เสียงสนทนาระหว่างคนหลายช่วงวัยที่เป็นไปอย่างครื้นเครงบนเรือนลาวเวียงหลังใหญ่ กลางหมู่บ้านดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ชวนให้นึกถึงความแน่นแฟ้นของครอบครัวที่เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกอย่างเหนียวแน่น เรื่องราวการพูดคุยสารพันต่างแสดงถึงความห่วงใยและความรักที่มีต่อลูกหลาน หลังได้กลับมาเจอกันอีกครั้งในช่วงเทศกาลสำคัญของชุมชน และหนึ่งในบทสนทนาที่สร้างความประทับใจกลับมิใช่เรื่องอื่นใด หากแต่เป็นการถ่ายทอดถึงความสุขที่ได้ลิ้มรสชาติของชุมชนผ่านขนมก้นกระทะจากฝีมือของย่ายายที่ตั้งใจปรุงขึ้นไว้รอท่า

แรกลิ้มชิมรสชาติ วัฒนธรรมลาวเวียง 

เสียงกลองยาวดังแว่วมาแต่ไกล ชักนำให้ต้องมองตามพร้อมสาวเท้าเข้าไปใกล้ จนพบกับพระภิกษุที่เดินนำด้วยความสุขุม ตามด้วยเหล่าหญิงชายหลากช่วงวัยต่างแต่งกายด้วยซิ่นตีนแดง ตีนจก ตามประเพณีนิยมของชาวลาวเวียง ร่วมเดินขบวนแห่ดอกไม้ไปรอบ ๆ หมู่บ้านเพื่อมุ่งหน้าไปยังวัดโภคาราม ฉันสังเกตเห็นผู้คนส่วนใหญ่ถือดอกไม้ ธูป และน้ำอบไทย ฟ้อนรำกันอยู่อย่างสนุกสนาน 

ฟอร์ด-ธนกิจ หงส์เวียงจันทร์ เดินเข้ามากระซิบให้ฟังว่า “เย็นนี้พวกเราจะไปใต้พระทรายกันที่วัด” ตามประเพณีสงกรานต์ของชาวลาวเวียง ซึ่งปกติเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนของทุกปี จวบจนกระทั่งถึงวันที่ 19 ในเดือนเดียวกัน จึงจะถือว่าสิ้นสุดการเฉลิมฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวดอนคาที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเดินทางมาถึง ชาวลาวเวียงแห่งบ้านดอนคาจะร่วมด้วยช่วยกันเชิญพระพุทธรูปลงประดิษฐานที่หอสรงเพื่อสรงน้ำขอพร จากนั้นจึงค่อยแยกย้ายกันกลับเรือนจัดการปัดกวาดหิ้งพระประจำบ้านพร้อมสรงน้ำและเตรียมชุดที่สวยที่สุด ซึ่งส่วนมากเป็นผ้าที่ทอขึ้นเอง หรือบางบ้านอาจเป็นผ้าที่แม่ทอไว้ให้กับลูก ๆ สำหรับใส่ไปทำบุญที่วัด เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมดังกล่าว จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นเทศกาลสงกรานต์ของชุมชนอย่างแท้จริง

อย่างนั้นแล้ววันที่ 14 – 19 เมษายน ชาวลาวเวียง ณ หมู่บ้านดอนคาแห่งนี้เฉลิมฉลองหรือทำกิจกรรมใด ๆ กัน คำถามจากความสงสัยที่ฉันได้เอื้อนเอ่ยออกไป และแทบจะทันที เอ็ม-ภูชิชย์ นิลทมร หนึ่งในลูกหลานบ้านดอนคาก็ไขข้อข้องใจให้กระจ่างว่า 

สูตรขนมก้นกระทะ รสชาติสงกรานต์ของชาวลาวเวียง สุพรรณบุรี
สูตรขนมก้นกระทะ รสชาติสงกรานต์ของชาวลาวเวียง สุพรรณบุรี

“วันที่ 14 – 16 เมษายน ถือเป็น ‘วันเนาว์’ หรือ ‘วันเน่าวันเหม็น’ โดยทุกเช้าชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรและละเว้นการงาน เพราะมีความเชื่อว่าใครทำงานจะมีหนังหมาเน่ามาคลุมหัว ชาวบ้านจึงต่างนำหนามมาคลุมอุปกรณ์ทำงาน เพื่อแสดงออกถึงการพักผ่อนอยู่กับครอบครัว และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เป็นการขอพร ตลอดจนสรงน้ำอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับ และวันที่ 17 – 19 เมษายน หรือที่เรียกว่า หวิดเน่าหวิดเหม็น จึงจะเป็นวันที่ผู้คนออกเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน”

กระทั่ง บุ้ค-พลวัตน์ แก้วพงษ์ศา เดินมาสมทบพร้อมจูงมือฉันเข้าร่วมขบวนแห่ดอกไม้ ซึ่งจะจัดขึ้นหลังจากเล่นน้ำสงกรานต์ในช่วงเช้า โดยเล่าให้ฟังว่า 

“ในช่วงเย็นเช่นนี้ชาวบ้านจะพากันจัดเตรียมดอกไม้และธูปจำนวน 2 ชุด สำหรับถวายพระสงฆ์และร่วมขบวนแห่ พร้อมฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน นอกจากแห่ดอกไม้ในหมู่บ้านแล้วยังเดินไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อสรงน้ำพระและทำกิจกรรมร่วมกัน”

บรรยากาศยามค่ำคืนของวัดโภคารามเต็มไปด้วยแสงสี เสียงเพลง ผู้คน และขนมในงานวัดที่คุ้นตาตามประสาเด็กชนบท ประกอบด้วยลูกชิ้นทอด น้ำอัดลม ข้าวเกรียบกุ้ง รถขายก๋วยเตี๋ยว และอีกสารพัดที่เข้ามาย้ำเตือนคืนและวันอันเคยคุ้น อย่างไรก็ตาม จุดรวมผู้คนกลับอยู่ที่เจดีย์ทรายซึ่งมีทั้งสิ้น 9 กอง และหนึ่งในจำนวนนั้นก่อเป็นรูปหงส์ สัญลักษณ์สำคัญของชุมชน ดังที่บุ้คเล่าให้ฟัง

“ชาวดอนคาเชื่อว่าบรรพบุรุษของตนมีชื่อว่า ‘พ่อคุณหงส์’ ท่านเป็นผู้ที่นำพาลูกหลานมาก่อตั้งชุมชน ณ บ้านดอนคา ดังนั้น ลูกหลานในรุ่นต่อมาจึงก่อกองทรายเป็นรูปหงส์เพื่อระลึกถึงบุญคุณของท่าน” 

หลังจากบูชาพระทรายโดยนำธูปไปปักไว้จนรอบหรือที่เรียกว่า ‘ไต้พระทราย’ เรียบร้อยแล้ว จึงมายังลานวัดร่วมกิจกรรมการละเล่นต่าง ๆ เช่น ผีนางด้ง ลูกช่วง ข้าวหลามตัด มอญซ่อนผ้า ความสนุกสนานและการได้เป็นส่วนหนึ่งในประเพณีสำคัญของชุมชนร่วมกับวัยรุ่นหนุ่มสาว ทำให้ฉันหลงรักบ้านดอนคา ชุมชนที่คนรุ่นใหม่รักและหวงแหนวัฒนธรรมของตนเองอย่างเหนียวแน่น

จบกิจกรรมแสนอิ่มใจ เจ้าของพื้นที่ทั้ง 3 คน พร้อมใจกันเชื้อเชิญให้ฉันไปนอนยังเรือนของย่ามั่น ซึ่งเป็นเรือนลาวเวียงโบราณอายุกว่า 100 ปี มุ้งที่นำมากางยังระเบียงกับความงดงามของแสงจันทร์พร้อมลมพัดเย็นสบาย ทำให้นอนหลับไหลอย่างเป็นสุขจนหลงลืมไปว่านี่คือเดือนที่ร้อนที่สุดในรอบปี     

สูตรขนมก้นกระทะ รสชาติสงกรานต์ของชาวลาวเวียง สุพรรณบุรี
เยี่ยมประเพณีสงกรานต์หมู่บ้านดอนคา ล้อมวงลูกหลานลาวเวียง สุพรรณบุรี อร่อยสำราญกับขนมก้นกระทะ

ก่อร่างสร้างรูปชุมชน

เสียงไก่ขันและแสงตะวันสีส้มทองยามเช้าที่เยี่ยมหน้าเข้ามาทักทายถึงชายมุ้งช่วยปลุกให้ตื่น เพื่อเตรียมตัวท่องโลกของอาหารตามที่นัดหมายไว้กับเหล่าเยาวรุ่นแห่งบ้านดอนคา 

บุ้คผู้ขึ้นมายังเรือนชานเป็นคนแรกกล่าวถามถึงความสบายจากการพักผ่อน พร้อมเล่าถึงลักษณะการก่อตั้งชุมชนลาวเวียงให้ฟัง

“ชาวลาวเวียงนิยมตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นกลุ่มในสายตระกูล โดยที่เรือนแต่ละหลังเชื่อมต่อกันอย่างเป็นอิสระ มีการแบ่งอาณาเขตจากแนวต้นไม้ นอกจากนี้มักปลูกเรือนให้ตรงกันและไม่เอามุมบ้านหันเข้าหากัน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการทิ่มแทงกันในหมู่ญาติ ทางสัญจรภายในหมู่บ้านประกอบด้วยทางหลักและทางรองที่คดอ้อมลัดเลาะไปตามกลุ่มบ้านต่าง ๆ คล้ายใยแมงมุมแบบหลวม ๆ ดังนั้น หากใครไม่คุ้นทางผ่านเข้ามา อาจหลงเป็นวงกลมในเขาวงกตแห่งนี้ได้” 

หลังกล่าวจบก็ชักชวนกันขี่จักรยานวกวนจนมาพบเรือนลาวเวียงหลังใหญ่ เมื่อลูกหลานพร้อมหน้า เหล่าย่ายายก็เริ่มบรรเลงการทำขนมก้นกระทะ โดยมีเนื้อร้องเป็นวัตถุดิบและท่วงทำนองเป็นเครื่องครัวและกระบวนการขณะทำขนม 

อร่อยสำราญกับขนมก้นกระทะ

ขนมก้นกระทะ อาหารหวานโบราณคู่ชาวลาวเวียงบ้านดอนคา มีที่มาตามที่เอ็มเล่าให้ฟังว่า ในอดีตชุมชนดอนคามีลักษณะเป็นครอบครัวขยายขนาดใหญ่ ดังนั้น การทำขนมให้ลูกหลานหลายคนกินอย่างอิ่มหนำ จึงต้องเป็นขนมที่ทำได้โดยง่ายและให้ปริมาณมาก รวมทั้งใช้เพียงวัตถุดิบที่อยู่ติดครัวเท่านั้น ขนมก้นกระทะได้ทำหน้าที่ตอบโจทย์ความต้องการ และกลายเป็นขนมที่ลูกหลานชาวลาวเวียงหลายคนเมื่อได้กินแล้วต้องหวนคิดถึงสมัยที่ตนเองเป็นเด็กในวันนั้นอย่างแน่นอน

“นี่คือขนมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวบ้านดอนคา และที่ได้ชื่อเช่นนี้เป็นเพราะต้องใช้กระทะในการทำนั่นเอง” ฟอร์ดกล่าวเสริม

เยี่ยมประเพณีสงกรานต์หมู่บ้านดอนคา ล้อมวงลูกหลานลาวเวียง สุพรรณบุรี อร่อยสำราญกับขนมก้นกระทะ

ส่วนประกอบสำคัญแบบฉบับดั้งเดิม

  1. ข้าวเจ้า 500 กรัม 
  2. ข้าวสุก 
  3. กะทิ 500 กรัม
  4. เกลือปริมาณเล็กน้อย
  5. น้ำมะพร้าวอ่อน 
  6. เนื้อมะพร้าวอ่อน
เยี่ยมประเพณีสงกรานต์หมู่บ้านดอนคา ล้อมวงลูกหลานลาวเวียง สุพรรณบุรี อร่อยสำราญกับขนมก้นกระทะ

สูตรปรับใหม่ทันสมัยวิถีบริโภค

  1. แป้งข้าวเจ้า 500 กรัม 
  2. กะทิ 500 กรัม
  3. เกลือปริมาณเล็กน้อย
  4. น้ำมะพร้าวอ่อน 
  5. เนื้อมะพร้าวอ่อน

ท่วงทำนองแห่งความอร่อย 

เยี่ยมประเพณีสงกรานต์หมู่บ้านดอนคา ล้อมวงลูกหลานลาวเวียง สุพรรณบุรี อร่อยสำราญกับขนมก้นกระทะ

1. หมักแป้งข้าวเจ้ากับหัวกะทิและเนื้อมะพร้าว ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง

2. นำน้ำหางกะทิมาเคล้าให้เข้ากันกับแป้งที่นวดไว้ ผสมเกลือลงไปเล็กน้อย 

เยี่ยมประเพณีสงกรานต์หมู่บ้านดอนคา ล้อมวงลูกหลานลาวเวียง สุพรรณบุรี อร่อยสำราญกับขนมก้นกระทะ

3. เติมน้ำหางกะทิลงไปเพื่อไม่ให้แป้งข้น เพราะหากแป้งข้นจะทำให้ขนมไม่กรอบอร่อยตามสูตรโบราณ 

4. นำกระทะมาตั้งไฟบนเตาถ่านจนร้อน แนะนำให้ใช้น้ำมันหมูทาลงไปที่กระทะเพื่อป้องกันแป้งติด

5. ตักเอาส่วนผสมเทลงไปในกระทะ ใช้มือหมุนกระทะให้ส่วนผสมกระจายไปทั่วจนเป็นแผ่นบาง ๆ 

เยี่ยมประเพณีสงกรานต์หมู่บ้านดอนคา ล้อมวงลูกหลานลาวเวียง สุพรรณบุรี อร่อยสำราญกับขนมก้นกระทะ

6. ใช้ฝาหม้อปิดกระทะเอาไว้รอจนขนมสุกกรอบ 

7.ใช้ตะหลิวตักขนมออกมา ได้ขนมหน้าตาคล้ายขนมครก กินได้ทันที แต่หากใครต้องการความหวาน โรยน้ำตาลลงไปเล็กน้อยจะได้รสหวาน มัน เค็ม กลมกล่อมยิ่งขึ้น

น้าแมว-กาญจนา ศรีสุราษฎร์ แม่ครัวฝีมือเด็ดประจำชุมชน เล่าเสริมให้ฟังว่า “แต่ก่อนจะต้องนำข้าวเจ้ามาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน เมื่อข้าวพองขึ้นจึงนำมาผสมข้าวสุกในอัตราส่วนข้าวเจ้า 1 ถ้วยต่อข้าวสุก 1 ช้อนโต๊ะ แล้วจึงนำมาโม่ให้เกิดเป็นแป้ง สาเหตุที่ต้องผสมข้าวสุกลงไปเพราะจะทำให้แป้งเหนียวนุ่ม” 

น้าแมวเผยถึงอีกหนึ่งเคล็ดลับความอร่อยของขนมก้นกระทะไว้ว่า “ระหว่างนวดแป้งต้องค่อย ๆ หยอดหัวกะทิและน้ำมะพร้าว แล้วค่อย ๆ นวด เพื่อให้แป้ง น้ำกะทิ และมะพร้าว เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน โดยน้ำมะพร้าวจะช่วยให้ขนมมีความเหลืองกรอบน่ากินมากยิ่งขึ้น” 

ขนมก้นกระทะร้อน ๆ กลิ่นหอมกรุ่นถูกยกออกมาตั้ง ท่ามกลางวงล้อมของลูกหลานที่ส่งเสียงพูดคุยถึงคืนวันแต่ก่อนเก่า เรื่องราวสารพันจากวัยเยาว์ช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้า คล้ายได้หลบเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัยในนามของครอบครัว โดยมีขนมก้นกระทะแสนอร่อยจากวัยเด็กเข้ามาสร้างพลังแห่งชีวิตเมื่อก้าวเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ให้ได้อิ่มใจและอิ่มท้องในทุกครั้งที่กลับบ้าน

Writer & Photographer

โสภา ศรีสำราญ

โสภา ศรีสำราญ

ลูกหลานลาวครั่งที่พันพัวอยู่กับวงการอาหารและงานเขียนหลากแนว ชื่นชอบงานศิลปะ วัฒนธรรม รักการท่องเที่ยวและการตีสนิทกับผู้คนในทุกที่ที่ไปเยือน