ประตูเครื่องบินปิดลงที่สนามบินเดลี ประเทศอินเดีย ผู้โดยสารชุดสุดท้ายเดินขึ้นมาบนเครื่องบิน เสียงสื่อสารระหว่างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินดังขึ้นว่า “Boarding Completed” นั่นหมายถึงจะไม่มีผู้โดยสารเดินขึ้นเครื่องบินมาเพิ่มอีกแล้ว
ผมหน้าซีด หันไปหาเพื่อนอีก 3 คน และพบว่าทุกคนหน้าซีดพอกัน เพราะเราทุกคนต่างรู้ดีว่า การเดินทางครั้งนี้เราไม่ได้เดินทางมาแค่ 4 คน แต่กลุ่มของเราต้องมีให้ครบ 7 คนจึงจะสมบูรณ์
“เฮ้ย! มีคนตกเครื่อง” ผมอุทาน
ผมเคยเป็นวิทยากรนำทัวร์ในประเทศอินเดียมาแล้วหลายครั้ง และรู้ว่าเหตุการณ์นี้วิกฤตมาก เพราะจุดหมายปลายทางของเราในวันนี้อยู่ที่เมืองเลห์ (Leh) บนเทือกเขาหิมาลัย สูงจากระดับน้ำทะเลไปถึง 3,500 เมตร หมอกลงปกคลุมหนาแน่น เที่ยวบินมีเฉพาะช่วงเช้าและมีจำนวนเที่ยวบินจำกัด ตั๋วใบใหม่อาจหาไม่ได้ภายในวันนี้
และที่สำคัญ เพื่อนอีก 3 คนที่มาขึ้นเครื่องบินไม่ทันนั้น เพิ่งเคยมาอินเดียเป็นครั้งแรก ใจผมรู้สึกว่าถ้ามีใครสักคนควรจะตกเครื่อง คนคนนั้นควรเป็นผมมากกว่า เพราะอย่างน้อยจากประสบการณ์ของการเดินทางในอินเดียหลายครั้ง ผมคงพอจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ใครที่เคยเดินทางในประเทศอินเดีย คงจะทราบดีว่าสิ่งที่คาดหมายว่าแน่ก็อาจจะไม่แน่ เพราะสิ่งที่ไม่แน่นั้นมักจะเกิดขึ้นแน่นอน
ผมขอให้เพื่อนของผมอีกคนหนึ่งช่วยติดต่อสื่อสารกับเพื่อนกลุ่มที่ตกเครื่องนั้นให้ซื้อตั๋วใหม่โดยเร็วที่สุด ท่ามกลางความคิดที่ปั่นป่วนอยู่ในสมองของผม ว่าจะต้องเตรียมแผนสำรองไว้อย่างไรบ้าง ในเมื่อคณะเดินทางมีคนตกเครื่องครึ่งคณะอย่างนี้
เครื่องบินกำลังจะเคลื่อนเข้าสู่รันเวย์ ทันใดนั้นก็มีข้อความส่งเข้ามาว่าตั๋วเครื่องบินใบใหม่ทั้งสามใบได้อยู่ในมือของเพื่อนแล้ว ผมถอนหายใจด้วยความโล่งอก พลางรู้สึกว่าการเป็นหัวหน้าทริปให้กลุ่มเพื่อนครั้งนี้ ดูท่าจะต้องเจอโจทย์หินเข้าให้แล้วจริง ๆ
เตรียมตัวไปเลห์
คณะเดินทางของเราทั้ง 7 คนเป็นเพื่อนสนิทกันมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยม ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 10 ปีที่รู้จักกัน ทำให้เรารู้เช่นเห็นชาติกันดียิ่งกว่าอย่างอื่น วันแรกที่ผมได้รับโจทย์จากเพื่อนๆ ว่าเราจะไปเลห์-ลาดักห์กันนั้น ผมก็รับปากว่าจะจัดทริปให้ด้วยความตื่นเต้น แต่อีกใจหนึ่ง (ในฐานะที่เป็นหัวโจกจัดทริปมาหลายครั้ง) ผมก็รู้สึกว่าท้องไส้ปั่นป่วนไปหมด เพราะการเดินทางในเขตเทือกเขาสูงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่เงื่อนไขที่เพื่อน ๆ ของผมตั้งไว้นั้นก็ไม่มีอะไรมาก พวกเขาขอแค่อาหารอร่อย รสชาติไม่ประหลาด ที่พักสะดวกสบาย ควรจะมีน้ำอุ่น รถยนต์สะอาด คนขับรถยนต์ต้องสุภาพ โปรแกรมจะต้องไม่เหนื่อย และที่สำคัญก็คือราคาไม่แพง
เงื่อนไขง่าย ๆ ทั้งนั้นเลยครับ แหะ แหะ…
ผมเคยเดินทางบนเทือกเขาหิมาลัยมาแล้ว 4 ครั้ง ประสบการณ์ทั้ง 4 ครั้งสอนให้ผมรู้ว่า โจทย์ที่เพื่อนตั้งนั้นซับซ้อนยิ่งกว่าสมการ 5 ตัวแปรเสียอีก ผมรีบติดต่อกับพี่ไกด์ที่คุ้นเคย บอกเงื่อนไขทั้งหมด และขีดเส้นงบประมาณเอาไว้ว่าต้องไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ หลังจากผ่านการเลือกแล้วเลือกอีกหลายครั้ง เราก็ได้โรงแรมที่มีน้ำอุ่น ห้องนอนมาตรฐาน สะอาด และปลอดภัยในราคาที่ยอมรับได้ (ผมต่อรองเพิ่มด้วยว่า ในฐานะไกด์โดยสมมติ ต้องเข้าไปทำอาหารในครัวได้) รวมถึงได้ไกด์ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในเมืองเลห์มาประกบร่วมทีม
ยิ่งไปกว่านั้น ทางเราเจรจาอย่างไรไม่ทราบได้ ทางอินเดียจึงดูเป็นห่วงพวกเรามาก ด้วยเหตุนี้ทางบริษัททัวร์ฝั่งอินเดียส่งทีมงานอีกหนึ่งคนมาดูแลเราเป็นพิเศษ ตั้งแต่สนามบินเดลีและอยู่กับพวกเราตลอดทริป เท่ากับว่าคณะนี้มีลูกทัวร์ทั้งหมด 6 คน แต่ใช้ทีมงานดูแลถึง 3 คน (รวมผมเป็นทีมงานด้วย) เรียกได้ว่าประกบบริการกัน 2 ต่อ 1 ทะนุถนอมชนิดที่ว่าจะไม่ยอมให้มีอะไรมาแผ้วพานได้เลยทีเดียว
การเดินทางครั้งนี้ผมมาอยู่ที่เดลีล่วงหน้าเพื่อน ๆ 2 วัน และเดินทางไปเจอทุกคนที่สนามบินเดลี ในชีวิตของผมมีอยู่ไม่กี่ครั้งที่จะหาตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจให้กับตัวเอง แต่การเดินทางครั้งนี้ ผมตัดสินใจเอาไมล์การบินไทยที่มีไปแลกที่นั่งชั้นธุรกิจมาจนได้ เพราะต้องการน้ำหนักสัมภาระมากถึง 50 กิโลกรัม (และผมใช้เต็มโควต้าด้วย)
ในน้ำหนัก 50 กิโลกรัมประกอบด้วยเสื้อผ้าของผมเอง 10 กิโลกรัม ส่วนอีก 40 กิโลกรัมเป็นของกิน ที่ผมวางแผนมาแล้วอย่างรอบคอบว่า ถ้าเพื่อนรับประทานอะไรไม่ได้เลย ทุกคนจะต้องมีอาหารกินครบ 3 มื้อตลอดทุกวัน โดยไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ
เครื่องบินลดระดับลงที่เมืองเลห์ ภาพเทือกเขาสลับซับซ้อนปกคลุมด้วยหิมะขาวโพลนปรากฏขึ้นตรงหน้า เดือนเมษายนยังคงเป็นเดือนที่อากาศเย็นจัดสำหรับที่นี่ เราคลุมเสื้อกันหนาวให้กระชับตัว ก่อนจะออกไปปะทะกับสายลมแห่งเทือกเขาหิมาลัยที่ภายนอก ในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงเลห์แล้ว
ก้าวแรกในเลห์
เรื่องกลุ่มของผมตกเครื่องกัน 3 จาก 7 คน เป็นที่โจษจันและขบขันในหมู่มัคคุเทศก์ชาวไทยและชาวอินเดียอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนต่างก็อัศจรรย์ใจว่าเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผมก็ยืนยันแล้วยืนยันอีก ว่าผมได้ไปตามหาเพื่อนกลุ่มที่ตกเครื่องก่อนจะเดินมาขึ้นเครื่องแล้วแต่ก็ไม่พบ จึงได้วางใจว่าทุกคนน่าจะเดินมาขึ้นเครื่องแล้ว แต่ทำไมจึงกลายเป็นอย่างนี้ไปผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน คงต้องให้เจ้าตัวมาอธิบายเอง
เลห์เป็นเมืองเอกของเขตการปกครองพิเศษลาดักห์ (Union territory of Ladakh) ถ้าเปรียบเทียบง่าย ๆ ก็คือ เลห์เป็นอำเภอเมืองของจังหวัดลาดักห์นั่นเอง ตั้งอยู่บนที่สูง 3,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ฉะนั้น นักท่องเที่ยวต่างถิ่นที่เดินทางมาที่นี่จึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคแพ้ความสูง (Altitude Sickness) กันทุกคน นอกเหนือจากการรับประทานยาลดความดันป้องกันมาก่อนหน้าแล้ว สิ่งที่คนต่างถิ่นควรจะทำก็คือการนอนราบโดยสมบูรณ์ (Absolute Bed Rest) ก่อนระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ร่างกายปรับตัวเข้าสู่ภาวะออกซิเจนน้อย จึงทำให้โปรแกรมวันแรกของเราไม่มีอะไรนอกจากการนอนเฉย ๆ (และรอให้คนที่ตกเครื่องเดินทางตามมาถึง) ก่อนจะออกไปสำรวจเมืองเลห์แห่งเขตการปกครองลาดักห์กันในช่วงเย็น
ลาดักห์เคยเป็นนครรัฐบนเทือกเขาหิมาลัยที่มีเจ้านครรัฐปกครองมาก่อน ชาวลาดักห์ส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนานิกายวัชรยานแบบทิเบต และภาษาลาดักห์ก็เป็นภาษาตระกูลทิเบตเช่นกัน เราจึงรู้สึกได้ทันทีว่าลาดักห์มีความคล้ายคลึงกับทิเบตมากกว่าอินเดีย ถึงขนาดที่นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ลาดักห์คือผืนแผ่นดินที่เก็บรักษาจิตวิญญาณของความเป็นทิเบตได้ดีที่สุด หลังจากที่รัฐบาลจีนได้ผนวกทิเบตให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโดยสมบูรณ์
ลาดักห์เคยเป็นเมืองบนเส้นทางการค้าข้ามเทือกเขาหิมาลัยในสมัยโบราณ และมีเจ้าผู้ปกครองเป็นของตนเอง พระราชวังเลห์ (Leh Palace) ก่อสร้างขึ้นเมื่อราว ค.ศ.1600 ตั้งอยู่เคียงคู่กับวัดเซโม (Namgyal Tsemo Monastery) ที่ตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นประมาณ 150 ปี สถานที่ทั้งสองแห่งนั้นสร้างขึ้นบนภูเขาอันสูงชัน จึงเปรียบได้กับศูนย์กลางของเมืองเลห์ในอดีต ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจึงนิยมขึ้นไปชมทิวทัศน์มุมสูงจากสถานที่ทั้งสองแห่งนี้ หรือไม่ก็อาจจะไปชมทิวทัศน์จากสถูปสันติภาพ (Shanti Stupa) ก็ได้ แน่นอนว่าเราได้ชมทิวทัศน์จากทุกสถานที่ข้างต้น ทิวทัศน์นั้นสวยงามจับใจทุกคน
ยับ – ยุม
วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่เราเริ่มปรับตัวเข้ากับภูมิประเทศและสภาพอากาศได้แล้ว เราจึงออกเดินทางไกลกันสักหน่อย โปรแกรมของเราในวันนี้คือการเดินทางออกนอกเมืองเลห์ไปยังวัด 3 วัด คือ Matho Gompa, Hemis Gompa และ Thiksey Gompa และพระราชวัง 2 แห่ง คือ Shey Palace และ Stok Palace
พระพุทธศาสนาในเขตลาดักห์นั้นได้รับอิทธิพลจากทิเบตแทบทั้งหมด พระพุทธศาสนาในแถบนี้จึงเป็นพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน มีการบูชาพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์หลายองค์ เพราะตามทฤษฎีแล้ว พระพุทธศาสนานิกายวัชรยานก็คือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ผสมผสานเข้ากับความเชื่อท้องถิ่นที่นับถือวิญญาณและความเร้นลับมาแต่เดิม จึงทำให้พระพุทธศาสนาในแถบนี้มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคย
ผมเองพอมีความรู้พื้นฐานเรื่องศิลปะทิเบตอยู่บ้าง แต่คิดว่าเพื่อนคงไม่ได้สนใจใคร่รู้อะไรนัก ผมจึงไม่ได้อธิบายอะไรมาก นอกจากบอกเพื่อนคร่าวๆ ว่าให้ไหว้พระตามแบบที่เคยทำอยู่เป็นปกติในเมืองไทยก็ใช้ได้แล้ว เพราะเป็นศาสนาเดียวกัน แต่เนื่องจากพระพุทธศาสนาที่นี่แตกต่างจากพระพุทธศาสนาที่เราคุ้นเคยมาก จึงมีคนเกิดข้อสงสัยตั้งแต่วัดแรกที่เราไปถึงในตอนเช้า
เพื่อนผมคนหนึ่งเดินยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ออกมาจากวิหารหลักของวัด พร้อมสะกิดให้เพื่อนที่เหลือเดินตามเข้าไปดู เห็นกิริยาอย่างนั้น ผมก็รู้ได้ทันทีว่าเพื่อนไปพบเจอเข้ากับอะไร ผมจึงตามเพื่อนไปทันที เพราะเข้าใจว่าเพื่อนต้องการคำอธิบายในเรื่องนี้อย่างแน่นอน และผมก็ไม่ผิดหวังในตัวเพื่อนเลยแม้แต่น้อย
เพราะที่หน้าจิตรกรรมขนาดใหญ่เบื้องหน้าพระประธาน ปรากฏรูปพระโพธิสัตว์หน้าตาดุดัน กำลังใช้แขนกอดเกี่ยวอยู่กับสตรีนางหนึ่ง ร่างกายเบื้องล่างของคนทั้งคู่เกี่ยวกระหวัดสนิทกันเป็นหนึ่งเดียว คนทั้งสองจุมพิตกันอย่างแนบแน่น ท่ามกลางปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ร่างของพระโพธิสัตว์นิ่งสง่าอยู่กับที่ ในขณะที่ร่างของฝ่ายหญิงนั้นดูคล้ายกับกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในอ้อมกอดของฝ่ายตรงข้าม
“นี่มันอะไรกัน นี่มันในวัดไม่ใช่เหรอ” เพื่อนผมทุกคนมีสีหน้าประหลาดใจ (และชอบใจพอ ๆ กัน)
เมื่อหลายปีก่อน ในประเทศไทยของเราเคยมีประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ เมื่อมีผู้โพสต์ภาพพระพุทธรูป (หรือพระโพธิสัตว์) ประทับนั่ง และมีสตรีนั่งทับอยู่ด้านบน แน่นอนว่าผู้เป็นพุทธศาสนิกชนย่อมร้อนใจ เพราะเข้าใจว่ามีคนกำลังล้อเลียนพระพุทธศาสนา จนกระทั่งในเวลาต่อมาก็ต้องมีผู้รู้รีบมาเฉลยให้ฟังว่า รูปเคารพที่มีลักษณะดังว่านั้นเป็นประติมากรรมที่ทำขึ้นทั่วไปในพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน โดยฝ่ายชายที่นั้นอาจเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ก็ได้ และฝ่ายหญิงเป็นศักติหรือชายาของฝ่ายชาย
กิริยาเช่นนั้นอาจเปรียบง่าย ๆ เป็นสัญลักษณ์แทนปริศนาธรรม คือฝ่ายชายเปรียบเสมือนความกรุณาที่ต้องมีความมั่นคง ในขณะที่ฝ่ายหญิงเปรียบเสมือนปัญญาที่ต้องรู้จักพลิกแพลง ปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ฉะนั้น ฝ่ายชายในรูปเคารพหรือภาพวาดประเภทนี้จึงมักจะไม่เคลื่อนไหว ในขณะที่ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เคลื่อนไหวแทน สะท้อนว่าเมื่อใดก็ตามที่ปัญญาและความกรุณาในแต่ละบุคคลผสานกันเป็นหนึ่งเดียว บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงธรรมะได้ และแน่นอนว่าการเข้าถึงธรรมะนั้นย่อมนำมาซึ่ง ‘ความสุขอย่างยิ่ง’ ในชีวิตของมนุษย์ทุกคน
สิ่งนี้เรียกเป็นภาษาทิเบตว่า ‘ยับ – ยุม’ โดย ยับ หมายถึงเพศชาย และ ยุม หมายถึงเพศหญิง
การใช้สัญลักษณ์โดยธรรมชาติของมนุษย์แทนนี้ พบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายวัชรยาน แม้ว่าเราจะไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนานิกายนี้ แต่การทำความรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด อย่างน้อยที่สุดก็จะได้ไม่ต้องตกใจ เวลาเดินเข้าไปในศาสนสถานบนเทือกเขาหิมาลัยแล้วพบเจอ ยับ – ยุม ไปหมดทุกแห่ง
ผมเห็นว่าวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจากวิถีชีวิตที่เราคุ้นเคยนั้นน่ารู้จักเสมอ เช่นเดียวกับพระพุทธศาสนาที่ต่างบริบทกัน ก็ย่อมมีการตีความและการสร้างศิลปวัตถุที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้น การทำความรู้จักกับความหลากหลายนั้นไว้ ก็คงจะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่ได้เรียนรู้บ้างไม่มากก็น้อย เหมือนกับเพื่อน ๆ ของผมทุกคน ที่แม้ว่าพวกเราจะกลับจากลาดักห์มาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังจดจำและเข้าใจปรัชญา ยับ – ยุม ได้อย่างแม่นยำ และเล่ารายละเอียดได้เป็นฉาก ๆ เลยทีเดียว
ผมภูมิใจในตัวเพื่อนทุกคนครับ ทุกคนเก่งมาก
หุบเขา สายลม และธงห้าสี
วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 3 ของพวกเราบนเทือกเขาแห่งนี้ เรามีกำหนดการเดินทางไกลไปยังหุบเขานูบรา (Nubra Valley) ซึ่งเป็นหุบเขาท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนดินแดนลาดักห์ เราจะไปค้างคืนในหุบเขานั้นคืนหนึ่ง การเดินทางวันนี้เป็นการเดินทางไกลพิเศษ เพราะต้องใช้เวลานั่งรถนานถึง 6 ชั่วโมง และต้องเดินทางผ่านหนึ่งในทางหลวงแผ่นดินที่ตั้งอยู่สูงที่สุดในโลก คือ 5,359 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชื่อว่าช่องเขาคาร์ดุง หรือออกเสียงเป็นภาษาลาดักห์ว่าคาร์ดุง ลา (Khardung La)
เมื่อเราเดินทางอยู่บนเส้นทางหิมาลัยมุมใดก็ตาม สิ่งที่เราจะพบเห็นได้ทั่วไปคือธงห้าสีที่แขวนพาดจากภูเขาด้านหนึ่งยังภูเขาอีกด้านหนึ่ง ธงห้าสีนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าธงมนตรา มีความหมายสำคัญสำหรับชาวทิเบตและดินแดนใกล้เคียงมาก เนื่องจากบนธงห้าสีนี้จะมีบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนาเขียนหรือพิมพ์อยู่
ในอดีตนั้นผู้คนในแถบนี้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เพราะฉะนั้น การจะสาธยายมนต์จากตัวอักษรจึงเป็นเรื่องที่จำกัดอยู่แต่เฉพาะในหมู่ผู้รู้หนังสือเท่านั้น คนแถบนี้จึงเขียนบทสวดมนต์ศักดิ์สิทธิ์ลงบนธงราว และนำไปแขวนอยู่บนที่สูง เป็นความเชื่อที่ว่าเมื่อใดก็ตามที่สายลมพัดผ่านธงมนตราเหล่านี้ สายลมก็จะพัดพาเอาบทสวดมนต์ ซึ่งเปรียบเสมือนพรอันศักดิ์สิทธิ์ให้แผ่ลงไปสร้างความสันติสุขทั่วทั้งหุบเขา ด้วยคติอันเป็นมงคลนี้เองทำให้ชาวลาดักห์ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมทิเบตมาเต็มที่ นิยมผูกธงมนตราไว้บนที่สูงกับเขาด้วย
ธงห้าสีนั้นประกอบด้วยสีขาว สีน้ำเงิน สีเหลือง สีแดง และสีเขียว แทนสีพระวรกายของพระธยานิพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าผู้มีพระวรกายอันเป็นทิพย์ในสรวงสวรรค์ (นิกายวัชรยานเชื่อว่าพระพุทธเจ้าที่ประสูติบนโลกมนุษย์นั้นเป็นการแบ่งภาคลงมาเกิดของพระพุทธเจ้าเหล่านี้) พระพุทธเจ้าทั้งห้าพระองค์นั้นประกอบด้วยพระพุทธเจ้าไวโรจนะ พระพุทธเจ้าอักโษภยะ พระพุทธเจ้ารัตนสัมภวะ พระพุทธเจ้าอมิตาภะ และพระพุทธเจ้าอโมฆสิทธิ ซึ่งมีสีพระวรกายเป็นสีตามลำดับข้างต้น
และพระพุทธเจ้าที่แบ่งภาคลงมาเกิดในโลกมนุษย์จากพระพุทธเจ้าเหล่านี้ คือ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสปะ พระพุทธเจ้าโคตมะ และพระพุทธเจ้าเมตไตรยะ (พระศรีอาริยเมตไตรย) ในปัจจุบันพวกเราทุกคนอยู่ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าโคตมะ ซึ่งทรงแบ่งภาคมาจากพระอมิตาภพุทธบนสรวงสวรรค์ เราจึงได้ยินพระนามของพระอมิตาภพุทธอยู่บ่อย ๆ ในพระพุทธศาสนาที่ไม่ใช่นิกายเถรวาทนั่นเอง
ผมชอบธงมนตราเหล่านี้เป็นการส่วนตัว เพราะรู้สึกว่าเป็นกุศโลบายที่มีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ผมจึงซื้อธงมนตราจากตลาดมา 5 ม้วน เพื่อที่จะแบ่งธงมนตราบางส่วนไปผูกบนคาร์ดุง ลา และเมื่อพวกเราได้ขึ้นไปถึงทางหลวงแผ่นดินที่สูงที่สุดในโลกแล้ว ผมจึงได้มีโอกาสผูกธงมนตราสมใจ
เรามีกำหนดการจะต้องเดินทางไปให้ถึงนูบราวัลเลย์ตอนมื้อเที่ยง เมื่อพูดถึงเรื่องอาหารขึ้นมาแล้วผมก็อดโล่งใจไม่ได้ ทีแรกผมกลัวมากว่าเพื่อน ๆ จะไม่มีใครรับประทานอาหารบนเส้นทางนี้ได้ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่อาหารมื้อแรกที่เราเดินทางมาถึง เพื่อนผมก็ตักอาหารเติมลงบนจานของตัวเองซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่รอช้า เป็นอันว่าอาหารเสริมที่ผมหอบมาจากกรุงเทพฯ จึงไม่ได้ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสมบูรณ์ เพราะพวกเรารับประทานอาหารท้องที่ผสมผสานไปกับอาหารที่เราคุ้นเคยได้เป็นอย่างดี
สำหรับการเดินทางมานูบราวัลเลย์ ผมเตรียมหมูหย็องมาสองถุงใหญ่ บวกกับส้มตำสำเร็จรูปและน้ำพริกกากหมูอีกจำนวนหนึ่ง เดือนเมษายนเรามีเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวพิเศษ จึงทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยในลาดักห์มีมาก เราแบ่งปันเสบียงที่เตรียมมาให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มอื่น ๆ ด้วย บรรยากาศจึงอบอุ่นมาก แม้ว่าอากาศจะหนาวเย็นเพียงใดก็ตาม
กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวนิยมมากที่สุด คือการไปขี่อูฐที่เนินทรายฮุนเดอร์ (Hunder Sand Dunes) ที่นี่มีอูฐพันธุ์บักเตรียน (Bactrian Camel) ซึ่งเป็นสายพันธุ์จากมองโกเลียให้นักท่องเที่ยวทดลองขี่ อูฐชนิดนี้มีเอกลักษณ์คือเป็นอูฐ 2 หนอก ในอดีตเมื่อครั้งการค้าเส้นทางสายไหมยังรุ่งเรือง คาราวานสินค้าใช้อูฐชนิดนี้เป็นเครื่องมือขนส่งสินค้าข้ามภูมิภาค ทำให้มีสายพันธุ์อูฐเหล่านี้แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตเทือกเขาหิมาลัยและเอเชียกลาง
การขี่อูฐที่นี่จะขี่เป็นกลุ่ม ๆ ใครมาด้วยกันก็ให้ขี่ไปด้วยกัน สนุกสนานมากเพราะพวกเราเฮฮาไปพร้อมกับเพื่อนได้ตลอดทาง ยิ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยมีสัดส่วนมาก ก็จินตนาการได้เลยว่าที่เนินทรายฮุนเดอร์มีเสียงภาษาไทยกึกก้องสักเท่าไหน
คืนวันนั้นอากาศค่อนข้างหนาว เราพบว่าโรงแรมที่เราพักมีมาตรฐานของห้องที่ไม่เสมอกัน บางห้องเล็กแต่บางห้องใหญ่ บางห้องมีผ้าห่มให้ 2 ผืน ในขณะที่บางห้องให้ผ้าห่มถึง 4 ผืน บางห้องมีหน้าต่าง 3 ด้าน ในขณะที่บางห้องมีหน้าต่างเพียงด้านเดียว (ซึ่งห้องที่หน้าต่างน้อยก็จะไม่หนาวทรมาน เหมือนกับห้องที่มีหน้าต่างมาก) พวกเราสนุกสนานกับการสำรวจว่าแต่ละห้องนั้นต่างกันอย่างไร หลังจากนั้นปรากฏว่าเกิดเหตุไฟฟ้าดับทั้งนูบราวัลเลย์ เป็นเหตุให้เครื่องทำน้ำอุ่นไม่ทำงาน และเราทุกคนต้องตกอยู่ภายใต้ความมืดสนิทอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด เพราะเราต่างหัวเราะให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ว่าเราต้องทุกข์ร้อนอะไร เพราะเราตั้งใจมาสัมผัสกับธรรมชาติมิใช่หรือ
โจทย์การเดินทางที่ผมคิดว่ายากกลับคลี่คลายไปทีละน้อย ผมคิดว่าการเดินทางร่วมกันก็ควรเป็นเช่นนี้ คือควรถ้อยทีถ้อยอาศัย เจอปัญหาก็แก้ หรือเมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ป้องกันไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับและปรับตัว ไม่เช่นนั้นบรรยากาศของการเดินทางก็จะเสียไปทั้งหมด ผมยังนึกขอบคุณเพื่อนอยู่เสมอที่เข้าใจข้อจำกัดของพื้นที่ และทำให้การยกแก๊งคุณชายไปเที่ยวหิมาลัยของเราไม่ได้ยากเย็นถึงขนาดนั้น
เช้าวันรุ่งขึ้นเราขึ้นไปชมทิวทัศน์มุมสูงของนูบราวัลเลย์กันที่วัดดิสกิต (Diskit Monastery) วัดที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในเขตนี้ พระอารามแห่งนี้สถาปนาขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 และจนถึงบัดนี้ก็ไม่เคยร้างผู้คน ปัจจุบันยังมีการก่อสร้างรูปเคารพพระศรีอาริยเมตไตรยองค์ใหญ่ขึ้นที่บริเวณวัด เพื่อเป็นมงคลสัญลักษณ์ที่จะทำให้มั่นใจว่า หุบเขาแห่งนี้ที่จะได้รับการอำนวยพรจากมนตราอันศักดิ์สิทธิ์ไปนานเท่านาน
ทะเลสาบพันกอง
เช้าวันถัดมาเราออกเดินทางกันแต่เช้า เพื่อใช้เวลา 5 ชั่วโมงข้ามช่องเขา Chang La ไปยังทะเลสาบสีเทอร์ควอยซ์สดนามว่า ทะเลสาบพันกอง (Pangong Lake) ทะเลสาบแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ความสูง 4,225 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีอาณาเขตบางส่วนเชื่อมต่อกับแผ่นดินทิเบตตะวันตก พื้นที่แห่งนี้จัดเป็นแอ่งที่ราบที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Endorheic Basin) และได้รับความคุ้มครองในฐานะพื้นที่ชุ่มน้ำภายใต้อนุสัญญาแรมซาร์
เดือนเมษายนจัดเป็นช่วงกลางฤดูใบไม้ผลิ ผิวทะเลสาบพันกองจึงมีแผ่นน้ำแข็งปกคลุมพอให้นักท่องเที่ยวลงไปเดินได้ ผมจึงได้โอกาสลงไปเดินเล่นบนทะเลสาบน้ำแข็งกับเขาด้วย บนผิวทะเลสาบแห่งนั้นมีนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวนมาก บวกกับนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นอีกเล็กน้อย สายลมเย็น ๆ ที่พัดผ่านผืนน้ำสีคราม ผสานเข้ากับสีน้ำตาลทะมึนของขุนเขาโดยรอบ สร้างบรรยากาศอันขรึมขลังอย่างไม่น่าเชื่อ แต่แล้วในระหว่างที่ผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งกำลังดื่มด่ำกับบรรยากาศที่เป็นใจนั้น ก็ปรากฏเสียงโหวกเหวกโวยวายมาจากอีกด้าน และเสียงนั้นก็คือเสียงของกลุ่มเพื่อนที่เหลือของผมซึ่งรออยู่ที่ริมฝั่งนั้นเอง
ต้นเหตุของเสียงเอะอะโวยวาย ก็คือลมเหนือทะเลสาบพันกองกำลังพัดกระโชกแรงเต็มที่ จนกระทั่งผลักให้ผิวทะเลสาบซึ่งเป็นแผ่นน้ำแข็งนั้นเคลื่อนตัวออกจากฝั่ง ถ้ารอช้าอาจจะต้องติดอยู่บนแผ่นน้ำแข็งกลางทะเลสาบภายใต้อุณหภูมิติดลบก็เป็นได้ นักท่องเที่ยวจำนวนมากที่กำลังเพลิดเพลินอยู่บนแผ่นน้ำแข็งจึงต้องกระโดดขึ้นฝั่งอย่างรวดเร็ว บรรยากาศในเวลานั้นคล้ายกับการกู้ภัย เราให้ผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุกระโดดขึ้นฝั่งไปก่อน
จากนั้นจึงตามด้วยผู้ชาย โดยมีผมและเพื่อนอีกคนซึ่งเดินไปไกลกว่านักท่องเที่ยวคนอื่นตามมาเป็นคนสุดท้าย ตอนนั้นแผ่นน้ำแข็งเคลื่อนตัวออกจากชายฝั่งมากแล้ว เราไม่มีทางอื่นนอกจากต้องถอดรองเท้าและเดินลุยน้ำ เพื่อนของผมลุยน้ำข้ามไปก่อนอย่างทุลักทุเลพอตัว ส่วนผมกำลังจะโยนรองเท้าให้เพื่อนบนฝั่งช่วยรับ แต่ดูเหมือนริมขอบแผ่นน้ำแข็งจะรับน้ำหนักนักท่องเที่ยวมายาวนานเกินไป จนกระทั่งทานน้ำหนักไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว ก่อนที่ผมจะได้ก้าวเท้าลงลุยน้ำ แผ่นน้ำแข็งใต้เท้าผมก็แตกออก พร้อมกับการที่ตัวของผมดิ่งลงสู่น้ำอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งทันที
ภาวะตกใจสุดขีดเป็นเช่นนี้เอง !
เคราะห์ดีที่ผมพยุงตัวขึ้นมาได้ทัน น้ำจึงท่วมขึ้นมาไม่ถึงอก ทว่าตั้งแต่ท้องลงไปถึงเท้าของผมเปียกโชกเต็มที่ท่ามกลางความตกใจของทุกคนในบริเวณนั้น ยกเว้นกลุ่มเพื่อนของผมที่นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้วยังได้แต่หัวเราะขบขัน ผมเองก็พลอยหัวเราะขบขันไปกับเขาด้วย และถือได้ว่าเป็นการตกทะเลสาบที่ราคาแพงที่สุดในชีวิต เพราะผมต้องสละโทรศัพท์มือถือไปหนึ่งเครื่อง ยังโชคดีที่อกผมไม่โดนน้ำ เพราะเราจะต้องเดินทางข้ามภูเขาหิมะอีก 5 ชั่วโมงกว่าจะกลับไปถึงเลห์ ถ้าอกผมโดนน้ำ เพื่อนที่เป็นหมอบอกว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นปอดบวมได้ การเป็นปอดบวมบนภูเขาหิมะนั้นฟังดูไม่ใช่เรื่องสนุกอย่างแน่นอน
ทักษะในการหัวเราะไปกับทุกสถานการณ์นั้น ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ช่วยประคับประคองความรู้สึกได้จริง เพราะถ้ามัวแต่จ่อมจมอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งเราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว (และป้องกันไม่ได้ด้วย เนื่องจากเป็นอุบัติเหตุ) ก็จะพลอยทำให้จิตใจของเราขุ่นมัววุ่นวาย อีกทั้งยังจะส่งผลให้คนอื่น ๆ พลอยไม่สนุกไปกับเราด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นี้ทีไร ผมจะย้ำเตือนกับตัวเองเวลาเจอเรื่องไม่คาดฝันว่า ให้คิดเสมอว่าทุกอุปสรรคที่เกิดขึ้นมีทางออก เราลงมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้าเสียก่อน อะไรทำได้ก็ทำ อะไรยังทำไม่ได้ก็ต้องยอมรับ และค่อย ๆ ใช้สติพิจารณา เพราะดีกว่าการหงุดหงิดว้าวุ่นเป็นไหน ๆ จริงไหมครับ
แต่การตกทะเลสาบอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์นั้น ผมขอครั้งเดียวในชีวิตก็นับว่าเพียงพอ และแน่นอนว่าเรื่องนี้ก็เป็นที่เล่าลือขบขันไปในหมู่มัคคุเทศก์ชาวไทยและชาวอินเดียบนเส้นทางหิมาลัยอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
เส้นทางพิสูจน์มิตรภาพ
วันรุ่งขึ้นเรามีโปรแกรมสบาย ๆ เดินทางไปยังวัดอัลชิ (Alchi Monastery) ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาทุกวัดที่เราไปมา และเลยไปยังหมู่บ้านลามะยูรู (Lamayuru) ที่มีภูมิทัศน์แปลกตา เส้นทางวันนี้เป็นที่ลุ่มต่ำลงกว่าเมืองเลห์ สองข้างทางจึงเต็มไปด้วยต้นไม้ดอกไม้นานาชนิดที่ผลิบานประชันสีกันงดงามกว่าทุกวัน
เย็นวันนั้นเป็นเย็นวันสุดท้ายหลังจากใช้ชีวิตอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยมาได้ครบสัปดาห์ พวกเรานั่งกองกันอยู่ที่โรงแรมเหมือนเช่นทุกวัน ผมมองกลุ่มเพื่อนรอบตัวแล้วก็ยิ้มออกมาด้วยความสุข พวกเราเดินทางร่วมกันบนเส้นทางที่ท้าทายแห่งนี้ด้วยกันได้สำเร็จ ย้อนกลับไปตั้งแต่ผมเริ่มเตรียมทริป สิ่งที่นึกกลัวอยู่ในใจก็คือการที่เราได้ยินอยู่เสมอว่า มีเพื่อนบางกลุ่มที่คบหาสนิทสนมกันมานาน แต่กลับต้องมาแตกคอกันเมื่อตัดสินใจออกเดินทางร่วมกัน ทั้ง ๆ ที่ฟังดูแล้วเส้นทางเหล่านั้น ก็ดูไม่น่าจะมีอุปสรรคอะไรให้ต้องทะเลาะเบาะแว้งกันเลยแม้แต่น้อย แล้วการเดินทางในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดอย่างลาดักห์นั้นเล่า จะทำให้เรายังคงเป็นเพื่อนกันได้อยู่หรือไม่เมื่อจบทริป
ผมพบว่าเพื่อนของผมอยู่ง่าย กินง่ายกว่าที่คิด ทุกคนเข้าใจข้อจำกัดที่เกิดขึ้นอย่างยอดเยี่ยม และพร้อมที่จะสนุกสนานไปกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ผมคิดว่านี่คือเครื่องจรรโลงมิตรภาพ เพราะการเป็นเพื่อนกันนั้นต้องร่วมทุกข์และร่วมสุข จะให้มีแต่เฉพาะสุขและไม่มีทุกข์เลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ผมนั่งอยู่ท่ามกลางความอิ่มเอมใจและเป็นสุข พลางนึกในใจว่า ถ้ามีพรสักข้อหนึ่งให้ผมอธิษฐานได้ ผมจะขอให้พวกเราเป็นเพื่อนกันอย่างนี้ตลอดไป
ชั่ววินาทีนั้นเองมีสายลมเบา ๆ พัดผ่านริ้วธงมนตราบนภูเขามากระทบตัวผมวูบหนึ่ง คล้ายกับจะสื่อสารให้ผมมั่นใจได้ว่า พระโพธิสัตว์และสิ่งศักด์สิทธิ์ทั้งปวงในขุนเขาหิมาลัย ทรงได้ตอบรับคำอธิษฐานของผมแล้ว
คนต้นเรื่อง
เขมพัฒน์ หวังทวีทรัพย์, ชนัญญู จงสุตกวีวงศ์, ณัฐพงศ์ ลาภบุญทรัพย์, โตยธร อิการาชิ, บารมี มหคุณวรรณ, ปฐวี รักษ์สุธี และอธิยุต เลิศประพัฒน์
ที่ปรึกษาการเดินทาง
พิริยา ภูพงศ์พิรัตน์
แหล่งอ้างอิงข้อมูลประวัติศาสตร์และศิลปะ
เชษฐ์ ติงสัญชลี. (2562). ประติมานวิทยาในศิลปะทิเบตโดยสังเขป. ประกอบการบรรยายเรื่องศิลปะทิเบต.
____________. (2562). พระพุทธเจ้าในลัทธิมหายาน. ประกอบการบรรยายวิชาประติมานวิทยาในศิลปะตะวันออก. ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ธนู แก้วโอภาส. (2549). ประวัติศาสตร์เอเชียยุคใหม่. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ.
ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล. (2559). ศิลปะทิเบต. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Write on The Cloud
Travelogue
ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ