กาลครั้งหนึ่ง (ไม่) นานมาแล้ว มีเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ตัวจิ๋วกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยพี่โตสุดอายุ 9 ปี ไล่ลงไปจนถึงน้องเล็กสุดอายุ 3 ปี กำลังเรียนรู้ลักษณะทางชีวภาพของต้นกล้วย เด็ดดอกไม้หลากสีในสวนมาย้อมผ้าเพื่อให้ทราบหลักการแทรกตัวของสี ช่วยกันจับปลาในคลองมาพิสูจน์ว่าปลาหายใจทางไหน เข้าเล้าไก่ไปเก็บไข่หาคำตอบว่าทำไมมันถึงรับน้ำหนักได้หลายกิโลโดยไม่แตก และปิดจ๊อบภารกิจกับการทำคอปเตอร์ไม้ไผ่เพื่อไขปริศนาว่าทำไมโดราเอมอนถึงใช้บินบนฟ้าได้ราวกับติดปีก

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่นิทานก่อนนอนของเด็กๆ แต่เป็นประสบการณ์ในชีวิตจริงที่ฉันเห็นกับตาบนพื้นที่ 8 ไร่ ย่านนนทบุรี อย่าง LandLab แหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร-วิทยาศาสตร์ ที่เปลี่ยนท้องทุ่ง สนามหญ้า คลอง ให้เป็นห้องแล็บธรรมชาติ ผสานกิจกรรมที่ใช้ความเป็นเหตุเป็นผลของวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับบรรยากาศชนบทบ้านนา เพื่อพาเด็กๆ ออกจากแท็บเล็ต เกม และห้องแอร์ มาซึมซับประสบการณ์ที่สะกิดต่อมความรู้รอบตัวให้แผ่ซ่าน และฝึกทักษะด้านอารมณ์ให้ติดตัวกลับบ้านไปตลอดทุกวันเสาร์-อาทิตย์

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว
LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

01

อยากเห็นเด็กอยู่กับธรรมชาติ

“เพิ่งรู้ว่ามีที่แบบนี้ใกล้ๆ กรุงเทพฯ”

ฉันเอ่ยความคิดในใจให้ คุณเก๋-กุสุมาวดี กรองทอง ผู้ก่อตั้ง LandLab ฟัง เพราะเคยชินที่ท้องนา บ้านไร่ ลำคลอง หรือบรรยากาศชนบทท้องถิ่น มักอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดมากกว่า 

เก๋ยิ้มกว้าง ตบเข่าฉาด 1 ครั้ง พร้อมหันมาบอกฉันว่า เพราะทุกคนคิดว่ามันอยู่ไกล เราเลยขยับมันให้เข้าใกล้เด็กๆ

คุณเก๋-กุสุมาวดี กรองทอง

ทำให้เริ่มแรก LandLab สร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจเล็กๆ เมื่อ 3 ปีก่อน ขณะที่เก๋พาลูกชายที่ตอนนั้นอายุเพียง 8 ปี กลับมาเยี่ยมคุณตา คุณยาย ณ บ้านสวนแห่งนี้ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ และพบภาพลูกชายกำลังวิ่งเล่นกลางท้องทุ่ง ถีบจักรยานรอบๆ ต้นไม้ใบหญ้า ท่าทางดูสนุกกว่าการเล่นอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่บ้านในเมืองอยู่มากโข เธอจึงเกิดความคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ได้เล่นแบบนี้ไปตลอด

นั่นทำให้ไอเดียรวมพลังชาวบ้านปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้คนรู้จักเกิดขึ้น เธอเริ่มเดินหน้าปรึกษาคุณพ่อที่เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านประจำพื้นที่คลองสอง ให้ช่วยดูแลพื้นที่เพราะต้องใช้การจัดการค่อนข้างเยอะ และชวนชาวบ้านในชุมชนมาทำโครงการพิเศษ เพื่อขอใช้พื้นที่บางจุด เช่นทุ่งนา มาสร้างสรรค์กิจกรรมให้เด็กๆ หรือชวนคนเก่าคนแก่มาทำอาหารพื้นบ้านให้เด็กๆ ลิ้มรสความสดจากวัตถุดิบในสวน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน ในฐานะ ‘แหล่งท่องเที่ยวชุมชน’ ที่เกิดจากคนทุกคน

02

เรื่องวิทย์ๆ ใกล้ๆ ตัว

ลำพังการให้เด็กๆ วิ่งเล่นในพื้นที่ธรรมชาติเปล่าๆ อาจไม่เจ๋งเท่าการสอนวิชาความรู้นอกห้องเรียนควบคู่ไปด้วย วิชาที่เก๋เลือกมาสอนเด็กๆ คือวิชาวิทยาศาสตร์ที่เธอรัก ก่อนหน้านี้เธอมีโอกาสร่วมงานกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อีกทั้งทำสื่อวิดีโอการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์อยู่ 5 – 6 ปี ทำให้ได้เพิ่มพูนวิชาความรู้และอยากนำสิ่งนี้มาพัฒนาต่อให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่าย

จึงระดมความคิดกับเพื่อนแวดวงวิทยายาศาสตร์ ทั้ง ราม ติวารี ที่ปรึกษากิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ และ สุทธิพงษ์ พงษ์วร อดีตนักวิทยาศาสตร์ประจำ สสวท. ที่ปัจจุบันสนใจเรื่องพัฒนาทักษะเด็กและมีอุดมการณ์เดียวกันคือการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนในตำราแบบเดิมๆ ให้เด็กๆ ได้ออกมาสูดอากาศและรู้จักกระบวนความคิด การช่างสังเกตและการตั้งคำถามที่เป็นคุณสมบัติแรกเริ่มของนักวิทยาศาสตร์ โดยทั้งสามร่วมกันทำฐานกิจกรรมสุดแนวที่อยู่บนพื้นฐาน ‘ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย’ แอบแฝงจิตวิทยาแนวคิด Soft Skills ให้เด็กๆ รู้จักการช่วยเหลือตัวเอง การฝึกจิตใจให้อ่อนโยนและการวางตัวเมื่ออยู่ร่วมกับคนหมู่มากไว้อย่างแนบเนียนโดยไม่ยัดเยียด

ประกอบด้วย 4 ฐานหลัก ได้แก่ Lab Science in the garden วิทยาศาสตร์ในสวนคุณตา Lab Zab วิทยาศาสตร์กับมื้ออาหารแสนอร่อย Lab Chick/Fish วิทยาศาสตร์ที่มากับสัตว์เลี้ยง และ Lab Za วิทยาศาสตร์จากเครื่องเล่นที่เด็กๆ ทำขึ้นเอง

อยากรู้ใช่ไหมล่ะว่าแต่ละฐานจะสนุกขนาดไหน

ถ้าพร้อมแล้ว ไปเรียนรู้แล็บธรรมชาติกับนักวิทยาศาสตร์ตัวจิ๋วกันเถอะ!

03

คุณครูพี่ปลา

“เด็กๆ คิดว่าจะมีปลาอะไรอยู่ในบ่อคุณตาบ้างคะ”

เก๋ถามเสียงใสไปทางเด็กๆ ที่ยืนกระจัดกระจายอยู่ตรงบริเวณที่นั่งกองฟางใกล้ๆ บ่อคลองที่มีเจ้าปลาปริศนารออยู่ในฐาน Lab Fish ต้องขอบคุณเก๋ที่วันนี้อนุญาตให้ฉันเข้ามาดูความสนุกสนานได้ในบางฐาน

โลมา! ฉลาม! ปลาทู! ปลาทอง!

คำตอบหลากเสียงพรั่งพรูเข้ามาอย่างซื่อๆ ก่อนเก๋จะให้เด็กๆ ตั้ง 2 แถวอย่างเป็นระเบียบ และพาขบวนรถไฟนี้เดินมุ่งหน้าไปยังบ่อปลาฝั่งซ้ายมือ 

“สามหนุ่มพี่โตสุดช่วยดูน้องๆ ด้วยนะคะ รอน้องเดินมาด้วยนะ”

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว
LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

เสียงของเก๋ทำให้พี่โตที่อายุ 8 – 9 ปี หันมองและหยุดรอน้องเล็กที่เดินตามมาข้างหลัง เธอมักปลูกฝังให้เด็กๆ อยากปกป้องคนที่บอบบางกว่า หรือเป็นผู้นำให้น้องๆ รู้สึกมั่นใจ ปลอดภัย แถมย้ำชัดขึ้นไปอีกเมื่อถึงช่วงเวลาจับปลาด้วยการยกยอ ซึ่งเก๋ให้เด็กๆ ช่วยกันจับเชือก ยืนสลับซ้ายขวา เหมือนการชักกะเยอ แต่แอบใส่รายละเอียดเล็กๆ ตรงขอให้พี่โตอยู่ท้ายแถวด้วยอยากได้แรงของพี่โต เพราะพี่โตแข็งแรงมาก ทำให้เด็กๆ รู้สึกมั่นใจและอยากเป็นผู้นำโดยไม่ต้องยัดเยียด

เมื่อพี่ๆ ทีมงานนำปลาที่จับได้ขึ้นมาไว้ในตู้ปลาข้างบ่อ ก็ถึงเวลาเข้าแล็บดูลักษณะทางกายภาพของสัตว์น้ำ เก๋เริ่มจากถามว่ามนุษย์เราหายใจทางไหน แน่นอนคำตอบง่ายๆ ที่เด็กๆ รู้ดีคือจมูก แต่เมื่อถามกลับว่าแล้วปลาหายใจทางไหน เด็กๆ ดันตอบว่าปาก (ก็เพราะเวลาอยู่ในน้ำเห็นมันพ่นออกซิเจนออกจากปากนี่หน่า)

ระหว่างที่เก๋จับปลากระดี่ขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อจะเฉลยคำตอบว่ามันหายใจทางเหงือก เด็กผู้ชายคนหนึ่งดันสังเกตเห็นว่าปลามันไม่ดิ้นหรือขัดขืน เก๋จึงถามขึ้นมาว่าทำไม

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

“เพราะคุณครูจับเขาด้วยความเมตตา เขาเลยอยู่นิ่งๆ ไงจ๊ะ” เก๋ตอบกลับยิ้มๆ พร้อมแหวกแผ่นปิดเหงือกที่อยู่ข้างๆ ครีบอกให้เด็กๆ ดู ภาพตรงหน้าทำให้ทุกคนร้องโอ้โห เพราะเหงือกสีแดงกำลังขยับไปมาเหมือนการหายใจเข้าออกของคน และเริ่มยื่นให้เด็กสัมผัสผิวของสัตว์น้ำว่ามีลักษณะแบบใด พร้อมสอนให้ลูบเบาๆ เพราะครูพี่ปลา อุตส่าห์มาแบ่งปันความรู้ให้

ปลาเล็กผ่านไป ปลาขนาดใหญ่ต้องมา แถมครูพี่ปลาที่มาทักทายเด็กๆ อีกตัวอย่าง ‘ปลานิล’ ยังเรียกเสียงฮือฮาให้กับเด็กๆ เพราะดิ้นแรงและกระโดดลงน้ำกระจาย เก๋ไม่รีรอถามขณะที่เด็กๆ ให้ความสนใจกับพี่ปลาตรงหน้าว่า รู้ไหมทำไมเขาถึงแข็งแรงขนาดนี้ เด็กๆ ส่ายหัวควับรอฟังคำตอบ

“เพราะปลานิลมีโปรตีนในร่างกายสูงเลยมีพละกำลังมาก ก็เหมือนกับเด็กๆ ถ้าอยากแข็งแรง ต้องกินอาหารที่มีโปรตีนสูงเหมือนกันนะ” เก๋ทิ้งท้ายก่อนชวนเด็กๆ ขอบคุณครูพี่ปลาที่มาสอนความรู้ในวันนี้

04

นักวิทยาศาสตร์ไก่น้อย

กระต๊าก กระต๊าก กระต๊าก

เดินหันหลังกลับจากบ่อปลาได้ไม่นาน จะพบกับเล้าไก่ที่ด้านหน้าตกแต่งด้วยเก้าอี้กองฟาง แกนร่มผ้าใบกันแดดที่ทำจากไม้ไผ่ และเสียงของพี่ๆ กุ๊กไก่ที่ดังขึ้นราวกับต้อนรับน้องใหม่ในฐาน Lab Chick

ก่อนจะเข้าไปด้านใน เก๋เริ่มถามเด็กๆ ว่าถ้าเข้าไปเจอพี่กุ๊กไก่ข้างใน ควรทำอย่างไรดี เด็กน้อยนึกสนุกตอบกลับว่า แบร่! พร้อมแลบลิ้นปลิ้นตา แน่นอนเก๋รีบค้านอย่างใจดีว่า

“เราต้องยืนเฉยๆ นะคะ ถ้าเราทำท่าทางเหมือนยกขาหรือยกมือ พี่ไก่จะคิดว่าเรากำลังจะตีเขา เราแค่เดินผ่านไปเงียบๆ เมตตาเขาเหมือนพี่ปลาเมื่อกี้นะคะ” 

การเน้นย้ำเรื่องความเมตตาได้ผลกับเด็กๆ อย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อประตูไม้ไผ่หน้าเล้าไก่เปิดออก ไม่มีใครดื้อยกแข้ง ยกขาขึ้นมา และแอบตื่นเต้นกับไก่กว่า 30 ตัวในเล้าอย่างใจเย็นที่สุด 

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

ภารกิจในแล็บพี่กุ๊กไก่ เริ่มต้นจากการให้เด็กๆ เข้าไปหยิบไข่ในเล้าไก่เพื่อออกมาทดลองคนละ 1 ฟอง พร้อมฝึกสมาธิว่า ทำอย่างไรให้ทุกคนดูแลไข่ไก่ของตัวเองโดยไม่แตก เพื่อเอามาใส่ในตะกร้าให้พี่วิทยากรสำเร็จ และให้อาหารพี่กุ๊กไก่เป็นการตอบแทนก่อนออกมาทดลองด้านนอก

“เด็กๆ เคยสงสัยไหมว่าทำไมแม่ไก่กกไข่แล้วถึงไม่แตก” พี่วิทยากรด้านหน้าเริ่มถามเด็กๆ ทันทีเมื่อทุกคนนั่งเก้าอี้กองฟางกันครบ ลืมบอกไปว่าพี่ๆ ทีมงานที่นี่ทุกคนมีพื้นฐานหลักเรื่องวิทยาศาตร์ บางคนเป็นติวเตอร์วิทยาศาสตร์ บางคนเรียน ป.โท วิทยาศาสตร์ หรือบางคนผ่านการคัดเลือกด้านจิตวิทยาเด็กมาแล้วว่ามีทัศนคติที่ดีต่อน้องๆ จึงไม่แปลกที่เด็กๆ จะรู้สึกอบอุ่นและอยากเล่นด้วย

คุณเก๋-กุสุมาวดี กรองทอง
LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

“เพราะขนมันนุ่มมมม ตัวมันนุ่มมมม” เด็กๆ ตอบลากเสียงจนฉันอดเอ็นดูไม่ได้

พี่วิทยากรบอกว่าที่เด็กๆ ตอบน่ะมีส่วนถูก แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะความลับอยู่ที่ว่าแม่ไก่ออกแบบทรงไข่ให้เป็นวงรีมาแล้วตั้งแต่ในท้อง และทรงรีเนี่ยแหละที่ทำให้แม่ไก่กกไข่แล้วไม่แตก พูดไม่ทันขาดคำพี่วิทยากรก็หยิบตาชั่งขึ้นมาชั่งไข่ให้เด็กๆ ดูว่ามันหนักแค่ 2 ขีด และยกก้อนอิฐขนาดใหญ่ขึ้นมาชั่งต่อว่ามันหนัก 3 กิโลกรัมเลยนะ

ถ้าเอาก้อนอิฐทับไข่ คุณคิดว่าจะแตกไหม

3

2

1

ไม่แตก!

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

เด็กๆ ทุกคนเปล่งเสียงร้องเย้ หลังจากลุ้นกันจนนั่งไม่ติดกันพักใหญ่ (สารภาพว่าฉันก็ลุ้น)

คำเฉลยที่พี่วิทยากรให้ความรู้เด็กๆ มันเกี่ยวข้องกับ ‘หลักการกระจายแรง’ ทรงรีของไข่รับน้ำหนักได้ผ่านการกระจายแรงจากจุดศูนย์กลาง เมื่อวางของหนัก ไข่จะรับน้ำหนักไว้ทั่วทั้งใบเท่าๆ กัน ยกตัวอย่างเวลาเด็กๆ ตอกไข่ เด็กๆ ตอกแค่มุมเดียวมันเลยแตก แต่เวลาแม่ไก่กกไข่ จะนั่งลงไปตรงกลาง ทำให้แรงถูกกระจายไปทั่วทั้งใบนั่นเอง

05

สายซัพ (พอร์ต)

หลังจากเรียนรู้เรื่องการกระจายแรงกันไปแล้ว เก๋แยกเด็กๆ ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มเด็กเล็กและเด็กโต เพื่อให้ทำกิจกรรม ‘ออกแบบไข่’ แต่ทั้ง 2 กลุ่มจะได้โจทย์ที่ต่างกัน โดยเด็กเล็ก 3 – 6 ปี ได้ทำภารกิจทำฐานไข่ให้ไข่ตั้งเป็นแนวตั้ง เพราะเจ้าไข่มันตั้งเองไม่ได้ ส่วนพี่โตได้ภารกิจออกแบบไข่ยังไงก็ได้ให้โยนจากที่สูงแล้วไม่แตก

เหตุผลที่ต้องแยกเป็น 2 กลุ่ม เก๋มองว่าเด็กแต่ละช่วงวัยจะรับองค์ความรู้ที่ต่างกัน เช่น ความรู้บางอย่าง ถ้าน้องเล็กรู้มากเกินไป อาจรู้สึกไกลตัวจนเกินไป จึงเหมาะกับพี่โตมากกว่า เป็นต้น 

ฉันหันไปมองทั้งฝั่งพี่โตและน้องเล็ก สลับไปมา สิ่งที่เหมือนกันคือทั้ง 2 กลุ่มมีผู้ปกครองคอยช่วยอยู่ข้างๆ เด็กเล็กที่กำลังปั้นดินน้ำมันอยู่ก็มีคุณแม่และพี่วิทยากรคอยบอกใบ้ว่า ถ้าปั้นเป็นฐานดอกไม้หรือฐานหลุมจะดีกว่าฐานวงกลมไหมหนอ เพื่อให้เด็กเกิดความมั่นใจและกล้าที่จะปั้น

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

ส่วนฝั่งพี่โตก็มีคุณพ่อที่ถูกวางบทบาทเป็นหัวหน้าทีม คอยช่วยคิดไปพร้อมลูกๆ ว่าต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้างจึงจะสร้างเกราะกำบังให้ไข่ไม่แตกได้ภายในเวลา 10 นาที ซึ่งเก๋แอบกระซิบบอกฉันว่านี่เป็นการฝึกการตัดสินใจของเด็กๆ ในเวลาที่มีจำกัดนั่นเอง

ภาพคุณพ่อที่นั่งคิดวิเคราะห์กับลูกชายว่าฟาง กระดาษ และเชือก ควรจัดวางอย่างไรให้ห่อไข่แล้วไม่แตก ต้องเอาฟางไว้ข้างล่างจะได้ไม่กระแทกแรง หรือเอาฟางวางข้างๆ แล้วเอาไข่ไว้ตรงกลาง หรือแม้กระทั่งเอาฟางไว้ทุกมุม อันไหนจะดีที่สุด เห็นแล้วก็อดยิ้มตามไม่ได้เพราะถึงมันจะชุลมุนมากเพราะแข่งกับความเร็ว แต่ก็น้อยครั้งเหลือเกินที่จะเห็นภาพที่คนสองวัย ได้คิดอะไรร่วมกัน 

เฮ! ไม่แตก

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

สิ้นเสียงความดีใจหลังพบว่าทำภารกิจสำเร็จ ฉันหันไปถามถึงแนวคิดการให้ผู้ปกครองเข้ามาเป็น Supporter และได้คำตอบว่า จำเป็นต้องมีผู้ปกครองเข้าไปพร้อมเด็กๆ ทุกครั้ง เพราะน้องยังเล็ก ต้องมีคุณพ่อ คุณแม่ คอยดู เป็นคนที่ 2 คอยบอกอันนู้น อันนี้ ชี้แนะให้เด็กๆ เปิดใจ เพราะบางครั้งเด็กๆ ไม่กล้าทำถ้าไม่มีผู้ปกครองนำทาง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จะได้รับบรีฟข้อตกลงก่อนเข้าร่วมกิจกรรมว่าจะต้องเป็นทีมซัพพอร์ต และแบ่งหน้าที่แต่ละฐานให้ชัดเจน ซึ่งเก๋มองว่าไม่ใช่แค่ลูกได้อะไรกลับไป ผู้ปกครองก็ได้กลับไปเช่นกัน

“เคยมีคุณพ่อรอบที่แล้ว มาบอกความลับกับเราว่าเขากลัวแมลงมาก แต่ต้องเข้าฐานเรียนรู้เรื่องประโยชน์ของแมลงในทุ่งนา พ่อก็ตัดสินใจลุยไปกับลูก เพราะถ้าไม่กล้าลง ลูกก็ไม่ลง สุดท้ายกลายเป็นสนุก เลอะกันทั้งคู่ และกลับมาขอบคุณเราที่ทำให้เขาก้าวผ่านความกลัวเพื่อลูกได้” เก๋เล่ายิ้มๆ ก่อนปล่อยเด็กๆ ไปพัก

06

ตามรอยโดราเอมอน

อีกหนึ่งความใส่ใจของที่นี่คือในบริเวณรอบๆ พื้นที่จะมีจุดบริการน้ำดื่มเย็นๆ ใส่ขันสไตล์บ้านนาให้เด็กๆ กดดื่มแก้กระหาย ช่วงพักเสิร์ฟเฉาก๊วยใส่น้ำแข็งและน้ำมะตูมทำเองที่บอกเลยว่าสดชื่นสุดๆ อีกทั้งยังมีชุดทำกาแฟดริปแบบสโลว์บาร์ 1 ชุด ให้คุณพ่อคุณแม่ไว้ชวนบาริสต้าตัวน้อยทำด้วยกัน เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องปฏิกิริยาความร้อนที่ค่อยๆ ดึงผ่านตัวกาแฟลงไป ซึ่งเป็นการปรับสมาธิได้อย่างดี

“มาทำคอปเตอร์ไม้ไผ่กลับบ้านกัน” 

เสียงไมโครโฟนครั้งนี้ดึงดูดกว่าครั้งไหนๆ เพราะเด็กๆ จะได้ทำของวิเศษชิ้นโปรดของโดราเอมอนในฐาน Lab Za กลางสนามหญ้าอันร่มรื่น พี่วิทยากรยื่นใบพัด 2 แบบ คือแบบตรงกับแบบโค้งให้เด็กๆ เพื่อให้ทดลองที่สนามเด็กเล่นว่าแบบไหนจะบินได้สูงกว่า โดยให้เด็กๆ จับคู่ไปทดลองด้วยกัน 

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

ฉันชำเลืองมองความกล้าๆ กลัวๆ ในการจับคู่หาเพื่อนใหม่ของเด็กๆ บางคนอยู่แป๊บหนึ่ง พี่ๆ วิทยากรและเก๋ไม่รอช้าเริ่มพาน้องคนนี้ไปรู้จักน้องคนนั้น พาน้องคนนั้นไปรู้จักน้องคนโน้น และแอบชวนพี่โตให้คู่กับน้องเล็กเพื่อจะได้ฝึกความเป็นผู้นำ ดูแลน้องได้ ซึ่งตรงกับที่เก๋บอกฉันก่อนหน้าเลยว่า เด็กๆ มาที่นี่จะหายเหงา เพราะเขาจะได้เพื่อนใหม่กลับไปแน่นอน

เมื่อปล่อยให้เล่นกันพักหนึ่ง พี่วิทยากรเรียกเด็กๆ มานั่งบนสนามหญ้าและเริ่มถามเด็กๆ ว่า ทำไมคอปเตอร์ไม้ไผ่แบบโค้งถึงบินได้กันนะ 

คุณเก๋-กุสุมาวดี กรองทอง

พี่วิทยากรให้เด็กๆ จินตนาการว่าตัวเองเป็นเครื่องบินลำใหญ่ ด้วยการกางแขนขึ้นมา และชวนคิดว่าปีกเครื่องบินที่ข้างหน้าหนา ส่วนข้างหลังแบน ก็ดูไม่ต่างจากลักษณะคอปเตอร์ไม้ไผ่ที่เด็กๆ เล่นเมื่อสักครู่ ซึ่งเวลาบินขึ้นสูงจะมีอากาศวิ่งผ่านปีกของเรา ส่วนข้างบนเปรียบเหมือนสไลเดอร์ให้ลมมันลงไปแบบเร็วๆ ส่วนข้างล่างที่เป็นเส้นตรงก็จะค่อยๆ พัดผ่านไปอย่างช้าๆ อากาศที่ถูกแยกเป็น 2 ส่วนนี้ทำให้เกิดแรงๆ หนึ่งขึ้นมาที่มีชื่อว่า…

อุบไว้ก่อน! อยากรู้ต้องไปหาคำตอบที่ LandLab เอานะคะ

07

เก็บตกความรู้สึก

น่าแปลกที่แม้ตอนนี้จะเป็นเวลา 5 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาเลิกกิจกรรม แต่เด็กๆ และครอบครัวก็ยังไม่กลับบ้านไปไหน ยังคงเล่นว่าวบนสนามหญ้า ชวนคุณแม่ให้อาหารปลาในบ่อ หรือนั่งพายเรือกับคุณพ่อดูพระอาทิตย์ตก 

  เก๋บอกฉันว่าเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ จะไม่ค่อยอยากกลับ บางทีอยู่ยัน 6 โมงกว่าๆ เพราะที่นี่ต่างจากสิ่งที่เขาคุ้นในเมือง 

ฉันรีบหันไปถามอย่างไวว่าอีก 2 ฐานกิจกรรมที่ฉันมาไม่ทันดูบรรยากาศทั้ง Lab Science in the garden และ Lab Zab มีดียังไงเพื่อจะเอามาฝากคุณผู้อ่าน เก๋บอกกับฉันว่า งั้นย่อส่วนเป็นเด็กสักแป๊บ แล้วเข้าไปในสวนกัน!

Lab Science in the garden คือแล็บที่ชวนเด็กๆ เข้าสวนเพื่อเรียนรู้วิชาการช่างสังเกตในสวนคุณตาที่เต็มไปด้วยพืชพันธุ์หลากชนิด แถมยังปลอดสารเคมี หยิบ จับ ดม กิน ได้อย่างหายห่วง

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว
LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

เดินเข้าไปไม่นาน เก๋ยื่นใบไม้ผิวมันแล้วถามฉันว่ามันคือต้นอะไร แต่ฉันก็เดาไม่ออกราวกับเป็นเด็กจริงๆ จนกระทั่งเก๋ให้ฉันฉีกแล้วดม จนรู้ว่า อ๋อ นี่คือมะนาว 

ถัดมาไม่ไกลมากนักมีต้นมะเฟืองสูงชะลูด เก๋ให้ฉันและช่างภาพลองวางแผนเลือกเป้าหมายและสอยลูกมะเฟืองลงมาให้ได้ เธอบอกว่าตรงนี้เด็กๆ จะได้ 2 เรื่อง คือความสนุกในการสอยและความสามัคคี เพราะว่าทุกคนต้องช่วยเลือกเป้าหมายและออกแรงไปด้วยกัน สำหรับฉันขอบอกเลยว่าไม่ง่าย แต่ก็มันสุดๆ ไปเลย

หลังจากนั้นเมื่อเด็กๆ เดินไปเห็นดอกไม้หลากสีในสวน เก๋ก็ไม่ลืมตั้งคำถามว่านี่คือสีอะไร แต่จะเอาอะไรมายืนยันล่ะ 

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว
LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

เลยต้องพาพวกเขามาทำผ้ามัดย้อมดูสีจากธรรมชาติ เด็กๆ จะได้บดดอกไม้ดูสี เริ่มแรกอาจไม่เห็นสีเพราะไม่ได้ใส่น้ำลงไป พี่ๆ วิทยากรก็จะเริ่มบอกใบ้ให้ลองใส่น้ำดู ทำให้เห็นสีจากการหยดลงบนผ้า แถมได้ออกแบบการมัดผ้าเพื่อลุ้นว่าจะออกมาเป็นลายอะไรตอนต้มเสร็จ และไม่ลืมได้รับความรู้วิทยาศาสตร์เรื่องการ ‘แทรกตัวของสี’ กลับไป เพราะเมื่อเอาผ้าแช่ในน้ำ น้ำจะแทรกเข้าไปในผ้า เกิดปฏิกิริยาเส้นใยโปร่งออก ทำให้สีวิ่งเข้าไปในที่สุดนั่นเอง

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

ส่วน Lab Zab ชื่อก็บอกแล้วว่าต้องเกี่ยวกับอาหาร เด็กๆ จะได้ทำขนมกล้วยสูตรโบราณของคุณยายในชุมชน แต่ก่อนจะไปทำ เก๋ก็ไม่ลืมพาเด็กๆ ไปรู้จักส่วนประกอบของต้นกล้วยกันก่อนว่าลำต้นคือตรงไหน ดอกคือส่วนไหน สมัยก่อนเขาเอาใบมาทำอะไรกันบ้าง กระทงที่เราทำกันมันมาจากส่วนไหน เป็นต้น 

เมื่อเสร็จแล้วเด็กๆ ก็จะได้ลองทำขนมจากผลกล้วย ได้ออกแรงขูดมะพร้าว และเรียนรู้เรื่องสถานะของสารจากส่วนประกอบ เช่น สถานะของน้ำตาลทรายและน้ำตาลปึกว่ามีสถานะต่างกันอย่างไร ต้องใส่น้ำตาลชนิดใดก่อนถึงจะละลาย เป็นต้น

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

08

ไว้เจอกันใหม่

‘ไม่อยากกลับ’ นี่คือความคิดในใจของฉันหลังจากรู้ว่าถึงเวลากลับบ้านซะแล้ว ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเด็กๆ ถึงยังนั่งเล่นกันอยู่เต็ม บางคนเข้ามากอดเก๋แล้วบอกว่าครั้งหน้าเจอกันใหม่นะคะ/ครับ

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ LandLab เปิดประสบการณ์นำวิทยาศาตร์มาจับคู่กับความเป็นชุมชน มีกว่า 1,000 ครอบครัวแล้วที่ได้รับความรู้สึกอิ่มเอมดีๆ แบบนี้กลับไป 

ไม่ใช่ได้แค่ตัวเด็ก แต่ได้ทั้งครอบครัว

เก๋ทิ้งท้ายว่า LandLab มุ่งสร้างฐานกิจกรรมใหม่ๆ ที่จะเปลี่ยนและหมุนเวียนไปทุกๆ 4 เดือน ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ บางครั้งเด็กๆ อาจได้ทำไอศครีมกินในหน้าร้อนและทำความเข้าใจเรื่องอุณหภูมิ บางครั้งเด็กๆ อาจได้เล่นว่าวกลางทุ่งนา พร้อมสำรวจความเป็นอยู่ของแมลง หรือบางครั้งเด็กๆ อาจได้เก็บผลมะนาวมาทำเซลล์ไฟฟ้าให้หลอดไฟติดอย่างไม่น่าเชื่อ

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจริงแล้วที่นี่ 

ให้แล็บวิทย์กลางทุ่งนามอบช่วงเวลาคุณภาพให้เด็กๆ กันเถอะ

LandLab ห้องแล็บกลางทุ่งที่จับวิทยาศาสตร์มาคู่ชุมชน สร้างกิจกรรมพิเศษให้นักวิทย์ตัวจิ๋ว

Facebook : LandLab – กิจกรรมการเรียนรู้สำหรับครอบครัว พาลูกเที่ยวใกล้เมือง

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน