19 ธันวาคม 2024
875

เรียกพวกคุณว่า ‘คู่หู’ ได้ไหม

เราถามคนตรงหน้าก่อน เพื่อให้นิยามความสัมพันธ์พวกเขาไม่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง ทั้งสองพยักหน้าพร้อมกัน คงเพราะระยะเวลา 10 ปีที่ทำงานด้วยกันมา การันตีความสัมพันธ์ของ ครูบัว-ผศ.ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ และ ครูหนิง-ผศ.ดร.พันพัสสา ธูปเทียน

โลกของละครเวทีและการศึกษาว่าด้วยศิลปะการละคร ชื่อของครูหนิงและครูบัวจัดเป็นเบอร์ต้น ๆ ที่คนเชื่อในฝีมือการกำกับและเขียนบท พวกเธอกำลังขยายพื้นที่ทำงานมายังอุตสาหกรรมบันเทิง ผ่านผลงานภาพยนตร์ แมนสรวง และซีรีส์ 4MINUTES 

ในฐานะคนดู เราสัมผัสได้ว่าวงการศิลปะการแสดงบ้านเรามีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน เช่น วงการละครเวที วงการภาพยนตร์ วงการละครโทรทัศน์ ฯลฯ หากคนจากวงการหนึ่งข้ามไปอีกวงการ เป็นเรื่องที่สร้างความแปลกใจได้

ถึงแบ่งอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้คำว่า ‘ศิลปะการแสดง’ สำหรับครูหนิงและครูบัว ศิลปะคือศิลปะ ไม่ว่าคนจะทำมันออกมาในรูปแบบไหน ก็คือการสร้างสรรค์งานศิลปะ จึงไม่ควรมีการแบ่งแยก และมีพื้นที่สำหรับทุกคนที่ตั้งใจ

การขยับออกจากพื้นที่ปลอดภัยอย่างโรงละครเวทีมาสู่กองถ่ายภาพยนตร์และซีรีส์ ที่เปิดประสบการณ์ทั้ง 2 คน ก็เพื่อบรรลุเป้าหมายที่อยากสร้างพื้นที่ให้คนเรียนละครในอุตสาหกรรมสื่อบันเทิง

“ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตแบบสุขนิยม อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ จนมาถึงจุดที่รู้สึกว่าอีกไม่กี่ปีจะเกษียณแล้วนะ จึงอยากใช้เวลาที่เหลือพิสูจน์ว่างานเราเป็นหลักเป็นฐาน เลี้ยงชีพได้ไม่แพ้อาชีพอื่น เพราะเรารู้มาตลอดว่าลูกศิษย์หลายคนมีคำถามในใจ บางคนทะเลาะกับพ่อแม่เพื่อมาเรียนละคร เราจึงสนใจและอยากทำให้สำเร็จ”

สถานที่ที่เรานัดพบกันคือ ‘LiFE THEATRE’ โรงละครและสถานที่สอนศิลปะการแสดงซึ่งเกิดขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของพวกเธอ อีกทั้งมาจากเหตุผลที่อยากสร้างฐานที่มั่นเป็นหลักแหล่งให้คนที่เรียนละครมาโดยตรง เพื่อยืนยันว่านักเรียนละครทุกคนจะมีทางไป ไม่ต้องทะเลาะกับคนรอบตัวเพื่อมาเรียน หรือถูกตั้งคำถามว่าเรียนแล้วจะไปทำอะไรต่อ

หากบทสนทนาเปรียบเสมือนหนัง ละครเวที หรือซีรีส์สักเรื่อง คงยังไม่มีตอนจบที่เราต้องรอดูในอนาคต แต่บทสนทนานี้จะพาเราไปดูจุดเริ่มต้นของทั้งคู่ การได้พบกัน และการร่วมงานกันมาจนถึงวันนี้

ผู้กำกับ

‘คนชายขอบ’ องค์ประกอบที่มีอยู่ในเกือบทุกงานของครูหนิง เพราะชีวิตวัยเด็กที่ต้องติดตามผู้เป็นพ่อซึ่งดำรงตำแหน่งนายอำเภอ จึงต้องโยกย้ายตามไปหลายจังหวัด ทั้งพิจิตร กำแพงเพชร น่าน เลย ไปจนถึงที่ที่ตามไปอยู่ด้วยไม่ได้เพราะไม่สะดวกสบาย แต่ก็พอทำให้ครูหนิงสัมผัสวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เห็นความแตกต่างหลากหลายของคน

“เราเห็นความขัดแย้งในพื้นที่ เห็นความเหลื่อมล้ำในการเป็นข้าราชการที่ต้องสมดุลให้ได้ระหว่างนายเรากับความอยู่รอดของชาวบ้าน และเห็นความยากลำบากที่พ่อต้องเผชิญ

“งานของเราจึงมักพูดถึงความแตกต่างหลากหลาย แล้วก็ไม่เล่าแบบตัดสิน เนื่องจากเราเคยได้สัมผัสจริง ๆ ได้เห็นวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ เห็นความทุกข์-ความสุขซึ่งหน้าตาไม่เหมือนกันเลยของแต่ละคน ทุกพื้นที่มีมิติของมันเอง ดังนั้น หน้าที่ผู้กำกับจึงไม่ใช่การชี้นำหรือตัดสินใคร แต่เล่าเพื่อให้คนเข้าใจกันและกันมากกว่า”

ครูหนิงชอบอยู่กับตัวเอง มีจินตนาการเป็นเพื่อนที่มักถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องสั้นหรือกลอน บางทีก็หยิบเรื่องที่เขียนให้เพื่อนแสดงกันเล่น ๆ เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทำให้เธออยากเป็นผู้กำกับ

“งานเขียนเรามักพูดถึงสิ่งที่ตัวเองเจอ เช่น พูดถึงพ่อที่ต้องฆ่าอะไรบางอย่างเพื่อเอาเงินมาให้ลูก พ่อทำสิ่งนี้ถูกไหมนะ ชอบเขียนอะไรแบบนี้มาตั้งแต่ ม.ต้น บางทีก็รู้สึกว่าทำไมเราดาร์กจัง” อารมณ์ตลกร้ายเป็นสิ่งที่มีอยู่ในงานครูหนิง เธอว่าเป็นนิสัยพื้นฐานของคนไทยที่พยายามทำเรื่องทุกข์ให้กลายเป็นเรื่องตลก และมันช่วยให้การเล่าเรื่องของเธอสนุกขึ้นได้จริง 

The Actor Studio สมาคมจากนิวยอร์กที่รวบรวมนักแสดง ผู้กำกับ และคนเขียนบททั่วโลก ซึ่งสมาชิกที่มีชื่อเสียง เช่น Marilyn Monroe, Marlon BrandoLee Strasberg, Stella Adler ฯลฯ ครูหนิงถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เป็นสมาชิกสมาคมนี้

ด้วยความที่สมาชิกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทำให้ The Actor Studio เปิดโรงเรียนที่ชื่อว่า The Actors Studio Drama School สอนศาสตร์ที่ใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ หนึ่งในนั้นคือวิธีแสดงแบบ Method Acting ที่เนื้อหามาจากผู้ให้กำเนิดอย่าง Konstantin Stanislavski

บางคนมองว่า Method Acting เป็นวิธีอันตราย เพราะมีนักแสดงหลายคนมาเล่าประสบการณ์ว่ามันทำลายทั้งสุขภาพกายและใจมาก ซึ่งครูหนิงคิดว่า Method Acting อันตรายหากคนใช้ด้วยความไม่เข้าใจ สิ่งแรกที่ต้องทำหากอยากใช้วิธีนี้ คือทำความเข้าใจ แล้วฝึกสติให้นักแสดงรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร การเข้าไปเป็นตัวละครคือการทำตามหน้าที่ ต้องทำโดยที่ยังมีสติอยู่ ไม่เช่นนั้นนักแสดงจะกลายเป็นร่างทรงที่ถูกครอบ

“ไม่มีหรอกนะที่จะขังตัวเองในห้อง 24 ชั่วโมง อดข้าวอดน้ำเพื่อเป็นตัวละคร หรือเล่นเสร็จแล้วแบกตัวละครกลับบ้าน ครูของเราจริงจังเรื่องนี้มาก ถึงขั้นด่าเลยถ้าทำแบบนั้น พอออกจากฉากปุ๊บ เขาจะให้เรามองตา เช็กว่าเป็นอย่างไร เรายังอยู่กับเขาไหม การมีสติถึงสำคัญมาก ๆ 

“เราว่าวิธีนี้อันตรายถ้าใช้แบบเข้าใจผิด มันไม่ควรให้วิชาชีพมาทำร้ายเรา”

แล้วนักแสดงที่มาเล่นกับครูหนิงต้องใช้วิธีนี้ไหม – เราสงสัย เพราะเธอนับเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เรียนมาจากผู้เชี่ยวชาญอีกที ครูหนิงตอบทันทีว่าไม่จำเป็น ถ้าอยากเรียน เธอก็เปิดคลาสสอน แต่ถ้าเป็นการทำงาน เธอจะปล่อยให้นักแสดงตัดสินใจเองว่าควรใช้วิธีไหนเพื่อเข้าถึงตัวละครนั้น ๆ ผู้กำกับมีหน้าที่บอกว่าต้องการอะไร แล้วคุยเพื่อให้นักแสดงหรือทีมงานเข้าใจสิ่งนี้ด้วยตัวเอง

“เราเชื่อในการทำงานที่คอนเซปต์ชัดว่าต้องการอะไร แก่นที่อยากเล่าคืออะไร ให้คนทำงานเข้าใจแล้วเอาไปทำงานต่อได้ เราว่าหน้าที่ของผู้กำกับคือการทำให้ทุกคนดึงศักยภาพที่มีมาใช้ได้อย่างสูงสุด ผู้กำกับเป็นคนคอยมองให้งานของทุกคนอยู่ในโลกใบเดียวกันเป็นเอกภาพ”

คนเขียนบท

ถ้าครูหนิงเติบโตมาในสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ชีวิตของครูบัวก็คงเป็นคนละขั้ว ครูบัวเรียนจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกด้านการเขียนบทที่ประเทศอังกฤษ พอกลับมาเธอเลือกมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะไม่ชอบทำงานบนโจทย์ที่มีเรื่องการตลาดมาเกี่ยวข้อง

“ไม่เชิงว่าไม่ชอบนะ” ครูบัวเริ่มต้นอธิบาย “ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโท เราเคยทำงานเป็นคนเขียนบทประมาณ 1 – 2 ปี ด้วยความที่ยังเด็ก ยังไม่ค่อยมีใครฟังคำพูดของเรา เวลาได้โจทย์ที่มีการตลาดมาเกี่ยวข้อง แล้วเราพยายามหาทางทำให้บทนั้นมีความลุ่มลึกขึ้น มีน้ำหนัก มันสู้ยาก”

เหตุผลอีกข้อ คือเมื่อเธอตัดสินใจไปเรียนต่อหลายปี พอกลับมาทำงานเป็นคนเขียนบทจึงเกิดช่องว่างที่ทำให้ครูบัวรู้สึกว่าการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมาะกับเธอมากกว่า 

“ถ้าจะเป็นคนเขียนบทก็ไม่ควรไปเรียนต่อ เพื่อนเราหลายคนเลือกทำงาน ต่างจากเราที่ตัดสินใจไปเรียนต่อ เพราะไม่มั่นใจว่าความรู้ที่มีในตอนนั้นเพียงพอจะทำอาชีพนี้ได้ไหม” แม้จะเลือกเรียนโทศิลปการละครสมัยเรียนปริญญาตรี พร้อมกับทำงานคลุกคลีในกองมาละครมากมาย แต่ครูบัวก็ยังไม่มั่นใจในฝีมือตัวเอง การเรียนต่อจึงเป็นวิธีแก้ที่ทำให้เธอได้ในสิ่งที่ไม่ได้คาดหวัง

ครูบัวเติบโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจ เธอนิยามตัวเองในวัยเยาว์ว่า ‘ไร้เดียงสา’ รู้จักโลกด้านเดียว การเรียนระดับปริญญาเอกจึงเปลี่ยนแปลงวิธีมองโลกของเธอโดยสิ้นเชิง

การเรียนระดับปริญญาเอก ผู้เรียนหาความรู้ผ่านการทำวิจัยและสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นคนดูแล อาจารย์ที่ปรึกษาของครูบัวในเวลานั้นเคยเป็นทหารเรือที่ผ่านสมรภูมิสงครามเวียดนามและประจำการที่บราซิล คงไม่ต้องบอกว่ามุมมองของเขาที่มีต่อโลกเป็นอย่างไร เพราะมันถูกถ่ายทอดให้ครูบัวในระดับที่ว่าทำให้เธอเปลี่ยนไปคนละคน

“อาจารย์ชวนเราตั้งคำถามเยอะมาก ทำให้เราเห็นว่าโลกไม่ได้เป็นอย่างที่เคยคิดไว้ ด้วยความที่เราเคยอยู่โลกแคบ ๆ ประมาณหนึ่ง ไม่เคยถูกทำให้ตั้งคำถามขนาดนี้ กลายเป็นว่าทุกอย่างที่เราเคยเชื่อมั่น เคยยึดถือ มันไม่ได้มีคำตอบตายตัวอย่างที่เราคิดมาตลอด มีความจริงอีกด้านที่เราไม่รู้

“สิ่งที่เราได้จากปริญญาเอกคือการมองโลกที่เปลี่ยนไป โลกไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดเลย เรามองอะไรที่มีมิติมากขึ้น คิดวิเคราะห์มากขึ้น” เป็นผลให้ครูบัวไม่ชอบเขียนบทแบนราบหรือสร้างตัวละครที่มีแค่มิติเดียว 

สิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในงานเขียนครูบัวตั้งแต่เริ่มเขียนจนถึงทุกวันนี้ คือการปะทะกันของความเป็นจริงกับจินตนาการ ครูบัวบอกว่ามาจากความชอบผลงานของ Tennessee Williams ที่มักใช้ประเด็นนี้เช่นเดียวกัน

“เราไม่ใช่คนเขียนบทเร็ว ถึงเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงเริ่มทำงานในอุตสาหกรรมนี้ช้า เราเคยทำงานแข่งกับเวลาแล้วนะ แต่รู้สึกไม่ใช่ เลยไปทำงานอื่นอย่างเป็นที่ปรึกษาบทแทน เราว่าไม่มีทางที่งานจะออกมาจากความคิดลวก ๆ ได้เลย”

คู่หูสร้างสรรค์ผลงาน

ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือจุดเริ่มต้นที่ทั้งคู่ได้ทำงานด้วยกัน ทั้งในฐานะนักแสดงละครเวที นางฟ้านิรนาม หรือบทบาทผู้กำกับ-คนเขียนบทละครเวที ฉุยฉายเสน่หา ผลงานเรื่องแรกที่ทำด้วยกันก็ประสบความสำเร็จ ได้รางวัลจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงปี 2013 และเสียงตอบรับที่ดีจากคนดู

“เราเจอผู้กำกับที่จะทำงานด้วยตลอดไปแล้ว” ความรู้สึกของครูบัวหลังได้ร่วมงานกับครูหนิง ผู้กำกับเปรียบเสมือนคนชี้ชะตาว่าบทที่เธอเขียนจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร ต้องอาศัยการทำงานด้วยกัน พูดคุยเพื่อให้งานออกมาตามที่ทุกคนพอใจ

“เราเคยดูงานครูหนิงก่อนมาร่วมงานกัน ชอบมาก เพราะเห็นเลยว่าสร้างงานด้วยความประณีตและพิถีพิถัน เขาไม่ปล่อยสักจุดจริง ๆ

“ครูหนิงเป็นผู้กำกับที่เคารพบทมาก ๆ มีผู้กำกับมากมายที่มองบทเป็นแค่ตัวตั้งต้น ที่เหลือเขาจะเดินไปทางไหนก็ได้ แต่เราไม่ได้เขียนบทแบบนั้น ทุกตัวอักษร ทุกประโยคผ่านการคิดมาแล้ว ถ้าจะปรับบทต้องคุยกัน เราถึงดีใจที่เจอผู้กำกับซึ่งยึดบทเป็นหลักและทำออกมาให้ดีที่สุด”

ครูหนิงเป็นฝ่ายชวนครูบัวมาเขียนบทละครเวที ฉุยฉายเสน่หา ในขณะที่คนเขียนบทต้องการผู้กำกับมาเล่างานตัวเอง ผู้กำกับเองก็ต้องการคนเริ่มต้นจับไอเดียฟุ้งกระจายมาประกอบเป็นเรื่องราว ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยการพูดคุย และถ้ามีความคิดมุมมองแตกต่างกันเกินไป อาจทำงานด้วยกันไม่ราบรื่น

ครูหนิงคิดว่าครูบัวคือคนที่ ‘น่าจะทำงานด้วยได้’ ด้วยความเป็นคนละเอียดอ่อนในการทำงาน และดูท่าทางเป็น ‘คนดี’ รับฟังคนอื่น อันเป็นคุณสมบัติจำเป็นในการทำงานร่วมกัน

“ไม่ใช่ว่าต้องมองอะไรเหมือนกันตลอดเวลานะ เพียงแต่คำพูดต้องมีน้ำหนัก เช่น เวลาครูหนิงฟีดแบ็กบทเรา เราจะฟังแล้ว อืม จริงว่ะ ก็แก้ตามที่เขาบอก หรือเขาให้คำแนะนำเราได้ว่าบทเราควรเล่าอย่างไร”

ครูหนิงมองทุกอย่างเป็นภาพ ส่วนครูบัวมองเป็นเส้นเรื่อง ครูหนิงบอกว่าตัวเองเขียนบทไม่ได้เพราะต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ จึงต้องการคนเขียนบทมาเริ่มต้นและช่วยกันประกอบไอเดียสร้างสรรค์งาน (ครูบัวเสริมว่าครูหนิงเขียนบทได้แต่ไม่อยากเขียน ซึ่งดีแล้ว ไม่งั้นเธอจะไม่มีงาน)

“เราถึงให้ความสำคัญกับบทมาก เพราะทุกอย่างสร้างจากบท ทีมงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ นักแสดง ฝ่ายเสื้อผ้า หรือแม้แต่คนตัดต่อเสียง ต้องทำงานต่อจากบท ถ้าสารตั้งต้นไม่ดี จะกลายเป็นงานแก้ปัญหามากกว่างานพัฒนาต่อยอด เราเป็นผู้กำกับที่สนุกกับการหาตัวเลือกว่าจะทำบทนั้นให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างไร”

อุตสาหกรรมสื่อบันเทิง

หลังจากทำงานละครเวทีมหาลัยด้วยกัน ออกไปรับงานละครเวทีข้างนอกบ้าง หรือทำงานบทบาทอื่น ๆ อย่างครูหนิงเป็นแอคติ้งโค้ช ส่วนครูบัวเป็นที่ปรึกษาบทให้ละครเรื่องต่าง ๆ

แมนสรวง นับเป็นการทำงานที่ทั้งคู่ได้ออกไปพื้นที่ที่ไม่เคยย่างเท้าเข้าไปอย่างโลกของภาพยนตร์

“เราประทับใจงานนี้ตรงที่ว่า เราพยายามสอดแทรกสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น เช่น การเมือง นาฏศิลป์ไทย” นอกจากความประทับใจในงานที่ครูหนิงมี บรรยากาศการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์ก็มีจุดที่เธออยากพัฒนาให้ดีขึ้น

การทำละครเวที ครูหนิง-ครูบัวรู้สึกตรงกันว่า เพศไม่มีผลต่อการทำงาน แต่พื้นที่ทำงานอื่น ๆ อย่างภาพยนตร์ สิ่งนี้ยังคงมีผลสำคัญ อาจเพราะคนทำงานบางส่วนติดกับวิธีคิดดั้งเดิมที่ขัดแย้งกับความคิดปัจจุบัน

“ถ้าคุณเป็นผู้หญิง ภาพลักษณ์คุณต้องดูเท่ ๆ หน่อย เรา 2 คนมาเป็นป้าดูเชย ๆ เลย แต่เราเชื่อว่าตัวเองไม่เชยนะ แค่รูปลักษณ์เราเป็นแบบนั้น แล้วเราก็อยากเป็นเรา ไม่ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ ศิลปินควรจริงใจกับตัวเองก่อน เรานับถือคนที่กล้าเป็นตัวเอง ถ้าเขาชอบแต่งตัวเก๋ ๆ เราก็ชื่นชมเขานะ” ครูบัวยกตัวอย่างสิ่งที่เธอเคยสัมผัส

“ตอนทำเรื่อง 4 MINUTES ทีมงานส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ เราเห็นเลยว่าเขาตระหนักเรื่องความเท่าเทียม บรรยากาศทำงานมันดีขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้วิธีล้อเลียนเพื่อสร้างความตลก”

ถึงจะทำงานหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่ทั้งคู่ชอบตรงกันยังเป็นละครเวที เพราะความสดใหม่และการปรุงแต่งน้อยที่ต้องอาศัยคนเป็นหลัก ซึ่งคนเขียนบทมีความสำคัญมาก ๆ แม้บทจะเป็นสารตั้งต้นของงานทุกประเภท แต่หลายครั้งก็มีคนช่วยถ่ายทอดมาตั้งต้นจนถึงปลายทาง สิ่งที่คนเขียนบทคิดอาจเหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์

“ถ้าเป็นหนังหรือซีรีส์ถ่ายกี่เทคก็ได้ เอาเสียงเทปอื่นมาใส่ฉากนี้ก็ยังได้ หรือภาพจริง ๆ ไม่ได้สวยก็ใช้วิธีเกลี่ยสีช่วยได้ แต่เวลาทำละครสด ๆ เราพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ มันต้องพึ่งพามนุษย์จริง ๆ ด้วยร่างกาย เสียง หรือมันสมองของเขา”

ในฐานะผู้กำกับจะทำให้ความสดยังอยู่ได้อย่างไร วิธีของครูหนิง คือการถ่ายแต่ละฉากเธอจะให้นักแสดงเล่นต่อเนื่อง ถ้าเล่นจนจบได้ยิ่งดี เพราะเธอไม่ชอบการทำงานตัดแปะ ถ่ายทีละเทคสลับไปมาแล้วเอามาตัดต่อทีหลัง เธออยากให้ความเป็นมนุษย์ยังคงอยู่ในงาน

“เราเชื่อว่านักแสดงที่เตรียมตัวมาอย่างดีจะทำได้ และทีมงานเองก็ชอบความสด ความสมจริงที่จะออกมาจากงาน”

Life Creator

ปัจจุบันครูบัวเป็นหัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 7 ย่างเข้าปีที่ 8 ส่วนครูหนิงเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรจิตรกรรมและศิลปกรรม สาขาวิชาสื่อและการสื่อสาร วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และทั้งสองเปิดบริษัทร่วมกันที่ชื่อว่า Life Creator

เราเคยหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนี้แล้วพบว่ามีหลายคำที่น่าสนใจอย่าง Life Studio และ Life Theatre ทำให้เราสงสัยว่าแต่ละคำสัมพันธ์กันอย่างไร

Life แรกสุดเป็นชื่อบริษัทที่ทั้งคู่ตั้งด้วยกัน ส่วน Life ที่ 2 เป็นชื่อที่ใช้ในการทำงาน และ Life สุดท้ายเป็นชื่อโรงละครที่เรากำลังนั่งอยู่

หากจะถามว่าทำไมต้องใช้คำว่า Life เป็นหลัก ครูบัวผายมือไปที่ครูหนิง “เขาเป็นคนคิดคำนี้มาตั้งแต่แรก”

ไม่ต้องสงสัยว่าครูหนิงชอบคำนี้แน่ ๆ และที่ชอบเพราะว่าอธิบายสิ่งที่เธอทำได้ครบถ้วน การเล่าเรื่องที่หนีไม่พ้นชีวิต อยู่ที่ว่าเป็นชีวิตแบบไหน 

“ที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตแบบสุขนิยม อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้องทำ จนมาถึงจุดที่เรารู้สึกว่าอีกไม่กี่ปีจะเกษียณแล้วนะ เราเลยอยากใช้เวลาที่เหลือพิสูจน์ว่างานเราเป็นหลักเป็นฐาน เลี้ยงชีพได้ไม่แพ้อาชีพอื่น เพราะเรารู้มาตลอดว่าลูกศิษย์หลายคนมีคำถามในใจ บางคนทะเลาะกับพ่อแม่เพื่อมาเรียนละคร เลยเป็นเรื่องที่เรากำลังสนใจและอยากทำให้สำเร็จ”

ครูหนิงไม่ได้สนใจสิ่งนี้แค่คนเดียว แต่ได้ครูบัวมาร่วมทางทำสิ่งนี้ไปด้วยกัน “อุตสาหกรรมนี้มีคนเก่งเยอะ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนที่ทำงานลวก ๆ เราเหลือเวลาไม่มาก แล้วตอนที่เด็กกว่านี้คงทำสิ่งนี้ไม่ได้แน่ ๆ คงถึงเวลาที่เราต้องทำที่ทางให้ลูกศิษย์”

เมื่อแรกทั้งคู่เริ่มจากเปิดคลาสสอนเป็นเรื่อง ๆ ไป จนกระทั่งพบว่าการมีที่ตั้งเป็นเรื่องสำคัญ ไม่อย่างนั้นคนคงจะถามว่าคราวนี้ Life Studio ไปอยู่ที่ไหน แต่การหาสถานที่ตั้งไม่ใช่เรื่องง่าย 

หลังจากตระเวนหามาหลายที่ จนมาเจอตึกที่ครอบครัวครูบัวเช่าสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นอาคาร 3 ชั้นที่ภายนอกดูเป็นตึกแถวทั่วไป แต่สภาพภายในทำให้ครูหนิงได้ไอเดียทำโรงละคร 

“ตอนเข้ามาที่นี่ครั้งแรก เหมือนเขาหลับอยู่เลย” 

จากที่ตั้งใจเปิดคลาสสอนชั้น 2 ก็เพิ่มโรงละครขนาดเล็กที่บริเวณชั้น 3 เราได้ดูละครเวทีเรื่องแรกของที่นี่ คือ The Life That Was (แน่นอนว่าต้องมี Life เป็นส่วนประกอบ) ที่นั่งมีประมาณ 100 ที่นั่ง ขณะที่พื้นที่แสดงก็ไม่ได้เป็นเวที แต่เป็นพื้นด้านหน้า นักแสดงไม่ต้องใช้ไมค์หรือเครื่องขยายเสียงใด ๆ เราได้ยินเสียงของพวกเขาตั้งแต่กระซิบจนถึงตะโกน พอ ๆ กับพลังงานที่พวกเขาส่งมา คงเป็นอรรถรสกับดูละครโรงเล็กอย่างหนึ่ง

“โรงละครมีหลายแบบ ด้วยความที่ที่นี่ไม่ได้สร้างมาเพื่อเป็นโรงละครจึงมีข้อจำกัด แต่เราว่ากลับเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว เคยคุยกับครูบัวว่าน่าจะเล่นกับพื้นที่ได้เยอะเลย”

โจทย์ในการทำละครเวทีเพื่อเปิดตัว Life Theatre มีไม่มาก นอกจากดึงความสนใจของคนที่ทั้งคู่มองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมาย เป็นคนดูที่สนใจละครเวทีที่ไม่ได้เล่าง่าย ๆ แต่ต้องใช้การตีความ ครูหนิงและครูบัวยังหยิบเรื่อง LGBTQ+ มาเล่า พร้อมกับใช้ความเป็นอดีตและปัจจุบันที่สะท้อนถึงที่ตั้งของโรงละคร

ละครเวทีที่ Life Theatre ตั้งใจทำเป็นละครพูด ซึ่งนับเป็นชนกลุ่มน้อยของละครเวที หากเป็นคนดูรุ่นราวคราวเดียวกันจะบอกว่าไม่ได้ดูละครแบบนี้มานานแล้ว ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็บอกว่าไม่เคยดูแบบนี้ อาจเพราะคุ้นชินกับละครเพลงหรือละครที่เน้นการเคลื่อนไหวทางร่างกาย (Physical Theatre) 

“ชีวิตมนุษย์มีเสน่ห์ ไม่ได้ต้องการการปรุงแต่งเสมอไป แค่ฉากที่ตัวละครพูดก็สร้างความสนใจได้โดยไม่ต้องร้องเพลงหรือใช้ภาพช่วย” ครูบัวกล่าว

การมีอยู่ของ Life Theatre ทั้งคู่ยังตั้งใจทำเป็นที่ทางให้คนเรียนละคร โดยให้นิสิต-นักศึกษาได้ทดลองทำงานก่อนพ้นจากรั้วมหาลัย 

“เราชวนลูกศิษย์มาดูรอบซ้อมใหญ่ จ้างเขาทำงานบางส่วน เช่น งานโปรโมตหรือทีมเบื้องหลัง ให้นิสิต-นักศึกษามาช่วยงานโดยมีค่าตอบแทนให้ ไม่อยากให้เราสอนแล้วก็ปล่อยเขาออกไปเจออะไรก็ไม่รู้ ถ้าเขาเจอที่ดี ๆ ก็โชคดีไป แต่สุดท้ายแล้วครูสอนละครก็ควรทำละครนะ และตอนนี้อุตสาหกรรมบันเทิงบ้านเราพึ่งพาคนที่ไม่ได้เรียนมา ซึ่งงานก็มีเอกลักษณ์ในแบบของเขา แต่ยังขาดพื้นที่ คนเรียนละครไม่ได้ทำละครก็ตลกนะ” ครูหนิงเล่า

ศิลปะ

ถ้าสังเกตรายชื่อทีมงานที่ขึ้นหลังละคร-ภาพยนตร์จบลง การเจอตำแหน่งทางวิชาการอย่างผู้ช่วยศาสตราจารย์ นับเป็นเรื่องที่หาได้ยากจนเข้าขั้นพิเศษ 

ครูหนิงเคยทำงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอกเกี่ยวกับระบบการศึกษาการละคร เธอพบว่าที่ต่างประเทศ ระบบการศึกษาและอุตสาหกรรมเป็นโลกเดียวกัน อาจารย์สอนไปพร้อม ๆ กับสร้างผลงาน เด็กที่เห็นผลงานและชื่นชอบตามมาเรียนที่ที่อาจารย์สอนได้ จบการศึกษามีการจัดแสดงผลงานที่คนในวงการมาดู มาหาคนไปร่วมงาน เพราะเชื่อมั่นในระบบการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา

แต่สถานการณ์ในไทยเป็นอีกแบบ ทุกอย่างแยกขาดจากกัน

“สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดรอยแยก คือภาระหน้าที่ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่เอื้อให้ออกไปทำงานข้างนอก ถูกบังคับให้ทำงานวิจัย ขณะที่การทำงานสร้างสรรค์ไม่ถูกสนับสนุน เราจึงต้องเลือกว่าจะไปทางไหน เป็นคนสอนหรือคนผลิตงาน”

ครูบัวเสริมครูหนิงว่าคนสอนจำเป็นต้องทำงานในอุตสาหกรรม เพื่อ ‘ลับอาวุธ’ ฝึกฝนฝีมือที่เรียนมา มีประสบการณ์กลับไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง ไม่ได้สอนแต่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียว

ลูกศิษย์หลาย ๆ คนพอรู้ว่าครูของพวกเขาทำงานในอุตสาหกรรมต่างรู้สึกดีใจ และยินดียิ่งขึ้นถ้าอาจารย์ชวนไปทำงานด้วย เพราะได้ผลงานไปพร้อมกับประสบการณ์ 

ตอนนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาสนับสนุนให้อาจารย์ออกไปทำงานข้างนอก เก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับมาสอนลูกศิษย์ งานของครูหนิง-ครูบัว ไม่ว่าจะเป็นงานที่ทำร่วมกันและงานเดี่ยว ต่างพยายามดึงลูกศิษย์และคนในแวดวงละครเวที ระบบการศึกษามาร่วมงานด้วย 

“ตอนนี้มีแพลตฟอร์มสื่อบันเทิงเกิดขึ้นมากมาย นักแสดงเป็นที่ต้องการมาก มีการแข่งขันสูง ฉะนั้น วงการนี้ไม่ใช่แค่พื้นที่ของคนหน้าตาดีอีกต่อไป แต่คุณต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีด้วย 

“ครอบครัวเริ่มยอมรับได้มากขึ้นถ้าลูกเลือกจะมาสายนี้ ไม่ต้องเรียนบริหารแล้วไปเรียนการแสดงข้างนอก หรือความเชื่อที่นักแสดงบางคนมีว่าไม่ต้องเรียนการแสดงหรอก ก็เริ่มน้อยลง” ครูหนิงเล่า

เพื่อกรุยทางให้ในอุตสาหกรรมนี้พวกเขา ในความรู้สึกของครูหนิง ไม่ว่าคนคนนั้นจะเรียนจบโดยตรงหรือไม่ แต่งานศิลปะก็คืองานศิลปะ ความสำคัญคงอยู่ที่ทุกคนได้มีพื้นที่ทำงานศิลปะของตัวเอง เพื่อสร้างความหลากหลายให้วงการและผู้บริโภค

“ตอนนี้มันกลายประเด็นหลักในการใช้ชีวิตของพวกเราไปแล้ว ถ้าถามว่าเรามีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ คิดว่าไม่มีแล้ว คงเหลือแต่สิ่งที่กำลังพยายามทำ คือกรุยทางให้คนรุ่นหลัง ให้ลูกศิษย์สายละครเวทีหรือเด็กเรียนภาพยนตร์ ให้เกิดสะพานเชื่อมทุกคนไว้ งานที่เข้ามาตอนนี้จึงเป็นโอกาสให้เราได้ทำสิ่งนี้” ครูหนิงทิ้งท้าย ก่อนลากันไป เราไม่ลืมที่จะถามถึงงานในอนาคตของทั้งคู่ พวกเขาเล่าถึงงานที่พอพูดได้อย่างการทำซีรีส์กับค่าย Be On Cloud เรื่อง ชาย (Shine), 8HOURS และผลงานกับค่ายอื่น ๆ ที่ต้องรอดูกันต่อไป ซึ่งเราเชื่อว่าคงสร้างสีสันและบรรลุเป้าหมายที่ทั้งคู่ตั้งใจไว้แน่นอน

Writer

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตขับเคลื่อนด้วยแสงแดดและหวานร้อย

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ