7 มิถุนายน 2022
6 K

หากใครมีช่วงเวลาวัยเด็กที่ได้เติบโตในบ้านสวน หรือมีโอกาสเดินทางไปเห็นบ้านเรือนของผู้คนที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อม เชื่อว่าความรู้สึกของเราที่มีต่อคำว่า ‘สวน’ น่าจะมีรายละเอียดของความรู้สึก แตกต่างจากนิยามสวนแบบสมัยใหม่ที่เรารู้จักในกันปัจจุบัน 

คอลัมน์นี้เลยอยากจะชวนผู้อ่านสำรวจความหมายของคำว่า ‘สวน’ ผ่านสวนของผู้คนทางภาคเหนือ ที่เรียกว่า ‘สวนคนเมืองล้านนา’ ที่มีองค์ประกอบของสวนและพืชพรรณ เป็นสะพานเชื่อมผู้คนในวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ เข้ากับโครงข่ายทางนิเวศธรรมชาติและสังคมที่สลับซับซ้อน จนเกิดเป็นลักษณะร่วมที่น่ารัก งดงาม และนอบน้อมต่อธรรมชาติ

เรื่องราวและพืชพรรณของสวนคนเมืองล้านนาที่เลือกมา น่าจะให้แรงบันดาลใจของการฟื้นคืนธรรมชาติ (Rewilding) รูปแบบหนึ่ง ผ่านพื้นที่เล็ก ๆ หน้าบ้านที่เรามี เพราะถ้าเราเอาพื้นที่เล็ก ๆ เหล่านี้มาต่อกันเป็นจิ๊กซอว์ ไม่แน่ว่าสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ที่เรามีต่อชีวิตอื่น ๆ รอบตัวอาจจะเปลี่ยนไป 

‘สวนคนเมืองล้านนา’ พื้นที่เชื่อมคนกับป่า เหมือน ‘Satoyama’ ในหนัง Studio Ghibli

ใครที่ยังนึกไม่ออกว่าสวนแบบที่เรากำลังจะพูดถึงมีหน้าตาอย่างไร อยากให้ลองนึกถึงฉากชนบทหรือหมู่บ้านในหนังของ Studio Ghibli ขึ้นมาสักเรื่อง อย่าง My Neighbor Totoro ก็น่าจะพอทำให้จินตนาการได้ เพราะจิตวิญญาณของสวนและบรรยากาศของความสัมพันธ์ที่เราพูดถึงเป็นแบบนั้น

ในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า ‘Satoyama’ ที่ใช้เรียกภูมิทัศน์ระหว่างหมู่บ้านกับภูเขา คำว่า Sato หมายถึง หมู่บ้าน และ Yama หมายถึง ป่าหรือภูเขา โลกทัศน์ของ Satoyama จึงสะท้อนประกายชีวิตของการอยู่ร่วมกันระหว่างบ้านเรือนของผู้คนกับป่าและภูเขา มีองค์ประกอบของทุ่งนา บึงน้ำ สวนผลไม้ ต้นไม้พื้นบ้าน คลอง และลำเหมือง ที่มนุษย์ขุดขึ้น เพื่อผันน้ำที่ไหลจากภูเขาเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ป่าที่มนุษย์เข้าไปใช้ประโยชน์ และป่าศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่สถิตของทวยเทพ

Miyazaki Hayao นักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่นเจ้าของสำนัก Ghibli จึงมักใช้ฉากของ Satoyama สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ ผ่านการอยู่ร่วมกัน การใช้ประโยชน์จากกันและกันอย่างสอดคล้องและกลมกลืน ซึ่งสิ่งนี้ปรากฏผ่านวิถีชีวิตและวัตรปฏิบัติของผู้คนในสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถออกแบบได้ในกระดาษ โดยปราศจากมิติของฤดูกาล

หากเราลองวาดรูปตัดขวางของภูมิทัศน์ Landscape Transect แบบ Satoyama ตั้งแต่ภูเขาเรื่อยมาจนถึงภายในบ้านของผู้คน จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า องค์ประกอบต่าง ๆ ของภูมิทัศน์นั้นมีโยงใยหากัน ไม่ว่าจะเป็นลำคลอง ถนน บ่อน้ำ ที่เป็นทรัพยากรร่วมที่ถักทอปัจเจกบุคคลให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ยังเชื่อมโยงความหมายของธรรมชาติอย่างป่าเขา เข้ามาอยู่ในสวนภายในบ้านผ่านสัญญะและความหมายต่าง ๆ 

สวนคนเมืองล้านนาและภูมิทัศน์ของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขาในหลากหลายวัฒนธรรม ก็มีลักษณะไม่ต่างจาก Satoyama มากนัก เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียดของพืชพรรณแตกต่างกันตามลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศ 

ลมหายใจของสวนคนเมืองล้านนา 

ในโลกทัศน์ของคนล้านนาและน่าจะรวมถึงผู้คนในอดีต เวลาพูดถึงคำว่า ‘สวน’ มักจะเป็นที่ปลูกต้นไม้ยืนต้นที่ได้ใช้ประโยชน์และอยู่ถัดไปจากบริเวณบ้าน และคำว่า ‘สวน’ นี้ก็มีเซนส์ของการกระทำที่ต้องลงแรงและดูแล มากกว่านั่งชื่นชมความงามเพียงอย่างเดียว สวนจึงมีชีวิตและเติบโตไปพร้อมกับเจ้าของสวนบนวัฏจักรของฤดูกาล 

นอกจากสวนยังมีอีกคำคือ ‘โต้ง’ ซึ่งหมายถึงทุ่งนา ที่มีองค์ประกอบของ ผืนนา คันนา ลำเหมือง ฝาย บึงน้ำที่คนขุดไว้ หรือพื้นที่ปล่อยวัวควายในฤดูแล้ง รวมทั้ง ‘ป่าหอ’ (พื้นที่หย่อมป่ากลางทุ่งนาที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สงบและเย็น) แต่ละองค์ประกอบก็จะมีพืชพรรณตามระบบนิเวศย่อย ๆ ของตัวเอง ถัดไปจากพื้นที่นิเวศทุ่งนา ก็จะมีคำว่า ‘แพะ’ หรือ ‘ป่าแพะ’ หมายถึงพื้นที่ชายป่า ซึ่งส่วนใหญ่ของภาคเหนือเป็นนิเวศแบบป่าเต็งรัง ที่ผู้คนเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า เก็บเห็ด ยอดผัก และยาสมุนไพร เก็บฟืนและตัดไม้ไผ่มาใช้ในชีวิต 

ถัดขึ้นไปจากป่าแพะ ก็จะเรียกว่า ‘ห้วย’ หมายถึงป่าต้นน้ำ ที่เป็นแหล่งน้ำใช้สอยของหมู่บ้าน มีลำห้วยซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่าที่ใช้พื้นที่บางส่วนร่วมกันกับมนุษย์ ป่าประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ว่าจะโดยวิถีชุมชนหรือจากหน่วยงานของรัฐ ระบบนิเวศของ ‘ห้วย’ ‘แพะ ‘โต้ง’ ‘สวน’ เชื่อมกันด้วยเส้นทางเดิน ลำห้วยและโครงข่ายเหมืองฝาย จนเป็นเหมือนสะพานนิเวศขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงป่าธรรมชาติมาสู่บ้านที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คน รอยต่อระหว่างสวนกับความเป็นธรรมชาติจึงไม่ได้เป็นเส้นขอบเขตที่คมชัด หากแต่พร่าเลือนเหมือนเป็นพื้นที่ขอบ Edge ขนาดใหญ่

‘สวนคนเมืองล้านนา’ พื้นที่เชื่อมคนกับป่า เหมือน ‘Satoyama’ ในหนัง Studio Ghibli
‘เหมือง’ ระบบชลประทานของหมู่บ้านที่จัดการร่วมโดยชุมชน
‘สวนคนเมืองล้านนา’ พื้นที่เชื่อมคนกับป่า เหมือน ‘Satoyama’ ในหนัง Studio Ghibli
‘ป่าหอ’ หย่อมป่าศักดิ์สิทธิ์กลางทุ่งนา

ส่วนคำว่า ‘บ้าน’ ของคนเมืองล้านนา มีความหมายอยู่ 2 นัยยะ คือ พื้นที่ตั้งของหมู่บ้านที่ผู้คนปลูกบ้านและอยู่อาศัยร่วมกัน ซึ่งอาจจะมีพื้นที่สาธารณะร่วมกัน เช่น ลานกลางบ้าน วัด หอผีบรรพบุรุษ หรือใช้น้ำจากลำเหมืองร่วมกัน นับถือและศรัทธาบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน 

และอีกความหมายหนึ่ง คือบ้านที่เป็นหลัง ๆ ของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ที่รวมเอาพื้นที่ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ที่เรียกว่า ‘ข่วงบ้าน’ ที่เชื่อมองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ห้องน้ำ บ่อน้ำ เล้าสัตว์ ยุ้งฉาง รั้วบ้าน สวนครัว ให้เป็นพื้นที่ของการมีชีวิตที่สัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายใน 

นิยามของคำว่า ‘บ้าน’ มีสวนเป็นองค์ประกอบสำคัญ และมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งอื่น ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความหมาย ความรู้สึก หรือการมองเห็น เวลาเราเข้าไปในหมู่บ้านในท้องถิ่นสักแห่งหนึ่ง เราจึงสัมผัสได้ถึงความต่อเนื่องความกลมกลืนของบางสิ่งบางอย่าง ที่บอกไม่ได้ชัด ๆ แต่รู้ว่ามันมีอยู่ อาจจะเป็นสัดส่วนของอาคารและที่ว่าง ความสูงของรั้ว คุณภาพความเข้มอ่อนของแสงเงาที่ผ่านกิ่งใบของต้นไม้ รูปร่างของเส้นขอบฟ้า หรือแม้กระทั่งกลิ่นของสถานที่ และแน่นอนที่สุด คือลักษณะร่วมของต้นไม้และพืชพรรณ 

‘สวนคนเมืองล้านนา’ พื้นที่เชื่อมคนกับป่า เหมือน ‘Satoyama’ ในหนัง Studio Ghibli
‘ข่วงบ้าน’ ลานดินโล่ง ๆ ที่เชื่อมพื้นที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

‘ภูมิทัศน์’ หรือ ‘สวนแบบคนล้านนา’ จึงกินขอบเขตทางกายภาพของความรู้สึก ไกลเกินกว่ารั้วบ้านตามโฉนดที่ดินแบบที่เราคุ้นเคย เพราะพื้นที่ที่ถัดออกไปจากรั้วบ้านของเรา อยู่ในโลกทัศน์และสำนึกที่เราใช้อ่านภูมิทัศน์เพื่อกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของเรากับสภาพแวดล้อม เพื่อทำให้ภูมิทัศน์รอบตัวกลายเป็นพื้นที่ขอบของชีวิตที่รุ่มรวย ซึ่งเราจะใช้ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ผ่านการกิน การใช้ การชื่นชม หรือแม้แต่บูชา 

ในปัจจุบันสวนแบบคนล้านนาค่อย ๆ หายไปอย่างเงียบ ๆ แน่นอนว่าเราไม่อาจย้อนกลับไปสร้างสรรค์ภูมิทัศน์แบบนี้ที่ดูเป็นเหมือนภาพอุดมคติขึ้นมาใหม่ได้ เพราะวิถีวัฒนธรรมของเราได้เปลี่ยนไปจากเดิม และโครงสร้างเศรษฐกิจและการจัดการภูมิทัศน์ก็เป็นไปในเชิงปัจเจกมากกว่าร่วมหมู่เหมือนแต่ก่อน 

หากแต่คุณค่าของความเข้าใจเหล่านี้ อาจถูกปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับการมีชีวิตที่ดีของเราได้ในปัจจุบัน Ordinary of Good Life ทั้งชีวิตด้านในที่เราปรารถนาการเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น ชีวิตทางสังคมที่เรามีกับคนอื่น ๆ เพื่อนิยามความเป็นชุมชนและความรู้สึกร่วมในรูปแบบใหม่ ๆ ชีวิตทางกายภาพที่เราจะมีอาหารที่สะอาดและปลอดภัย และเติบโตบนผืนดินที่เราจะรักษาดูแล และชีวิตที่ดีคือการเห็นชีวิตอื่น ๆ ที่ร่วมใช้พื้นที่และดูแลโลกใบนี้ไปพร้อม ๆ กับเรา

พรรณไม้ 10 กลุ่มที่แนะนำนี้ เป็นแค่ส่วนน้อยในความหลากหลายที่เคยมีอยู่เดิม แต่ไม่มากก็น้อยอาจจะมีส่วนช่วยในการสร้างบรรยากาศ และความต่อเนื่องระหว่างชีวิตในบริบทใหม่ กับภูมิทัศน์ดั้งเดิมที่เราจะเข้าไปอยู่ร่วมอาศัย 

บางชนิดอาจจะช่วยปลุกความทรงจำในวัยเด็กของเรา หรือกลายเป็นความทรงจำใหม่ของลูกหลานที่จะประทับอยู่ในตัวเขา บางชนิดอาจจะให้ประโยชน์ใช้สอยที่เราจะค่อย ๆ เรียนรู้ เพื่อฟื้นคืนทักษะพื้นฐานของชีวิต เช่น การทำอาหาร การหยิบจับมาดูแลตัวเอง หรือชื่นชมความงามของธรรมชาติใกล้ตัว 

เชื่อว่าเรื่องราวของพรรณไม้และสวนแบบนี้ จะเปิดบทสนทนาให้เราค้นหาความหมายใหม่ ๆ ของสวน ได้รื้อค้นความทรงจำของความสัมพันธ์ของเรากับสวนและพืชพรรณต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้เราได้กลับมาเชื่อมโยงกับสวนในมิติที่ลึกซึ้งกว่าเดิม 

พรรณไม้บ้าน ๆ ของสวนแบบล้านนาที่น่าปลูก

1. หมากเมือง (หมากสง)

‘สวนคนเมืองล้านนา’ พื้นที่เชื่อมคนกับป่า เหมือน ‘Satoyama’ ในหนัง Studio Ghibli

สมัยนี้ผู้คนอาจจะไม่ได้เคี้ยวหมากเหมือนเมื่อก่อน แต่การปลูกหมากเป็นดงหรือเป็นแนวก็ช่วยสร้างบรรยากาศของเส้นขอบฟ้าที่ให้ความรู้สึกของความเป็นพื้นถิ่น นอกจากนั้น หมากยังใช้พื้นที่น้อยในการปลูก ช่วยยึดแนวดินบริเวณที่ชื้นแฉะอย่างร่องน้ำได้ดีมาก ๆ รากหมากช่วยกรองน้ำให้ใส ตามหมู่บ้านชอบปลูกรอบบ่อน้ำเพื่อรักษาระดับน้ำใต้ดิน และที่สำคัญคือ เวลาที่หมากออกดอกนั้นจะหอมเย็นมาก ๆ เป็นความหอมแบบพิเศษที่เราไม่รู้แหล่งที่มา เพราะช่อดอกหมากจะอยู่สูงเกินกว่าระดับที่สายตาจะเห็น

2. อูนบ้าน

‘สวนคนเมืองล้านนา’ พื้นที่เชื่อมคนกับป่า เหมือน ‘Satoyama’ ในหนัง Studio Ghibli

ต้นอูนบ้านเริ่มค่อย ๆ หายไปจากภูมิทัศน์ท้องถิ่นแล้ว อาจจะเพราะว่าในอดีตเราไม่จำเป็นต้องปลูก เมล็ดของอูนจะลอยมาตามลำเหมือง และขึ้นเองตรงริมตลิ่งบ้าง ริมบ่อน้ำในที่ชื้น ๆ บ้าง พวงดอกของอูนบ้านสีขาวสวย ตัดกับใบสีเขียว เห็นแล้วชื่นตาเย็นใจ พูดว่าอูนบ้านใครหลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า อูนบ้าน คือ Elderflower หลายคนอาจจะร้องอ๋อ เพราะอาจจะเคยกินแยม Elderflower หรือ น้ำ Elderflower Soda 

อูนบ้านกับอูนป่าเป็นคนละต้น แต่ดอกคล้าย ๆ กัน ส่วนใหญ่อูนป่าจะพบได้ในป่าดิบอยู่ตามลำห้วย อูนป่านั้นพิเศษตรงที่มีดอกที่หอมเย็นมาก ๆ แต่ผลกินไม่ได้เหมือนอูนบ้าน ถ้าใครหามาปลูกด้วยกันได้น่าจะดีทีเดียว ได้ทั้งกินและกลิ่นไปพร้อมกัน 

3. ซอมพอ (หางนกยูงไทย)

‘สวนคนเมืองล้านนา’ พื้นที่เชื่อมคนกับป่า เหมือน ‘Satoyama’ ในหนัง Studio Ghibli

เวลานึกถึงบรรยากาศบ้านพื้นถิ่นภาคเหนือ คนส่วนใหญ่มักจะเห็นภาพต้นนี้เป็นภาพแรก ๆ ไม้พุ่มกลาง ดอกสีสดตัดกับผนังไม้สีน้ำตาล ซอมพอนั้นให้ดอกสวยและมีหลายสี ส้ม ชมพู และเหลือง ต้นซอมพอปลูกง่าย โตเร็ว นอกจากจะเห็นเป็นต้น ๆ แล้ว เรายังเห็นดอกซอมพออยู่ในสวยดอกที่ใช้ในพิธีทางศาสนา คนล้านนาเลยชอบปลูกซอมพอตรงมุมบันได ตรงรั้วบ้าน เพราะใช้ได้ในหลายโอกาส ภาพที่น่ารักที่สุดคือช่อดอกซอมพอที่ปักแทนปิ่น บนมวยผมยาวที่เกล้ามัดบนหัวของผู้หญิงล้านนา ไม่ว่าสาวแก่แม่เฒ่ายังไงก็งดงาม  

4. ฉัตรสวรรค์

‘สวนคนเมืองล้านนา’ พื้นที่เชื่อมคนกับป่า เหมือน ‘Satoyama’ ในหนัง Studio Ghibli

เรามักจะเห็นฉัตรสวรรค์ขึ้นตามชายป่า ด้วยช่อดอกตั้งทรงฉัตรที่ค่อย ๆ ซ้อนชั้น มีทั้งสีส้ม สีขาว และช่อดอกทนนาน ทำให้ฉัตรสวรรค์โดดเด่นมาก ๆ ฉัตรสวรรค์ยังดึงดูดผีเสื้อหลากหลายชนิด เหมาะที่จะปลูกผสมผสานไปกับต้นไม้อื่น ๆ ใต้ร่มไม้ใหญ่ เพราะเวลาโตกิ่งจะยืดขึ้น ช่วยให้พื้นที่ไม้พุ่มเตี้ยที่ชอบแดดรำไรได้มีพื้นที่ปลูกในระดับล่างได้ ฉัตรสวรรค์ยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรอีกเยอะเลย ซึ่งเราเองก็ยังไม่เคยได้ทดลองใช้ หากใครเคยใช้เขียนมาบอกเล่าแบ่งปันกันได้ 

5. รั้วมะขาม

10 พรรณไม้พื้นบ้านล้านนา ที่เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างคนกับ สวน-นา-ป่า-บ้าน

รั้วของคนยุคก่อนอาจไม่จำเป็นต้องก่อสร้างด้วยโครงสร้างที่แข็งแรงมาก ๆ อย่างในปัจจุบัน รั้วจึงมีเพียงเพื่อบอกอาณาเขตและป้องกันคนและสัตว์เข้าพื้นที่ และพอให้ลมถ่ายเทไหลเวียนได้ รั้วมะขามเป็นรั้วแบบหนึ่งที่นิยมไม่แพ้รั้วต้นข่อย แต่ที่น่าสนใจกว่ารั้วของต้นข่อยคือรั้วมะขามนั้นกินได้ ในภาคเหนือจึงมีเมนูยำยอดมะขามที่เด็ดได้จากรั้วมาตำกับแคบหมู พริกแห้ง หอมแดง น้ำปลา มะนาว รั้วมะขามปลูกจากเมล็ดมะขามพันธุ์ไหนก็ได้ ทั้งมะขามหวานและมะขามเปรี้ยว เอามาหยอดในหลุมเรียงกันเป็นแถวห่างสักคืบ พอโตขึ้นก็ตัดแต่งเรื่อย ๆ ให้เป็นรั้ว จะได้รั้วสีเขียวดูนุ่มนวลกว่ารั้วไทรเกาหลีหรือชาฮกเกี้ยนแน่นอน 

6. เอื้องหมายนาและดอกอาว (กระเจียว)

ทั้งเอื้องหมายนาและดอกอาว (ภาคกลางเรียกว่ากระเจียว) เป็นพืชในตระกูลขิงข่าที่ขึ้นตามชายป่า ชายทุ่งที่ชื้นแฉะ เรามักจะเห็นเอื้องหมายนาปลูกคู่กับกระเจียวในสวนหลังบ้าน แทรกกับพวกขิง ข่า ขมิ้น และตาเหิน (มหาหงส์) น่าจะเพราะว่าเอื้องหมายนา ต้นสูงกว่าเลยให้ร่มเงากับดอกอาวได้ดี จึงมักปลูกคู่กัน เอื้องหมายนาพันธุ์ไทยแท้ดอกมีสีขาวช่อฐานดอกสีแดงงามโดดเด่น ส่วนดอกอาวนั้นกินกับน้ำพริกได้ ทั้งคู่จะงามช่วงฤดูฝน ช่วงที่ทั้งสองต้นนี้ออกดอก สวนจะให้อารมณ์ของป่าฝนเขตร้อนได้ดี

7. นางแย้ม

10 พรรณไม้พื้นบ้านล้านนา ที่เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างคนกับ สวน-นา-ป่า-บ้าน

นางแย้มเป็นไม้พื้นบ้านอีกชนิดที่ให้อารมณ์สวนคนเมือง ดอกนางแย้มนั้นหอมเย็นกลิ่นคล้ายมะลิ เหมาะกับการปลูกใกล้บ้านตรงที่มีหน้าต่าง ช่อดอกทนนานคล้ายไฮเดรนเยีย แต่ดูแลง่ายกว่ามาก ๆ จึงเหมาะตัดเอามาใส่แจกัน ว่ากันว่าดอกนางแย้มที่ตัดออกมาจากต้นแล้วจะไม่หอมเหมือนอยู่กับต้น จริงไม่จริงอย่างไรลองหามาปลูกและพิสูจน์เอา 

8. งา

10 พรรณไม้พื้นบ้านล้านนา ที่เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างคนกับ สวน-นา-ป่า-บ้าน

งาเป็นพืชล้มลุกอายุสั้น นอกจากปลูกในไร่ผสมไปกับข้าว ชาวบ้านภาคเหนือบางส่วนยังปลูกผสมในสวนเล็ก ๆ หน้าบ้าน โดยปลูกช่วงปลายฝนเพื่อเก็บเกี่ยวช่วงฤดูหนาว เพราะจะใช้งาในการทำอาหารและขนมต่าง ๆ เก็บเป็นน้ำมันงาเอาไว้กินกับทั้งทาเป็นยา เพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกายช่วงฤดูหนาว งาปลูกง่ายมาก ๆ และดอกสีขาวเล็ก ๆ ก็สวยเมื่อแทรกอยู่กับดอกไม้อื่นๆ 

9. ฝ้าย

10 พรรณไม้พื้นบ้านล้านนา ที่เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างคนกับ สวน-นา-ป่า-บ้าน

ฝ้ายเป็นต้นไม้อีกชนิดที่ปลูกง่าย และดอกฝ้ายก็สวยไม่แพ้ดอกไม้ป่าชนิดอื่น ๆ เพราะดอกจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีไปตามช่วงแดด ต้นฝ้ายเป็นไม้พุ่มระดับกลาง เหมาะกับการปลูกเป็นแนวรั้วแทรกกับต้นอื่น ๆ เพราะมีอายุหลายปี คนในอดีตปลูกฝ้ายไว้ใช้ทอผ้า หรือฝั้นฝ้ายเพื่อทำด้ายสายสิญจน์มัดข้อมือให้ลูกหลานในวันสำคัญ ในสมัยนี้เราอาจจะมีเสื้อผ้าจากระบบอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องทอเองกับมือ แต่การปลูกฝ้ายทิ้ง ๆ ไว้บ้าง อาจเป็นประโยชน์กับนกที่เขาจะเก็บปุยฝ้ายไปรองในรังเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับลูกน้อย 

10. ว่านต่าง ๆ ที่ให้ดอก เช่น ว่านสี่ทิศ ว่านแสงอาทิตย์ ว่านมหาบัว ว่านมหาลาภ

10 พรรณไม้พื้นบ้านล้านนา ที่เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างคนกับ สวน-นา-ป่า-บ้าน
ว่านสี่ทิศ
10 พรรณไม้พื้นบ้านล้านนา ที่เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างคนกับ สวน-นา-ป่า-บ้าน
ว่านแสงอาทิตย์
10 พรรณไม้พื้นบ้านล้านนา ที่เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างคนกับ สวน-นา-ป่า-บ้าน
ว่านมหาบัว
10 พรรณไม้พื้นบ้านล้านนา ที่เชื่อมสัมพันธภาพระหว่างคนกับ สวน-นา-ป่า-บ้าน
ว่านมหาลาภ

ช่วงตั้งแต่ปลายฤดูร้อนต่อต้นฤดูฝน เป็นช่วงเวลาที่ร้อนอบอ้าวที่สุดของปี พอฝนห่าแรกลง เราจะเห็นว่านเหล่านี้ทั้งโผล่พ้นดินขึ้นมา หรือเปล่งช่อดอกตูมโดดเด่นในระดับพื้นที่ดิน ว่านเหล่านี้เป็นเหมือนคำสัญญาของสายฝน ความทรงจำของเรากับฤดูฝนมักจะมีพืชเหล่านี้อยู่ในฉากของบรรยากาศ ดอกของว่านเหล่านี้สวยมาก ๆ คนที่สนใจศาสตร์การจัดแจกันดอกไม้ขอแนะนำเลย

Writer & Photographer

Avatar

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding