ความช้าที่ยาวนาน มิตรภาพจึงยาวไกล

2 ปีที่แล้วผมพบ อาจารย์ Keibo Oiwa โดยบังเอิญ เมื่อครั้ง สาทิช กุมาร มาพูดที่เชียงใหม่ เราทักทายกันหลังจบงาน อาจารย์เคโบะเล่าให้ผมฟังว่า เขาเคยเจอเพื่อนผู้เฒ่าปกาเกอะญอคนหนึ่งที่ญี่ปุ่น เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วในพิธีบวชป่าที่เกาะ Yaku-shima เขาไม่แน่ใจว่าผมจะรู้จักรึเปล่า ผมรู้สึกแปลกใจไม่น้อย เพราะคนที่เขาพูดถึงคือ พะตีจอนิ โอ่โดเชา พ่อตาของผมนั่นเอง

เราคุยกันต่ออีกสักพัก ผมรู้สึกว่าต้องให้สองคนนี้พบกันอีกครั้งให้ได้ ผมเชิญชวนให้อาจารย์ชาวญี่ปุ่นขึ้นดอยกับผม เขาไม่รีรอรีบเก็บกระเป๋าและเดินทางไปด้วยกันในเย็นวันนั้นเลย

เราใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก็ถึงบ้านของพะตีจอนิ โอ่โดเชา เขาเดินมาจับมือต้อนรับด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เวลากว่า 20 ปีอาจน้อยเกินไปที่จะพรากความทรงจำของคนสองคน ค่ำคืนนั้นกลายเป็นการระลึกความหลังอย่างออกรส ผมรับหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมบทสนทนาอันยาวนานในค่ำคืนก่อนจะแยกย้ายไปนอน หลังจากการพบกันในครั้งนั้น มิตรภาพก็ถูกรื้อฟื้น และอาจารย์เคโบะก็ตัดสินใจกลับมาเชียงใหม่พร้อมนักเรียนของเขา

ปกาเกอะญอ

 

ครูที่ชื่อสล็อต

อาจารย์เคโบะมีชื่อจริงว่า Tsuji Shin’Ichi เป็นนักมานุษยวิทยา นักเขียน นักสิ่งแวดล้อม เคยใช้ชีวิตในอเมริกาเหนือกว่า 15 ปี เขารู้จักชนเผ่าพื้นเมืองในแคนาดาเป็นอย่างดี และเขายังทำวิจัยเกี่ยวกับสัตว์อย่างสล็อตมายาวนาน เขาพบว่าสล็อตเป็นสัตว์ที่อ่อนน้อม ห่วงใยต่อระบบนิเวศอย่างมาก มันเป็นสัตว์กินพืช ถ่ายใต้ต้นไม้และกลบเพื่อบำรุงรากของต้นไม้ที่พวกมันอาศัย อาจารย์เคโบะดูมีความสุขทุกครั้งที่พูดถึงเจ้าสล็อตผู้เชื่องช้า

หลังจากกลับจากแคนาดา เขารับงานสอนที่ Meiji Gakuin University สาขาวิชา International Studies นอกเหนือจากการสอนในรั้วมหาวิทยาลัย เขาก่อตั้ง Sloth Club เพื่อรณรงค์ให้คนในสังคมตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และใตร่ตรองถึงความงามของความช้า เขาเขียนหนังสือหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Slow is beautiful ในปี 1996

อาจารย์เคโบะเชื่อและรู้สึกว่าการพานักศึกษาจากญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศโลกที่หนึ่งมายังหมู่บ้านเล็กๆ บนดอย เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ที่นั่น เขาบอกกับผมว่า เด็กรุ่นใหม่ที่เดินทางมาครั้งนี้พกน้ำมาจากญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว เพราะความกังวล รักสะอาด จนเกินพอดี การสัมผัสดินด้วยเท้าเปล่า การก่อไฟ กลายเป็นสิ่งที่ยากไปแล้วสำหรับคนที่เกิดในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว

เมื่อหน้าที่ของครูคือการชี้ทางให้นักศึกษา ทริปนี้จึงถือกำเนิดเกิดขึ้น และนักศึกษาบางคนอาจคิดว่ากำลังเดินผ่านประตูมิติของโดราเอมอนอยู่

 

คนขี้เกียจ มีกิน

ปกาเกอะญอ

เช้าวันแรกเรานัดแนะกันที่บ้านพะตีจอนิ โอ่โดเชา ผู้เฒ่าผู้เกิดในคืนที่ทหารญี่ปุ่นกลับจากพม่าเพื่อเข้าเมืองหลังจากพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 พะตีจอนิเชื่อว่าขวัญของเขาเดินทางมากับคนญี่ปุ่น เขาจึงอยากไปญี่ปุ่นให้ได้ และท้ายที่สุดก็ได้ไปเหยียบประเทศของโนบิตะอย่างหนำใจถึง 4 ครั้งเข้าให้แล้ว

เรานั่งล้อมวง น้องๆ ยังดูง่วงๆ เพราะเพิ่งเดินทางมาจากภูฏาน พี่แซวะจึงเสิร์ฟกาแฟ Lazyman ร้อนๆ ที่เขาปั้นมากับมือ พลับ อะโวคาโด้ กล้วยในสวนก็สุกให้เราได้กินพร้อมกันพอดี

พะตีจอนิเริ่มต้นด้วยการเล่านิทานคนขี้เกียจ ต่อด้วยที่มาที่ไปของสวนคนขี้เกียจที่ครั้งหนึ่งเขาเคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหมือนคนทั่วไป ทำไปได้สัก 10 ปีมีแต่หนี้แกเลยยอมแพ้และตัดสินใจปล่อยให้สวนรก พะตีจอนิเล่าติดตลกว่า โดนเมียว่าให้ว่าเป็นคนขี้เกียจ กระทั่ง 17 ปีให้หลังมีผลไม้ หน่อไม้ ให้เก็บกิน อีกทั้งไม้โตพอสร้างบ้านได้ ไม้ทำฟืน ไม้ไผ่ หวาย ก็ขายได้ และอื่นๆ รวมกันอีกกว่า 80 ชนิดกัน

ปกาเกอะญอ

แกบอกว่า เมียแกก็เริ่มเห็นดีเห็นงามหลังจากผ่านไป 17 ปี สวนคนขี้เกียจยังได้โลดแล่นบนหนังสือที่เขียนโดย สุวิชานนท์ รัตนภิมล มันจึงถูกพูดถึงในระดับหนึ่ง

หลังจากหันหลังให้พืชเชิงเดี่ยว พะตีจอนิร่วมคิดและเรียกร้องสิทธิของคนที่อยู่กับป่ากับชุมชนอื่นในประเทศไทยกว่า 30 ชุมชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในวงเสวนาทั้งไทยและต่างประเทศมานักต่อนัก การเผชิญหน้ากับความกดดันจากแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน และการนำเอาวิชาของฝรั่งมาใช้จนเกินพอดี ก็สร้างปัญหาให้ชุมชนในเขตป่าไม่น้อย

การได้เรียนหนังสือแค่ 8 เดือนในโรงเรียนอาจทำให้เขาพูดภาษาไทยไม่ชัด ทว่ามันไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเดินทางเลยสักครั้ง นอกจากการถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่ญี่ปุ่นกักตัวข้อหาแต่งตัวด้วยชุดชนเผ่าและมีย่ามใบโต น่าสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายในครอบครอง แต่สุดท้ายก็รอดมาได้หลังจาก 2 ชั่วโมงในห้องแคบๆ

ผู้เฒ่าเล่าต่อว่า คนปกาเกอะญอเรียกโลกใบนี้ว่า ‘ห่อโข่’ แปลว่า ‘ที่ร้องไห้’ เราเกิดมาปุ๊บร้องไห้ปั๊บ พอโตขึ้นต้องมีอะไรมาทำให้ร้องไห้จนได้ และการร้องไห้ครั้งสุดท้ายคือเมื่อถึงวาระที่เราหรือใครคนใดคนหนึ่งต้องจากโลกนี้ไป นี่คือธรรมชาติที่อยู่ในตัวเราทุกๆ คน

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องฆ่าฟันกันให้ตายเพียงเพราะเชื่อต่างกัน ต้องการมีอำนาจที่มากกว่า อยากมีสิทธิมากกว่าคนอื่น อยากใช้ทรัพยากรมากกว่าคนอื่น หรือต้องการเงินทองผลประโยชน์

พระพุทธเจ้าและพระเยซูสอนเรามามากว่า 2,000 ปี แต่ดูเหมือนโลกไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิมสักเท่าไหร่บางทีเราอาจต้องใช้เวลาอีก 2,000 ปีเพื่อจะข้ามพ้นไปจากความขัดแย้งที่พูดมา ผู้เฒ่าหัวเราะแบบขำๆก่อนได้เวลาอาหารเที่ยงพอดี

 

ช้าช้า

ปกาเกอะญอ

การเรียนรู้ในวันนี้คือการทำสมาธิ สอนโดย ประชา หุตานุวัตร ผู้ใช้แนวทางพุทธในการจัดการเรียนรู้เพื่อเข้าใจตนเองและสังคม การนั่งสมาธิอาจเป็นสิ่งที่ยากสำหรับน้องๆ หลายคน ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง การสังเกตลมหายใจและความคิด พอถึงช่วงเดินสมาธิ ผมสังเกตเห็นว่าน้องหลายคนดูผ่อนคลาย บางคนมองไปบนฟ้า บนเขา ต้นไม้ ท่วงท่าในการเดินที่เนิบช้า และดูเป็นมนุษย์ที่สงบ เรียบง่าย ต่างกับจังหวะฝีก้าวในโตเกียวที่เราได้เห็นอย่างชัดเจน

Moari แลกเปลี่ยนกับพวกเราว่า การต้องอยู่กับภาระ การเรียน ความเร่งรีบมากมาย เหมือนกับเรากำลังอยู่ในสังคมที่เข็นครกขึ้นสู่ยอดเขาครั้งแล้วครั้งเล่า การได้มาที่นี่เขาเปรียบว่าตัวเองกำลังโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือน้ำ การได้สัมผัสธรรมชาติทำให้เขาได้รู้สึก สัมผัส ถึงความเรียบง่ายตรงไปตรงมาของตัวเขาเองและคนรอบข้างด้วย

Alex ลูกครึ่งญี่ปุ่นเปอร์โตริโก เป็นผู้เข้าร่วมอีกคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นมากทีเดียว เขาบอกว่า เขารู้สึกโดดเดี่ยวและว่างเปล่า เขาไม่มีความสุขมากนักในโตเกียวเพราะชีวิตเร็วเกินไปสำหรับเขา ที่ญี่ปุ่นการหยุดเรียนตอนปี 2 ปี 3 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง ตอนนี้ เขาจึงตัดสินใจหยุดเรียน 1 ปีเพื่อคิดทบทวนและใตร่ตรองว่าเขาต้องการอะไรกันแน่

กลางคืนเราล้อมวงผิงไฟ คืนนี้เราโชคดีที่ฝนอนุญาตให้เราก่อไฟผิงกันได้ แถมก้อนเมฆก็ใจดีเผยแสงดาวที่อวดแสงระยิบ ผู้มาเยือนมีเพลงโอกินาว่าขับขานเคล้าควันไฟพร้อมกับเหล้าบ๊วยคนละจอกพอลื่นคอ ผู้เฒ่าเล่าชีวิตให้คนหนุ่มสาวฟัง เผื่อเขาจะได้เก็บไปคิดในวันข้างหน้า

อาจารย์เคโบะบอกผมว่า เราคาดหวังอะไรในตัวน้องไม่ได้เลย สิ่งที่เราทำได้คือหว่านเมล็ดไปเรื่อยๆ อาจจะมีใครในนี้ที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เช่นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างมีสติ ใส่ใจคนรอบข้างและธรรมชาติมากขึ้น

ที่ญี่ปุ่นการทำงานหนักจนตาย ซึ่งเรียกว่า Karochi Syndrome หรือโรคบ้างาน กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ มีคนอาศัยคนเดียวตามลำพังมากขึ้น ในสังคมที่พลุกพล่านคนไม่น้อยกลับรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา สิ่งเหล่านี่ไม่ใช่สิ่งที่โลกอยากให้เกิดกับเรา มันคือความผิดพลาดที่เกิดจากการที่เราคิดว่าเราดีไม่พอ เก่งไม่พอ มีไม่พอ เราจึงทำมากทำเยอะจนโลกปั่นป่วนไปหมด การได้มีเวลาขี้เกียจคือของขวัญดีๆ นี่เอง (ผมเห็นด้วยมากครับ) และมันคือทางออกด้วย เขาปิดท้าย

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

 

ห่อโข่ บนโลกที่ร้องไห้เราทุกคนคือเพื่อนกัน

เริ่มดึกแล้วกองไฟยังให้ไออุ่น อาจารย์เคโบะขอให้เจ้าบ้านแชร์บทเพลงที่แกเคยได้ยิน เพลงนี้ไม่ดังมาก เพราะดึกแล้วเราจึงร้องเบาๆ แต่ผมอยากให้ทุกคนได้ยินอยู่นะ

 

บนห่อโข่ โลก นานมาแล้ว ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง เป็นของเรา

สิ่งมีชีวิต น้อยใหญ่ ต้นไม้ ลำธาร ต่างมีชีวิตป็นของตัวเอง

ธรรมชาติคือผู้มอบชีวิต เราหลงลืมไปรึยัง

จงดูแล ต้นไม้ของเรา หัวเผือกเมล็ดข้าว ให้รักษา

ผู้แก่พร่ำเตือน ผู้เฒ่าพร่ำสอน น้ำและแผ่นดินคือบ้าน

ดูแลดีแล้ว จะมีข้าวกิน จะมีผ้าคลุมกาย

ถึงเวลาแล้ว เงินทอง ไม่อาจเป็นสิ่งให้เรายึด

เทียนไขขี้ผึ้ง กับตอข้าว ปกป้องขวัญของเราทุกคน

อยู่กับแสงสว่างและไมตรีรัก

เดินไปด้วยกัน บนโลกใบเดียวเท่านั้นที่เรามี

หากความรักผลิใบ ความห่วงใยออกผล

จะมีน้ำนิ่ง มีความสงบในแผ่นดิน

เพราะโลกมี ตอข้าว และแสงเทียน

 

เพลงจบแล้ว แสงไฟมอดลง ดาวยังคงส่องแสง เมฆยังคงเคลื่อนไป เที่ยงคืนแล้วไม่มีอะไรที่สหายสล็อตและคนขี้เกียจต้องทำ นอกจากการพาตัวเองเข้านอน

ไม่มีฝันดีให้ฝันถึง เพราะเราจะตื่นมาทำความจริงที่เราทำได้ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เพียงเล็กน้อยเท่านั้นพอ

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง