เรากำลังแพ็กกระเป๋าเตรียมไปเรียนต่อ มวลของหนักอึ้งจนกระเป๋าแทบปิดไม่ลง แต่ยังไงก็ต้องหาพื้นที่ใส่หนังสือ ‘ร้านเครื่องเขียนไทย’ (태국문방구) ของ ฮั่น-อี ฮยอนคยอง ที่อุตส่าห์แคะกระปุกซื้อมาเหมือนกันทั้งหมด 3 เล่มให้ได้ ยิ่งปกในของหนังสือประดับลายเซ็นและข้อความน่ารัก ๆ เป็นภาษาไทยกับเกาหลีจากผู้เขียน ที่เราได้รับมาตอนแวะไปสนทนากับเธอด้วยแล้ว จะไม่ขนไปได้อย่างไร แม้ว่าจะอ่านภาษาเกาหลีได้ในระดับผู้ฝึกฝนจากซับไตเติลซีรีส์ และอาจต้องใช้พลังงานแบกกระเป๋าขึ้นรถไฟเพิ่มขึ้นหน่อยก็จะสู้! เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้เราย้อนให้นึกถึงวันที่มีโอกาสนั่งคุยกับเธอ

วันนั้นเราไปตามนัดอย่างไม่เข้าใจเลยสักนิด ว่าร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนสัญชาติไทยมีดีอะไร ถึงทำให้สาวเกาหลีผู้เคยไปร้านเครื่องเขียนมาหลายร้านรอบโลกติดใจ จนถึงขนาดว่าเขียนหนังสือออกมาเป็นเล่ม ๆ และทำไมหนังสือที่มีแต่เรื่องเครื่องเขียนไทยถึงขายดิบขายดีในเกาหลี หลังจากเราใช้เวลาเกินค่อนวันกับฮั่น ก็ได้คำตอบที่ทำให้มุมมองเกี่ยวกับเครื่องเขียนไทยของเราเปลี่ยนไป

  เมื่อคนบ้าเครื่องเขียนมาพบกัน คงไม่มีคำทักทายไหนสื่อใจได้ดีเท่ากับการให้อุปกรณ์เครื่องเขียนอีกแล้ว เพื่อนสาวของเราหยิบแผ่นลอกตัวอักษรไทยสำหรับ Letterpress จากเชียงใหม่มาฝากฮั่น 

พอเธอเห็นเท่านั้นก็ตาโต รีบลุกขึ้นมาถามว่าเป็นสติกเกอร์อะไรและได้มาจากที่ไหน

 “ฮั่นชอบอักษรไทย” เธอพูดขึ้นระหว่างพลิกดูแผ่นลอกอักษรไทยด้วยภาษาไทยที่ฟังลื่นไหลเป็นธรรมชาติ “ฮั่นเกิดที่เกาหลี ใช้แต่อักษรฮันกึล ไม่เคยสังเกตว่าสวยหรือไม่สวย แต่พอเห็นอักษรไทยแล้วคิดว่าสวยมาก ๆ แล้วก็ชอบสติกเกอร์ติดรถมาก ๆ ค่ะ เพราะที่เกาหลีไม่มี” เธอตอบด้วยเสียงสดใส

 “แต่ก็มีสติกเกอร์บางอันนะคะที่รูปน่ารัก แต่สามีบอกว่าคำนี้ไม่ดี เราตกใจ จะรีบแกะออก” นักสะสมเครื่องเขียนหัวเราะ เมื่อเล่าถึงสติกเกอร์ติดรถสีแจ่มที่เธอซื้อมาจากรถเข็นขายสติกเกอร์ 

หัวข้อหลักที่เรามาคุยกับฮั่น คือเรื่องราวของหนังสือร้านเครื่องเขียนไทยที่เขียนโดยคนเกาหลี เป็นภาษาเกาหลี ตีพิมพ์และจำหน่ายในเกาหลี แต่บทสนทนาทั้งหมด ฮั่นยินดีคุยกับเราเป็นภาษาไทย

Lee Hyunkyung นักสะสมเครื่องเขียนแดนโสม เขียนหนังสือร้านเครื่องเขียนไทย ขายดีมากในเกาหลี

เปิดกระเป๋าเครื่องเขียน

อี ฮยอนคยอง หรือ ฮั่น เธอเป็นหญิงสาวจากแดนโสมขาวที่ย้ายมาใช้ชีวิตในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปีจนติดใจข้าวเหนียวมะม่วง ปัจจุบันเธอทำงานเป็น Graphic Designer เต็มเวลาที่ foodpanda

ก่อนหน้านี้เธอเรียนจบด้าน Visual Design จาก Hongik University ดูจากหน้าที่การงานและการศึกษา เหมือนว่าเธอจะมีดินสอและปากกาเป็นอาวุธคู่กายมาแต่ไหนแต่ไร 

ฮั่นเล่าว่าเธอชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ด้วยคุณพ่อเป็นสถาปนิก ทำให้เธอมีอุปกรณ์วาดเขียนอยู่ใกล้ไม้ใกล้มือตลอด ตอนเด็ก ๆ เธอชอบวาดดวงดาวเป็นพิเศษ เพราะเด็กหญิงฮั่นมีความฝันอยากเป็นนักบินอวกาศของนาซ่า พอโตขึ้นอีกหน่อย จึงรู้ตัวว่ารักแท้ของเธอไม่ได้อยู่นอกโลก แต่อยู่ในกระเป๋าเครื่องเขียนใบเบ้อเริ่มที่พกไปโรงเรียนด้วยกันทุกวันต่างหาก ในนั้นมีเครื่องเขียนครบครันทุกประเภทประหนึ่งกระเป๋าโดราเอมอน ดินสอหลากสี ยางลบหลายแบบ และปากกาหลายแท่งให้เพื่อน ๆ เลือกยืม

 “เราจำได้ว่ามีปากกา 30 แท่ง กระเป๋าเลยหนักทุกวันเพราะเครื่องเขียน” 

อุปกรณ์ที่โปรดปรานถึงขั้นต้องพกไปทุกที่ คืออุปกรณ์ง่าย ๆ อย่างดินสอไม้และกบเหลา

ทุกวันก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน เธอแวะไปร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนข้างโรงเรียน เพื่อดูว่ามีอะไรใหม่ ๆ มาวางขายบ้าง ถ้าเจอชิ้นที่ถูกใจ ฮั่นก็ควักเงินค่าขนมอันน้อยนิดที่คุณพ่อให้ออกมาซื้อสมาชิกใหม่กลับบ้าน การเดินดูของในร้านเครื่องเขียนจึงเป็นเวลาแห่งความสุขตั้งแต่นั้นจนถึงวันนี้

สาว ๆ คนอื่นอาจชอบช้อปปิ้งเสื้อผ้า แต่ฮั่นชอบช้อปปิ้งเครื่องเขียนมากกว่าเป็นไหน ๆ 

“ตอนเด็กเราไม่สนใจเสื้อผ้า สนใจแต่หนังสือกับเครื่องเขียน” เธอแววตาเป็นประกาย

ตอนย้ายมาไทย กระเป๋าเสื้อผ้าเธอเบาหยอง ที่เหลือเธอขนเครื่องเขียนจากเกาหลีมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขนาดว่านี่เป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดที่มี เธอหยิบเครื่องเขียนออกมาจากลิ้นชักมาให้เราดูอีกเพียบ ฮั่นบอกว่ามีหลายครั้งที่เธอเพลิดเพลินกับการซื้ออุปกรณ์จนลืมเวลา 

“ฮั่นเคยใช้เวลาอยู่ในร้านเครื่องเขียนที่นิวยอร์ก 4 ชั่วโมง” นักสะสมเครื่องเขียนหัวเราะ

เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ค่าเสียหายเฉพาะเครื่องเขียนในครั้งนั้นเป็นราคา 10,000 บาท ยังไม่พอ วันถัดมากลับมาจับจ่ายเครื่องเขียนอีก 10,000 บาท จนเราสงสัยว่าเธอต้องหยิบดินสอ ปากกา สมุด ลงตะกร้าสักกี่อัน ถึงได้เสียหายหลายหลักขนาดนั้น คงเพราะร้านเครื่องเขียนคืออาณาเขตสุขใจ เธอจดจำทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ไม่เคยลืม เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ฮั่นกลับไปเยี่ยมร้านเครื่องเขียนข้างโรงเรียนอีกครั้ง เธอดีใจมากที่ร้านยังเปิดให้บริการ แต่ทราบข่าวเศร้าว่าคุณลุงที่เคยขายเครื่องเขียนเสียชีวิตแล้ว 

“ร้านเครื่องเขียนข้างโรงเรียนนี้เปิดมาประมาณ 40 ปีแล้วค่ะ ฮั่นแวะไปตั้งแต่อายุ 6 – 7 ขวบ ตอนรู้ข่าวว่าคุณลุงไม่อยู่แล้ว เสียใจมาก ๆ เลยค่ะ พอเพื่อน ๆ ทุกคนรู้ข่าวก็เสียใจกันหมด” 

ร้านเครื่องเขียนคือสิ่งที่ฮั่นนึกถึงอยู่เสมอ

แต่สิ่งที่ไม่เคยอยู่ในหัวของเธอเลย คือการย้ายมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย

Lee Hyunkyung นักสะสมเครื่องเขียนแดนโสม เขียนหนังสือร้านเครื่องเขียนไทย ขายดีมากในเกาหลี

เปิดประตูร้านเครื่องเขียน

“สามีเปลี่ยนชีวิตค่ะ” 

ฮั่นตัดสินใจย้ายมาทำงานที่ไทย เพราะสามีของเธอเป็นคนไทย แต่เธอก็เกือบจะย้ายกลับเกาหลีหลายรอบ เพราะการใช้ชีวิตในแผ่นดินใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย 

“ความจริงช่วง 1 – 2 ปีแรกของการอยู่ประเทศไทย เราไม่มีเพื่อนเลย มีแค่สามีคนเดียว” 

ฮั่นเคยมาประเทศไทยครั้งเดียวเมื่อหลายสิบปีก่อน ก่อนจะย้ายมาอยู่ระยะยาว 

“บางวันก็คิดว่าทำไมฮั่นมาที่นี่ มันดีหรือเปล่า กลับบ้านดีกว่าไหม บางวันก็ร้องไห้” แถมในตอนนั้นร้านอาหารเกาหลียังมีไม่มากเหมือนตอนนี้ นั่นทำให้เธอรู้สึกแปลกถิ่นมากขึ้นอีกหลายเท่า แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะไม่พ่ายแพ้ต่อความเหงา ฮั่นตัดสินใจอยู่ประเทศไทยต่อ และเริ่มเข้าเรียนคลาสภาษาไทย 

“พอเรียนภาษาไทย ก็เริ่มมีเพื่อนมากขึ้น ทำให้ชีวิตเริ่มลงตัว” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม

ไม่นานนัก อาหารอีสาน ข้าวเหนียวมะม่วง หมูกระทะ ก็กลายเป็นอาหารจานโปรดของเธอ

และสิ่งสำคัญมากที่ทำให้สาวเกาหลีคนนี้หายเหงา คือการเดินเข้าร้านเครื่องเขียน 

“ร้านเครื่องเขียนไทยร้านแรกที่เราไปคือร้านเสริมทรัพย์ที่เยาวราช” เธอเผอิญเดินผ่านระหว่างทางไปซื้อกาแฟ “เราตื่นเต้นมาก เพราะเห็นในร้านมีของเก่าเยอะมาก เป็นร้านที่เปิดมา 50 – 60 ปี

“ฮั่นไปร้านนี้ประมาณ 4 – 5 ครั้ง เพราะมีเรื่องที่อยากรู้เยอะมาก อยากรู้ว่าเครื่องเขียนชิ้นนี้คืออะไร ซื้อมาจากที่ไหน ขายหรือเปล่า” ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นพูดภาษาไทยไม่ได้เลยสักคำ เธอพยายามสื่อสารสุดชีวิตเพื่อจะรู้เรื่องเครื่องเขียนที่สนใจให้ได้ 

“เดี๋ยวนี้ที่โซลไม่เห็นร้านเครื่องเขียนวินเทจจริง ๆ แบบร้านเสริมทรัพย์เลย แต่ต่างจังหวัดพอมีอยู่บ้าง ส่วนช่วงโควิด-19 ก็ปิดตัวไปเยอะเพราะไม่มีลูกค้า” นี่เป็นเรื่องพิเศษมากที่ร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนในประเทศไทยที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ 

ไหน ๆ ก็เริ่มพูดถึงร้านเครื่องเขียนในไทยแล้ว เราจึงขอถามประเด็นที่สงสัยมากที่สุดเลยแล้วกัน

“คุณมองเห็นอะไรในเครื่องเขียนไทย ทั้ง ๆ ที่คนไทยไม่นิยมใช้เครื่องเขียนไทย”

ฮั่นย้อนถามทันทีว่า “ทำไมล่ะคะ” 

เราอึ้งไปครู่หนึ่ง ไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร เพราะไม่เคยนั่งคิดจริง ๆ ถึงเหตุผลที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยใช้เครื่องเขียนของประเทศตัวเอง เลยตอบไปว่า น่าจะเป็นเพราะเครื่องเขียนไทยดูเชย เมื่อเทียบกับเครื่องเขียนญี่ปุ่น เกาหลี ทั้งคุณภาพดีและออกแบบให้ดูน่ารักน่าใช้ 

ฮั่นบอกว่าความคิดแบบนี้ไม่แปลกและไม่ผิด เพราะคนเกาหลีก็มองว่าเครื่องเขียนเกาหลีไม่น่าใช้เหมือนกัน ฮั่นหยิบกล่องดินสอไม้ตราม้าขึ้นมาวางบนโต๊ะ ดินสอไม้ตราม้านี่แหล่ะคือตัวอย่างของเครื่องเขียนไทยสุดคลาสสิก แพ็กเกจจิ้งเรโทรสุด ๆ และด้ามดินสอก็จับถนัดมือ เป็นเครื่องเขียนไทยชิ้นโปรดของเธอ และฮั่นเคยหิ้วใส่กระเป๋าเดินทางกลับเกาหลีหลายสิบกล่อง จน ตม. เรียกตรวจกระเป๋า!

ฮั่นคงตกหลุมรักเครื่องเขียนไทยจริง ๆ ไม่อย่างนั้นจะเขียนหนังสือออกมาเป็นเล่มได้อย่างไร 

Lee Hyunkyung นักสะสมเครื่องเขียนแดนโสม เขียนหนังสือร้านเครื่องเขียนไทย ขายดีมากในเกาหลี

เปิดหนังสือเครื่องเขียนไทย

“ทีแรกไม่เคยคิดเขียนหนังสือร้านเครื่องเขียนไทยเลยค่ะ” นักเขียนตอบทันที เมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มแรกของเธอ “แค่รู้สึกว่าร้านเครื่องเขียนไทยมีคอนเทนต์ดี ๆ และน่าถ่ายรูปเก็บไว้”

เธอเริ่มโพสต์ร้านเครื่องเขียนไทยลงอินสตาแกรม อธิบายเกี่ยวกับเครื่องเขียนไทยให้คนเกาหลีอ่าน ซึ่งหนึ่งในผู้อ่านคือสำนักพิมพ์เกาหลีอิสระแห่งหนึ่งที่สนใจทำหนังสือเกี่ยวกับประเทศอาเซียน

Lee Hyunkyung นักสะสมเครื่องเขียนแดนโสม เขียนหนังสือร้านเครื่องเขียนไทย ขายดีมากในเกาหลี
Lee Hyunkyung นักสะสมเครื่องเขียนแดนโสม เขียนหนังสือร้านเครื่องเขียนไทย ขายดีมากในเกาหลี

“สำนักพิมพ์ sojanggak (โซจังกัก) ติดต่อมาว่า สนใจทำหนังสือเกี่ยวกับเครื่องเขียนไทยไหม ฮั่นสนใจอยู่พอดีค่ะ เลยตอบตกลง” เธอเห็นว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่ชอบไปเที่ยวประเทศไทย แต่หนังสือท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักแนะนำร้านอาหาร คาเฟ่ แต่ยังไม่มีหนังสือที่แนะนำประเทศไทยผ่านร้านเครื่องเขียนเลย นั่นเป็นเหตุผลที่เธอเอาด้วยในทันที กระบวนการทำหนังสือใช้ระยะเวลา 2 ปีกว่าจึงเริ่มเป็นรูปร่าง

ลำดับแรก เธอเริ่มจากการรวบรวมชื่อร้านที่น่าสนใจ โดยการเสิร์ชหาข้อมูลและฟังคำแนะนำของคนรู้จัก ซึ่งขั้นตอนนี้สบายมาก เพราะเป็นปกติอยู่แล้วที่ไม่ว่าจะไปที่ไหนเธอก็สรรหาร้านเครื่องเขียนน่าสนใจเตรียมไว้เสมอ แต่ที่ยากคือหลายครั้งสถานการณ์จริงเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าข้อมูลที่ค้นเจอ 

“ตอนนั้นเตรียมเขียนร้านเครื่องเขียนในกรุงเทพฯ แต่พอเช็กอีกทีร้านปิดแล้ว กลายเป็นว่าต้องหาที่เขียนใหม่ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่หลายร้าน บางที่อยากไปมาก แต่โทรไปช่วงโควิด ไม่มีคนรับสาย”

ใช่แล้ว กระบวนการทำหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นช่วงวิกฤตโรคระบาด เธอและผู้ออกแบบหนังสือของสำนักพิมพ์เกาหลี จึงพบปะ ปรับแก้ และทำทุกกระบวนการผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น

“เราไม่เคยเจอตัวกันจริง ๆ เลย” – เธอย้ำความจริง

หนังสือเล่มนี้ปรับแก้มาหลายรูปแบบกว่าจะออกมาเป็นเล่มล่าสุดที่เราเห็น 

เธอปรับตั้งแต่ปก สี การจัดวางภาพและตัวอักษรให้น่าอ่าน กระทั่งตำแหน่งของ QR Code สำหรับให้ผู้อ่านสแกนและปักหมุดที่ตั้งของร้านแต่ละร้าน เพื่อให้ผู้อ่านตามเก็บร้านแนะนำได้แบบไม่ปวดหัว 

“เวลาคนเกาหลีมาไทยก็พกหนังสือมาด้วย สแกน QR Code แล้วเดินตามแผนที่ได้เลย” 

ความคิดและชีวิตของ Lee Hyunkyung  นักสะสมเครื่องเขียนชาวเกาหลี ตระเวนร้านเครื่องเขียนทั่วไทย เพื่อเขียนหนังสือร้านเครื่องเขียนไทย

ส่วนเนื้อหา เธอเขียนเล่าเกี่ยวกับร้านเครื่องเขียน 20 ร้าน จากทั้งหมด 60 ร้าน โดยทุกร้านในหนังสือได้รับการคัดสรรมาแล้วว่า คุณภาพเครื่องเขียนเลิศ เรื่องราวน่าสนใจ และมีที่มาจากหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ปาย ลำปาง ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี นครปฐม หาดใหญ่ เกาะสมุย และภูเก็ต 

นี่หมายความว่าเธอต้องเคยไปทุกจังหวัดที่กล่าวมา ไม่เหนื่อยหรือยังไงนะกับการทำงานประจำควบคู่ไปกับการทำหนังสือ ต้องเขียน เดินทางไปสัมภาษณ์ และช่วยออกความเห็นด้านดีไซน์

เธอมีเทคนิคดี ๆ อะไรในการการบาลานซ์ชีวิตช่วงนั้นของตัวเองหรือเปล่า – เราสงสัย

ฮั่นหัวเราะนิด ๆ ก่อนจะตอบว่า “ไม่มีค่ะ ชีวิตไม่บาลานซ์ค่ะ” – เธอสารภาพ

หลังทำงานประจำเสร็จตอน 1 ทุ่ม เธอก็กลับมานั่งเขียนหนังสือต่อที่บ้านจนถึงตี 1 ตี 2 

“แต่ไม่เหนื่อยนะคะ กลายเป็นว่าการกลับมาทำหนังสือ ทำให้หายเหนื่อยด้วยซ้ำไป” 

หลังจากใช้เวลา 2 ปีกว่าเพื่อทำหนังสือร้านเครื่องเขียนไทย ในที่สุดสำนักพิมพ์ก็ส่งหนังสือฉบับสมบูรณ์มาให้ดูถึงกรุงเทพฯ ครั้งแรกที่พลิกอ่านหนังสือเล่มแรกในชีวิต เธอเกือบกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ 

ความคิดและชีวิตของ Lee Hyunkyung  นักสะสมเครื่องเขียนชาวเกาหลี ตระเวนร้านเครื่องเขียนทั่วไทย เพื่อเขียนหนังสือร้านเครื่องเขียนไทย

เปิดโลกมิตรภาพทั่วประเทศไทย

อย่างหนึ่งที่ฮั่นประทับใจมากเกี่ยวกับร้านเครื่องเขียนไทยคือ สารพัดสิ่งของนอกเหนือจากอุปกรณ์เครื่องเขียนซึ่งมักวางอยู่ในร้านด้วย นั่นทำให้เธอเข้าใจวัฒนธรรมไทยเพิ่มขึ้นอีกระดับ 

“ตอนนั้นไปร้านเครื่องเขียนที่เชียงราย เห็นขายกระบี่กระบองด้วย ไม่รู้ว่าคืออะไร ตอนนี้รู้แล้วว่าเป็นกีฬาไทยชนิดหนึ่ง” ครั้งแรกที่ได้เห็นตี่จู้เอี๊ยะอยู่ในร้านเครื่องเขียนก็ที่ประเทศไทยนี่แหล่ะ

“ที่เกาหลีไม่มีแบบนี้ เห็นทีแรกตกใจ แต่ร้านเครื่องเขียนไทยที่ไปมาหลายร้านก็มีเหมือนกัน เรารู้สึกสนุกดีที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของภาคต่าง ๆ ในไทย หลากหลายและมีความพิเศษของตัวเอง” 

เครื่องสังฆทานที่วางจำหน่ายในบางร้าน ก็ทำให้ฮั่นอยากรู้เพิ่มเกี่ยวกับวัฒนธรรมเมืองพุทธ

เรื่องราวในหนังสือไม่ได้เกี่ยวข้องกับเครื่องเขียนเพียงอย่างเดียว แต่สอดแทรกความทรงจำระหว่างเธอกับเจ้าของร้านเครื่องเขียนด้วย ฮั่นยกตัวอย่างเหตุการณ์ตอนแวะร้านน้องอิมอิม เกาะสมุย ให้ฟัง 

“จริง ๆ แล้วน้องอิมช่วยพ่อแม่ขายของ เราเดินทางไปที่ร้านด้วยมอเตอร์ไซค์ แล้วอากาศร้อนมาก พอถึงหน้าร้านน้องอิมก็เลยเอาน้ำแข็งมาให้ แล้วก็ช่วยเช็ดรถให้ก่อนที่ฮั่นจะเดินเข้าร้านเครื่องเขียน” 

ไมตรีจิตระหว่างเจ้าของร้านและลูกค้า คือความสุขที่ได้มาโดยไม่ต้องจับจ่าย

“ตอนทำหนังสือ ฮั่นรู้สึกมีความสุขจริง ๆ ตอนที่ยังไม่ได้ทำหนังสือ ฮั่นไม่มีเพื่อนที่ไทยเลย แต่การเดินทางตามร้านเครื่องเขียน ทำให้เจอและทำความรู้จักกับเจ้าของร้าน ได้ฟังเรื่องราวของเขา” 

จากที่เคยร้องไห้ทุกวันเพราะย้ายมาต่างถิ่น ตอนนี้เธอมีเพื่อนมากกว่า 10 จังหวัดทั่วไทย 

ขอเล่าย้อนไปนิด เราทำความรู้จักกับฮั่นครั้งแรกผ่านอินสตาแกรม Mooontreee มีประโยคหนึ่งเขียนไว้บนหน้าโปรไฟล์ของเธอว่า ‘ฮั่นอยากจะเป็นเพื่อนกับคุณได้ไหม’ – เรายังจำได้จนถึงวินาทีนี้ 

เปิดหน้าถัดไปของชีวิต

เมื่อหนังสือ ‘ร้านเครื่องเขียนไทย’ วางแผงในประเทศเกาหลี (ประเทศไทยเมื่อต้นปีนี้) ผลตอบรับดีเกินคาด! ผู้เขียนชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง (เราสัมผัสได้) ที่เกาหลีหนังสือขายไปแล้วกว่า 1,500 เล่ม ผู้อ่านเขียนข้อความชื่นชมและขอบคุณที่ฮั่นนำร้านเครื่องเขียนไทยมาแบ่งปัน เธอบอกว่ามั่นใจตั้งแต่แรกแล้วว่ายังไงหนังสือเล่มนี้ก็ขายออก เพราะร้านเครื่องเขียนไทยมีเรื่องราวน่าสนใจ ถ้าเรื่องน่าสนใจ มีเหตุผลอะไรที่คนจะไม่อ่าน ส่วนในประเทศไทย เพื่อนคนไทยหลายคนชอบและเชียร์ให้แปลเป็นภาษาไทยด้วย

แต่ขนาดยังไม่ทันแปลเป็นภาษาไทย ก็มีคนไทยมาจ่อคิวซื้อไปอ่านแล้ว

“หนังสือ 10 เล่มแรก วางขายที่ร้าน Vacilando Bookshop ค่ะ หนังสือขายหมดภายใน 2 วัน ตอนนี้คนไทยเรียนภาษาเกาหลีกันเยอะ บางคนที่สนใจเครื่องเขียนอยู่แล้ว เขาก็ซื้อไปฝึกอ่านด้วย” 

ถึงอย่างนั้น การแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ยังคงเป็นสิ่งหนึ่งที่เธอตั้งใจจะทำในอนาคต เพื่อให้เรื่องราวของร้านขายอุปกรณ์เครื่องเขียนไทยเข้าถึงผู้อ่านได้มากขึ้นกว่าเดิม 

“แปลเป็นภาษาไหนก่อนดีคะ” ฮั่นขอความเห็น เราตอบจากใจจริงเลยว่า ขอเป็น 2 ภาษาพร้อม ๆ กันเลยได้ไหม เพราะคนแปลหนังสือช่างหายาก ฮั่นจึงบอกว่าขอแปลทีละภาษาก่อนแล้วกัน 

นอกจากแปลหนังสือ ยังมีอีกหลายสิ่งที่ฮั่นอยากทำ อย่างแรก เธอตั้งใจสร้างคอมมูนิตี้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยและเกาหลี เชื่อมโยงคน 2 ประเทศให้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้น ตอนนี้เธอเริ่มวางแผนทำฝันให้เป็นจริงกับเพื่อนคนไทย ใบ้ให้ว่าเป็นหนังสือ 

อย่างถัดไป เธออยากทำ (มาก) คือเปิดร้านเครื่องเขียนเป็นของตัวเอง โดยจะขายเครื่องเขียนไทยและเกาหลี โดยเธอเป็นคนคัดสรร เป็นร้านที่มีคนรู้จริงเลือกเครื่องเขียนแต่ละชิ้นตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้ ‘เหมือนร้านชิมไวน์’ – เธอว่า

ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะเปิดร้านที่จังหวัดไหนหรือเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ ๆ เปิดร้านที่ไทย! ชื่อร้านคงหนีไม่พ้น Moontree เพราะเป็นชื่อที่สื่อสารตัวตนของเธอที่เป็นคนชื่นชอบธรรมชาติได้เป็นอย่างดี 

เราเหลือบไปเห็นนาฬิกาแล้วพบว่าพวกเราคุยกันนานจนลืมกินข้าวเที่ยง เป็นเวลาอันสมควรที่จะรวบรัดการสัมภาษณ์ ฮั่นฝากเรื่องสุดท้ายก่อนที่เราพักกินขนมอบที่เธอและสามีเตรียมไว้ให้ 

“สมัยนี้คนใช้เทคโนโลยีมากขึ้น บันทึกลงกระดาษน้อยลง ฮั่นอยากเห็นคนกลับมาเขียน”

ความรู้สึกในยามที่ความคิดปรากฏเป็นอักษรบนหน้ากระดาษ ผ่านการเชื่อมต่อของสมองสู่ปลายปากกา ช่างพิเศษเกินกว่าสิ่งใดทดแทน 

ความคิดและชีวิตของ Lee Hyunkyung  นักสะสมเครื่องเขียนชาวเกาหลี ตระเวนร้านเครื่องเขียนทั่วไทย เพื่อเขียนหนังสือร้านเครื่องเขียนไทย

แบ่งปันเรื่องราวเครื่องเขียนไทยและเป็นเพื่อนกับฮั่นได้ที่ mooontreee

Writer

Avatar

จันท์จุฑา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

ตอนเป็นเด็กหญิงคิดว่าถ้ามีพลังวิเศษไม่ได้ก็ขอเขียน ถ้าเขียนไม่ได้ก็ขอร้องเพลง ปัจจุบันเป็นนางสาวนักฝึกฝนตนเองให้ไวต่อความจริงใจ เพราะดันไปแอบชอบพลังวิเศษชนิดนี้ในตัวคน

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง