สำหรับใครบางคน ฤดูฝนอาจเป็นฤดูกาลที่ไม่ค่อยสะดวกสบาย รถติด น้ำขัง เสื้อผ้าอับชื้นไม่หอมแดด แต่สำหรับผู้คนและชุมชนเกษตรกรรมที่พึ่งพิงและดื่มกินน้ำจากสายฝน ฤดูฝนคือฤดูกาลของชีวิต ผืนดินและป่าตื่นจากหลับ กลิ่นหอมดินจากฝนแรกให้สัญญาณชีวิตกับกบเขียดในทุ่ง ปลามุดโคลนเพื่อว่ายหาน้ำใหม่ เห็ดหน่อโผล่พ้นดินที่หอมชื้นจากความตายของใบไม้ที่ถมทับในฤดูร้อน ผู้คนต่างมุ่งหน้าสู่ป่า นา หนอง ไม่ใช่เพื่อแค่หาอาหาร แต่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมและฤดูกาลหนึ่งของชีวิต 

ชีวิตที่ความมีชีวิตหนึ่ง ๆ เชื่อมโยงกับชีวิตอื่น ๆ นับร้อยพัน ผ่านโยงใยของข้าวปลาอาหาร ความรื่นเริงสามัญของชีวิต และความเชื่อที่ไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย เพื่อเปลี่ยนความรู้สำคัญภายในให้กลายเป็นความคิดเชิงเหตุผลที่เรียบแบน

ฤดูฝนปีนี้ ผมอยากพาผู้อ่านเดินเลาะทุ่งนา ป่าหอ กระโดดข้ามลำเหมือง ขึ้นไปยังป่าขุนห้วย แวะพูดคุยกับผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ของตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียนรู้ให้รู้สึกถึงสายใยที่มองไม่เห็น ของสิ่งที่เรียกว่า ‘ผี’ ที่คนแม่ทาใช้ถักทอชุมชนตนเองเข้ากับผืนดินผืนป่า ป่าต้นธารที่น้ำหนึ่งหยดจากขุนห้วยแม่ทาจะกลายเป็นทะเลและมหาสมุทรที่ปลายน้ำ เมื่อเชื่อมโยงเข้ากับแม่น้ำสายอื่น ๆ

เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'

ฤดูกาลของผี

สำหรับผู้คนภาคเหนือ เดือน 9 ตามปฏิทินล้านนา (ถ้านับแบบสากลน่าจะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน ต้นฤดูฝน) เป็นเดือนที่เรามีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับผีในหลากหลายระดับ ตั้งแต่ระดับภูมิทัศน์ เมือง หมู่บ้าน จนถึงผีบรรพบุรุษในครอบครัวของเรา

อย่างผีอารักษ์เมืองเชียงใหม่ที่มีหอผีอยู่ที่แจ่งศรีภูมิ ผีที่ดูแลดงดอยและนำพาความเป็นอยู่ที่ดีมาให้ เจ้าปู่กำแพงดินซึ่งเป็นผีที่ชาวชุมชนริมคลองแม่ข่ากลางเมืองเชียงใหม่นับถือ รวมทั้งผีปู่ย่าที่ดูแลคนในสายตระกูล และผีขุนน้ำของคนแม่ทาที่เรากำลังจะพูดถึง

พิธีกรรมเลี้ยงผีเพื่อบูชาเซ่นไหว้จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนนี้ หากหลับตาย้อนกลับไปยังอดีต ก่อนที่ถิ่นฐานบ้านเมืองของเราจะพัฒนาและมาไกลขนาดนี้ ต้องนับว่าผีและจิตวิญญาณในธรรมชาติล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลกำกับความคิด จิตใจ และความสัมพันธ์ของเราในการดูแลและจัดการสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทั้งในเชิงกายภาพและมิติทางสังคม ภูมิทัศน์ในชนบทที่เราเห็นล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของผู้คนและผี

หากลองหลับตาอีกครั้ง เพื่อเร่งเวลานับจากนี้ไปสู่อนาคตอีกสิบปี ร้อยปี สภาพธรรมชาติ แผ่นดินและนาผืนกระจกที่สะท้อนน้ำฟ้าให้เป็นน้ำในดิน รวมถึงที่อยู่อาศัยของเราจะเป็นอย่างไรบ้างนะ ผีจะยังมีบทบาทอยู่ไหมในการสร้างสมดุลระหว่างผืนดิน ฤดูกาลในธรรมชาติและความต้องการอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์

เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'

ปีนี้ก็เช่นกันกับปีก่อน ๆ ที่คนตำบลแม่ทาทั้ง 7 หมู่บ้าน ต่างก็เลี้ยงผีขุนน้ำในป่าขุนห้วยที่แต่ละหมู่บ้านใช้ร่วมกัน สำหรับบ้านป่านอต ที่กินน้ำร่วมกันจากห้วยปงกา ปีนี้อาจจะแตกต่างไปจากปีก่อน ๆ ที่สมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเข้ามามีบทบาทในการจัดงานเป็นคนรุ่นใหม่ หมูดำอ้วนพีถูกอุ้มใส่ในรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างเพื่อเป็นของเซ่นไหว้ พี่น้องหลายคนอยู่ในชุดทะมัดทะแมง ตัดหญ้า เตรียมสถานที่ ซ่อมศาลเก่าที่ใช้เมื่อปีก่อนให้มีสภาพแข็งแรงขึ้น

พ่อเฒ่า 2 – 3 คนช่วยกันเตรียมขันไหว้บอกเจ้าที่อย่างสงบ รอพระสงฆ์ในหมู่บ้านมาสวดเป็นประธานให้ ลุง ๆ ผู้มีประสบการณ์ช่วยกันล้มหมูดำตัวนั้นข้างอ่างเก็บน้ำ ในขณะที่พี่ผู้หญิงช่วยกันตั้งหม้อก่อไฟ ทำความสะอาดเครื่องในและเนื้อหมูดำตัวนั้น ให้เป็นแกงอ่อมและลาบเพื่อไหว้บูชาผีขุนน้ำ โดยมีสายตาของเด็ก ๆ ร่วมรับรู้ในพิธีกรรม เพื่อรอวันข้างหน้าที่เขาจะมีหน้าที่มากกว่าวันนี้

เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'
เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'

ป่าต้นน้ำที่นี่สมบูรณ์ขึ้นทุกปีตั้งแต่หมดยุคสัมปทานไม้สัก น้ำเต็มอ่างเก็บน้ำจนไหลล้นลงทางน้ำล้น แล้วไหลไปตามลำเหมือง แบ่งเข้าแปลงนาที่อยู่ล่างป่าขุนน้ำผ่านลำเหมืองและฝาย นาที่ลดหลั่นเป็นขั้นบันไดในหุบที่เราเห็น ล้วนเชื่อมโยงกับป่าต้นน้ำที่ใดสักแห่ง

สำหรับคนที่นี่ การได้มาอยู่ร่วมกันและเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ มีความสัมพันธ์หลากมิติที่ซ้อนกันอยู่ในช่วงเวลานี้ การเปลี่ยนแปลงบทบาทของคนจากรุ่นหนึ่งถ่ายทอดไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง การได้มาเห็นพื้นที่ต้นธารของชีวิตร่วมกัน รักษาแนวกันไฟด้วยกัน คุยกันสัพเพเหระแบบไม่ต้องมีวาระ แต่มีเรื่องสำคัญของทุกคนอยู่ในนั้น อย่างเรื่องการแบ่งน้ำเข้านาของแต่ละพื้นที่หรือลำดับก่อนหลัง หรือการได้ล้อมวงกินข้าวด้วยกันในวันอันศักดิ์สิทธิ์

เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'
เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'

มองจากสายตาคนนอกอย่างเรา ช่วยทำให้คำพูดของอ้ายสมพรที่เราเจอที่ป่าหอ บอกกับเราว่า 

“เฮากิ๋นน้ำห้วยเดียวกัน ก่อเป๋นคนบ้านเดี๋ยวกั๋น มีอะหยังก็ต้องอู้จ๋ากัน จ่วยกั๋น” (เราดื่มกินน้ำจากลำห้วยเส้นเดียวกัน เราจึงถือว่าเราเป็นคนหมู่บ้านเดียวกัน มีอะไรก็พูดคุยกัน ช่วยเหลือกัน) 

นั่นชัดเจนในความรู้สึกว่า สิ่งที่เรียกว่า ‘ผี’ ที่เป็นจิตวิญญาณในธรรมชาติ ไม่ได้ทำให้เราเพียงหวาดกลัว แต่ช่วยสร้างสำนึกบางอย่างที่ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นส่วนที่ใหญ่กว่าตัวเรา และชิ้นส่วนเล็ก ๆ นั้นจะมีความหมายร่วม เมื่อถูกนำมาประกอบกันด้วยความสัมพันธ์และสำนึกร่วมลักษณะนี้

เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'

ผีที่มีในคนและคนที่เป็นส่วนหนึ่งของผี

พ่อหลวงเจ๋ง (ศิลป์ชัย นามจันทร์) ผู้ใหญ่บ้านหนุ่มรุ่นใหม่ เล่าให้เราฟังว่านอกจากการเลี้ยงผีขุนน้ำแล้ว ปีนี้ชาวบ้านบ้านป่านอต ยังเอากล้าไผ่ไปปลูกไว้ตรงแนวชายป่าระหว่างป่าชุมชนกับป่าอนุรักษ์ของตำบลอีกด้วย เพราะไผ่เป็นทั้งอาหารและแนวกันไฟที่ดี การที่คนในชุมชนได้ไปเห็นต้นสักอายุหลายปีที่ช่วยกันปลูกไว้เมื่อหลายปีก่อน และกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของป่าใหญ่เพื่อรักษาขุนห้วยที่ทุกบ้านดื่มกินร่วมกัน สิ่งนี้อาจจะเป็นการทำบุญที่ไม่ต้องรอชาติหน้า แต่เป็นการกระทำร่วมกันที่เห็นผลชาตินี้ เหมือนอย่างน้ำที่ไหลเข้าระบบประปาภูเขาของหมู่บ้านวันนี้ ก็เพราะคนรุ่นพ่อของเขารักษาป่าขุนห้วยมาตั้งแต่ปิดสัมปทานป่า

เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'

ผมชอบตอนหนึ่งที่พ่อหลวงแลกเปลี่ยนความเชื่อเรื่องการเลี้ยงผีกับคนนอกอย่างเรา

“สำหรับผม ผมเชื่อว่ามีผีจริง ๆ อย่างการเลี้ยงผี เราอาจจะอธิบายว่ามันเป็นกุศโลบายในการสร้างการจัดการดูแลป่า เหมืองฝาย หรืออะไรก็ตาม ตามอย่างนักวิชาการอธิบาย แต่ถ้าถามคนที่นี่ คนรุ่นพ่อผม แม่ผม มันมีจริง ๆ นะ และตอนนี้ผมเชื่ออย่างนั้น ตอนเด็ก ๆ เราอาจจะไม่รู้สึกมาก แต่เมื่อถึงเวลาที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราต้องการความรู้จากรุ่นพ่อเรา ปู่ย่าตายายเรา เราจะรู้ได้เอง”

เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'

ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของ เดวิด อับราม (David Abram) ในหนังสือ The Spell of the Sensuous: Perception and Language in a More-Than-Human World ที่บอกว่าเราต่างมีสัมผัสในระดับจิตวิญญาณที่ใช้สื่อสารกับสิ่งต่าง ๆ ได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สัตว์ หรือโลกทางวิญญาณที่ไม่ปรากฏ แต่วัฒนธรรมใหม่ที่เราใช้ภาษาเขียนในการสื่อสาร และสารที่ผลิตจากการเขียนและเรียบเรียงผ่านภาษา ทำให้การสื่อสารจากการสัมผัสโดยตรงบิดเบือนไป

คำพูดของพ่อหลวงเจ๋ง ยังคล้ายเรื่องเล่าของ โรเบิร์ต วูลฟฟ์ (Robert Wolff) ในหนังสือเรื่อง Original Wisdom : Stories of An Ancient Way of Knowing มาก ๆ เพราะประสบการณ์ของพ่อหลวงเจ๋งไม่ต่างอะไรเลยจากชาวพื้นเมืองรุ่นใหม่ทั่วโลก ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการส่งผ่านความรู้ภายใน Inner Wisdom จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ไม่ได้เป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนที่เปลี่ยนความรู้ให้กลายเป็นข้อมูล และเชื่อว่าข้อมูลนั้นคือความรู้ที่ผลิตซ้ำและส่งต่อได้ผ่านการอ่านและเขียน อย่างความรู้เรื่องการหายาสมุนไพรในป่า การหาทิศผ่านดวงดาวและกระแสลมของชาวโพลินีเซียนเวลาออกทะเล

ในบันทึกที่ว่าด้วยการเข้าถึงความรู้ภายในของชาว Sng’oi ชนเผ่าพื้นเมืองในป่าของเมเลย์ ของ โรเบิร์ต วูลฟฟ์ ทำให้เราเห็นว่า โลกทัศน์ของสิ่งที่เรียกว่าการพัฒนาในแบบที่เป็นอยู่นั้น ทำให้เราสูญเสียความรู้สำคัญในการสื่อสารกับโลกไปมากแค่ไหน และทางเดียวที่จะกลับไปฟื้นคืนความรู้เหล่านั้นขึ้นมาได้ใหม่ คือการไปร่วมมีประสบการณ์จริง ๆ กับสิ่งนั้น โดยไม่แยกตัวตนของเรากับสิ่งที่เราร่วมเรียนรู้

เยือน อ.แม่ทา หน้าฝน เดินเลาะนา ผ่านป่าหอ เรียนรู้สายใยที่เชื่อมคนกับป่าผ่าน 'ผี'

ทุ่งนา – ป่า – ฝน จิตวิญญาณที่ปรากฏรูป

หลังฝนตกห่าใหญ่ติดกันหลายวันหลังพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ ชาวบ้านไถนาเตรียมเอาน้ำเข้านาของตัวเอง นาแปลงที่ได้น้ำก่อนเริ่มหว่านกล้าข้าวขึ้นเป็นแปลงเขียว มีหุ่นไล่กาแกว่งแขนไหวไปมาตามสายลม บางแปลงเริ่มดำนาแล้ว ด้วยแรงกำลังของผู้คนที่ผลัดเปลี่ยนเอาแรงช่วยกัน บางแปลงเลือกที่จะหว่านหรือใช้เครื่องพ่นเมล็ดข้าวเพื่อประหยัดแรงงานในการดำนา เพราะขาดแรงงานจากคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของปัจจุบัน สภาพของคันนาและความประณีตบรรจงของนาหลายแปลงที่นี่บอกอะไรได้มากมาย นาที่ยังมีปู มีปลา มีกบเขียดตัวเล็ก ๆ ทำให้เราเห็นถึงความวิริยะและกำลังกายของผู้เป็นเจ้าของนาผืนนั้น ต่างจากคันนาที่มีรอยไหม้จากการใช้ยาฆ่าหญ้า ทำให้นาไร้เสียงเขียด ทำให้ปูนานอนตายหงายกระดอง เพราะขาดแรงงานในการดูแลหญ้าในนาข้าว

กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่ พาเดินป่าหน้าฝน ตามหาจิตวิญญาณของผู้คนที่ดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน
กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่ พาเดินป่าหน้าฝน ตามหาจิตวิญญาณของผู้คนที่ดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน

นาของครอบครัว พรานต๋อง (สาคร สุทธนิล) พรานหนุ่มของแม่ทาที่ทำนาริมห้วยแม่ปงกา น่าจะเป็นตัวอย่างของนาในอุดมคติ นาอินทรีย์ที่มีวิถีใกล้เคียงกับสมัยบุพกาล แม้จะใช้เครื่องมือสมัยใหญ่อย่างเครื่องตัดหญ้าและรถไถนาขนาดเล็กมาทุ่นแรง แต่สายสัมพันธ์ระหว่างป่า นา ห้วย และชีวิตของผู้ลงแรงดูแลที่ดินผืนนี้ ล้วนสอดประสานกันเป็นหนึ่งเดียว

นาที่ดื่มกินน้ำและธาตุอาหารจากป่าขุนน้ำ น้ำที่ไหลผ่านเหมืองฝายที่ผู้คนกินน้ำจากห้วยเดียวกันช่วยกันดูแล ลำเหมืองดินแข็งแรงและสะอาดใส บอกถึงได้ความใส่ใจของผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่รักษาโครงสร้างนี้ไว้ โครงสร้างทางสังคมที่มีจิตวิญญาณช่วยโอบอุ้มผู้คนในการดูแลเหมืองฝาย โครงสร้างทางภูมิทัศน์ที่ออกแบบสลักเสลาด้วยน้ำและจอบไถ

เราเห็นแมงอีนิ่วหรือตัวอ่อนของแมลงปอในนาข้าวและลูกอ๊อด กำลังจะกลายมาเป็นอาหารเที่ยงซึ่งครอบครัวกินร่วมกันในห้างนา เราเห็นและรู้สึกถึงการเฉลิมฉลองที่เรียบง่ายของชีวิตในฤดูฝน แรงกายที่ได้จากข้าวปลาอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการกลับไปดูแลภูมิทัศน์ด้วยโลกทัศน์ ของเรื่องเล่าและตำนาน บนระบบโครงสร้างสังคมที่ยังคงงดงาม แต่ทว่าท้าทายจากแรงผลักของระบบเศรษฐกิจใหม่

กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่ พาเดินป่าหน้าฝน ตามหาจิตวิญญาณของผู้คนที่ดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน
กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่ พาเดินป่าหน้าฝน ตามหาจิตวิญญาณของผู้คนที่ดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน

ดอกเอื้องหมายนายังคงบานอยู่ข้างลำห้วย มองจากตรงนี้ไปยังดอยรอบหุบแม่ทานี้ ดอกตะแบกป่าบานสะพรั่งขึ้นแซมช่อดอกสักตรงเชิงเขา นับจากนี้อีก 3 – 4 เดือน ที่แห่งนี้ยังน่าจะมีฝน วัวที่ถูกต้อนขึ้นไปอยู่ในห้วยลึก จะกลับลงมาอีกครั้งหลังเกี่ยวข้าวเสร็จ เพื่อจะทำหน้าที่ของมันอีกรอบ และถ่ายทอดประสบการณ์ที่มันเรียนรู้ผ่านฤดูกาลให้กับลูกของมัน ไม่ต่างจากผู้คนที่นี่

บ้านที่ใหญ่และสว่างเกินไป

วันที่พวกเราเดินขึ้นเขาเข้าไปในห้วยแม่แทนบนอ่างเก็บน้ำแม่บอนด้วยกัน เพื่อหวังจะไปดูตาน้ำเล็ก ๆ ที่กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เลี้ยงคนครึ่งตำบล ในวันฝนตกป่ายิ่งลึกนั้นยิ่งมืด รากไม้หงิกงอและหินผาในหุบห้วยดูราวภูตพรายที่มีชีวิต

การได้เดินเข้าไปในป่าฤดูฝน ทำให้เราเห็นและรู้สึกถึงอีกด้านหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมชาติ’ ธรรมชาติที่มีผี ธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกลดทอนดัดแปลงให้มนุษย์พอใจในความงดงามและน่ารัก การได้เดินออกมาจากที่สว่าง ชัดเจน เข้าไปสู่ความมืดของราวป่าในช่วงเวลาสั้น แม้จะเทียบไม่ได้กับคนท้องถิ่นที่เข้าป่าไปเพื่อเลี้ยงชีพหาอยู่หากิน ก็ช่วยทำให้เรารู้สึกถึงเค้าร่างของปัญญาอีกด้านหนึ่งที่เมืองของเราได้สูญเสียมันไปแล้ว

อาจเป็นเพราะเราอยู่ในที่ที่สว่างเกินไป ชีวิตของเราจึงปราศจากความมืดและเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ เราจึงมั่นใจในตัวเองเกินไป ว่าปัญญาที่เรามีควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ ผ่านการคิดและการจัดการสมัยใหม่ เราแทบไม่รู้สึกสงสัยเลยว่าน้ำที่ใช้ดื่มกินนั้นมาจากไหน เราดื่มกินแม่น้ำร่วมกันกับใครบ้าง เพราะทุก ๆ วันน้ำก็ยังไหล ไฟก็ยังคงสว่าง และถ้ามีสักวันที่มันจะไม่ไหล ก็เป็นหน้าที่ของใครสักคนที่ไม่เกี่ยวกับเราที่มีหน้าที่ต้องดูแล

เราไม่จำเป็นต้องคุยกับใคร เพราะในเมืองที่เราอยู่ สิ่งต่าง ๆ แบ่งขาดออกจากกันอย่างชัดเจนด้วยสิทธิ หน้าที่ และกฎหมาย ไม่มีอะไรเป็นทรัพย์สินสาธารณะร่วมที่เราต้องช่วยกันดูแล แบ่งปันกันใช้ ชีวิตเราจึงเงียบสงบ แต่ทว่าอาจจะเรียบแบน เพราะไร้ซึ่งความสัมพันธ์ใด ๆ กับสิ่งที่มีชีวิตและไร้ชีวิต

กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่ พาเดินป่าหน้าฝน ตามหาจิตวิญญาณของผู้คนที่ดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน
กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่ พาเดินป่าหน้าฝน ตามหาจิตวิญญาณของผู้คนที่ดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน
กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่ พาเดินป่าหน้าฝน ตามหาจิตวิญญาณของผู้คนที่ดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน

อั๋น-อภิศักดิ์ กำเพ็ญ เกษตรกรหนุ่มสมาชิกกลุ่ม Maetha Organic เล่าให้ฟังระหว่างที่เดินลัดนาไปยังป่าหอ หย่อมป่าศักดิ์สิทธิ์กลางทุ่งนา ที่มีศาลสถิตจิตวิญญาณของเจ้าอาจยาบอน ผีผู้ดูแลขุนห้วยแม่บอนร่วมกับหอผีอื่น ๆ ว่า

กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่ พาเดินป่าหน้าฝน ตามหาจิตวิญญาณของผู้คนที่ดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน
กลุ่มเกษตรอินทรีย์แม่ทา เชียงใหม่ พาเดินป่าหน้าฝน ตามหาจิตวิญญาณของผู้คนที่ดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน

“เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าครอบครัวหนึ่งจะทำนาของตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพิงกับใคร เพราะน้ำที่ไหลเข้านานั้นเชื่อมโยงถึงกันหมด และเราต้องช่วยกันพูดคุยวางแผนการจัดการแบ่งสรรปันน้ำ รวมทั้งแรงงานที่จะช่วยกัน”

ในโลกธรรมชาติที่สำนึกเรื่องการพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกันนั้นสำคัญต่อการมีอยู่ของความเป็นทั้งหมด โจทย์ใหญ่ที่สำคัญในยุคสมัยของเรา คือเราจะสร้างเรื่องเล่าใหม่ ๆ ทางวัฒนธรรมได้อย่างไร วัฒนธรรมที่จะถักทอปัจเจกที่แตกสลายให้กลายเป็นข่ายโครงของระบบนิเวศใหม่ มีแบบแผนสอดคล้องกับโลกธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนแนบสนิทมากกว่าเดิม

ข้อมูลเพิ่มเติม

หากใครสนใจเข้าไปเรียนรู้วิถีเกษตรกรรมอินทรีย์และการจัดการป่าโดยชุมชนของตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ติดต่อได้ที่เพจ Maetha Organic หรือ คุณอั๋น-อภิศักดิ์ กำเพ็ญ 08 7191 5595

Writer

Avatar

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding

Photographers

Avatar

เจษฎา เปี้ยทา

ช่างภาพหนุ่มอารมณ์ดีชาวเชียงใหม่ พูดไม่ค่อยเก่ง รักเสียงดนตรีเเละการท่องเที่ยว แถมยังหลงรักโกลเด้นรีทรีฟเวอร์เป็นที่สุด

Avatar

โสภิดา จิตรจำนอง

นกอพยพจากชายฝั่งทะเลใต้ ผู้ปักหลักเป็นอินทีเรียอยู่เชียงใหม่ หลงใหลงานทำมือ รักการเดินป่า และมีสมุนเป็นแมวไทย 2 ตัว