“นกเค้าโมงตัวนี้ติดกาวดักหนู จนขนเสียหายยับเยินหมด น่าจะดิ้นรนไม่เบา ทำให้ขนหลายส่วนเกิดการเสียหายอย่างรุนแรง การฟื้นฟูนกให้กลับสู่ธรรมชาติได้มีหนทางเดียว คือต้องรอให้นกผลัดขนชุดใหม่หมด ซึ่งการผลัดขนของนกเค้าโมงจะใช้เวลาประมาณครึ่งปี นกก็จะเสียเวลาชีวิตในธรรมชาติเกินครึ่งปี แลกกับการติดกาวดักหนูเพียงไม่กี่ชั่วโมง”

คุณฌาน โทสินธิติ ทีมงานสำคัญของกลุ่มฟื้นฟูนกป่าล้านนา ให้ข้อมูลสำคัญว่าทำไมการใช้กาวดักหนู ทำให้เกิดปัญหาตามมาโดยไม่คาดคิด

กองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา กลุ่มคนตัวเล็กที่ช่วยให้นกบาดเจ็บนานาชนิดได้คืนสู่ธรรมชาติ

“เราขอรณรงค์ให้ใช้กรงดักหนูแทนกาว เนื่องจากสัตว์อื่น ๆ มากมายหลายชนิดที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวมีโอกาสติดด้วยกันทั้งนั้นไม่ต่างจากหนู ถ้าติดใหม่ ๆ ก็อาจจะโชคดี แต่ตัวโชคร้ายที่ตายคากับดักก็มีไม่น้อย”

แต่ละวัน ฌาน อาสาสมัครคนสำคัญของกองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา จะมีภารกิจคอยดูแลนกที่ได้รับบาดเจ็บหรือลูกนกที่พลัดตกจากรัง โดยมีสัตว์แพทย์อาสาสมัครมาคอยดูแลรักษาพยาบาล จนนกเหล่านี้อาการดีขึ้น ก่อนจะนำส่งกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน กลุ่มคนรักนกในจังหวัดเชียงใหม่ ได้รวมตัวกันเพื่อก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือนกป่าจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้ง ประสบอุบัติเหตุ หรือได้รับบาดเจ็บ นำมารักษาพยาบาล และฟื้นฟูจนแข็งแรง ก่อนจะนำกลับไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

เราอาจจะเห็นหน่วยงานเอกชนที่สงเคราะห์หมา แมว กำพร้าหรือถูกทอดทิ้ง แต่สำหรับนก ดูเหมือนจะยังไม่มีหน่วยงานเอกชนทำหน้าที่ช่วยเหลืออย่างชัดเจน

“ที่ผ่านมาเรามีคนแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือมาทางชมรมฯ ว่า มีนกตกรัง นกบาดเจ็บ นกโดนยิงมา จะทำอย่างไรดี หรือนำนกมาให้ทางชมรมฯ ฟื้นฟู เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา”

หมอหม่อง หรือ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ได้บอกถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา ก่อนจะพานำชมสถานฟื้นฟูนกป่าที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นสถานที่พักฟื้นฟูนกป่าที่ได้รับบาดเจ็บและทำการรักษาพยาบาลแล้ว

ภายในสถานที่มีกรงนกขนาดใหญ่หลายแห่ง ส่วนใหญ่ถูกคลุมมิดชิดเพื่อไม่ให้แสงเข้า ป้องกันการรบกวนจากด้านนอก คุณหมอพาชมนกหลายตัวที่กำลังพักฟื้น

กองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา กลุ่มคนตัวเล็กที่ช่วยให้นกบาดเจ็บนานาชนิดได้คืนสู่ธรรมชาติ

“นกกาเหว่าตัวนี้กระดูกต้นแขนหัก น้องฌานเอามารักษาจนหาย เคยเอาไปปล่อยครั้งหนึ่ง ตอนแรกนึกว่าจะบินได้ แต่ยังบินไม่ไม่ค่อยแข็งแรง ไปตกน้ำอีกรอบ จึงต้องมาพักรักษาตัวใหม่ รอให้อาการดีขึ้นกว่านี้”

หมอหม่องเล่าว่า ไม่ได้เลี้ยงแบบสวนสัตว์หรือเลี้ยงไว้ให้คนมาดู เลยต้องมีสแลนสีดำมาบังเพื่อไม่ให้นกตื่น และไม่ให้คุ้นเคยกับคนที่มาชม จะกลายเป็นนกเชื่อง เสียสัญชาตญาณสัตว์ป่า

คุณหมอพาเข้าไปในห้องมืดสลัวแห่งหนึ่ง พอนัยน์ตาปรับแสงให้เข้ากับความสว่างได้แล้ว ก็เห็นนกแสกตัวหนึ่งเกาะอยู่บนกิ่งไม้มุมห้อง เป็นห้องฟื้นฟูนกกลางคืน อาทิ นกแสกหรือนกเค้าที่ไม่ให้มีแสงสว่างรบกวนมากเกินไป

“คนทั่วไปยังมีความเข้าใจผิดว่า กลุ่มนกหากินกลางคืน โดยเฉพาะนกเค้า นกแสก เวลาเจอนกตกลงมา คนก็ชอบคิดว่าเพราะนกแพ้แสง ตาพร่าบอดกลางวัน เดี๋ยวกลางคืนบินก็ไปเอง ทำให้พลาดโอกาสช่วยนก และอาจจะปล่อยให้นกค่อย ๆ ตาย บางตัวอาจบาดเจ็บไม่รุนแรงก็โชคดีไปต่อได้ แต่หลายรายไม่ได้โชคดีเลย” ฌานให้ข้อมูลเพิ่มเติม

“นกแสกตัวนี้บาดเจ็บตั้งแต่เล็ก เลยวางแผนทำกรงพิเศษ เพื่อฝึกบินก่อนจะปล่อยออกไปหากินเอง นกแสกล่าโดยการบินเงียบ เพราะปีกจะมีขนอุยใต้ปีกเก็บเสียง เหยื่อเลยไม่ได้ยินเสียง เสียดายที่ชาวบ้านมีความเชื่อผิด ๆ ว่าเป็นนกแห่งความตาย เกาะบ้านใครมีคนตาย ทั้ง ๆ ที่กินหนูปีละเป็นพันตัว ทำประโยชน์ให้กับเรามากในการควบคุมประชากรหนู” หมอหม่องอธิบายให้ฟัง

“ครั้งหนึ่งมีคนเก็บนกเค้าโมงตัวหนึ่งอยู่บนกลางถนนในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง เลยเอามาส่งให้เรา พบแผลเลือดออกตรงปลายปีกสองข้าง เมื่อทำการเอกซเรย์ก็พบว่ากระดูกปลายปีกทั้งสองข้างนั้นมีรอยแตกหัก เนื่องจากกระดูกชิ้นเล็กมาก ๆ ฝังอุปกรณ์อะไรไม่ได้ทั้งนั้น เราทำได้คือการพันปีกไว้ไม่ให้ขยับ เพื่อให้เกิดการซ่อมที่ดีใกล้เคียงกับภาวะปกติมากที่สุด เวลาผ่านไปเกือบเดือน กระดูกมีการเชื่อมกันอย่างแข็งแรง และนกกลับมาบินได้อีกครั้ง ตอนนี้ย้ายไปอยู่กรงที่มีขนาดใหญ่กว่าให้ฝึกบินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะได้กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้งครับ” ฌานเล่าตัวอย่างชีวิตของนกกลางคืนที่ผ่านมาให้ฟัง

กองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา กลุ่มคนตัวเล็กที่ช่วยให้นกบาดเจ็บนานาชนิดได้คืนสู่ธรรมชาติ

“กองทุนฯ โชคดีมากที่มีน้องฌานเป็นอาสาสมัครเต็มเวลามาช่วย มีความสามารถในการดูแลนกได้เก่งมาก” หมอหม่องเอ่ยปากขอบคุณอาสาสมัครคนนี้ ผู้ทำงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยด้วยความรักที่มีต่อสัตว์โลก

ฌานเล่าให้ฟังอีกว่า กระจกใส ๆ บนอาคารสะท้อนภาพภูมิทัศน์รอบ ๆ กลายเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของนกบาดเจ็บไปแล้ว บางครั้งชนไม่แรงแค่บาดเจ็บ ไม่ตาย อาจจะแค่มึน ๆ แต่หลายตัวก็ต้องรักษา หรือคอยเฝ้าดูอาการสองสามวันก่อน เพราะบางตัวดูท่าทางปกติ แต่อาจจะค่อย ๆ ซึม แล้วตายไป สาเหตุอาจจะมาจากสมองที่โดนกระทบกระเทือน

“นกจาบคาเล็กตัวนี้ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองวันหลังจากชนกระจก กว่าที่จะกลับมาบินได้อย่างปกติ ไม่พิกลพิการ” ฌานให้ข้อมูล

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ฌาน โกสินธิติ เล่าเบื้องหลัง ‘กองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา’ การรวมตัวของเหล่าคนตัวเล็ก เพื่อพานกบาดเจ็บมารักษาก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

หมอหม่องกล่าวเสริมว่า “อาคารสูงปัจจุบัน นิยมออกแบบสถาปัตยกรรมแบบฝรั่ง โดยใช้กระจกฉาบปรอทติดรอบอาคาร โดยหารู้ไม่ว่าอาคารพวกนี้คือลานสังหารนกนับพันล้านตัวต่อปีทั่วโลก กระจกฉาบพวกนี้สะท้อนท้องฟ้า ทำให้หลอกตานกที่กำลังบินผ่านมา มันมองไม่เห็นตึกทั้งตึก จึงบินชนกระจกเข้าอย่างจังด้วยความเร็ว หลายตัวคอหักตายคาที่ หลายตัวพิการ กะโหลกร้าว เลือดออกในสมอง หรืออัมพาต เดินทางต่อไม่ได้ จบชีวิตในเวลาต่อมา แต่บางตัวโชคดี แค่ น็อก สลบ มึนงง”

“ปัญหาอีกอย่างที่นกบาดเจ็บก็คือ ถูกตาข่ายดักนกกลางทุ่งนา นกส่วนใหญ่ที่โดนตาข่ายดักไม่ได้เป็นศัตรูพืชมาติด จะค่อย ๆ ตายลงอย่างช้า ๆ บางตัวเอาออกจากตาข่ายได้ทันท่วงที ไม่ตายแต่อาจเสียปีก เสียอวัยวะส่วนอื่น ๆ “ ฌานยอมรับว่าหลายตัวช่วยไม่ทัน

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ฌาน โกสินธิติ เล่าเบื้องหลัง ‘กองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา’ การรวมตัวของเหล่าคนตัวเล็ก เพื่อพานกบาดเจ็บมารักษาก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

หมอหม่องพาเราไปดูกรงถัดมา เป็นนกกระลิง โดนตัดปีกไม่ให้บินได้ ชาวบ้านมาตัดปีกเพื่อไม่ให้บิน จะได้เอามาเกาะไหล่ไว้โชว์คนอื่น มีคนเอามาให้ฟื้นฟู จึงรอให้ขนปีกงอกเสียก่อน ค่อยปล่อยคืนตามธรรมชาติต่อไป

“กรงนี้เป็นนกกางเขนบ้าน นกตกจากรัง แต่เอาไปคืนรังไม่ได้ หารังไม่ได้ เลยต้องนำมาเลี้ยงให้แข็งแรง ก่อนจะปล่อยนกกางเขนบ้านกลับคืนสู่ธรรมชาติ“

หมอหม่องย้ำว่า เป้าหมายของการฟื้นฟูนกป่าเหล่านี้คือ เมื่อทำการรักษาพยาบาลจากสัตวแพทย์อาสาสมัครแล้ว การให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมในธรรมชาติ หากตัวไหนบาดเจ็บเกินไป ไม่สามารถกลับไปได้ ก็จะเป็นครูให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ต่อไป

“ที่ผ่านมาการเลี้ยงดูนกในกรงไม่มีประโยชน์ใด ๆ การคืนสู่ธรรมชาติ ปล่อยให้เขามีอิสระเสรีในการโบยบินดำรงชีวิตตามธรรมชาติ จะทำให้นกมีศักดิ์ศรีของตัวเองไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นบนโลกนี้”

ทุกวันนี้กองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนากับอาสาสมัครไม่กี่คน สามารถช่วยเหลือรักษาพยาบาลนกนานาชนิดที่ได้รับบาดเจ็บ อาทิ นกเขา นกกางเขน นกแขวก นกแสก นกเค้าแมว ฯลฯ รวมกันนับร้อยตัว ก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

น่าภูมิใจแทนคนตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ ทำหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อนสัตว์โลกด้วยกันอย่างเงียบ ๆ

คนตัวเล็ก ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่า โลกนี้มีความหวัง

นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ และ ฌาน โกสินธิติ เล่าเบื้องหลัง ‘กองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา’ การรวมตัวของเหล่าคนตัวเล็ก เพื่อพานกบาดเจ็บมารักษาก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

ภาพ : กองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา

สนใจช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา ติดต่อ Facebook : กองทุนฟื้นฟูนกป่าล้านนา

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว