สำหรับนักท่องเที่ยวขาลุยที่ชอบท่องเที่ยวธรรมชาติมากกว่าการเที่ยวในมหานครใหญ่แล้ว ไอซ์แลนด์กำลังเป็นประเทศจุดหมายปลายทาง ตัวเลือกที่น่าสนใจและกำลังมาแรง แม้ค่าครองชีพ ค่าเดินทาง จะค่อนข้างสูง

ไอซ์แลนด์เป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับ 2 ในยุโรปรองจากเกาะอังกฤษ ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ตั้งอยู่ระหว่างอังกฤษ นอร์เวย์ และเกาะกรีนแลนด์ มีเมืองหลวงชื่อภาษาพื้นเมืองว่า Reykjavík

ในทางภูมิศาสตร์ ไอซ์แลนด์เป็นเกาะเกิดใหม่จากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ดันหินหลอมเหลวใต้เปลือกโลกขึ้นมาตามรอยแยกเมื่อ 70 ล้านปีก่อน เกาะตั้งอยู่บนสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก (Mid-Atlantic Ridge) ซึ่งเป็นแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัวระหว่างแผ่นทวีปอเมริกาเหนือและแผ่นทวีปยูเรเชีย

แผ่นทวีปยูเรเซียคือแผ่นเปลือกโลกรองรับทั้งทวีปและมหาสมุทรขนาด ประมาณ 67,800,000 ตารางกิโลเมตร รวมทวีปยุโรปและทวีปเอเชียส่วนใหญ่เข้าด้วยกัน ยกเว้นอินเดีย ตะวันออกกลาง และพื้นที่ทางทิศตะวันออกของเทือกเขา Chersky ของไซบีเรีย และประชากรร้อยละ 75 บนโลกอาศัยอยู่บนแผ่นทวีปนี้

เดินข้ามสะพาน Leif the Lucky จากทวีปยุโรปไปทวีปอเมริกาเหนือที่ Reykjanes ไอซ์แลนด์

ส่วนแผ่นทวีปอเมริกาเหนือ คือแผ่นเปลือกโลกรองรับทั้งทวีปและมหาสมุทร ขนาดประมาณ 75,900,000 ตารางกิโลเมตร รองรับทวีปอเมริกาเหนือ กรีนแลนด์ คิวบา บาฮามาส และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

คำว่าสันเขากลางมหาสมุทร (Mid-Oceanic Ridge) เป็นศัพท์ทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน เพราะเพิ่งมีการค้นพบเทือกเขากลางสมุทรจมอยู่ใต้ทะเลลึกเมื่อราว 70 กว่าปีก่อน จากการสำรวจพื้นท้องมหาสมุทรโดยเรือสำรวจ และพบแนวสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก และส่วนหนึ่งพาดผ่านเกาะไอซ์แลนด์

ไม่แปลกใจเลยที่ไอซ์แลนด์ได้รับฉายาว่า ดินแดนแห่งภูเขาไฟ มีภูเขาไฟมากกว่าร้อยแห่ง น้ำพุร้อน แหล่งพลังงานความร้อนใต้โลก ภูเขาไฟหลายแห่งยังคงคุกรุ่นอยู่ เช่น ภูเขาไฟเฮกลา (Hekla) ซึ่งปะทุครั้งล่าสุดใน พ.ศ. 2543

ตลอดสิบกว่าวันที่เราขับรถตระเวนไปทั่วเกาะที่มีขนาดเล็กกว่าประเทศไทยประมาณ 5 เท่า เห็นภูมิประเทศรูปทรงแปลก ๆ งดงามไม่ซ้ำ อันเนื่องจากมีอายุทางธรณีวิทยาไม่นาน แผ่นดินมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด

เดินข้ามสะพาน Leif the Lucky จากทวีปยุโรปไปทวีปอเมริกาเหนือที่ Reykjanes ไอซ์แลนด์
เดินข้ามสะพาน Leif the Lucky จากทวีปยุโรปไปทวีปอเมริกาเหนือที่ Reykjanes ไอซ์แลนด์

เมื่อปีที่แล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 แค่ 3 สัปดาห์ได้ เกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 50,000 ครั้ง บนคาบสมุทร Reykjanes ในประเทศไอซ์แลนด์ อันเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความไม่นิ่งของแผ่นดินที่กำลังเกิดใหม่บนเกาะไอซ์แลนด์

แต่ไอซ์แลนด์น่าจะเป็นประเทศไม่กี่แห่งในโลก ที่เราขับรถไปไม่กี่สิบกิโลเมตร จะเห็นภูมิประเทศไม่ซ้ำเดิม มีความหลากหลายจากความแตกต่างของชั้นหิน การสึกกร่อนของแผ่นดิน การกัดเซาะของน้ำ ได้ภาพน้ำตกอันตระการตา จนถึงเดินย่ำไปบนธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป และมุดเข้าไปในถ้ำน้ำแข็งแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

วันแรกเมื่อเราเดินทางมาถึงเกาะน้ำแข็งแห่งนี้ ก่อนจะไปผจญภัยตามที่ต่าง ๆ สถานที่แห่งแรกที่เพื่อนสนิทดั้นด้นไปเป็นแห่งแรก และไม่ค่อยอยู่ในโปรแกรมเที่ยวของทัวร์ส่วนใหญ่ คือบริเวณอุทยานธรณี คาบสมุทร Reykjanes อยู่ห่างจากเมืองหลวงประมาณ 50 กิโลเมตร

เพื่อนสนิทบอกว่า “หากมาไอซ์แลนด์ ตรงนี้พลาดไม่ได้เด็ดขาด เป็นที่เดียวในโลกที่จะมีโอกาสได้เห็นทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปยุโรปเกือบแนบชิดติดกัน ตรงบริเวณ Reykjanes”

เรายังสงสัยอยู่ตั้งนานว่าคืออะไร

เดินข้ามสะพาน Leif the Lucky จากทวีปยุโรปไปทวีปอเมริกาเหนือที่ Reykjanes ไอซ์แลนด์

พอรถขับไปตามกูเกิล ดั้นด้นมาถึงเนินเขาแห่งหนึ่ง พอปีนขึ้นไปเล็กน้อย ภาพที่เห็นคือร่องหินสองฟากลึกไม่กี่เมตร มีสะพานเล็ก ๆ ให้เดินข้าม

ฝั่งหนึ่งคือทวีปอเมริกาเหนือ อีกฝั่งคือทวีปยุโรป เราเดินข้ามทวีปได้โดยผ่านสะพานสีขาวที่ทอดข้ามรอยแยกระหว่างแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและอเมริกาเหนือ ในคาบสมุทร Reykjanes

บริเวณนี้เป็นสถานที่เดียวในโลกที่พื้นที่ส่วนเล็ก ๆ ของสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติกโผล่ขึ้นมา ไม่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเล โดยสันเขานี้เป็นที่ที่แผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น คือ ยูเรเซียและอเมริกาเหนือ มาบรรจบกันแต่ไม่ติดกัน หรืออีกนัยหนึ่งคือ สันเขากลางสมุทรเป็นแนวขอบเขตรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น เราจึงเดินข้ามไปมาระหว่างแผ่นเปลือกโลกทั้งสองบนสะพานได้

2 ทวีปที่มีมหาสมุทรแอตแลนติกคั่นกลาง ระยะทางนับพันกิโลเมตร แต่เราเดินข้ามทวีปได้ไม่ถึงนาที

พวกเราพากันเดินข้ามสะพานข้ามทวีป มีชื่อเรียกว่า ‘Leif the Lucky’ ตั้งขึ้นเป็นเกียรติแก่นาย เลฟ เอริกสัน (Leif Erikson) นักสำรวจชาวไอซ์แลนด์ และเป็นชาวยุโรปคนแรกที่พิชิตทวีปอเมริกาเหนือสำเร็จเมื่อพันปีก่อน ตามตำนานของชาวไอซ์แลนด์

เดินข้ามสะพาน Leif the Lucky จากทวีปยุโรปไปทวีปอเมริกาเหนือที่ Reykjanes ไอซ์แลนด์

ก่อน คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) จะค้นพบทวีปนี้ ชื่อนี้จึงเปรียบเสมือนการเชื่อม 2 ทวีปเข้าด้วยกัน

พอเราเดินถึงกลางสะพาน มีแผ่นโลหะจารึกว่า ‘Midlina In the footsteps of the gods’ เป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างแผ่นทวีปยูเรเซียกับแผ่นทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งสองฟากจะมีป้าย ‘Welcome to America’ and ‘Welcome to Europe’

พอเดินข้ามสะพานผ่าน 2 ทวีป และพากันเดินลงมาใต้สะพาน เพื่อสัมผัสสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทอดยาวจากอาร์กติกถึงแอนตาร์กติกา เดินสำรวจลักษณะหิน ส่วนใหญ่เป็นหินบะซอลต์ อันเป็นหินอัคนีที่เกิดจากการเย็นตัวของหินหนืดหรือลาวาอย่างรวดเร็วบนพื้นผิวโลก ที่เห็นส่วนใหญ่มีสีเทาถึงสีดำ มีเนื้อละเอียด เป็นการยืนยันว่าเกาะแห่งนี้เกิดจากหืนหนืดหรือลาวาค่อย ๆ ทับถมจนกลายเป็นเกาะ

ไม่น่าเชื่อว่าสันเขาที่นอนสงบนิ่งอยู่ใต้ท้องทะเลลึก จะโผล่ขึ้นมาให้มนุษย์ได้เห็นเพียงที่เดียวในโลก

เดินไปสักพักบริเวณแห่งนี้มีแผ่นป้ายอธิบายเรื่องราวไว้ว่า

เดินข้ามสะพาน Leif the Lucky จากทวีปยุโรปไปทวีปอเมริกาเหนือที่ Reykjanes ไอซ์แลนด์
Reykjanes ในไอซ์แลนด์ ที่เดียวในโลกที่เห็นทวีปอเมริกาเหนือกับยุโรปเกือบติดกัน เดินข้ามได้ด้วยสะพาน Leif the Lucky

“ลองจินตนาการว่าคุณกำลังยืนอยู่บนแผ่นเพลตยูเรเซียน แผ่นเปลือกโลกแผ่นใหญ่ที่สุดในโลก แผ่นเพลตนี้ประกอบด้วยก้อนหินเก่าแก่ที่สุดในโลก ขณะที่แผ่นเพลตอเมริกาเหนือจะเคลื่อนตัวห่างออกไปทางตะวันตกของเพลตยูเรเซียน ทำให้เปลือกโลก 2 แห่งค่อย ๆ แยกตัวออกจากกัน…”

“สะพานแห่งนี้มีความยาว 18 เมตร ข้ามหุบผาที่มีความลึกประมาณ 6 เมตร เป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกว่า เปลือกโลกทั้งสองกำลังเคลื่อนตัวแยกห่างจากกัน 2 เซนติเมตรต่อปี หรือ 2 เมตรทุกร้อยปี”

ร่องรอยจากลาวาของแนวสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก อธิบายว่าแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียและอเมริกาเหนือเคลื่อนตัวออกจากกันอย่างต่อเนื่อง ด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ภายใต้รอยแยกที่แตกออก ซึ่งทำให้มหาสมุทรแอตแลนติกกว้างขึ้นทีละน้อย

ที่น่าสนใจคือ สันเขากลางมหาสมุทรไม่ได้มีเฉพาะมหาสมุทรแอตแลนติก แต่มีอยู่ทุกมหาสมุทรทั่วโลก และมีการเชื่อมต่อกันเป็นแนวเทือกเขากลางมหาสมุทรยาวที่สุดของโลก ถึง 80,000 กิโลเมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังค่อย ๆ ไขปริศนาของพื้นธรณีบริเวณนี้ที่ยังเป็นโลกใต้ทะเลอันลึกลับ ยากต่อการสำรวจ เพราะต้องใช้เครื่องมือเทคโนโลยีชั้นสูงในการเก็บข้อมูลต่อไป

สำหรับผู้หลงใหลธรณีวิทยา คาบสมุทร Reykjanes แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนแดนสวรรค์ที่จะย้อนเวลาให้ได้เข้าใจการกำเนิดโลก เรื่องราวเกี่ยวกับภูเขาไฟ ทุ่งลาวา แผ่นดินไหว รอยแยก ชั้นหินต่าง ๆ น้ำพุร้อน และระบบความร้อนใต้พิภพได้เป็นอย่างดี

“จดจำภูมิประเทศแถวนี้ไว้ให้ดี หากอนาคตไม่กี่ปีคุณมาอีก ภูมิประเทศแถวนี้อาจไม่เหมือนเดิม” เพื่อนชาวไอซ์แลนด์คนหนึ่งบอกเรา ถึงการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์บนภูมิภาคแห่งนี้

Reykjanes ในไอซ์แลนด์ ที่เดียวในโลกที่เห็นทวีปอเมริกาเหนือกับยุโรปเกือบติดกัน เดินข้ามได้ด้วยสะพาน Leif the Lucky
Reykjanes ในไอซ์แลนด์ ที่เดียวในโลกที่เห็นทวีปอเมริกาเหนือกับยุโรปเกือบติดกัน เดินข้ามได้ด้วยสะพาน Leif the Lucky

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว