ขึ้นชื่อว่า ‘เกลือ’ คุณศัพท์ที่มาต่อท้ายควรเป็น ‘เค็ม’ มิใช่ ‘หวาน’
แต่ ‘เกลือหวาน’ นั้นมีอยู่จริงที่จังหวัดปัตตานี
แม้นรสเกลือชนิดนี้จะไม่หวานเป็นน้ำตาลเหมือนอย่างชื่อ ถึงกระนั้นก็ไม่เค็มจนขมปากดังเช่นเกลือปกติ รสชาติเค็มพอเหมาะพอควรนี้เป็นเหตุให้เกลือปากอ่าวปัตตานีถูกคนในพื้นที่เรียกเป็นภาษามลายูว่า การัม มานิส (Garam Manis) ใส่คำบรรยายไทยได้ว่า ‘เกลือหวาน’

ชาวปัตตานีเคยทำการัม มานิส เพื่ออุปโภค บริโภค และส่งออกไปขายยังดินแดนข้างเคียงมานานหลายศตวรรษ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรปาตานีที่รุ่งโรจน์ แต่แล้วในรอบหลายสิบปีหลัง ที่นาและชาวนาเกลือหวานกลับลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจ ด้วยปัจจัยทางธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม ผสมเข้าด้วยกัน
เพื่อรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านและสืบสานจิตวิญญาณแห่งเกลือหวานปัตตานี ใน พ.ศ. 2565 นี้ กลุ่มผู้จัดงานเทศกาลสร้างสรรค์ประจำปี Pattani Decoded 2022 เมื่อวันที่ 2 – 4 กันยายนที่ผ่านมา
ได้ยกเอาเกลือหวานเป็นธีมหลักประจำงาน พร้อมทั้งเชิญชวนเหล่าศิลปินมาร่วมสร้างผลงานให้เกิดความตระหนักรู้ต่อเกลือหวานไปด้วยกัน
คนหนึ่งซึ่งไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ผู้ก่อตั้งโรงงานเซรามิกเบญจเมธา

“จุดเริ่มต้นคือเราถูกทาบทามให้มาแจมกับงาน Pattani Decoded ในปี 2019 แค่แจมเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ปีนี้เราได้ดูแลในส่วนของงานคราฟต์ เราก็ว่าน่าจะสนุก แล้วเป็นธีมเกลือที่รู้สึกว่ามันดูสำคัญ”
ดีไซเนอร์มือทองจากอำเภอปะนาเระส่งยิ้มกว้าง พลางเริ่มนำชมอาคาร ม.อ.ปัตตานีภิรมย์ ซึ่งได้รับการดัดแปลงสถานที่ชั่วคราวไว้เป็นที่จัดแสดงงานศิลปะชุดใหม่แกะกล่องของเขา
“พอเราเริ่มจับ เริ่มหาสตอรี่เกี่ยวกับเกลือหวาน มันกลับเชื่อมโยงทางตระกูลตัวเอง เชื่อมโยงถึงคุณตา คุณทวด ที่เคยขายของ เคยมีสำเภา เคยโล้สำเภา” เอ็มโซเฟียนผายมือไปที่ป้ายชื่อนิทรรศการซึ่งตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศส บ่งบอกอดีตของตัวเขาที่เคยโลดแล่นอยู่ในสถาบันศิลปะที่แวร์ซายส์และปารีส

‘Le Sel de la Vie’ มีความหมายว่า เกลือแห่งชีวิต
“ผลงานที่ผมทำทั้งหมดจะบอกว่ามันเกิดจากแรงบันดาลใจจากเกลือเพียงอย่างเดียว แล้วเรารู้สึกว่าเกลือมันเชื่อมโยงงานคราฟต์ทั้งหมดได้” เขาพูดก่อนหล่นคติสำคัญที่กลายเป็นหัวใจของนิทรรศการนี้
“หากไม่มีเกลือก็จะไม่มีชีวิต หากไม่มีชีวิตก็จะไม่มีวิถี หากไม่มีวิถีก็จะไม่มีศิลปหัตถกรรม และหากไม่มีศิลปหัตถกรรมก็จะไม่มีอารยธรรม”

เอ็มโซเฟียนชี้ให้เราเห็นว่า ถ้าวันหนึ่งไม่มีเกลืออันเป็นวัตถุดิบและเครื่องถนอมอาหารที่สำคัญแล้ว อาหารการกินที่สำคัญในวัฒนธรรมมลายูปัตตานีคงพลิกโฉมไปชั่วกาล น้ำบูดู ข้าวยำ ปลาเค็ม ทุกอย่างนี้ย่อมเกิดขึ้นหรือคงความโอชะไม่ได้หากไร้เกลือหวาน ดังนั้นเขาจึงตั้งใจออกแบบงานทุกชิ้นเพื่อเน้นย้ำว่าเกลือนั้นสำคัญต่อชีวิตเพียงไร ซึ่งเราจะขอยกมาเล่าเฉพาะบางชิ้น ดังนี้
ชิ้นที่ 1 จากดิน สู่เกลือ

เริ่มด้วยหมู่หม้อทำมือทรงสวยที่วางประดับลดหลั่นกันอยู่ข้างประตูทางเข้า
“เครื่องปั้นดินเผากูบังบาเดาะเป็นหม้อสำหรับต้มสมุนไพร หม้อดิน หม้อยา ดินเผาในอดีตใส่เกลือไม่ได้ เพราะมันจะชื้นและซึม ผมก็เลยต้องเคลือบมัน พอเคลือบมันก็เกิดฟังก์ชันใหม่ เลยได้ตอกย้ำว่าเราต้องทำภาชนะใส่เกลือกับดินเผาในของเราแล้วล่ะ เพราะว่าเขาก็ทำเครื่องปั้นดินเผากันมา
“กลุ่มชุมชนนี้ทำเครื่องปั้นดินเผายาวนานอยู่แล้ว แต่ว่าตอนนี้เริ่มหาย ๆ ไป เราคิดว่าเราจะเอาวิธีคิดของเกลือไปออกแบบ ก็เลยออกแบบลวดลายใหม่ ๆ กับเขา เพราะว่าลายเขาเป็นลายพื้น ๆ”
ลวดลายใหม่ ๆ ที่ว่านี้ เอ็มโซเฟียนวาดเขียนเป็นลายกองเกลือ ลายดอกเกลือ รวมถึงลายนกตีนเทียนที่พบได้ตามนาเกลือ เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ทางชีวภาพที่เกิดขึ้นในนาเกลือ
ชิ้นที่ 2 ระเหย

ปลาเค็มที่ชาวบ้านตากไว้ จะตากได้อย่างไรถ้าไม่ใช้เกลือหมัก
นักออกแบบคนเก่งคำนึงถึงขั้นตอนการระเหยน้ำทะเล ดิน และเกลือ ก่อนได้แง่คิดว่าถาดตากปลาเค็มของชาวบ้านมีส่วนเชื่อมโยงกับเกลือ จึงแนะนำให้ชาวชุมชนบ้านทุ่งที่มีฝีมือด้านหัตถกรรมทำงานชิ้นนี้
ลวดลายบนถาดตากปลาเค็มเป็นลายดอกพิกุลเล็ก ๆ เอ็มโซเฟียนลองจับมาขยาย บอกสี บอกลายในการสานกระจูดให้เป็นแนวทางของกลุ่มแม่บ้าน เกิดเป็นงานหัตถศิลป์ที่งามตากว่าจะเป็นเพียงถาดกระด้งตากปลาอย่างสามัญ
ชิ้นที่ 3 เสียงเรียกจากนาเกลือ

นาเกลือหวานโดยส่วนมากตั้งอยู่ ณ บริเวณตันหยงลุโละ ใกล้อ่าวปัตตานี
เมื่ออดีตกาลนานโพ้น ได้มีชาวจีนล่องเรือสำเภามาค้าขายที่นี่ และเศษซากอารยธรรมที่พวกเขาได้ทิ้งเอาไว้ในพื้นที่ดังกล่าวคือกระเบื้องเคลือบซึ่งล้วนมีสภาพแตกหัก
“ตันหยงลุโละเป็นท้องนาเกลือแห้ง พอแห้งเมื่อไหร่กระเบื้องนี้โผล่ขึ้นมาเต็มเลย” เจ้าของผลงานเน้นเสียง “สันนิษฐานว่าในอดีตก็เป็นแหล่งที่สำหรับซื้อขาย ปัตตานีเคยเป็นท่าเรือสำหรับคนซื้อขายของในอดีต มันอาจเป็นได้ว่าเขาคัดคุณภาพ อันไหนแตกก็โยนทิ้งทะเลกันมากมาย”
แม้ถูกทิ้งขว้างในวันวาน หากในวันนี้ สายตาคนยุคใหม่อย่างเอ็มโซเฟียนกลับมองว่าคุณค่าของเศษกระเบื้องเหล่านี้อยู่ที่ความเสียหายนี้ต่างหาก หาไม่แล้วเขาคงไม่เห็นความสำคัญที่ซ่อนอยู่ภายใน
“สิ่งที่มันเรียบ ๆ เรามองไม่เห็นว่าด้านในมันมีอะไร แต่ว่าเมื่อวันใดมันสูญเสียไปหรือว่ามันหักพังแล้ว มันจะเห็นความสำคัญ แล้วความเสียหายนั้นก็ทำให้เราเห็นอารยธรรม จับคาแรกเตอร์นี้มาสร้างความสำคัญให้กับมันใหม่” เขาเล่าถึงสาเหตุที่นำเศษกระเบื้องมาสร้างงานชิ้นนี้
ชิ้นที่ 4 รอนแรม

เล่าเรื่องเรือสำเภาจีนไปแล้ว เอ็มโซเฟียนเปลี่ยนมาเล่าเรื่องเรือสินค้าของปัตตานีโบราณบ้าง
ชุดจานแขวนผนังเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติการขายเครื่องลายครามและเกลือหวานของปัตตานีที่ออกเดินทางไปทั่วคาบสมุทรมลายูไปจนถึงหมู่เกาะอินโดนีเซีย
“แม่บอกผมว่า สมัยก่อนคุณปู่ของแม่หรือคุณทวดของผม มีเรือสำเภาลำสุดท้ายในปัตตานี และเป็นหุ้นส่วนในอดีต ผมรู้สึกประทับใจมากจนอยากจะต่อยอดด้านนี้ เลยลองทำคาแรกเตอร์เป็นคอลเลกชันของสำเภา แล้วก็สร้างงานเป็นแผนที่ปัตตานีในอดีต”
จากการศึกษาข้อมูลเพื่อผลิตงานชิ้นนี้ แผนที่โบราณได้ตกทอดถึงมือผู้ก่อตั้งเบญจเมธาเซรามิก เขาพบว่าเรือจากปัตตานี หรือปาตานีในอดีตล่องไปขายเกลือถึงตรังกานู จึงลองสเก็ตช์แผนที่เหมือนจริง
“เราอยากถ่ายทอดความเป็นปัตตานีด้วยงานชิ้นนี้ ด้วยการรอนแรมของคนสมัยก่อน เดินทางไปแต่ละที่ ไปกัวลาลัมเปอร์ ไปสิงคโปร์ ไปมะละกา ไปสลังงอร์ เป็นต้น”
ชิ้นที่ 5 เชื่อมโยง

รายรอบนาเกลือหวาน เป็นผืนป่าชายเลนอันเขียวชอุ่ม ต้นโกงกางแผ่รากไพศาล สะกิดต่อมความคิดสร้างสรรค์ของเอ็มโซเฟียนจนเกิดเป็นงานคราฟต์เก๋ไก๋อีกหนึ่งชิ้น
“ช่วงส่วนของโกงกางที่เราเห็นว่ามันแตก ๆ อยู่ในนาเกลือ เราก็เก็บมาเป็นของที่ระลึก แล้วก็เอามาสร้างตัวตนใหม่ สร้างเรื่องราวใหม่ให้เกี่ยวกับการเชื่อมโยง”
ส่วนรูปวาดบนเครื่องถ้วยที่ประดับอยู่บนเศษโกงกาง ผู้สร้างงานจงใจให้สื่อถึงธรรมชาติของนาเกลือยุคก่อน จึงถ่ายทอดรูปสิ่งเหล่านั้นลงบนชิ้นงาน
“ทุกอย่างมีการเชื่อมโยง ไม่ว่าความสัมพันธ์ทางชีวภาพ ความสมบูรณ์ทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อมด้วย เชื่อมโยงเรื่องของคนทำเกลือ เรือสำเภาในอดีต นกตีนเทียน ปลาตีน ปลากระบอก หรือว่าปลากะตักที่เราทำบูดูกัน แล้วก็ปูดำ”
ชิ้นที่ 6 Wau Kapalayar

ว่าวพื้นเมืองมลายูที่เรียกว่า เบอร์อามัส (Beramas) ตัวใหญ่ แขวนอยู่บนผนังฝั่งที่มองเห็นเด่นมาแต่ไกล ออกแบบด้วยน้ำมือดีไซเนอร์ที่หลงใหลในเครื่องไม้เครื่องมือที่พึ่งลมทุกชนิด
“เรารู้สึกว่าเรามีความผูกพัน ชอบเรื่องของสำเภา กังหันลม ว่าว หรือว่าธนูที่ผมยิงทุกวันนี้ ผมรู้สึกว่ามันมีคาแรกเตอร์อะไรบางอย่าง แม้กระทั่งแมลง
“เราก็เลยออกแบบชิ้นงานชิ้นหนึ่งให้เป็นประติมากรรม โดยที่เอาทักษะเชิงช่างของคนทำว่าวมาลองออกแบบดู เขาก็สร้างสรรค์มาให้เรา เราสเก็ตช์ส่งคอนเซ็ปต์ไปให้คุยกัน จนให้ความสำคัญว่าเราอยากพัฒนาทักษะเชิงช่างของคนในพื้นที่อยู่แล้ว แล้วก็สร้างออกแบบให้เขาได้ทำงานกันต่อ”
ชิ้นที่ 7 Derndin tools

แผงเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานหัตถกรรมของบ้านเดินดินชุดนี้คงไม่เกิดขึ้น ถ้าเพียงแต่ผู้ออกแบบไม่ได้ลงพื้นที่นาเกลือ และพบของดีในธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งของบ้านเกิด
“พอเราทำเรื่องเกลือ มันก็ทำให้เราไปสัมผัสกับทุ่งนาเกลือ ในบริเวณนั้นป่าชายเลนดันมีต้นคราม แล้วเราก็สนใจว่าทำไมปัตตานีมีครามด้วย” เอ็มโซเฟียนสารภาพถึงความไม่รู้ของตัวเขาในอดีต
“ผมก็เพิ่งรู้นะว่ามีต้นครามด้วย ในประวัติศาสตร์หนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ปัตตานีส่งออกคือคราม ซึ่งหายไปแล้ว ประมาณ 70 กว่าปีได้ จากหลักฐานที่ได้เป็นข้อตั้งคำถามว่ามันหายไปยังไง แล้วก็ผลิตภัณฑ์ไม่มีเหลือให้เห็นเลย ผมก็ว่ามันน่าสนใจ เลยจะลองจับครามสักที ไปเกี่ยวเอง ย้อมเองเลย”
ครั้นได้ลองเกี่ยวครามด้วยตัวเองแล้ว เอ็มโซเฟียนนึกสนุก อยากออกแบบเคียวเกี่ยวครามดูบ้าง ผลที่ตามมาก็คือชุดอุปกรณ์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องมือมลายูโบราณอันปรากฏแก่สายตาเราอยู่นี้
ชิ้นที่ 8 เกลอเกลือ

ประติมากรรมชิ้นใหญ่เท่าความสูงมนุษย์ชิ้นนี้ได้รับการออกแบบร่วมกันโดยมิตรรักดีไซเนอร์ 4 ราย ซึ่งเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ได้เชื้อเชิญผองเพื่อน ประกอบไปด้วย ดร.กรกต อารมย์ดี, ศุภชัย แกล้วทนงค์ และ วลงค์กร เทียนเพิ่มพูล มาเล่นสนุกไปด้วยกัน
“เรารู้สึกว่ามันมีการเชื่อมโยงความเป็นเพื่อนของเรามาอยู่แล้ว พอมีงานเกลือ เรารู้สึกว่าเกลือจะต้องดึงมาเชื่อมโยงกัน แล้วก็วางคอนเซ็ปต์เป็น ‘เกลอเกลือ’ ก็ดึงความเป็นเพื่อน ๆ แต่ละคนเข้ามา อย่างกรกตก็เป็นคนบ้านแหลม มีความเชี่ยวชาญด้านเกลืออยู่แล้ว เกลือบ้านแหลมกับเกลือปัตตานีก็ต้องมาคุยกันแล้วแหละ แล้วเราก็ดึงทีมสกลเฮ็ดมาด้วยเพราะว่าเป็นเกลือสินเธาว์อีก งานชิ้นนี้เลยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านเกลือ”
จึงเป็นที่มาของผลึกเกลือซึ่งเกิดขึ้นจากการหลอมรวมศาสตร์และศิลป์ของหัตถกรรมแต่ละประเภทที่แต่ละคนมีความรู้ความเชี่ยวชาญมาผสานเข้าไว้ด้วยกัน ให้ตกผลึกทางความคิดจากการทำงานร่วมกันผ่านเจ้าผลึกเกลือชิ้นยักษ์ในงาน Pattani Decoded ประจำปีนี้
“พอทำงานมันก็ตกผลึกด้วยกันว่า กระบวนการทำงานหลาย ๆ อย่างทำให้เราเห็น เราถอดอัตตาของเรา แต่ละคนก็มีคาแรกเตอร์อยู่แล้ว แต่พอเราทำงานร่วมกัน หาจุดร่วมกัน ทำงานต่างที่กันด้วยนะ ส่งแบบ ส่งอะไรกัน ผลปรากฏเป็นงานชิ้นหนึ่ง เรารู้สึกว่ามันคือการตกผลึกอะไรบางอย่าง ก็เลยอยากจะนำเสนอผ่านประติมากรรมชิ้นนี้
“ผลึกหนึ่งผลึกมันต้องมีปัจจัยอะไรหลาย ๆ อย่างถึงจะเกิดขึ้น เกลือจะไม่เกิดขึ้นถ้าเกิดฝนตกชุ่ม กว่าจะเป็นผลึกได้ต้องใช้ช่วงจังหวะที่มันงดงามจริง ๆ ถึงจะเกิดเป็นผลึกได้ แล้วเราก็สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่จะก่อเกิดเป็นมัน บางทีมันก็ไม่เรียบร้อยนะ แต่รู้สึกว่าก็เป็นองค์ประกอบทั้งหมดที่ทำให้ผลึกนี้เกิดขึ้นได้”

ท่ามกลางงานออกแบบมากมายหลายสิบชิ้น เราอดสงสัยไม่ได้ว่าคนต้นคิดงานสร้างสรรค์เหล่านี้มีความประทับใจงานชิ้นใดมากเป็นพิเศษหรือเปล่า จึงไม่รอช้าที่จะถามความคาใจข้อนี้กับเขา
“ประทับใจในการทำงานของช่างทุกคน เพราะว่าเราไม่โฟกัสตรงผลผลิต เราโฟกัสตรงกระบวนการ เพราะฉะนั้นกระบวนการเราผ่านแล้ว แล้วก็อย่างอื่นเรามอบหมายหมดแล้ว มันออกมาเป็นยังไงก็แล้วแต่ บางทีมันเป็นจังหวะ” เอ็มโซเฟียนตอบหน้าชื่นตาบาน
“ตอนนี้มันอาจจะเป็นกระบวนการที่ทำแบบจำลอง แต่ถ้าเกิดขยับไปอีก อีกคนหนึ่งอาจจะดีกว่านี้ สิ่งที่ผมพยายามบอกตัวเองว่ามันคือการออกแบบที่ดีควรจะมีจุดความสัมพันธ์ในเรื่องของจิตสำนึก แล้วก็การสร้างอะไรใหม่ ๆ ไม่ใช่การที่ทำผลงานแล้วแช่แข็ง แล้วก็ Copy-paste อยู่ตลอดเวลา ฟังก์ชันเปลี่ยนยุคสมัยยังเปลี่ยน ก็ควรจะหาฟังก์ชันอะไรใหม่ ๆ เรารู้สึกว่าเราต้องสร้างนวัตกรรมตลอดเวลา แล้วก็ยอมรับที่จะเจอปัญหา
“พอเวลาเจอปัญหาก็สร้างฟังก์ชันใหม่ ๆ กับยุคสมัย ในอดีตมันมีแบบนี้ เราไม่ลืมรากเหง้านะ แต่เราก็ต้องมุ่งหน้าไปเพื่อจะสร้างนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ถ้าเกิดเรามีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ความเป็นมลายู เรารักษาได้ แต่ว่าเราต้องเดินหน้าที่จะสร้างฟังก์ชันอะไรใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ผมจะให้ความสำคัญกับกระบวนการมาก แล้วก็จะมีความสุขกับการทำงานครับ” เจ้าของนิทรรศการ ‘เกลือแห่งชีวิต’ จบบทสนทนา
