิหนำซ้ำห้องชั้นบนยังมีเพดานต่ำ เรียกได้ว่าทีมงานที่ปรับปรุงตึกทำงานได้อย่างดีเลิศ เพราะเก็บรักษาลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ Elizabethan ไว้ได้ครบ ครบซะจนคนสมัยนี้อยู่ลำบาก!

การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
กลุ่มอาคารสมัย Elizabethan ที่เพิ่งปรับปรุง

  สิ่งปลูกสร้างหลายอย่างสร้างขึ้นผ่านกรอบการใช้งานในสมัยนั้นๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้เราใช้การสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นไม่ได้ตามจุดประสงค์ดั้งเดิม พอเป็นเช่นนี้ เราถึงได้เห็นสิ่งปลูกสร้างบางแห่งหมดฟังก์ชันของตัวเองไป บางแห่งถูกเปลี่ยนการใช้งานใหม่ หรือบางแห่งต้องรีบปรับตัวเพื่อให้ยังใช้งานได้ในรูปแบบเดิม

รอบๆ ตัวผมมีตัวอย่างของสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดนี้ให้เห็นได้ในชีวิตประจำวันทุกวันครับ เริ่มจากประตูทางเข้าคอลเลจประตูหนึ่งที่ปิดตายไปแล้วเพราะหมดประโยชน์ เดิมทีประตูนี้เป็นประตูดั้งเดิมที่เปิดออกไปเป็นท่าน้ำ คอลเลจรุ่นเก่าๆ หลายแห่งในเคมบริดจ์ล้วนสร้างอยู่ริมแม่น้ำเคมครับ แต่ละแห่งจะมีประตูเข้าออกตรงสู่แม่น้ำซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งหลัก แต่อย่างที่ Peterhouse นี้ อยู่ไปอยู่มา สาขาของแม่น้ำเคมที่เคยเป็นสาขาหลักในสมัยแรกตั้งคอลเลจกลับแห้งไป สลับกับแม่น้ำสาขารองในสมัยนั้นกลายเป็นสาขาหลักในสมัยนี้แทน จากทีแรกที่มีแม่น้ำไหลเลียบรั้วฝั่งทิศตะวันตกของคอลเลจ ตอนนี้ริมรั้วนั้นกลายเป็นบึงแห้งๆ มีหญ้าขึ้นเต็ม ใช้เป็นเส้นทางสัญจรหลักไม่ได้อีกต่อไป เป็นอันว่าต้องปิดประตูนี้ไปอย่างถาวร

การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
ประตูท่าน้ำที่ปิดตายจากด้านนอก
การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
ประตูท่าน้ำที่ปิดตายจากด้านใน
การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
นอกรั้วคอลเลจบริเวณที่เคยเป็นแม่น้ำ

ต่อมาเมื่อถนนกลายเป็นเส้นทางสัญจรหลัก ประตูทางเข้าใหญ่ของคอลเลจก็ย้ายจากฝั่งทิศตะวันตก ซึ่งหันไปทางฝั่งแม่น้ำ มาเป็นฝั่งทิศตะวันออก ซึ่งเปิดออกไปเป็นถนนที่วิ่งตรงเข้าสู่บริเวณที่ปัจจุบันเป็นกลางเมืองแทน แต่ด้วยความที่กลุ่มอาคารเก่าของคอลเลจออกแบบตามแผนผังเดิมที่ทางเข้าอยู่ทิศตะวันตก ตอนนี้เวลาเดินเข้าประตูใหญ่ เราจึงรู้สึกเหมือนเดินเข้ามาทางข้างหลังของกลุ่มอาคารนี้แทน

การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
วัดน้อยใน Peterhouse ที่หันหลังให้ประตูทางเข้าหลักในปัจจุบัน
การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
ร่องรอยภาพเขียนบนฝาผนังโบราณที่ซ่อนอยู่หลังกำแพงที่สร้างขึ้นมาทับในยุคหลัง พบระหว่างการบูรณะคอลเลจเมื่อ 2 ปีก่อน

ในเคมบริดจ์ยังมีสิ่งปลูกสร้างจำนวนหนึ่งที่เปลี่ยนฟังก์ชันไปแล้ว ที่หลายคนน่าจะรู้จักดีก็คืออาคารเรียนของ Judge Business School ที่สมัยหนึ่งเคยเป็นอาคารหลักของโรงพยาบาล Addenbrooke’s ก่อนจะย้ายออกไปสร้างเป็นศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่นอกเขตเมืองเก่าเมื่อช่วงปี 1960 ตอนนี้ถ้าใครเดินผ่านก็จะเห็นอาคารผู้ป่วยนอกที่ยังมีป้ายหินสลักชื่อไว้ชัดเจน กลายเป็นร้านอาหารหรูประจำเมืองไปเรียบร้อย

การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
Judge Business School ในปัจจุบัน
การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
อาคารผู้ป่วยนอก ‘Outpatients’

อีกหนึ่งตัวอย่างของอาคารที่เปลี่ยนฟังก์ชันไปตามยุคสมัย คืออาคารโรงพิมพ์ของสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ครับ เมื่อต้นศตวรรษที่ 19  สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยฯ สร้างสำนักงานใหญ่พร้อมโรงพิมพ์หลังใหม่ขึ้นที่บริเวณใจกลางเมืองเก่า เป็นอาคารทรงนีโอ-โกธิก มียอดสูงสะดุดตา ตั้งชื่อว่า The Pitt Building เป็นเกียรติแก่ วิลเลียม พิตต์ หรือ William Pitt the Younger นายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ (รับตำแหน่งตอนอายุ 24 ปี) ต่อมาสำนักพิมพ์ย้ายออกไปนอกเขตเมืองเก่า และอาคาร The Pitt Building ก็ปรับปรุงกลายเป็นศูนย์ประชุมครบวงจรแทน

ส่วนอาคารขนาดใหญ่แถวนี้ที่พยายามรักษาฟังก์ชันของตัวเองไว้ ก็คงหนีไม่พ้นหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยครับ หอสมุดกลางของเคมบริดจ์ย้ายจากบริเวณใจกลางเมืองเก่าออกไปสร้างใหม่เป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่มหึมา และเปิดให้บริการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1934 แต่ล่าสุดเมื่อประมาณ 3 – 4 ปีที่แล้วนี้เอง เพิ่งเกิดปรากฏการณ์หอสมุดชั้นวางเต็ม ขยายพื้นที่จัดเก็บหนังสือไม่ทัน ทำให้ต้องกองหนังสือหลายเล่มไว้บนพื้นหรือบนโต๊ะอ่านหนังสือ ตอนนั้นทางหอสมุดยังต้องยกชั้นวางชั่วคราวมาตั้งบริเวณทางเดินต่างๆ รอบหอสมุดเพื่อจัดเก็บหนังสือไปพลางๆ แทบจะเรียกได้ว่า ผู้ใช้บริการในช่วงนั้นได้ฝึกฝนทักษะใหม่ นั่นก็คือการล่าขุมทรัพย์ตามลายแทงกันเป็นกิจวัตร

การใช้ชีวิตใน Cambridge University โบราณสถานที่สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 13
กองหนังสือในห้องสมุด
คำอธิบายการหาหนังสือที่หลุดจากชั้นวาง

ทุกวันนี้เมืองโบราณที่ยังมีชีวิตนี้เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์มากมายที่พยายามทำให้ชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกับมรดกทางประวัติศาสตร์ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงพื้นที่ในโบสถ์อายุ 400 ปีให้เป็นเวทีการแสดงหรือเป็นสภากาแฟย่อมๆ ในช่วงเวลาที่ไม่ได้มีกำหนดการประกอบพิธีทางศาสนา หรือการเปลี่ยนพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสังสรรค์นอกเวลาทำการ ไปจนถึงการถกเถียงกันเรื่องกฎระเบียบในการใช้สอยพื้นที่ที่จัดเป็นอาคารอนุรักษ์ ในทางกลับกัน วิธีการเหล่านี้ก็เป็นการคืนชีวิตให้โบราณสถานมีประโยชน์ใช้สอยอย่างสม่ำเสมอและไม่ถูกทิ้งร้าง

ชีวิตในโบราณสถานทำให้เราเห็นสัจธรรมที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงเป็นของธรรมดา และสิ่งต่างๆ ล้วนต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับยุคสมัยอยู่เสมอ มิเช่นนั้นตัวเองก็จะกลายเป็นเพียงอนุสรณ์แห่งกาลเวลา หากแต่ประโยชน์ใช้สอยในความเป็นจริงนั้นได้หมดไปนานแล้ว โบราณสถานที่ยังมีชีวิตเหล่านี้กำลังบอกกับเราว่า อดีตอาจอยู่ร่วมกับปัจจุบันได้ ถ้าอดีตเข้าใจและยอมรับความจริงข้อนี้ครับ

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พีรพัฒน์ อ่วยสุข

นักเรียนโบราณคดี อาชีพหลักคืออ่านจารึกอักษรลิ่ม เวลาว่างชอบคุยกับแมว ดูมหรสพ