1 กุมภาพันธ์ 2023
5 K

ภาษาจีนวันละคำวันนี้ ขอเสนอคำว่า หลงจู้ (廊主) แปลว่า ผู้จัดการ

ถึงแม้คนไทยจะเรียกเพี้ยนวรรณยุกต์เป็น ‘หลงจู๊’ แต่การใช้งานยังคงเดิม คือไว้เรียกผู้จัดการดูแลธุรกิจหรือโรงงานของชาวจีน

และเป็นคำที่ชาวบ้านร้านถิ่นในละแวกบางโพใช้เรียกแทนชื่อจริงของ อ่าง-ชาญสิทธิ์ มีอุดมศักดิ์ ชายสูงวัยเชื้อสายจีนไหหลำที่อยู่เบื้องหลังงานเลื่อยไม้สักของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง มานานหลายสิบปี จนเป็นสัญลักษณ์ประจำโรงเลื่อยไม้เก่าแก่แห่งนี้ก็ว่าได้

หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ อ่าง-ชาญสิทธิ์ มีอุดมศักดิ์

“เขาทำมาตั้งแต่เรียนจบ อายุมากกว่าผม ด้วยความที่เป็นญาติกัน เขาก็มาเรียนรู้จากเถ้าแก่รุ่นแรก เป็นคนตีหน้าไม้เอง เลื่อยไม้เอง” เก่ง-ดุสิต เสนาภู่พิทักษ์ เจ้าของโรงเลื่อยจักร์ไท้เชียงคนปัจจุบันกล่าวถึงญาติผู้พี่ของตนด้วยความเคารพ ก่อนพาเราไปทัศนาจรในอาณาจักรไม้ซุงของเขา

บางโพเป็นชื่อย่านหนึ่งในเขตบางซื่อ พิกัดที่แน่ชัดคือบริเวณจุดตัดระหว่างถนนประชาราษฎร์สาย 1 กับประชาราษฎร์สาย 2 อันเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘สี่แยกบางโพ’ โดยถนนสายแรกนี้ตัดขนานไปกับแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลลงมาจากภาคเหนือ เป็นเส้นทางลำเลียงไม้ซุงจากหัวเมืองเหนือลงมากรุงเทพฯ ช้านาน

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ

ว่ากันว่าชาวจีนไหหลำมีความชำนาญในการประกอบอาชีพอยู่ 3 – 4 อย่าง ถ้าไม่ขายอาหารหรือทำการโรงแรม ก็จะทำโรงไม้และโรงเลื่อย ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปากน้ำโพ นครสวรรค์ อุทัยธานี ปทุมธานี นนทบุรี จนเข้าเขตกรุงเทพมหานครที่บางโพ ไปถึงสามเสน บางรัก จึงถูกจับจองโดยกลุ่มชาวจีนไหหลำผู้สันทัดช่ำชองด้านการค้าไม้และแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ

ทว่าโรงเลื่อยไม้ส่วนใหญ่ในย่านบางโพไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นที่นี่เป็นครั้งแรก หากย้ายมาจากแถววัดสระเกศราชวรวิหาร ละแวกคลองมหานาค คลองรอบกรุง และคลองผดุงกรุงเกษม ที่เป็นถิ่นการค้าไม้ของชาวจีนมาตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 3 ถึงรัชกาลที่ 4 สาเหตุหลักที่ต้องย้ายออกมาก็เพราะเขตเมืองชั้นในเริ่มคับแคบ เต็มไปด้วยมลภาวะ ผู้ประกอบการโรงเลื่อยจึงต้องแสวงหาย่านใหม่ในการดำเนินกิจการของตน บางโพซึ่งจัดว่าอยู่ชานเมืองจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียงก็เป็นหนึ่งในนั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ

“เริ่มแรกเราไม่ได้อยู่ตรงนี้ อยู่แถววัดคอกหมู (วัดสิตาราม) ช่วงแถวซอยตรงข้ามวัดสระเกศ ด้วยเมืองพัฒนาและเติบโตขึ้น หลวงไม่อนุญาตให้ขนไม้ซุงผ่านคลองมหานาค ทำให้การขนส่งวัตถุดิบยากลำบาก ก็เปลี่ยนมาใช้รถจอหนังขนไม้ซุงเข้าไป แล้วสักระยะหนึ่งก็ไม่ให้รถผ่านเข้าไปในเขตเมือง ต้องออกมานอกเมือง เล็งเห็นว่าทำเลตรงนี้สะดวกในการขนวัตถุดิบ โรงเลื่อยไม้ส่วนมากเลยย้ายมาบางโพ”

ด้านหลังไม้สักแปรรูปที่ตั้งสุมกันเป็นภูเขาเลากา เสียงคมเลื่อยเสียดสีเนื้อไม้ดังขึ้นทุกขณะจิต เราหยีตาป้องกันฝุ่นไม้ที่ฟุ้งตลบ เท้าก้าวไปตามพื้นโรงงานที่ปกคลุมด้วยเศษไม้หนาเตอะราวผืนทรายบนชายหาด พลันสายตาก็สะดุดเข้ากับชายร่างเล็กที่กำลังสั่งงานลูกน้องอย่างแข็งขันบนท่อนซุง

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ

หลงจู๊อ่างรับไหว้ผู้มาใหม่ แล้วโดดลงจากซุงที่ยืนอยู่ด้วยท่าทางที่คล่องแคล่วเกินคนวัยเดียวกัน

“ชื่อ ชาญสิทธิ์ มีอุดมศักดิ์ นี่เปลี่ยนเอง ตั้งเอง” ถ้อยคำแนะนำตัวภาษาไทยที่ติดสำเนียงไหหลำหน่อย ๆ ฟ้องว่าชื่อเกิดของเขาต้องเป็นภาษาจีนเป็นแน่ 

“ตอนนี้อายุ 69 ย่าง 70 ปี กุมภาพันธ์ 2566 นี่ก็จะครบ 70 แล้ว”

ไท้เชียง ก่อตั้งขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของ ไต้ถ่ง แซ่ผู่ ชาวจีนโพ้นทะเลผู้ทิ้งบ้านเกิดบนเกาะไหหลำมาแสวงโชคที่เมืองไทย นอกจากท่านผู้นี้จะเป็นคนบุกเบิกกิจการโรงเลื่อยของครอบครัวแล้ว นายไต้ถ่งยังส่งต่อวิชาการเลื่อยไม้สู่หลงจู๊อ่าง หลานลุงผู้เอาการเอางานด้วย

“นายไต้ถ่งเป็นพี่ชายของแม่ผม ผมเรียก ‘เบ๊เด’ แปลว่า ลุงฝั่งแม่” หลงจู๊ลำดับศักดิ์ให้เราฟัง 

“ตัวผมเกิดที่ศาลาแดง ตอนอายุ 15 เรียนชั้น มศ. 3 ที่เทคโนโลยีสหะพาณิชย์ เขตบางรัก เมื่อก่อนผมไม่ค่อยอยู่บ้าน แม่เลยเอามาอยู่กับเบ๊เด วันธรรมดาเรียนหนังสือ พอวันพฤหัสได้หยุด ผมก็มาช่วยงานเบ๊เด สมัยก่อนจะมีไม้ส่งออก ตีหน้าไม้โปรดักส์เข้าประเทศไทย ผมก็มาช่วยทำส่งออก”

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ

สินค้าหลักของโรงเลื่อยแห่งนี้คือไม้กระดาน คนงานที่นี่ต้องเลื่อยซุงไม้สักท่อนใหญ่ ๆ แปรรูปเป็นไม้กระดาน เพื่อขายให้กับร้านค้าไม้แปรรูปและผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งหลาย ไปจนถึงคิ้วบัว

ช่วงที่เป็นวัยรุ่น ถึงจะเป็นหลานเถ้าแก่คนแรก แต่เด็กใหม่อย่างอ่างไม่มีสิทธิ์เลือกงานที่อยากทำ เขาต้องทำทุกอย่างตามที่ผู้เป็นลุงหรือคนอื่นสั่ง ใครเรียกใช้งานอะไรก็ต้องทำ

“แต่ก่อนก็ต้องตีหน้าไม้ส่งออก มันจะมีแผ่น แล้วคอยวัดไม้ เช็กไม้ดูว่าสวยหรือไม่สวย แล้วก็ต้องจำ พอคนไหนขาดลูกน้อง เราก็จะไปช่วยทำทุกอย่าง ต้องได้ทุกหน้าที่ครับ”

ในช่วงการฝึกงานของเขา อ่างจำได้ดีทีเดียวว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือการตีหน้าไม้

“การตีหน้าไม้ คือการแปรรูปจากซุงขึ้นมา เราต้องรู้ว่าซุงต้นนี้สวยไม่สวย แล้วต้องใช้ความจำ จำว่าเมื่อไหร่จะถึงรูถึงตา ใกล้ไส้เราต้องรู้ ต้องเนี้ยบพอดี เพราะไม้สักมันเลื่อยยาก ไม่เหมือนไม้เบญจพรรณ ไม้เบญจพรรณไม่ค่อยมีรูมีตา เขาเลื่อยยังไงก็ได้ แต่ไม้สักต้องเป๊ะ แล้วต้องดูสภาพป่าด้วย

“ในโรงเลื่อยต้องทำหน้าที่หลายอย่าง อย่างผมต้องแปรรูปไม้ ยกซุงขึ้นมาแล้วตัด นั่งดูว่าลูกค้าต้องการขนาดไหน เราก็ตัดขนาดนั้นแล้วเลื่อยเอา ถ้าไม้มันงอก็ต้องตัดให้มันพอดี”

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ

ขั้นตอนการเลื่อยซุงสมัยก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก ผู้มากประสบการณ์เล่าด้วยสีหน้าที่บอกว่ายังไม่ลืมความเสียวไส้ เมื่อนึกถึงอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงานของเขา

“สมัยก่อนลำบากนะ เวลาจะเลื่อยไม้ เราต้องใช้เลื่อยวงเดือน เป็นเลื่อยกลม ๆ มันอันตรายนะ ถ้าบางคนทำไม่เป็น มันตีไส้แตกเลย แต่เลื่อยวงเดือนนี่ไม่เท่าไหร่ เคยโดนเหมือนกัน สมัยนี้ปลอดภัยกว่าสมัยก่อนเยอะ สมัยก่อนถ้าไม่ป้องกันแย่เลย เคยมีลูกน้องนิ้วขาด”

แม้จะต้องทำงานท่ามกลางเสียงดังแสบแก้วหูของเลื่อยจักร ความเหน็ดเหนื่อยที่ต้องปีนขึ้นปีนลงทั้งวัน ตลอดจนความอันตรายที่อาจได้รับจากใบเลื่อย แต่อ่างก็ยังรักงานนี้ยิ่งชีวิต

“ไม่เคยกังวลเลย สนุกดี ยิ่งวัดไม้ส่งออกยิ่งสนุก วันหนึ่งเหงื่อออกน่าดูเลย เล่นขนกันเป็นคันรถ วันหนึ่ง ๆ ทำทั้งวัน วัดไม้ส่งออกไปเมืองนอกดีมาก สมัยก่อนทำงานสนุก ไม่เครียด ได้ออกแรง เมื่อก่อนนี้ขายดี เมืองนอกใช้เยอะ เขาเอาไม้สักเราไปทำเรือยอชต์ เพราะไม้สักมันทน โดนน้ำเกลือไม่เป็นไร”

ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียง หลงจู๊อ่าง ผู้ควบคุมการเลื่อยไม้สักมานานกว่า 5 ทศวรรษในโรงเลื่อยแห่งท้าย ๆ ของบางโพ

เพราะความสนุกนี่กระมังที่ทำให้อ่างไม่เคยคิดจากโรงเลื่อยของเบ๊เดไปไหน แม้ตัวเขาจะจบ มศ. 3 ไปต่อช่างกลมาแล้ว ก็ยังเลือกที่จะทำงานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับโรงเลื่อยต่อไป จนกระทั่งเขามีอายุได้ 30 ปีเศษ หลงจู๊คนเก่าอำลาโรง เขาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลงจู๊คนใหม่

แล้วเมื่อ ไต้ถ่ง แซ่ผู่ หมดอายุขัย งานเลื่อยของที่นี่จึงตกอยู่ในการดูแลของหลงจู๊อ่าง

“สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานโรงเลื่อยคือความจำ ต้องมีคนสอน ไม่มีคนสอนก็ทำไม่ได้ คนจะเป็นหลงจู๊นี่สำคัญที่สุดคือเราต้องรู้ไม้ ไม้ต้นนี้สวยหรือไม่สวย เมื่อไหร่จะถึงไส้ถึงรู ลูกค้าต้องการขนาดไหน ต้องเลือก” ผู้จัดการกล่าวและอวดเนื้อไม้ซุงท่อนล่าสุดที่กำลังเลื่อยด้วยความเสียดาย “เห็นต้นนี้ไหมครับ ไม้มันโพรงมากเพราะหนอนไช แบบนี้ลงทุนมาเป็นแสนก็ขาดทุนหมด”

หลงจู๊อ่าง อดีตเด็กหนุ่มที่ถูกลุงเรียกมาช่วยงานในโรงเลื่อยไม้ สู่ผู้จัดการโรงเลื่อยวัยชราที่ยังสนุกกับการทำงานทุกวัน

ในขั้นตอนการเลื่อยซุงทุกต้น หลงจู๊สำทับว่า สมาธิเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องมี

“เราเลื่อยมาเราต้องรู้ด้วยว่าเราเลื่อยตรงไม่ตรง เราต้องใช้ความคิดเราเอง เราทำทุกอย่าง ใช้สมองเกิดจากสมาธิ ใช้สมาธิช่วยได้เยอะ เพราะผมสวดมนต์ การสวดมนต์ทำให้จิตใจเราดี ทำให้งานเราไม่เครียด มีประโยชน์มาก เพราะสมัยเราอายุน้อย ๆ เราต้องใช้ การสวดมนต์ช่วยได้ทุกอย่าง”

หลงจู๊อ่าง อดีตเด็กหนุ่มที่ถูกลุงเรียกมาช่วยงานในโรงเลื่อยไม้ สู่ผู้จัดการโรงเลื่อยวัยชราที่ยังสนุกกับการทำงานทุกวัน

การทำงานของหลงจู๊และทุกคนในที่นี้กินเวลาถึง 6 วันต่อสัปดาห์ เริ่ม 8.00 นาฬิกา และเลิก 17.00 นาฬิกา ลูกน้องคนอื่นอาจมีทั้งที่พักอยู่ในรั้วโรงเลื่อยนี้ และมีบ้านพักอยู่ด้านนอก แต่หลงจู๊กินนอนอยู่ที่นี่ ยึดโรงเลื่อยเป็นบ้านของตนเอง

“พักอยู่ที่เลย โรงงานเป็นเหมือนบ้าน เฝ้าโรงงานให้เขา”

ทุกวัน หลงจู๊อ่างจะนุ่งกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเพื่อง่ายต่อการปีนป่ายขึ้นบนกองซุงและเครื่องจักร นำสำลีมาอุดรูหูเพื่อป้องกันเสียงดังระหว่างเลื่อย รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยเพื่อกรองฝุ่นและเศษไม้

“บางทีใช้เสียงก็ไม่ได้ เพราะเสียงมันดัง ต้องตะโกนแข่งกับเลื่อยสายพาน” เขาว่า แล้วชูนิ้วมือส่งสัญญาณให้คนงานแผนกคุมเครื่องจักรทำตามข้อตกลงร่วมกัน “ต้องใช้มือแบบนี้ ดูง่ายกว่า”

ในขณะที่ลูกจ้างคนงานในโรงเลื่อยแห่งอื่นอาจมีแรงงานต่างด้าว ชาวประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้แรงงานบ้าง แต่คนงานที่ไท้เชียงทุกคนเป็นคนไทย โดยมากมาจากต่างจังหวัด ทุกคนที่เป็นลูกมือในการแปรรูปไม้กระดานอยู่ในตอนนี้ล้วนผ่านการถ่ายทอดวิชาจากหลงจู๊อ่างมาแล้วทั้งสิ้น

หลงจู๊อ่าง อดีตเด็กหนุ่มที่ถูกลุงเรียกมาช่วยงานในโรงเลื่อยไม้ สู่ผู้จัดการโรงเลื่อยวัยชราที่ยังสนุกกับการทำงานทุกวัน
หลงจู๊อ่าง อดีตเด็กหนุ่มที่ถูกลุงเรียกมาช่วยงานในโรงเลื่อยไม้ สู่ผู้จัดการโรงเลื่อยวัยชราที่ยังสนุกกับการทำงานทุกวัน

“เราต้องสอนเขา เขาต้องหัดมาจากตัดไม้บ้าง ซอยไม้บ้าง”

แต่เมื่อถูกถามว่าจะมีใครที่หน่วยก้านดี มีแววขึ้นมาสืบต่องานหลงจู๊ได้บ้าง หลงจู๊คนปัจจุบันก็ส่ายหน้าแล้วตอบอย่างไม่ต้องคิดว่า

“หายาก ไม่มีคนทำ เพราะปัญหาคือหลงจู๊โรงเลื่อยต้องชำนาญเรื่องไม้ ต้องหัดตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าไม้มันสวยไหม หมดยุคผมก็คงหมดแล้ว ไม่มีใครสืบ นอกจากตามต่างจังหวัดที่เขาผ่าเหมือนกัน พวกไม้สวนป่า ไม้เล็ก ๆ มันเลื่อยง่าย ไม่แข็งไม่ทนแบบไม้สัก”

หลงจู๊อ่าง อดีตเด็กหนุ่มที่ถูกลุงเรียกมาช่วยงานในโรงเลื่อยไม้ สู่ผู้จัดการโรงเลื่อยวัยชราที่ยังสนุกกับการทำงานทุกวัน

จากข้อมูลของ ‘โกเก่ง’ ญาติผู้น้องของหลงจู๊อ่าง โรงเลื่อยที่ยังเหลืออยู่เพียง 4 – 5 แห่งในย่านบางโพต้องประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน ได้แก่ การขาดแคลนวัตถุดิบและตลาดที่ต้องการสินค้า เพราะหลังจากการปิดป่า ห้ามตัดไม้ในภาคเหนือเมื่อ พ.ศ. 2532 เจ้าของโรงเลื่อยต้องหันไปซื้อไม้ซุงจากต่างประเทศเข้ามาเลื่อยแทน อย่างที่ไท้เชียงก็ได้จากการประมูลสัมปทานไม้สักในเมียนมา ขณะที่คนรุ่นใหม่มองว่าไม้สักเป็นของโบราณล้าสมัย หันไปใช้วัสดุชนิดอื่น ๆ ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ก่อสร้างแทน

งานที่โรงเลื่อยจึงลดฮวบฮาบจากสมัยที่หลงจู๊อ่างเพิ่งขึ้นรับตำแหน่งหลงจู๊ใหม่ ๆ มาก จากเคยมีงานเลื่อยทุกวัน บางวันต้องเลื่อยไม้กันจนดึกดื่น ได้ส่งออกไม้แปรรูปไปยังต่างประเทศ กลายเป็นเลื่อยเฉพาะเมื่อมีออร์เดอร์จากลูกค้า บางวันก็ไม่ต้องเลื่อยซุง แต่แปรรูปทำเครื่องเรือนหรือพื้นบ้านแทน

แต่นั่นไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่เลื่อยไม้มาตั้งแต่วัยฉกรรจ์ยันวัยชรา เพราะเขาพร้อมทำงานทุกชิ้นด้วยพละกำลังที่ยังเหลือแหล่ แม้ไม่รู้ว่าจะทำต่อไปอีกนานเท่าไรก็ตาม

หลงจู๊อ่าง อดีตเด็กหนุ่มที่ถูกลุงเรียกมาช่วยงานในโรงเลื่อยไม้ สู่ผู้จัดการโรงเลื่อยวัยชราที่ยังสนุกกับการทำงานทุกวัน

“สนุกและท้าทายดี ยังมีความสุข งานหลงจู๊ไม่มีใครทำ หายาก เราจะสอนคนก็สอนไม่ได้ ไม่มีใครหัด เคยสอนลูกน้อง ลูกน้องมันใช้ไม่ได้ มันไม่เก่ง เพราะเขาไม่เข้าใจหลักการ สอนแล้วก็ไม่จำ แต่สอนแล้วไม่ไหว คนงานต้องเชิญออก เหลือแต่เราอย่างเดียว” หลงจู๊อ่างหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

ถึงจะไม่มีคนมาสืบสานงานของเขา แต่เขาก็ยินดีที่จะถ่ายทอดข้อมูลความรู้ที่ตนเองมีให้กับเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเหล่านักศึกษาที่มักจะแวะเวียนมาขอความรู้ที่โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียงอยู่เนือง ๆ

“ทำจนกว่าจะไม่ไหวนั่นแหละ ตำแหน่งนี้ไม่ได้ก็มาทำตำแหน่งเบา ๆ ทำกันไปจนตาย ถ้าเราแข็งแรงก็ทำได้ตลอด เราอาศัยสวดมนต์ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เพราะเรารู้หมดทุกอย่าง ร่างกายแข็งแรง เดี๋ยวนี้ต้องทำเองหมด เราออกกำลังจะได้แข็งแรง แต่อย่าเครียดเท่านั้น เครียดทุกอย่างก็เสร็จหมด”

หลงจู๊อ่าง อดีตเด็กหนุ่มที่ถูกลุงเรียกมาช่วยงานในโรงเลื่อยไม้ สู่ผู้จัดการโรงเลื่อยวัยชราที่ยังสนุกกับการทำงานทุกวัน
หลงจู๊อ่าง อดีตเด็กหนุ่มที่ถูกลุงเรียกมาช่วยงานในโรงเลื่อยไม้ สู่ผู้จัดการโรงเลื่อยวัยชราที่ยังสนุกกับการทำงานทุกวัน

วันที่ 4 – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ในช่วงสัปดาห์ Bangkok Design Week 2023 โรงเลื่อยจักร์ไท้เชียงเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม The Tour of Wood ทริปที่จะพาผู้เข้าร่วมไปรู้จักไม้ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ไปพบกับ หลงจู๊อ่าง-ชาญสิทธิ์ มีอุดมศักดิ์ ตัวจริงเสียงจริงได้ในทัวร์นี้ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟซบุ๊ก Bangphowoodstreet หรือเว็บไซต์ Bangphowoodstreet.com

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ