The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

‘living simple, future perfect continuous’

ป้ายหน้าตาเรียบง่าย เขียนข้อความที่ว่า ติดอยู่ข้างร้านเล็กๆ ย่านธนบุรี ใกล้ MRT เพชรเกษม หากอ่านเผินๆ อาจเหมือนคำคมเท่ๆ บนแคปชั่นอินสตาแกรมของใครสักคน แต่เมื่อติดอยู่ที่ร้าน ‘LESS:PLASTIC:UNCLE (Bulk store & Café)’ แห่งนี้ ผู้มาเยือนที่ได้ลองฟังอุดมการณ์ของร้าน คงต้องเก็บไปคิดต่อและตีความได้อีกไกล

LESS:PLASTIC:UNCLE ร้านชำและคอมมูนิตี้ย่านธนบุรีที่อยากให้คนเมืองกิน-ใช้อย่างพอดีและยั่งยืน

LESS:PLASTIC:UNCLE คือคาเฟ่ที่รวมกันของร้าน LESS:PLASTIC:ABLE เป็นร้านส่งเสริมการลดใช้พลาสติก เคยตั้งเดี่ยวๆ อยู่แถววงเวียนใหญ่ ปัจจุบันย้ายมาเป็นส่วนหนึ่งของฟาร์มลุงรีย์ ขอบเขตจึงขยายไปพูดถึงเรื่อง Food and Food Waste ที่เป็นเรื่องถนัดของ ‘ลุงรีย์’ ร้าน Less จึงเติมคำว่า Uncle เพื่อเป็นสถานที่พูดถึงวงจรตั้งแต่การลดขยะ แยกขยะ และสร้างคุณค่าให้ขยะกลับคืนสู่ร้าน เพียงเราเดินเลี้ยวไปข้างร้านแล้วเดินต่ออีกนิด ก็พบกับ ฟาร์มลุงรีย์ ฟาร์มไส้เดือนที่คุณคงได้ยินชื่อกันมาจนคุ้นหู หลายคนอาจได้อ่าน ได้ฟังความคิดของเกษตรกรรุ่นใหม่เจ้าของจักรวาลฟาร์มไส้เดือนอย่าง ‘ลุงรีย์’ มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง 

วันนี้เป็นโอกาสดีที่เราได้มาฟัง ลุงรีย์-ชารีย์ บุญญวินิจ เกษตรกรไฟแรง และ ลิล-ลิลรัตน์ บุญญวินิจ ภรรยาสาว เจ้าของร้าน LESS:PLASTIC:UNCLE เล่าเส้นทางรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทั้งสองแบรนด์ร่วมเดินทางด้วยกัน 

โดยเฉพาะในเรื่องราวที่อยู่คู่กับมนุษย์ทุกคนและทุกเมื่อเชื่อวัน นั่นก็คือ ‘เรื่องกิน’

LESS:PLASTIC:UNCLE ร้านชำและคอมมูนิตี้ย่านธนบุรีที่อยากให้คนเมืองกิน-ใช้อย่างพอดีและยั่งยืน

LESS:PLASTIC:UNCLE เป็นฮับและคอมมูนิตี้สำหรับคนที่สนใจเรื่องการลดขยะพลาสติก การจัดการขยะอาหารอย่างถูกวิธี และการกินอย่างยั่งยืน ฟังใจความสำคัญแล้วอาจจะดูเป็นเรื่องซีเรียสและยากสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่ลองมาเยือนที่นี่ดูสักครั้ง แล้วจะพบว่าบรรยากาศเฉพาะตัวของร้านนี้กลับทำให้เราผ่อนคลายและตื่นเต้นไปกับของเยอะแยะรอบตัวในเวลาเดียวกัน 

ไม่ว่าจะมุมขายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างผ้าอนามัยซักได้ ยาดมรีฟิล มุมผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้าน สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจานต่างๆ ขวดสำหรับเติมวางเรียงกันละลานตาเต็มริมผนัง 

มีมุมปลูกต้นไม้ที่มีเมล็ดพันธุ์ Non-GMOs และอุปกรณ์ปลูกต้นไม้สวยๆ จนถึงหลังร้านที่เป็นมุมของอร่อย มีพื้นที่นั่งเอ็นจอยอาหารที่ปรุงด้วยวัตถุดิบเกษตรกรท้องถิ่น ในตู้เย็นมีวัตถุดิบสดใหม่ให้เลือกซื้อกลับบ้าน ข้างตู้เย็นมีบรรดาอาหารแห้งอย่างพริกไทยออร์แกนิก เกลือหิมาลายันสีชมพู เส้นพาสต้า ทั้งทำจากข้าวกล้อง ข้าวก่ำ จากชาวนาไทอีสาน ข้างกันมีถั่วหลากชนิดบรรจุในขวดโหล ให้ลูกค้าตักเท่าที่จะใช้ สินค้าทุกอย่างมาในแนวคิด กิน-ใช้ อย่างพอดีและยั่งยืน

LESS:PLASTIC:UNCLE ร้านชำและคอมมูนิตี้ย่านธนบุรีที่อยากให้คนเมืองกิน-ใช้อย่างพอดีและยั่งยืน

“จริงๆ ก็คือ Eco Shop อย่างหนึ่งนะ ไม่ขนาด Zero Waste Shop แต่พยายามที่สุดเท่าที่จะพยายามได้ บางอย่างต้องใส่ขวดเราก็ใส่ขวด เพียงแต่ว่าต้องเอาขวดกลับมาให้เราได้” ลุงรีย์แนะนำร้านที่พวกเขาภูมิใจให้เรารู้จัก

“เราเป็นคนที่ทำอะไรก็ได้ที่ไม่เดือดร้อนคนอื่น และพอรู้ว่าไม่ใช่แค่การกระทำ แต่สิ่งที่เรากิน เราใช้ มันมีผลต่อสิ่งแวดล้อม เลยมาพิจารณาว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง” ลิลรัตน์เท้าความถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเล่าถึงการเปิดร้าน LESS:PLASTIC:ABLE ว่า 

“เราเริ่มจากการสนใจ Zero Waste แต่ไม่ค่อยมีร้านลักษณะนี้มากนัก ไม่ค่อยมีอะไรเอื้อให้ง่าย เพราะฉะนั้น เราเลยเปิดเองแล้วเอาแค่ของที่เราจะใช้มาขาย ตอนนั้นร้านเรายังไม่มีเครือข่ายเท่าไหร่นัก เปิดเองทำเองเป็นร้านเล็กๆ พอทำไปทำมาก็ค่อยๆ เยอะขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเต็มร้านและเป็นที่รู้จักของคนฝั่งธนมากขึ้น”

LESS:PLASTIC:UNCLE ร้านชำและคอมมูนิตี้ย่านธนบุรีที่อยากให้คนเมืองกิน-ใช้อย่างพอดีและยั่งยืน

ถัดจากเรื่องข้าวของเครื่องใช้ ลิลรัตน์ก็เริ่มมาโฟกัสเรื่องอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

“ตอนแรกเราคิดว่าจะลดเรื่องกระดาษ พลาสติก ส่วนเรื่องอาหารเราไม่ได้ทำ เราไม่รู้จักใคร ไม่รู้จักเกษตรกร แต่พอเราเริ่มเข้ามาดูร้านพิซซ่าของพี่ชาย เรารู้แล้วว่ามันมีขยะเกิดขึ้น ก็เลยเริ่มคิดว่าจะเอายังไงกับ Food Waste

“พอเรารู้ว่าต้องทำยังไง แต่เราไม่มีพื้นที่ เลยหาว่ามีเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเรามั้ย ที่จะรับ Waste ของเราไปทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ก็เจอฟาร์มลุงรีย์ที่ขับรถจากร้านไปหาได้ในสิบนาที เราก็ติดต่อเขาไป พอเขาตกลง เราเอาขยะของเรามาส่งที่ฟาร์มเพื่อให้เขาทำปุ๋ย แล้วปลูกอะไรก็ได้มาให้เรา” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือกันระหว่างลุงรีย์ คนเลี้ยงไส้เดือน กับลิลรัตน์ สาวอีโค่นักลงมือทำ จนเกิดเป็นวงจรเล็กๆ ที่เกื้อกูลกัน (จนปัจจุบัน)

ชุมชนเล็กๆ ให้คนเมืองลดขยะพลาสติก จัดการขยะอาหารถูกวิธี กินอย่างยั่งยืน และอุดหนุนผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรไทย
ชุมชนเล็กๆ ให้คนเมืองลดขยะพลาสติก จัดการขยะอาหารถูกวิธี กินอย่างยั่งยืน และอุดหนุนผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรไทย

“บทบาทของผมในฟาร์มคือจัดการอาหารขยะครบวงจร ในรูปแบบที่คนเมืองพอจะทำได้ ส่วนร้าน LESS:PLASTIC:UNCLE คือที่ที่ให้คนเข้ามาจับจ่ายในวงจรต่างๆ ที่เราทำ ในรูปแบบอาหารและของใช้”

ลุงรีย์จัดการขยะอาหารด้วยวิธีหลากหลาย บางทีใช้เครื่องจัดการขยะ บางทีใช้ถังขยะสำหรับทำปุ๋ย บางทีก็ใส่ถังหมักกลายเป็นน้ำหมัก แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง ไม่นำขยะอาหารปนกับขยะพลาสติก

ด้วยความที่อยู่วงการเกษตรกร (รุ่นใหม่) มาเกือบจะ 10 ปี เมื่อเริ่มทำเรื่องการจัดการขยะอาหาร จึงมีเครือข่ายเกษตรกรที่พร้อมช่วยเหลือกันเป็นวัฏจักร ลุงรีย์ได้ปุ๋ยจากขยะอาหาร ก็ส่งไปให้เกษตรกรพื้นที่ต่างๆ เพาะปลูก เมื่อมีผลผลิต ลุงรีย์ก็ซื้อผลผลิตเหล่านั้นมาทำอาหารและแปรรูป 

นอกจากพืชผลแล้ว เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ก็มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเช่นกัน เป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ลุงรีย์ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ปลูกและเลี้ยงในสถานที่ที่เหมาะสมอย่างรู้ที่มา ส่วนเพื่อนเกษตรกรตัวเล็กๆ ผู้มีแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันกับเขา ก็ได้รับการสนับสนุนให้มีแรงไปต่อ

ชุมชนเล็กๆ ให้คนเมืองลดขยะพลาสติก จัดการขยะอาหารถูกวิธี กินอย่างยั่งยืน และอุดหนุนผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรไทย

“เนี่ย มีหมุดปักไว้ ปักไปปักมา หมุดไม่พอ จะเต็มทุกจังหวัด” ลุงรีย์ชี้ไปที่แผนที่ประเทศไทยข้างเคาน์เตอร์อย่างอารมณ์ดี “เราอธิบายได้หมดว่าวัตถุดิบของเรามาจากไหนบ้าง อุบลฯ มีแป้งกับพริกไทย เชียงรายมีของชาวปกาเกอะญอ มีข้าวบ้าง กาแฟบ้าง อะโวคาโดบ้าง เสาวรสบ้าง โคราชมีนมฮิมาวาริ จากวัวที่เลี้ยงด้วยส่วนผสมที่มีกากเมล็ดทานตะวัน”

นมฮิมาวาริถือเป็นของเด็ดในร้านที่ลูกค้าจะเหมากลับบ้าน อย่างเบอร์เกอร์หมูดำจังหวัดน่านที่เราสั่งมาลอง ก็ใช้นมฮิมาวาริเป็นส่วนประกอบในการทำขนมปัง (ความดีงามคือบรรจุภัณฑ์ของนมฮิมาวาริ รีไซเคิลได้ทุกชิ้น)

ชุมชนเล็กๆ ให้คนเมืองลดขยะพลาสติก จัดการขยะอาหารถูกวิธี กินอย่างยั่งยืน และอุดหนุนผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรไทย

“ทุกเมนูที่เราทำจะต้องสอดคล้องกับการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเราคำนึงเรื่อง Food Loss” 

อย่างข้าวผัดกิมจิ คุณแม่ลุงรีย์ก็เป็นคนทำกิมจิเอง ผักเคียงเป็นวอเตอร์เคสที่ฟาร์มปลูกเอง และไข่ดองบางส่วนก็มาจากไก่ที่นี่ ไข่แดงโปะบนหน้าข้าวผัดกิมจิ ส่วนไข่ขาวนำไปทำ White Egg Roll เมนูเค้กที่เราสั่งมาทานเป็นของหวาน

 เจ้าของร้านทั้งสองคนเล่าว่า พวกเขาต้อง ‘ดีไซน์เมนู’ ไข่เดียวกัน ผักเดียวกัน หมูเดียวกัน แต่แปรรูปเป็นเมนูนู้นเมนูนี้ได้หลากหลาย ถ้าคิดไม่ออกก็เปิด Cookpad แอปพลิเคชันสำหรับแชร์และค้นหาสูตรอาหาร ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้คนทำอาหารทานเองที่เริ่มมีคนไทยนิยมใช้งานกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาไอเดียสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ ความสนุกของเจ้าแอปพลิเคชันนี้ คือจะมีคนที่เราติดตามและคนที่ติดตามเรา มาแลกเปลี่ยนสูตรอาหารกัน บางครั้งเพียงเรากรอกวัตถุดิบค้างตู้ที่มี เช่น ไข่ขาว แตงไทย เยื่อฟักทอง รากเตย เปลือกหัวไชเท้า ฯลฯ ก็มีโอกาสที่จะพบเมนูที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบนั้นๆ ให้เลยพร้อมวิธีการทำ เมนูสุดสร้างสรรค์ ที่มีคนทำตามมากมาย

ภารกิจเคลียร์ตู้ (เย็น) ก็จะไม่ยากอีกต่อไป แถมเพลินที่ได้แบ่งปันสูตรลับของเราให้บ้านอื่นด้วย

ชุมชนเล็กๆ ให้คนเมืองลดขยะพลาสติก จัดการขยะอาหารถูกวิธี กินอย่างยั่งยืน และอุดหนุนผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรไทย
ชุมชนเล็กๆ ให้คนเมืองลดขยะพลาสติก จัดการขยะอาหารถูกวิธี กินอย่างยั่งยืน และอุดหนุนผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรไทย

หากวัตถุดิบชนิดไหนหมด จะต้องมีวัตถุดิบที่มาแทนกันได้ หากมีวัตถุดิบเยอะ กลัวจะใช้ไม่ทัน ก็ต้องนำไปแปรรูป หมักดอง หรือแม้แต่ส่งต่อไปให้เต่า เป็ด ไก่ หอยทาก และหมูทั้งหลาย ทั้งหมดนี้อยู่ที่การจัดการและการรู้จักพลิกไปพลิกมา ยิ่งไปกว่านั้น ลูกค้าคนไหนเกิดติดใจวัตถุดิบไหนในจานก็ถามหาได้ ส่วนใหญ่จะมีพร้อมให้ซื้อกลับไปทำเองที่บ้าน ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่ค่อยมีวัตถุดิบค้างสต็อกและเหลือทิ้ง ในทางกลับกัน ลุงรีย์อยากได้ขยะอาหารมาใช้ในฟาร์มเพิ่มด้วยซ้ำไป จะได้นำไปทำปุ๋ย นำไปหมัก หรือให้หนอนกิน เพื่อนำหนอนมาเป็นอาหารให้ไก่อีกที

ที่นี่เราเป็นทั้ง ‘ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ’ 

‘ต้นน้ำ’ เราตั้งต้นจากปุ๋ย จากเศษขยะอาหารมาเป็นมูลไส้เดือนกระจายส่งไปปลูกตามที่ต่างๆ ‘กลางน้ำ’ เราลำเลียงจากเกษตรกรและส่งต่อไปสู่ครัวน้อยใหญ่ และสุดท้าย ‘ปลายน้ำ’ คือ ร้านอาหารเล็กๆ ของเราที่ใช้วัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์รายย่อย

“ราคาอาจจะไม่ใช่บทสรุปในการตัดสินใจไปเสียทั้งหมด ประสิทธิภาพของมันก็มีส่วนด้วย” ลุงรีย์เน้นประเด็น Food Loss ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ก่อนเสริมว่า “คุณต้องคิดว่าซื้อของมาแต่ละอย่าง แล้วคุณจะได้ใช้มันกี่เปอร์เซ็นต์

“ถ้าเราใส่ใจและหมั่นสังเกต เราก็จะเข้าใจ” ลิลรัตน์พูดเสริมในประเด็นเดียวกัน 

“ผักสลัดทั่วไปกิโลกรัมละห้าสิบเก้าถึงแปดสิบเก้าบาท ผักสลัดอินทรีย์ราคาอาจมีราคาที่สูงกว่าสองถึงสามเท่า ผักสลัดทั่วไปจะเริ่มช้ำตั้งแต่วันที่สองหรือสาม แต่ผักสลัดอันนี้เราทดลองเก็บแบบเดียวกัน เข้าอาทิตย์ที่สาม ผักสลัดยังกรอบอยู่เลย เพราะฉะนั้นมันคือเงินที่เกิดขึ้น ต้องซื้อผักทุกสองวัน แถม Waste ที่เกิดขึ้นไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน”

ชุมชนเล็กๆ ให้คนเมืองลดขยะพลาสติก จัดการขยะอาหารถูกวิธี กินอย่างยั่งยืน และอุดหนุนผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรไทย

มีคำแนะนำสำหรับคนที่กำลังเริ่มต้นบ้างไหม-เราถามลุงรีย์เผื่อทุกคน และเผื่อตัวเราเองด้วย

“ร้านแบบเราให้คำแนะนำได้ นอกจากเราก็มีร้าน Get Well Zone เอกมัย 26 ร้าน Refill Station ปั๊มน้ำยา สุขุมวิท 77/1 ร้านแบบนี้จะสื่อสารเรื่อง Farmer, Agriculture, Safe Food, Food Waste และเชื่อมคนไว้ด้วยกัน”

สำหรับร้านเล็กๆ ลุงรีย์แนะนำว่าต้องรู้จักเทคนิคการหมักดองแบบต่างๆ จะได้เก็บได้นาน ลดขยะอาหาร ส่วนร้านขนาดกลางที่เป็นร้านทางเลือก ต้องคำนึงว่าซื้อวัตถุดิบมาแล้วได้ใช้ 100 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นร้านขนาดใหญ่ ลองติดต่อองค์กรอย่าง SOS Thailand (มูลนิธิรักษ์อาหาร) ให้ช่วยวางแผนจัดการอาหาร ก่อนจะกลายเป็นขยะเศษอาหารได้

สินค้าของใช้อื่นๆ ภายในร้านก็มีให้สายอีโค่ที่อยากเริ่มต้นดูแลสิ่งแวดล้อมได้เลือกใช้กัน

“อันนี้เป็นโปรดักต์ชิ้นแรกของพี่ที่คิดว่าคนไทยไม่ค่อยรู้จัก เป็น Wrap ทำมาจากผ้าฝ้ายกับไขผึ้ง ใช้ห่ออาหารแทนพลาสติกค่ะ” ลิลรัตน์หยิบแผ่นลายฟันปลาสีขาวดำออกมาให้เราลองสัมผัสพื้นผิว “ตัว Warp จะช่วยคงความสดของอาหารได้ ส่วนวิธีการทำความสะอาดเหมือนล้างจานเลย พอล้างแล้วก็ตากให้แห้งค่อยเอามาใช้ใหม่

“ถัดจากชิ้นแรก พี่ทำสบู่อเนกประสงค์จากน้ำมันทอดเหลือใช้ด้วยนะ” ว่าแล้วลิลรัตน์ก็หยิบสบู่ก้อนสี่เหลี่ยมออกมาให้เราดู ผลิตภัณฑ์นี้ถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการช่วยจัดการน้ำมันเหลือทิ้งจากก้นครัวได้เช่นเดียวกัน

ชุมชนเล็กๆ ให้คนเมืองลดขยะพลาสติก จัดการขยะอาหารถูกวิธี กินอย่างยั่งยืน และอุดหนุนผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรไทย
LESS:PLASTIC:UNCLE ร้านชำและคอมมูนิตี้ย่านธนบุรีที่อยากให้คนเมืองกิน-ใช้อย่างพอดีและยั่งยืน

ส่วนผลิตภัณฑ์จำพวกของเหลวล้วนแล้วแต่เป็นสินค้ารีฟีล ใส่ขวดแก้วเรียงให้ลูกค้ามากดเติม ผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น สบู่ ยาสระผม หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นสินค้าที่ผลิตโดยสารพัดแบรนด์ 

ส่วนโลชั่นบำรุงผิว สาวเจ้าของร้านเป็นคนลงมือทำด้วยตัวเอง เธอย้ำว่าตอนนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับใบหน้าหรือช่องปากที่ต้องดูแลอย่างระมัดระวัง เพราะสินค้ารีฟิลต้องถอดแพ็กเกจจิ้งออกมา 

เมื่อสินค้าจำนวนมากเป็นสินค้ารีฟิล ลูกค้าเลยเวียนกันมาเติมของอยู่เป็นประจำ นำขวดมาเติมน้ำยาบ้าง หิ้วตะกร้ามาเติมวัตถุดิบบ้าง บางคนไม่ได้มาเติมของ แต่มานั่งกินข้าวพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเจ้าของร้าน บางคนแวะมาขน ‘นมฮิมาวาริ’ กลับบ้าน เพราะติดใจรสชาติ แล้วก็วนเอาขวดมาสลับกลับ พร้อมรับนมรอบใหม่ไป

LESS:PLASTIC:UNCLE ร้านชำและคอมมูนิตี้ย่านธนบุรีที่อยากให้คนเมืองกิน-ใช้อย่างพอดีและยั่งยืน

ลูกค้าที่นี่สะสมมาเรื่อยๆ จาก Lessplasticable จากฟาร์มลุงรีย์ บางคนหน้าใหม่ แต่ก็เป็นผู้ร่วมอุดมการณ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ลูกค้าส่วนหนึ่งรู้จักกันและกัน ส่วนหนึ่งไม่รู้จัก ถ้าแวะมาบ่อยๆ ก็ค่อยๆ คุ้นเคย จนเชื่อมโยงกันหมด

“จัดการสิ่งที่เราก่อ ตัวเรากินอะไร ใช้อะไร ก็จัดการสิ่งนั้น แล้วจงทำอย่างต่อเนื่อง” 

นี่คือสิ่งที่ลุงรีย์ ลิลรัตน์ และเหล่าผู้คนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ

LESS:PLASTIC:UNCLE ร้านชำและคอมมูนิตี้ย่านธนบุรีที่อยากให้คนเมืองกิน-ใช้อย่างพอดีและยั่งยืน

LESS:PLASTIC:UNCLE 

ที่ตั้ง : 19/31 ซอยเพชรเกษม 46 แยก 11 แขวงบางด้วน เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160 (แผนที่)

เปิดบริการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.30 – 19.00 น.

โทรศัพท์ : 09 4596 2936

Facebook : Lessplasticable

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน