The Cloud X ไทยประกันชีวิต

สำหรับคุณแล้ว การเกษียณอายุคืออะไร แล้วเคยคิดเอาไว้บ้างไหมว่าช่วงบั้นปลายชีวิตนั้น อยากจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน 

สำหรับชาวต่างชาติบางคน คำตอบนั้นคือบั้นปลายที่สงบสุขในประเทศไทย และมีคนคนหนึ่งกำลังทำให้ความฝันของพวกเขาเป็นจริง ที่บ้านนาแพง ตำบลบ้านดู่ อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

ระยะเวลาเกือบ 10 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านเพื่อชาวต่างชาติที่อยากมาใช้ชีวิตวัยเกษียณ ลาณี เยเกอร์ บอกกับเราว่าการสร้างที่นี่ขึ้นมาได้ไม่ง่ายเลย “ตอนแรกๆ ที่เรามาทำ ชาวบ้านเขาก็ไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร เขาก็นึกว่าเราจะมาเปิดบาร์ แล้วหาเมียให้ฝรั่งหรือเปล่า พอสร้างเสร็จเขาก็บอกว่ามันจะไปรอดหรอ คำพูดนี้บั่นทอนเรามาก” แต่เธอไม่ฟังและยังคงดำเนินกิจการต่อไปอย่างไม่ลดละ 

ไม่เพียงแต่เธอจะสร้างความสุขเพื่อชาวต่างชาติเกษียณวัยเท่านั้น เธอเองยังได้สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ตั้งแต่ช่างก่อสร้าง รวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ทำงานอยู่ภายใต้ลาณี เร้สซิเดนซ์ ล้วนแล้วแต่เป็นคนในชุมชนโดยทั้งสิ้น

มาถึงตอนนี้เธอก็ยังคงทำบ้านพักเพื่อดูแลคุณตาคุณยายอยู่ และเธอยังไม่มีแผนเกษียณวัยตัวเธอเองในเร็ววันนี้ “ถึงแม้ว่าตอนนี้พี่จะอายุห้าสิบสามนะ แต่พี่ยังไม่คิดหรอกว่าจะเกษียณเมื่อไหร่ เพราะดูอย่างแม่พี่ แกอายุเจ็ดสิบห้าแล้ว แต่แกก็ยังแข็งแรงอยู่ พี่ก็น่าจะยังทำตรงนี้ไหวนะ เพราะฉะนั้น พี่ก็จะยังทำมันต่อไปเรื่อยๆ”

01

Lanee’s beginning

เพราะสิ่งที่เธอทำน่าสนใจมาก เราจึงขอให้ลาณีเล่าถึงชีวิตของเธอตั้งแต่จุดเริ่มต้นให้เราฟัง แล้วเราก็ได้รู้ว่าชีวิตของเธอเองก็น่าสนใจไม่แพ้กัน 

“พี่เกิดอยู่ที่นาแพง จังหวัดบุรีรัมย์ ชีวิตพี่ก็เหมือนเด็กทั่วไปคนหนึ่ง แต่อาจจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น ตรงที่พ่อพี่เขาไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบีย ตั้งแต่พี่ยังเล็กๆ พ่อก็เลยมีกำลังจะส่งลูกๆ ทั้งสี่คนไปเรียนดีๆ พี่เป็นลูกคนโต แล้วก็มีน้องอีกสามคน เป็นน้องชายสองคน แล้วก็น้องสาวอีกหนึ่งคน พอพ่อไปอยู่ที่นู่นได้เจ็ดแปดปี เขาก็กลับมาซื้อรถโดยสารวิ่งระหว่างอำเภอบ้านพี่ที่บุรีรัมย์ไปจังหวัดขอนแก่น แต่พอตอนหลังมามันมีปัญหา คือเวลาเด็กไปทัศนาจรกัน เขาก็จะจ้างเอารถพี่พาเด็กไป แล้วเด็กชอบขึ้นไปนั่งบนหลังคารถ ปรากฏว่าเด็กเขาตกรถลงมาเสียชีวิต เข้าปีที่สองก็มีเด็กเสียชีวิตอีกสองคน ทีนี้พ่อพี่ก็เลยล้มละลายหมดตัว เพราะต้องนำเงินไปช่วยเหลือครอบครัวของเด็กๆ ทีนี้พอดีพี่ก็ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนต่อแล้วก็ทำงานในกรุงเทพฯ แต่ช่วงนั้นมันวิกฤตสำหรับเรามากๆ เหมือนกัน เพราะครอบครัวเราก็ลำบาก

“ตอนเรียน Shipping เราก็ต้องไปทำงานที่ท่าเรือ ตอนนั้นเองพี่ก็ได้เจอกับสามี เพราะเขามาทำงานอยู่ที่ไทย แถวท่าเรือนั้นพอดี” และแล้วเรื่องราวความรักของเธอเกิดขึ้น เพราะสายเลือดนักซิ่งที่ได้รับมาจากคุณพ่อ พาให้ทั้งคู่ได้มาพบกัน “พี่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์มาก แล้วปกติพี่ก็จะขี่ชอปเปอร์ไปทำงาน ทีนี้สามีพี่เองเขาก็ชอบขี่มอเตอร์ไซค์ พอเขาเห็นมอเตอร์ไซค์พี่ เขาก็สนใจว่า เอ๊ะนี่รถใครนะ ดูไปดูมาเขาก็เห็นเรา” เธอเล่าอย่างออกรส 

“พี่ขี่มอเตอร์ไซค์มาตั้งแต่เด็ก เพราะสมัยก่อนพ่อเขาชอบ จอห์น อิสรัมย์ เขาชอบกางผ้าแล้วขับมอไซค์ยกล้อ ทีนี้พ่อพี่เขาก็อยากเอาบ้าง เขาเลยซื้อมอเตอร์ไซค์วิบากมา แล้วเอาผ้าขาวม้าผูกพี่กับน้องไว้ แล้วก็ออกไปยกล้อ มันก็เลยอยู่ในสายเลือดพี่ ตอนนี้พี่ยังขี่มอเตอร์ไซค์อยู่นะ พี่มี Harley-Davidson คันหนึ่ง แล้วก็ Kawasaki Off – Road อีกคันหนึ่ง เอาไว้ออกทริปกับน้องๆ ในกลุ่ม”

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์
Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

แต่การคบหากับคุณสามีของเธออย่าง ฮันส์ เยเกอร์ (Hans Jaeger) ก็มาพร้อมกับเงื่อนไขด้วยเช่นเดียวกัน “อย่างที่บอกว่าช่วงนั้นที่บ้านพี่มีปัญหาเรื่องเงินพอดี แล้วน้องๆ ก็กำลังเรียนอยู่ด้วย พอตกลงว่าเราจะคบกัน พี่ก็มีข้อแม้กับเขาว่า เรามีภาระนะ เพราะเราเป็นลูกคนโต เรามีครอบครัวที่ต้องดูแล ถ้าคุณแต่งกับฉัน คุณไม่ได้แต่งกับฉันคนเดียวนะ คุณต้องแต่งกับครอบครัวฉันด้วย 

“สมัยนั้นไม่กล้าพาเขากลับบ้าน เราก็ค่อยๆ ดึงน้องเข้ามาก่อน มาแนะนำทำความรู้จัก พอตอนที่เขาหมดสัญญากำลังจะกลับประเทศ ถึงได้ตกลงว่าจะแต่งงานกัน แล้วก็ไปแต่งงานกันที่บ้านนาแพง จากนั้นเราก็ไปอยู่กับเขาที่สวิตเซอร์แลนด์เลย”

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

02

Landing on Switzerland

“พอเราไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ พี่ก็คิดว่าเราจะทำงานอะไรดี เพราะความรู้ด้านการขนส่งสินค้านำมาใช้ทำอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากที่สวิตเซอร์แลนด์มีแต่ภูเขา ไม่มีท่าเรือ พอดีพี่เคยเรียนการพยาบาลมา เลยพอมีความรู้ด้านนี้ ตอนแรกเลยได้ไปทำงานวิจัยอยู่ที่ห้องแล็บอยู่หกปี ทีนี้เพื่อนบ้านที่อยู่ที่นู่น เขาจะเกษียณจากการทำงานในโรงพยาบาล แล้วเขาเห็นว่าเราทำได้ เลยต้องการคนมาแทน เราก็เลยได้ไปทำงานรับราชการอยู่ที่ศูนย์วิจัยเนื้องอกมะเร็งอยู่อีกสิบกว่าปี”

เพราะเธอใช้ชีวิตอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์นานหลายสิบปี เธอจึงได้เล่าให้เราเห็นภาพถึงสภาพสังคมที่นั่นด้วย “ตรงที่พี่อยู่มันติดกับประเทศเยอรมนี เขาก็ไม่พูดภาษาอังกฤษเลย เพราะเขาพูดภาษาสวิส-เยอรมันกัน แล้วเขาก็ไม่ได้อยู่เป็นครอบครัวใหญ่แบบไทย ที่ไทยคือเราจะเห็นคุณตาคุณยายอยู่บ้านกับหลาน แต่ที่นั่นไม่ใช่ คนแก่จะอยู่คนเดียว ไปซื้อกับข้าวกินเอง ตอนแรกๆ ที่พี่ไป บางทีเราเห็นคุณยายถือไม้เท้าขึ้นรถเมล์เพื่อจะไปซื้อของ เราก็เข้าไปจะช่วย ปรากฏว่าเขาไม่ยอมให้เราช่วยเพราะเขากลัว สมัยนั้นเขาเห็นเราเป็นคนเอเชีย เขามองว่าเราเป็นผู้หญิงทำงานบาร์เลยไม่ค่อยไว้ใจ พอพี่เข้าไปช่วย เขาเลยเอาไม้เท้าตีข้อมือพี่ ตัวคนขับรถเมล์ยังมาช่วยห้ามเลย เขารู้ว่าเราอยากมาช่วยเฉยๆ พอหลังๆ มา เราเริ่มรู้แล้วว่าเขาไม่อยากให้เราช่วย พี่ก็จะไม่เข้าไป แต่เวลาพี่เจอแก พี่ก็จะทักทายแกนะ จนสุดท้ายแกก็เริ่มเข้ามาทักเราเอง เพราะรู้ว่าเราไม่ได้จะทำอะไร”

เธอบอกว่าชีวิตช่วงนั้นดีมากๆ จนเธอไม่อยากไปไหน เพราะเธอมีการงานที่ดีและมั่นคง แถมยังได้ทำงานอดิเรกที่เธอรัก อย่างการขี่มอเตอร์ไซค์ทั่วยุโรปอีกด้วย แต่แล้วก็มีจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินกลับมาที่ประเทศไทย เธอบอกว่าใจหนึ่งก็อยากกลับบ้าน อีกใจก็เหมือนจะยังไม่อยากทิ้งชีวิตที่ต่างประเทศไป แต่ในเมื่อสามีของเธออยากกลับไทย ทั้งที่เป็นคนต่างชาติแท้ๆ เธอจึงตอบตกลง

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

 “สามีพี่แกรักไทยมาก เมื่อไหร่ที่มีโอกาสแกก็จะกลับมา พอดีกับที่คุณแม่ของสามี แกมาเที่ยวที่ไทย ที่บ้านนาแพงของพี่นี่แหละ แล้วมาอยู่ประมาณสองสามอาทิตย์ แกก็เที่ยวเดินไปในหมู่บ้าน ตั้งแต่หมาเห่า จนหมามันเลิกเห่า เพราะสนิทกันแล้ว (หัวเราะ) แล้วแกก็ชอบ แกบอกพี่ว่า ถ้าแกอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ แกก็อยู่คอนโดฯ คนเดียว อาจจะมีเวลาไปกินกาแฟกับเพื่อนๆ นะ แต่พอกลับบ้านมาก็เหงาเหมือนเดิม แกเลยอยากมาใช้ชีวิตที่นี่ แต่ไม่อยากมาอยู่คนเดียว 

“ช่วงหลังๆ ธุรกิจของสามีพี่ไม่ค่อยโอเคพอดี แกก็เลยบอกว่างั้นเรากลับไปอยู่ไทยกันไหม เราเริ่มไปทำบ้านพักกันไหมให้แม่เขามีเพื่อน เพราะยังไม่ค่อยมีใครทำอะไรแบบนี้แถวบุรีรัมย์ ตอนแรกถ้าให้พี่กลับมาแล้วไม่ทำอะไรเลย พี่ก็คงไม่กลับ แต่ถ้าให้มาทำตรงนี้ เราก็เลยตอบว่าโอเค เรามาลองดูกันสักตั้ง” 

แต่แล้วไม่นานคุณแม่สามีก็มาด่วนจากไปเสียก่อน แต่เพราะเป็นความตั้งใจที่ท่านริเริ่มความคิดนี้ขึ้น โปรเจกต์นี้จึงยังดำเนินต่อมา 

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์
Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

“ก่อนที่เราจะกลับมาที่ไทย เราก็ทำเว็บไซต์ว่าเราจะกลับไปไทยเพื่อทำบ้านพักให้ผู้สูงอายุ จากนั้นเราก็โฆษณาตอนที่เราอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ พอมีคนที่เข้าไปดู เขาก็สนใจแล้วก็อยากไปอยู่ แล้วเผอิญโชคดีตรงที่ ทีวีของสวิตเซอร์แลนด์เขาเห็นแล้วสนใจ อยากตามทำข่าวเราด้วย คนเลยรู้จักเรามากขึ้น โดยที่ตอนนั้น Lanee’s Residenz ยังไม่ได้สร้างเลย เราโปรโมตไปเยอะแล้ว คนสนใจเยอะแล้ว เราจะหยุดทำหลังจากคุณแม่สามีเสียก็ไม่ได้ สามีพี่เองเขาก็อยากกลับบ้านเขาเต็มที่ เขามองว่าที่ประเทศไทยเป็นบ้านเขาไปแล้ว เขาก็ถามเราว่า ตกลงเราจะยังทำต่อไหม เราเลยตอบตกลงทำต่อ”

จึงทำให้เกิดเป็น Lanee’s Residenz ได้ในที่สุด

03

Lanee’s Residenz 

ตอนที่ Lanee’s Residenz ยังไม่ได้สร้างขึ้น ยังไม่มีแม้แต่เสา เธอก็ได้ให้คุณตาคุณยายไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านพ่อแม่ของเธอก่อน ขณะเดียวกันนั้นเองที่ดินว่างเปล่าของครอบครัว ก็กำลังพัฒนาให้เป็นบ้านพักเพื่อชาวต่างชาติอีกหลายชีวิต

“พ่อกับแม่เขาเห็นว่าเราเป็นพี่ใหญ่ เราเป็นคนที่ต้องดูแลครอบครัวอยู่แล้ว ทั้งพี่และสามีช่วยเหลือให้พ่อแม่เท่าที่พอทำได้ เพราะเราไม่อยากให้เขาคิดว่ามีลูกเขยเป็นฝรั่งแล้วจะใช้เงินฟุ่มเฟือยก็ได้แบบนั้น เราช่วยส่งให้น้องๆ ได้เรียนด้วย เราก็เลยถามน้องๆ ว่า ที่สิบสี่ไร่ ตรงนี้ที่ใกล้ๆ บ้าน พี่ขอได้ไหม น้องๆ เขาก็บอกว่า พี่เป็นคนจัดการดูแลทุกอย่างในบ้านอยู่แล้ว เขาเลยยกให้เราเอามาทำประโยชน์ให้ที่นี่

ลาณีเล่าไปขำไปถึงตอนที่เล่าว่าคุณสามีเป็นคนคิดออกแบบบ้านพักเองทั้งหมด “สามีคนเดียวเลยค่ะ สามีทำเองหมดเลยค่ะ ทั้งดีไซน์บ้านเองหมด คิดเองหมดเลยว่าบ้านจะต้องออกมาเป็นยังไง ตอนที่พี่เริ่มทำก็คือ พ.ศ. 2554 ปีนั้นน้ำท่วมใหญ่ที่กรุงเทพฯ พอดีคนงานก่อสร้างที่เขามีฝีมือ เขาต้องกลับบ้าน เราก็เลยได้ช่วยให้คนเกือบหกสิบคนได้มีงานทำ แล้วเราสร้างกันเร็วมาก ปีเดียวเสร็จ สิ้นปีถัดมาเราก็เปิดแล้ว แล้วพี่ก็เลยรับหน้าที่เป็นผู้รับเหมาเอง พี่คอยวิ่งซื้อของเอง ไปทั้งขอนแก่น อุบลฯ มหาสารคาม จากที่ไม่เคยรู้จักว่าตะปูมีหนึ่งนิ้วนะ สองนิ้วนะ กระเบื้องแบบนั้นแบบนี้นะ ตอนนี้พี่รู้หมดแล้ว แล้วสามีพี่ เขาก็มีความรู้เรื่องนี้ด้วย เลยไม่ต้องพึ่งผู้รับเหมาแล้ว พอวันเปิดงานวันที่ 4 ธันวาคม เราก็ได้รับเกียรติจากท่านทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทยมาเปิดงานให้เราด้วย” เธอพูดกับเราด้วยความภาคภูมิใจ 

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์
Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

04

Senior Life in Thailand

หลังจากเปิด Lanee’s Residenz มา ปัจจุบันมีบ้านพักอยู่ถึง 13 หลัง และถ้ามีคุณตาหรือคุณยายตัดสินใจมาอยู่ที่นี่ ก็จะมีขั้นตอนดังนี้ 

“ถ้าคุณจะมา คุณต้องไปขอวีซ่า Non-O ที่กงสุลไทยที่สวิตเซอร์แลนด์ก่อน พอมาอยู่ที่ Lanee’s Residenz เกินสามเดือนแล้ว เราก็จะเปลี่ยนเป็นวีซ่าบั้นปลายชีวิตให้ ถ้าคุณดูแลตัวเองได้ จะมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารสามมื้อ แล้วก็สวัสดิการต่างๆ แต่ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ไม่รวมแอลกอฮอล์ แต่ถ้าอยากดื่มแอลกอฮอล์อะไรของตัวเอง ก็มีลิมิตว่าเดือนหนึ่งไม่เกินเท่าไหร่ เพราะเราต้องดูแลสุขภาพของเขาด้วย แต่ถ้าคุณช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คุณอาจจะต้องการคนดูแลสักหนึ่งหรือสองคน ผู้ดูแลหนึ่งคนก็ประมาณหมื่นสอง ถ้าเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็อาจจะต้องจ้างผู้ดูแลยี่สิบสี่ชั่วโมง”

“อีกอย่างคือ เราจะบอกเขาก่อนว่าที่นี่มันบ้านนอกนะ ห่างจากตัวเมืองตั้งเก้าสิบกิโลเมตร เวลาจะไปไหนเราก็ต้องพาไป ซึ่งพี่ก็จะชอบพาไปอยู่แล้ว แต่สมัยก่อนเราลำบากมากค่ะ เวลาจะซื้อของที เราต้องเข้าไปที่โคราชหรือพัทยาเพื่อซื้อชีส แล้วก็ไม่มีร้านกาแฟแถวนั้นเลย จะเดินไปไหนก็ไม่ได้ ไปในหมู่บ้านก็ไม่มีใครพูดภาษาเยอรมันได้เลย คนที่เขารู้สึกไม่สะดวกสบาย หรือชอบที่ที่คนเยอะๆ เขาก็ย้ายออก ตอนแรกมีอยู่ห้าหกคน ไปๆ มาๆ เขาก็ย้ายออก แล้วก็มีคนย้ายเข้ามาใหม่ บางคนก็ยังอยู่ บางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว ตอนนี้ที่อยู่กับเราก็มีอยู่เก้าคน” 

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์
Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่มาอยู่ที่นี่ก็มีลูกกันเกือบหมด บางคนพ่อแม่ก็สมัครใจมาเอง บางคนก็เป็นอัลไซเมอร์มา จึงมาฝากให้ Lanee’s Residenz ช่วยดูแล แล้วมาเยี่ยมเดือนละครั้งสองครั้ง 

“บางคนที่เป็นอัลไซเมอร์ เขาไม่ได้ต้องการอะไรแล้ว บางทีทานข้าวแล้ว ก็ลืมว่ายังไม่ได้ทานข้าว เราจะคอยช่วยดูแล บางคนเราดูแลดีเหมือนเป็นลูกเขาอีกคนหนึ่ง คือเราจะรู้เลยว่าตอนไหนเขาต้องดื่มน้ำแล้ว ตอนไหนไม่ไหวต้องไปพัก เราใส่ใจกันขนาดนั้น”

เมื่อเข้ามาอยู่ที่นี่ กิจกรรมของคุณตาคุณยายก็จะทำเป็นกิจวัตรในทุกๆ วัน “พอตื่นเช้ามา พี่เลี้ยงจะมาช่วยอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ จากนั้นเราก็พาเดินไปที่ร้านอาหาร เดินรอบ Lanee’s Residenz เสร็จแล้วบางคนเขาก็เข้าไปดูทีวี บางคนก็นั่งเล่นเกม ถักนิตติ้ง หรืออ่านหนังสือ พอตอนเที่ยงก็จะมาทานข้าวด้วยกันเป็นโต๊ะใหญ่ จากนั้นจะไปว่ายน้ำหรือนวดก็ได้ ซึ่งเรามีบริการนวดให้สองครั้งต่ออาทิตย์ หรือถ้ายังเดินไหว เขาก็จะไปเดินรอบๆ หมู่บ้าน มีนานๆ ที พี่ก็จะพาคุณๆ เขาไปซื้อกับข้าวที่บุรีรัมย์ ใครอยากไปด้วยก็ไป ไปเดินเล่น ทานไอศกรีม แล้วก็กลับบ้าน”

และหากมีเวลาว่างและโอกาสตามสมควร เธอก็พาแก๊งผู้สูงวัยที่ยังเดินเหินได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดอีกด้วย

“ปกติเราก็ไปเที่ยวอีสานกันซะมากกว่า บางทีเราจะไปทานสเต๊กกันที่โคราชหรือขอนแก่น ส่วนใหญ่จะไปใกล้ๆ แต่ครั้งนี้พาคุณๆ มาที่กรุงเทพฯ เพราะคนไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ คุณเขาไม่ค่อยชอบคนเยอะ แล้วก็เป็นโอกาสดีที่รอบนี้พามาวัดพระแก้ว เพราะแกอยากเห็นพระแก้วมรกต ประจวบกับช่วงนี้มีเทศกาลอาหารช่วงฤดูใบไม้ร่วงของสวิตเซอร์แลนด์พอดี จะเป็นเทศกาลช่วงกลางเดือนกันยายนถึงตุลาคม แล้วเราก็รู้จักกับเจ้าของร้านที่กรุงเทพฯ เลยถือโอกาสพาพวกเขามาวันนี้” 

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์
Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

เมื่อให้พูดถึงเหล่าคุณตาคุณยายที่มาอยู่กับเธอที่นี่ ก็พบว่ามีเรื่องราวหลากหลายมาเล่าสู่กันฟัง

“มีคุณยายคนหนึ่งชื่อคุณยายสุนีย์ แกเป็นใบ้หูหนวก เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่ถูกรับไปเลี้ยงที่สวิตเซอร์แลนด์ตั้งแต่ยังเล็กๆ ทีนี้พอเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แกลืมภาษามือหมด แรกๆ ตอนที่แกมาอยู่ก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย หลังๆ มาเริ่มพูดภาษาไทยเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา แล้วก็เริ่มพูดภาษาสวิตเป็นคำๆ ได้ เหมือนมาเริ่มกันใหม่หมด ก็เป็นเรื่องที่เราดีใจนะที่แกหัดพูดได้” เธอเล่าอย่างมีความสุข

 “หรืออย่างคุณกุนด้ากับคุณไฮดี้ที่ตัดสินใจจะอยู่กับเราไปตลอด คุณกุนด้าเธอชอบเลี้ยงแมว ชอบปลูกต้นไม้ ชอบสะสมดอกไม้ เพราะเธอเคยมีร้านดอกไม้อยู่ที่สวิตฯ แกบอกว่าแกยืนขายดอกไม้มาหกปีแล้ว จะไม่ทำอีกแล้ว แต่พอมาอยู่นี่แกก็ปลูกต้นไม้นะ เวลาเข้าไปในบ้านแกก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่สำหรับคุณไฮดี้ เธอชอบถักนิตติ้ง มีแต่เสื้อถักเต็มบ้านไปหมดเลย ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์แล้ว เขาก็อาจจะไม่ได้สนใจแล้วว่าบ้านจะเป็นยังไง หรืออย่างคุณอังเดรย์ที่อายุเจ็ดสิบสอง เขามีปัญหาเรื่องหนาวแล้วจะปวดตามข้อตามกระดูก เพิ่งอยู่กับเราไม่ถึงปี เขาก็บอกกับเราว่า ถ้ามีการขยับขยาย เขาก็อาจจะไปนะ ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่กับเราไปตลอดก็มี” 

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

และแม้ว่าเธอจะตั้งใจทำอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ก็เคยมีครั้งหนึ่งที่เธอรู้สึกกดดันมาก เพราะหากมีผู้สูงอายุย้ายออก นั่นหมายถึงการต้องเลิกจ้างพนักงานไปด้วย 

“เราเสียใจที่เขาต้องย้ายออก เราก็เข้าใจเขานะ แต่มันก็ยากสำหรับพี่ด้วยเหมือนกัน เพราะพี่ก็ต้องให้พนักงานบางคนออกด้วย พี่เสียใจมาก เคยอยากล้มเลิกถึงขั้นฆ่าตัวตาย เพราะเราลงทุนไปเยอะมากทั้งเงินและใจ แต่สุดท้ายสามีพี่ก็จะมาปลอบ แล้วให้ดูว่าเราทำอะไรมาไกลแค่ไหนแล้วบ้าง ถ้าเขาไปก็ไม่เป็นไร แล้วพอมันเริ่มดีขึ้น พี่ก็มีความสุข แล้วสนุกไปกับมัน อย่างตอนเย็น ถ้าคุณตาคุณยายเขาไม่ได้ Goodnight Kiss พี่ก่อนนอน พี่ก็จะไม่โอเค เหมือนมันยังไม่จบวัน เพราะเราอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งเลย ทุกคนที่นี่เป็นครอบครัวลาณีไปแล้ว” 

05

Living Together in Community 

“พี่มีความสุขกับการได้บริการเขา ได้ดูแลเขา ได้ไปซื้อของให้เขา พี่ชอบดูแลผู้สูงอายุจริงๆ พี่ถึงมาทำตรงนี้ได้” และเธอเองยังไม่มีความคิดที่จะขยับขยายบ้านพัก เพราะอาจเกินความสามารถในการรับผิดชอบดูแลของเธอไป และอาจทำให้สิ่งที่เธอทำดูเป็นธุรกิจเกินกว่าจะเป็นครอบครัว 

และกว่าจะมาเป็นครอบครัวลาณีได้ไม่ง่ายเลย เพราะในตอนแรก เธอได้รับคำพูดบั่นทอนกำลังใจมานับครั้งไม่ถ้วน จนทำให้ในระยะแรกไม่มีพนักงานกล้าเข้ามาสมัคร แต่ไม่นานเธอก็ช่วยสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน จนคนเริ่มยอมรับเธอ 

“ที่เขาคิดว่าเราจะหาเมียให้ฝรั่ง ทำให้พนักงานไม่ค่อยกล้าเข้ามาสมัคร แต่ว่าตอนนี้บางคนที่เขาเข้ามาตั้งแต่แรกยังอยู่กับพี่อยู่เลย เขามีเงินส่งเสียให้ลูกเรียน จากเงินเดือนจาก 7 – 8 พัน เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่น พี่คิดว่าสุดท้ายเวลาก็พิสูจน์ให้คนได้เห็นว่า จุดประสงค์ที่เราสร้าง Lanee’s Residenz คืออะไร 

นอกจากพนักงานก่อสร้างที่ถูกพักงานหลังจากน้ำท่วมใหญ่กว่า 60 คน ได้มีงานทำเพื่อก่อร่างสร้างเสาให้กับที่นี่แล้ว เธอเองยังช่วยให้คนในชุมชนอีกกว่า 25 ชีวิตได้มีงานทำ ทั้งในส่วนของพนักงานร้านอาหาร พนักงานซักรีด ไปจนถึงพนักงานรักษาความปลอดภัย

“พี่จะเทรนพนักงานเอง เราจะให้พนักงานทุกคนเรียนภาษาสวิส-เยอรมัน ขั้นพื้นฐาน ต้องทักทายในชีวิตประจำวันได้ จากนั้นกรุ๊ปแรกก็เทรนรุ่นต่อๆ ไป แล้วเวลาพนักงานต้องพูดกับคุณตาคุณยายจริงๆ ถ้าเขาพูดไม่ถูก คุณตาคุณยายก็จะช่วยแก้ไขให้ เป็นการสอนไปด้วย พี่ก็จะคอยบอกเขาเสมอว่าภาษามันจะติดตัวเขาไป ใช้เวลาทำงานอื่นๆ ได้ ถ้าพวกเขาไปจากที่นี่ อย่างเสื้อผ้า เวลาที่เราแจกไป ถ้าคุณออกไป เราก็จะเก็บเสื้อผ้าตัวดีๆ ไว้ให้กับคนอื่นได้ แต่ภาษาเราเก็บคืนจากคุณไม่ได้นะ มันจะติดตัวคุณไป

“พี่คิดว่า พี่ไม่ได้ช่วยแค่พนักงานนะ แต่พี่คิดว่าการให้คนในชุมชนมีงานทำ คือการช่วยเหลือครอบครัวเขาด้วย เหมือนเราได้ช่วยยี่สิบกว่าครอบครัวไปพร้อมๆ กัน พอพนักงานเขามีงานทำ เขาก็ส่งจนลูกเรียนจบได้ จนตอนนี้ลูกของพนักงานที่นี่เรียนจบไปกันสามสี่คนแล้ว หรือถ้าลูกเขาอยากออกรถ เราก็จัดการใบสลิปเงินเดือนรับรองให้ได้ พวกเขาแทบจะไม่ต้องรบกวนลูกเลย แถมยังช่วยให้เด็กๆ มีโอกาสได้เรียนจนจบ บางคนบอกว่าถ้าลูกเรียนจบแล้วจะหยุดทำงาน แต่ว่าพอลูกเขาเรียนจบจริงๆ ปรากฏว่าเขาก็ยังทำงานอยู่ เพราะเขาเองก็แฮปปี้ในการทำงานนี้”

นอกเหนือจากการสร้างอาชีพให้กับคนชุมชน ลาณียังส่งเสริมวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นอีสานให้กับผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่มาอยู่กับเธอผ่านกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

“ส่วนใหญ่ เวลามีงานเข้าพรรษา-ออกพรรษา เราก็ไปทำบุญกฐินกัน พี่ก็จะพาคุณตาคุณยายไปด้วย พาเขาออกไปดูวัฒนธรรมของเรา แล้วคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ หน้าไม่มีนา เขาก็จะปลูกผักขายกัน พี่ก็จะอุดหนุนผักผลไม้ของชุมชนเอามาใช้เพราะมันปลอดสาร พวกผักพวกแตง แก้วมังกร เมลอนเอย เราก็ซื้อในชุมชนของเราหมดเลย นอกจากนี้แถวบ้านก็มีผ้าไหมทอขายด้วย  เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดบุรีรัมย์เลย บางทีพี่ก็พาลูกค้าที่มาเที่ยวไปซื้อผ้าไหมเป็นของฝาก รายได้ก็เป็นของชุมชนไปด้วย หรือถ้ามีโอกาสได้ไปร่วมงานแสดงผ้าไหมของชุมชน พี่ก็ชวนคุณตาคุณยายไปเดินแบบผ้าไหมด้วย ให้แกได้มีกิจกรรมทำ คนในชุมชนเองก็จะได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แล้วเราก็มีงานกีฬาสีระหว่างผู้สูงอายุในชุมชนกับชาวต่างชาติกันทุกปี ให้เขาได้มาแข่งกันสนุกๆ สานสัมพันธ์กับคนในชุมชนไปด้วยอีกทาง เดี๋ยวนี้ที่หมู่บ้านเขาก็ภูมิใจกับเรา มามีส่วนร่วมมากขึ้น ตรงนี้พี่ดีใจมากจริงๆ”

เมื่อบทสนทนาจบลง เราได้เห็นใบหน้าของบรรดาคุณตาคุณยายที่ยิ้มแย้มให้กับเราอย่างแจ่มใสและพนักงานผู้บริการด้วยหัวใจทุกคน เหมือนเป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่าคงไม่มีสุขใด จะสุขไปกว่าการได้ใช้ชีวิตเพื่อส่งต่อความสุขให้กับคนอื่นได้อย่างไม่รู้จบ

Lanee's Residenz บ้านพักบั้นปลายของตายายวัยเกษียณที่สร้างงานให้คนรุ่นใหม่ทั้งชุมชน, บ้านพักคนชรา บุรีรัมย์

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

Avatar

อิสรีย์ อรุณประเสริฐ

จบ Film Production ด้าน Producing & Production Design แต่ชอบถ่ายภาพและออกแบบงานกราฟิกเป็นงานอดิเรก มีครัว การเดินทาง และ Ambient Music เป็นตัวช่วยประโลมจิตใจจากวันที่เหนื่อยล้า