ของเล่นอะไรที่มีผู้ใหญ่เล่นมากพอๆ กับเด็ก

ของเล่นอะไรที่มีความเป็นไปได้ในการเล่นมากที่สุดในโลก

ของเล่นอะไรที่มีคนนำไปต่อยอดทีไรก็ประสบความสำเร็จไปหมด ทั้งเกม หนัง สวนสนุก งานศิลปะ หนังสือ รายการโทรทัศน์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ งานมหกรรม หรือแม้แต่ร้านแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนมือสองของของเล่นอมตะยี่ห้อนี้

ค่ะ… อุ้มกำลังพูดถึงตัวต่อพลาสติกชิ้นเหลี่ยมๆ เล็กๆ สีสันสดใสที่เรียกว่า ‘เลโก้’ (LEGO)

อุ้มไม่ได้โตขึ้นมาด้วยการเล่นเลโก้หรอกค่ะ บ้านอยู่ปากน้ำ ห้างอะไรก็ไม่มี ว่างก็เล่นหม้อข้าวหม้อแกง ตั้งเต หมากเก็บ ปีนต้นมะม่วงอะไรไปตามเรื่อง จนโตมามีลูก แล้วก็มาอยู่ที่อเมริกานี่แหละ ถึงได้มาเล่นเลโก้จริงจังและได้รู้ว่าคนที่นี่เขาโตมากับเลโก้ บ้านหนึ่งอย่างน้อยก็ต้องมีเลโก้เป็นลัง ทั้งที่ซื้อใหม่ให้ลูกหรือตกทอดมาจากพ่อแม่ ญาติโยม เพื่อนบ้าน รวมทั้งที่ได้มาเป็นของขวัญ คือถ้าจะไปงานวันเกิดแล้วนึกอะไรไม่ออก ซื้อเลโก้ไว้ยังไงก็รอดค่ะ

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.lego.com
ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.catawiki.com

แต่เชื่อไหมคะว่ากว่าจะกลายมาเป็นของเล่นยอดฮิตอายุเกือบศตวรรษ มียอดขายปีละหลายหมื่นล้านชิ้น (ทุกหนึ่งนาทีจะมีเลโก้ผลิตออกมามากกว่าหนึ่งแสนชิ้น!) เลโก้เริ่มต้นจากช่างไม้หนึ่งคน และโดนไฟเผาโรงงานวอดวายไป 3 หน คุณ-ภาพ-ชี-วิต ตอนนี้ มีเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับเลโก้มาเล่าให้ฟังค่ะ

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.hotfootdesign.co.uk

เมื่อ ค.ศ.1891 โอเล เคิร์ก คริสเตียนเซน (Ole Kirk Christiansen) เกิดมาในครอบครัวยากจนในประเทศเดนมาร์ก เขาเรียนจนจบมัธยมปลาย แล้วไปฝึกงานเป็นช่างไม้อยู่ที่เยอรมันนาน 5 ปี ก่อนจะกลับเมืองบิลลุนด์ (Billund) บ้านเกิด แล้วซื้อโรงไม้เล็กๆ พร้อมกับแต่งงานจนมีลูกชาย 4 คน เคราะห์ร้ายภรรยามาเสียชีวิตตอนคลอดลูกคนสุดท้อง ทิ้งให้โอเลเป็นพ่อม่ายเลี้ยงลูกสี่เพียงลำพัง แต่ไม่เท่านั้น ค.ศ. 1924 ลูกชายคนที่ 2 กับ 3 จุดไฟเผาเศษไม้เล่นในโรงไม้ของพ่อ แต่ไฟกลับลุกลามเผาทั้งโรงงานและบ้านไปจนหมดสิ้น

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.history.com

แทนที่โอเลจะสิ้นหวัง เขากลับวางแผนสร้างทั้งบ้านและโรงงานใหม่ แล้วเริ่มต้นทำของใช้ในบ้านชิ้นเล็กๆ อย่างกระดานรีดผ้า บันได ม้าไม้นั่งรีดนมวัว และของเล่น โชคไม่เข้าข้าง เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วงตกต่ำใน ค.ศ. 1930 โอเลถึงขั้นล้มละลาย แต่เขาไม่ถอดใจ กลับฮึดสู้เพราะมองเห็นว่าในบรรดาสิ่งที่ทำขายทั้งหมด ของเล่นไม้นั้นขายดีที่สุด เขาจึงตัดสินใจเลิกทำอย่างอื่น เน้นแต่ทำของเล่นไม้เบิร์ชทาสีใส่กล่องสวยงาม

แม้เริ่มแรกจะยังขายไม่ดี แต่ด้วยความสู้ไม่ถอยและกำลังเสริมของก็อดเฟร็ด (Godtfred) ลูกชายคนที่ 3 (คนเดียวกับที่จุดไฟเผาบ้านเมื่อตอนเด็ก) สุดท้ายคนก็เริ่มยอมรับในคุณภาพสินค้า ยอดขายและชื่อเสียงของโอเลเริ่มดีขึ้น ทำให้เขาตั้งปณิธาณตั้งแต่วันนั้นว่า ‘Only the best is worthy’ มีแต่ของดีที่สุดเท่านั้นที่คู่ควรกับการผลิตออกมาขาย

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.history.com

เมื่อธุรกิจเริ่มไปได้ดี โอเลก็มีไอเดียจะตั้งชื่อโรงงาน เขาให้ลูกน้องเสนอชื่อประกวด ใครชนะจะได้ไวน์บ่มเองขวดหนึ่งเป็นรางวัล รู้ไหมคะว่าใครได้ไวน์ขวดนั้นไป… คนจัดประกวดคือคุณโอเลนั่นเอง (โถ ลูกน้องเซ็งแย่) ชื่อที่เขาเลือกคือ ‘LEGO’ ซึ่งมาจากคำเดนิช legt godt ซึ่งแปลว่า ‘เล่นสนุก’ ของเล่นที่ขายดีสุดในตอนนั้นคือเป็ดติดล้อเอาไว้ลาก อ้าปากส่งเสียงก้าบๆ มีตราเลโก้ ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นของสะสมหายากชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.brothers-brick.com

ชีวิตเหมือนจะดีอยู่แล้วเชียว แต่จักรวาลไม่ยอมให้คุณโอเลสุขสบายไปได้ง่ายๆ เลยส่งไฟมาเผาโรงงานเรียบวุธไปเป็นรอบที่ 2 แต่คราวนี้คุณโอเลแกมีวิชาอยู่กับตัว เลยลุกขึ้นได้เร็วกว่าเก่า สร้างโรงงานใหม่ใหญ่กว่าเดิมเสียอีก แล้วไปซื้อเครื่องฉีดพลาสติกเข้าแม่พิมพ์มาเป็นเครื่องแรกของเดนมาร์ก ทีแรกแกลองปั๊มตัวต่อแบบที่ไปเห็นจากของเล่นอังกฤษยี่ห้อ Kiddicraft ออกมาขาย 

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : gigazine.net
ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.flickr.com/photos/ltdemartinet

แต่สิ่งที่มาทำให้เลโก้เริ่มขายดีระเบิดระเบ้อ ก็คือการที่คุณก็อดเฟร็ดไปงานแสดงของเล่นที่อังกฤษ แล้วได้ยินพ่อค้ารายหนึ่งบ่นว่าของเล่นที่มีอยู่ในตลาดตอนนั้น ไม่มีอะไรที่เป็น ‘System’ คือซื้อชุดใหม่แล้วเอามาเล่นต่อกับชุดเก่าได้เลย ทุกอย่างคนทำคิดวิธีการเล่นมาให้เบ็ดเสร็จ เล่นจบในตัวเองหมด

คุณก็อดเฟร็ดเลยได้ไอเดีย กลับมาเดนมาร์กแล้วออกชุดตัวต่อพลาสติกที่เป็นบ้าน ให้เด็กได้จินตนาการเล่นเอง นับเป็นเลโก้เซ็ตแรกที่ยังส่งผลมาถึงเลโก้จนถึงปัจจุบัน

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.inverso.pt
ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.inverso.pt
ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : brickfetish.com

ไม่แค่นั้นค่ะ คุณก็อดเฟร็ดสังเกตว่าลูกชายเล่นตัวต่อเลโก้แล้วบ่นว่าหลุดง่าย แกเลยไปนั่งคิดๆๆๆ จนได้แบบตัวต่อใหม่ที่มีรูกลวงด้านล่างเพื่อยึดปุ่มด้านบน แบบนี้ทำให้ตัวต่อยึดติดกันแน่น แต่ก็แกะง่ายด้วย ค.ศ. 1958 คุณก็อดเฟร็ดเลยจดสิทธิบัตรระบบ Stud-and-tube Coupling นี้ แล้วตั้งชื่อว่า Automatic Binding Lego Bricks เป็นที่มาว่าทำไมคนถึงเรียกตัวต่อเลโก้ว่า Bricks ไงล่ะคะ

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.smithsonianmag.com

ได้ลิขสิทธิ์แล้วควรจะฉลอง แต่ปีเดียวกันนั้น คุณโอเลกลับมาจากไปด้วยอาการหัวใจวาย แถมปีต่อมา โรงงานฝั่งที่ยังผลิตของเล่นไม้ก็ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้จนหมดสิ้น (ครอบครัวนี้มีอะไรกับไฟกันนะ) เป็นอันปิดฉากเลโก้ยุคแรกเริ่ม กลายมาเป็นเลโก้ยุคของคุณก็อดเฟร็ดที่ผลิตแต่ตัวต่อพลาสติกนับแต่นั้นมา

อุ้มเชื่อว่าคนที่เล่นเลโก้คงรู้สึกเหมือนกันว่า การเอา Bricks มาประกบกันแล้วมันติดหนึบเนี้ยบกริ๊บ ช่างเป็นความรู้สึกที่ฟินอย่างบอกไม่ถูก แล้วถ้าใครได้ดู Lego Movies คงนึกออกว่าคนต่อเลโก้นี่มี 2 จำพวก คือพวก Master Builder เนรมิตอะไรก็ได้ขึ้นมาจากกอง Bricks กับพวกต่อตามคู่มือ อุ้มนี่รักคู่มือหมดใจเลยค่ะ เพราะชีวิตมันยุ่งเหยิงมากพออยู่แล้ว การได้ต่อตามรูปไปเรื่อยๆ มันมีความสุขได้อย่างประหลาดจริงๆ (เคยฟังสัมภาษณ์ผู้กำกับ Southpark ก็พูดเหมือนกันเลย)

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.mentalfloss.com

อุ้มไปรู้มาว่า มีศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ชาวเดนมาร์กคนหนึ่ง ชื่อ โซเรน ไอเลอร์ (Soren Eilers) เขาพยายามคำนวณว่า เลโก้ 2 x 4 จำนวน 6 ชิ้น จะต่อกันได้กี่แบบ ได้ยินคำตอบแล้วอาจจะหงายท้องไปเลย… 915,104,765 แบบค่ะ! นี่ยังไม่นับว่าเลโก้มีทั้งหมด 2,350 แบบ 52 สี คือพูดง่ายๆ ว่า ความเป็นไปได้ในการต่อนั้นไม่จบไม่สิ้น ไม่น่าแปลกใจเลยที่เลโก้กลายเป็นของเล่นที่ทุกคนยอมรับว่าส่งเสริมจินตนาการมากที่สุดในโลก

สิ่งที่คุณโอเลเองเพิ่งมารู้ภายหลังจากตั้งชื่อบริษัทแล้วก็คือ คำว่า legt godt นั้น ในภาษาละติน แปลว่า ‘ฉันประกอบ’ (I put together.) ด้วย ราวกับจะรู้ล่วงหน้าว่าต่อไป คนครึ่งโลกจะเอาตัวต่อที่เขาทำขึ้นมาประกอบต่อยอดเป็นอะไรได้อีกมหาศาลเกินกว่าที่เลโก้เองจะคาดคิดเสียอีก

มาดูกันไหมคะว่ามีอะไรที่เลโก้ไม่ได้คิด แต่มีคนทำ ทั้งน่าทึ่ง น่านิยม น่าชื่นชม และน่าปรบมือให้ในโลกนี้บ้าง

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.youtube.com

นาธาน ซาวายะ (Nathan Sawaya

อดีตทนายความที่กลายมาเป็นศิลปินเลโก้ที่อุ้มว่าดังและน่าสนใจที่สุด อุ้มเคยไปดูนิทรรศการเขาครั้งหนึ่ง โอ้โห ไม่รู้ทำได้ยังไงค่ะ แต่ละชิ้นใหญ่ยักษ์ ไม่มีแบบด้วย ต่อไปเรื่อยๆ จากภาพในหัว คือโลกนี้มีคนแบบนี้ไม่กี่คนค่ะบอกได้เลย

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ

อดัม รีด ทักเกอร์ (Adam Reed Tucker) 

สถาปนิกที่สร้างตึกจำลองจากเลโก้เล่นเอง (คือเล่นของเขานี่ก็ไม่ใช่เล่นๆ นะคะ) จนได้มาเป็นคนดีไซน์ Lego Architecture ทั้งหมด เข้าไปฟังสัมภาษณ์อดัมได้ที่นี่ค่ะ

เดวิด พาคาโน (David Pagano) 

คนนี้ทำ Lego Stopmotion เป็นเรื่องเป็นราวมายี่สิบกว่าปีแล้วค่ะ ช่องเขาชื่อ Paganomation สนุกมั่งไม่สนุกมั่ง แต่ดูแล้วขอก้มหัวให้ในความทำจริงทำจังต่อเนื่องมาตลอดสองทศวรรษ

Lego for the blind 

โครงการแปลวิธีต่อเลโก้เป็นคู่มือเสียงที่ชายหนุ่มตาบอด แมทธิว ชิฟริน (Matthew Shifrin) ทำขึ้นมาเองกับพี่เลี้ยงของเขา โดยหวังว่าจะช่วยให้คนตาบอดได้มีโอกาสต่อเลโก้โดยไม่ต้องพึ่งคนตาดี สิ่งที่น่ารักก็คือโครงการนี้ทำให้เลโก้เอาไปคิดต่อและหวังว่าจะออกคู่มือสำหรับคนตาบอดอย่างเป็นทางการได้ในไม่ช้านี้ เข้าไปฟังแมทธิวเล่าเรื่องของเขาได้ที่ Ted Talk เลยค่ะ

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : thebrickblogger.com

Lego Build-In-The-Bag 

ต่อเลโก้แบบไม่แกะถุง! เออ เอากะเขาสิ มันฮิตมากด้วยนะคะ โดยเฉพาะตามงาน LEGO Convention ต้องมีแข่งต่อเลโก้แบบยังอยู่ในถุงพลาสติก ใครอยากลองดูเขาบอกว่าให้เลือกเซ็ตที่เป็นชิ้นเล็กๆ และชิ้นส่วนทั้งหมดอยู่ในถุงเดียว อุ้มยังไม่เคยลองแต่คิดว่าคงสนุกและอยากฉีกถุงให้รู้แล้วรู้รอดไปตั้งแต่ 5 นาทีแรก ฮ่าๆ

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.geekwire.com
ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : www.geekwire.com

Lego Masters 

รายการแข่งต่อเลโก้ที่สนุกมากๆๆๆ ทางช่อง FOX คนคิดรายการเก่งสุดๆ เลยค่ะ ธีมแต่ละครั้งก็อย่างเช่น ให้ต่อสวนสนุก ต่อซีนจากหนัง ต่อสะพานที่รับน้ำหนักได้มากที่สุด ต่อเรื่องจากนิทาน หรือต่ออะไรก็ได้แล้วให้พิธีกรเอาไม้เบสบอลฟาดให้แหลกละเอียด! ทีมรองแชมป์มาจากพอร์ตแลนด์ด้วย บ้านอุ้มเลยยิ่งอินเข้าไปใหญ่ ตอนนี้เข้าไปดูได้ฟรีแล้วด้วยค่ะ อย่าพลาดเลยเชียว

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : bricksandminifigs.com

Bricks & Minifigs 

ร้านขายเลโก้มือสองที่มี Bricks กองเป็นกระบะๆ ให้คนมาคุ้ยหาชิ้นที่ตัวเองขาดไป หรือจะมาซื้อ Bricks เอาไปเติมใส่กระบะที่บ้านก็จ่ายเงินตามขนาดกระปุกพลาสติก นอกจากนี้ยังมีเลโก้รุ่นสะสมเพียบเลย อุ้มแวะไปทีไรเห็นคนเต็มร้านทุกที มีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ร้านเป็นแฟรนไชส์ด้วยนะคะ เผื่อใครสนใจอยากซื้อลิขสิทธิ์เอาไปเปิดที่เมืองไทยบ้าง

ชวนรู้จัก LEGO ของเล่นอมตะอายุเกือบร้อยปีที่เอาไปต่อยอดเป็นอะไรก็ประสบความสำเร็จ
ภาพ : time.com

สุดท้ายคือฝันที่เป็นจริงของทายาทรุ่นสาม เคลด์ คริสเตียนเซน (Kjeld Kristiansen) หลานของคุณโอเลเอง มันคือ Lego House หรือ ‘บ้าน’ ของเลโก้ที่ตั้งอยู่ตรงตำแหน่งของบ้านและโรงไม้หลังแรกของคุณโอเลที่เมืองบิลลุนด์ค่ะ ที่นี่เป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และทุกสิ่งทุกอย่างที่เลโก้พึงจะเป็น ออกแบบโดยสถาปนิกดาวรุ่ง บียาร์ก อิงเกลส์ (Bjarke Ingels) ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของเลโก้ด้วย 

ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าจากวันแรกที่คุณโอเลเริ่มทำของเล่นเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว วันนี้มันกลับกลายเป็นมากกว่าแค่ของเล่น แต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นจากสมองและสองมือของมนุษย์เรานี่เอง

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์