8 พฤศจิกายน 2019
18 K

The Cloud x ไทยประกันชีวิต

แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

เป็นเวลา 15 ปีแล้ว นับจากเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบ เริ่มปะทุขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อ พ.ศ. 2547

ตอนนั้น ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ กำลังเดินทางท่องหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ไกลแสนไกลจากเมืองไทย อุทิศตัวเพื่อคิดค้นและผลิตยาต้านเชื้อไวรัส HIV ในราคาที่คนยากไร้เข้าถึงได้ จนได้รับสมญานามและการยกย่องไปทั่วโลกว่า ‘เภสัชกรยิปซี’ 

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์

พ.ศ. 2551 เธอเดินทางกลับมายังประเทศไทย พร้อมความตั้งใจเต็มเปี่ยมว่าจะนำความรู้ความชำนาญด้านยา มาช่วยแก้ปัญหาสังคม เพราะในท้องถิ่นห่างไกล พื้นที่หลายแห่งขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องมือเยียวยารักษา ความเป็นความตายของผู้คนอยู่ใกล้กันแค่เอื้อม

พื้นที่ทุรกันดารที่ความเจริญยังเข้าไม่ถึงว่ายากแล้วในการเข้าไปช่วยเหลือ แต่เธอเดินทางไปไกลกว่านั้น สู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้าง ‘ลังกาสุกะโมเดล’ 

โครงการผลิตยาสมุนไพรด้วยผลผลิตจากไร่เกษตรกรท้องถิ่น ที่การปลูกพืชผลเพื่อการค้าขายชะงักไปหลังพื้นที่เกิดความไม่สงบขึ้น ยาสมุนไพรทั้งหมดผลิตโดยเภสัชกรท้องถิ่นและชาวบ้านที่ได้องค์ความรู้จากการเดินทางลงไปสอนนับครั้งไม่ถ้วน ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ของ ดร.กฤษณา ในพื้นที่สีแดงที่ใครๆ ต่างหลีกเลี่ยง 

ลังกาสุกะโมเดล โครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ของเภสัชกรยิปซีผู้แก้ปัญหาสังคมด้วยยาสมุนไพร

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่เขตสามจังหวัดชายแดนใต้ ปลูกสมุนไพรอินทรีย์ในสวนเล็กๆ ข้างบ้าน ทุกวันนี้พวกเขามียาสมุนไพรในรายชื่อทะเบียนยาใช้กันอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ผลิตในโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ด้วยฝีมือและความสามารถที่ได้รับการฝึกฝนของคนท้องถิ่นที่ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพและสร้างงานสร้างอาชีพไปพร้อมกัน

และนี่คือเรื่องราวเล็กๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมยิ่งใหญ่ ณ พื้นที่ปลายสุดด้ามขวานไทย ที่ยังคงเต็มไปด้วยความหวังและความดีงาม

01

เภสัชกรยิปซี

ดร.กฤษณา คือผู้เริ่มการวิจัยยาต้านเชื้อไวรัส HIV ในประเทศไทย โดยประสบความสำเร็จในการผลิตยาสามัญ Zidovudine (AZT) ที่เรียกกันว่า ‘ยาเอดส์’ ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ในช่วงที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ใน พ.ศ. 2538

ต่อมาเธอคิดค้น GPO-VIR ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อไวรัส HIV ที่รวมยา 3 ชนิดไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้ป่วยลดการกินยาจากวันละ 6 เม็ด เหลือเพียง 2 เม็ด ลดค่าใช้จ่ายจากราคาหลักหมื่นเป็นหลักพันบาท ทำให้ ผู้ติดเชื้อ HIV เข้าถึงการยาต้านเชื้อไวรัส HIV ได้มากขึ้น 

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์

ในขณะที่การเข้าถึงยาในประเทศไทยช่วยเยียวยารักษาผู้ติดเชื้อ HIV ในอีกซีกหนึ่งของโลกที่ทวีปแอฟริกา มีผู้ติดเชื้อ HIV ในขณะนั้นอยู่ถึง 30 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนยากไร้ที่ไม่สามารถเข้าถึงยาและการรักษา ดร.กฤษณา จึงตัดสินใจเดินทางสู่ประเทศคองโก เพื่อคิดค้นสูตรยาต้านเชื้อไวรัส HIV ด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนและประสบผลสำเร็จในการผลิตยา afri-vir ราคาถูกที่ช่วยชีวิตผู้คนนับล้านทั่วทวีปแอฟริกา

“ดิฉันเดินทางไปคนเดียว พบเจอประสบการณ์ที่เกือบต้องแลกด้วยชีวิตหลายครั้ง แต่ไม่ได้กลัวหรือเปลี่ยนความตั้งใจ มีเพื่อนและลูกมือเป็นคนท้องถิ่น แม่บ้าน คนขับรถ เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นใครดิฉันก็สอนทำยามาแล้ว ก็ล้มลุกคลุกคลานไปพร้อมกับชาวบ้านนั่นแหละ” 

02

ชายแดนใต้ในความทรงจำ

หลังบรรลุภารกิจที่ทวีปแอฟริกา ดร.กฤษณา เดินทางกลับมายังประเทศไทยพร้อมความตั้งใจเต็มเปี่ยมว่าจะกลับมาช่วยเหลือคนด้อยโอกาสทางสังคม

“โครงการที่ตั้งใจกลับมาทำจะเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงยาและสาธารณสุขของคนชายขอบในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ตะเข็บชายแดนทั้งทางภาคตะวันออก-ตก ไปจนถึงผู้ติดยาเสพติดที่ยังไม่ได้เข้ารับการบำบัด รวมถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ลังกาสุกะโมเดล โครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ของเภสัชกรยิปซีผู้แก้ปัญหาสังคมด้วยยาสมุนไพร

“เมื่อหกสิบปีที่แล้ว ตอนยังเล็ก พ่อดิฉันเป็นนายแพทย์ ได้ย้ายไปประจำการอยู่ที่ตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ดิฉันจึงมีโอกาสได้ติดตามไปด้วย ภาพความทรงจำวัยเด็กพื้นที่บริเวณนี้สงบสุขมาก เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความกดดัน สูญเสีย ขาดโอกาส และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่”

ความไม่สงบทำให้ไม่มีใครอยากลงไปช่วยเหลือประชาชน แม้จะมีความต้องการยาและการรักษาไม่ต่างจากพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ 

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์

พื้นที่บริเวณคาบสมุทรมลายูนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ สมุนไพรนานาชนิด ก่อนจะไปทำงานอยู่ที่แอฟริกา “ดิฉันเคยผลิตยาสมุนไพรหกสิบสี่รายการตามมาตรฐานสำเร็จมาแล้ว คิดว่าถ้าใช้ความชำนาญด้านการคิดค้นยาของตัวเองมาผนวกกับทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ น่าจะขยายเครือข่ายการเข้าถึงสาธารณสุข พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและสร้างความเข้มแข็งสู่สามจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยการผลิตยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้”

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของลังกาสุกะโมเดล 

03

เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

“ชาวบ้านกลุ่มแรกที่ได้เจอตอนลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อสำรวจและเก็บข้อมูลคือชาวชุมชนชุมชนโคกเคียน อำเภอเมืองฯ จังหวัดนราธิวาส เป็นมุสลิมทั้งหมดประมาณห้าสิบคน ดิฉันก็เอาภาพสมุนไพรขึ้นจอ และค่อยๆ อธิบายว่าดิฉันชำนาญเรื่องการทำยาจากสมุนไพรท้องถิ่น และมาที่นี่เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยาราคาถูกที่ผลิตขึ้นเองได้ 

“เชื่อไหมว่าสามชั่วโมงที่เล่าไป เขาฟังดิฉันไม่เข้าใจเลยสักนิดเดียว เพราะคนที่นี่เขาไม่ได้พูดภาษาไทย เขาพูดภาษายาวีกัน” ดร.กฤษณา เล่าพร้อมรอยยิ้ม

เรื่องภาษาคืออุปสรรคใหญ่ เมื่อสื่อสารกันไม่ได้ก็ยากจะทำความเข้าใจถึงประเด็นที่กำลังจะต้องร่วมกันผลักดัน ยิ่งเป็นประเด็นยากๆ อย่างวิทยาศาสตร์และเภสัชยศาสตร์ด้วยแล้ว แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย 

ลังกาสุกะโมเดล โครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ของเภสัชกรยิปซีผู้แก้ปัญหาสังคมด้วยยาสมุนไพร

ก่อนจะไปถึงการพัฒนาและผลิตยาจากสมุนไทรท้องถิ่น ดร.กฤษณา ต้องแก้ปัญหาใหญ่นี้ให้ได้ก่อน เธอจึงร่วมจัดทำคู่มือสมุนไพรในสามจังหวัดชายแดนใต้ฉบับภาษายาวี ร่วมกับคณะเภสัชกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านได้ศึกษาและทราบถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มี

“หนังสือคือสะพานๆ แรกที่เชื่อมเราเข้ากับชุมชน เมื่อเราเข้าใจตรงกัน ความสัมพันธ์เป็นปึกแผ่นแข็งแรงดีแล้ว จะเชื่อมสะพานอื่นๆ ต่อไปก็ทำได้ไม่ยาก

ลังกาสุกะโมเดล โครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ของเภสัชกรยิปซีผู้แก้ปัญหาสังคมด้วยยาสมุนไพร

“จากตอนแรกชาวบ้านมีความระแวงสงสัย ไม่เข้าใจ และไม่เชื่อถือ เพราะที่ผ่านมาเวลามีคนลงไปช่วยที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนใหญ่ไปแค่ปีเดียว สิ้นสุดปีงบประมาณก็กลับ แต่ลังกาสุกะดำเนินโครงการมากว่าสิบปีจนถึงทุกวันนี้ เขาก็ถามนะว่าทำไมอาจารย์ยังอยู่ ดิฉันเลยตอบไปว่างานยังไม่เสร็จ ดิฉันทำโครงการช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืนตามหลักของรัชกาลที่เก้า คือเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

“ชาวบ้านต้องรู้วิธีจับปลา ถ้าแค่ลงมาช่วยด้วยการให้ปลาเป็นตัวๆ เมื่อกลับไปชาวบ้านก็ไม่มีปลาเหมือนกัน แบบนั้นไม่ถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ลังกาสุกะโมเดลและภารกิจของดิฉันจะถือว่าสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อตั้งแต่ต้นน้ำที่แปลงปลูกสมุนไพร สู่การผลิต แจกจำหน่าย ใช้ยาเพื่อเยียวยารักษา จนถึงปลายน้ำที่ยาสมุนไพรเหล่านั้นทำกำไรเพียงพอที่จะนำมาเป็นต้นทุนในการผลิตซ้ำ ดำเนินการอย่างสมบูรณ์และยั่งยืนได้โดยชาวบ้าน”

04

ต่อยอดสมุนไพรไทยใส่แคปซูล

สามจังหวัดชายแดนใต้ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาบูโด ทำให้ในดินมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็งอกเงยโดยเฉพาะพืชผักสมุนไพร “การผลิตยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประกอบไปด้วยสามขั้นตอนหลัก หนึ่งคือ การปลูกสมุนไพร สองคือ การแปรรูปเป็นยา และสามคือ การแจกจำหน่ายเพื่อนำไปใช้งาน” ดร.กฤษณา อธิบาย

“การส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นทั้งอาหารและยาได้ ถือเป็นการช่วยเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน และชุมชน ให้พึ่งพาตัวเองได้ในด้านสาธารณสุขมูลฐาน ทั้งยังเป็นการรักษาความรู้ ถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านพืชสมุนไพรท้องถิ่น รวมถึงสร้างอาชีพและรายได้ เพราะเรารับซื้อผลผลิตจากชาวบ้านด้วยราคาเป็นธรรม เพื่อนำไปผลิตเป็นยาสมุนไพรต่อ

ลังกาสุกะโมเดล โครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ของเภสัชกรยิปซีผู้แก้ปัญหาสังคมด้วยยาสมุนไพร
ลังกาสุกะโมเดล โครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ของเภสัชกรยิปซีผู้แก้ปัญหาสังคมด้วยยาสมุนไพร

“ความท้าทายคือยาสมุนไพรของลังกาสุกะโมเดลจะต้องเป็นยาที่เทียบเท่ามาตรฐานสากล แจกก็มีคนอยากได้ จำหน่ายก็ต้องมีคนพร้อมซื้อ เพราะเป็นยาดีราคาถูก ดังนั้น การผลิตยาต้องได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) หรือข้อกำหนด ระเบียนแบบแผน วิธีปฏิบัติที่นำมาใช้ในการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งรวมถึงสถานที่ผลิต อุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ พูดง่ายๆ คือทุกอย่าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ยาสมุนไพรไทย”

ลังกาสุกะโมเดล โครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ของเภสัชกรยิปซีผู้แก้ปัญหาสังคมด้วยยาสมุนไพร

ดร.กฤษณา อธิบายต่อพร้อมรอยยิ้ม “เวลาพูดว่าลังกาสุกะโมเดลมีโรงงานยาสมุนไพรที่ได้มาตรฐาน GMP อื้อฮือ คนจะคิดภาพเป็นโรงงานใหญ่โต จริงๆ ดิฉันไปขอความร่วมมือจากโรงพยาบาลในพื้นที่ เจียดพื้นที่เล็กๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาปรับปรุงเป็นห้องทำยา โรงงานแห่งแรกของลังกาสุกะโมเดลรีโนเวตจากห้องพักทันตแพทย์ เพราะเล็กใหญ่ไม่สำคัญ สำคัญคือ ต้องได้มาตรฐาน”

05

โรงงานแปรรูปสมุนไพรติดล้อ

จากต้นน้ำ ลังกาสุกะโมเดลช่วยให้เกษตรกรในท้องถิ่นผลิต เก็บเกี่ยว สู่กลางน้ำคือการแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรเป็นยาที่ได้มาตรฐานสากล ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรไทย โดยนำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัยไปสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม 

“ขั้นตอนการแปรรูปสมุนไพรเป็นยา ดิฉันถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมยาให้แก่เภสัชกรท้องถิ่น ชาวบ้านและเกษตรกร รู้ไหมว่าเขาภูมิใจมากนะ กับการมีองค์ความรู้ในการทำยา ได้ใส่เสื้อแล็บ ชาวบ้านบางคนไม่ได้จบปริญญา ก็ถือโอกาสนี้ถ่ายรูปใส่เสื้อแล็บไปติดฝาบ้านเลยก็มี” ดร.กฤษณา บอกยิ้มๆ พร้อมเล่าต่อว่า

“ปริมาณสารสำคัญคือหัวใจของยาสมุนไพรไทย ชาวบ้านจะขายขมิ้นชันได้ในราคากิโลกรัมละสิบสองหรือยี่สิบห้าบาท ขึ้นอยู่กับปริมาณสารสำคัญที่อยู่ในขมิ้นชันแต่ละเหง้า เพื่อเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาที่เป็นธรรมและเท่าเทียมให้กับเกษตรกรแต่ละราย ทั้งยังเป็นการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบด้วย”

ลังกาสุกะโมเดล โครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ของเภสัชกรยิปซีผู้แก้ปัญหาสังคมด้วยยาสมุนไพร

ล่าสุด ดร.กฤษณา ออกแบบโรงแปรรูปยาเคลื่อนที่ โดยติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้แปรรูปยาสมุนไทรทั้งหมด บนรถหกล้อ น้ำหนักรวม 20 ตัน ที่จะขับตระเวนรับผลผลิตจากชาวบ้านตามพื้นที่ต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความเสี่ยงและความลำบากในการเดินทางมายังโรงงานของชาวบ้าน รวมถึงช่วยเรื่องการควบคุมคุณภาพความสดใหม่ของวัถุดิบจากแปลงปลูก

“เมื่อชาวบ้านขุดขมิ้นชันขึ้นจากดินและนำมาส่งขึ้นรถแปรรูป ขั้นตอนการแปรรูปแรกจะเริ่มต้นขึ้นทันที เริ่มจากการล้างทำความสะอาดขมิ้นชัน ด้วยเครื่องล้างอัตโนมัติที่ใช้แปรงแข็งนำดินและสิ่งแปลกปลอมออก ใช้เวลาห้านาทีเป็นอันเสร็จขั้นตอนนี้

ลังกาสุกะโมเดล โครงการในพื้นที่ชายแดนใต้ของเภสัชกรยิปซีผู้แก้ปัญหาสังคมด้วยยาสมุนไพร

“จากนั้นนำไปต้มเพื่อฆ่าเชื้อ และทำให้แป้งที่อยู่ในขมิ้นชันสุกทั่ว ไม่มีเชื้อรา นำออกมาหั่น ตากให้แห้ง นำเข้าเตาอบและเตาไมโครเวฟที่ดัดแปลงด้วยการติดพัดลมด้านข้าง เพื่อทำให้ขมิ้นชันแห้งสนิท ใช้เวลาสี่สิบนาที จะได้ขมิ้นชันที่แห้งกรอบ นำไปบดหยาบ-บดละเอียด ก็จะได้ออกมาเป็นผงขมิ้นชันที่แพ็กใส่ถุง เตรียมนำไปเข้ากระบวนการทำเป็นยาแคปซูลหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่โรงงานต่อไป

“เพราะขมิ้นชันที่ถูกขุดจากดิน กว่าชาวบ้านจะเดินทางมาส่งที่โรงงานใช้เวลาหลายวัน เชื้อราก็เริ่มเกิด ไม่ใช่เฉพาะขมิ้นชันแต่สมุนไพรทุกชนิดที่เรานำมาใช้แปรรูปเป็นยาสมุนไพร ถ้าเก็บไว้นานจะทำให้วัตถุดิบสูญเสียคุณภาพไป”

06

เชื่อมความแตกต่างเป็นหนึ่งเดียว

ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เข้าถึงยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุขในราคาที่เข้าถึงได้ บางส่วนสร้างรายได้เสริมด้วยการปลูกสมุนไพรในสวนเล็กๆ หลังบ้าน บางส่วนสร้างอาชีพใหม่เป็นพนักงานผลิตยาจากองค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับ

บนความแตกต่างของเขตแดน เชื้อชาติ ศาสนา ลังกาสุกะโมเดลเริ่มต้นปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเข้มแข็งให้ชุมชน ด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างความภาคภูมิใจ และสิทธิ์ในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ

“ดิฉันเป็นเภสัชกร แต่ไม่เคยสร้างกรอบให้ตัวเองว่าจะต้องทำยาเท่านั้น นอกเหนือจากอาชีพ เราทุกคนมีหน้าที่ของมนุษย์ที่พึงกระทำ นั่นคือการช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ อาศัยวิชาชีพความรู้ความเชี่ยวชาญของตัวเองมาสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น สังคมของเราจะดีงามและขยับขยายการพัฒนาออกไปได้อย่างไม่สิ้นสุด” ดร.กฤษณา กล่าวทิ้งท้าย

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน