“จะว่าไปฉันก็ภูมิใจนะที่ประเทศเลโซโทเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ อย่างน้อยก็บนแผนที่”

เพื่อนชาวเลโซโทกล่าวกับฉันในเดือนเมษายน การพัฒนาของหลายเว็บไซต์เพื่ออัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ของผู้ติดเชื้อตามส่วนต่างๆ ของโลก ทำให้ดินแดนที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกลับมาเป็นที่สนใจ หนึ่งในประเทศที่เป็นเพียงจุดสีเทาเล็กๆ โดดเด่นมานานท่ามกลางพื้นที่สีแดงแสดงข้อมูลประเทศที่มีการระบาดของโรค COVID-19 คือประเทศเลโซโท (Lesotho)

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
แผนที่แสดงการระบาดของ COVID-19
ภาพ : covidvisualizer.com

แม้ปัจจุบัน เลโซโทไม่ใช่ประเทศที่มีการแพร่ระบาดเป็นศูนย์อีกต่อไป ผู้ติดเชื้อรายแรกเพิ่งถูกตรวจพบอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 พฤษภาคม 2020 จากกลุ่มผู้เดินทางกลับมาจากประเทศแอฟริกาใต้และซาอุดีอาระเบีย นับเป็นประเทศสุดท้ายในทวีปแอฟริกาที่พบผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการ และเป็นประเทศที่ 213 ในโลก จนผ่านพ้นเดือนมิถุนายน ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังมีเพียง 27 ราย จากจำนวนประชากรทั้งประเทศราว 2 ล้านคน และไม่มีผู้เสียชีวิตเลยสักรายเดียว 

ในขณะที่ทั่วโลกต่างกำลังจับตามองการแพร่ระบาดในกลุ่มประเทศมหาอำนาจและประเทศขนาดใหญ่ ฉันก็อดไม่ได้ที่จะสอบถามเพื่อนสนิทจากเลโซโทถึงชีวิตภายในประเทศที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและชีวิตของเขา

ชีวิตที่สะดุด

ปีเตอร์เป็นชาวเลโซโทโดยกำเนิด และมีความฝันอยากเป็นนักบิน แต่เมื่อประเทศบ้านเกิดเล็กๆ ล้อมรอบด้วยขุนเขาและแผ่นดินของประเทศแอฟริกาใต้นี้ปราศจากสายการบินแห่งชาติ การไล่ตามฝันในต่างแดนก็เป็นเพียงตัวเลือกเดียว แต่ถึงมีความสามารถแค่ไหน พ่วงด้วยปริญญา 2 ใบจาก 2 ประเทศใน 2 ซีกโลกที่ทั่วโลกยอมรับ แต่ข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนักมากกว่า คือหนังสือเดินทางจากประเทศโลกที่ 3 ด้อยพัฒนานั้น ไม่ได้เป็นที่ยอมรับเท่าไรในสากลโลก

หลังจากเคยมีสายการบินมาแล้ว 2 แห่งในประเทศเลโซโท Mahahlaula Airlines กำลังเป็นสายการบินแห่งใหม่แห่งเดียวของประเทศ และเป็นความภาคภูมิใจของชาติ เพราะธุรกิจนี้คือสตาร์ทอัพสายเลือดเลโซโท 100 เปอร์เซ็นต์ ต่างจากธุรกิจในประเทศส่วนมากซึ่งถือครองโดยชาวต่างชาติ 

หลังจากไปใช้ชีวิตที่เมืองจีนมานาน ปีเตอร์กลับมายังเมืองมาเซรู (Maseru) เมืองหลวงของประเทศ เพื่อมาเป็นที่ปรึกษาในการเปิดให้บริการของสายการบินนี้ใน ค.ศ. 2019 และในที่สุดสายการบินน้องใหม่ก็ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
เครื่องบินของสายการบินน้องใหม่ Mahahlaula Airlines
ภาพ : Peter

“เราก็ปิดประเทศตั้งแต่ 29 มีนาคม ตอนนั้นยังไม่เจอผู้ติดเชื้อสักคนด้วยซ้ำ”

เนื่องจากชายแดนทั้งหมดติดกับประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการสูงที่สุดในทวีป เลโซโทจึงประกาศปิดประเทศ ปิดพรมแดน ตั้งแต่ยังไม่มีรายงานการแพร่ระบาดของโรคแม้เพียงรายเดียว การเดินทางระหว่างเมืองเป็นสิ่งต้องห้าม ธุรกิจถูกปิด ซูเปอร์มาร์เก็ตเปิดบริการได้เพียงวันละ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึงบ่าย 2 โดยต้องจำกัดจำนวนคนเข้า กว่าจะได้ซื้อของต้องต่อแถวรอหน้าประตูนานมาก กลายเป็นว่าข้างในร้านรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลได้ แต่ข้างนอกกลับแออัด เป็นอย่างนี้ไปทั้งเดือนเมษายน

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ผู้คนต่อแถวเพื่อรอเข้าซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งจำกัดจำนวนลูกค้า
ภาพ : Peter

สำหรับชาวเลโซโทที่มีโอกาสออกไปใช้ชีวิตต่างประเทศเป็นเวลานาน ปีเตอร์ไม่ใช่คนระดับล่าง ผลกระทบจากการปิดเมืองทำให้ธุรกิจให้เช่าพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ของเขาขาดรายได้ แต่เขาก็ยังมีทรัพย์สินพอที่จะประคองชีวิตต่อไปได้อย่างไม่ลำบากอีกพักใหญ่ๆ ต่างกับอีกหลายคนในประเทศนี้ที่หล่อเลี้ยงลมหายใจด้วยรายได้จากการขายแรงงาน ซึ่งพอปิดเมือง โรงงานก็ต้องปิดตามไปด้วย

นอกจากน้ำ เพชร และพืชเศรษฐกิจน้องใหม่อย่างกัญชา สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ เลโซโทยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศ Sub-Saharan Africa ชนชั้นกรรมาชีพที่นี่ หากเป็นผู้หญิงส่วนมากจะอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่ตั้งแต่มีการปิดเมือง โรงงานสิ่งทอซึ่งโดยมากมีเจ้าของเป็นคนเชื้อสายจีนจากจีนแผ่นดินใหญ่หรือเกาะไต้หวันก็ต้องปิดตัวลงอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลกระทบต่อแรงงานที่ต้องขาดรายได้ 

รัฐจึงเข้ามาช่วยเหลือด้วยเงินชดเชยเป็นเวลา 3 เดือน เดือนละ 800 มาโลติ (1,500 บาท) ซึ่งใกล้เคียงกับรายได้ที่แรงงานได้รับตามปกติจากนายจ้าง แต่ก็เป็นความช่วยเหลือที่ให้กับแรงงานตามโรงงานเท่านั้น ในขณะที่พนักงานในภาคส่วนธุรกิจอื่นยังต้องพึ่งตนเองต่อไป

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
โรงงานสิ่งทอที่ประเทศเลโซโทในภาวะปกติ
ภาพ : K. Kendall, Portland/ CC BY 2.)

ในประเทศที่ขาดเสถียรภาพทางการเมืองนี้ เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดปัญหาสมองไหล เพื่อนของปีเตอร์จำนวนมากย้ายไปทำงานในบริษัทเอกชนที่ประเทศแอฟริกาใต้ เช่นเดียวกับชาวเลโซโทอีกมากมายที่คาดหวังอนาคตที่ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อประเทศเพื่อนบ้านที่เจริญกว่าเสนอให้สัญชาติฟรีแก่ชาวเลโซโทผู้มีความสามารถ โรคระบาดอาจทำให้คนเหล่านี้มีรายได้ลดลงหรือไม่ได้รับโบนัสปลายปี แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบหนักเช่นที่เกิดกับเพื่อนร่วมชาติชั้นรากหญ้าที่ไปขายแรงงานในเหมืองแร่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เพราะค่าแรงที่จูงใจกว่าภาคเกษตรกรรมในประเทศ ช่วงต้นที่ประเทศแอฟริกาใต้ประกาศปิดประเทศและปิดพรมแดน แรงงานเหมืองแร่ชาวเลโซโทผู้ว่างงานบางส่วนที่ต้องการกลับประเทศจึงคั่งค้างอยู่ตามด่านชายแดน บางส่วนก็แอบลักลอบกลับเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

“เพื่อนของฉันที่ทำธุรกิจก็ต้องปลดพนักงานออก” ปีเตอร์เล่าว่า เมื่อปราศจากเงินกระตุ้นเศรษกิจจากภาครัฐ หรือเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย ผลกระทบจากห่วงโซ่ของการขาดรายได้และไร้การจับจ่าย คือความต้องการซื้อที่ลดลง และลงเอยด้วยการล้มตายลงของธุรกิจขนาดย่อย

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ท้องถนนว่างเปล่าในเมืองมาเซรู
ภาพ : Mosotho Oa Lesotho
เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ย่านร้านค้าในเมืองมาเซรูที่ว่างเปล่าหลังการประกาศปิดเมือง
ภาพ : Mosotho Oa Lesotho

“อันที่จริงสายการบินก็จะเริ่มเปิดตารางบินเดือนเมษายน แต่ก็ต้องหยุดไปก่อน”

เครื่องบินความจุผู้โดยสาร 12 ที่นั่งของ Mahahlaula Airlines ฟังดูเล็กจนน่าตกใจสำหรับคนจากประเทศที่อุตสาหกรรมการบินเฟื่องฟูมากอย่างประเทศไทย แต่สำหรับประเทศเลโซโท การบินถือเป็นเรื่องใหม่ อีกทั้งลานบินของสนามบินขนาดเล็กในประเทศก็ไม่เหมาะกับเครื่องบินที่ขนาดใหญ่กว่านั้น สายการบินต้องทดลองเปิดให้บริการสัก 1 ปี จึงทราบปริมาณความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค แต่ตอนนี้ก็ยังดำเนินการได้เพียงการขนส่งแบบเช่าเหมาลำ พร้อมๆ กับประชาสัมพันธ์และหาพันธมิตรทางการค้า ในระหว่างที่ยังให้บริการอย่างเต็มรูปแบบไม่ได้

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ส่วนบริการภาคพื้นดินของ Mahahlaula Airlines ขณะยังไม่เปิดให้บริการ
ภาพ : Peter

ชีวิตที่จำกัด

“พอปิดประเทศ ฉันก็ไปฝึกบินที่ประเทศแอฟริกาใต้ไม่ได้แล้ว”

หลังจากได้รับใบอนุญาตขับเครื่องบินส่วนตัว (Private Pilot Licence : PPL) จากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 2012 ปีเตอร์ยังคงพยายามไปให้ถึงฝันที่จะได้ขับเครื่องบินพาณิชย์ แต่ระหว่างทางที่ปราศจากทางลัดนั้นมันก็ช่างขรุขระคดเคี้ยว และวกวน เส้นทางสู่อาชีพนักบินพาณิชย์ของเขาเริ่มต้นอีกครั้งใน ค.ศ. 2018 เขาต้องสอบข้อเขียน และสะสมชั่วโมงบินที่สนามสอบในประเทศแอฟริกาใต้ เพียงอีกนิดเดียวเขาก็จะได้รับใบอนุญาตเป็นนักบินพาณิชย์ (Commercial Pilot Licence: CPL) และมีงานรองรับแล้วในโรงเรียนสอนการบินของชาวจีนที่ประเทศแอฟริกาใต้ แต่ความฝันของเขาต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดจากการปิดพรมแดน ซึ่งอนุญาตให้แค่การสัญจรเพื่อขนส่งสินค้าเท่านั้นที่ผ่านเข้าออกระหว่างประเทศได้

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ทัศนียภาพของประเทศเลโซโทระหว่างทางสู่ประเทศแอฟริกาใต้
ภาพ : Peter

“อาหารส่วนใหญ่เราก็นำเข้าจากประเทศแอฟริกาใต้เนี่ยแหละ เพราะยังขนส่งได้ ก็เลยมีอาหารพอกิน ส่วนอาหารต่างแดนจากที่ไกลๆ เราไม่ค่อยนิยมหรอก ถึงนำเข้าไม่ได้ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร”

ประเทศเลโซโทผลิตอาหารได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ และต้องพึ่งพาอาหารจากต่างประเทศมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อยังนำเข้าอาหารจากประเทศข้างเคียงได้ ปัญหาการขาดแคลนอาหารจึงมีแค่ในช่วงแรกของการปิดเมือง จากการกักตุนสินค้าเพราะความตื่นตระหนกของผู้คน แต่หลังจากนั้น อาหารตามร้านค้าก็กลับมาสู่ภาวะปกติ

“ถ้าไม่เลือกกินเนื้อสัตว์แล้ว ทางเลือกราคาถูกที่นี่มีเยอะมากเลยนะ แถมหลายคนก็ปลูกผักกินเอง ถึงรายได้น้อย แต่ถ้าอยู่อย่างพอเพียงก็อยู่ได้”

ถึงอาหารตามซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ได้ขาดแคลน รวมถึงอาหารหลักจำพวก Mealie Meal (แป้งข้าวโพด) ขนมปัง นม และชา ก็ราคาถูกมาก แต่ผลกระทบจากการปิดเมือง ทำให้หลายคนขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ปีเตอร์และผู้คนส่วนมากปลูกผักสวนครัวในรั้วบ้านไว้กินเอง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในยามยาก แต่อีกหลายคนก็พึ่งพาตัวเองไม่ได้ในระดับนั้น ยังดีที่มีความช่วยเหลือจากนานาชาติ รวมถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในการจัดสรรอาหารให้แก่ผู้ยากไร้

“ส่วนบริการส่งอาหาร เรามีแต่แบบง่ายๆ ง่ายมากๆ ออนไลน์อะไรนี่ไม่มีหรอก”

ระหว่างการปิดเมืองในเดือนเมษายน ร้านอาหารถูกสั่งห้ามจำหน่าย ไม่เพียงการนั่งทานในร้าน แต่การซื้อกลับบ้านหรือบริการส่งถึงบ้านก็ล้วนไม่มี จะมีก็แต่พวกพ่อครัวแม่ครัวอิสระ ซึ่งปรุงอาหารในพื้นที่ส่วนตัวและให้ลูกค้ามารับไปเองในบางช่วงเวลา 

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ชาวเลโซโทนิยมปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง
ภาพ : Peter
เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ผู้คนเดินทางกลับบ้านหลังซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค
ภาพ : Mosotho Oa Lesotho

“ถนนข้างนอกนั่นโล่งทีเดียว ไม่ใช่แค่เพราะคนกลัวโรคระบาด แต่ยังกลัวทหารด้วย”

ท้องถนนในเมืองต่างว่างเปล่าและเงียบเชียบหลังการประกาศเคอร์ฟิว ไม่ใช่เพียงความหวาดกลัวต่อเชื้อไวรัส แต่ผู้คนที่เคยได้รับบทเรียนจากสถานการณ์เคอร์ฟิวครั้งก่อนๆ ต่างหวาดกลัวต่อกำลังทหารที่รักษาการณ์อยู่ตามท้องถนน มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมถูกนำมาบังคับใช้ในการเดินทาง รถแท็กซี่ที่ปกติรับผู้โดยสารได้ถึง 4 คน เหลือเพียง 2 คน รถสองแถวจุผู้โดยสารได้มากที่สุดเพียง 9 ที่ จากเดิม 15 ที่ 

“ถึงจะลำบากหน่อย แต่ฉันก็ค่อนข้างประทับใจนะที่เห็นคนส่วนมากยอมสวมหน้ากากอนามัย เพราะมันไม่เคยอยู่ในวัฒนธรรมของเราเลย”

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ท้องถนนในเมืองมาเซรูที่ว่างเปล่าหลังประกาศปิดเมือง
ภาพ : Mosotho Oa Lesotho
เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ย่านร้านค้าในเมืองมาเซรูที่ว่างเปล่าหลังประกาศปิดเมือง
ภาพ : Mosotho Oa Lesotho

“ตอนนี้ก็เริ่มหนาวแล้ว ยิ่งคนต้องอยู่บ้าน บ้านยิ่งต้องอุ่น ฉันเห็นคนต่อแถวซื้อพาราฟินยาวเหยียดเลย”

เดือนเมษายนที่อากาศกำลังเริ่มอุ่นขึ้นทางซีกโลกเหนือ แต่ทางซีกโลกใต้กำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ปีเตอร์เตรียมฟืนไว้สำหรับก่อไฟในเตาผิง แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวจะมีกำลังทรัพย์พอสำหรับติดตั้งเตาผิงภายในที่พักเช่นเขา พาราฟินคือทางเลือกของวัตถุดิบให้ความอบอุ่นราคาถูกที่สุด ทั้งยังใช้หุงอาหารได้ ในภาวะปกติก็หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป แต่ด้วยการจำกัดเวลาเปิดให้บริการของร้านค้าและมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ จึงเกิดฝูงชนมาตั้งกลุ่มรอก่อนร้านเปิดเพื่อให้ซื้อหาได้ทันการณ์ 

แม้พาราฟินจะหาซื้อได้ตามปั๊มน้ำมันซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมงแม้ในยามเคอร์ฟิว แต่ปั๊มน้ำมันก็ไม่ได้มีถี่แทบทุกหัวมุมถนนแบบประเทศไทย รถสาธารณะก็เปิดให้บริการถึงเพียงบ่าย 2 ทำให้การเข้าถึงพลังงานราคาถูกนี้เป็นเรื่องลำบากสำหรับชนชั้นล่างที่ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง 

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ผู้คนต่อแถวรอซื้อพาราฟิน
ภาพ : Mosotho Oa Lesotho

“คนส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารกันทางวิทยุ คนที่จ่ายค่าอินเทอร์เน็ตไหวก็เรียนหรือทำงานออนไลน์ได้”

อาชีพหลักของปีเตอร์คือการสอนภาษาอังกฤษทางไกลให้มหาวิทยาลัยในประเทศจีน เขามีค่าใช้จ่ายราว 2,000 มาโลติ หรือ 3,650 บาท ในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแบบไม่จำกัดต่อเดือน นับว่าแพงมากสำหรับประเทศยากจน แพ็กเกจที่ถูกลงหน่อยอยู่ที่ 700 มาโลติ หรือ 1,275 บาท ใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ 20 GB คนที่รายได้น้อยอาจเข้าไม่ถึงโปรแกรมที่ต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงเพื่อเรียนหรือทำงานทางไกลระหว่างการปิดเมือง แอปฯ สนทนาพื้นฐานอย่าง WhatsApp จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการส่งงาน ส่งการบ้าน หรือติดต่อผู้คนผ่านข้อความเสียง

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ชาวเลโซโทที่มีกำลังจ่ายสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างไม่จำกัด
ภาพ : Peter

“หลังปิดเมืองมาเดือนกว่า เราไม่พบผู้ติดไวรัสโคโรนาเลย แล้วพอผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ผู้ติดเชื้อคนแรกก็ถูกตรวจพบในวันที่ 13 พฤษภาคม และพบมากขึ้นอีกหน่อยหลังจากนั้น แต่เราก็ไม่ได้กลับไปปิดเมืองอีก”

หลังจากวันที่ 5 พฤษภาคม มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง นักเรียนและนักศึกษาในชั้นปีสุดท้ายของระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยกลับไปเรียนในสถานศึกษาได้ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข โต๊ะนักเรียนวางเว้นระยะห่าง โปสเตอร์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดติดไว้ในบริเวณที่เห็นได้ชัด แม้ประเทศนี้ไม่ได้มีงบประมาณมากมาย หรือเทคโนโลยีทันสมัยในการป้องกันโรค แต่สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้งานได้จริงและทำได้เองจากวัสดุหลังบ้านอย่างแท่นล้างมือโดยใช้เท้าเหยียบก็ถูกนำมาติดตั้งตามโรงเรียน ร้านอาหารกลับมาเปิดแต่ต้องปิดภายใน 4 โมงเย็น และยังไม่ให้ลูกค้านั่งทานในร้าน พนักงานบริษัทกลับไปทำงานตามปกติ ยกเว้นแต่โรงงานที่ยังกลับมาดำเนินกิจการไม่ได้

“ในวิกฤตทั้งหมด ฉันว่ามันก็มีข้อดีนะ ร้านค้าท้องถิ่น ย่านการค้า หรือห้างสรรพสินค้าที่นี่ไม่เคยมีลูกค้ามากขนาดนี้มาก่อนเลย ก่อนหน้านี้พอถึงวันหยุด คนที่มีเงินก็จะขับรถไปซื้อของ ไปเที่ยวเล่นที่ประเทศแอฟริกาใต้ แต่หลังจากปิดประเทศ คนก็หันมาใช้บริการธุรกิจในชุมชนมากขึ้น แค่เดือนพฤษภาคม ร้านค้าพวกนั้นก็น่าจะมีรายได้ชดเชยกับที่หายไปตอนต้องปิดกิจการในเดือนเมษายนแล้ว”

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
นักเรียนกลับไปเรียนหนังสือหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
ภาพ : Mosotho Oa Lesotho
เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
สื่อประชาสัมพันธ์เรื่อง COVID-19 จาก Government of Lesotho
เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
รูปแบบของแท่นล้างมือโดยใช้เท้าเหยียบที่ติดตั้งตามโรงเรียน ทำจากวัสดุซึ่งหาได้ง่ายในพื้นที่
ภาพ : hero-in-my-hood.co.za

ชีวิตกับโรคระบาด

“ฉันรู้ว่ามันไม่น่าเชื่อว่าทั้งประเทศจะมีคนติดไวรัสเพียงแค่นี้ แต่เราก็ตรวจหาเชื้อกันจริงๆ นะ และเราก็มีบทเรียนจากตอนที่เอดส์และวัณโรคระบาดด้วย”

ถึงตัวเลขอย่างเป็นทางการและตัวเลขอย่างเป็นความจริงมักมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้ไม่ตรงกัน แต่เลโซโทก็มีการตรวจสอบหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งแม้ว่าจะต้องส่งตัวอย่างของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศไปตรวจไกลถึงประเทศแอฟริกาใต้ และรายงานจากทั้งคลินิก โรงพยาบาล และสถานกักตัวก็ไม่มีรายงานการตรวจพบผู้ป่วยต้องสงสัย ปีเตอร์จึงเชื่อว่า ผู้ติดเชื้อในความเป็นจริงก็น่าจะยังอยู่ในจำนวนน้อยมาก

ด้วยประสบการณ์จากการจัดการกับโรคระบาดรุนแรงในอดีต โดยเฉพาะวัณโรคที่มีคลินิกพร้อมอยู่แล้ว พอมีการระบาดของ COVID-19 ก็แค่เปลี่ยนจากศูนย์การรักษาวัณโรคมาเป็นศูนย์การรักษา COVID-19

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
ท้องถนนที่ว่างเปล่าในเมืองมาเซรูเมื่อมีการปิดเมือง
ภาพ : Mosotho Oa Lesotho

ด้วยความผูกพันกับประเทศจีน ปีเตอร์จึงรู้สึกปลาบปลื้มเมื่อทราบข่าวการบริจาคเวชภัณฑ์ อันประกอบด้วย อุปกรณ์การตรวจหาเชื้อไวรัส หน้ากากอนามัย และชุดปลอดเชื้อ PPE ซึ่งเป็นความช่วยเหลือโดยมูลนิธิแจ็ค หม่า จากประเทศที่เริ่มต้นต่อสู้และเรียนรู้โรคร้ายนี้ก่อนใครๆ นำส่งโดยสายการบิน Ethiopian Airlines ซึ่งได้สิทธิ์ในการขนส่งเวชภัณฑ์เหล่านี้จากเมืองจีนสู่ 54 ประเทศในทวีปแอฟริกา และเพราะอยู่ในวงการการบิน ปีเตอร์จึงรู้ถึงศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศของสายการบินนี้ และข้อเท็จจริงอีกอย่างว่า นี่เป็นสายการบินจากทวีปแอฟริกาเพียงแห่งเดียวที่ยังเปิดเส้นทางระหว่างประเทศสู่จีนในวันที่สายการบินเกือบทั่วโลกยุติการเดินทาง เมื่อครั้งแดนมังกรถูกคุกคามอย่างหนักจากไวรัสโคโรนาและยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ นอกจากประเทศจีนแล้ว เลโซโทก็ยังได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์จากอีกหลายหน่วยงานทั่วโลก

“ตอนนี้เราเลยมีแล็บ มีชุดตรวจหาเชื้อ แต่ก็ยังขาดบุคลากรที่ทำเป็น และก็คงมีเหตุผลอื่นๆ อีกที่ต้องส่งตัวอย่างไปตรวจไกลถึงต่างแดน”

ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ในที่สุดประเทศเลโซโทก็ตรวจวิเคราะห์หาเชื้อ COVID-19 ได้เองโดยหน่วยงานภายในประเทศ ถึงแม้จะยังดำเนินการได้อย่างจำกัด แต่ตั้งแต่วันนั้นก็พบผู้ติดเชื้อรายวันมากขึ้นเรื่อยๆ”

เพื่อนของฉันคือนักบินจากเลโซโท ประเทศท้ายๆ ในโลกที่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19
แจ็ค หม่า
ภาพ : World Economic Forum from Cologny, Switzerland 

จนถึงวันนี้ แม้เลโซโทยังตรวจพบจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการน้อยมาก แต่ตราบใดที่การแพร่ระบาดยังไม่จบลง ก็ยังไม่อาจวางใจได้ สิ่งที่ท้าทายที่สุดในประเทศนี้ คือมุมมองความคิดต่อโรคระบาดของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ยังคงเชื่อว่า COVID-19 ไม่ได้เกิดขึ้นจริง และจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีการรายงานก็เป็นเพียงการสร้างสถานการณ์ของภาครัฐเพื่อหวังเงินบริจาคจากนานาประเทศ 

“มันเป็นเรื่องระหว่างความเป็นความตาย คุณเลือกที่จะช่วยชีวิตคนอื่นได้ง่ายๆ เพียงแค่ยอมให้ความร่วมมือ”

คำกล่าวจากนายทาโบ คาซิเป ซีอีโอของสำนักงานเลขาธิการ COVID-19 แห่งชาติ ต่อประเด็นด้านทัศนคติและความร่วมมือของคนในชาติกับการเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ที่แน่นอนว่าจะสร้างรอยแผลลึกแก่ประเทศที่สภาพเศรษฐกิจไม่แข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากการระบาดทวีความรุนแรงจนยากจะรับมือดังเช่นที่เห็นตัวอย่างจากในหลายประเทศ


ข้อมูลอ้างอิง

  • facebook.com/covid19LesothoOfficialPage
  • Mohahlaulaairline.com
  • en.wikipedia.org/wiki/Lesotho
  • Africanews.com
  • facebook.com/covid19LesothoOfficialPage/
  • ewn.co.za/2020/03/27/lesotho-receives-covid-19-test-kits-from-billionaire-jack-ma
  • en.wikipedia.org/wiki/COVID-19_pandemic_in_Lesotho
  • facebook.com/covid19LesothoOfficialPage
  • SABC News

Writer

Avatar

นิธิตา เฉิน

นักเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรและภาพถ่าย มีความสุขกับการคุยกับคนแปลกหน้าในที่แปลกถิ่น หลงใหลทุกสิ่งที่ exotic จนเปิดเพจอยากเล่า ชื่อ Exotique Geek