ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ขณะที่ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายร้านจำต้องปิดตัวไป ร้าน LEMONADE by Lemonica เปิดสาขาใหม่ 9 สาขาในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในช่วง 3 ปีแรกที่ทำธุรกิจ ทางร้านเปิดสาขาไปแล้วกว่า 30 สาขา และมีแผนจะขยายสาขามากขึ้นเรื่อยๆ 

สินค้าของร้านนี้มีเพียงชนิดเดียว คือ ‘น้ำมะนาว’ 

เหตุใดร้านที่ขายสินค้าเพียงชนิดเดียวจึงอยู่รอดได้ เหตุใดจึงไม่ค่อยมีร้านอื่นทำเลียนแบบร้านนี้ ตามมาค้นหาคำตอบกันค่ะ 

จุดเริ่มต้นของร้านมะนาว

สมัยอยู่อเมริกา เซจิ คาวามูระ (Seiji Kawamura) เคยไปงาน Garage Sales ครอบครัวอเมริกันจะนำข้าวของที่ไม่ใช้ออกมาวางขายหน้าบ้าน คาวามูระสังเกตว่าเด็กๆ อเมริกันมักทำน้ำมะนาวขายหน้าบ้านตนเอง เขาชอบบรรยากาศสนุกสนาน คึกคัก ขณะเดียวกันก็มีความอบอุ่น คาวามูระจึงสนใจจำลองบรรยากาศเช่นนี้ในญี่ปุ่นบ้าง

ยิ่งศึกษา เขาก็ยิ่งพบโอกาสทางธุรกิจ ในญี่ปุ่น กระแสชานมไข่มุกกำลังเป็นที่นิยม มีร้านจำหน่ายชานมไข่มุกเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับชานมไข่มุกแล้ว น้ำมะนาวเป็นน้ำที่ดื่มง่าย ให้ความสดชื่น ตรงกับรสนิยมคนญี่ปุ่น 

คาวามูระตั้งชื่อร้านง่ายๆ ว่า LEMONADE by Lemonica เป็นชื่อที่เห็นปุ๊บ รู้ปั๊บเลยว่าร้านนี้จำหน่ายอะไร 

แต่หากน้ำมะนาวทำได้ง่ายขนาดเด็กๆ ก็ทำขายได้ จะทำอย่างไรให้ร้านน้ำมะนาวนี้เป็นร้านที่มีเอกลักษณ์กันล่ะ 

อาวุธลับ

แม้น้ำมะนาวจะทำได้ง่ายก็จริง แต่คาวามูระก็มุ่งมั่นสร้างความแตกต่าง เขาพยายามหาวิธีสกัดน้ำมะนาวสดออกมาโดยไม่ได้ใช้ความร้อนเพื่อคงรสเปรี้ยวแต่หอมอ่อนๆ ของเลม่อนได้ โดยเขาเป็นคนแรกในญี่ปุ่นที่ทำวิธีนี้ 

สารสกัดมะนาวเหล่านี้จะถูกส่งจากโรงงานไปที่หน้าร้าน ให้พนักงานชงสดๆ ให้ลูกค้าทีละแก้วๆ โดยไม่ต้องเสียเวลานั่งหั่นและคั้นเลม่อน นั่นทำให้แต่ละร้านคุมคุณภาพและรสชาติได้ดียิ่งขึ้นด้วย

นอกจากนี้ คาวามูระเลือกใช้มะนาวปลอดสารพิษ เพื่อให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ดื่มได้อย่างสบายใจ 

ความลับของ LEMONADE by Lemonica ร้านน้ำมะนาวที่ขยาย 9 สาขารวดใน 1 เดือนขณะร้านอื่นทยอยปิดตัวลง
ภาพ : morning.vogue.tokyo/lemonica

น้ำมะนาวที่คนอยากดื่มทุกๆ วัน

คาวามูระมองว่า การที่ธุรกิจจะอยู่ได้นั้น ลูกค้าต้องกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง อะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าไม่เบื่อน้ำมะนาว และอยากกลับมาที่ร้านบ่อยๆ ล่ะ 

ร้าน LEMONADE by Lemonica เตรียมเมนูน้ำเลม่อน 22 แบบ ทั้งเมนูทั่วไปและเมนูประจำฤดูกาล เพื่อให้ลูกค้าสนใจลิ้มลอง เช่น เลม่อนผสมพีชโซดา เลม่อนฟองชีส เลม่อนผสมโคล่า ชามะนาว 

ความลับของ LEMONADE by Lemonica ร้านน้ำมะนาวที่ขยาย 9 สาขารวดใน 1 เดือนขณะร้านอื่นทยอยปิดตัวลง
ภาพ : morning.vogue.tokyo/lemonica

ลูกค้าเลือกได้ว่าจะรับน้ำเลม่อนแบบเย็น ร้อน หรือผสมโซดา โดยเลือกระดับความหวานและชนิดของน้ำเชื่อมได้อีกด้วย 

ความลับของ LEMONADE by Lemonica ร้านน้ำมะนาวที่ขยาย 9 สาขารวดใน 1 เดือนขณะร้านอื่นทยอยปิดตัวลง
ภาพ : lemonade-by-lemonica.com/menulineup.html 

คอนเซปต์ของร้านคือ “น้ำเลม่อนธรรมชาติที่ดื่มได้ทุกวัน โดยชงสดทีละแก้วอย่างใส่ใจ” 

ไม่ได้พูดถึงความอร่อยสักคำ แต่อ่านแล้วรู้สึกอยากสั่งมาดื่มทันที

LEMONADE by Lemonica มิได้ชูเพียงความอร่อยธรรมดาๆ แต่เน้นไปที่ ‘รสชาติที่คนอยากดื่มทุกวัน’ ผสมความธรรมชาติ (ทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจ) และความใส่ใจ (ชงสดๆ ทุกแก้ว) 

น้ำเลม่อนที่นี่จึงมีรสชาติหอมอ่อนๆ แต่ดื่มแล้วไม่บาดคอ 

ความลับของ LEMONADE by Lemonica ร้านน้ำมะนาวที่ขยาย 9 สาขารวดใน 1 เดือนขณะร้านอื่นทยอยปิดตัวลง
แก้วน้ำที่ดีไซน์ทันสมัย ทำให้วัยรุ่นส่วนใหญ่ถ่ายรูปลงโซเชียลเสมอๆ
ภาพ : www.iza.ne.jp/kiji/life/

มองเห็นตอนจบก่อนสร้างร้าน

โดยปกติแล้ว หากเราทำร้านอาหารหรือคาเฟ่ เจ้าของอาจพุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาเมนูอาหาร รสชาติ แต่คาวามูระมิได้ทำเช่นนั้น

เขาใส่ใจในรสชาติน้ำมะนาวก็จริง แต่เขาให้ความสำคัญกับการออกแบบร้านไม่แพ้กัน 

ร้าน LEMONADE by Lemonica ถูกออกแบบให้ใช้พื้นที่น้อยมาก เพียง 3.5 ตารางเมตรเท่านั้น จุดประสงค์หลัก คือการลดต้นทุนนั่นเอง

ความลับของ LEMONADE by Lemonica ร้านน้ำมะนาวที่ขยาย 9 สาขารวดใน 1 เดือนขณะร้านอื่นทยอยปิดตัวลง
ภาพ : sweets.media/lemonade-by-lemonica-2/

เนื่องจากเมนูมีเพียงน้ำเลม่อน คาวามูระไม่จำเป็นต้องเตรียมหม้อต้ม (เหมือนของชาไข่มุก) หรือวัตถุดิบอันหลากหลาย เคาน์เตอร์วางอุปกรณ์มีเพียงแก้วพลาสติก โถขนาดใหญ่ใส่น้ำมะนาว (ที่ผสมกับน้ำเปล่าแล้ว) ตรงเคาน์เตอร์ด้านล่าง ช่องหนึ่งเป็นที่วางขวดน้ำเชื่อมรสต่างๆ อีกช่องเป็นที่ใส่น้ำแข็ง พนักงานสามารถยืนตรงเคาน์เตอร์นี้และชงเครื่องดื่มทั้ง 22 ชนิดโดยไม่ต้องเดินไปเดินมา 

แต่ละร้านใช้พื้นที่เพียง 3.5 ตารางเมตร และต้องการพนักงาน 1 – 2 คนก็เพียงพอ 

เนื่องจากน้ำมะนาวไม่ต้องใช้หม้อต้มชาไข่มุกหรือทำเครื่องซีลถ้วย ต้นทุนค่าน้ำค่าไฟก็ยิ่งถูกลงไปอีก ยิ่งบริษัทขยายสาขามากขึ้น ต้นทุนก็ยิ่งต่ำลง นั่นเป็นสาเหตุที่ทำไม LEMONADE by Lemonica จึงขยายสาขาอย่างรวดเร็วเช่นนี้ กว่าบริษัทอื่นจะเลียนแบบทัน ก็ไล่ตามร้านไม่ทันเสียแล้ว

ทางร้านทำกำไรได้สูงถึงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยวงการ แต่ละสาขาสามารถทำรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 5 ล้านเยน (1.6 ล้านบาท) เลยทีเดียว

สรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จของทางร้าน

ร้าน LEMONADE by Lemonica ทำสินค้าง่ายๆ ที่คนทั่วไปพอทำได้ให้กลายเป็นธุรกิจหลักล้านได้อย่างไร จากการวิเคราะห์ ดิฉันคิดว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จน่าจะเป็นสิ่งต่อไปนี้ค่ะ 

  1. การมีกรรมวิธีสกัดน้ำมะนาวที่พิเศษและยากที่จะเลียนแบบ 
  2. การตั้งเป้าตั้งแต่ก่อนเริ่มธุรกิจ ว่าจะทำให้ร้านเป็นร้านที่คนอยากกลับมาซื้อทุกวัน ซึ่งส่งผลไปที่การออกแบบรสชาติ การเลือกใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย และน้ำเลม่อนรสใหม่ๆ
  3. การออกแบบร้าน โดยเน้นไปที่ร้านเล็ก ต้นทุนต่ำ เพราะฉะนั้น แม้ทางร้านจะเลือกทำเลหน้าสถานีรถไฟ หรือย่านช้อปปิ้งที่คนเดินผ่านพลุกพล่าน ต้นทุนค่าเช่าที่และค่าแรงก็ยังไม่สูงมากจนเกินไป 
  4. การออกแบบโมเดลธุรกิจในลักษณะยิ่งโต ยิ่งต้นทุนต่ำ ยิ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย