แรงดึงดูดของดอยเชียงดาว

เมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปเดินป่าที่ยอดดอยหลวงเชียงดาว เป็นหมุดหมายหลักในการเดินทางมาเชียงใหม่ครั้งนี้ ระหว่าง 2 – 3 วันที่ได้อยู่และใช้ชีวิตละแวกเชียงดาว ผมรู้สึกหลงใหลอำเภอแห่งนี้ ตรงที่วิถีชีวิตดำเนินไปเรื่อย ๆ มีแนวภูเขาลูกใหญ่เป็นฉากหลังของทุกเฟรมในภาพการใช้ชีวิตของคนที่นี่ ซึ่งดอยเชียงดาวที่ตั้งตระหง่านอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพิ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่จาก UNESCO เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ขึ้นกระบะไปเลาวูประตูสู่เวียงแหง ดื่มกาแฟกับคนกลับบ้านที่อยากพัฒนาบ้านเกิดให้ยั่งยืน

หลังจากพิชิตยอดดอยหลวงเชียงดาว ผมก็กลับมาเที่ยวในตัวเมืองเชียงใหม่ตามปกติ จนถึงวันก่อนจะกลับกรุงเทพฯ อยู่ดี ๆ ผมก็อยากกลับไปหาดอยหลวงเชียงดาวอีกสักครั้ง ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตในเมืองที่ไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเมื่อไหร่อีก ผมตัดสินใจจะไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ไหนก็ได้ที่มีดอยหลวงเชียงดาวตั้งอยู่ และตอนนั้นเอง ความทรงจำที่เก็บไว้ในหัวผมก็นึกขึ้นได้ว่า เคยเห็นโพสต์หนึ่งบนโซเชียลมีเดีย พูดถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ ห่างจากตัวเมืองที่ไปดูพระอาทิตย์ขึ้นได้ โดยมีดอยหลวงเชียงดาวเป็นตัวเอกของจุดชมวิว สถานที่แห่งนี้คือ ‘เลาวูประตูสู่เวียงแหง’

ด้วยความที่เป็นการตัดสินใจกะทันหันมาก บวกกับผมจองที่พักในตัวเมืองเชียงใหม่ไปแล้วในคืนสุดท้าย ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือตื่นนอนตั้งแต่ตี 3 เพื่อขับรถไปบ้านเลาวูให้ทันก่อน 6 โมงเช้า คืนนั้นผมหาข้อมูลโดยทักไปที่เพจ Klu mi coffee-กลึ มี กาแฟ เป็นร้านกาแฟที่มีจุดชมวิวเหมือนที่ผมอยากดู ผมโทรพูดคุยกับพี่เจ้าของร้านเพื่อนัดหมายเวลา เพราะตรงจุดชมวิว รถเช่าคันเล็ก ๆ ที่ผมมีนั้นขึ้นไปไม่ได้ ต้องอาศัยรถชาวบ้านขึ้นไป 

ขึ้นกระบะไปเลาวูประตูสู่เวียงแหง ดื่มกาแฟกับคนกลับบ้านที่อยากพัฒนาบ้านเกิดให้ยั่งยืน

2 ชั่วโมงแห่งความตื่นเต้น

03.00 น. (12 ชั่วโมงก่อนบินกลับกรุงเทพฯ)

ผมตื่นขึ้นมาพร้อมความงัวเงียจากอาการที่นอนไปไม่ถึง 4 ชั่วโมง จัดแจงข้าวของเสร็จ ขับรถออกมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ตาม Google Maps ที่บอกระยะทางทั้งหมด 123 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า 

ในครึ่งแรกระยะทางไม่ได้อันตรายเท่าไหร่ ตัวถนนทางออกไปแม่ริมมีไฟตลอดสองข้างทาง แต่ช่วงที่ผ่านอำเภอเชียงดาวมานั้น เริ่มเป็นทางลาดชันขึ้นเขา บวกกับโค้งหักศอกที่ปกติขับช่วงกลางวันก็อันตรายอยู่แล้ว พอผมมาขับช่วงตี 4 – 5 แสงสว่างจุดเดียวที่มีคือไฟหน้ารถ ก็ทวีความน่ากลัวและอันตรายยิ่งขึ้นไปอีก ในขณะที่อะดรีนาลีนหลั่งออกมาจากความตื่นเต้น บวกความไม่คุ้นชินในถนนที่รถกำลังแล่นผ่านอยู่นั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ผมไม่คาดคิดว่าจะเจอ คือหมอกที่ลงมาปกคลุมถนนในช่วงที่รถกำลังไต่ระดับความสูงไปเรื่อย ๆ ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ย่ำแย่ขึ้นไปอีก จึงมีความคิดแล่นในหัวแวบหนึ่งว่า หรือขับรถกลับเชียงใหม่ดี แต่ด้วยระยะทางที่ขับมาแล้วค่อนข้างไกล เลยกัดฟันค่อย ๆ ขับไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดนัดหมาย

05.30 น. (ถึงจุดนัดหมาย)

หลังจาก Google Maps บอกว่าถึงจุดหมายเป็นที่เรียบร้อย ผมพยายามสังเกตบรรกาศรอบ ๆ ตัวในขณะที่ฟ้ายังไม่สว่าง ความรู้สึกแรกตอนลงจากรถมาคือ ‘กูโดนหลอกมาปะวะ’ ด้วยความที่มาถึงเช้ามาก ตัวหมู่บ้านเงียบมากและไร้ร่องรอยของสิ่งมีชีวิต เหมือนกับฉากในหนังที่พร้อมจะมีอะไรโผล่ออกมาได้ตลอดเวลา ผมพยายามเดินออกจากตัวรถเพื่อหาสัญญาณโทรศัพท์ที่จะใช้ติดต่อกับพี่ที่ผมติดต่อไว้เมื่อคืน พอกดเบอร์โทรศัพท์เพื่อโทรหาพี่เจ้าของร้านกาแฟ สิ่งที่เพิ่มความน่ากลัวให้กับบรรยากาศที่วังเวงอยู่แล้ว นั่นก็คือ

“ไม่มีเสียงตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก…” – สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมกลัวว่าจะเกิดที่สุด 

ถ้าติดต่อพี่คนนี้ไม่ได้ ผมก็ไม่รู้จะคุยกับใคร เพื่อพาผมขึ้นไปบนจุดชมวิวแล้ว ตอนนั้นผมพยายามตั้งสติแล้วพยายามเข้าไปในเฟซบุ๊กเพื่อหาเบอร์ร้านข้างเคียง ซึ่งผมไปเจอลานกางเต็นท์ข้าง ๆ ชื่อว่า Akipu Camping 

“สวัสดีครับ เจ้าของเพจ Akipu Camping ใช่มั้ยครับ สอบถามเรื่องนัดหมายนั่งรถไปดูพระอาทิตย์ขึ้นที่จุดชมวิวครับ”

“เอ่ออ อันนี้ได้จองไว้มั้ยครับ ปกติเราจะรับ-ส่งเฉพาะคนที่จองมาเท่านั้นนะครับ”

สารภาพเลยว่า ณ ตอนนั้นจากที่ง่วง ๆ งัวเงียอยู่ ผมตื่นทันทีที่รู้ว่าอาจจะขับรถมาฟรี ๆ 2 ชั่วโมงโดยไม่ได้ขึ้นไปที่จุดชมวิว หลังจากคุยกันสักพัก ผมดันโชคดี มีนักท่องเที่ยว 2 คนที่มาค้างที่นี่จะขึ้นไปที่จุดชมวิวอยู่แล้ว 

ผมเลยได้อานิสงส์ติดรถคันนี้ขึ้นไปด้วย

แสงแรกของวัน

หลังจากนั่งรถ 4×4 ของพี่เจ้าของ Akipu Camping ขึ้นมา ผ่านหมู่บ้านใช้เวลาประมาณ 10 นาที เราก็ถึงจุดชมวิวทันก่อนพระอาทิตย์ขึ้นพอดี ภาพที่ผมคิดไว้กับสิ่งที่เห็นนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง ด้วยความที่ผมหาข้อมูลมาว่ามีร้านกาแฟบนจุดชมวิวนี้ เลยคิดว่าจะมีร้านที่เป็นเพิงไม้บนนี้ แต่สิ่งที่ผมเห็นหลังกระโดดลงจากรถกระบะ เป็นแค่ลานโล่ง ๆ มีวิวทอดยาว นำสายตาเราไปที่ดอยหลวงเชียงดาว วิวของดอยหลวงเชียงดาวนั้นจริง ๆ มองเห็นได้ไกล ๆ จากแหล่งท่องเที่ยวหลายที่ เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้าผมก็เพิ่งไปม่อนแจ่มที่เห็นวิวดอยหลวงแบบลาง ๆ หรืออุทยานห้วยน้ำดังที่เป็นจุดชมวิวยอดฮิตระหว่างทางไปปาย แต่ผมกลับชอบที่นี่เอามาก ๆ ด้วยวิวที่มีภูเขาทอดยาวสลับกันไปมา เหมือนเป็นเส้นนำสายตาให้เรามองไปแค่พระเอกของที่นี่ ‘แนวเขาดอยหลวงเชียงดาว’ เท่านั้น

ดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ ‘เลาวู’ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีวิวดอยหลวงเชียงดาว และคุยกับคนกลับบ้านที่อยากเห็นบ้านเกิดเติบโตอย่างยั่งยืน

หลังจากที่สตั๊นอยู่กับวิวสักพัก ผมได้ยินเสียงเหมือนคนกำลังขนของมาจากด้านหลัง พอหันไปก็ถึงบางอ้อว่า ร้านกาแฟที่ชื่อว่า Klu mi coffee-กลึ มี กาแฟ เป็นเพียงแค่ร้านเล็ก ๆ มีเจ้าของชื่อว่า พี่แก้ว คอยขนอุปกรณ์ดริปกาแฟขึ้นรถกระบะเพื่อเปิดร้านทุกเช้า และเสิร์ฟเครื่องดื่มให้กับลูกค้าของร้านที่กำลังดื่มด่ำกับวิวตรงหน้า 

ดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ ‘เลาวู’ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีวิวดอยหลวงเชียงดาว และคุยกับคนกลับบ้านที่อยากเห็นบ้านเกิดเติบโตอย่างยั่งยืน

ปกติผมเป็นคนไม่ค่อยสันทัดเรื่องกาแฟสักเท่าไหร่ แต่เช้าวันนั้นความขมของกาแฟที่ได้ลอง บวกกับวิวที่อยู่ตรงหน้า เป็นอะไรที่หาไม่ได้ในชีวิตประจำวันของผมจริง ๆ และส่วนตัวผม การได้มาทำอะไรแบบนี้มันฮีลหรือเติมพลังได้จริง ๆ ถ้าผมมีหลอดพลังในการใช้ชีวิตของปี 2021 ที่ผ่านมา มันน่าจะลดเหลือขีดแดง ถ้าเป็นโทรศัพท์ก็คงจะขึ้นเตือนให้หาอะไรมาชาร์จมันซะ และการที่ผมได้มาที่นี่ ทำให้หลอดนั้นกลับมาเขียวอีกครั้ง พร้อมใช้งานสำหรับปี 2022 ต่อไป

ขึ้นกระบะไปเลาวูประตูสู่เวียงแหง ดื่มกาแฟกับคนกลับบ้านที่อยากพัฒนาบ้านเกิดให้ยั่งยืน

คลื่นลูกใหม่

“เมื่อวานไปพักที่ไหนมาครับ”

เสียงทักทายของผู้ชายที่เดินเข้ามาคุยกับผม ขณะกำลังชื่นชมกับวิวข้างหน้า ไม่รู้ด้วยความสมเพชที่เห็นผมมาคนเดียว หรือด้วยความสงสัยอยากรู้ว่า ไอเด็กที่โทรมาปลุกกูตอนตี 5 นี่เป็นใคร ผมก็ได้ตอบกลับไปว่า 

“ขับมาจากตัวเมืองเชียงใหม่เลยครับ”

นี่ก็คือจุดเริ่มต้นบทสนทนา ที่ทำให้ผมเบนความสนใจจากวิวภูเขาตรงหน้า มาฟังเรื่องเล่าจากผู้ชายแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

ผู้ชายคนนี้ชื่อ พี่วุฒิ เป็นเจ้าของที่พัก Akipu Camping และเป็นคนที่คอยผลักดันให้เลาวูกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่หลาย ๆ คนเห็นช่วงปีสองปีที่ผ่านมา พี่วุฒิเกิดที่หมู่บ้านแห่งนี้ พอโตขึ้นก็เข้าไปเรียนและอาศัยอยู่ในตัวเมือง เมื่อเรียนจบก็อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการค่อย ๆ สร้างคอนเทนต์โปรโมตจุดชมวิวแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และรู้สึกชื่นชมจากการสนทนากับพี่วุฒิคือ พี่เขาวางเป้าหมายอยากให้บ้านเกิดตัวเองเติบโตอย่างยั่งยืน ถ้าทุกคนเห็นรูปที่ผมถ่ายมา จุดชมวิวนี้ไม่มีสิ่งก่อสร้างจากมนุษย์เลย โดยปกติแล้วเวลาไปจุดชมวิวหรือสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ การมีเรื่องธุรกิจการท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะสร้างรายได้หรือมีเม็ดเงินเข้ามาก็จริง แต่ต้องแลกกับการต้องเสียความสวยงามของธรรมชาติบางส่วนไป 

สักพักพี่วุฒิควักโทรศัพท์ออกมาโชว์รูปแหล่งท่องเที่ยวและจุดชมวิวอื่น ๆ ที่อยู่ในเวียงแหงอีกมากมายที่พี่เขาไปมา หลายที่เป็นจุดที่คนไม่รู้ว่ามีอยู่ หรือทางเข้าไปค่อนข้างลำบาก ผมรู้สึกได้เลยว่าสิ่งที่พี่วุฒิทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามโปรโมตแหล่งท่องเที่ยว หรือการผลักดันให้คนในชุมชนหารายได้จากช่องทางอื่น ไม่ใช่แค่การทำเกษตร (อย่างพี่แก้วที่เป็นเจ้าของร้านกาแฟ ก็เป็นเด็กปั้นของพี่วุฒิ) จะทำให้อำเภอเวียงแหง เป็นสถานที่ที่คนรู้จักมากขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืนเหมือนที่เขาอยากให้เป็น

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะรู้ว่าผมมาเที่ยวคนเดียว

ถ้าใครที่ชอบเที่ยวคนเดียว ก็น่าจะโดนคำถามคล้าย ๆ กับผม

“ทำไมถึงชอบเที่ยวคนเดียว”

ผมมีความสุขกับการเที่ยวทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะกับเพื่อนหรือกับครอบครัว 

แค่ส่วนตัวแล้ว ผมว่าการเที่ยวคนเดียวมีเสน่ห์ตรงที่เพิ่มโอกาสให้เราได้ไปรู้จักกับอะไรใหม่ ๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นสถานที่หรือผู้คน ซึ่งเป็นอะไรที่เราแพลนหรือคาดเดาไม่ได้เหมือนกับที่นี่…

ดูพระอาทิตย์ขึ้นที่ ‘เลาวู’ หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่มีวิวดอยหลวงเชียงดาว และคุยกับคนกลับบ้านที่อยากเห็นบ้านเกิดเติบโตอย่างยั่งยืน

ผมมี 3 สิ่งที่จดจำได้เป็นอย่างดีจากเช้าวันนั้น

แสงแรกของวันที่แดดเคลื่อนออกจากเส้นขอบฟ้า

ความขมของกาแฟบนริมฝีปาก

และ…

แววตาของพี่วุฒิ ตอนเล่าถึงภาพฝันของบ้านเกิดตัวเอง

เช้าวันนั้นผมมีเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมงในสถานที่แห่งนี้ แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือความประทับใจและแรงบันดาลใจมากมายในการใช้ชีวิต ผมเชื่อเหลือเกินว่า เลาวูประตูสู่เวียงแหง ยังมีอะไรมากมายที่ผมยังไม่รู้ และรอผมกลับไปค้นหา

ไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ 🙂

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

กิตติพงษ์ จัตตุพรพงษ์

นักศึกษาปริญญาตรีที่ชอบออกไปหาความเขียวของธรรมชาติมาชุบชูจิตใจ และชอบหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเวลาฝนตก